เป็นไปได้ไหมที่จะเชื่อว่ามีพระผู้สร้าง?
เป็นไปได้ไหมที่จะเชื่อว่ามีพระผู้สร้าง?
“เมื่อไรที่ผมคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่จะมีพระผู้สร้าง ผมก็รู้สึกโกรธเมื่อคิดว่ามีผู้หนึ่งที่มีอำนาจจะปกป้องมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ได้ แต่กลับไม่ทำ!” นี่เป็นคำกล่าวของอดีตนักอเทวนิยมคนหนึ่งซึ่งสมาชิกครอบครัวเสียชีวิตจากการสังหารหมู่พลเรือนโดยพวกนาซี. ไม่ใช่เขาคนเดียวที่รู้สึกเช่นนี้.
เมื่อประสบกับความทารุณโหดร้าย หลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่ามีพระเจ้า หรือพวกเขาอาจรู้สึกสบายใจกว่าที่จะคิดว่าไม่มีพระเจ้า. อะไรเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บางคนไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า? มนุษยชาติจะมีชีวิตที่ดีกว่าไหมหากไม่มีพระเจ้าหรือศาสนาดังที่บางคนคิด? เป็นไปได้ไหมที่นักอเทวนิยมจะเปลี่ยนมาเชื่อว่ามีพระผู้สร้างองค์เปี่ยมด้วยความรัก?
ความล้มเหลวของศาสนา
เป็นเรื่องน่าขันที่ศาสนาเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า. นักประวัติศาสตร์ชื่ออลิสเตอร์ แมกกรัทอธิบายว่า “สิ่งสำคัญที่ผลักไสผู้คนให้ไปหาแนวคิดแบบอเทวนิยมก็คือความรู้สึกรังเกียจความฟุ้งเฟ้อและความล้มเหลวขององค์การศาสนา.” บ่อยครั้งจะเห็นได้ว่าศาสนาเป็นตัวการสำคัญที่อยู่เบื้องหลังสงครามและความรุนแรง. นักอเทวนิยมและนักปรัชญาชื่อมิเชล ออนเฟรย์ สงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไรที่หนังสือทางศาสนาเล่มเดียวกันก่อให้เกิดคนสองจำพวก พวกหนึ่ง “อยากเป็นเยี่ยงนักบุญ” ส่วนอีกพวกหนึ่งก็ “ทำสิ่งที่โหดเหี้ยมทารุณผิดมนุษย์” คือการก่อการร้าย.
ผู้คนมากมายมีความทรงจำอันขมขื่นเกี่ยวกับศาสนา. ระหว่างที่เป็นทหาร ชายหนุ่มชาวสวีเดนชื่อเบอร์ทิล ได้ยินบาทหลวงประจำกองทัพหาเหตุผลเพื่อพิสูจน์ว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องถูกต้องโดยอ้างถึงคำเตือนของพระเยซูที่ว่า ผู้ที่ใช้ดาบจะต้องพินาศด้วยดาบ. บาทหลวงผู้นี้ให้เหตุผลว่า จะต้องมีใครคนหนึ่ง ที่ใช้ดาบ ดังนั้น ทหารจึงต้องเป็นผู้รับใช้พระเจ้า!—มัดธาย 26:52 *
เบอร์นาเดตต์ซึ่งพ่อของเธอถูกฆ่าในฝรั่งเศสระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จำได้ว่าเธอรู้สึกโกรธแค้นเมื่อได้ยินบาทหลวงกล่าวในงานศพของลูกพี่ลูกน้องวัยสามขวบของเธอว่า “พระเจ้าทรงเรียกเด็กคนนี้ให้ไปเป็นทูตสวรรค์.” ต่อมา เมื่อเบอร์นาเดตต์คลอดลูกที่พิการ คริสตจักรก็ไม่ได้ให้การปลอบโยนใด ๆ แก่เธอเช่นกัน.
คีแรนซึ่งเติบโตมาในช่วงที่มีความรุนแรงในไอร์แลนด์เหนือ รู้สึกชิงชังรังเกียจหลักคำสอนเรื่องไฟนรก. เขาเคยประกาศว่าเขาเกลียดพระเจ้าไม่ว่าองค์ไหนก็ตามที่เป็นต้นเหตุของความชั่วร้ายดังกล่าว และท้าพระเจ้าว่าถ้าพระองค์มีจริงก็ให้มาสังหารเขา. คีแรนไม่ใช่เป็นคนเดียวที่รู้สึกเช่นนั้นต่อคำสอนที่โหดร้ายของคริสตจักร. ที่แท้แล้ว คำสอนของคริสตจักรอาจมีส่วนทำให้คนหันไปหาทฤษฎีวิวัฒนาการ. อลิสเตอร์ แมกกรัท กล่าวว่า ที่ดาร์วินเกิดความสงสัยในเรื่องความเป็นอยู่ของพระเจ้านั้นไม่ใช่เพราะเขาเชื่อเรื่องวิวัฒนาการ แต่เป็นเพราะเขา “ชิงชังรังเกียจ” หลักคำสอนเรื่องไฟนรก. แมกกรัทให้ข้อสังเกตอีกด้วยว่า ดาร์วิน “โศกเศร้าอย่างยิ่งต่อการตายของลูกสาว.”
สำหรับบางคนแล้วการปฏิบัติศาสนาเป็นการกระทำที่ไร้ความคิดและเป็นความคลั่งไคล้. อิเรนาซึ่งเบื่อหน่ายสะอิดสะเอียนคำเทศน์ที่หาสาระไม่ได้และคำสวดที่ซ้ำซาก กล่าวว่า “สำหรับฉันแล้ว ดูเหมือนว่าคนที่เคร่งศาสนาเป็นคนไม่มีความคิด.” หลุยส์ซึ่งรู้สึกขยะแขยงกับการกระทำที่ป่าเถื่อนรุนแรงของพวกคลั่งศาสนามีความคิดที่สุดโต่งยิ่งกว่านั้นอีก เขาบอกว่า “หลังจากศาสนาทำให้ผมเบื่อหน่ายมา
นานหลายปี ตอนนี้ผมได้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของมันแล้ว. ผมกลายเป็นคนที่ต่อต้านทุกศาสนาอย่างรุนแรง.”จะดีกว่าไหมถ้าไม่มีพระเจ้า?
ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้คนมองศาสนาว่าเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าและสันติภาพของมนุษย์. บางคนถึงกับเคยถามตัวเองว่ามนุษย์จะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ไหมถ้าไม่มีพระเจ้าและศาสนา. อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ไหมว่าการปฏิเสธแนวคิดทั้งหมดทางศาสนาเช่นนั้นอาจทำให้มีปัญหาเหมือนกัน?
นักปรัชญาในศตวรรษที่ 18 ชื่อวอลแตร์ได้ต่อต้านการกระทำที่เสื่อมทรามของคริสตจักรในสมัยของเขาอย่างเอาเป็นเอาตาย. กระนั้น เขาถือว่าการดำรงอยู่ขององค์ใหญ่ยิ่งสูงสุดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเรามีจิตสำนึกด้านศีลธรรม. ต่อมา ฟริดริค นีทซ์เช นักปรัชญาชาวเยอรมันได้ประกาศว่าพระเจ้าตายไปแล้ว แต่เขาก็กลัวว่าการมีแนวคิดแบบอเทวนิยมอาจทำให้ผู้คนไม่มีมาตรฐานทางศีลธรรมและอาจก่อผลเสียอื่น ๆ อีก. ความกลัวของเขาสมเหตุสมผลไหม?
นักประพันธ์ชื่อคีท วอร์ด ให้ข้อสังเกตว่าหลังจากมนุษยชาติเข้าสู่ยุคใหม่ ความป่าเถื่อนไม่ได้ลดน้อยลง แต่กลับ “เพิ่มขึ้นจนถึงขีดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน.” และไม่มีหลักฐานใดที่พิสูจน์ว่าการปฏิเสธความเชื่อในเรื่องพระเจ้าสามารถช่วยให้มนุษย์ปราศจากข้อบกพร่องซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เช่น ความเสื่อมทรามและอคติ. ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้คนช่างคิดหลายคน แม้แต่คนที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าก็ยอมรับว่าการเชื่อว่ามีพระเจ้าก่อผลดีทางด้านศีลธรรม.
คีท วอร์ดเน้นให้เห็นผลดีของการเชื่อว่ามีพระเจ้าดังนี้: “ความเชื่อช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นที่ต่อเนื่องอย่างหนึ่งทางศีลธรรมคือ การสำนึกถึงความรับผิดชอบที่จะดูแลโลกที่พระเจ้าทรงสร้างไว้.” ผลการศึกษาหลายรายเมื่อไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่เคร่งศาสนาคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้อื่นมากขึ้น. และดูเหมือนว่าการคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้อื่นทำให้คนเหล่านั้นมีความอิ่มใจพอใจในระดับหนึ่ง. ผลการศึกษาดังกล่าวเพิ่มน้ำหนักให้กับหลักการที่พระเยซูให้ไว้ที่ว่า “การให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”—กิจการ 20:35
คนหนึ่งซึ่งเคยเป็นนักอเทวนิยมและทำงานเพื่อสังคมรู้สึกประทับใจในพลังของคัมภีร์ไบเบิลที่มีต่อชีวิตผู้คน. เขากล่าวว่า “ผมพยายามช่วยผู้คนอยู่หลายปีให้เลิกนิสัยที่ก่อผลเสียต่อตนเองและผู้อื่น แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แล้วผมก็รู้สึกทึ่งเมื่อเห็นว่าผู้คนสามารถเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้มากจริง ๆ. ผมยังได้เรียนรู้อีกด้วยว่านี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน.”
อย่างไรก็ตาม สำหรับนักอเทวนิยมบางคนแล้ว ถึงอย่างไรการเชื่อว่ามีพระเจ้าก็ทำให้เกิดการสังหารหมู่และความขัดแย้งมากกว่าจะทำให้เกิดความดีและการคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นมากนัก. พวกเขาอาจยอมรับว่าความเชื่อก่อผลกระทบในทางที่ดี แต่พวกเขาเองก็ยังรู้สึกกังขาอยู่มาก. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่เชื่อ
หลายคนถูกสอนว่าวิวัฒนาการเป็นความจริงที่พิสูจน์แล้ว. ขอยกตัวอย่างของอะนิลาที่ได้ศึกษาในประเทศแอลเบเนียซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อในพระเจ้า. เธอเล่าว่า “ที่โรงเรียน เราถูกสอนว่าการเชื่อเรื่องพระเจ้าเป็นความงมงายและล้าหลัง. ฉันได้เรียนเรื่องที่น่าทึ่งหลายอย่างเกี่ยวกับพืชและชีวิตินทรีย์ แต่ฉันกลับถือว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดจากวิวัฒนาการ เพราะการคิดเช่นนั้นทำให้ดูเหมือนว่าเรากำลังคิดสอดคล้องกับนักวิทยาศาสตร์.” ปัจจุบันเธอยอมรับ
ว่า “ฉันเคยเชื่อข้อพิสูจน์ต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์อย่างไม่ลืมหูลืมตา.”ความรู้สึกขมขื่นอาจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้บางคนไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า. บ่อยครั้งพยานพระยะโฮวาได้พบคนที่มีทัศนคติเช่นนี้เมื่อไปเยี่ยมตามบ้านเพื่อบอกความหวังจากคัมภีร์ไบเบิล. เบอร์ทิลที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ได้พบพยานฯ หนุ่มคนหนึ่งที่มาเยี่ยม. เบอร์ทิลจำได้ว่าตนคิดในใจว่า ‘พวกคลั่งศาสนาที่น่าสมเพช. นายมาผิดที่แล้วล่ะ!’ เบอร์ทิลเล่าว่า “ผมให้เขาเข้ามาในบ้าน แล้วผมก็ระบายความโกรธแค้นที่มีต่อพระเจ้า, คัมภีร์ไบเบิล, และศาสนา.”
กัสจากสกอตแลนด์เคยทุกข์ใจเพราะความไม่ยุติธรรม. แรก ๆ เขาชอบโต้เถียงและมีข้อคัดค้านมากมายเมื่อสนทนากับพยานพระยะโฮวา. คำถามหลายข้อของเขาทำให้นึกถึงผู้พยากรณ์ฮะบาฆูคชาวฮีบรูที่เคยถามพระเจ้าว่า ‘เหตุใดพระองค์ให้ข้าพเจ้าเห็นความชั่ว, แลให้ข้าพเจ้าแลดูความทุกข์ยาก?’—ฮะบาฆูค 1:3
นอกจากนี้ การที่ดูเหมือนว่าพระเจ้าไม่สนใจไยดีกับความชั่วก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งด้วยที่รบกวนใจมนุษย์มานาน. (บทเพลงสรรเสริญ 73:2, 3) ซีโมน เดอ โบวัวร์ นักเขียนชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า “สำหรับผมแล้ว นับว่าง่ายกว่าที่จะคิดว่าโลกนี้ไม่มีผู้สร้าง แทนที่จะคิดว่าโลกมีผู้สร้างแต่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง.”
อย่างไรก็ตาม การที่ศาสนามากมายไม่สามารถอธิบายสาเหตุของความขัดแย้งในโลกได้นั้นจะหมายความว่าไม่มี คำอธิบายใด ๆ ไหม? กัสบอกว่าในที่สุดเขาก็ได้พบ “คำอธิบายที่น่าพอใจว่าทำไมพระผู้สร้างองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการจึงยอมให้มนุษย์ทนทุกข์อยู่ชั่วระยะหนึ่ง.” เขาบอกว่า การได้รับคำอธิบายเช่นนั้น “เป็นก้าวสำคัญสำหรับผม.” *
บางคนซึ่งอ้างตัวว่าเป็นนักอเทวนิยม ที่แท้แล้วอาจสงสัยในเรื่องวิวัฒนาการ, อาจต้องการจะรู้จักพระเจ้า, และอาจถึงกับอธิษฐานด้วยซ้ำ. ให้เรามาดูว่าอะไรเป็นเหตุให้นักอเทวนิยมและนักอไญยนิยมบางคนคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้ และในที่สุดก็ได้สร้างสัมพันธภาพอันใกล้ชิดกับพระผู้สร้าง.
อะไรช่วยพวกเขาให้มีความเชื่อในพระผู้สร้าง?
ชายหนุ่มที่มาเยี่ยมเบอร์ทิลได้ชักเหตุผลง่าย ๆ เพื่อให้เขาเห็นว่ามีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างศาสนาคริสเตียนแท้กับศาสนาของผู้ที่เพียงแต่อ้างตัวว่าเป็นคริสเตียน. นอกเหนือจากการหาเหตุผลที่ทำให้ยอมรับว่ามีพระผู้ *
สร้างแล้ว เบอร์ทิลเล่าถึงสิ่งที่ทำให้ประทับใจว่า “ผมชื่นชมที่เขาอดทนกับความดันทุรังของผม. . . . เขาใจเย็นมาก และเขามักจะนำหนังสือบางเล่มมาให้ผม อีกทั้งยังเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีด้วย.”สเวตลานาผู้ซึ่งเคยได้รับอิทธิพลจากความเชื่อเรื่องวิ-วัฒนาการและลัทธิคอมมิวนิสต์ เคยเชื่อว่าตัวที่เหมาะสมที่สุดเท่านั้นจะอยู่รอด. แต่เธอก็ไม่ค่อยสบายใจกับแนวคิดที่โหดร้ายเช่นนั้น. สิ่งที่เธอเคยถูกสอนจากโรงเรียนแพทย์ยิ่งทำให้เธอสับสนมากขึ้นอีก เธอบอกว่า “ในชั่วโมงเรียนเรื่องอเทวนิยม เราได้เรียนว่าตัวที่เหมาะสมที่สุดเท่านั้นจะอยู่รอด. แต่ในวิชาแพทย์ เราถูกสอนว่าควรช่วยคนที่อ่อนแอ.” เธอยังสงสัยด้วยว่าทำไมมนุษย์ซึ่งตามหลักวิวัฒนาการแล้วเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพัฒนาการมากกว่าลิงจึงต้องทนทุกข์เนื่องจากปัญหาด้านอารมณ์ที่ลิงไม่มี. คำอธิบายสำหรับความขัดแย้งเหล่านี้มาจากแหล่งที่ไม่คาดคิด เธอเล่าว่า “คุณยายของฉันอธิบายจากคัมภีร์ไบเบิลว่าความไม่สมบูรณ์ของเราเป็นต้นเหตุของความรู้สึกต่าง ๆ ในด้านลบ.” สเวตลานายังตื่นเต้นยินดีด้วยที่ได้รู้คำตอบจากคัมภีร์ไบเบิลสำหรับคำถามต่าง ๆ เช่น เหตุใดคนดี ๆ จึงต้องทนทุกข์.
เลฟชาวสแกนดิเนเวีย เป็นคนที่เชื่อมั่นอย่างยิ่งในเรื่องวิวัฒนาการและถือว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นเทพนิยาย. แต่วันหนึ่งเพื่อนคนหนึ่งก็ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเชื่อของเขาโดยพูดขึ้นว่า “นายรู้ไหมว่านายเพียงแต่เชื่อตามที่คนอื่นพูดกันโดยที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล?” เลฟอธิบายว่าคำพูดของเพื่อนนั้นมีผลเช่นไรต่อเขา: “ผมมาตระหนักว่าผมไม่เคยคิดสงสัยเรื่องวิวัฒนาการเลย ผมได้ยินมาอย่างไรผมก็เชื่อไปตามนั้น. . . . ผมคิดว่านอกเหนือจากเรื่องอื่น ๆ แล้ว การได้รู้เกี่ยวกับคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลและความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์เหล่านั้นสามารถช่วยคนที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าให้เริ่มคิด.”—ยะซายา 42:5, 9
คีแรนที่ได้กล่าวถึงในตอนต้นรู้สึกผิดหวังหลังจากที่ไปร่วมกับการเมืองอยู่หลายปี. เมื่อเขาใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิต สิ่งที่เข้ามาในความคิดก็คือ มีเพียงพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยอำนาจและความรักเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่โลกเผชิญอยู่และช่วยให้เขามองเห็นทางหลุดพ้นจากความทุกข์ที่เขามีอยู่ได้. เขานึกในใจว่า ‘ฉันอยากพบพระเจ้าที่เป็นเช่นนั้นเหลือเกิน.’ ด้วยความรู้สึกที่ทุกข์ทรมานใจอย่างแสนสาหัส เขาได้อธิษฐานว่า “ถ้าพระองค์ได้ยินข้าพเจ้า ขอโปรดให้ข้าพเจ้าได้รู้ และโปรดให้ข้าพเจ้ามองเห็นทางหลุดพ้นจากความทุกข์ของตัวเอง และโปรดช่วยครอบครัวมนุษย์ให้พ้นจากความปวดร้าวด้วยเถิด.” หลังจากนั้นไม่กี่วัน พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งก็มาเคาะที่ประตูบ้าน. พยานฯ คนนั้นอธิบายว่าคัมภีร์ไบเบิลสอนว่ามีอิทธิพลที่ชั่วร้ายอยู่เบื้องหลังรัฐบาลต่าง ๆ ของมนุษย์. (เอเฟโซส์ 6:12) คำอธิบายนี้ยืนยันสิ่งที่คีแรนเคยได้สังเกตเห็นด้วยตัวเอง และกระตุ้นให้เขาอยากรู้มากขึ้น. หลังจากศึกษาคัมภีร์ไบเบิลต่อไป ความเชื่อของเขาในพระผู้สร้างองค์เปี่ยมด้วยความรักก็มั่นคงขึ้น.
พระผู้สร้างมนุษย์และตัวคุณ
ความหน้าซื่อใจคดทางศาสนา และคำสอนต่าง ๆ ที่ไม่สนับสนุนความเชื่อเรื่องพระเจ้า เช่น ทฤษฎีวิวัฒนาการ รวมทั้งความชั่วที่มีอยู่อย่างแพร่หลายล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนมากมายสงสัยหรือกระทั่งไม่ยอมรับว่ามีพระผู้สร้าง. อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณยอมพิจารณาคัมภีร์ไบเบิล คุณก็จะได้รับคำตอบที่น่าพอใจสำหรับคำถามของคุณ. นอกจากนี้ คัมภีร์ไบเบิลยังเปิดเผยความคิดของพระเจ้า ซึ่งเป็น “ความคิดต่าง ๆ สำหรับความสุขไม่ใช่ว่าสำหรับความร้าย, เพื่อจะได้ให้พวกเจ้าได้ความหวังใจที่เบื้องปลาย.” (ยิระมะยา 29:11) ส่วนเบอร์นาเดตต์ซึ่งมีลูกพิการและเคยคิดสงสัยว่าพระผู้สร้างมีจริงหรือไม่ ความหวังจากคัมภีร์ไบเบิลเป็นเหมือนยาที่บรรเทาความเจ็บปวดจากบาดแผลทางใจที่ทำให้เธอทนทุกข์.
คำอธิบายจากคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับเหตุผลที่พระเจ้าทรงยอมให้มีความทุกข์ได้ทำให้หลายคนที่เคยเป็นนักอเทวนิยมประทับใจ. ถ้าคุณใช้เวลาค้นหาคำตอบจากคัมภีร์ไบเบิลสำหรับคำถามที่สำคัญ ๆ เหล่านั้น คุณก็อาจเป็นคนหนึ่งด้วยที่เชื่อว่ามีพระเจ้าผู้ซึ่งแท้จริงแล้ว “ไม่ได้อยู่ไกลจากเราทุกคนเลย.”—กิจการ 17:27
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 ในเรื่องที่ว่าคริสเตียนแท้ควรเข้าร่วมในสงครามหรือไม่ โปรดดูบทความเรื่อง “สงครามกับศาสนาคริสเตียนไปด้วยกันได้ไหม?” ในหน้า 29-31.
^ วรรค 22 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องที่พระเจ้ายอมให้มีความชั่ว โปรดดูหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? หน้า 106 ถึง 114 ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 25 สำหรับเหตุผลสนับสนุนความเชื่อว่ามีพระผู้สร้าง โปรดดูวารสารตื่นเถิด! เดือนกันยายน 2006 เรื่อง “พระผู้สร้างมีอยู่จริงไหม?” ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[กรอบหน้า 13]
คำถามที่วิวัฒนาการไม่ได้ให้คำตอบ
• ชีวิตเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิตได้อย่างไร?—บทเพลงสรรเสริญ 36:9
• ทำไมสัตว์และพืชสืบพันธุ์ตามชนิดของมัน?—เยเนซิศ 1:11, 21, 24-28
• ถ้ามนุษย์สืบเชื้อสายมาจากลิงที่ต่ำต้อยกว่า เหตุใดจึงไม่มีมนุษย์วานรที่มีพัฒนาการมากกว่าลิงหลงเหลืออยู่แม้แต่ตัวเดียว?—บทเพลงสรรเสริญ 8:5, 6
• ถ้าทฤษฎีเรื่องตัวที่เหมาะสมที่สุดเท่านั้นจะอยู่รอดเป็นความจริง ทำไมมนุษย์จึงคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่น?—โรม 2:14, 15
• มนุษย์มีความหวังแท้ใด ๆ ไหมในอนาคต?—บทเพลงสรรเสริญ 37:29
[ภาพหน้า 12, 13]
เป็นไปได้อย่างไรที่พระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักจะสร้างโลกที่ทำให้เด็กมีความทุกข์?
ความหน้าซื่อใจคดของศาสนาทำให้หลายคนหันหลังให้พระเจ้า