การเดินเรือสมัยโบราณที่ไปไกลกว่าเมดิเตอร์เรเนียน
การเดินเรือสมัยโบราณที่ไปไกลกว่าเมดิเตอร์เรเนียน
ทุกวันนี้ผู้คนคิดว่าการขึ้นเครื่องบินและเดินทางไปยังทวีปอื่นเป็นเรื่องธรรมดา. คุณจะแปลกใจไหมที่รู้ว่าแม้แต่ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลผู้คนก็เคยเดินทางไปไกล ๆ เหมือนกัน?
ประมาณหนึ่งพันปีก่อนสมัยพระคริสต์ กษัตริย์โซโลมอนได้ตั้งกองเรือที่ร่วมเดินทางไปกับกองเรือของกษัตริย์เมืองไทระเพื่อนำสินค้าที่ต้องการจากแดนไกลมายังอิสราเอล. (1 กษัตริย์ 9:26-28; 10:22) ในศตวรรษที่เก้าก่อนสากลศักราช ที่ยบเปเมืองท่าของอิสราเอลบนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ผู้พยากรณ์โยนาห์ได้ลงเรือลำหนึ่งซึ่งจะไปเมืองทาร์ชิช. * (โยนา 1:3) ในศตวรรษแรกสากลศักราช อัครสาวกเปาโลได้เดินทางจากซีซาเรียในอิสราเอลไปยังโปติโอลอยในอ่าวเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี ซึ่งปัจจุบันคือเมืองปอซซูโอลี.—กิจการ 27:1; 28:13
นักประวัติศาสตร์รู้ว่าเมื่อถึงสมัยเปาโล พวกพ่อค้าจากแถบเมดิเตอร์เรเนียนได้เดินเรือผ่านทะเลแดงไปถึงอินเดียกันเป็นประจำแล้ว และพอถึงกลางศตวรรษที่สองสากลศักราชได้มีบางคนเดินเรือไปไกลถึงเมืองจีน. * แต่เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการ เดินทางในยุคแรก ๆ ที่ไกลออกไปทางตะวันตกของเมดิเตอร์เรเนียน? นักเดินเรือสมัยโบราณไปทางตะวันตกได้ไกลขนาดไหน?
การเดินทางยุคแรก ๆ ของชาวฟินิเซีย
หลายร้อยปีก่อนสมัยเปาโล นักเดินเรือได้ตั้งอาณานิคมการค้าหลายแห่งขึ้นทางตะวันตก. เชื่อกันว่าเมื่อถึงปี 1200 ก่อนสากลศักราช ชาวฟินิเซียซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันคือเลบานอนได้เดินทางไปไกลถึงมหาสมุทรแอตแลนติก. ประมาณปี 1100 ก่อน ส.ศ. พวกเขาได้ตั้งเมืองกาเดียร์ซึ่งอยู่เลยช่องแคบยิบรอลตาร์ไปเพียงเล็กน้อย ปัจจุบันคือเมืองท่ากาดิซของสเปน. ในบรรดาสินค้าซึ่งนักเดินเรือในมหาสมุทรแอตแลนติกนำมาจากที่นั่นคือ แร่เงินและดีบุกจากเหมืองในท้องถิ่น.
เฮโรโดทุส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกบันทึกว่า ในศตวรรษที่เจ็ดก่อน ส.ศ. ฟาโรห์นะโคแห่งอียิปต์ได้ตั้งกองเรือแบบฟินิเซียซึ่งมีฝีพายเป็นชาวฟินิเซียขึ้นที่ต้นทะเลแดง. จุดประสงค์ก็เพื่อจะเดินเรือรอบทวีปแอฟริกาจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตก.
เวลานั้นชาวฟินิเซียได้เดินทางสำรวจชายฝั่งของทวีปแอฟริกามาหลายร้อยปีแล้ว. แต่เนื่องจากต้องแล่นเรือทวนลมและกระแสน้ำ นักเดินเรือที่ไปทางใต้ตามชายฝั่งของแอฟริกาด้านมหาสมุทรแอตแลนติกจึงต้องพยายามอย่างมาก. ตามที่เฮโรโดทุสได้เขียนไว้ ในการเดินเรือตามเส้นทางใหม่นี้ชาวฟินิเซียได้เริ่มเดินทางจากทะเลแดงไปตามชายฝั่งด้านตะวันออกของแอฟริกา ลงไปทางใต้เข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย. เมื่อผ่านไปประมาณครึ่งปี พวกเขาก็จะขึ้นฝั่ง เพาะปลูก หว่านพืช และอยู่ที่นั่นนานพอที่จะเก็บเกี่ยวพืชผล แล้วก็แล่นเรือต่อไป. เฮโรโดทุสกล่าวว่าในปีที่สาม พวกเขาได้แล่นเรือไปรอบทวีปนั้นเข้าไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แล้วกลับมาอียิปต์.
เฮโรโดทุสลงท้ายบันทึกของเขาโดยกล่าวว่าชาวฟินิเซียได้รายงานบางเรื่องที่เขาไม่อยากเชื่อรวมทั้งเรื่องที่ว่าเมื่อเดินเรืออ้อมปลายสุดของทวีปแอฟริกาพวกเขาเห็นดวงอาทิตย์อยู่ทางขวา. สำหรับชาวกรีกโบราณนับว่ายากจริง ๆ ที่จะเชื่อเรื่องนั้น. ทุกคนที่อาศัยอยู่ทางเหนือของเส้นศูนย์สูตรมาตลอดชีวิตคุ้นเคยกับการเห็นดวงอาทิตย์อยู่ทางทิศใต้. ดังนั้น เมื่อเขาเดินทางไปทางตะวันตก ดวงอาทิตย์จึงอยู่ด้านซ้ายของเขา. แต่ที่แหลมกู๊ดโฮปซึ่งอยู่ทางใต้ของเส้นศูนย์สูตรจะเห็นดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวันอยู่ทางเหนือ ซึ่งก็คือทางขวาของคนที่เดินทางไปทางตะวันตก.
เป็นเวลาหลายร้อยปี มีการถกเถียงกันในหมู่นักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบันทึกของเฮโรโดทุส. หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่นักเดินเรือในสมัยโบราณขนาดนั้นจะสามารถเดินเรือรอบแอฟริกาได้. แต่พวกผู้เชี่ยวชาญก็เชื่อว่าฟาโรห์นะโคเป็นผู้บัญชาให้มีการเดินทางเช่นนั้นจริง ๆ และการเดินทางเช่นนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เมื่อคิดถึงความสามารถและความรู้ของคนในสมัยนั้น. นักประวัติศาสตร์ไลโอเนล แคสซัน บอกว่า “การเดินทางเช่นนั้นเป็นไปได้อย่างแน่นอน. ไม่มีเหตุผลที่ลูกเรือชาวฟินิเซียจะทำไม่ได้ในช่วงเวลาและวิธีแบบที่เฮโรโดทุสได้พรรณนาเอาไว้.” เราไม่ทราบแน่ชัดว่าบันทึกของเฮโรโดทุสเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน. แต่บันทึกนี้ก็ช่วยให้เห็นว่าได้มีการพยายามอย่างไม่ย่อท้อมากเพียงไรเพื่อจะขยายเส้นทางการเดินเรือไปยังภูมิภาคที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในสมัยโบราณอย่างนั้น.
พีทีอัสเดินเรือไปทางเหนือ
ชาวฟินิเซียไม่ใช่นักเดินเรือจากเมดิเตอร์เรเนียนพวกเดียวในยุคแรกที่พยายามเดินเรือไปทางมหาสมุทรแอตแลนติกที่อยู่ทิศตะวันตก. อาณานิคมแห่งหนึ่งที่นักเดินเรือชาวกรีกได้ตั้งขึ้นในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้แก่เมืองมาสซาเลีย ปัจจุบันคือเมืองมาร์เซลส์ ในฝรั่งเศส. อาณานิคมแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองมากเนื่องจากมีการติดต่อค้าขายทั้งทางทะเลและทางบก. จากมาสซาเลียพวกพ่อค้าจะส่งเหล้าองุ่น, น้ำมัน, และเครื่องทองสัมฤทธิ์ของแถบเมดิเตอร์เรเนียนขึ้นไปทางเหนือ และนำเอาโลหะและอำพันมาจากทางเหนือ. ไม่ต้องสงสัยว่า ชาวเมืองมาสซาเลียอยากรู้ว่าสินค้าเหล่านี้มาจากที่ไหน. ดังนั้น ราว ๆ ปี 320 ก่อน ส.ศ. ชาว
เมืองมาสซาเลียชื่อ พีทีอัส จึงออกเดินทางไปยังดินแดนทางเหนือที่อยู่ห่างไกลด้วยตนเอง.เมื่อกลับมา พีทีอัสก็เขียนบันทึกการเดินทางของเขาที่ชื่อท่องไปในมหาสมุทร (ภาษากรีก). แม้ว่าต้นฉบับภาษากรีกของหนังสือนี้ไม่มีแล้ว แต่ก็มีนักเขียนสมัยโบราณ 18 คนที่อ้างถึงข้อความจากหนังสือของเขา. นักเขียนเหล่านั้นอ้างถึงข้อความที่พีทีอัสได้พรรณนาอย่างละเอียดเกี่ยวกับทะเล, กระแสน้ำ, ลักษณะทางภูมิศาสตร์, และประชากรของดินแดนที่เขาได้ไปเยือน. นอกจากนั้น เขาได้ใช้เงาของนาฬิกาแดด หรือไม้วัดเพื่อคำนวณมุมเงยของดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวันในวันใดวันหนึ่ง และอาศัยตัวเลขนี้เพื่อกะประมาณว่าเขาได้เดินทางขึ้นเหนือมาไกลเท่าไรแล้ว.
สิ่งที่พีทีอัสให้ความสนใจเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์. แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงของการเดินทางนั้นคงไม่ใช่เพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์. ผู้เชี่ยวชาญคิดว่าพวกผู้มีผลประโยชน์ทางการค้าในมาสซาเลียได้ให้ทุนและส่งเขาไปจึงทำให้เขาได้ค้นพบเส้นทางเดินเรือไปยังชายฝั่งอันห่างไกลหลายแห่งซึ่งพวกเขารู้ว่าอาจมีอำพันและดีบุก. แล้วพีทีอัสไปที่ไหน?
ไปยังบริตทานี, บริเตน, และไกลกว่านั้น
ดูเหมือนว่าพีทีอัสจะแล่นเรือไปรอบคาบสมุทรไอบีเรียและขึ้นไปถึงชายฝั่งของแคว้นกอลยังบริตทานีและขึ้นฝั่งที่นั่น. เราทราบเรื่องนี้เพราะในการวัดมุมดวงอาทิตย์เหนือเส้นขอบฟ้าครั้งหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าเขาได้วัดเมื่ออยู่บนบก ตรงกับตำแหน่งที่ตั้งของแคว้นบริตทานีทางด้านเหนือ. *
คนในบริตทานีเป็นช่างต่อเรือและนักเดินเรือที่มีประสบการณ์ซึ่งค้าขายกับบริเตน. คอร์นวอลล์ที่อยู่ปลายสุดทางตะวันตกเฉียงใต้ของบริเตนเป็นแหล่งที่มีดีบุกมากซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของทองสัมฤทธิ์ และที่นี่เองเป็นจุดหมายปลายทางถัดไปของพีทีอัส. รายงานของเขาที่พรรณนาขนาดและรูปทรงซึ่งดูคล้ายสามเหลี่ยมของบริเตนทำให้คิดกันว่าเขาคงต้องได้เดินเรือไปรอบเกาะนั้นแล้ว.
ถึงแม้ว่าเส้นทางเดินเรือของพีทีอัสเป็นเพียงสมมุติฐาน แต่เป็นไปได้มากทีเดียวที่เขาจะเดินเรือระหว่างบริเตนกับไอร์แลนด์ แล้วขึ้นฝั่งที่เกาะแมนซึ่งตั้งอยู่ที่ละติจูดที่ตรงกับการวัดมุมดวงอาทิตย์ในครั้งที่สองของเขา. เป็นไปได้ว่าเขาวัดมุมครั้งที่สามบนเกาะลูอิสในหมู่เกาะเอาเตอร์เฮบริดีส นอกชายฝั่งตะวันตกของสกอตแลนด์. หลังจากนั้น ดูเหมือนว่าเขาได้เดินทางขึ้นเหนือต่อไปยังหมู่เกาะออร์กนีย์ ทางเหนือของแผ่นดินใหญ่ของสกอตแลนด์ เพราะในบันทึก
ของเขาที่พลินีผู้อาวุโสอ้างถึงได้รายงานว่าหมู่เกาะเหล่านั้นประกอบด้วย 40 เกาะ.พีทีอัสเขียนว่าเมื่อเดินทางไปทางเหนือของบริเตนได้หกวันก็ถึงดินแดนที่เรียกว่าทูเล. นักประพันธ์สมัยโบราณหลายคนกล่าวว่าพีทีอัสพรรณนาถึงทูเลว่าเป็นดินแดนแห่งอาทิตย์เที่ยงคืน. เขาเขียนว่าเมื่อเดินเรือต่อไปอีกวันหนึ่งก็มาถึงที่ซึ่งทะเลกลายเป็น “น้ำแข็ง.” หลายคนยังคงถกเถียงกันว่าทูเลของพีทีอัสนั้นคือที่ไหน บางคนบอกว่าหมู่เกาะแฟโร, บางคนว่านอร์เวย์, บางคนก็ว่าไอซ์แลนด์. ไม่ว่าทูเลจะอยู่ที่ไหน นักเขียนสมัยโบราณต่างก็เชื่อว่าที่นั่นต้องเป็น “ดินแดนที่อยู่เหนือสุดเท่าที่เคยรู้จักกัน.”
อาจเป็นได้ว่าพีทีอัสกลับไปยังบริเตนโดยใช้เส้นทางเดิมที่เขามา และจากนั้นจึงวนรอบเกาะบริเตน. เราไม่ทราบว่าเขาได้ไปสำรวจชายฝั่งทางเหนือของยุโรปไกลกว่านั้นหรือไม่ก่อนจะกลับมาเมดิเตอร์เรเนียน. ไม่ว่าจะอย่างไร พลินีผู้อาวุโสได้อ้างคำกล่าวของพีทีอัสที่แสดงว่าเขามีความรู้มากเกี่ยวกับดินแดนต่าง ๆ ที่ผลิตอำพัน. แหล่งผลิตอำพันที่มีค่าในสมัยโบราณคือจัตแลนด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์กในปัจจุบัน กับชายฝั่งด้านใต้ของทะเลบอลติก. จริงอยู่ พีทีอัสอาจรู้จักแหล่งอำพันเหล่านี้เมื่อได้ไปเยือนท่าเรือแห่งใดแห่งหนึ่งทางตะวันออกของบริเตน และเท่าที่เรารู้ เขาไม่เคยอ้างว่าได้ไปเยือนแหล่งนั้นด้วยตนเอง.
นักเดินทางจากเมดิเตอร์เรเนียนอีกคนหนึ่งที่ได้เขียนเกี่ยวกับการไปเยือนบริเตนคือจูเลียส ซีซาร์ ซึ่งขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของเกาะนี้ในปี 55 ก่อน ส.ศ. เมื่อถึงปี ส.ศ. 6 คณะนักเดินเรือกลุ่มอื่น ๆ ของโรมก็ไปไกลถึงทางเหนือของจัตแลนด์แล้ว.
เปิดโลกทัศน์
การสำรวจของชาวฟินิเซียและชาวกรีกไม่เพียงช่วยให้โลกมีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับภูมิศาสตร์แถบเมดิเตอร์เรเนียนและแอตแลนติกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้รู้จักแอฟริกาที่อยู่ทางใต้และดินแดนทางเหนือไกลถึงแถบอาร์กติกเลยทีเดียว. โลกในสมัยนั้นเป็นโลกของการสำรวจ, การค้า, การเปิดโลกทัศน์, การเดินทางไปยังที่ไกลโพ้น ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดและความรู้ใหม่ ๆ ตามมา.
บันทึกการเดินทางสำรวจในสมัยโบราณที่เหลืออยู่คงเป็นเพียงเศษเสี้ยวของการเดินทางทั้งหมดที่เหล่านักเดินเรือผู้กล้าหาญได้ทำสำเร็จ. จะมีนักเดินเรือโบราณสักกี่คนที่เดินทางกลับมาโดยไม่ได้เขียนเกี่ยวกับสถานที่ที่เขาไปเยือน? และมีสักกี่คนที่ออกเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนไปยังชายฝั่งทะเลอันไกลโพ้นโดยไม่ได้กลับมา? คำถามเหล่านี้ยังหาคำตอบไม่ได้. แต่ที่เรารู้ได้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับการแผ่ขยายของศาสนาคริสเตียนในยุคแรก.—ดู กรอบด้านบน
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 บ่อยครั้งชื่อนี้พาดพิงถึงภูมิภาคหนึ่งทางใต้ของสเปนซึ่งนักเขียนชาวกรีกและโรมันเรียกว่าทาร์เทสซัส.
^ วรรค 4 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องการเดินทางไปทางตะวันออก โปรดดูบทความ “มิชชันนารีอาจไปทางตะวันออกได้ไกลขนาดไหน?” ในหอสังเกตการณ์ 1 มกราคม 2009.
^ วรรค 16 ละติจูดที่ 48 องศา 42 ลิปดาเหนือ.
[กรอบหน้า 29]
ข่าวดี “ได้มีการประกาศท่ามกลางมนุษย์ทั้งหลาย”
ราว ๆ ปี ส.ศ. 60-61 อัครสาวกเปาโลได้เขียนว่า ข่าวดี “ได้มีการประกาศท่ามกลางมนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้ฟ้า.” (โกโลซาย 1:23) ท่านหมายความไหมว่าคริสเตียนได้ประกาศเผยแพร่ไปแล้วถึงอินเดีย, ตะวันออกไกล, แอฟริกา, สเปน, กอล, บริเตน, ทะเลบอลติก, และดินแดนที่พีทีอัสเรียกว่าทูเล? ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่เราก็ไม่สามารถบอกได้แน่ชัด.
อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อสงสัยว่าข่าวดีได้รับการประกาศเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง. ตัวอย่างเช่น ชาวยิวและผู้เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวซึ่งเข้ามาเป็นคริสเตียนในวันเพนเทคอสต์ปี ส.ศ. 33 ได้นำความเชื่อใหม่ของตนไปยังดินแดนที่อยู่ไกลถึงปาร์เทีย, เอลาม, มีเดีย, เมโสโปเตเมีย, อาระเบีย, เอเชียไมเนอร์, ส่วนของลิเบียที่อยู่ทางไซรีนี, และโรม ซึ่งครอบคลุมโลกที่ผู้อ่านของเปาโลรู้จักกันในสมัยนั้น.—กิจการ 2:5-11
[แผนภาพ/แผนที่หน้า 26, 27]
(ดูรายละเอียดในวารสาร)
เฮโรโดทุสรายงานว่าเมื่อเดินเรืออ้อมปลายสุดของทวีปแอฟริกา นักเดินเรือได้เห็นดวงอาทิตย์อยู่ทางขวา
[แผนที่]
แอฟริกา
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
มหาสมุทรอินเดีย
มหาสมุทรแอตแลนติก
[แผนภาพ/แผนที่หน้า 28, 29]
(ดูรายละเอียดในวารสาร)
เส้นทางการเดินเรือที่ยาวไกลของพีทีอัสนักเดินเรือชาวกรีก
[แผนที่]
ไอร์แลนด์
ไอซ์แลนด์
นอร์เวย์
ทะเลเหนือ
บริเตน
บริตทานี
คาบสมุทรไอบีเรีย
ชายฝั่งด้านเหนือของแอฟริกา
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
มาร์เซลส์