ผู้พิพากษาที่ยึดมั่นกับความถูกต้อง
จงใกล้ชิดพระเจ้า
ผู้พิพากษาที่ยึดมั่นกับความถูกต้อง
ผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์อาจตัดสินลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมหรือรุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่พระยะโฮวาพระเจ้า ผู้ทรง “รักความยุติธรรม” ไม่เป็นเช่นนั้น. (บทเพลงสรรเสริญ 37:28) แม้พระองค์ทรงอดกลั้นทนนาน แต่ก็ไม่ทรงยอมให้กับการกระทำผิด. พระองค์ทรงยึดมั่นกับความถูกต้อง. ให้เราพิจารณาว่าพระองค์ทรงทำเช่นไรเมื่อเกิดการบ่นและการกบฏ ดังที่บันทึกในอาฤธโมบท 20.
เมื่อใกล้สิ้นสุดการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร ชาวอิสราเอลไม่มีน้ำดื่ม. * พวกเขาเริ่มบ่นต่อว่าโมเซและอาโรนว่า “เหตุไรท่านจึงได้พาพรรคพวกของพระยะโฮวาออกมาที่ป่านี้ให้เรากับฝูงสัตว์ของเราตายเสียเล่า.” (ข้อ 4) พวกเขาบ่นว่าถิ่นทุรกันดารนี้เป็น “ที่ชั่ว” ซึ่งไม่มี “ต้นมะเดื่อเทศหรือเถาองุ่นหรือต้นทับทิม” ซึ่งเป็นผลไม้อย่างที่คนสอดแนมชาวอิสราเอลเคยนำกลับมาจากแผ่นดินตามคำสัญญาเมื่อหลายปีก่อน และพวกเขายังบ่นด้วยว่า “ไม่มีน้ำจะกิน.” (ข้อ 5; อาฤธโม 13:23) พวกเขาพูดเหมือนกับว่าเป็นความผิดของโมเซและอาโรนที่ตอนนี้พวกเขาอยู่ในถิ่นทุรกันดารที่ไม่ได้อุดมสมบูรณ์เหมือนดินแดนที่คนชอบบ่นรุ่นก่อนไม่ยอมเข้าไป!
พระยะโฮวาไม่ได้เพิกเฉยต่อเสียงบ่นนั้น. ที่จริง พระองค์ได้สั่งให้โมเซทำสามสิ่งคือ หยิบไม้เท้า, ให้คนทั้งปวงชุมนุมกัน, และ “พูดแก่หินนั้นต่อหน้าคนทั้งหลาย, แลหินนั้นจะมีน้ำไหลออกมา.” (ข้อ 8) โมเซเชื่อฟังคำสั่งสองเรื่องแรก แต่ท่านไม่ได้เชื่อฟังเรื่องที่สาม. แทนที่จะพูดกับหินด้วยความเชื่อ ท่านกลับพูดด้วยความโกรธแค้นว่า “อ้ายพวกกบฏเจ้าทั้งหลายจงฟังเถิด, เราจะเอาน้ำออกจากหินนี้ให้เจ้าทั้งหลายกินได้หรือ.” (ข้อ 10; บทเพลงสรรเสริญ 106:32, 33) แล้วโมเซก็ตีหินสองครั้ง “แลน้ำไหลพล่านออกมา.”—ข้อ 11
การที่โมเซและอาโรนทำเช่นนี้ถือเป็นบาปร้ายแรง. พระเจ้าตรัสว่า “เจ้าทั้งสองกบฏต่อคำสั่งของเรา.” (อาฤธโม 20:24, ฉบับ R73) โดยการขัดคำสั่งของพระเจ้าในครั้งนี้ โมเซกับอาโรนจึงกลายเป็นกบฏเสียเองเหมือนที่ท่านทั้งสองเคยกล่าวหาชาวอิสราเอล. พระเจ้าประกาศคำพิพากษาอย่างชัดเจนว่า โมเซกับอาโรนจะไม่ได้นำชาติอิสราเอลเข้าไปในแผ่นดินตามคำสัญญา. เป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินไปไหม? ไม่เลย เนื่องจากเหตุผลหลายประการ.
ประการแรก พระเจ้าไม่ได้สั่งให้โมเซพูดกับประชาชน อีกทั้งพระองค์ไม่ได้สั่งให้ตัดสินพวกเขาว่าเป็นกบฏ. ประการที่สอง โมเซกับอาโรนไม่ได้ถวายเกียรติแด่พระเจ้า. พระเจ้าตรัสว่า “เจ้ามิได้ . . . ยกยอสรรเสริญเรา.” (ข้อ 12) โดยกล่าวว่า “เรา จะเอาน้ำออกจากหิน” โมเซพูดเหมือนกับว่า ท่านกับอาโรนเป็นผู้ทำการอัศจรรย์ให้มีน้ำออกมา แทนที่จะเป็นพระเจ้า. ประการที่สาม โทษที่ท่านทั้งสองได้รับนั้นเป็นเช่นเดียวกับโทษที่พวกอิสราเอลเคยได้รับ. พระเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้คนรุ่นก่อนที่กบฏขัดขืนเข้าไปในคะนาอัน ดังนั้น พระองค์ทรงทำอย่างเดียวกันในกรณีของโมเซและอาโรน. (อาฤธโม 14:22, 23) ประการที่สี่ โมเซและอาโรนเป็นผู้นำชาติอิสราเอล. คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบมากก็ต้องให้การต่อพระเจ้ามากกว่าคนอื่น.—ลูกา 12:48
พระยะโฮวาทรงยึดมั่นกับความถูกต้อง. เนื่องจากพระองค์ทรงรักความยุติธรรม พระองค์จึงไม่อาจตัดสินลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ยุติธรรม. เห็นได้ชัดว่า ผู้พิพากษาเช่นนั้นสมควรได้รับความไว้วางใจและความนับถือจากเรา.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 หลังจากอพยพออกจากอียิปต์แล้ว ชาวอิสราเอลก็พร้อมที่จะเข้าสู่แผ่นดินคะนาอัน ดินแดนที่พระเจ้าทรงสัญญากับอับราฮาม. แต่เมื่อได้ยินรายงานที่ไม่ดีจากคนสอดแนมสิบคน พวกเขาก็บ่นว่าโมเซ. พระยะโฮวาจึงตัดสินลงโทษให้พวกเขาต้องอยู่ในถิ่นทุรกันดารอีก 40 ปี ซึ่งนานพอที่คนกบฏรุ่นนั้นจะตายหมด.