ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เมืองโครินท์—“เจ้าสองอ่าว”

เมืองโครินท์—“เจ้าสองอ่าว”

เมือง​โครินท์—“เจ้า​สอง​อ่าว”

ถ้า​คุณ​ดู​แผนที่​ประเทศ​กรีซ คุณ​จะ​เห็น​ว่า​บริเวณ​ที่​เป็น​แผ่นดิน​ใหญ่​นั้น​ประกอบ​ด้วย​ส่วน​ที่​เป็น​คาบสมุทร​กับ​อีก​ส่วน​หนึ่ง​ทาง​ตอน​ใต้​ซึ่ง​มอง​ดู​คล้าย​เกาะ​ขนาด​ใหญ่. มี​แผ่นดิน​แคบ ๆ เชื่อม​สอง​ส่วน​นี้​เข้า​ด้วย​กัน โดย​บริเวณ​ที่​แคบ​ที่​สุด​มี​ความ​กว้าง​ประมาณ​หก​กิโลเมตร. แผ่นดิน​ส่วน​นี้​เรียก​ว่า คอ​คอด​โครินท์ ซึ่ง​เชื่อม​คาบสมุทร​เพโลพอนนีซ​ที่​อยู่​ทาง​ใต้​เข้า​กับ​แผ่นดิน​ใหญ่​ทาง​เหนือ.

คอ​คอด​แห่ง​นี้​ยัง​มี​ความ​สำคัญ​ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง​ด้วย. มี​การ​เรียก​คอ​คอด​นี้​ว่า สะพาน​เชื่อม​ทะเล เพราะ​ทาง​ฝั่ง​ตะวัน​ออก​คือ​อ่าว​ซาโรนิค ซึ่ง​เป็น​ทาง​ออก​สู่​ทะเล​อีเจียน​และ​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน​ตะวัน​ออก ส่วน​ทาง​ฝั่ง​ตะวัน​ตก​คือ​อ่าว​โครินท์ ซึ่ง​เป็น​ทาง​ออก​สู่​ทะเล​ไอโอเนียน, ทะเล​เอเดรียติก, และ​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน​ตะวัน​ตก. บน​คอ​คอด​นี้​คือ​ที่​ตั้ง​ของ​เมือง​โครินท์ ซึ่ง​เป็น​จุด​แวะ​พัก​ที่​สำคัญ​ของ​อัครสาวก​เปาโล​ระหว่าง​ที่​ท่าน​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​ที่​ต่าง ๆ ใน​ฐานะ​มิชชันนารี. ใน​สมัย​โบราณ เมือง​นี้​มี​ชื่อเสียง​ใน​เรื่อง​ความ​เจริญ​รุ่งเรือง, ความ​โอ่อ่า​หรูหรา, และ​การ​ใช้​ชีวิต​แบบ​ผิด​ศีลธรรม.

เมือง​ที่​ตั้ง​อยู่​ใน​ทำเล​อัน​เหมาะ

เมือง​โครินท์​ตั้ง​อยู่​ใกล้​กับ​ฝั่ง​ด้าน​ตะวัน​ตก​ของ​คอ​คอด​ที่​สำคัญ​นี้. เมือง​นี้​มี​ท่า​เรือ​หรือ​อ่าว​จอด​เรือ​สอง​แห่ง​ตั้ง​อยู่​กัน​คน​ละ​ฝั่ง​ของ​คอ​คอด ทาง​ฝั่ง​ตะวัน​ตก​คือ​ท่า​เลแคอุม​และ​ฝั่ง​ตะวัน​ออก​คือ​ท่า​เค็นครีเอ. ด้วย​เหตุ​นี้ นัก​ภูมิศาสตร์​ชาว​กรีก​ชื่อ​สตราโบ​จึง​เรียก​เมือง​โครินท์​ว่า “เจ้า​สอง​อ่าว.” เนื่อง​จาก​ตั้ง​อยู่​ใน​ทำเล​ที่​ดี​เยี่ยม เมือง​โครินท์​จึง​กลาย​เป็น​ชุม​ทาง​นานา​ชาติ​ซึ่ง​ควบคุม​เส้น​ทาง​การ​ค้า​ทาง​บก​เหนือ-ใต้ และ​เส้น​ทาง​ค้า​ขาย​ทาง​น้ำ​ตะวัน​ออก-ตะวัน​ตก.

ตั้ง​แต่​สมัย​โบราณ เรือ​จาก​ตะวัน​ออก (เอเชีย​ไมเนอร์, ซีเรีย, ฟีนิเซีย, และ​อียิปต์) และ​ตะวัน​ตก (อิตาลี​และ​สเปน) จะ​มา​พร้อม​กับ​สินค้า ขน​สินค้า​ขึ้น​ที่​ท่า​เรือ​ฝั่ง​หนึ่ง​แล้ว​ลำเลียง​สินค้า​ต่อ​ไป​ทาง​บก​ไม่​กี่​กิโลเมตร​จน​ถึง​อีก​ฝั่ง​หนึ่ง​ของ​คอ​คอด. จาก​นั้น​สินค้า​จะ​ถูก​ขน​ลง​เรือ​อีก​ลำ​หนึ่ง​เพื่อ​เดิน​ทาง​ต่อ​ไป. เรือ​ที่​ไม่​ใหญ่​มาก​จะ​ถูก​ลาก​ข้าม​คอ​คอด​ไป​บน​ทาง​สำหรับ​ลาก​ที่​เรียก​ว่า ดิโอลโคส.—ดู ​กรอบ​หน้า 27

ทำไม​ชาว​เรือ​จึง​ชอบ​ข้าม​คอ​คอด​โดย​ใช้​เส้น​ทาง​ทาง​บก​มาก​กว่า? นั่น​ก็​เพราะ​เส้น​ทาง​นี้​ทำ​ให้​พวก​เขา​ไม่​ต้อง​เสี่ยง​กับ​การ​เดิน​ทาง​ที่​อันตราย​ระยะ​ทาง 320 กิโลเมตร​ใน​ทะเล​ซึ่ง​มี​พายุ​รุนแรง​ขณะ​ที่​แล่น​เรือ​อ้อม​แหลม​ต่าง ๆ ทาง​ใต้​ของ​คาบสมุทร​เพโลพอนนีซ. ชาว​เรือ​จะ​หลีก​เลี่ยง​แหลม​มา​เลีย​เป็น​พิเศษ ซึ่ง​มี​คำ​กล่าว​ถึง​แหลม​แห่ง​นี้​ไว้​ว่า “อ้อม​แหลม​มา​เลีย​เมื่อ​ไร หมด​หวัง​ใด ๆ จะ​ได้​กลับ​บ้าน.”

เค็นครีเอ—เผย​โฉม​อ่าว​ที่​จม​อยู่​ใต้​น้ำ

ท่า​เรือ​เค็นครีเอ​ซึ่ง​อยู่​ห่าง​จาก​ตัว​เมือง​โครินท์​ไป​ประมาณ 11 กิโลเมตร เป็น​จุด​สิ้น​สุด​การ​เดิน​ทาง​ของ​เรือ​ที่​มา​จาก​เอเชีย. ปัจจุบัน​ท่า​เรือ​แห่ง​นี้​ครึ่ง​หนึ่ง​จม​อยู่​ใต้​ทะเล​เนื่อง​จาก​แผ่นดิน​ไหว​ที่​เกิด​ขึ้น​หลาย​ครั้ง​ประมาณ​ปลาย​ศตวรรษ​ที่​สี่​สากล​ศักราช. สตราโบ​พรรณนา​ถึง​เค็นครีเอ​ว่า​เป็น​ท่า​เรือ​ที่​มี​ผู้​คน​พลุกพล่าน​และ​มี​ราย​ได้​มาก และ​นัก​ปรัชญา​ชาว​โรมัน​ชื่อ​ลูคีอุส อาพุลเลอุส​เรียก​ท่า​เรือ​แห่ง​นี้​ว่า “แหล่ง​พักพิง​ที่​ดี​เยี่ยม​และ​มี​ศักยภาพ​สูง​ซึ่ง​มี​เรือ​จาก​หลาก​หลาย​ชาติ​แวะ​เวียน​มา​บ่อย ๆ.”

ใน​สมัย​โรมัน อ่าว​จอด​เรือ​แห่ง​นี้​มี​ท่า​เทียบ​เรือ​สอง​แห่ง​ซึ่ง​ยื่น​ออก​ไป​ใน​ทะเล​เหมือน​กับ​เกือก​ม้า​และ​มี​ปาก​ทาง​กว้าง 150 ถึง 200 เมตร. อ่าว​จอด​เรือ​แห่ง​นี้​สามารถ​รอง​รับ​เรือ​ที่​ยาว​ถึง 40 เมตร​ได้. การ​ขุด​ค้น​ด้าน​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้​เผย​ให้​เห็น​บาง​ส่วน​ของ​วิหาร​ซึ่ง​คาด​ว่า​เคย​เป็น​สถาน​ศักดิ์สิทธิ์​แห่ง​เทพ​ธิดา​ไอซิส. กลุ่ม​อาคาร​หลาย​หลัง​ที่​ตั้ง​อยู่​ปลาย​อีก​ด้าน​หนึ่ง​ของ​อ่าว​ดู​เหมือน​จะ​เป็น​สถาน​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​เทพ​ธิดา​แอโฟรไดที. เทพ​ธิดา​สอง​องค์​นี้​ถือ​กัน​ว่า​เป็น​เทพ​ผู้​พิทักษ์​ชาว​เรือ.

การ​ขน​ส่ง​สินค้า​ทาง​เรือ​ที่​ท่า​เรือ​แห่ง​นี้​คง​เป็น​สาเหตุ​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​เปาโล​ทำ​งาน​เป็น​ช่าง​ทำ​เต็นท์​ใน​เมือง​โครินท์. (กิจการ 18:1-3) หนังสือ​ชื่อ​ตาม​รอย​นัก​บุญ​เปาโล (ภาษา​อังกฤษ) ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “เมื่อ​ใกล้​ถึง​ฤดู​หนาว ช่าง​ทำ​เต็นท์​ใน​เมือง​โครินท์​ซึ่ง​เป็น​ช่าง​เย็บ​ใบ​เรือ​ด้วย​จะ​มี​งาน​เพิ่ม​ขึ้น​จน​แทบ​จะ​ทำ​ไม่​ไหว. เนื่อง​จาก​ท่า​เรือ​ทั้ง​สอง​แห่ง​เต็ม​ไป​ด้วย​เรือ​ที่​เข้า​มา​จอด​ใน​ฤดู​หนาว​และ​ต่าง​ก็​รอ​ที่​จะ​ซ่อม​ใน​ระหว่าง​ที่​ทะเล​ปิด บรรดา​ร้าน​รับ​ซ่อม​ใน​เลแคอุม​และ​เค็นครีเอ​จึง​คง​ต้อง​มี​งาน​สำหรับ​แทบ​ทุก​คน​ที่​สามารถ​เย็บ​ผ้า​ใบ​เรือ​ยาว ๆ ได้.”

หลัง​จาก​พัก​อยู่​ใน​โครินท์​มา​นาน​กว่า 18 เดือน ประมาณ​ปี ส.ศ. 52 เปาโล​ก็​เดิน​ทาง​ต่อ​ไป​ยัง​เอเฟโซส์. (กิจการ 18:18, 19) ณ ช่วง​ใด​ช่วง​หนึ่ง​ใน​ระหว่าง​สี่​ปี​ต่อ​มา​ก็​มี​การ​ตั้ง​ประชาคม​คริสเตียน​ขึ้น​ใน​เค็นครีเอ. คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​เรา​ว่า​เปาโล​ได้​ขอ​ให้​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​ช่วยเหลือ​คริสเตียน​หญิง​ชื่อ​ฟอยเบ​ซึ่ง​มา​จาก “ประชาคม​ที่​เมือง​เค็นครีเอ.”—โรม 16:1, 2

ปัจจุบัน ผู้​ที่​ไป​เยือน​อ่าว​เค็นครีเอ​ลง​ว่าย​ใน​น้ำ​ทะเล​ที่​ใส​แจ๋ว​ท่ามกลาง​ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ของ​ท่า​เรือ​ที่​จม​อยู่​ใต้​น้ำ. นัก​ท่อง​เที่ยว​ส่วน​ใหญ่​อาจ​ไม่​ทราบ​ว่า​เมื่อ​หลาย​ร้อย​ปี​ก่อน​ที่​นี่​เคย​คึกคัก​ไป​ด้วย​กิจกรรม​ทั้ง​งาน​ประกาศ​ของ​คริสเตียน​และ​ธุรกิจ​การ​ค้า. อ่าว​จอด​เรือ​เลแคอุม​ซึ่ง​เป็น​ท่า​เรือ​อีก​แห่ง​หนึ่ง​ของ​โครินท์​ทาง​ฝั่ง​ตะวัน​ตก​ของ​คอ​คอด​ก็​เป็น​เช่น​นั้น​ด้วย.

เลแคอุม—ประตู​สู่​ตะวัน​ตก

มี​ถนน​สาย​หนึ่ง​ซึ่ง​ปู​ด้วย​หิน​ที่​เรียก​ว่า ถนน​เลแคอุม​ตัด​ตรง​จาก​อะกอรา​หรือ​ลาน​สำหรับ​ค้า​ขาย​ใน​โครินท์​ไป​ยัง​อ่าว​จอด​เรือ​เลแคอุม​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ตก​ห่าง​ออก​ไป 2 กิโลเมตร. วิศวกร​ได้​ขุด​ลอก​บริเวณ​ใกล้​ชายฝั่ง​ส่วน​หนึ่ง​เพื่อ​สร้าง​เป็น​ท่า​เรือ​และ​นำ​ดิน​และ​หิน​จาก​การ​ขุด​มา​ถม​บน​ชาย​หาด​เพื่อ​ป้องกัน​ไม่​ให้​ลม​แรง​จาก​อ่าว​มา​ปะทะ​เรือ​ที่​จอด​ทอด​สมอ​อยู่. ครั้ง​หนึ่ง​ท่า​เรือ​นี้​เคย​เป็น​ท่า​เรือ​แห่ง​หนึ่ง​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน. นัก​โบราณคดี​ได้​ขุด​พบ​ซาก​ประภาคาร​แห่ง​หนึ่ง​เป็น​รูป​ปั้น​เทพเจ้า​โพ​ไซ​ดอน​ถือ​คบไฟ.

ถนน​เลแคอุม​ตลอด​สาย​ซึ่ง​มี​กำแพง​ป้องกัน​สอง​ด้าน มี​ทาง​สำหรับ​คน​เดิน, สถาน​ที่​ราชการ, วิหาร​และ​เสา​ระเบียง​ที่​มี​ร้าน​ขาย​ของ. บน​ถนน​สาย​นี้​เปาโล​คง​ได้​พบ​กับ​คน​ที่​กำลัง​ยุ่ง​อยู่​กับ​การ​จับจ่าย​ซื้อ​ของ, คน​พูด​จา​ไร้​สาระ, เจ้าของ​ร้าน​ค้า, ทาส, นัก​ธุรกิจ, และ​คน​อื่น ๆ ซึ่ง​เหมาะ​ที่​จะ​ประกาศ​ด้วย.

เลแคอุม​ไม่​เพียง​เป็น​ที่​สำหรับ​ทำ​การ​ค้า​เท่า​นั้น แต่​ยัง​เป็น​ฐาน​ทัพ​เรือ​ที่​สำคัญ​ด้วย. บาง​คน​บอก​ว่า​เรือ​ไตรรีม ซึ่ง​เป็น​เรือ​รบ​ที่​ทรง​ประสิทธิภาพ​ที่​สุด​แบบ​หนึ่ง​ใน​สมัย​โบราณ​ก็​ต่อ​ขึ้น​ที่​อู่​ต่อ​เรือ​ใน​เลแคอุม​โดย​ช่าง​ต่อ​เรือ​ชาว​โครินท์​ที่​ชื่อ​อามิโนคลีส เมื่อ​ราว ๆ ปี 700 ก่อน ส.ศ. เนื่อง​จาก​ข้อ​ได้​เปรียบ​ของ​เรือ​ไตรรีม​นี้ ชาว​เอเธนส์​จึง​เอา​ชนะ​กองทัพ​เรือ​เปอร์เซีย​ได้​อย่าง​เด็ดขาด​ที่​ซาลามิส​ใน​ปี 480 ก่อน ส.ศ.

ท่า​เรือ​นี้​ที่​ครั้ง​หนึ่ง​เคย​มี​ผู้​คน​คึกคัก ปัจจุบัน​เป็น​เพียง “กลุ่ม​ทะเลสาบ​น้ำ​เค็ม​สี​ดำ​ที่​มี​แต่​ต้น​กก​และ​ต้น​อ้อ​ขึ้น​อยู่.” ไม่​มี​อะไร​บ่ง​บอก​เลย​ว่า ที่​แห่ง​นี้​เมื่อ​หลาย​ร้อย​ปี​ก่อน​เคย​เป็น​ที่​ตั้ง​ของ​ท่า​เรือ​ซึ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ใน​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน.

ชีวิต​ใน​เมือง​โครินท์​เป็น​เรื่อง​ยาก​สำหรับ​คริสเตียน

นอก​จาก​จะ​เป็น​ท่า​เรือ​พาณิชย์​แล้ว อ่าว​จอด​เรือ​สอง​แห่ง​ของ​โครินท์​ยัง​เป็น​ประตู​ที่​เปิด​รับ​อิทธิพล​ต่าง ๆ ซึ่ง​มี​ผล​กระทบ​อย่าง​ยิ่ง​ต่อ​ผู้​คน​ใน​เมือง​ด้วย. ตัว​อย่าง​เช่น ท่า​เรือ​สอง​แห่ง​นี้​ดึงดูด​ผู้​คน​ให้​มา​ค้า​ขาย​และ​ทำ​ให้​เมือง​นี้​มั่งคั่ง. โครินท์​สร้าง​ความ​มั่งคั่ง​ร่ำรวย​จาก​การ​เรียก​เก็บ​ค่า​ธรรมเนียม​การ​ใช้​ท่า​เรือ​ใน​อัตรา​สูง​รวม​ทั้ง​ค่า​บริการ​ขน​สินค้า​และ​ลาก​เรือ​ข้าม​คอ​คอด. นอก​จาก​นี้​เมือง​โครินท์​ยัง​เรียก​เก็บ​ภาษี​การ​สัญจร​ทาง​บก​ด้วย. เมื่อ​ใกล้​ถึง​ปลาย​ศตวรรษ​ที่​เจ็ด​ก่อน ส.ศ. ราย​ได้​ของ​รัฐ​ที่​มา​จาก​การ​เก็บ​ภาษี​ใน​ตลาด​ของ​โครินท์​และ​จาก​การ​ใช้​ท่า​เรือ​มี​มาก​ถึง​ขนาด​ที่​ไม่​ต้อง​เรียก​เก็บ​ภาษี​จาก​ประชาชน​เลย.

นอก​จาก​นี้ โครินท์​ยัง​มี​ราย​ได้​เพิ่ม​จาก​พวก​พ่อค้า​ที่​มา​พัก​อยู่​ใน​เมือง. พ่อค้า​จำนวน​มาก​ปล่อย​ตัว​ไป​กับ​การ​เลี้ยง​เฮฮา​ที่​หรูหรา​ฟุ่มเฟือย​และ​ผิด​ศีลธรรม. กะลาสี​เดิน​กัน​ขวักไขว่​และ​ทำ​ให้​โครินท์​มั่งคั่ง. สตราโบ​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า​คน​เหล่า​นี้​ใช้​จ่าย​เงิน​อย่าง​ง่าย​ดาย. ประชาชน​ชาว​เมือง​นี้​ก็​ให้​บริการ​หลาย​อย่าง รวม​ทั้ง​ซ่อมแซม​เรือ​ด้วย.

ใน​สมัย​เปาโล มี​รายงาน​ว่า​ใน​เมือง​โครินท์​มี​ประชากร​ประมาณ 400,000 คน ซึ่ง​จะ​เป็น​รอง​ก็​เพียง​กรุง​โรม, อะเล็กซานเดรีย​กับ​อันทิโอก​ของ​ซีเรีย​เท่า​นั้น. ชาว​กรีก, โรมัน, ซีเรีย, อียิปต์, และ​ชาว​ยิว​อาศัย​อยู่​ใน​เมือง​โครินท์. มี​ผู้​คน​มาก​มาย​เดิน​ทาง​ผ่าน​ท่า​เรือ​ของ​โครินท์​ตลอด​เวลา ทั้ง​ผู้​ที่​เดิน​ทาง​ท่อง​เที่ยว, ผู้​ที่​มา​ชม​การ​แข่งขัน​กีฬา, ศิลปิน, นัก​ปรัชญา, นัก​ธุรกิจ, และ​อื่น ๆ. ผู้​มา​เยือน​เหล่า​นี้​นำ​ของ​มา​ถวาย​แก่​วิหาร​ต่าง ๆ และ​ถวาย​เครื่อง​สักการะ​บูชา​แด่​เหล่า​เทพเจ้า. ทั้ง​หมด​นี้​ทำ​ให้​โครินท์​กลาย​เป็น​มหา​นคร​ที่​มี​ชีวิต​ชีวา​และ​เฟื่องฟู—แต่​ก็​ต้อง​แลก​มา​ด้วย​ผล​เสียหาย​มาก​มาย.

หนังสือ​ตาม​รอย​นัก​บุญ​เปาโล​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “เมือง​โครินท์​ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​ระหว่าง​ท่า​เรือ​สอง​แห่ง​นี้​ได้​กลาย​เป็น​เมือง​ที่​มี​ผู้​คน​จาก​หลาย​ชาติ​หลาย​ภาษา แฝง​ไป​ด้วย​สิ่ง​ชั่ว​ช้า​ไร้​ศีลธรรม​จาก​คน​ต่าง​ชาติ​ซึ่ง​มา​จอด​เรือ​อยู่​ใน​อ่าว​ของ​ตน.” ข้อ​บกพร่อง​และ​ความ​ชั่ว​ร้าย​จาก​ฝั่ง​ตะวัน​ออก​และ​ตะวัน​ตก​มา​พบ​กัน​และ​หลอม​รวม​กัน​อยู่​ใน​เมือง​นี้. ผล​ก็​คือ โครินท์​กลาย​เป็น​เมือง​ที่​เสื่อม​ทราม​ทาง​ศีลธรรม​และ​หรูหรา​ฟุ่มเฟือย​อย่าง​ไร้​ยางอาย เป็น​เมือง​ที่​ไร้​ศีลธรรม​ที่​สุด​ใน​กรีซ​โบราณ. ใน​อดีต คำ​พูด​ที่​ว่า ใช้​ชีวิต​แบบ​ชาว​โครินท์​กลาย​เป็น​สำนวน​ที่​มี​ความ​หมาย​เหมือน​กับ​การ​ใช้​ชีวิต​แบบ​เสเพล​และ​ไร้​ศีลธรรม.

บรรยากาศ​ที่​ส่ง​เสริม​การ​นิยม​วัตถุ​และ​การ​ทำ​ผิด​ศีลธรรม​เช่น​นั้น​เป็น​อันตราย​สำหรับ​คริสเตียน. สาวก​ของ​พระ​เยซู​ซึ่ง​อยู่​ใน​โครินท์​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​เตือน​ให้​ประพฤติ​ตน​ใน​แนว​ทาง​ที่​พระเจ้า​ยอม​รับ​เสมอ. นับ​ว่า​เหมาะ​ที่​เปาโล​ได้​กล่าว​ประณาม​ความ​โลภ, การ​กรรโชก​ทรัพย์​และ​ความ​ไม่​สะอาด​ทาง​ศีลธรรม​ใน​จดหมาย​ที่​ท่าน​เขียน​ไป​หา​คริสเตียน​ใน​เมือง​โครินท์. เมื่อ​คุณ​อ่าน​จดหมาย​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​สอง​ฉบับ​นี้ คุณ​คง​รู้สึก​ได้​ถึง​อิทธิพล​อัน​ต่ำทราม​ซึ่ง​คริสเตียน​ที่​นั่น​ต้อง​เผชิญ.—1 โครินท์ 5:9, 10; 6:9-11, 18; 2 โครินท์ 7:1

อย่าง​ไร​ก็​ตาม บรรยากาศ​แบบ​นานา​ชาติ​ใน​เมือง​โครินท์​ก็​มี​ข้อ​ดี​อยู่​บ้าง. เมือง​นี้​ได้​รับ​รู้​ความ​คิด​ใหม่ ๆ อยู่​เสมอ. ชาว​เมือง​นี้​มี​ทัศนะ​เปิด​กว้าง​มาก​กว่า​ผู้​คน​ใน​เมือง​อื่น ๆ ที่​เปาโล​ได้​ไป​เยือน. นัก​วิจารณ์​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ตะวัน​ออก​พบ​ตะวัน​ตก​ใน​เมือง​ท่า​ที่​เก่า​แก่​แห่ง​นี้ ชาว​เมือง​นี้​จึง​ได้​รับ​รู้​แนว​คิด​ใหม่ ๆ ทุก​อย่าง​ที่​มี​การ​คิด​กัน​ขึ้น​มา รวม​ทั้ง​ปรัชญา​และ​ศาสนา​ทั้ง​หลาย​ที่​โลก​นี้​มี​ให้.” ผล​ก็​คือ เมือง​นี้​ยอม​ให้​มี​ศาสนา​ต่าง ๆ มาก​มาย และ​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​เรื่อง​นี้​ช่วย​ให้​เปาโล​ทำ​งาน​ประกาศ​ที่​นี่​ได้​ง่าย​ขึ้น.

อ่าว​จอด​เรือ​สอง​แห่ง​ของ​โครินท์ คือ​เค็นครีเอ​กับ​เลแคอุม​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เมือง​นี้​เจริญ​รุ่งเรือง​และ​มี​ชื่อเสียง. แต่​อ่าว​ทั้ง​สอง​แห่ง​ก็​ทำ​ให้​การ​ใช้​ชีวิต​ใน​เมือง​โครินท์​เป็น​เรื่อง​ยาก​สำหรับ​คริสเตียน​ด้วย. คล้าย​กัน​กับ​โลก​ของ​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้. อิทธิพล​ที่​เสื่อม​ทราม เช่น การ​นิยม​วัตถุ​และ​การ​ผิด​ศีลธรรม​เป็น​อันตราย​สำหรับ​ผู้​ที่​เกรง​กลัว​พระเจ้า. ฉะนั้น นับ​ว่า​ดี​ที่​เรา​เอง​จะ​เอา​ใจ​ใส่​คำ​กระตุ้น​เตือน​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ซึ่ง​เปาโล​ได้​ให้​แก่​คริสเตียน​ใน​เมือง​โครินท์.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 27]

 ดิโอลโคส—การ​ขน​สินค้า​บน​ผืน​ดิน​แห้ง

ใน​ตอน​ปลาย​ศตวรรษ​ที่​เจ็ด​ก่อน​สากล​ศักราช เมื่อ​โครงการ​ขุด​คลอง​เลิก​ล้ม​ไป เพรีอันเดอร์ ผู้​ครอง​เมือง​โครินท์​ได้​คิด​ค้น​วิธี​หนึ่ง​ที่​ฉลาด​หลักแหลม​ใน​การ​ขน​สินค้า​ข้าม​คอ​คอด​โครินท์ * นั่น​คือ​ทาง​ขน​สินค้า​ที่​เรียก​ว่า ดิโอลโคส ซึ่ง​แปล​ว่า “ลาก-ข้าม.” ทาง​ขน​สินค้า​นี้​ปู​ลาด​ด้วย​หิน​และ​มี​ร่อง​ลึก​ซึ่ง​ทำ​ขึ้น​สำหรับ​ใส่​ราง​ไม้​ที่​ทา​ด้วย​ไขมัน. สินค้า​จาก​เรือ​ซึ่ง​เข้า​มา​เทียบ​ท่า​ที่​อ่าว​จอด​เรือ​แห่ง​หนึ่ง​จะ​ถูก​ขน​ใส่​รถ​ล้อ​ลาก แล้ว​ให้​ทาส​ลาก​ไป​บน​ทาง​ข้าม​นี้​ไป​ยัง​อ่าว​จอด​เรือ​อีก​ด้าน​หนึ่ง. บาง​ครั้ง​มี​การ​ลาก​เรือ​ขนาด​เล็ก​พร้อม​กับ​สินค้า​บน​เรือ​โดย​ใช้​ทาง​นี้​ด้วย.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 29 สำหรับ​ประวัติการ​ขุด​คลอง​ที่​มี​ใน​ปัจจุบัน โปรด​ดู​บทความ “เรื่อง​ราว​ความ​เป็น​มา​ของ​คลอง​โครินท์” ใน​วารสาร​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 22 ธันวาคม 1984 หน้า 25-27.

[แผนที่​หน้า 25]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

กรีซ

อ่าว​โครินท์

ท่า​เรือ​เลแคอุม

เมือง​โครินท์​โบราณ

เค็นครีเอ

คอ​คอด​โครินท์

อ่าว​ซาโรนิค

เพโลพอนนีซ

ทะเล​ไอโอเนียน

แหลม​มาเลีย

ทะเล​อีเจียน

[ภาพ​หน้า 25]

เรือ​บรรทุก​สินค้า​แล่น​ผ่าน​คลอง​โครินท์​ใน​ปัจจุบัน

[ภาพ​หน้า 26]

อ่าว​จอด​เรือ​เลแคอุม

[ภาพ​หน้า 26]

อ่าว​จอด​เรือ​เค็นครีเอ

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 25]

Todd Bolen/Bible Places.com