การรุ่งเรืองและการสูญสิ้นของ “เรือแห่งทาร์ชิช”
การรุ่งเรืองและการสูญสิ้นของ “เรือแห่งทาร์ชิช”
“กำปั่นทั้งหลายแห่งเมืองธาระซิศได้ไปมาค้าขายที่ตลาดแห่งเจ้า.”—ยะเอศเคล 27:25
เรือหรือกำปั่นแห่งทาร์ชิช (ธาระซิศ) ได้ช่วยสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่กษัตริย์โซโลมอน. ชนชาติที่สร้างกองเรือนี้มีส่วนทำให้เกิดตัวอักษรกรีกและโรมัน. นอกจากนี้ พวกเขายังได้ก่อตั้งเมืองหนึ่งที่ชื่อบิบลอส ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อหนังสือที่มีอิทธิพลมากที่สุดเท่าที่เคยพิมพ์มา.
ใครคือชนชาติที่ต่อเรือและแล่นเรือแห่งทาร์ชิชนี้? ทำไมเรือเหล่านี้จึงมีชื่อว่าทาร์ชิช? และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนเหล่านี้และเรือของพวกเขาช่วยยืนยันความถูกต้องของคัมภีร์ไบเบิลอย่างไร?
เจ้าแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ชาวฟินิเซียคือผู้ที่ต่อเรือขนาดใหญ่ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่าเรือแห่งทาร์ชิช. ชาวฟินิเซียเป็นนักเดินเรือที่ชำนาญอยู่แล้วเมื่อประมาณหนึ่งพันปีก่อนสมัยพระเยซู. บ้านเมืองของพวกเขาตั้งอยู่ริมชายฝั่งที่แคบยาวซึ่งเป็นบริเวณประเทศเลบานอนใน
ปัจจุบัน. ดินแดนที่อยู่ทางเหนือ, ตะวันออก, และใต้เป็นเขตแดนของชนชาติอื่น. ทางตะวันตกคือเมดิเตอร์เรเนียนที่กว้างใหญ่. ชาวฟินิเซียจึงหวังว่าทะเลจะเป็นแหล่งที่นำความมั่งคั่งมาให้.นักเดินเรือชาวฟินิเซียค่อย ๆ พัฒนากองเรือสินค้าของตนจนประสบความสำเร็จ. เมื่อได้กำไรมากขึ้นและเทคโนโลยีก็ก้าวหน้าขึ้น พวกเขาจึงสร้างเรือขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งสามารถเดินทางไปได้ไกลขึ้น. หลังจากไปได้ไกลถึงไซปรัส, ซาร์ดิเนีย, และหมู่เกาะแบลิแอริกแล้ว ชาวฟินิเซียก็แล่นเรือตามชายฝั่งของแอฟริกาเหนือไปทางตะวันตกจนถึงประเทศสเปน. (ดูแผนที่ประกอบ.)
ช่างต่อเรือชาวฟินิเซียต่อเรือที่ยาวราว ๆ สามสิบเมตร. ดูเหมือนว่าเรือเดินสมุทรเหล่านี้ได้ชื่อว่า “เรือแห่งทาร์ชิช” เนื่องจากสามารถเดินทางได้ไกลถึง 4,000 กิโลเมตร จากฟินิเซียไปจนถึงสเปนตอนใต้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าคือที่ตั้งของทาร์ชิช. *
ชาวฟินิเซียคงไม่คิดจะเป็นผู้ครองโลก พวกเขาเพียงแต่ใช้เรือเพื่อทำธุรกิจ. พวกเขาหารายได้จากการตั้งศูนย์ซื้อขายสินค้าตามที่ต่าง ๆ. อย่างไรก็ตาม ในฐานะพ่อค้า พวกเขาได้กลายเป็นเจ้าแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน.
เลยทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปอีก
เพื่อจะค้าขายทำกำไร นักสำรวจชาวฟินิเซียเดินทางไปไกลถึงมหาสมุทรแอตแลนติก. พวกเขาแล่นเรือไปตามชายฝั่งตอนใต้ของสเปน จนถึงบริเวณที่เรียกว่า ทาร์เทสซัส. ราว ๆ ปี 1100 ก่อนสากลศักราช พวกเขาได้สร้างเมืองหนึ่งซึ่งพวกเขาให้ชื่อว่า กาเดียร์. เมืองท่าแห่งนี้ที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ กาดิซ ประเทศสเปน กลายเป็นเมืองใหญ่แห่งแรก ๆ ของยุโรปตะวันตก.
ชาวฟินิเซียค้าขายเกลือ, เหล้าองุ่น, ปลาแห้ง, ไม้ซีดาร์, ไม้สน, ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะ, แก้ว, ผ้าปัก, ผ้าลินินเนื้อดี, และผ้าย้อมสีม่วงที่มีชื่อเสียงของไทระ. แล้วสเปนให้อะไรเป็นการแลกเปลี่ยน?
สเปนตอนใต้เป็นบริเวณที่มีแร่เงินและโลหะมีค่าชนิดอื่น ๆ มากที่สุดในแถบเมดิเตอร์เรเนียน. ผู้พยากรณ์ยะเอศเคลกล่าวถึงไทระซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของชาวฟินิเซีย ยะเอศเคล 27:12, ฉบับคิงเจมส์.
ดังนี้: “ทารชิชไปมาค้าขายกับเจ้าเพราะเจ้ามีทรัพยากรมากมายหลายชนิด เขาเอาเงิน เหล็ก ดีบุก และตะกั่วมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าของเจ้า.”—ชาวฟินิเซียได้พบแหล่งแร่แห่งหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะขุดได้ไม่มีวันหมดใกล้กับแม่น้ำกัวดัลกีบีร์ ไม่ไกลจากกาดิซ. ปัจจุบันยังสามารถขุดแร่ชนิดเดียวกับในสมัยโบราณได้จากบริเวณนี้ ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่า ริโอ ทินโท. เหมืองต่าง ๆ เหล่านี้ผลิตแร่ที่มีคุณภาพมานานถึงสามพันปีแล้ว.
เนื่องจากมีการแล่นเรือค้าขายสินค้ากันเป็นประจำระหว่างสเปนกับฟินิเซีย ชาวฟินิเซียจึงกลายเป็นผู้ผูกขาดการค้าแร่เงินของสเปน. แร่เงินจำนวนมากหลั่งไหลมายังฟินิเซียและมาถึงอิสราเอลที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย. กษัตริย์โซโลมอนแห่งอิสราเอลทำการค้าร่วมกับกษัตริย์ฮีรามชาวฟินิเซีย. ผลคือ ในสมัยของโซโลมอน แร่เงินถือเป็นของที่ “ไม่มีค่าอะไร.”—1 กษัตริย์ 10:21, ฉบับ R73. *
แม้ว่าชาวฟินิเซียจะกลายเป็นพ่อค้าที่ประสบความสำเร็จ แต่ในบางเรื่องพวกเขาก็โหดร้ายทารุณ. ว่ากันว่า บางครั้งพวกเขาก็หลอกให้คนขึ้นไปบนเรือโดยทำทีว่าจะพามาดูสินค้า แต่แล้วก็จับคนเหล่านั้นไว้เป็นทาส. ในเวลาต่อมา พวกเขาถึงกับหักหลังชาวอิสราเอลซึ่งเป็นอดีตเพื่อนร่วมธุรกิจ และขายชาวอิสราเอลไปเป็นทาส. เพราะเหตุนี้ พวกผู้พยากรณ์ชาวฮีบรูจึงพยากรณ์ไว้ว่าเมืองไทระของชาวฟินิเซียจะถูกทำลาย. ในที่สุด อะเล็กซานเดอร์มหาราชก็ทำให้คำพยากรณ์เหล่านี้สำเร็จเป็นจริงในปี 332 ก่อน ส.ศ. (โยเอล 3:6; อาโมศ 1:9, 10) ความพินาศของเมืองนี้คือจุดสิ้นสุดของยุคฟินิเซีย.
มรดกที่ชาวฟินิเซียละไว้
พ่อค้าชาวฟินิเซียก็เช่นเดียวกับนักธุรกิจที่รอบคอบทั้งหลายซึ่งมักทำสัญญาและข้อตกลงต่าง ๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร. พวกเขาใช้ตัวอักษรซึ่งคล้ายกันมากกับอักษรฮีบรูโบราณ. ชาติอื่น ๆ ก็เห็นข้อดีของตัวอักษรภาษาฟินิเซีย. มีการนำตัวอักษรนี้มาปรับเล็กน้อยและใช้เป็นต้นแบบของตัวอักษรภาษากรีก และตัวอักษรภาษากรีกก็มาเป็นต้นแบบของตัวอักษรโรมัน ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในปัจจุบันรูปแบบหนึ่ง.
นอกจากนี้ เมืองสำคัญของชาวฟินิเซียที่ชื่อ บิบลอส ก็กลายเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายพาไพรัส ซึ่งผู้คนใช้เป็นวัสดุสำหรับเขียนก่อนจะมีกระดาษในปัจจุบัน. การใช้พาไพรัสในการเขียนทำให้มีการพัฒนาเป็นหนังสือในเวลาต่อมา. ที่จริงแล้ว ชื่อของหนังสือที่มีการแจกจ่ายมากที่สุดในโลก คือคัมภีร์ไบเบิล ก็มาจากชื่อ บิบลอส นี่เอง. บันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวฟินิเซียและเรือของพวกเขาช่วยให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าคัมภีร์ไบเบิลเขียนขึ้นโดยอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 เมื่อเวลาผ่านไป คำว่า “เรือแห่งทาร์ชิช” กลายเป็นคำที่หมายถึงเรือชนิดหนึ่งซึ่งสามารถเดินทางได้ไกลในทะเล.
^ วรรค 15 “หมู่กำปั่นเมืองธาราซิศ” ของโซโลมอนทำงานร่วมกับกองเรือของฮีราม โดยอาจเป็นได้ว่าเริ่มออกเดินทางจากเอซิโอน-เกเบอร์ (เอ็ศโยนฆาเบร) และค้าขายอยู่ในทะเลแดงรวมถึงบริเวณที่ไกลออกไปอีก.—1 กษัตริย์ 10:22.
[แผนที่หน้า 27]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
เส้นทางการค้าขายของชาวฟินิเซีย
สเปน
ทาร์เทสซัส
แม่น้ำกัวดัลกีบีร์
กาเดียร์
คอร์ซิกา
หมู่เกาะแบลิแอริก
ซาร์ดิเนีย
ซิซิลี
เกาะครีต
ไซปรัส
บิบลอส
ไทระ
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เอซิโอน-เกเบอร์
ทะเลแดง
แอฟริกา
[ภาพหน้า 27]
เหรียญซึ่งมีรูปเรือของชาวฟินิเซีย ระหว่างศตวรรษที่สามและสี่ก่อน ส.ศ.
[ภาพหน้า 27]
ซากชุมชนชาวฟินิเซีย, กาดิซ, สเปน
[ที่มาของภาพหน้า 26]
Museo Naval, Madrid
[ที่มาของภาพหน้า 27]
Coin: Museo Arqueológico Municipal. Puerto de Sta. María, Cádiz; remains: Yacimiento Arqueológico de Doña Blanca, Pto. de Sta. María, Cádiz, España