แนวคิดที่เปลี่ยนไปในเรื่องบาป
แนวคิดที่เปลี่ยนไปในเรื่องบาป
“แนวคิดที่ว่าคนเรามีบาปติดตัวมาแต่กำเนิดเพราะความผิดที่พ่อแม่คู่แรกได้ทำไว้ไม่อยู่ในความคิดของคนในปัจจุบัน. และแม้แต่ความสำนึกต่อบาปก็ไม่มีเช่นกัน. . . . คนอย่างอะดอล์ฟ ฮิตเลอร์และโจเซฟ สตาลิน อาจได้ทำบาป แต่พวกเราที่เหลือเป็นเหยื่อผู้รับเคราะห์.”—เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล
คำกล่าวที่ยกมานี้แสดงให้เห็นว่าทุกวันนี้แนวคิดในเรื่องบาปกำลังจะหมดไป. เพราะเหตุใด? ผู้คนมีความคิดเปลี่ยนไปอย่างไรในเรื่องนี้? และแนวคิดเช่นไรในเรื่องบาปที่ผู้คนทุกวันนี้ต่อต้าน?
มีแนวคิดสองอย่างในเรื่องบาป คือบาปที่ติดตัวมาแต่กำเนิดกับบาปที่คนเราทำ. อย่างแรกเป็นบาปที่เราได้รับมาไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ ส่วนอย่างที่สองเป็นบาปที่เราก่อขึ้นเอง. ให้เราพิจารณาแต่ละอย่างโดยละเอียด.
เรามีบาปติดตัวมาแต่กำเนิดจริงหรือ?
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าบาปหรือความบกพร่องทางศีลธรรมของพ่อแม่คู่แรกส่งผลมาถึงมนุษย์ทุกคน. ด้วยเหตุนั้น เราทุกคนจึงเกิดมาพร้อมกับความไม่สมบูรณ์. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “การอธรรมทุกอย่างเป็นบาป.”—1 โยฮัน 5:17
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้คนมากมายที่ไปโบสถ์ แนวคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีบาปติดตัวมาแต่กำเนิดเนื่องจากความผิดที่เกิดขึ้นนานมาแล้วซึ่งตัวเขาเองไม่ได้มีส่วนร่วมและไม่ใช่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจเข้าใจหรือยอมรับได้. เอดเวิร์ด โอกส์ ศาสตราจารย์ด้านเทววิทยากล่าวว่า ปฏิกิริยาของผู้คนต่อหลักคำสอนเรื่องบาปคือ “บางคนรู้สึกอับอาย, บางคนก็ปฏิเสธตรง ๆ, หรืออย่างน้อยก็มีบางคนยอมรับคำสอนนี้อยู่บ้าง แต่ไม่ได้ให้หลักคำสอนนี้มีผลกระทบชีวิตของเขา.”
เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่ายากที่จะยอมรับว่าคนเรามีบาปติดตัวมาแต่กำเนิดก็คือสิ่งที่คริสตจักรต่าง ๆ สอนในเรื่องนี้. ตัวอย่างเช่น ในการประชุมสังคายนาที่เมืองเทรนต์ (ปี 1545-1563) คริสตจักรได้ประณามใครก็ตามที่ปฏิเสธว่าทารกแรกเกิดไม่จำเป็นต้องรับบัพติสมาเพื่อจะหลุดพ้นจากบาป. พวกนักเทววิทยากล่าวว่า ถ้าเด็กทารกตายไปโดยที่ไม่ได้รับบัพติสมา บาปที่ยังไม่ได้ชำระจะทำให้เด็กไม่ได้ไปพบกับพระเจ้าในสวรรค์ตลอดกาล. แคลวินถึงกับสอนว่า ทารก ‘นำบาปโทษของตนเองติดตัวไปจากครรภ์มารดา.’ เขายืนยันว่าลักษณะเช่นนั้นของทารกเป็นที่ ‘ชิงชังรังเกียจสำหรับพระเจ้า.’
โดยธรรมชาติผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าทารกเกิดใหม่เป็นสิ่งมีชีวิตที่บริสุทธิ์สะอาด ดังนั้น ความคิดที่ว่าทารกเหล่านี้จะต้องรับโทษเนื่องจากบาปที่ติดตัวมาแต่กำเนิดจึงขัดกับความรู้สึกตามธรรมชาติของมนุษย์. เราจึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมคำสอนเช่นนั้นของโบสถ์จึงทำให้ผู้คนไม่เชื่อในเรื่องบาปที่ตกทอดมาจากพ่อแม่คู่แรก. ที่จริง ผู้นำของโบสถ์บาง *
คนไม่กล้าตัดสินให้ทารกที่ยังไม่ได้รับบัพติสมาตกนรก. สำหรับพวกเขา ชะตากรรมสุดท้ายของทารกเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาทางเทววิทยา. แม้ว่าจะไม่เคยเป็นหลักข้อเชื่อของคริสตจักร แต่คริสตจักรคาทอลิกได้สอนต่อกันมาหลายร้อยปีว่า วิญญาณของผู้บริสุทธิ์ที่ยังไม่ได้รับบัพติสมาจะอยู่ในลิมโบซึ่งเป็นดินแดนที่ปราศจากมนุษย์.เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้คนเชื่อเรื่องบาปที่ติดตัวมาแต่กำเนิดน้อยลงคือการที่นักปรัชญา, นักวิทยาศาสตร์, และนักเทววิทยาในศตวรรษที่ 19 ได้เริ่มตั้งข้อสงสัยว่าบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลควรได้รับการยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์หรือไม่. ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินทำให้คนมากมายรู้สึกว่าเรื่องอาดามและฮาวาเป็นนิยายปรัมปรา. ผลก็คือผู้คนมากมายในทุกวันนี้ถือว่าคัมภีร์ไบเบิลสะท้อนความคิดและความเชื่อของผู้เขียนมากกว่าจะเป็นการเปิดเผยของพระเจ้า.
ทัศนะเช่นนี้ส่งผลเช่นไรต่อคำสอนเรื่องบาปที่ติดตัวมาแต่กำเนิด? เห็นได้ชัดว่า ถ้าคนที่ไปโบสถ์ถูกชักจูงให้เชื่อว่าอาดามและฮาวาไม่เคยมีชีวิตอยู่จริง พวกเขาย่อมลงความเห็นตามหลักเหตุผลว่า ไม่เคยมีการทำบาปในตอนเริ่มต้นของมนุษย์. แม้แต่สำหรับคนที่เต็มใจยอมรับว่ามนุษย์มีบาปอยู่ในตัว แนวคิดนี้ถูกลดความสำคัญลงกลายเป็นเพียงคำอธิบายว่าเหตุใดมนุษย์จึงไม่สมบูรณ์.
ถ้าแนวคิดเรื่องบาปที่ติดตัวมาแต่กำเนิดไม่เป็นที่ยอมรับ แล้วจะว่าอย่างไรกับแนวคิดเรื่องบาปที่ก่อขึ้นเองซึ่งพระเจ้าก็ไม่พอพระทัยเช่นกัน?
การทำเช่นนี้เป็นบาปจริง ๆ หรือ?
เมื่อถามผู้คนว่าพวกเขาคิดว่าอะไรคือบาป หลายคนคิดถึงบัญญัติสิบประการซึ่งห้ามไม่ให้ฆ่าคน, เล่นชู้, ละโมบ, มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน, ขโมย, และอื่น ๆ. คริสตจักรต่าง ๆ สอนสืบต่อกันมาว่าใครก็ตามที่ตายไปโดยไม่ได้กลับใจจากบาปเหล่านี้จะต้องถูกทรมานในไฟนรกตลอดกาล. *
เพื่อจะไม่ต้องประสบกับชะตากรรมเช่นนั้น คริสตจักรคาทอลิกจึงเรียกร้องให้ผู้คนสารภาพบาปกับบาทหลวง ซึ่งพวกเขาอ้างว่ามีอำนาจที่จะล้างบาปได้. อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวคาทอลิกส่วนใหญ่ พิธีสารภาพบาป, ล้างบาป, และชดใช้โทษบาปกลายเป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว. ตัวอย่างเช่น การสำรวจความเห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงว่า ชาวคาทอลิกในอิตาลีมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์เลิกสารภาพบาปแล้ว.
เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่คริสตจักรสอนต่อ ๆ กันมาเกี่ยวกับบาปที่คนเราก่อขึ้นและผลที่ตามมานั้นไม่ได้ช่วยให้ผู้คนเลิกทำบาป. หลายคนที่ไปโบสถ์ไม่เชื่ออีกต่อไปว่าการกระทำเหล่านั้นผิด. ตัวอย่างเช่น บางคนหาเหตุผลว่า ถ้าผู้ใหญ่สองคนยินยอมมีเพศสัมพันธ์กันและไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน จะเสียหายตรงไหน?
ที่ผู้คนหาเหตุผลเช่นนั้นอาจเป็นเพราะว่าในส่วนลึกแล้วพวกเขาไม่เชื่อว่าแนวคิดเกี่ยวกับบาปที่ถูกสอนมานั้นเป็นความจริง. ที่จริง หลายคนรู้สึกว่ายากที่จะเชื่อว่าพระเจ้าผู้มีความรักจะทรมานคนบาปตลอดกาลในนรกได้. และบางทีความรู้สึกเช่นนั้นอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ผู้คนดูเหมือนแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับ “บาป” อีกต่อไป. แต่ยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีกที่ทำให้ผู้คนสูญเสียความสำนึกในเรื่องบาป.
การปฏิเสธค่านิยมที่เคยยึดถือกันมา
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามศตวรรษที่ผ่านมาทำให้สังคม และความคิดจิตใจของผู้คนเปลี่ยนไปมาก. สงครามโลกสองครั้ง, สงครามย่อยอีกนับครั้งไม่ถ้วน, และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในหลายแห่งได้ทำให้ผู้คนสงสัยว่าค่านิยมที่เคยยึดถือกันมานั้นมีค่าอยู่หรือไม่. พวกเขาถามว่า ‘เป็นเรื่องที่มีเหตุผลแล้วหรือที่คนในยุคที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะดำเนินชีวิตโดยอาศัยมาตรฐานที่ตั้งขึ้นมานานหลายศตวรรษและห่างไกลจากความเป็นจริงของโลกสมัยใหม่อย่างสิ้นเชิง?’ นักเหตุผลนิยมและผู้ศึกษาด้านศีลธรรมหลายคนลงความเห็นว่าไม่มีเหตุผล. พวกเขาเชื่อว่าสังคมจำเป็นต้องสลัดโซ่ตรวนทางศีลธรรมบางอย่างรวมทั้งความเชื่อเรื่องโชคลางแล้วหันไปมุ่งเน้นเรื่องการศึกษาเพื่อจะพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่.
ความคิดเช่นนี้ทำให้ผู้คนหันหลังให้กับค่านิยมทางศีลธรรมที่ยึดถือกันมาอย่างสิ้นเชิง. ในหลายดินแดนทางยุโรป มีน้อยคนที่ไปโบสถ์. คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ และหลายคนโจมตีหลักข้อเชื่อของคริสตจักรต่าง ๆ อย่างเปิดเผยเพราะพวกเขาถือว่าเป็นเรื่องเหลวไหล. พวกเขาหาเหตุผลว่า ถ้ามนุษย์เป็นเพียงผลิตผลจากสิ่งแวดล้อมและจากการคัดเลือกของธรรมชาติอย่างที่วิวัฒนาการสอน ก็ไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องมาตรฐานทางศีลธรรมมิใช่หรือ?
สภาพหย่อนยานทางศีลธรรมที่มีอยู่ทั่วไปในโลกตะวันตกระหว่างศตวรรษที่ 20 ได้ทำให้เกิดหลายสิ่ง หนึ่งในนั้นคือสิ่งที่เรียกกันว่าการปฏิวัติทางเพศ. การประท้วงของนักศึกษา, ขบวนการต่อต้านวัฒนธรรม, และการใช้ยาคุมกำเนิด
อย่างแพร่หลายล้วนเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้คนปฏิเสธแนวคิดแบบดั้งเดิมในเรื่องความถูกต้องเหมาะสม. ไม่นานค่านิยมของคัมภีร์ไบเบิลก็ถูกปฏิเสธด้วย. คนรุ่นใหม่ได้รับเอาศีลธรรมแบบใหม่และมีทัศนคติแบบใหม่ในเรื่องบาป. นักเขียนคนหนึ่งกล่าวว่า ตั้งแต่นั้นมา “กฎเพียงข้อเดียวที่มีก็คือกฎแห่งความรัก” ซึ่งเห็นได้จากการที่คนมากมายยอมรับเพศสัมพันธ์แบบที่ผิดทำนองคลองธรรม.ศาสนาที่สอนแต่เรื่องที่ทำให้รู้สึกดี
วารสารนิวส์วีก พูดถึงสถานการณ์ทางศาสนาในสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมาว่า “นักเทศน์หลายคนที่กำลังแข่งกันเอาใจลูกค้ารู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถสอนอย่างอื่นได้.” พวกเขากลัวว่าถ้าเน้นเรื่องหลักศีลธรรมกับผู้ฟังมาก พวกเขาก็จะสูญเสียสมาชิก. ผู้คนไม่ต้องการได้ยินว่าควรปลูกฝังความถ่อมใจ, การมีวินัยกับตนเอง, และมีคุณธรรมหรือควรฟังสติรู้สึกผิดชอบที่รบกวนและกลับใจจากบาปต่าง ๆ. ดังนั้น โบสถ์หลายแห่งจึงสอนสิ่งที่ชิคาโก ซัน-ไทมส์ เรียกว่า “คำสอนคริสเตียนที่เยียวยาจิตใจ มุ่งเน้นประโยชน์และความพอใจส่วนตัว โดยไม่พูดถึงกิตติคุณอีกต่อไป.”
การคิดเช่นนี้ทำให้เกิดแนวคิดทางศาสนาที่นิยามคำว่าพระเจ้าในแบบของตนเอง และคริสตจักรที่ไม่ได้เน้นเรื่องพระเจ้ารวมทั้งสิ่งที่พระองค์ต้องการให้เราทำ แต่เน้นที่มนุษย์และการเพิ่มความภูมิใจในตนเอง. เป้าหมายเพียงอย่างเดียวก็เพื่อสนองความต้องการของสมาชิกในคริสตจักร. ผลก็คือเกิดศาสนาที่ปราศจากหลักคำสอน. เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล ถามว่า “อะไรเข้ามาแทนที่กฎทางศีลธรรมที่เคยเป็นศูนย์รวมชีวิตของคริสเตียน? นั่นก็คือหลักจริยธรรมที่เน้นเรื่องการผ่อนปรนและแสดงความเมตตาอย่างล้นเหลือ ซึ่งตามหลักจริยธรรมดังกล่าว ‘การเป็นคนดี’ เป็นข้ออ้างที่จะทำอะไร ๆ ก็ได้.”
ตามหลักเหตุผลแล้ว แนวคิดทั้งหมดนี้ทำให้เกิดทัศนคติที่ว่าศาสนาใด ๆ ที่ทำให้รู้สึกดีก็ดีทั้งนั้น. เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล ให้ข้อสังเกตว่า คนที่มีทัศนะเช่นนั้น “จะยอมรับความเชื่อทุกอย่างตราบใดที่ความเชื่อนั้นไม่ได้เรียกร้องให้เขาประพฤติตามหลักศีลธรรมแบบใดแบบหนึ่ง และให้การปลอบประโลมใจไม่ใช่พิพากษาตัดสิน.” ส่วนคริสตจักรต่าง ๆ ก็เต็มใจยอมรับผู้คน “อย่างที่พวกเขาเป็นจริง ๆ” โดยไม่ได้เรียกร้องให้ทำตามมาตรฐานทางศีลธรรมใด ๆ.
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คงทำให้ผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลนึกถึงคำพยากรณ์ที่อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ในศตวรรษที่หนึ่งสากลศักราช. ท่านกล่าวว่า “จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่พวกเขาจะไม่ยอมฟังคำสอนที่ก่อประโยชน์ แต่จะรวบรวมครูไว้มาก ๆ เพื่อให้สอนเรื่องที่พวกเขาชอบฟังตามที่พวกเขาต้องการ และพวกเขาจะเลิกฟังความจริงแล้วหันไปฟังเรื่องเท็จ.”—2 ติโมเธียว 4:3, 4
เมื่อผู้นำทางศาสนายอมให้กับการทำบาป, ปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับบาป, และสอนแต่สิ่งที่สมาชิกอยากฟังแทนที่จะสอนว่าคัมภีร์ไบเบิลบอกอะไร พวกเขากำลังทำให้ผู้คนได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง. คำสอนเช่นนั้นเป็นเรื่องเท็จและเป็นอันตราย. พวกเขากำลังบิดเบือนคำสอนพื้นฐานอย่างหนึ่งของศาสนาคริสเตียน. บาปและการให้อภัยเป็นแก่นของข่าวดีที่พระเยซูและอัครสาวกสอน. เพื่อจะเห็นว่าเป็นเช่นนั้นอย่างไร เชิญคุณอ่านบทความต่อไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 9 บางทีอาจเป็นเพราะลิมโบไม่ใช่คำสอนตามหลักพระคัมภีร์และทำให้ผู้คนสับสน ในช่วงหลังจึงมีการตัดคำสอนเรื่องนี้ออกจากคู่มือถามตอบของคาทอลิก. ดูกรอบ “คริสตจักรกลับคำ” ในหน้า 10.
^ วรรค 14 ความเชื่อเรื่องการทรมานในไฟนรกตลอดกาลไม่มีหลักฐานสนับสนุนจากคัมภีร์ไบเบิล. สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดดูบท 6 เรื่อง “คนตายแล้วไปไหน?” ในหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[คำโปรยหน้า 7]
ศาสนาที่สอนแต่เรื่องที่ทำให้รู้สึกดีก่อผลไม่ดีหลายอย่าง
[กรอบหน้า 6]
บาปน่ะหรือ? “ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเราอีกแล้ว”
▪ “อุปสรรคใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับคริสตจักรในปัจจุบันก็คือเรื่องนี้แหละ. เราไม่มองว่าเราเป็น ‘คนบาป’ ที่จำเป็นต้องได้รับการอภัยโทษอีกต่อไป. บางทีบาปอาจเคยเป็นปัญหา แต่ตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเราอีกแล้ว. ดังนั้น แม้ว่าคริสตจักรจะมีวิธีแก้ปัญหาเรื่องบาป แต่บาปไม่ได้เป็นปัญหาในสายตาของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร.”—จอห์น เอ. สตูเดเบเกอร์ จูเนียร์ นักเขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสนา
▪ “ผู้คนกล่าวว่า ‘ผมคาดหมายศีลธรรมที่ดีจากตัวเองและคนอื่น ๆ แต่ผมรู้ว่าเราเป็นเพียงมนุษย์ผมจึงพยายามทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้.’ เราพอใจกับศีลธรรมในระดับกลาง ๆ ซึ่งเราคิดว่าเราทำได้ดี. เราตัดหญ้าบริเวณบ้าน. เราไม่จอดรถซ้อนคัน. แต่เรากลับไม่สนใจเรื่องบาปซึ่งสำคัญกว่า.”—อัลเบิร์ต โมห์เลอร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยศาสนาของนิกายแบพติสต์ฝ่ายใต้
▪ “สังคมนิยมยกย่องสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยตำหนิ [เช่น สิ่งที่เรียกกันว่าบาปร้ายแรงเจ็ดประการ]: พ่อแม่สนับสนุนให้ลูกทะนงตัวเพื่อจะภูมิใจในตัวเอง; พ่อครัวชาวฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งร้องเรียนต่อสำนักวาติกันว่าการกินมาก ๆ ไม่บาป. ความอิจฉากระตุ้นผู้คนให้สนใจสื่อบันเทิงต่าง ๆ. ตัณหาถูกใช้เป็นกลยุทธ์ในการโฆษณา; ความโกรธเป็นเรื่องเหมาะสมเมื่อถูกทำให้เจ็บใจ. บางครั้งฉันก็อยากจะขี้เกียจบ้าง.”—แนนซี กิบส์ จากวารสารไทม์
[ภาพหน้า 5]
คนมากมายทุกวันนี้คิดว่าเรื่องอาดามและฮาวาเป็นนิยายปรัมปรา