คุณรู้ไหม?
คุณรู้ไหม?
พวกอาลักษณ์ที่ต่อต้านพระเยซูเป็นใคร?
ระหว่างที่พระเยซูทำงานรับใช้ พระองค์ทรงพบอาลักษณ์หลายคน ไม่เพียงในกรุงเยรูซาเลมเท่านั้น แต่ในเมืองเล็ก ๆ และหมู่บ้านต่าง ๆ ด้วย. พวกอาลักษณ์ที่อยู่นอกกรุงเยรูซาเลมและแม้แต่ในชุมชนชาวยิวนอกปาเลสไตน์ เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เชี่ยวชาญด้านพระบัญญัติและอาจทำหน้าที่เป็นผู้คัดลอกหรือผู้ตัดสินความในท้องถิ่น.—มาระโก 2:6; 9:14; ลูกา 5:17-21
พวกอาลักษณ์ที่อยู่ในกรุงเยรูซาเลมทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลยิว. (มัดธาย 16:21) ตามที่กล่าวในพจนานุกรม ดิ แองเคอร์ ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) บทบาทของอาลักษณ์ในกรุงเยรูซาเลม “ดูเหมือนว่าจะเป็นผู้ช่วยของปุโรหิต ทั้งในเรื่องการตัดสินความและการบังคับใช้ธรรมเนียมและกฎหมายของชาวยิว รวมทั้งช่วยงานต่าง ๆ ภายในสภาซันเฮดรินด้วย.” เนื่องจากเป็นครูสอนพระบัญญัติที่มีชื่อเสียง อาลักษณ์บางคนจึงเป็นสมาชิกของสภาซันเฮดริน ศาลสูงของชาวยิว. พวกเขาทำงานร่วมกับปุโรหิตใหญ่และพวกฟาริซาย.
ส่วนใหญ่แล้ว คัมภีร์ไบเบิลมักกล่าวถึงพวกอาลักษณ์ว่าเป็นปรปักษ์ทางศาสนาของพระเยซู. แต่ก็มีบางคนที่ไม่ต่อต้านพระองค์. ตัวอย่างเช่น อาลักษณ์คนหนึ่งทูลพระเยซูว่า “ข้าพเจ้าจะติดตามท่านไม่ว่าท่านจะไปที่ไหน.” พระเยซูตรัสกับอาลักษณ์อีกคนหนึ่งว่า “เจ้าอยู่ไม่ไกลจากราชอาณาจักรของพระเจ้า.”—มัดธาย 8:19; มาระโก 12:28-34
การที่ใครคนหนึ่งถูกเจิมหมายความว่าอย่างไร?
ในตะวันออกกลางสมัยคัมภีร์ไบเบิล การเทน้ำมันลงบนศีรษะของคนหนึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกว่าคนนั้นได้รับความโปรดปราน หรือเป็นการแสดงการต้อนรับแขกที่มาเยือน. โดยทั่วไป น้ำมันที่ใช้คือน้ำมันมะกอกที่เติมน้ำหอมลงไป. นอกจากนี้ ชาวฮีบรูยังเทน้ำมันลงบนศีรษะของคนหนึ่งเพื่อเป็นการเจิมคนนั้น เมื่อเขาได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่พิเศษ. ตัวอย่างเช่น อาโรน ได้รับการเจิมเมื่อท่านได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่มหาปุโรหิต. (เลวีติโก 8:12) ในกรณีของกษัตริย์ดาวิด “ซามูเอลก็หยิบขวดเขาสัตว์ที่ใส่น้ำมัน, ชโลมเขา . . . และพระวิญญาณพระยะโฮวาก็สวมทับดาวิดตั้งแต่วันนั้นมา.”—1 ซามูเอล 16:13
ในภาษาฮีบรู คำที่ใช้สำหรับการเจิมเช่นนี้คือคำว่า มาชัค ซึ่งเป็นรากศัพท์ของคำว่า มาชีอัค หรือ มาซีฮา. คำที่มีความหมายตรงกันในภาษากรีกคือคำว่า คริโอ ซึ่งเป็นรากศัพท์ของคำว่า คริสโทส หรือ คริสต์. ด้วยเหตุนั้น จึงอาจเรียกอาโรนและดาวิดว่ามาซีฮาหรือผู้ถูกเจิม. โมเซเองก็ถูกเรียกว่าคริสต์ หรือ ผู้ถูกเจิม ในความหมายที่ว่าพระเจ้าได้ทรงแต่งตั้งท่านให้เป็นตัวแทนของพระองค์.—ฮีบรู 11:24-26
พระเยซูชาวนาซาเรทได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าโดยตรงเพื่อให้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่อันยิ่งใหญ่. แทนที่จะถูกเจิมด้วยน้ำมัน พระเยซูได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. (มัดธาย 3:16) ในฐานะผู้ถูกเจิมที่พระยะโฮวาทรงเลือกสรร พระเยซูจึงถูกเรียกอย่างเหมาะสมว่าพระมาซีฮา หรือ พระคริสต์.—ลูกา 4:18