ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

แม้แต่ในภาษาที่ตายแล้ว คัมภีร์ไบเบิลก็ยังมีชีวิต

แม้แต่ในภาษาที่ตายแล้ว คัมภีร์ไบเบิลก็ยังมีชีวิต

แม้​แต่​ใน​ภาษา​ที่​ตาย​แล้ว คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​ยัง​มี​ชีวิต

ใน​ช่วง​ไม่​กี่​ศตวรรษ​ที่​ผ่าน​มา มี​ภาษา​ต่าง ๆ ใน​โลก​นี้​สาบสูญ​ไป​อย่าง​น้อย​ครึ่ง​หนึ่ง. ภาษา​หนึ่ง​จะ​ตาย​ไป​เมื่อ​ไม่​มี​คน​ที่​เป็น​เจ้าของ​ภาษา​นั้น​อีก​ต่อ​ไป. ใน​ความ​หมาย​นี้​เอง ภาษา​ละติน​จึง​มัก​ถูก​เรียก​ว่า “ภาษา​ที่​ตาย​แล้ว” ถึง​แม้​ว่า​จะ​ยัง​มี​ผู้​ศึกษา​ภาษา​นี้​อย่าง​กว้างขวาง​และ​ยัง​คง​เป็น​ภาษา​ราชการ​ของ​นครรัฐ​วาติกัน​ด้วย.

นอก​จาก​นี้ ภาษา​ละติน​ยัง​เป็น​ภาษา​ที่​ใช้​ใน​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แรก ๆ และ​ฉบับ​สำคัญ ๆ ด้วย. เป็น​ไป​ได้​ไหม​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​หนึ่ง​ซึ่ง​สาบสูญ​ไป​แล้ว​จะ​ยัง “มี​ชีวิต” อยู่​ใน​ทุก​วัน​นี้ คือ​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ชีวิต​ของ​ผู้​อ่าน​สมัย​ปัจจุบัน? ประวัติ​ความ​เป็น​มา​ที่​น่า​สนใจ​ของ​ฉบับ​แปล​เหล่า​นี้​จะ​ช่วย​ตอบ​คำ​ถาม​นี้.

ฉบับ​แปล​ภาษา​ละติน​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด

ภาษา​ละติน​เป็น​ภาษา​แรก​ของ​โรม. แต่​เมื่อ​อัครสาวก​เปาโล​เขียน​จดหมาย​ไป​ยัง​คริสเตียน​ที่​อยู่​ใน​กรุง​โรม ท่าน​ได้​เขียน​เป็น​ภาษา​กรีก. * แต่​นั่น​ก็​ไม่​เป็น​ปัญหา เพราะ​ปกติ​แล้ว​ผู้​คน​ที่​นั่น​พูด​ได้​ทั้ง​สอง​ภาษา. เนื่อง​จาก​ผู้​อาศัย​ใน​กรุง​โรม​จำนวน​มาก​มา​จาก​ดินแดน​ทาง​ตะวัน​ออก​ซึ่ง​พูด​ภาษา​กรีก จึง​มี​การ​กล่าว​ว่า​กรุง​นี้​กำลัง​จะ​กลาย​เป็น​เมือง​ของ​กรีก​อยู่​แล้ว. ภาษา​ที่​ใช้​พูด​กัน​ใน​จักรวรรดิ​โรมัน​แตกต่าง​กัน​ไป​ใน​แต่​ละ​ภูมิภาค แต่​เมื่อ​จักรวรรดิ​นี้​ขยาย​ใหญ่​ขึ้น ภาษา​ละติน​ก็​มี​ความ​สำคัญ​มาก​ขึ้น​ตาม​ไป​ด้วย. ด้วย​เหตุ​นี้​จึง​มี​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​จาก​ภาษา​กรีก​เป็น​ภาษา​ละติน. งาน​นี้​ดู​เหมือน​จะ​เริ่ม​ขึ้น​ใน​ศตวรรษ​ที่​สอง​สากล​ศักราช ใน​แอฟริกา​เหนือ.

ส่วน​ต่าง ๆ ของ​พระ​คัมภีร์​ที่​มี​การ​แปล​ใน​ตอน​นั้น​รู้​จัก​กัน​ว่า เวตุส ลาตินา หรือ​พระ​คัมภีร์​ละติน​ฉบับ​เก่า. ไม่​มี​สำเนา​เก่า​แก่​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ละติน​ที่​ครบ​ชุด​ฉบับ​ใด​เหลือ​รอด​มา​ถึง​สมัย​ของ​เรา. ส่วน​ที่​ยัง​เหลือ​อยู่​และ​ส่วน​ที่​นัก​เขียน​เก่า​แก่​อ้าง​ถึง​ดู​เหมือน​จะ​บ่ง​ชี้​ว่า เวตุส ลาตินา​ไม่​ได้​รวม​เป็น​ฉบับ​เดียว. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น ดู​เหมือน​ว่า​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​นี้​เป็น​ผล​งาน​ของ​ผู้​แปล​หลาย​คน​ซึ่ง​ต่าง​คน​ต่าง​ก็​ทำ​งาน​ของ​ตน​ใน​เวลา​และ​ใน​สถาน​ที่​ต่าง ๆ กัน. ดัง​นั้น แทน​ที่​จะ​เป็น​ฉบับ​แปล​เดียว พระ​คัมภีร์​ฉบับ​นี้​จึง​เป็น​ชุด​หนังสือ​ต่าง ๆ ของ​พระ​คัมภีร์​ที่​แปล​จาก​ภาษา​กรีก​เสีย​มาก​กว่า.

การ​ที่​ต่าง​คน​ต่าง​แปล​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​พระ​คัมภีร์​เป็น​ภาษา​ละติน​ตาม​ใจ​ชอบ​เช่น​นี้​ได้​ทำ​ให้​เกิด​ความ​สับสน​บาง​ประการ. ตอน​ปลาย​ศตวรรษ​ที่​สี่​สากล​ศักราช เอากุสติน นัก​เทววิทยา​คาทอลิก​มี​ความ​เชื่อ​ว่า “ทุก​คน​ที่​บังเอิญ​ได้​พบ​สำเนา​พระ​คัมภีร์​ภาษา​กรีก​และ​คิด​ว่า​ตน​พอ​จะ​มี​ความ​รู้​ใน​สอง​ภาษา​นี้​อยู่​บ้าง แม้​จะ​น้อย​เต็ม​ที​ก็​ตาม ต่าง​พยายาม​จะ​แปล​พระ​คัมภีร์” เป็น​ภาษา​ละติน. เอากุสติน​กับ​คน​อื่น ๆ คิด​ว่า​มี​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ละติน​มาก​เกิน​ไป​และ​สงสัย​ใน​เรื่อง​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​ฉบับ​แปล​เหล่า​นั้น.

ฉบับ​แปล​ของ​เจโรม

ชาย​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​พยายาม​จะ​ยุติ​ความ​สับสน​ที่​เกิด​จาก​การ​มี​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ละติน​หลาย​ฉบับ​คือ เจโรม ซึ่ง​บาง​ครั้ง​ได้​ทำ​หน้า​ที่​เลขานุการ​ของ​ดามาซุส ซึ่ง​เป็น​บิชอป​แห่ง​โรม​ใน​ปี ส.ศ. 382. บิชอป​ผู้​นี้​ได้​เชิญ​ให้​เจโรม​แก้ไข​กิตติคุณ​ทั้ง​สี่​ใน​ภาษา​ละติน และ​เจโรม​ก็​ทำ​งาน​นี้​เสร็จ​ภาย​ใน​เวลา​ไม่​กี่​ปี. หลัง​จาก​นั้น​เขา​ก็​เริ่ม​แก้ไข​หนังสือ​เล่ม​อื่น ๆ ใน​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ละติน​ด้วย.

ฉบับ​แปล​ของ​เจโรม ซึ่ง​ใน​เวลา​ต่อ​มา​เรียก​กัน​ว่า​วัลเกต เป็น​ฉบับ​ที่​แปล​โดย​อาศัย​ข้อ​ความ​จาก​สำเนา​หลาย ๆ ฉบับ. ใน​การ​แปล​หนังสือ​บทเพลง​สรรเสริญ เจโรม​ได้​อาศัย​ฉบับ​เซปตัวจินต์​เป็น​หลัก ซึ่ง​เป็น​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ที่​มี​การ​แปล​เป็น​ภาษา​กรีก​เสร็จ​สิ้น​ใน​ศตวรรษ​ที่​สอง​ก่อน ส.ศ. เจโรม​ได้​แก้ไข​กิตติคุณ​ทั้ง​สี่​อีก​ครั้ง​หนึ่ง และ​ยัง​ได้​แปล​ส่วน​อื่น ๆ ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​อีก​มาก​มาย โดย​แปล​จาก​ฉบับ​ภาษา​ฮีบรู​โดย​ตรง. ส่วน​ที่​เหลือ​ของ​พระ​คัมภีร์​ดู​เหมือน​จะ​แก้ไข​โดย​คน​อื่น. ใน​ที่​สุด บาง​ส่วน​ของ​เวตุส ลาตินา​ก็​ถูก​นำ​มา​รวม​เข้า​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​วัลเกต​ของ​เจโรม​ด้วย.

ใน​ตอน​แรก​ผล​งาน​ของ​เจโรม​ไม่​ได้​รับ​การ​ตอบรับ​เท่า​ใด​นัก. แม้​แต่​เอากุสติน​ก็​ยัง​วิพากษ์วิจารณ์​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​นี้. แต่​ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย ฉบับ​แปล​นี้​ได้​กลาย​มา​เป็น​มาตรฐาน​สำหรับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​รวม​เป็น​เล่ม​เดียว. ใน​ศตวรรษ​ที่​แปด​และ​เก้า ผู้​คง​แก่​เรียน​บาง​คน เช่น อัลควิน​และ​ทีโอดัลฟ์​ได้​เริ่ม​แก้ไข​ข้อ​ผิด​พลาด​ใน​ด้าน​ภาษา​และ​เนื้อ​ความ​ซึ่ง​ได้​ปรากฏ​ให้​เห็น​บ้าง​แล้ว​ใน​ฉบับ​แปล​ของ​เจโรม​เนื่อง​จาก​การ​คัด​ลอก​ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก. คน​อื่น ๆ ได้​แบ่ง​เนื้อ​ความ​ออก​เป็น​บท ๆ เพื่อ​ง่าย​ต่อ​การ​อ้างอิง. เมื่อ​มี​การ​ประดิษฐ์​แท่น​พิมพ์​ระบบ​ตัว​เรียง​พิมพ์​ขึ้น ฉบับ​แปล​ของ​เจโรม​เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แรก​ที่​ได้​พิมพ์​บน​แท่น​พิมพ์​นั้น.

ใน​การ​ประชุม​สังคายนา​ที่​เมือง​เทรนต์​ใน​ปี 1546 คริสตจักร​คาทอลิก​ได้​เรียก​ฉบับ​แปล​ของ​เจโรม​ว่า วัลเกต​เป็น​ครั้ง​แรก. ที่​ประชุม​นั้น​ได้​ประกาศ​ว่า คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้ “ถูก​ต้อง” ทำ​ให้​ฉบับ​แปล​นี้​กลาย​เป็น​พระ​คัมภีร์​ที่​ใช้​อ้างอิง​ฉบับ​หนึ่ง​ของ​ศาสนา​คาทอลิก. ขณะ​เดียว​กัน ที่​ประชุม​ก็​ได้​เรียก​ร้อง​ให้​มี​การ​แก้ไข​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​นี้​ด้วย. งาน​แก้ไข​ดัง​กล่าว​ควร​จะ​ต้อง​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ดู​แล​ของ​คณะ​กรรมการ​พิเศษ​คณะ​ต่าง ๆ แต่​เนื่อง​จาก​โปป​ซิกส์ตุส​ที่ 5 อยาก​ให้​งาน​เสร็จ​โดย​เร็ว​และ​ดู​เหมือน​จะ​มั่น​ใจ​ใน​ความ​สามารถ​ของ​ตน​มาก​ไป​สัก​หน่อย เขา​จึง​ตัดสิน​ใจ​ทำ​งาน​นี้​ด้วย​ตัว​เอง​จน​แล้ว​เสร็จ. ตอน​ที่​โปป​ผู้​นี้​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี 1590 ฉบับ​แก้ไข​ของ​เขา​เพิ่ง​จะ​เริ่ม​พิมพ์​ได้​ไม่​นาน. บรรดา​คาร์ดินัล​ปฏิเสธ​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​นี้​ทันที เนื่อง​จาก​พวก​เขา​ถือ​ว่า​มี​ข้อ​ผิด​พลาด​มาก​มาย และ​พวก​เขา​ได้​เรียก​คืน​ฉบับ​ที่​พิมพ์​ไป​แล้ว​ด้วย.

ฉบับ​แปล​ใหม่​ที่​พิมพ์​ใน​ปี 1592 โดย​การ​ดู​แล​ของ​โปป​เคลเมนต์​ที่ 8 กลาย​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​เวลา​ต่อ​มา​ว่า ฉบับ​ซิกส์ทีน เคลเมนทีน. คริสตจักร​คาทอลิก​ใช้​ฉบับ​แปล​นี้​เป็น​ฉบับ​ทาง​การ​อยู่​ระยะ​หนึ่ง. นอก​จาก​นั้น ยัง​มี​การ​ใช้​ฉบับ​วัลเกต ซิกส์ทีน เคลเมนทีน​นี้​เป็น​พื้น​ฐาน​ใน​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​ของ​คาทอลิก​เป็น​ภาษา​อื่น ๆ ด้วย เช่น ฉบับ​ภาษา​อิตาลี​ของ​อันโตนโย มาร์ตินี ซึ่ง​แปล​เสร็จ​ใน​ปี 1781.

คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ละติน​ยุค​ปัจจุบัน

การ​ตรวจ​สอบ​ข้อ​ความ​ใน​พระ​คัมภีร์​ใน​ศตวรรษ​ที่ 20 แสดง​ชัด​ว่า​ฉบับ​วัลเกต​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​แก้ไข​เช่น​เดียว​กับ​ฉบับ​อื่น ๆ. ด้วย​เหตุ​นั้น ใน​ปี 1965 คริสตจักร​คาทอลิก​จึง​ได้​ตั้ง​คณะ​กรรมการ​จัด​ทำ​ฉบับ​วัลเกต​ฉบับ​ใหม่​ขึ้น​และ​มอบ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ให้​แก้ไข​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ละติน​โดย​อาศัย​พื้น​ฐาน​ความ​รู้​ที่​ได้​ปรับ​เปลี่ยน​ใหม่​แล้ว. ข้อ​ความ​ใน​พระ​คัมภีร์​ที่​แก้ไข​ใหม่​นี้​จะ​ถูก​นำ​ไป​ใช้​ใน​พิธี​นมัสการ​ต่าง ๆ ของ​คาทอลิก​ใน​ภาษา​ละติน.

ส่วน​แรก​ของ​ฉบับ​แปล​ใหม่​พิมพ์​ออก​มา​ใน​ปี 1969 และ​ใน​ปี 1979 โปป​จอห์น ปอล​ที่ 2 ก็​ได้​รับรอง​ฉบับ​โนวา วุลกาตา​นี้. ฉบับ​ที่​พิมพ์​ครั้ง​แรก​มี​คำ​ว่า ยาห์เวห์ ซึ่ง​เป็น​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​อยู่​หลาย​แห่ง รวม​ทั้ง​ที่​เอ็กโซโด 3:15 และ 6:3 ด้วย. แต่​ใน​เวลา​ต่อ​มา ก็​เป็น​ดัง​ที่​สมาชิก​คน​หนึ่ง​ใน​คณะ​กรรมการ​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​นี้​กล่าว​ไว้ นั่น​คือ ใน​การ​พิมพ์​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ครั้ง​ที่​สอง​ใน​ปี 1986 “ด้วย​การ​กลับ​ใจ . . . คำ​ว่า​โดมินุส [‘องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า’] ได้​ถูก​นำ​กลับ​มา​ใช้ แทน​ที่​คำ​ว่า​ยาห์เวห์.”

เช่น​เดียว​กับ​ที่​ฉบับ​วัลเกต​ถูก​วิพากษ์วิจารณ์​เมื่อ​หลาย​ร้อย​ปี​ที่​แล้ว ฉบับ​โนวา วุลกาตา​ก็​ถูก​วิพากษ์วิจารณ์​ด้วย แม้​แต่​ใน​หมู่​ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​คาทอลิก​เอง. ถึง​แม้​ใน​ตอน​แรก​จะ​มี​การ​พยายาม​จะ​ให้​ฉบับ​แปล​นี้​เป็น​ที่​ยอม​รับ​ของ​คริสตจักร​ทั้ง​มวล แต่​หลาย​คน​ก็​มอง​ว่า ฉบับ​แปล​นี้​จะ​เป็น​อุปสรรค​ต่อ​การ​ร่วม​มือ​กัน​ระหว่าง​คริสต์​ศาสนา​นิกาย​ต่าง ๆ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​มี​การ​ประกาศ​ให้​ใช้​ฉบับ​นี้​เป็น​มาตรฐาน​สำหรับ​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ต่าง ๆ ใน​ปัจจุบัน. ใน​เยอรมนี ฉบับ​โนวา วุลกาตา กลาย​เป็น​ประเด็น​โต้​แย้ง​ระหว่าง​โปรเตสแตนต์​กับ​คาทอลิก​เมื่อ​มี​ความ​พยายาม​ที่​จะ​แก้ไข​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​ที่​ยอม​รับ​ของ​ทั้ง​สอง​ฝ่าย. ฝ่าย​โปรเตสแตนต์​กล่าว​โทษ​ว่า​ฝ่าย​คาทอลิก​ยืนกราน​จะ​ให้​แปล​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​ใหม่​นั้น​ตาม​โนวา วุลกาตา.

ถึง​แม้​ว่า​ภาษา​ละติน​จะ​ไม่​ใช่​ภาษา​ที่​พูด​กัน​ทั่ว​ไป​แล้ว​ก็​ตาม แต่​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ละติน​ก็​ยัง​คง​มี​อิทธิพล​ทั้ง​ใน​ทาง​ตรง​และ​ทาง​อ้อม​ต่อ​ผู้​อ่าน​นับ​ล้าน ๆ. คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ละติน​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​คำ​ศัพท์​ทาง​ศาสนา​ขึ้น​ใน​หลาย​ภาษา. แต่​ไม่​ว่า​จะ​มี​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​อะไร พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ก็​ยัง​คง​มี​พลัง เปลี่ยน​แปลง​ชีวิต​ผู้​คน​นับ​ล้าน ๆ ที่​พยายาม​จะ​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​สอน​ที่​ล้ำ​ค่า​ของ​หนังสือ​เล่ม​นี้​ด้วย​ใจ​ที่​เชื่อ​ฟัง.—ฮีบรู 4:12

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 สำหรับ​เหตุ​ผล​ที่​มี​การ​เขียน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​เป็น​ภาษา​กรีก โปรด​ดู​บทความ “คุณ​รู้​ไหม?” ใน​หน้า 13.

[คำ​โปรย​หน้า 23]

โปป​จอห์น ปอล​ที่ 2 ได้​รับรอง​ฉบับ​โนวา วุลกาตา. ฉบับ​ที่​พิมพ์​ครั้ง​แรก​มี​พระ​นาม​พระเจ้า ยาห์เวห์

[กรอบ​หน้า 21]

คำ​แปล​ที่​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ศาสนา​คริสเตียน​มา​เป็น​เวลา​นาน

ใน​ฉบับ​เวตุส ลาตินา​ซึ่ง​แปล​จาก​ภาษา​กรีก มี​คำ​แปล​หลาย​คำ​ที่​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ศาสนา​คริสเตียน​มา​เป็น​เวลา​นาน. หนึ่ง​ใน​จำนวน​นั้น​คือ​คำ​กรีก ดิอาเทเค ที่​มี​ความ​หมาย​ว่า “สัญญา” ได้​มี​การ​แปล​ว่า เทสตาเมนทุม หรือ “พันธสัญญา.” (2 โครินท์ 3:14) เนื่อง​จาก​การ​แปล​เช่น​นี้ จึง​มี​คน​มาก​มาย​เรียก​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​และ​ภาค​ภาษา​กรีก​ว่า พันธสัญญา​เดิม​และ​พันธสัญญา​ใหม่​จน​ทุก​วัน​นี้.

[กรอบ​หน้า 23]

คำ​สั่ง​ที่​ทำ​ให้​เกิด​ประเด็น​โต้​แย้ง

ใน​ปี 2001 หลัง​จาก​เตรียม​งาน​มา​นาน​สี่​ปี กระทรวง​คารวกิจ​และ​ศีล​ศักดิ์สิทธิ์​แห่ง​วาติกัน​ก็​ได้​จัด​พิมพ์​หนังสือ​คำ​สั่ง​เล่ม​หนึ่ง​ที่​เรียก​ว่า ลิตูร์เจียม เอาเตนติคัม (แบบ​แผน​พิธีกรรม​ที่​ถูก​ต้อง). หนังสือ​คำ​สั่ง​เล่ม​นี้​กลาย​เป็น​ที่​วิพากษ์วิจารณ์​อย่าง​รุนแรง​ใน​หมู่​ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​คาทอลิก​จำนวน​มาก.

ตาม​ที่​ชี้​แจง​ไว้​ใน​หนังสือ​คำ​สั่ง​นี้ เนื่อง​จาก​โนวา วุลกาตา เป็น​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​ทาง​การ​ของ​คริสตจักร​คาทอลิก ฉะนั้น จึง​ควร​ใช้​ฉบับ​นี้​เป็น​มาตรฐาน​สำหรับ​ฉบับ​แปล​อื่น ๆ ทั้ง​หมด ถึง​แม้​ว่า​ข้อ​ความ​ใน​ฉบับ​นี้​จะ​ต่าง​ไป​จาก​ที่​กล่าว​ไว้​ใน​ต้น​ฉบับ​เก่า​แก่​ทั้ง​หลาย​ก็​ตาม. คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​ใด​เล่ม​หนึ่ง​จะ​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ​จาก​คณะ​ปกครอง​ของ​คาทอลิก​ก็​ต่อ​เมื่อ​ได้​ทำ​ตาม​คำ​สั่ง​นี้​เท่า​นั้น. หนังสือ​คำ​สั่ง​นี้​กล่าว​ว่า ใน​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​ต่าง ๆ ของ​คาทอลิก “พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​องค์​ทรง​ฤทธิ์​ใหญ่​ยิ่ง​ซึ่ง​ปรากฏ​อยู่​ใน​รูป​เททรากรัมมาทอน​ภาษา​ฮีบรู (ยฮวฮ)” ควร​ได้​รับ​การ​แปล​เป็น “อีก​ภาษา​หนึ่ง​โดย​ใช้​คำ​ที่​มี​ความ​หมาย​ตรง​กัน” กับ​คำ​ว่า โดมินุส หรือ “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า” เช่น​เดียว​กับ​ที่​ทำ​ใน​โนวา วุลกาตา ฉบับ​พิมพ์​ครั้ง​ที่​สอง ถึง​แม้​ว่า​ฉบับ​พิมพ์​ครั้ง​แรก​จะ​ใช้​พระ​นาม “ยาห์เวห์” ก็​ตาม. *

[เชิงอรรถ]

[ภาพ​หน้า 22]

ฉบับ​แปล​ภาษา​ละติน​ของ​อัลควิน, ปี ส.ศ. 800

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

From Paléographìe latine, by F. Steffens (www.archivi.beniculturali.it)

[ภาพ​หน้า 22]

ฉบับ​วัลเกต ซิกส์ทีน-เคลเมนทีน ปี 1592

[ภาพ​หน้า 23]

เอ็กโซโด 3:15 จาก​ฉบับ​โนวา วุลกาตา ปี 1979

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© 2008 Libreria Editrice Vaticana