เหตุใดจึงแสดงความขอบคุณ?
เหตุใดจึงแสดงความขอบคุณ?
“ราเกลที่รัก
ขอบใจเหลือเกินที่เธอให้กำลังใจฉัน. ถึงแม้เธออาจไม่ตระหนักด้วยซ้ำ บุคลิกที่กระตุ้นหนุนใจ ทั้งคำพูดนุ่มนวลของเธอช่วยเสริมกำลังฉันมากทีเดียว.”—เจนนิเฟอร์.
คุณเคยได้รับข้อความสั้น ๆ แสดงความขอบคุณโดยไม่คาดหมายไหม? ถ้าเช่นนั้น ไม่สงสัยเลยว่าสิ่งนั้นทำให้คุณชื่นใจ. ถ้าจะว่าไป เป็นเรื่องปกติที่คนเราต้องการให้ผู้อื่นเห็นคุณค่าและตอบรับด้วยการขอบคุณ.—มัดธาย 25:19-23.
บ่อยครั้ง การแสดงความขอบคุณสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างผู้ให้และผู้รับ. ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่แสดงความขอบคุณก็ได้เจริญรอยตามพระเยซูคริสต์ผู้ไม่เคยมองข้ามการงานอันดีของผู้อื่น.—มาระโก 14:3-9; ลูกา 21:1-4.
น่าเสียใจ การแสดงความขอบคุณด้วยคำพูดและด้วยข้อความแทบจะมีให้เห็นน้อยลงทุกที. คัมภีร์ไบเบิลเตือนไว้ว่าใน “สมัยสุดท้าย” คนจะ “อกตัญญู.” (2 ติโมเธียว 3:1, 2) หากเราไม่ระมัดระวัง การขาดความสำนึกบุญคุณซึ่งมีอยู่แพร่หลายในเวลานี้อาจทำให้เราไม่ได้แสดงออกถึงความรู้สึกอันอ่อนโยนในการสำนึกบุญคุณ.
มีขั้นตอนอะไรบ้างที่พ่อแม่จะสอนลูกให้รู้จักการแสดงความขอบคุณ? เราพึงแสดงความสำนึกบุญคุณต่อใคร? และทำไมเราจึงควรสำนึกบุญคุณ ถึงแม้คนรอบข้างเราไม่รู้จักขอบคุณ?
ในวงครอบครัว
พ่อแม่บากบั่นจัดเตรียมสิ่งจำเป็นเพื่อลูกของตน. แต่บางครั้งพ่อแม่อาจรู้สึกว่าลูกไม่รู้คุณค่า. พวกเขาจะทำอย่างไรได้เพื่อแก้ไขเรื่องนี้? องค์ประกอบที่จำเป็นมีสามอย่าง.
(1) ตัวอย่าง. เช่นเดียวกับแง่มุมอื่น ๆ ส่วนใหญ่ในการฝึกอบรมลูก การวางตัวอย่างที่ดีเป็นแนวการสอนที่มีประสิทธิภาพ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงมารดาที่ขยันในชาติอิสราเอลโบราณดังนี้: “บุตรของนางก็ลุกขึ้นชมเชยเขา.” บุตรเหล่านี้ได้เรียนรู้ที่จะขอบคุณจากที่ไหน? ท้ายข้อนี้ชี้ว่า “สามีของนางก็สรรเสริญเขาด้วย.” (สุภาษิต 31:28) พ่อแม่ที่มองเห็นคุณค่าของกันและกันด้วยการกล่าวขอบคุณทำให้ลูก ๆ เห็นว่าผู้รับรู้สึกปลาบปลื้ม ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ดีขึ้น และเป็นสัญญาณบ่งบอกความอาวุโส.
สตีเฟน บิดาคนหนึ่งพูดว่า “ผมพยายามวางตัวอย่างให้ลูกโดยการขอบคุณภรรยาที่ได้เตรียมอาหารมื้อเย็นให้พวกเรา.” ผลเป็นอย่างไร? สตีเฟนบอกว่า “ลูกสาวทั้งสองก็สังเกตเห็น และนั่นเป็นสิ่งที่ช่วยลูกให้แสดงความขอบคุณมากขึ้น.” ถ้าคุณแต่งงานแล้ว คุณกล่าวขอบคุณคู่สมรสเป็นประจำสำหรับการทำงานบ้านทุก ๆ วันไหม ซึ่งเป็นไปได้ที่คุณอาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติ? คุณออกปากขอบใจลูกไหม แม้แต่เมื่อลูกได้ทำงานตามที่คุณคาดหมายจากเขา?
(2) การฝึกอบรม. ความรู้สึกขอบคุณเป็นเหมือนมวลดอกไม้ ซึ่งจำต้องรับการดูแลด้วยความอ่อนโยนเพื่อจะบังเกิดผลดีที่สุด. พ่อแม่จะช่วยลูกของตนปลูกฝังความสำนึกสุภาษิต 15:28.
รู้คุณและกล่าวแสดงความขอบคุณได้อย่างไร? ซะโลโมกษัตริย์ผู้ชาญฉลาดทรงเน้นจุดสำคัญข้อหนึ่งดังนี้: “ใจของคนชอบธรรมตรึกตรองก่อนแล้วจึงตอบ.”—พ่อแม่ทั้งหลาย คุณจะอบรมลูก ๆ ให้นึกถึงความพยายามและความใจกว้างของผู้ที่ได้ให้ของขวัญแก่เขาไหม? การคิดรำพึงแบบนี้เป็นดินดี ซึ่งทำให้ความสำนึกบุญคุณอันเปรียบได้กับดอกไม้นั้นเจริญงอกงาม. มาเรียซึ่งเลี้ยงลูกชายหญิงสามคนเล่าว่า “ทั้งนี้ต้องใช้เวลานั่งลงกับลูกและอธิบายให้เขาเข้าใจว่ามีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเมื่อบางคนให้ของขวัญ เช่น บุคคลผู้นั้นนึกถึงลูกโดยเฉพาะ และต้องการให้ลูกรู้ว่าเขาใส่ใจลูกมากขนาดไหน. แต่ดิฉันคิดว่านั่นคุ้มค่าทีเดียว.” การสนทนาดังกล่าวช่วยเด็กเรียนรู้ไม่เพียงแต่ว่าควรพูดอะไรตอนที่เขาแสดงความขอบคุณ แต่ว่าเพราะอะไรควรพูดขอบคุณด้วย.
พ่อแม่ที่สุขุมช่วยลูกให้หลีกเลี่ยงแนวคิดที่ว่าเขาได้รับสิ่งดี ๆ ทุกอย่างก็เพราะเขามีสิทธิ์จะได้. * เราพบคำเตือนที่สุภาษิต 29:21 (ล.ม.) เกี่ยวกับวิธีดำเนินการกับคนใช้ซึ่งอาจนำไปใช้กับลูกได้เช่นกันดังนี้: “ถ้าผู้ใดพะนอคนใช้ของตนตั้งแต่เยาว์วัย ในช่วงชีวิตต่อมาเขาจะถึงกับเป็นคนไม่สำนึกบุญคุณเสียเลย.”
ลูกที่ยังเล็กมากอาจรับการช่วยให้แสดงความขอบคุณโดยวิธีใด? ลินดา มารดาของลูกสามคนพูดว่า “เมื่อเราส่งบัตรขอบคุณ ดิฉันและสามีได้สนับสนุนให้ลูก ๆ มีส่วนร่วม โดยให้เขาวาดรูปหรือให้ลงชื่อในบัตร.” แน่ละ ภาพนั้นอาจดูเรียบง่ายหรือลายมืออ่านไม่ค่อยออก ทว่าเด็กได้เรียนรู้มากมายด้วยการทำเช่นนี้.
(3) ความพากเพียร. เราทุกคนล้วนมีความโน้มเอียงเป็นคนเห็นแก่ตัวมาแต่กำเนิด และนิสัยนี้อาจยับยั้งการขอบคุณไว้ก็ได้. (เยเนซิศ 8:21; มัดธาย 15:19) กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลยังคงกระตุ้นผู้รับใช้ของพระเจ้าดังนี้: “ให้ท่านทั้งหลายเปลี่ยนพลังกระตุ้นจิตใจเสียใหม่ และสวมบุคลิกภาพใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นตามที่พระเจ้าทรงประสงค์.”—เอเฟโซส์ 4:23, 24.
อย่างไรก็ดี บิดามารดาที่มีประสบการณ์ย่อมรู้ว่าการช่วยลูก “สวมบุคลิกภาพใหม่” นั้นไม่ง่าย. สตีเฟนซึ่งได้กล่าวตอนต้นพูดว่า “การสอนลูกสาวของเราให้พูดขอบคุณ โดยไม่ต้องคอยเตือน ดูเหมือนกินเวลานาน.” แต่สตีเฟนกับภรรยาไม่ท้อถอย. สตีเฟนพูดต่อ “เมื่อเพียรพยายามแล้ว ลูกสาวของเราก็เข้าใจบทเรียนนี้. เวลานี้เรารู้สึกภูมิใจที่เห็นลูกรู้สำนึกบุญคุณผู้อื่น.”
แล้วมิตรสหายและเพื่อนบ้านล่ะ?
ถ้าเราไม่ได้พูดขอบคุณ เราอาจไม่ได้เป็นคนไม่สำนึกรู้คุณ เราเพียงแต่ลืมเท่านั้น. จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องสำคัญไหมที่จะไม่เพียงรู้สึกขอบคุณเท่านั้น แต่ควรกล่าวออกมาด้วย. เพื่อตอบคำถามนี้ ให้เราพิจารณาเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระเยซูและคนที่เป็นโรคเรื้อนบางคน.
ขณะเสด็จไปยังกรุงเยรูซาเลม พระเยซูได้พบชายโรคเรื้อนสิบคน. คัมภีร์ไบเบิลเล่าว่า “[พวกเขา] ร้องว่า ‘ท่านเยซู อาจารย์เจ้าข้า โปรดเมตตาพวกเราเถิด!’ เมื่อพระองค์ทรงเห็นพวกเขาจึงตรัสว่า ‘จงไปให้ปุโรหิตตรวจดูเถิด.’ ขณะที่พวกเขาไป พวกเขาก็หายโรค. เมื่อคนหนึ่งในพวกเขาเห็นว่าตนหายโรคแล้วก็กลับมาสรรเสริญพระเจ้าด้วยเสียงดัง. เขาซบลงที่พระบาทของพระเยซูและขอบพระคุณพระองค์ เขาเป็นชาวซะมาเรีย.”—ลูกา 17:11-16.
พระเยซูมองข้ามคนที่ไม่กล่าวขอบคุณไหม? เรื่องดำเนินต่อดังนี้: “พระเยซูตรัสถามว่า ‘มีสิบคนหายโรคมิใช่หรือ? แล้วอีกเก้าคนอยู่ที่ไหน? ไม่มีใครกลับมาสรรเสริญพระเจ้าเว้นแต่คนต่างชาติคนนี้หรือ?’ ”—ลูกา 17:17, 18.
ชายโรคเรื้อนอีกเก้าคนนั้นไม่ใช่คนเลว. ก่อนหน้านั้น พวกเขาได้แสดงความเชื่อในพระเยซูอย่างเปิดเผย และเต็มใจปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ นั่นหมายรวมถึงการเดินทางไปกรุงเยรูซาเลมเพื่อแสดงตัวต่อพวกปุโรหิต. อย่างไรก็ดี แม้พวกเขาคงจะหยั่งรู้ค่าอย่างซาบซึ้งที่พระเยซูปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความกรุณา แต่พวกเขาพลาดไปที่ไม่ได้
กล่าวขอบคุณพระองค์. การกระทำของพวกเขาทำให้พระคริสต์ผิดหวัง. พวกเราล่ะเป็นอย่างไร? เมื่อบางคนปฏิบัติต่อเราเป็นอย่างดี เราพร้อมจะพูดขอบคุณทันทีไหม และหากเหมาะสม เราจะเขียนข้อความสั้น ๆ แสดงความขอบคุณไหม?คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “[ความรัก] ไม่ประพฤติหยาบโลน ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว.” (1 โครินท์ 13:5) ด้วยเหตุนี้ การแสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างจริงใจไม่ใช่แค่เรื่องของมารยาทอันดี แต่เป็นหลักฐานแสดงถึงความรัก. ดังที่กรณีของคนโรคเรื้อนสอนพวกเรา บรรดาผู้ที่ปรารถนาจะทำให้พระคริสต์พอพระทัยพึงแสดงความรักและรู้คุณค่าคนทั้งปวง โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ, เผ่าพันธุ์, หรือศาสนา.
ลองถามตัวเองว่า ‘เมื่อไรเป็นครั้งสุดท้ายที่ฉันขอบคุณบุคคลซึ่งให้ความช่วยเหลือฉัน อาทิ เพื่อนบ้าน, เพื่อนในที่ทำงาน, บุคลากรโรงพยาบาล, เพื่อนนักเรียน หรือพนักงานขายของ?’ คุณน่าจะจดบันทึกเก็บไว้สักวันสองวันว่าคุณได้กล่าวคำขอบคุณกี่ครั้ง หรือเขียนข้อความขอบคุณส่งไปให้ใครบางคน. การจดบันทึกเช่นนั้นคงช่วยให้คุณเห็นจุดที่อาจปรับปรุงให้ดีขึ้นในการกล่าวขอบคุณ.
แน่นอน ผู้ซึ่งคู่ควรอย่างยิ่งกับการขอบคุณคือพระยะโฮวาพระเจ้า. พระองค์ทรงโปรดให้ “ของประทานอันดีและสมบูรณ์ทุกอย่าง.” (ยาโกโบ 1:17) คุณกล่าวขอบพระคุณพระเจ้าครั้งสุดท้ายเมื่อไรสำหรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อคุณ?—1 เทสซาโลนิเก 5:17, 18.
ทำไมแสดงความขอบคุณแม้ว่าคนอื่นไม่ทำ
คนอื่นอาจไม่แสดงความขอบคุณเมื่อเราแสดงความขอบคุณ. ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมเราควรแสดงความขอบคุณแม้คนอื่นจะไม่ทำ? ขอพิจารณาเพียงเหตุผลประการเดียว.
โดยการทำดีต่อคนเหล่านั้นซึ่งไม่เห็นคุณค่า เราจึงเป็นผู้เลียนแบบพระยะโฮวาพระเจ้า พระผู้สร้างที่ทรงไว้ซึ่งความกรุณา. ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้คนมากมายไม่เห็นคุณค่าความรักที่พระยะโฮวาทรงสำแดงต่อพวกเขาก็หาได้ยับยั้งพระองค์ในการทำดีต่อพวกเขาไม่. (โรม 5:8; 1 โยฮัน 4:9, 10) พระองค์ “ทรงบันดาลให้ดวงอาทิตย์ขึ้นส่องแสงแก่คนดีและคนชั่ว อีกทั้งทรงบันดาลให้ฝนตกแก่คนชอบธรรมและคนอธรรม.” หากเราบากบั่นจะแสดงความขอบคุณ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในโลกที่ไม่รู้จักขอบคุณ เราก็จะพิสูจน์ตัวเองเป็น “บุตรของพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์.”—มัดธาย 5:45.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 14 พ่อแม่หลายคนได้อ่านและพิจารณาด้วยกันกับลูกจากหนังสือจงเรียนจากครูผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา. บท 18 มีชื่อเรื่อง “ลูกไม่ลืมพูดขอบคุณใช่ไหม?”
[คำโปรยหน้า 15]
จดบันทึกเก็บไว้สักวันสองวันว่าคุณได้กล่าวคำขอบคุณกี่ครั้ง
[ภาพหน้า 15]
เป็นตัวอย่างแก่ลูกของคุณในการกล่าวขอบคุณ
[ภาพหน้า 15]
แม้แต่เด็กเล็กก็อาจรับการฝึกอบรมให้แสดงความขอบคุณได้