พ่อม่ายและแม่ม่าย—พวกเขาต้องการความช่วยเหลืออะไร? คุณจะช่วยได้อย่างไร?
พ่อม่ายและแม่ม่าย—พวกเขาต้องการความช่วยเหลืออะไร? คุณจะช่วยได้อย่างไร?
ในห้องครัวที่มีแสงไฟสลัวในอพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ ของเธอ ชานจัดโต๊ะอาหารด้วยความเคยชิน. ทันใดนั้น เธอก็สังเกตว่ามีจานสองใบวางอยู่ตรงหน้า . . . แล้วเธอก็ร้องไห้ออกมา. เธอจัดโต๊ะสำหรับสองคนโดยไม่รู้ตัว! เป็นเวลาสองปีแล้ว นับตั้งแต่สามีที่รักของเธอจากไป.
คนที่ไม่เคยสูญเสียคู่สมรสไม่อาจเข้าใจได้ว่าการสูญเสียเช่นนั้นสร้างความเจ็บปวดได้มากเพียงไร. ที่จริง จิตใจของมนุษย์ไม่สามารถยอมรับความจริงที่เจ็บปวดนี้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว. เบอรีล วัย 72 ปี ทำใจไม่ได้เมื่อสูญเสียสามีอย่างกะทันหัน. เธอบอกว่า “ฉันคิดว่าไม่ใช่เรื่องจริง. ฉันไม่เชื่อว่าจะไม่ได้เห็นเขาอีก.”
คนที่ต้องถูกตัดแขนหรือขา บางครั้งอาจ “รู้สึก” เหมือนยังมีอวัยวะนั้นอยู่. ทำนองเดียวกัน บางครั้งคู่สมรสที่เป็นทุกข์โศกเศร้าอาจรู้สึกเหมือนกับ “เห็น” คนที่เขารักอยู่ในฝูงชน หรือพบว่าตัวเองกำลังพูดกับคู่สมรส ทั้ง ๆ ที่เขาไม่อยู่แล้ว!
เมื่อใครคนหนึ่งสูญเสียคู่สมรส บ่อยครั้งเพื่อนและครอบครัวไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร. คุณรู้จักใครไหมที่เพิ่งสูญเสียสามีหรือภรรยาไป? คุณจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง? คุณควรรู้อะไรบ้างเพื่อจะช่วยพ่อม่ายและแม่ม่ายให้รับมือกับความโศกเศร้า? คุณจะช่วยคนที่สูญเสียคู่สมรสให้ค่อย ๆ กลับมามีความสุขในชีวิตอีกได้อย่างไร?
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
เพื่อนและครอบครัวอาจทุกข์ใจที่เห็นคนที่ตนรักเจ็บปวดและพยายามจะช่วยให้คนนั้นหายโศกเศร้าเร็ว ๆ ด้วยเจตนาดี. แต่นักวิจัยคนหนึ่งซึ่งได้สำรวจความเยเนซิศ 37:34, 35; โยบ 10:1
เห็นของพ่อม่ายและแม่ม่าย 700 คนเขียนว่า “ไม่สามารถกำหนดได้ว่าคนเราควรโศกเศร้านานเท่าไร.” ดังนั้น แทนที่จะพยายามทำให้คนที่สูญเสียคู่สมรสหยุดเศร้า ควรให้เขามีช่วงเวลาที่จะโศกเศร้า.—แม้ว่าอาจเป็นเรื่องเหมาะสมที่คุณจะช่วยจัดการเรื่องงานศพ แต่อย่าคิดว่าคุณจะต้องควบคุมดูแลทุกอย่างเกี่ยวกับงาน. พอล พ่อม่ายอายุ 49 ปีกล่าวว่า “ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีที่คนอื่นเสนอความช่วยเหลือที่จำเป็นและเหมาะสม และขณะเดียวกันก็ให้โอกาสผมเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องการจัดงาน. การได้ดูแลให้งานศพของภรรยาผ่านไปด้วยดีมีความหมายมากสำหรับผม. ผมรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งสุดท้ายที่ผมจะทำเพื่อเธอได้.”
แน่ละ คนส่วนใหญ่รู้สึกขอบคุณสำหรับการช่วยเหลือที่ได้รับ. ไอลีน แม่ม่ายวัย 68 ปีบอกว่า “การจัดงานศพและจัดการเรื่องเอกสารต่าง ๆ เป็นงานที่ยากเนื่องจากฉันยังคิดอะไรไม่ออก. ดีที่ลูกชายและลูกสะใภ้ช่วยฉันได้มาก.”
นอกจากนั้น อย่ากลัวที่จะพูดถึงผู้เป็นที่รักที่เสียชีวิตไป. เบอรีล ที่กล่าวถึงในตอนต้นบอกว่า “เพื่อน ๆ ของฉันช่วยได้มากจริง ๆ. แต่ฉันรู้สึกว่าหลายคนพยายามไม่พูดถึงจอห์นสามีของฉัน. เหมือนกับว่าเขาไม่เคยมีชีวิตอยู่ และนั่นทำให้ฉันเสียใจอยู่บ้าง.” เมื่อเวลาผ่านไป พ่อม่ายและแม่ม่ายอาจต้องการพูดถึงคู่สมรสที่ตายไป. คุณจำได้ไหมว่าผู้ที่จากไปเคยแสดงความกรุณาอย่างไรบ้าง หรือมีเรื่องตลกอะไรเกี่ยวกับเขา? คุณอาจขอเล่าให้คู่สมรสที่มีชีวิตอยู่ฟัง อย่าให้ความกลัวมายับยั้งคุณไว้. ถ้าคุณรู้สึกว่าพูดได้ก็ให้บอกเขาว่าคุณชื่นชมอะไรหรือคิดถึงอะไรเกี่ยวกับผู้ที่ตายไป. การทำเช่นนี้อาจช่วยให้คู่สมรสที่โศกเศร้าเห็นว่าคนอื่นก็อาลัยผู้ตายเช่นกัน.—โรม 12:15
เมื่อเสนอความช่วยเหลือแก่ผู้ที่โศกเศร้า อย่าให้คำแนะนำมากเกินไป. อย่ากดดันคนที่เพิ่งสูญเสียคู่สมรสให้ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เร็วเกินไป. * แทนที่จะทำอย่างนั้น จงรู้จัก สังเกตและถามตัวเองว่า ‘มีอะไรบ้างที่ฉันควรทำเพื่อช่วยเพื่อนหรือญาติให้ผ่านช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตไปได้?’
สิ่งที่คุณทำได้
ช่วงแรก ๆ ที่สูญเสียคู่สมรส ฝ่ายที่ยังอยู่ย่อมยินดีรับความช่วยเหลือที่เหมาะสม. คุณจะทำอาหารให้เขา, ให้ญาติ ๆ ของเขามาพักที่บ้านคุณ, หรืออยู่เป็นเพื่อนเขาได้ไหม?
นอกจากนั้น คุณต้องเข้าใจด้วยว่าผู้ชายกับผู้หญิงมีวิธีรับมือกับความโศกเศร้าและความว้าเหว่แตกต่างกัน. ตัวอย่างเช่น ในบางส่วนของโลก พ่อม่ายมากกว่าครึ่งหนึ่งแต่งงานใหม่ภายใน 18 เดือนหลังจากคู่สมรสเสียชีวิต ในขณะที่แม่ม่ายน้อยคนทำเช่นนั้น. ทำไมจึงแตกต่างกัน?
คนส่วนใหญ่คิดว่าผู้ชายแต่งงานใหม่เพียงเพราะต้องการคนดูแลหรือเพื่อสนองความต้องการทางเพศ แต่ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป. ที่จริง เนื่องจากผู้ชายมักจะเปิดเผยความในใจกับคู่ของตนเท่านั้น เขาจึงอาจรู้สึกว้าเหว่มากเมื่อคู่ของเขาจากไป. ส่วนแม่ม่ายหาเพื่อนปลอบใจได้ง่ายกว่า แม้ว่าบางครั้งเพื่อน ๆ ของสามีจะลืมคิดถึงเธอก็ตาม. แนวโน้มเช่นนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พ่อม่ายหลายคนคิดว่าการแต่งงานใหม่เป็นทางเดียวที่จะทำให้หายว้าเหว่ ถึงแม้การมีคู่คนใหม่เร็วเกินไปจะไม่สุขุมก็ตาม. ฉะนั้น ดูเหมือนว่าแม่ม่ายจะรับมือกับความว้าเหว่ได้ดีกว่า.
ไม่ว่าเพื่อนหรือญาติของคุณที่สูญเสียคู่สมรสจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยไม่ให้เขาว้าเหว่เกินไป? เฮเลน แม่ม่ายอายุ 49 ปีกล่าวว่า “หลายคนมีเจตนาดี แต่ไม่ได้ริเริ่มทำอะไร. พวกเขามักพูดว่า ‘ถ้ามีอะไรให้ฉันช่วยก็บอกนะ.’ แต่ฉันจะรู้สึกขอบคุณถ้ามีคนพูดว่า ‘ฉันกำลังจะไปซื้อของ. คุณอยากไปด้วยไหม?’ ” พอล ซึ่งภรรยาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งอธิบายว่าทำไมเขารู้สึกขอบคุณเมื่อมีคนชวนเขาออกไปข้างนอก. เขาบอกว่า “บางครั้งผมไม่อยากติดต่อพูดคุยกับใครหรือพูดถึงสภาพการณ์ของตัวเอง. แต่หลังจากได้ออกไปทำอะไรกับเพื่อน ๆ ในตอนเย็น ผมก็รู้สึกดีขึ้นมาก ผมหายเหงาไปได้เยอะ. ผมรู้ว่าคนอื่นเป็นห่วงผมจริง ๆ และนั่นช่วยให้ผมรับมือได้ง่ายขึ้น.” *
เวลาที่ควรแสดงความร่วมรู้สึกเป็นพิเศษ
เฮเลนรู้สึกว่าเวลาที่เธอต้องการการปลอบโยนมากที่สุด
คือตอนที่ญาติ ๆ ส่วนใหญ่กลับไปใช้ชีวิตตามปกติกันหมดแล้ว. เธอบอกว่า “ตอนที่สามีเสียชีวิตใหม่ ๆ เพื่อนและครอบครัวอยู่เคียงข้างฉันตลอด แต่แล้วพวกเขาก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตตามปกติของตนเอง. แต่ชีวิตฉันไม่ใช่อย่างนั้น.” เมื่อรู้ความจริงเช่นนี้เพื่อนแท้จะอยู่พร้อมและให้การช่วยเหลือต่อ ๆ ไป.บางทีพ่อม่ายหรือแม่ม่ายอาจต้องการเป็นพิเศษที่จะมีเพื่อนอยู่ด้วยในวันครบรอบต่าง ๆ เช่น วันครบรอบแต่งงานหรือครบรอบการตายของคู่สมรส. ไอลีน ที่กล่าวถึงตอนต้นบอกว่าลูกชายซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้วช่วยให้เธอไม่รู้สึกว้าเหว่ในวันครบรอบแต่งงาน. เธอบอกว่า “ทุกปีเควินลูกชายฉันจะพาฉันออกไปเที่ยวทั้งวัน. เรารับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน และนั่นเป็นเวลาพิเศษสำหรับเราสองแม่ลูก.” คุณน่าจะจดวันสำคัญของสมาชิกครอบครัวและเพื่อนที่เป็นม่ายไว้ ซึ่งเป็นวันที่เขาต้องการเพื่อนเป็นพิเศษ. แล้วคุณหรือคนอื่น ๆ อาจอาสาอยู่เป็นเพื่อนเขาในวันเหล่านั้น.—สุภาษิต 17:17
บางคนรู้สึกว่าคนที่สูญเสียคู่สมรสเหมือนกันช่วยหนุนใจกันได้. แอนนี ซึ่งเป็นม่ายมาแปดปีพูดถึงมิตรภาพของเธอกับแม่ม่ายอีกคนหนึ่งว่า “ฉันชื่นชมความเข้มแข็งมั่นคงของเธอและสิ่งนี้ทำให้ฉันมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป.”
จริงทีเดียว หลังจากพ่อม่ายและแม่ม่ายผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศกเสียใจในตอนแรกไปแล้ว พวกเขาก็สามารถเป็นแบบอย่างและเป็นกำลังใจให้กับคนอื่น ๆ ได้. แม่ม่ายสองคนที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล คือหญิงสาวชื่อรูทและนาอะมีแม่สามีต่างก็ได้รับประโยชน์จากการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน. บันทึกเรื่องราวที่น่าประทับใจนี้ทำให้เห็นว่าการที่ผู้หญิงสองคนนี้เอาใจใส่ดูแลกันช่วยพวกเธอให้เอาชนะความโศกเศร้าและรับมือกับสภาพการณ์ยุ่งยากที่พวกเธอประสบ.—ประวัตินางรูธ 1:15-17; 3:1; 4:14, 15
เวลาสำหรับเยียวยา
เพื่อจะกลับมามีชีวิตที่มีความสุขได้อีกคนที่เป็นม่ายจำต้องมีความสมดุล โดยไม่จมอยู่กับความอาลัยอาวรณ์ถึงคู่สมรสจนละเลยความจำเป็นของตนเอง. กษัตริย์โซโลมอนผู้ฉลาดสุขุมยอมรับว่า “มีวาระสำหรับร่ำไห้.” แต่ท่านก็กล่าวว่าจำเป็นต้องมี “วาระสำหรับเยียวยา” ด้วย.—ท่านผู้ประกาศ 3:3, 4
พอล ที่กล่าวถึงข้างต้นยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นชัดว่าเป็นเรื่องยากเพียงไรที่จะไม่จมอยู่กับอดีต. เขาบอกว่า “ผมกับภรรยาเป็นเหมือนต้นไม้อ่อนที่พันเกี่ยวกันและเติบโตไปพร้อม ๆ กัน. แต่แล้วต้นหนึ่งตายและถูกถอนออกไป ต้นที่เหลืออยู่ก็เสียรูปทรง. ผมรู้สึกแปลกที่ต้องอยู่ตัวคนเดียว.” บางคนไม่ยอมทิ้งอดีตเนื่องจากต้องการภักดีต่อคู่ที่เสียชีวิตไป. บางคนเป็นห่วงว่าการมีความสุขในชีวิตอาจเท่ากับเป็นการทรยศ เขาจึงปฏิเสธที่จะออกไปไหนหรือพบปะกับผู้คน. คุณจะช่วยพ่อม่ายและแม่ม่ายให้ค่อย ๆ หลุดพ้นจากอดีตและดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไร?
ขั้นตอนแรกอาจทำได้โดยช่วยคนนั้นให้ระบายความรู้สึกของตนออกมา. เฮอร์เบิร์ต ซึ่งเป็นม่ายมาหกปีกล่าวว่า “ผมรู้สึกขอบคุณเป็นพิเศษเมื่อคนที่มาเยี่ยมนั่งเงียบ ๆ ฟังผมเล่าความหลังและระบายความรู้สึกที่มีในตอนนั้นออกมา. ผมรู้ดีว่าการมาคุยกับผมคงไม่ใช่เรื่องสนุกสักเท่าไร แต่ผมก็ขอบคุณมากที่พวกเขาร่วมความรู้สึกกับผม.” พอลประทับใจเป็นพิเศษที่เพื่อนผู้อาวุโสคนหนึ่งคอยถามอยู่เสมอว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง. พอลบอกว่า “ผมชอบที่เขาถามผมอย่างนุ่มนวลและจริงใจ และผมมักจะบอกเขาว่าผมรู้สึกอย่างไรในตอนนั้น.”—สุภาษิต 18:24
การได้ระบายความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ความเสียใจ, ความรู้สึกผิด, หรือความโกรธ เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้คนที่สูญเสียคู่สมรสเริ่มยอมรับสภาพการณ์ใหม่ของตัวเอง. ใน2 ซามูเอล 12:19-23
กรณีของกษัตริย์ดาวิด การที่ท่านได้ระบายความรู้สึกในใจของท่านกับพระยะโฮวาพระเจ้าผู้เป็นมิตรที่ไว้ใจได้มากที่สุดช่วยให้ท่านมีกำลังที่จะ “ลุกขึ้น” และยอมรับความเป็นจริงที่น่าเศร้าว่าโอรสที่เพิ่งคลอดนั้นตายแล้ว.—แม้ในตอนแรกจะเป็นเรื่องยาก แต่ในที่สุดผู้ที่เป็นม่ายก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ. คุณจะเชิญเขาทำกิจกรรมประจำวันกับคุณได้ไหม เช่น ไปซื้อของหรือเดินเล่นตอนเย็น? คุณจะขอให้เขาช่วยงานบางอย่างได้ไหม? นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยไม่ให้เขาปลีกตัวอยู่คนเดียว. ตัวอย่างเช่น เขาจะช่วยดูแลลูกหรือสอนคุณทำอาหารได้ไหม? เขาจะช่วยซ่อมแซมอะไร ๆ ในบ้านได้ไหม? การขอเช่นนั้นไม่เพียงแต่ช่วยให้คนที่เป็นม่ายได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้มีชีวิตชีวาเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เขามั่นใจด้วยว่าชีวิตของเขายังมีจุดมุ่งหมาย.
เมื่อคนที่สูญเสียผู้เป็นที่รักเริ่มเผยความรู้สึกของเขากับคนอื่นอีกครั้ง เขาก็จะค่อย ๆ กลับมาชื่นชมกับชีวิตและอาจถึงกับตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ ในชีวิตด้วย. นี่เป็นความจริงในกรณีของโยเนตต์ แม่ม่ายและมารดาวัย 44 ปี. เธอเล่าว่า “การกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติช่างยากจริง ๆ! การทำงานบ้าน, จัดการเรื่องเงิน, และดูแลลูกสามคนเป็นเรื่องที่ยากมาก.” อย่างไรก็ตาม โยเนตต์เรียนรู้ที่จะจัดระบบชีวิตของตนเองและพูดคุยกับลูกได้ดีขึ้น. นอกจากนั้น เธอยังเรียนที่จะยอมรับการช่วยเหลือจากเพื่อนสนิท.
“ชีวิตยังเป็นของประทานที่มีค่า”
เพื่อจะเป็นผู้ช่วยที่ดี เพื่อน ๆ และครอบครัวจำเป็นต้องมองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง. เป็นเวลาหลายเดือน กระทั่งหลายปีที่สภาพจิตใจและอารมณ์ของผู้เป็นม่ายอาจยังแปรปรวนไม่มั่นคง บางครั้งค่อนข้างสงบ บางครั้งก็หดหู่ซึมเศร้า. แน่นอนว่า “ภัยพิบัติแห่งจิตใจของเขา” อาจรุนแรงมาก.—1 กษัตริย์ 8:38, 39, ฉบับแปลคิงเจมส์
ในช่วงที่รู้สึกหดหู่ ผู้ที่สูญเสียคู่สมรสอาจจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นหนุนใจเพื่อเขาจะไม่ตัดตัวเองออกจากโลกของความเป็นจริงและปลีกตัวอยู่ตามลำพัง. การช่วยเหลือเช่นนั้นได้ช่วยพ่อม่ายและแม่ม่ายหลายคนให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความหมายอีกครั้ง. โคลด พ่อม่ายวัย 60 ปีซึ่งปัจจุบันเป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลาในแอฟริกากล่าวว่า “แม้จะปวดร้าวใจเพราะคู่สมรสตายจากไป แต่ชีวิตยังเป็นของประทานที่ล้ำค่า.”
หลังจากสูญเสียคู่สมรส ชีวิตก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป. ถึงกระนั้น ผู้ที่มีชีวิตอยู่ก็ยังมีอะไรที่จะให้กับคนอื่น ๆ ได้อีกมาก.—ท่านผู้ประกาศ 11:7, 8
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 ดูกรอบ “ความทรงจำที่มีค่าหรืออุปสรรคต่อการฟื้นตัว?” ในหน้า 12.
^ วรรค 16 คำแนะนำเพิ่มเติมในเรื่องการช่วยเหลือที่ใช้ได้จริงสำหรับคนที่สูญเสียผู้เป็นที่รักดูได้จากจุลสารเมื่อคนที่คุณรักเสียชีวิต หน้า 20-25 ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[คำโปรยหน้า 11]
เพื่อนแท้จะอยู่พร้อมและให้การช่วยเหลือต่อ ๆ ไป
[กรอบ/ภาพหน้า 12]
ความทรงจำที่มีค่าหรืออุปสรรคต่อการฟื้นตัว?
เฮเลน ซึ่งสามีเสียชีวิตไปได้ไม่กี่ปีบอกว่า “ฉันเก็บข้าวของของสามีเอาไว้เยอะมาก. ฉันรู้สึกว่าเมื่อเวลาผ่านไปของเหล่านั้นทำให้ฉันระลึกถึงความทรงจำเก่า ๆ ที่ทำให้มีความสุข. ฉันไม่อยากทิ้งอะไรไปในทันทีเพราะเมื่อเวลาผ่านไปความรู้สึกของฉันก็อาจเปลี่ยนไปได้มาก.”
ตรงกันข้าม โคลด ซึ่งภรรยาเสียชีวิตไปมากกว่าห้าปีแล้วกล่าวว่า “สำหรับผมแล้ว ผมไม่อยากเห็นข้าวของของเธอเพราะจะทำให้ผมคิดถึงเธอตลอดเวลา. ผมคิดว่าการทิ้งของของเธอไปช่วยให้ผมยอมรับความจริงได้และช่วยให้หายโศกเศร้าได้ง่ายขึ้น.”
คำพูดข้างต้นของทั้งสองคนแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ยังอยู่อาจเลือกจัดการกับข้าวของของผู้ตายในวิธีที่แตกต่างกัน. ฉะนั้น เพื่อนและญาติที่สุขุมจะไม่พยายามยัดเยียดความคิดของตนในเรื่องนี้ให้กับผู้ที่สูญเสียคู่สมรส.—กาลาเทีย 6:2, 5
[ภาพหน้า 9]
มีวันสำคัญใด ๆ ไหมที่เพื่อนอาจต้องการความช่วยเหลือจากคุณมากเป็นพิเศษ?
[ภาพหน้า 9]
อย่าลืมชวนเขาออกไปข้างนอก
[ภาพหน้า 10]
เชิญพ่อม่ายหรือแม่ม่ายทำกิจกรรมหรือพักผ่อนหย่อนใจด้วยกัน