กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว
วิธีสื่อความกับลูกวัยรุ่น
“การพูดกับลูกชายเคยเป็นเรื่องง่าย แต่ตอนนี้เมื่อลูกอายุ 16 แล้วดิฉันกับสามีรู้สึกว่ายากที่จะรู้ว่าเขาคิดอะไร. เขาชอบเก็บตัวอยู่ในห้องและแทบไม่พูดอะไรกับเราเลย!”—มิเรียม, เม็กซิโก.
“เมื่อก่อนลูก ๆ เคยตั้งใจฟังเสมอไม่ว่าผมจะพูดอะไร. พวกเขาหูผึ่งเชียวล่ะ! เดี๋ยวนี้พอโตเป็นวัยรุ่นแล้ว ลูกกลับคิดว่าผมกับพวกเขาอยู่กันคนละโลก.”—สกอตต์, ออสเตรเลีย.
หากคุณมีลูกวัยรุ่น คุณคงเข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่ที่กล่าวไปข้างต้น. ในอดีต การสนทนาระหว่างคุณกับลูกอาจราบรื่นเหมือนถนนใหญ่ที่รถวิ่งได้สองทาง. แต่เดี๋ยวนี้ ถนนเส้นนั้นดูเหมือนจะปิดเสียแล้ว. มารดาชื่อแองเจลาในอิตาลีบอกว่า “เมื่อลูกชายของดิฉันยังเล็ก เขาเคยระดมคำถามใส่ดิฉันไม่หยุด. เดี๋ยวนี้ดิฉัน กลับต้องเป็นฝ่ายชวนคุย. ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เวลาก็จะผ่านไปเป็นวัน ๆ โดยไม่มีการพูดคุยกันเป็นเรื่องเป็นราวเลย.”
เช่นเดียวกับแองเจลา บางทีคุณอาจพบว่าลูกที่เคยเป็นเด็กช่างพูดช่างคุยเปลี่ยนไปเป็นวัยรุ่นขี้หงุดหงิด ไม่พูดไม่จา. ความพยายามทุกอย่างเพื่อเริ่มการสนทนาอาจได้รับกลับมาเพียงคำตอบที่ห้วนสั้น. คุณถามลูกชายว่า “วันนี้เป็นยังไงบ้างลูก?” “ก็ดี” เขาตอบเสียงห้วน. คุณถามลูกสาวว่า “วันนี้ที่โรงเรียนเป็นยังไงบ้างจ้ะ?” “ก็ไม่เป็นไงนี่คะ” เธอตอบพร้อมกับยักไหล่. การพยายามกระตุ้นการสนทนาโดยถามว่า “ทำไมลูกไม่พูดอะไรมากกว่านี้ล่ะ?” ก็ได้ความเงียบกริบเป็นคำตอบ.
จริงอยู่ วัยรุ่นบางคนไม่มีปัญหาในการพูดคุยแสดงความคิดเห็น. แต่สิ่งที่พวกเขาพูดไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่อยากได้ยิน. มารดาคนหนึ่งในไนจีเรียชื่อเอดนาเล่าว่า “เมื่อดิฉันขอให้ลูกสาวทำอะไรบางอย่าง ลูกมักจะพูดว่า ‘อย่ายุ่งกับหนูได้ไหม.’ ” รามอน ในเม็กซิโกสังเกตว่าลูกชายวัย 16 ปีของเขามีปฏิกิริยาคล้าย ๆ กัน. เขาบอกว่า “เราทะเลาะกันเกือบทุกวัน. เวลาที่ผมขอให้เขาทำอะไรสักอย่าง เขาก็เริ่มหาข้ออ้างเพื่อจะไม่ต้องทำสิ่งนั้น.”
การพยายามจะสนทนากับลูกวัยรุ่นที่ไม่ยอมพูดจาอาจเป็นการทดสอบความอดทนของพ่อแม่. คัมภีร์ไบเบิลยอมรับว่า “แผนการล้มเหลวเมื่อไม่มีการพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกัน.” (สุภาษิต 15:22, ล.ม.) อันนา มารดาในรัสเซียซึ่งเลี้ยงลูกตามลำพังยอมรับว่า “เวลาที่ดิฉันไม่รู้ว่าลูกคิดอะไรอยู่ ดิฉันโมโหมากจนอยากจะกรีดร้องออกมา.” เพราะเหตุใดในช่วงเวลาที่จำเป็นต้องพูดคุยกันอย่างยิ่ง เด็กหนุ่มสาวกับพ่อแม่จึงดูเหมือนจะหมดความสามารถในการสื่อความไปเสียแล้ว?
หาให้ได้ว่าอะไรคืออุปสรรค
การสื่อความเป็นมากกว่าการพูดคุย. พระเยซูตรัสว่า “ใจเต็มไปด้วยสิ่งใด ปากก็พูดตามนั้น.” (ลูกา 6:45) ดังนั้น โดยการสื่อความที่ดี เราเรียนรู้จากผู้อื่นและเปิดเผยสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวเราเอง. ประการหลังนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ วัยรุ่น เพราะเมื่อเริ่มแตกเนื้อหนุ่มเนื้อสาวแล้วแม้แต่เด็กที่เคยกล้าแสดงออกที่สุด จู่ ๆ ก็อาจกลายเป็นเด็กที่เงียบขรึมและขี้อายได้. ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เด็กวัยรุ่นโดยทั่วไปรู้สึกว่าพวกเขากำลังอยู่บนเวทีต่อหน้าผู้ฟังหมู่มากและมีแสงจากสปอตไลต์ส่องอยู่ตลอดเวลา. แทนที่จะหันหน้าเข้าหาสปอตไลต์ เด็กวัยรุ่นที่รู้สึกประหม่าอาจทำเหมือนกับดึงม่านลงโดยหลบไปอยู่ในโลกส่วนตัวที่พ่อแม่เข้าถึงได้ยาก.
อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการสื่อความคือความต้องการของวัยรุ่นที่จะเป็นเอกเทศ. ลูกของคุณต้องเติบโตขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และขั้นตอนหนึ่งของการเติบโตคือการแยกตัวจากครอบครัว. นี่ไม่ได้หมายความว่าลูกวัยรุ่นของคุณพร้อมจะออกจากบ้านแล้ว. ในหลายด้านลูกจำเป็นต้องพึ่งคุณมากกว่าแต่ก่อนด้วยซ้ำ. แต่ขั้นตอนการแยกตัวออกไปนั้นเริ่มขึ้นก่อนวัยผู้ใหญ่หลายปี. วัยรุ่นหลายคนชอบคิดใคร่ครวญเรื่องต่าง ๆ ตามลำพังก่อนจะเผยให้คนอื่นรู้ว่าตนคิดอะไร.
จริงอยู่ วัยรุ่นอาจไม่ทำตัวเป็นเอกเทศมากนักเมื่ออยู่กับคนรุ่นเดียวกัน ตามที่มารดาชื่อเจสซิกาในเม็กซิโกสังเกต. เธอบอกว่า “เมื่อลูกสาวของดิฉันยังเด็ก ลูกมักจะมาปรึกษาดิฉันเสมอเมื่อมีปัญหา. แต่ตอนนี้ลูกไปปรึกษาพวกเพื่อน ๆ แทน.” ถ้าลูกของคุณเป็นเช่นนั้นด้วย ก็อย่าเพิ่งลงความเห็นว่าคุณถูก “ไล่ออก” จากการเป็นพ่อแม่แล้ว. ตรงกันข้าม การสำรวจความคิดเห็นหลายครั้งแสดงว่า แม้วัยรุ่นจะไม่ยอมรับออกมา แต่พวกเขาก็ถือว่าคำแนะนำของพ่อแม่มีค่ามากกว่าคำแนะนำของเพื่อน. แต่คุณจะทำให้แน่ใจได้อย่างไรว่าได้เปิดโอกาสไว้สำหรับการสื่อความอยู่เสมอ?
กุญแจสู่ความสำเร็จ—ขจัดอุปสรรค
สมมุติว่าคุณกำลังขับรถอยู่บนทางหลวงที่ยาวไกลและเป็นทางตรง. ตลอดระยะทางหลายกิโลเมตร สิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำคือขยับพวงมาลัยเพียงเล็กน้อย. แต่แล้วจู่ ๆ ถนนก็โค้งหักศอก. เพื่อให้รถทรงตัวอยู่บนถนนต่อไป คุณไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวโค้ง. เช่นเดียวกับเมื่อลูกของคุณเข้าสู่วัยรุ่น. ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คุณอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น. แต่ตอนนี้ ชีวิตของลูกอยู่ในช่วงที่เหมือนถนนโค้งหักศอก และคุณต้อง ‘หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวโค้ง’ โดยปรับเปลี่ยนวิธีสื่อความของคุณ. ขอให้ถามตัวคุณเองด้วยคำถามต่อไปนี้.
‘เมื่อลูกชายหรือลูกสาวของฉันพร้อมจะพูด ฉันพร้อมจะพูดกับลูกไหม?’ คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คำพูดที่เหมาะกับกาลเทศะเปรียบเหมือนผลแอปเปิลทำด้วยทองคำใส่ไว้ในกระเช้าเงิน.” (สุภาษิต 25:11) ดังที่เห็นชัดจากข้อคัมภีร์นี้ บ่อยครั้งประเด็นสำคัญคือเรื่องเวลา. เพื่อเป็นตัวอย่าง: ชาวนาไม่สามารถจะเร่งหรือเลื่อนเวลาเก็บเกี่ยวพืชผลออกไปได้. เขาเพียงแต่ต้องทำงานอย่างเต็มที่เมื่อฤดูเก็บเกี่ยวมาถึง. อาจมีบางเวลาโดยเฉพาะที่ลูกวัยรุ่นของคุณรู้สึกอยากพูด. จงใช้ประโยชน์จากโอกาสนั้น. ฟรานเซส มารดาซึ่งเลี้ยงลูกตามลำพังในออสเตรเลียบอกว่า “หลายครั้งลูกสาวจะเข้ามาในห้องนอนของดิฉันตอนกลางคืน บางครั้งก็อยู่นานเป็นชั่วโมง. ดิฉันไม่ใช่คนนอนดึกจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถึงกระนั้นเราก็ได้คุยกันทุกเรื่อง.”
ลองวิธีนี้: ถ้าดูเหมือนว่าลูกวัยรุ่นของคุณไม่อยากพูดด้วย ก็ลองทำกิจกรรมด้วยกัน เช่น ไปเดินเล่น, ขับรถเที่ยว, เล่นเกม, หรือทำงานต่าง ๆ ในบ้าน. บ่อยครั้ง โอกาสที่ไม่เป็นทางการเช่นนั้นจะช่วยให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกอยากพูดมากขึ้น.
‘ฉันเข้าใจความหมายที่แฝงอยู่ ในคำพูดของลูกไหม?’ โยบ 12:11 กล่าวว่า “หูมีสำหรับฟังคำไว้ใคร่ครวญ, ดุจปากมีไว้สำหรับชิมให้รู้รสอาหารมิใช่หรือ?” บัดนี้เป็นเวลาที่คุณจำเป็นต้อง “ฟัง” สิ่งที่ลูกชายหรือลูกสาวของคุณพูดยิ่งกว่าแต่ก่อน. วัยรุ่นมักจะใช้คำพูดแบบเกินจริง. ตัวอย่างเช่น ลูกชายหรือลูกสาวของคุณอาจพูดว่า “แม่ทำเหมือนหนูเป็นเด็กอยู่เรื่อย!” หรือ “พ่อไม่เคย ฟังผมเลย!” แทนที่จะยกขึ้นมาถกเถียงกันว่าถูกหรือไม่ที่จะใช้คำว่า “อยู่เรื่อย” และ “ไม่เคย” ขอให้รู้ว่าลูกของคุณอาจไม่ได้หมาย ความตามที่พูดจริง ๆ. ตัวอย่างเช่น คำพูดที่ว่า “แม่ทำเหมือนหนูเป็นเด็กอยู่เรื่อย” อาจหมายความว่า “หนูรู้สึกว่าแม่ไม่ไว้ใจหนู” และที่ว่า “พ่อไม่เคยฟังผมเลย” อาจหมายถึง “ผมอยากบอกให้พ่อรู้ว่าผมรู้สึกยังไงจริง ๆ.” จงพยายามเข้าใจความหมายที่แฝงอยู่ ในคำพูดเหล่านั้น.
ลองวิธีนี้: เมื่อลูกวัยรุ่นใช้คำพูดที่น่าตกใจหรือพูดด้วยอารมณ์รุนแรง คุณอาจพูดทำนองนี้: “แม่รู้ว่าลูกอารมณ์ไม่ดี และแม่ก็อยากฟังเรื่องที่ลูกจะพูด. บอกแม่สิว่าทำไมลูกถึงรู้สึกว่าแม่ทำเหมือนลูกเป็นเด็ก.” แล้วก็ฟังเขาพูดโดยไม่ขัดจังหวะ.
‘ฉันทำให้การสื่อความเป็นเรื่องยากขึ้นโดยไม่รู้ตัวด้วยการพยายามบังคับให้ลูกพูดไหม?’ คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “เมล็ดที่เกิดผลแห่งความชอบธรรมถูกหว่านในสภาพที่มีสันติสุขเพื่อประโยชน์ของผู้ที่สร้างสันติสุข.” (ยาโกโบ 3:18) ด้วยคำพูดและท่าทีของคุณ จงสร้าง “สภาพที่มีสันติสุข” เพื่อลูกวัยรุ่นของคุณจะรู้สึกอยากพูด. จำไว้ว่า คุณคือทนายของลูก. ดังนั้น เมื่อพูดคุยกันเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จงพยายามอย่าพูดเหมือนเป็นอัยการที่คอยจ้องจับผิดพยานในศาล. บิดาในเกาหลีชื่อ อัน กล่าวว่า “พ่อแม่ที่สุขุมจะไม่พูดว่า ‘เมื่อไหร่จะโตซักที?’ หรือ ‘พ่อบอกกี่ครั้งกี่หนแล้ว?’ หลังจากพลาดพลั้งอยู่หลายครั้งในเรื่องนี้ ผมสังเกตว่าลูก ๆ ไม่เพียงแต่ไม่พอใจวิธีที่ผมพูดกับพวกเขาเท่านั้น แต่ไม่พอใจสิ่งที่ผมพูดด้วย.”
ลองวิธีนี้: ถ้าลูกวัยรุ่นไม่ยอมตอบคำถามของคุณ ก็ลองใช้วิธีอื่น. ตัวอย่างเช่น แทนที่จะถามลูกสาวว่าวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ก็ให้พูดถึงตัวคุณเองว่าวันนี้เป็นอย่างไร แล้วดูว่าลูกจะพูดอะไร. หรือเพื่อจะรู้ว่าลูกมีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องหนึ่ง จงถามคำถามที่ไม่เจาะจงไปที่ตัวเขา. ถามลูกว่าเพื่อนของเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนั้น. แล้วก็ถามว่าลูกมีอะไรจะแนะนำเพื่อนบ้าง.
การสื่อความกับลูกวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้. จงปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อความของคุณตามความจำเป็น. ลองปรึกษาพ่อแม่คนอื่น ๆ ที่เคยประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มาแล้ว. (สุภาษิต 11:14) เมื่อพูดคุยกับลูกชายหรือลูกสาว จง “ไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ.” (ยาโกโบ 1:19) สำคัญที่สุดคือ อย่าเลิกล้มความพยายามที่จะเลี้ยงลูกวัยรุ่นของคุณ “ด้วยการตีสอนจากพระยะโฮวา และปลูกฝังแนวคิดของพระองค์ให้เขา.”—เอเฟโซส์ 6:4.
ถามตัวคุณเองว่า . . .
-
ฉันสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในตัวลูกเมื่อเขาเข้าสู่วัยรุ่น?
-
ฉันจะปรับปรุงความสามารถในการสื่อความในด้านใดได้บ้าง?