ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พวกเขารักพระคำของพระเจ้า

พวกเขารักพระคำของพระเจ้า

พวก​เขา​รัก​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า

ข่าวสาร​ที่​สำคัญ​มัก​ได้​รับ​การ​แปล​เป็น​ภาษา​ต่าง ๆ มาก​มาย​เพื่อ​ให้​คน​จำนวน​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​มาก​ได้​เข้าใจ​ข่าวสาร​นั้น. คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​เป็น​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ก็​มี​ข่าวสาร​ที่​สำคัญ. แม้​จะ​เขียน​ขึ้น​นาน​มา​แล้ว แต่​สิ่ง​ที่​เรา​พบ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล “ก็​เขียน​ไว้​เพื่อ​สั่ง​สอน​เรา” และ​เพื่อ​ชู​ใจ​เรา​และ​ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​หวัง​เรื่อง​อนาคต.—โรม 15:4

ฉะนั้น นับ​ว่า​สม​เหตุ​ผล​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล หนังสือ​บันทึก​ข่าวสาร​สำคัญ​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​เขียน​ขึ้น​จะ​มี​ให้​อ่าน​ได้​ใน​ภาษา​ต่าง ๆ มาก​มาย. ตลอด​ประวัติศาสตร์​ที่​ผ่าน​มา หลาย​คน​พยายาม​จะ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​แม้​ว่า​กำลัง​ป่วย​หนัก, ถูก​รัฐบาล​สั่ง​ห้าม หรือ​กระทั่ง​ถูก​ขู่​ฆ่า. เพราะ​เหตุ​ใด? ก็​เพราะ​พวก​เขา​รัก​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. เรื่อง​ราว​ต่อ​ไป​นี้​เป็น​เพียง​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ประวัติ​ความ​เป็น​มา​ที่​น่า​ทึ่ง​ใน​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล.

“คน​อังกฤษ​จะ​เรียน​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์​ได้​ดี​ที่​สุด​ใน​ภาษา​อังกฤษ”

ตอน​ที่​จอห์น วิคลิฟฟ์​เกิด​ใน​ราว ๆ ปี 1330 พิธี​นมัสการ​ใน​โบสถ์​ที่​ประเทศ​อังกฤษ​ทำ​กัน​ใน​ภาษา​ละติน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม สามัญ​ชน​ทั่ว​ไป​ใช้​ภาษา​อังกฤษ​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน. พวก​เขา​สนทนา​กับ​เพื่อน​บ้าน​เป็น​ภาษา​อังกฤษ และ​แม้​แต่​เมื่อ​อธิษฐาน​ถึง​พระเจ้า พวก​เขา​ก็​อธิษฐาน​เป็น​ภาษา​อังกฤษ.

วิคลิฟฟ์​เป็น​นัก​บวช​คาทอลิก​ที่​เชี่ยวชาญ​ภาษา​ละติน. ถึง​กระนั้น เขา​รู้สึก​ว่า​เป็น​เรื่อง​ไม่​ถูก​ต้อง​ที่​จะ​ใช้​ภาษา​ละติน ซึ่ง​เขา​ถือ​ว่า​เป็น​ภาษา​ของ​ชน​ชั้น​สูง​ใน​การ​สอน​พระ​คัมภีร์. เขา​เขียน​ว่า “ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​ควร​มี​การ​สอน​ด้วย​ภาษา​ที่​เข้าใจ​ได้​ง่าย​ที่​สุด เพราะ​สิ่ง​ที่​มี​การ​สอน​นั้น​คือ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า.” ด้วย​เหตุ​นั้น วิคลิฟฟ์​กับ​เพื่อน ๆ จึง​ได้​ตั้ง​คณะ​ทำ​งาน​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​อังกฤษ​โดย​ใช้​เวลา​ประมาณ 20 ปี.

เมื่อ​เห็น​ว่า​กำลัง​จะ​มี​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​แปล​ใหม่ คริสตจักร​คาทอลิก​ก็​ไม่​พอ​ใจ. หนังสือ​ข้อ​ลับ​ลึก​ของ​วาติกัน อธิบาย​เหตุ​ผล​ที่​คริสตจักร​ต่อ​ต้าน​ไว้​ดัง​นี้: “เมื่อ​เป็น​เช่น​นี้ เหล่า​ฆราวาส​จึง​สามารถ​เปรียบ​เทียบ​ความ​เรียบ​ง่าย​ของ​ศาสนา​คริสเตียน​ดั้งเดิม​กับ​ศาสนา​คาทอลิก​ใน​สมัย​นั้น . . . เป็น​ครั้ง​แรก​ที่​เห็น​ได้​ชัดเจน​จริง ๆ ว่า​คำ​สอน​ของ​ผู้​ก่อ​ตั้ง​ศาสนา​คริสเตียน​ช่าง​แตกต่าง​จาก​คำ​สอน​ของ​ผู้​ที่​สถาปนา​ตน​เอง​เป็น​ตัว​แทน​ของ​พระองค์ [สันตะปาปา] สัก​เพียง​ไร.”

สันตะปาปา​เกรกอรี​ที่ 11 ได้​ออก​แถลง​การณ์​ห้า​ฉบับ​เพื่อ​ประณาม​วิคลิฟฟ์. แต่​ผู้​แปล​คน​นี้​ก็​ไม่​ย่อท้อ. เขา​ตอบ​โต้​ว่า “คน​อังกฤษ​จะ​เรียน​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์​ได้​ดี​ที่​สุด​ใน​ภาษา​อังกฤษ. โมเซ​ได้​ยิน​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​ใน​ภาษา​ของ​ตน​เอง และ​เหล่า​อัครสาวก​ของ​พระ​คริสต์​ก็​เช่น​กัน.” ประมาณ​ปี 1382 ไม่​นาน​ก่อน​ที่​วิคลิฟฟ์​จะ​เสีย​ชีวิต ทีม​แปล​ของ​เขา​ได้​ออก​พระ​คัมภีร์​ครบ​ชุด​เล่ม​แรก​ใน​ภาษา​อังกฤษ. ประมาณ 10 ปี​ต่อ​มา เพื่อน​ร่วม​ทีม​คน​หนึ่ง​ของ​วิคลิฟฟ์​ก็​ออก​ฉบับ​แก้ไข​ปรับ​ปรุง​ซึ่ง​อ่าน​ได้​ง่าย​กว่า.

เนื่อง​จาก​สมัย​นั้น​ยัง​ไม่​มี​การ​ประดิษฐ์​แท่น​พิมพ์ สำเนา​แต่​ละ​เล่ม​จึง​ต้อง​คัด​ลอก​ด้วย​มือ​อย่าง​ลำบาก​ยากเย็น ซึ่ง​เป็น​งาน​ที่​อาจ​ใช้​เวลา​นาน​ถึง 10 เดือน! แม้​เป็น​เช่น​นั้น​คริสตจักร​หนัก​ใจ​มาก​ที่​เห็น​ว่า​มี​โอกาส​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​กำลัง​แพร่​หลาย​ไป ถึง​ขนาด​ที่​อาร์ชบิชอป​คน​หนึ่ง​ได้​ขู่​ว่า​ใคร​ก็​ตาม​ที่​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​จะ​ต้อง​ถูก​ขับ​ออก​จาก​ศาสนา. หลัง​จาก​วิคลิฟฟ์​เสีย​ชีวิต​ไป​นาน​กว่า 40 ปี สภา​แห่ง​สันตะปาปา​ได้​มี​คำ​สั่ง​ให้​เหล่า​นัก​เทศน์​นัก​บวช​ขุด​กระดูก​ของ​เขา​ขึ้น​มา​เผา แล้ว​ทิ้ง​เถ้า​กระดูก​ลง​ใน​แม่น้ำ​สวิฟท์. กระนั้น​ก็​ยัง​มี​ผู้​คน​ที่​แสวง​หา​ความ​จริง​อย่าง​จริง​ใจ​พยายาม​เสาะ​หา​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​วิคลิฟฟ์. ศาสตราจารย์​วิลเลียม เอ็ม. แบล็คเบิร์น​เล่า​ว่า “มี​การ​ทำ​สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​วิคลิฟฟ์​ออก​มา​มาก​มาย เผยแพร่​ไป​อย่าง​กว้างขวาง และ​ได้​กลาย​เป็น​มรดก​ตก​ทอด​จาก​คน​รุ่น​หนึ่ง​สู่​อีก​รุ่น​หนึ่ง.”

คัมภีร์​ไบเบิล​สำหรับ​เด็ก​ที่​ถือ​คัน​ไถ

ภาย​ใน​เวลา 200 ปี ผู้​คน​ก็​เลิก​ใช้​ภาษา​อังกฤษ​แบบ​ที่​วิคลิฟฟ์​เคย​ใช้. นัก​เทศน์​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ใกล้​กับ​เมือง​บริสตอล​รู้สึก​ข้องขัดใจ​ที่​เห็น​ว่า​มี​คน​จำนวน​น้อย​เหลือ​เกิน​ที่​สามารถ​เข้าใจ​คัมภีร์​ไบเบิล. ใน​โอกาส​หนึ่ง นัก​เทศน์​ผู้​นี้ ซึ่ง​ก็​คือ​วิลเลียม ทินเดล​ได้​ยิน​ชาย​ผู้​มี​การ​ศึกษา​คน​หนึ่ง​พูด​ว่า การ​มี​ชีวิต​อยู่​โดย​ปราศจาก​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​ก็​ดี​กว่า​อยู่​โดย​ปราศจาก​บัญญัติ​ของ​สันตะปาปา. ทินเดล​ตอบ​กลับ​ไป​ว่า หาก​พระเจ้า​ทรง​อนุญาต ใน​ไม่​ช้า​เขา​จะ​ทำ​ให้​แม้​แต่​เด็ก​ที่​ถือ​คัน​ไถ​รู้​จัก​คัมภีร์​ไบเบิล​มาก​กว่า​ชาย​ผู้​มี​การ​ศึกษา​คน​นั้น​เสีย​อีก.

วิคลิฟฟ์​ได้​แปล​พระ​คัมภีร์​จาก​ฉบับ​วัลเกต ภาษา​ละติน​และ​คัด​ลอก​สำเนา​พระ​คัมภีร์​ด้วย​มือ. ใน​ปี 1524 ทินเดล​ได้​เดิน​ทาง​ออก​จาก​อังกฤษ​ไป​เยอรมนี แล้ว​เริ่ม​แปล​พระ​คัมภีร์​จาก​ต้น​ฉบับ​ภาษา​ฮีบรู​และ​กรีก​โดย​ตรง จาก​นั้น​ก็​จ้าง​โรง​พิมพ์​แห่ง​หนึ่ง​ใน​โคโลญ​ให้​พิมพ์​พระ​คัมภีร์​ของ​เขา. ใน​ไม่​ช้า ศัตรู​ของ​ทินเดล​ก็​ทราบ​ข่าว​และ​ได้​เกลี้ยกล่อม​ให้​สภา​แห่ง​โคโลญ​สั่ง​ยึด​พระ​คัมภีร์​ทั้ง​หมด.

ทินเดล​หนี​ไป​ยัง​เมือง​โวมส์ เยอรมนี​แล้ว​ทำ​งาน​ของ​เขา​ต่อ​ไป. หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​ของ​ทินเดล​ก็​ถูก​ส่ง​ไป​ยัง​อังกฤษ​อย่าง​ลับ ๆ. ภาย​ใน​หก​เดือน​ก็​มี​การ​จำหน่าย​พระ​คัมภีร์​เหล่า​นี้​ออก​ไป​เป็น​จำนวน​มาก จน​ทำ​ให้​มี​การ​เรียก​ประชุม​เหล่า​บิชอป​เป็น​การ​ด่วน​และ​มี​คำ​สั่ง​ให้​เผา​คัมภีร์​ไบเบิล.

เพื่อ​หยุด​ยั้ง​กระแส​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​การ​กระทำ​ของ​ทินเดล​ที่​ถูก​กล่าวหา​ว่า​นอก​รีต บิชอป​แห่ง​ลอนดอน​ได้​มอบหมาย​ให้​เซอร์โทมัส มอร์​เขียน​โจมตี​ทินเดล. เรื่อง​ที่​สร้าง​ความ​ไม่​พอ​ใจ​ให้​แก่​มอร์​เป็น​พิเศษ​คือ​การ​ที่​ทินเดล​ใช้​คำ​ว่า “ประชาคม” แทน​คำ​ว่า “คริสตจักร” และ​ใช้​คำ​ว่า “ผู้​อาวุโส” หรือ “ผู้​ปกครอง” แทน​คำ​ว่า “บาทหลวง.” คำ​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​เกิด​ข้อ​สงสัย​ใน​เรื่อง​อำนาจ​ของ​สันตะปาปา​และ​การ​แบ่ง​ชั้น​ระหว่าง​นัก​เทศน์​นัก​บวช​กับ​ฆราวาส. โทมัส มอร์​ยัง​ได้​ประณาม​ทินเดล​ที่​แปล​คำ​ว่า อะกาเป ว่า “ความ​รัก” แทน​คำ​ว่า “บุญ​กุศล.” หนังสือ​ชื่อ​หาก​พระเจ้า​ทรง​ไว้​ชีวิต​ข้าพเจ้า (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “นี่​เป็น​อีก​แนว​คิด​หนึ่ง​ที่​คริสตจักร​ถือ​ว่า​อันตราย เนื่อง​จาก​การ​ลด​ความ​สำคัญ​ของ​บุญ​กุศล​อาจ​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​เงิน​บริจาค​จำนวน​มหาศาล รวม​ถึง​การ​ขาย​ใบ​ลด​โทษ​บาป​และ​การ​ยก​มรดก​ให้​แก่​คริสตจักร​ซึ่ง​เหล่า​สัปปุรุษ​ถูก​ชักชวน​ให้​ทำ​เพื่อ​เป็น​การ​ปู​ทาง​ไป​สู่​สวรรค์.”

โทมัส มอร์​ได้​สนับสนุน​ให้​มี​การ​เผา “พวก​นอก​รีต” จึง​เป็น​เหตุ​ให้​ทินเดล​ถูก​รัด​คอ​และ​ร่าง​ของ​เขา​ถูก​เผา​บน​เสา​ใน​เดือน​ตุลาคม ปี 1536. ต่อ​มา​ภาย​หลัง โทมัส มอร์​เอง​ก็​ถูก​ตัด​ศีรษะ​เนื่อง​จาก​มี​เรื่อง​บาดหมาง​กับ​กษัตริย์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ปี 1935 คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก​ได้​ประกาศ​แต่ง​ตั้ง​เขา​เป็น​นัก​บุญ และ​ใน​ปี 2000 สันตะปาปา​จอห์น ปอล​ที่ 2 ก็​ได้​ยกย่อง​เขา​เป็น​นัก​บุญ​ผู้​พิทักษ์​นัก​การ​เมือง.

ทินเดล​ไม่​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​เชิดชู​เช่น​นั้น. แต่​ก่อน​ที่​เขา​จะ​เสีย​ชีวิต เพื่อน​ของ​เขา​คือ​ไมลส์ คัฟเวอร์เดล ได้​รวบ​รวม​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​พระ​คัมภีร์​ที่​ทินเดล​แปล​ไว้​เข้า​เป็น​เล่ม​เดียว​กัน ซึ่ง​นับ​ว่า​เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​อังกฤษ​ฉบับ​แรก​ที่​แปล​จาก​ภาษา​เดิม! ถึง​ตอน​นี้​เด็ก​ที่​ถือ​คัน​ไถ​ทุก​คน​ก็​สามารถ​อ่าน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ได้​แล้ว. จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​อื่น ๆ ที่​ไม่​ใช่​ภาษา​อังกฤษ?

“ไม่​น่า​จะ​เป็น​ไป​ได้​เลย”

แม้​จะ​ถูก​ครอบครัว​และ​เพื่อน​ฝูง​คัดค้าน แต่​โรเบิร์ต มอร์ริสัน มิชชันนารี​ชาว​บริเตน​ผู้​มี​ความ​ตั้งใจ​แน่วแน่​ที่​จะ​ตี​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล​ครบ​ชุด​ใน​ภาษา​จีน​ก็​ได้​เดิน​ทาง​มา​ยัง​ประเทศ​จีน​ใน​ปี 1807. งาน​แปล​ที่​เขา​จะ​ทำ​นั้น​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย. ชาร์ลส์ แกรนท์ ผู้​จัด​การ​บริษัท​อีสต์อินเดีย​ใน​ขณะ​นั้น​กล่าว​ว่า “นี่​เป็น​งาน​ที่​ไม่​น่า​จะ​เป็น​ไป​ได้​เลย.”

เมื่อ​มา​ถึง​ประเทศ​จีน มอร์ริสัน​ก็​ได้​รู้​ว่า​มี​การ​ห้าม​ไม่​ให้​คน​จีน​สอน​ภาษา​จีน​แก่​คน​ต่าง​ชาติ​โดย​กำหนด​โทษ​ไว้​ถึง​ตาย. เพื่อ​ปก​ป้อง​ตน​เอง​และ​คน​อื่น ๆ ที่​ยินดี​สอน​ภาษา​จีน​ให้​เขา มอร์ริสัน​จึง​เก็บ​ตัว​อยู่​แต่​ใน​บ้าน​ระยะ​หนึ่ง. รายงาน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “หลัง​จาก​เรียน​ภาษา​ได้​สอง​ปี เขา​ก็​สามารถ​พูด​ภาษา​จีน​กลาง​และ​ภาษา​ถิ่น​ได้​มาก​กว่า​หนึ่ง​ภาษา ทั้ง​ยัง​อ่าน​และ​เขียน” ภาษา​จีน​ได้​ด้วย. ใน​ระหว่าง​นั้น จักรพรรดิ​จีน​ได้​ออก​กฤษฎีกา​ว่า การ​พิมพ์​หนังสือ​ของ​พวก​คริสเตียน​เป็น​อาชญากรรม​ที่​มี​โทษ​ถึง​ตาย. แม้​จะ​มี​คำ​สั่ง​เช่น​นั้น มอร์ริสัน​ก็​ยัง​แปล​พระ​คัมภีร์​ทั้ง​เล่ม​เป็น​ภาษา​จีน​จน​แล้ว​เสร็จ​เมื่อ​วัน​ที่ 25 พฤศจิกายน ปี 1819.

เมื่อ​ถึง​ปี 1836 ได้​มี​การ​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​จีน​ครบ​ชุด​ไป​แล้ว​ประมาณ 2,000 เล่ม พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก 10,000 เล่ม และ​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​พระ​คัมภีร์​อีก 31,000 เล่ม. ความ​รัก​ต่อ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ได้​ทำ​ให้​งาน​ที่ “ไม่​น่า​จะ​เป็น​ไป​ได้​เลย” นั้น​เป็น​ไป​ได้.

คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​อยู่​ใน​หมอน

มิชชันนารี​ชาว​อเมริกัน แอโดไนราม จัด​สัน​กับ​ภรรยา​ชื่อ​แอนน์​ได้​ออก​เดิน​ทาง​ไกล หลัง​จาก​แต่งงาน​กัน​ใน​เดือน​กุมภาพันธ์ ปี 1812 ได้​สอง​สัปดาห์ และ​ใน​ที่​สุด​ก็​มา​ตั้ง​รกราก​อยู่​ใน​พม่า​ใน​ปี 1813. ทันที​ที่​มา​ถึง พวก​เขา​ก็​เริ่ม​เรียน​ภาษา​พม่า ซึ่ง​เป็น​ภาษา​ที่​ยาก​ที่​สุด​ใน​โลก​ภาษา​หนึ่ง. หลัง​จาก​เรียน​ไป​ได้​ไม่​กี่​ปี จัด​สัน​ก็​เขียน​ว่า “เรา​เรียน​ภาษา​ที่​คน​กลุ่ม​หนึ่ง​ใช้​พูด​กัน​ใน​อีก​ซีก​โลก​หนึ่ง ซึ่ง​วิธี​คิด​ของ​พวก​เขา​ช่าง​ต่าง​กัน​กับ​ความ​คิด​ของ​เรา​อย่าง​ลิบลับ . . . เรา​ไม่​มี​พจนานุกรม และ​ไม่​มี​ล่าม​ช่วย​อธิบาย​แม้​แต่​คำ​เดียว.”

ข้อ​ท้าทาย​ทาง​ด้าน​ภาษา​ไม่​ได้​ทำ​ให้​จัด​สัน​เลิก​รา. เขา​แปล​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ใน​ภาษา​พม่า​เสร็จ​สิ้น​ใน​เดือน​มิถุนายน 1823. ต่อ​มา​เกิด​สงคราม​ใน​พม่า. เนื่อง​จาก​ถูก​สงสัย​ว่า​เป็น​สาย​ลับ จัด​สัน​จึง​ถูก​จับ​ขัง​คุก แล้ว​ถูก​ตี​ตรวน​เหล็ก​ถึง​สาม​คู่ ล่าม​ไว้​กับ​เสา​สูง​ต้น​หนึ่ง​เพื่อ​ไม่​ให้​เขา​ขยับ​ตัว​ได้. ฟรันซิส เวย์​แลนด์ เขียน​ใน​หนังสือ​เล่ม​หนึ่ง​เกี่ยว​กับ​ชีวประวัติ​ของ​จัด​สัน​ที่​ออก​ใน​ปี 1853 ว่า “ทันที​ที่​จัด​สัน​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​พบ​หน้า​ภรรยา​และ​สนทนา​กัน​เป็น​ภาษา​อังกฤษ หนึ่ง​ใน​สิ่ง​แรก ๆ ที่​เขา​ถาม​ถึง​ก็​คือ ต้น​ฉบับ​พันธสัญญา​ใหม่​ที่​เขา​แปล​ไว้.” เนื่อง​จาก​กลัว​ว่า​หาก​ฝัง​ไว้​ใต้​บ้าน​หลัง​นั้น ต้น​ฉบับ​จะ​เสียหาย​เนื่อง​จาก​ความ​ชื้น​และ​เชื้อ​รา แอนน์​จึง​ซ่อน​ต้น​ฉบับ​นั้น​ไว้​ใน​หมอน​ใบ​หนึ่ง​แล้ว​นำ​ไป​ให้​สามี​ใน​คุก. ถึง​แม้​ว่า​สภาพการณ์​จะ​ยาก​ลำบาก​มาก แต่​ต้น​ฉบับ​นั้น​ก็​รอด​มา​ได้.

หลัง​จาก​อยู่​ใน​คุก​หลาย​เดือน จัด​สัน​ก็​ได้​รับ​การ​ปล่อย​ตัว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ความ​ยินดี​ของ​เขา​คง​อยู่​ได้​ไม่​นาน. ต่อ​มา​ใน​ปี​เดียว​กัน​นั้น​เอง แอนน์​ล้ม​ป่วย​เป็น​ไข้​อย่าง​หนัก แล้ว​ก็​เสีย​ชีวิต​ภาย​ใน​ไม่​กี่​สัปดาห์. เพียง​หก​เดือน​ถัด​มา มาเรีย ลูก​สาว​ที่​เพิ่ง​อายุ​ได้​เพียง​สอง​ขวบ​ก็​เสีย​ชีวิต​ด้วย​โรค​ที่​ไม่​มี​ทาง​รักษา. ถึง​แม้​จัด​สัน​จะ​โศก​เศร้า​แทบ​หัวใจ​สลาย แต่​เขา​ก็​กลับ​มา​ทำ​งาน​เช่น​เดิม. ใน​ที่​สุด คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​เล่ม​ก็​แปล​เสร็จ​ใน​ปี 1835.

คุณ​รัก​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ไหม?

ความ​รัก​ต่อ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​ผู้​แปล​เหล่า​นี้​ได้​แสดง​ออก​ไม่​ใช่​สิ่ง​ใหม่. ใน​อิสราเอล​โบราณ ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ได้​ร้อง​เพลง​ทูล​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ว่า “ข้าพเจ้า​รัก​ข้อ​กฎหมาย​ของ​พระองค์​มาก​เพียง​ใด! ข้าพเจ้า​คำนึง​ถึง​ตลอด​วัน.” (บทเพลง​สรรเสริญ 119:97, ล.ม.) คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ยิ่ง​กว่า​ผล​งาน​ทาง​วรรณกรรม​ที่​น่า​ประทับใจ. พระ​คัมภีร์​มี​ข่าวสาร​ที่​สำคัญ. คุณ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คุณ​รัก​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​โดย​อ่าน​พระ​คำ​นั้น​ทุก​วัน​ไหม? คุณ​สามารถ​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​ถ้า​คุณ​ทำ​เช่น​นั้น​และ​พยายาม​นำ​สิ่ง​ที่​อ่าน​ไป​ใช้ คุณ “จะ​มี​ความ​สุข​ที่​ทำ​เช่น​นั้น.”—ยาโกโบ 1:25

 

 

[คำ​โปรย​หน้า 8]

“คน​อังกฤษ​จะ​เรียน​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์​ได้​ดี​ที่​สุด​ใน​ภาษา​อังกฤษ.”—จอห์น วิคลิฟฟ์

[ภาพ​หน้า 9]

วิลเลียม ทินเดล​กับ​หน้า​หนึ่ง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​ทินเดล

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Tyndale: From the book The Evolution of the English Bible

[ภาพ​หน้า 10]

โรเบิร์ต มอร์ริสัน​และ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​จีน​ครบ​ชุด​ที่​เขา​แปล

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 10]

In the custody of the Asian Division of the Library of Congress

Robert Morrison engraved by W. Holl from The National Portrait Gallery Volume IV published c.1820 (litho) Chinnery George (1774-1852) (after)/Private Collection/Ken Welsh/The Bridgeman Art Library International

[ภาพ​หน้า 11]

แอโดไนราม จัดสัน​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​พม่า​ที่​เขา​แปล

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 11]

Judson: Engraving by John C. Buttre/Dictionary of American Portraits/Dover

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 8]

Wycliffe: From the book The History of Protestantism (Vol. I); Bible: Courtesy of the American Bible Society Library New York