คุณรู้ไหม?
คุณรู้ไหม?
ทำไมชาวยิวจึงถือว่าวันซะบาโตเริ่มต้นในตอนเย็น?
เมื่อพระยะโฮวาทรงให้บัญญัติแก่ประชาชนของพระองค์เกี่ยวกับวันไถ่โทษ พระองค์ตรัสว่า “ในวันเดียวกันนั้นเจ้าอย่าทำงานใด ๆ . . . จะเป็นวันสะบาโตสำหรับหยุดพักสงบแก่เจ้า . . . เจ้าต้องรักษาวันสะบาโตจากเวลาเย็นถึงเวลาเย็น.” (เลวีติโก 23:28, 32, ฉบับแปลใหม่) คำสั่งนี้สะท้อนให้เห็นแนวคิดที่ว่าแต่ละวันเริ่มต้นในตอนเย็นหลังดวงอาทิตย์ตก และสิ้นสุดเมื่อดวงอาทิตย์ตกครั้งถัดไป. เพราะเหตุนี้ หนึ่งวันของชาวยิวจึงเริ่มจากเย็นวันหนึ่งไปจนถึงเย็นอีกวันหนึ่ง.
การนับวันด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ด้วยพระองค์เอง. บันทึกเกี่ยวกับวันแรกแห่งการทรงสร้างของพระเจ้ากล่าวว่า “มีเวลาเย็นและเวลาเช้าเป็นวันที่หนึ่ง.” และ “วัน” ต่อ ๆ มาก็นับด้วยวิธีเดียวกัน คือเริ่มใน “เวลาเย็น.”—เยเนซิศ 1:5, 8, 13, 19, 23, 31.
ชาวยิวไม่ใช่ชนชาติเดียวที่เริ่มนับวันใหม่ในตอนเย็น. ชาวเอเธนส์, ชาวนูมิเดีย, และชาวฟินิเซียก็ใช้วิธีเดียวกัน. ต่างจากชาวบาบิโลนซึ่งถือเอาเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นการเริ่มต้นวันใหม่ ในขณะที่ชาวอียิปต์และชาวโรมันนับวันโดยเริ่มจากเที่ยงคืนของวันหนึ่งไปจนถึงเที่ยงคืนของอีกวันหนึ่ง เหมือนวิธีที่ใช้กันในปัจจุบัน. อย่างไรก็ตาม ชาวยิวในปัจจุบันยังคงถือว่าวันซะบาโตเริ่มต้นและสิ้นสุดเมื่อดวงอาทิตย์ตก.
“ระยะทางที่อนุญาตให้เดินทางได้ในวันซะบาโต” นั้นไกลแค่ไหน?
หลังจากพวกสาวกได้เห็นการเสด็จสู่สวรรค์ของพระเยซูบนภูเขามะกอกแล้ว พวกเขาก็กลับไปยังกรุงเยรูซาเลม ซึ่งอยู่ห่างออกไป “เท่ากับระยะทางที่อนุญาตให้เดินทางได้ในวันซะบาโต.” (กิจการ 1:12) ตามปกติแล้ว ผู้คนอาจเดินได้วันละ 30 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้น. แต่ภูเขามะกอกอยู่ใกล้กับกรุงเยรูซาเลม. ดังนั้น วลีที่ว่า “ระยะทางที่อนุญาตให้เดินทางได้ในวันซะบาโต” นั้นหมายความว่าอย่างไร?
วันซะบาโตเป็นวันที่ชาวอิสราเอลจะต้องหยุดพักจากกิจกรรมประจำวันของตน. ในวันนี้ พวกเขาต้องไม่ทำงานใด ๆ แม้แต่การก่อไฟในบ้าน. (เอ็กโซโด 20:10; 35:2, 3) พระยะโฮวาทรงสั่งว่า “จงพักอยู่ในที่ของตนทุกคน, อย่าให้ผู้ใดออกจากที่พักในวันที่เจ็ดนั้นเลย.” (เอ็กโซโด 16:29) บัญญัติดังกล่าวจะทำให้ชาวยิวมีโอกาสได้หยุดพักจากกิจกรรมประจำวันและเอาใจใส่เรื่องการนมัสการพระเจ้ามากขึ้น.
เนื่องจากไม่พอใจที่พระบัญญัติของพระยะโฮวากำหนดไว้แค่หลักการเท่านั้น พวกรับบีที่เคร่งครัดในเรื่องหยุมหยิมจึงตั้งกฎที่ตายตัวและค่อนข้างจะไร้เหตุผลว่า คนหนึ่งจะเดินได้ไกลแค่ไหนเพื่อเข้าร่วมการนมัสการเป็นต้น. สารานุกรมว่าด้วยสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล, เทววิทยา, และคริสตจักร (ภาษาอังกฤษ) กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ผลของกฎที่เคร่งครัดเกี่ยวกับการถือวันซะบาโตคือ . . . มีการห้ามไม่ให้ชาวอิสราเอลเดินในวันซะบาโตเกินกว่าระยะทางที่กำหนดไว้ ซึ่งเรียกว่าระยะทางที่อนุญาตให้เดินทางได้ในวันซะบาโต.” ระยะทางที่กำหนดไว้นั้นคือ 2,000 ศอก ซึ่งเทียบเท่ากับระยะทางระหว่าง 890 ถึง 1,110 เมตร.
[ภาพหน้า 11]
กรุงเยรูซาเลมเมื่อมองจากภูเขามะกอก