“ในรัชกาลของกษัตริย์เฮโรด”
“ในรัชกาลของกษัตริย์เฮโรด”
เฮโรดมหาราช กษัตริย์แห่งยูเดียต้องการจะฆ่าทารกเยซู จึงส่งคนไปสังหารเด็กชายทุกคนในเบทเลเฮม. ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้น “ในรัชกาลของกษัตริย์เฮโรด” ซึ่งเหตุการณ์เหล่านั้นช่วยเราให้เข้าใจสภาพการณ์ในช่วงที่พระเยซูมาประสูติและทำงานรับใช้.—มัดธาย 2:1-16
ทำไมเฮโรดจึงต้องการฆ่าพระเยซู? และเพราะเหตุใดตอนที่พระเยซูประสูติ ชาวยิวมีกษัตริย์ปกครอง แต่ตอนที่พระองค์สิ้นพระชนม์ ปอนติอุสปีลาตชาวโรมันเป็นผู้ปกครองพวกเขา? เพื่อจะเข้าใจบทบาทของเฮโรดในประวัติศาสตร์อย่างถ่องแท้และเข้าใจว่าทำไมเขาจึงมีความสำคัญต่อผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิล เราต้องย้อนอดีตไปหลายสิบปีก่อนที่พระเยซูประสูติ.
การแย่งชิงอำนาจในยูเดีย
ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่สองก่อนสากลศักราช ยูเดียอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์เซเลอคิดแห่งซีเรีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ราชวงศ์ที่เกิดขึ้นหลังจากจักรวรรดิของอะเล็กซานเดอร์มหาราชล่มสลาย. อย่างไรก็ตาม ประมาณปี 168 ก่อน ส.ศ. เมื่อกษัตริย์ของราชวงศ์เซเลอคิดพยายามจะนำเอาการนมัสการซูสเข้ามาแทนที่การนมัสการพระยะโฮวาในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเลม ชาวยิวซึ่งนำโดยตระกูลแมกคาบีจึงก่อกบฏ. พวกแมกคาบีหรือฮัสโมเนียนปกครองยูเดียในช่วงปี 142-63 ก่อน ส.ศ.
ในปี 66 ก่อน ส.ศ. เจ้าชายแห่งฮัสโมเนียนสององค์คือ ฮีร์คานุสที่ 2 และอาริสโตบุลุสน้องชายได้ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงบัลลังก์. หลังจากนั้นเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ทั้งคู่จึงไปขอความช่วยเหลือจากปอมปีย์แม่ทัพของโรมันซึ่งเวลานั้นอยู่ในซีเรีย. ปอมปีย์ก็ฉวยโอกาสเข้าแทรกแซงทันที.
ที่จริง พวกโรมันกำลังขยายอิทธิพลไปทางตะวันออก และในเวลานั้นพวกเขายึดครองอาณาเขตส่วนใหญ่ของเอเชียไมเนอร์ได้แล้ว. แต่เนื่องจากซีเรียมีผู้ปกครองที่ไม่เข้มแข็งสืบต่อกันมาหลายสมัย บ้านเมืองจึงตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีขื่อไม่มีแปซึ่งขัดกับความพยายามของโรมที่ต้องการจะรักษาความสงบสุขในดินแดนทางตะวันออกเอาไว้. ดังนั้น ปอมปีย์จึงเข้ายึดครองซีเรีย.
ปอมปีย์แก้ปัญหาความขัดแย้งในราชวงศ์ฮัสโมเนียนด้วยการสนับสนุนฮีร์คานุส และในปี 63 ก่อน ส.ศ. พวกโรมันได้บุกโจมตีเยรูซาเลมและตั้งฮีร์คานุสเป็นกษัตริย์. แต่ฮีร์คานุสไม่ได้ปกครองอย่างเอกเทศ. พวกโรมันได้เข้ามาแล้วและพวกเขาจะไม่ถอนอิทธิพลออกไปจากดินแดนนี้. ฮีร์คานุสกลายเป็นผู้นำประชาชนที่ต้องปกครองภายใต้อำนาจของโรม และต้องพึ่งการสนับสนุนจากโรมเพื่อรักษาบัลลังก์เอาไว้. เขาสามารถจะบริหารจัดการเรื่องราวภายในได้ตามที่ต้องการ แต่ในเรื่องความสัมพันธ์กับชาติอื่น ๆ เขาจะต้องทำตามนโยบายของโรม.
เฮโรดขึ้นมามีอำนาจ
ฮีร์คานุสเป็นผู้ปกครองที่ไม่เข้มแข็ง. แต่เขาได้รับการสนับสนุนจากอันทิพาเทอร์ชาวอิดูเมีย ซึ่งเป็นบิดาของเฮโรดมหาราช. อันทิพาเทอร์เป็นผู้มีอำนาจที่ให้การช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง. เขาสามารถควบคุมพวกยิวกลุ่มต่าง ๆ ที่คิดจะต่อต้านกษัตริย์ได้ และในไม่ช้าตัวเขาเองก็มีอำนาจเหนือยูเดียทั้งหมด. เขาได้ช่วยจูเลียส ซีซาร์ รบกับศัตรูในอียิปต์ และพวกโรมันได้ให้รางวัลแก่อันทิพาเทอร์โดยการตั้งเขาเป็นผู้สำเร็จราชการที่ขึ้นกับโรมโดยตรง. ส่วนอันทิพาเทอร์เองก็แต่งตั้งบุตรชายสองคน คือฟาเซล ให้เป็นผู้ว่าราชการเยรูซาเลมและเฮโรด ให้เป็นผู้ว่าราชการแกลิลี.
อันทิพาเทอร์ได้สอนลูกของตนว่าไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ตามไม่อาจสำเร็จได้ถ้าปราศจากการเห็นชอบจากโรม. เฮโรดก็ได้จำคำสอนนี้ไว้อย่างดี. ตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง เขาพยายามจะเอาใจโรมที่ช่วยให้เขามีอำนาจ และขณะเดียวกันก็เอาใจชาวยิวที่อยู่ใต้อำนาจตนด้วย. สิ่งที่ช่วยเขาก็คือความสามารถในการบริหารและการดูแลกองทัพ. เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการ เฮโรดในวัย 25 ปีก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของทั้งชาวยิวและชาวโรมันเนื่องจากเขาได้ปราบปรามกองโจรทั้งหลายอย่างแข็งขันให้หมดไปจากเขตปกครอง.
หลังจากอันทิพาเทอร์ถูกศัตรูวางยาพิษในปี 43 ก่อน ส.ศ. เฮโรดก็กลายมาเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในยูเดีย. แต่เขาก็มีศัตรูด้วย. พวกขุนนางในเยรูซาเลมถือว่าเฮโรดเป็นผู้ช่วงชิงอำนาจ และพยายามเกลี้ยกล่อมให้โรมถอดเขาออกจากตำแหน่ง. ความพยายามนั้นล้มเหลว. โรมยังระลึกถึงคุณความดีของอันทิพาเทอร์และชื่นชมความสามารถของเฮโรด.
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์แห่งยูเดีย
วิธีที่ปอมปีย์แก้ปัญหาการสืบราชบัลลังก์ของฮัสโมเนียนประมาณ 20 ปีก่อนได้สร้างความขมขื่นให้กับหลายฝ่าย. ฝ่ายที่สนับสนุนอาริสโตบุลุสพยายามที่จะแย่งอำนาจคืนมาหลายครั้งหลายหนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่แล้วในปี 40 ก่อน ส.ศ. พวกเขาก็ประสบความสำเร็จด้วยความช่วยเหลือจากชาวปาร์เทียซึ่งเป็นศัตรูของโรม. ระหว่างที่เกิดความโกลาหลวุ่นวายในกรุงโรมเนื่องจากสงครามกลางเมือง พวกเขาได้ฉวยโอกาสโจมตีซีเรีย ถอดถอนฮีร์คานุส และแต่งตั้งสมาชิกของราชวงศ์ฮัสโมเนียนคนหนึ่งที่ต่อต้านโรมให้ขึ้นครองอำนาจ.
เฮโรดหนีไปโรมและได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น. ชาวโรมันต้องการขับไล่พวกปาร์เทียออกไปจากยูเดียและยึดดินแดนนั้นกลับมา และตั้งผู้ปกครองที่ตนเห็นชอบ. พวกเขาต้องการพันธมิตรที่ไว้ใจได้และเห็นว่าเฮโรดคือผู้ที่เหมาะสม. สภาสูงของโรมจึงได้ตั้งเฮโรดเป็นกษัตริย์แห่งยูเดีย. เพื่อจะรักษาอำนาจของตนไว้ เฮโรดได้ทำหลายสิ่งที่เป็นการประนีประนอมความเชื่อ สิ่งหนึ่งก็คือเขาได้นำขบวนแห่จากสภาสูงไปยังวิหารแห่งจูปีเตอร์เพื่อถวายเครื่องบูชาให้แก่เหล่าเทพเจ้านอกรีต.
ด้วยความช่วยเหลือจากกองทหารโรมัน เฮโรดเอาชนะศัตรูในยูเดียและทวงบัลลังก์คืนมาได้. เขาแก้แค้นผู้ที่เคยต่อต้านตนอย่างโหดเหี้ยม. เขากำจัดราชวงศ์ฮัสโมเนียนและเหล่าขุนนางชาวยิวที่สนับสนุนราชวงศ์นี้ รวมทั้งใครก็ตามที่ไม่พอใจจะอยู่ใต้อำนาจผู้ปกครองที่เป็นมิตรกับโรม.
เฮโรดรวบอำนาจ
ในปี 31 ก่อน ส.ศ. เมื่อออกเตเวียสได้ชัยชนะเหนือมาร์ก แอนโทนีที่อักทิอุม และกลายเป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจแต่ผู้เดียวของโรม เฮโรดก็กลัวว่าออกเตเวียสจะสงสัยตนเนื่องจากเคยมีมิตรภาพอันยาวนานกับมาร์ก แอนโทนี. เฮโรดจึงรีบไปหาออกเตเวียสเพื่อยืนยันว่าตนยังจงรักภักดีอยู่. ผู้ปกครององค์ใหม่ของโรมก็ได้รับรองกับเฮโรดว่าเขายังเป็นกษัตริย์ของยูเดียและมอบดินแดนเพิ่มให้อีก.
ในช่วงหลายปีหลังจากนั้น เฮโรดได้สร้างความมั่นคงให้กับอาณาจักรของตนโดยทำให้กรุงเยรูซาเลมกลายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมกรีก. เขาได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น ราชวังหลายหลัง, เมืองท่าซีซาเรีย, และพระวิหารในกรุงเยรูซาเลมที่ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ ที่ใหญ่โตหรูหรา. ตลอดช่วงเวลานั้น นโยบายของเฮโรดมุ่งเน้นที่การรักษาความสัมพันธ์กับโรมซึ่งเป็นขุมกำลังของตน.
อำนาจปกครองของเฮโรดเหนือยูเดียนั้นเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด. นอกจากนี้ เฮโรดยังใช้อำนาจเหนือมหาปุโรหิตด้วย โดยแต่งตั้งผู้ที่ตนพอใจให้ดำรงตำแหน่งนี้.
ความอิจฉาที่นำไปสู่การฆาตกรรม
ชีวิตส่วนตัวของเฮโรดมีแต่เรื่องวุ่นวาย. ในจำนวนมเหสีสิบคนของเฮโรดมีหลายคนที่ต้องการให้บุตรชายของตนสืบบัลลังก์ต่อจากราชบิดา. แผนร้ายต่าง ๆ ในราชวังทำให้เฮโรดระแวงสงสัยและทำสิ่งที่เหี้ยมโหด. ด้วยความหึงหวง เขาได้สั่งประหารมาเรียมมเหสีคนโปรด และต่อมาสั่งให้รัดคอบุตรชายสองคนของนางเนื่องจากมีคนกล่าวหาว่าคบคิดแผนชั่วต่อต้านตน. บันทึกในมัดธายเกี่ยวกับการสั่งฆ่าเด็กทุกคนในเบทเลเฮมจึงสอดคล้องลงรอยกับเรื่องที่ผู้คนรู้กันดีเกี่ยวกับนิสัยของเฮโรดรวมทั้งความมุ่งมั่นของเขาที่จะกำจัดทุกคนที่สงสัยว่าเป็นศัตรู.
บางคนบอกว่าเนื่องจากเฮโรดรู้ตัวว่าไม่เป็นที่นิยมชมชอบ เขาจึงตั้งใจจะทำให้คนทั้งชาติโศกเศร้าในการตายของตนแทนที่จะดีใจ. เพื่อให้แผนการสำเร็จ เขาได้จับประชาชนระดับผู้นำของยูเดียและสั่งไว้ว่าให้ฆ่าคนเหล่านี้เมื่อมีการประกาศการตายของเขา. แต่ก็ไม่ได้มีการปฏิบัติตามคำสั่งนี้.
มรดกที่เฮโรดมหาราชได้ละไว้
เมื่อเฮโรดสิ้นพระชนม์ โรมได้แต่งตั้งอาร์คีลาอุสให้เป็นผู้ปกครองยูเดียต่อจากราชบิดา และแต่งตั้งบุตรชายอีกสองคนของเฮโรดเป็นเจ้าชายหรือเจ้าผู้ครองแคว้นที่ไม่ขึ้นกับโรม คืออันทีพัสเป็นผู้ครองแคว้นแกลิลีและพีเรีย ส่วนฟิลิปเป็นผู้ครองแคว้นอิตูเรียและทราโคนิทิส. อาร์คีลาอุสไม่เป็นที่ชื่นชอบของราษฎรและของโรม. หลังจากปกครองได้สิบปีโดยไม่มีผลงานที่น่าพอใจ โรมจึงปลดเขาออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งผู้ว่าราชการของโรมเองให้ปกครอง ซึ่งก็คือผู้ที่ดำรงตำแหน่งก่อนปอนติอุสปีลาต. ในระหว่างนั้น อันทีพัสซึ่งลูกาเรียกสั้น ๆ ว่าเฮโรด ยังคงปกครองแคว้นของตนต่อไปเช่นเดียวกับฟิลิป. นี่เป็นสถานการณ์ทางการเมืองตอนที่พระเยซูเริ่มทำงานประกาศสั่งสอน.—ลูกา 3:1
เฮโรดมหาราชเป็นนักการเมืองที่ฉลาดหลักแหลมและเป็นฆาตกรที่ไร้ความปรานี ซึ่งอาจเป็นได้ว่าสิ่งเลวร้ายที่สุดที่เขาเคยทำก็คือการพยายามจะฆ่าทารกเยซู. การได้รู้บทบาทของเฮโรดในประวัติศาสตร์เป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิล นั่นคือช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น และอธิบายว่าโรมเข้ามาปกครองชาวยิวได้อย่างไร และช่วยให้เข้าใจภูมิหลังชีวิตและงานประกาศสั่งสอนของพระเยซูบนแผ่นดินโลก.
[แผนที่หน้า 15]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ปาเลสไตน์และพื้นที่รอบ ๆ ในสมัยของเฮโรด
ซีเรีย
อิตูเรีย
แกลิลี
ทราโคนิทิส
ทะเลแกลิลี
แม่น้ำจอร์แดน
ซีซาเรีย
ซะมาเรีย
พีเรีย
เยรูซาเลม
เบทเลเฮม
ยูเดีย
ทะเลเค็ม
อิดูเมีย
[ภาพหน้า 13]
เฮโรดเป็นเพียงหนึ่งในผู้สืบทอดตำแหน่งที่ปกครองยูเดียในช่วงสองศตวรรษก่อนพระเยซูเริ่มงานประกาศ