ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณจะช่วยเพื่อนที่ป่วยได้อย่างไร?

คุณจะช่วยเพื่อนที่ป่วยได้อย่างไร?

คุณ​จะ​ช่วย​เพื่อน​ที่​ป่วย​ได้​อย่าง​ไร?

คุณ​เคย​รู้สึก​ไหม​ว่า​ไม่​รู้​จะ​พูด​อะไร​กับ​เพื่อน​ที่​ป่วย​หนัก? ขอ​ให้​มั่น​ใจ​ว่า​มี​วิธี​ที่​จะ​จัด​การ​กับ​เรื่อง​นี้. คุณ​จะ​ทำ​อย่าง​ไร? ไม่​มี​วิธี​ที่​ตาย​ตัว​ใน​เรื่อง​นี้. คุณ​อาจ​ต้อง​คำนึง​ถึง​ความ​แตกต่าง​ทาง​วัฒนธรรม. บุคลิกภาพ​ของ​แต่​ละ​คน​อาจ​แตกต่าง​กัน​มาก​ด้วย. ฉะนั้น สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​ผู้​ป่วย​คน​หนึ่ง​รู้สึก​ดี​อาจ​ไม่​เป็น​ผล​ดี​สำหรับ​ผู้​ป่วย​อีก​คน​หนึ่ง​ก็​ได้. อีก​ทั้ง​สภาพการณ์​และ​ความ​รู้สึก​อาจ​แตกต่าง​กัน​มาก​ใน​แต่​ละ​วัน.

ดัง​นั้น สิ่ง​สำคัญ​ที่​สุด​ที่​คุณ​ต้อง​ทำ​คือ​ลอง​นึก​ภาพ​ว่า​คุณ​เป็น​เขา​และ​พยายาม​คิด​ว่า​จริง ๆ แล้ว​เขา​ต้องการ​อะไร​และ​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​อะไร​บ้าง. คุณ​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร? ต่อ​ไป​นี้​เป็น​คำ​แนะ​นำ​บาง​ประการ​ซึ่ง​อาศัย​หลักการ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล.

เป็น​ผู้​ฟัง​ที่​ดี

หลักการ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล:

“ทุก​คน​ต้อง​ไว​ใน​การ​ฟัง ช้า​ใน​การ​พูด.”ยาโกโบ 1:19

“มี​เวลา . . . นิ่ง​เงียบ​และ​เวลา​พูด.”ท่าน​ผู้​ประกาศ 3:1, 7, ล.ม.

▪ เมื่อ​ไป​เยี่ยม​เพื่อน​ที่​ป่วย จง​ตั้งใจ​ฟัง​และ​แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ. อย่า​รีบ​ให้​คำ​แนะ​นำ​หรือ​รู้สึก​ว่า​คุณ​ต้อง​เสนอ​วิธี​แก้​ปัญหา​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง​ทุก​ครั้ง​ไป. ถ้า​คุณ​รีบ​เสนอ​ความ​คิด​เห็น คุณ​อาจ​พูด​อะไร​ที่​ทำ​ให้​เพื่อน​รู้สึก​ไม่​ดี​โดย​ไม่​ตั้งใจ​ก็​ได้. เพื่อน​ที่​ป่วย​อาจ​ไม่​ต้องการ​คำ​แนะ​นำ​เสมอ​ไป​แต่​ต้องการ​คน​ที่​เต็ม​ใจ​รับ​ฟัง​เขา.

ให้​เพื่อน​คุณ​ระบาย​ความ​รู้สึก​ออก​มา​อย่าง​เต็ม​ที่. อย่า​ขัด​จังหวะ​หรือ​ทำ​ให้​เรื่อง​ของ​เขา​เป็น​เรื่อง​เล็ก​น้อย​โดย​ใช้​คำ​พูด​อย่าง​ที่​ใคร ๆ มัก​พูด​กัน. เอมิลยู *บอก​ว่า “ผม​เป็น​โรค​เยื่อ​หุ้ม​สมอง​อักเสบ​และ​ใน​ที่​สุด​ตา​ก็​มอง​ไม่​เห็น. บาง​ครั้ง​ผม​รู้สึก​แย่​มาก เพื่อน ๆ พยายาม​ปลอบ​ใจ​ผม​โดย​บอก​ว่า ‘ไม่​ใช่​คุณ​คน​เดียว​ที่​มี​ปัญหา. ยัง​มี​คน​อื่น​ที่​เป็น​หนัก​กว่า​คุณ​อีก.’ แต่​พวก​เขา​ไม่​รู้​หรอก​ว่า​การ​พูด​เหมือน​กับ​ว่า​โรค​ที่​ผม​เป็น​อยู่​ไม่​ร้ายแรง​อะไร​ไม่​ได้​ช่วย​ให้​ผม​รู้สึก​ดี​ขึ้น​เลย. ตรง​กัน​ข้าม มัน​ทำ​ให้​ผม​รู้สึก​แย่​และ​ท้อ​แท้​ใจ.”

ปล่อย​ให้​เพื่อน​ได้​ระบาย​ความ​รู้สึก​ออก​มา​โดย​ไม่​ต้อง​กังวล​ว่า​คุณ​จะ​ตำหนิ​เขา. ถ้า​เขา​บอก​คุณ​ว่า​เขา​กลัว ก็​ให้​ยอม​รับ​ความ​รู้สึก​ของ​เขา​แทน​ที่​จะ​บอก​ว่า​ไม่​ต้อง​กลัว. เอ​เลีย​นา​ที่​กำลัง​ต่อ​สู้​กับ​โรค​มะเร็ง กล่าว​ว่า “เมื่อ​ฉัน​รู้สึก​กลุ้ม​ใจ​มาก​กับ​สภาพ​ที่​เป็น​อยู่​แล้ว​ร้องไห้​ออก​มา ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​ฉัน​ไม่​ไว้​วางใจ​พระเจ้า​อีก​ต่อ​ไป.” จง​ยอม​รับ​ความ​คิด​ความ​รู้สึก​ของ​เพื่อน ไม่​ใช่​พยายาม​ให้​เขา​คิด​อย่าง​ที่​คุณ​อยาก​ให้​เขา​คิด. จำ​ไว้​ว่า ตอน​นี้​เขา​อาจ​อ่อนไหว​กว่า​แต่​ก่อน​และ​ไม่​เหมือน​เดิม. จง​อด​ทน. จง​ฟัง​เขา​พูด​แม้​ว่า​คุณ​จะ​ต้อง​ฟัง​เรื่อง​เดิม​ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก. (1 กษัตริย์ 19:9, 10, 13, 14) เขา​อาจ​อยาก​ให้​คุณ​รู้​ว่า​เขา​กำลัง​ประสบ​อะไร​อยู่.

ร่วม​ความ​รู้สึก​และ​เห็น​อก​เห็น​ใจ

หลักการ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล:

“จง​ชื่นชม​ยินดี​กับ​ผู้​ที่​ชื่นชม​ยินดี จง​ร้องไห้​กับ​ผู้​ที่​ร้องไห้.”โรม 12:15

“สารพัด​สิ่ง​ที่​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ต้องการ​ให้​คน​อื่น​ทำ​ต่อ​เจ้า จง​ทำ​อย่าง​นั้น​ต่อ​เขา.”มัดธาย 7:12

▪ ลอง​นึก​ภาพ​ว่า​คุณ​อยู่​ใน​สภาพ​เดียว​กับ​เพื่อน​ที่​ป่วย. ถ้า​เขา​กำลัง​เตรียม​ตัว​ผ่าตัด, อยู่​ระหว่าง​การ​รักษา, หรือ​กำลัง​รอ​ฟัง​ผล​การ​ตรวจ เขา​อาจ​จะ​เครียด​และ​อารมณ์​แปรปรวน​ง่าย. จง​พยายาม​เข้าใจ​เขา​และ​ปรับ​ตัว​เพื่อ​รับมือ​กับ​อารมณ์​ขึ้น ๆ ลง ๆ ของ​เขา. นี่​คง​ไม่​ใช่​เวลา​ที่​จะ​ตั้ง​คำ​ถาม​มาก​เกิน​ไป โดย​เฉพาะ​เรื่อง​ส่วน​ตัว.

อันนา คาตาลีโฟซ จิตแพทย์​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “จง​ให้​โอกาส​ผู้​ป่วย​พูด​ถึง​ความ​เจ็บ​ป่วย​ของ​เขา แล้ว​แต่​ว่า​เขา​ต้องการ​พูด​เมื่อ​ไร​และ​ต้องการ​พูด​มาก​ขนาด​ไหน. เมื่อ​เขา​ต้องการ​คุย​ก็​คุย​กับ​เขา​ไม่​ว่า​เรื่อง​อะไร​ก็​ตาม. แต่​ตอน​ที่​เขา​ไม่​มี​อารมณ์​จะ​พูด คุณ​อาจ​นั่ง​เงียบ ๆ และ​การ​จับ​มือ​เขา​ไว้​ก็​อาจ​ช่วย​ได้​มาก​ที​เดียว. หรือ​คุณ​อาจ​เห็น​ว่า​ที่​เขา​ต้องการ​ก็​แค่​มี​คน​คอย​ปลอบ​เวลา​ร้องไห้.”

จง​เคารพ​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​ของ​ผู้​ป่วย. นัก​ประพันธ์​ชื่อ​โรซานน์ คาลิก​ซึ่ง​เคย​เป็น​มะเร็ง​มา​สอง​ครั้ง​แล้ว​เขียน​ว่า “อะไร​ก็​ตาม​ที่​เขา​พูด​กับ​คุณ​ให้​ถือ​ว่า​เป็น​ความ​ลับ​ไม่​ว่า​เขา​จะ​กำชับ​คุณ​หรือ​ไม่. อย่า​บอก​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​การ​ป่วย​ของ​เขา​ให้​คน​อื่น​รู้ เว้น​แต่​ว่า​ครอบครัว​ของ​เขา​จะ​ขอ​ให้​คุณ​เป็น​ผู้​ชี้​แจง​แทน. จง​ถาม​ผู้​ป่วย​ว่า​จะ​ให้​คน​อื่น​รู้​อะไร​ได้​บ้าง.” เอ็ด​สัน​ซึ่ง​รอด​จาก​โรค​มะเร็ง​กล่าว​ว่า “เพื่อน​คน​หนึ่ง​แพร่​ข่าว​ว่า​ผม​เป็น​มะเร็ง​และ​จะ​อยู่​ได้​อีก​ไม่​นาน. ก็​จริง ผม​เพิ่ง​ผ่าตัด​มา. ผม​รู้​ว่า​ผม​เป็น​มะเร็ง แต่​ผม​กำลัง​คอย​ผล​การ​ตรวจ​ชิ้น​เนื้อ. มะเร็ง​ยัง​ไม่​ได้​แพร่​กระจาย. แต่​ข่าว​ลือ​นั้น​สร้าง​ความ​เสียหาย​ไป​แล้ว. ภรรยา​ผม​ทุกข์​ใจ​มาก​เพราะ​คำ​พูด​และ​คำ​ถาม​ที่​ไม่​ระวัง​ของ​บาง​คน.”

ถ้า​เพื่อน​ของ​คุณ​กำลัง​ชั่ง​ดู​ว่า​จะ​เลือก​วิธี​รักษา​แบบ​ใด อย่า​ด่วน​พูด​ว่า​ถ้า​คุณ​เป็น​เขา​คุณ​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น​อย่าง​นี้. นัก​เขียน​ชื่อ​ลอรี โฮป​ซึ่ง​เคย​ป่วย​เป็น​มะเร็ง​บอก​ว่า “ก่อน​ที่​จะ​ส่ง​บทความ​หรือ​ข่าวสาร​ใด ๆ ไป​ให้​ผู้​ที่​เป็น​มะเร็ง​หรือ​เคย​เป็น​มะเร็ง นับ​ว่า​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​ถาม​ก่อน​ว่า​เขา​ต้องการ​รับ​ข้อมูล​เหล่า​นั้น​หรือ​ไม่. ไม่​อย่าง​นั้น เจตนา​ดี​ของ​คุณ​อาจ​เป็น​การ​ทำ​ร้าย​เพื่อน​โดย​ที่​คุณ​อาจ​ไม่​มี​ทาง​รู้​เลย.” ไม่​ใช่​ทุก​คน​ที่​ต้องการ​ได้​รับ​ข้อมูล​ข่าวสาร​มาก​มาย​เกี่ยว​กับ​วิธี​รักษา​ต่าง ๆ สำหรับ​โรค​ที่​เขา​เป็น​อยู่.

แม้​ว่า​คุณ​จะ​เป็น​เพื่อน​สนิท แต่​ก็​ไม่​ควร​เยี่ยม​นาน​เกิน​ไป. การ​ที่​คุณ​ไป​เยี่ยม​นั้น​เป็น​เรื่อง​ที่​ดี แต่​เพื่อน​ของ​คุณ​อาจ​ไม่​อยู่​ใน​อารมณ์​ที่​จะ​พูด​คุย​กับ​คุณ. เขา​อาจ​เหนื่อย​และ​ไม่​ค่อย​มี​แรง​พูด​หรือ​แม้​แต่​จะ​ฟัง​ใคร​พูด​นาน ๆ ด้วย​ซ้ำ. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง อย่า​ทำ​ให้​เขา​รู้สึก​ว่า​คุณ​รีบ​กลับ. เพื่อน​ของ​คุณ​ควร​ได้​เห็น​ว่า​คุณ​ห่วงใย​เขา​มาก​แค่​ไหน.

การ​แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ใช้​วิจารณญาณ​ที่​ดี​และ​มี​ความ​สมดุล. ตัว​อย่าง​เช่น ก่อน​ที่​จะ​เตรียม​อาหาร​ให้​เพื่อน​ที่​ป่วย​หรือ​แม้​แต่​เอา​ดอกไม้​ไป​เยี่ยม​เขา คุณ​อาจ​สอบ​ถาม​ก่อน​ว่า​เขา​แพ้​อะไร​ไหม. ถ้า​คุณ​ไม่​สบาย เช่น เป็น​หวัด คง​เป็น​การ​แสดง​ความ​รัก​ถ้า​คุณ​จะ​รอ​ให้​หาย​ดี​ก่อน​แล้ว​ค่อย​ไป​เยี่ยม​เพื่อน​ของ​คุณ.

ใช้​คำ​พูด​ที่​เสริม​สร้าง

หลักการ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล:

“ลิ้น​ของ​คน​มี​ปัญญา​ย่อม​รักษา​แผล​ให้​หาย.”สุภาษิต 12:18

“ให้​คำ​พูด​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​คำ​พูด​ที่​แสดง​ความ​กรุณา​เสมอ​เหมือน​อาหาร​ที่​ปรุง​ด้วย​เกลือ.”โกโลซาย 4:6

▪ ถ้า​คุณ​มี​ทัศนะ​ใน​แง่​บวก​เสมอ​เกี่ยว​กับ​เพื่อน​ที่​ป่วย คำ​พูด​และ​การ​กระทำ​ของ​คุณ​จะ​สะท้อน​ให้​เห็น​สิ่ง​นั้น. ให้​คิด​ว่า​เพื่อน​ของ​คุณ​ยัง​เป็น​คน​เดิม​และ​ยัง​มี​คุณลักษณะ​เดิม​ที่​ทำ​ให้​คุณ​อยาก​เป็น​เพื่อน​กับ​เขา​ใน​ตอน​แรก. จง​พูด​คุย​กับ​เขา​เหมือน​ตอน​ที่​เขา​ยัง​ไม่​ป่วย. หาก​คุณ​พูด​กับ​เพื่อน​เหมือน​กำลัง​พูด​กับ​ผู้​เคราะห์​ร้าย​ที่​ไม่​สามารถ​ช่วย​ตัว​เอง​ได้ ก็​อาจ​ทำ​ให้​เขา​เกิด​ความ​รู้สึก​สงสาร​ตัว​เอง. โรเบอร์ตา​ซึ่ง​ป่วย​เป็น​โรค​กระดูก​เนื่อง​จาก​กรรมพันธุ์​ที่​น้อย​คน​จะ​เป็น กล่าว​ว่า “ขอ​ให้​ปฏิบัติ​กับ​ฉัน​เหมือน​ฉัน​เป็น​คน​ปกติ. ถึง​ฉัน​จะ​พิการ แต่​ฉัน​ก็​มี​ความ​คิด​ความ​ต้องการ​ของ​ตัว​เอง. อย่า​มอง​ฉัน​ด้วย​ความ​สมเพช​เวทนา. อย่า​พูด​กับ​ฉัน​เหมือน​ว่า​ฉัน​เป็น​คน​ที่​ไม่​รู้​อะไร.”

จำ​ไว้​ว่า ไม่​เฉพาะ​สิ่ง​ที่​คุณ​พูด​เท่า​นั้น​ที่​สำคัญ​แต่​วิธี​ที่​คุณ​พูด​ก็​สำคัญ​ด้วย. แม้​แต่​น้ำ​เสียง​ของ​คุณ​ก็​อาจ​มี​ผล​ต่อ​ผู้​ป่วย. ไม่​นาน​หลัง​จาก​ที่​หมอ​วินิจฉัย​ว่า​เออร์เนสโต​เป็น​มะเร็ง เขา​ก็​ได้​รับ​โทรศัพท์​จาก​เพื่อน​คน​หนึ่ง​ที่​อยู่​ต่าง​ประเทศ​ซึ่ง​พูด​ว่า “ฉัน​ไม่​อยาก​จะ​เชื่อ​เลย​ว่า​นาย เป็น​มะเร็ง!” เออร์เนสโต​เล่า​ว่า “น้ำ​เสียง​ของ​เพื่อน​ที่​เน้น​คำ​ว่า ‘นาย’ และ ‘มะเร็ง’ ทำ​ให้​ผม​กลัว​ขึ้น​มา​ทันที.”

นัก​เขียน​ชื่อ​ลอรี โฮป ยก​ตัว​อย่าง​อีก​ว่า “การ​ถาม​ว่า ‘คุณ​เป็น​อย่าง​ไร​บ้าง?’ อาจ​ตี​ความ​ได้​หลาย​อย่าง. คำ​ถาม​นี้​อาจ​ทำ​ให้​ผู้​ป่วย​รู้สึก​ดี, ทำ​ให้​เจ็บใจ, หรือ​ทำ​ให้​รู้สึก​กลัว​ขึ้น​มา​ก็​ได้ ขึ้น​อยู่​กับ​วิธี​พูด, สี​หน้า​ท่า​ทาง, ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​กัน, ความ​สนิทสนม, และ​ที่​แน่ ๆ คือ จังหวะ​เวลา​ที่​ถาม.”

เพื่อน​ที่​ป่วย​ย่อม​ต้องการ​ให้​มี​คน​ห่วงใย, เข้าใจ, และ​นับถือ​เขา. ดัง​นั้น จง​ทำ​ให้​เขา​มั่น​ใจ​ว่า​เขา​เป็น​คน​ที่​มี​ความ​สำคัญ​ต่อ​คุณ​และ​คุณ​พร้อม​จะ​ช่วย​เขา​เสมอ. โรสแมรี ซึ่ง​ป่วย​เป็น​โรค​เนื้อ​งอก​ใน​สมอง​กล่าว​ว่า “สิ่ง​ที่​ให้​กำลังใจ​ฉัน​อย่าง​แท้​จริง​คือ​การ​ได้​ยิน​เพื่อน​พูด​ว่า​พวก​เขา​รัก​ฉัน​และ​อยู่​พร้อม​ที่​จะ​ช่วย​เสมอ​ไม่​ว่า​อะไร​จะ​เกิด​ขึ้น​ก็​ตาม.”—สุภาษิต 15:23; 25:11

พร้อม​จะ​ให้​ความ​ช่วยเหลือ

หลักการ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล:

“อย่า​ให้​เรา​รัก​ด้วย​ลมปาก​เท่า​นั้น แต่​ให้​รัก​ด้วย​การ​กระทำ​และ​ด้วย​ความ​จริง​ใจ.”1 โยฮัน 3:18

▪ เมื่อ​ถึง​ขั้น​ตอน​ที่​จะ​รับ​การ​รักษา ความ​จำเป็น​ของ​ผู้​ป่วย​อาจ​เปลี่ยน​ไป. แต่​ถึง​อย่าง​ไร​ก็​ยัง​ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ​อยู่. แทน​ที่​จะ​บอก​ว่า “ถ้า​มี​อะไร​ให้​ช่วย​ก็​โทร​มา​นะ” คุณ​ควร​เสนอ​ความ​ช่วยเหลือ​แบบ​เจาะจง. มี​หลาย​วิธี​ที่​คุณ​ทำ​ได้​เพื่อ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คุณ​ห่วงใย เช่น เสนอ​ช่วย​ทำ​งาน​ประจำ​วัน​ต่าง ๆ เป็น​ต้น​ว่า ทำ​อาหาร​ให้, ทำ​ความ​สะอาด, ซัก​ผ้า, รีด​ผ้า, ออก​ไป​ทำ​ธุระ​ให้, ซื้อ​ของ, และ​ขับ​รถ​พา​เขา​ไป​คลินิก​หรือ​โรง​พยาบาล​เพื่อ​รับ​การ​รักษา. จง​เป็น​คน​ที่​ไว้​ใจ​ได้​และ​ตรง​ต่อ​เวลา. จง​รักษา​คำ​พูด และ​ทำ​ตาม​สัญญา​เสมอ.—มัดธาย 5:37

นัก​ประพันธ์​โรซานน์ คาลิก​กล่าว​ว่า “แทน​ที่​จะ​ปล่อย​ให้​ผู้​ป่วย​จม​อยู่​ใน​โลก​ของ​ความ​เจ็บ​ป่วย นับ​ว่า​ดี​ที่​จะ​ช่วย​ให้​เขา​รู้สึก​เหมือน​คน​ปกติ ไม่​ว่า​เรา​จะ​ทำ​ได้​มาก​หรือ​น้อย​ก็​ตาม.” ซิลเวีย ซึ่ง​เคย​เป็น​มะเร็ง​มา​แล้ว​สอง​ครั้ง​เห็น​ด้วย​กับ​เรื่อง​นี้. เธอ​กล่าว​ว่า “การ​มี​เพื่อน​ผลัด​เปลี่ยน​กัน​ขับ​รถ​พา​ฉัน​ไป​อีก​เมือง​หนึ่ง​เพื่อ​รับ​การ​ฉาย​รังสี​ทำ​ให้​รู้สึก​ผ่อน​คลาย​และ​สบาย​ใจ​อย่าง​มาก! ระหว่าง​เดิน​ทาง เรา​พูด​คุย​กัน​หลาย​เรื่อง และ​หลัง​จาก​ฉาย​รังสี​แล้ว เรา​ก็​แวะ​ดื่ม​กาแฟ​ด้วย​กัน​เสมอ. นี่​ทำ​ให้​ฉัน​รู้สึก​กลับ​มา​เป็น​เหมือน​ปกติ​อีก.”

แต่​อย่า​คิด​ว่า​คุณ​รู้​ทุก​สิ่ง​ที่​เพื่อน​ต้องการ. คาลิก​แนะ​นำ​ว่า “จง​ถาม, ถาม, และ​ก็​ถาม.” และ​เธอ​พูด​เสริม​ว่า “ถ้า​คุณ​ต้องการ​ช่วย อย่า​ควบคุม​ไป​เสีย​ทุก​อย่าง. การ​ทำ​อย่าง​นั้น​อาจ​เป็น​ผล​เสีย​มาก​กว่า​ผล​ดี. ถ้า​คุณ​ไม่​ให้​เขา​ทำ​อะไร​เลย อาจ​เป็น​การ​บ่ง​บอก​ว่า​เขา​ไม่​สามารถ​จะ​ทำ​อะไร​ได้. เขา​ต้องการ​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​ยัง​มี​ความ​สามารถ​อยู่. เขา​ต้องการ​รู้สึก​ว่า​เขา​ยัง​ทำ​อะไร​ได้​อยู่. โปรด​ช่วย​เขา​ให้​ทำ​สิ่ง​ที่​เขา​ทำ​ได้.”

เพื่อน​ของ​คุณ​จำเป็น​ต้อง​รู้สึก​ว่า​เขา​ยัง​มี​ความ​สามารถ. อะดิลสัน ซึ่ง​ป่วย​เป็น​โรค​เอดส์​กล่าว​ว่า “เมื่อ​เรา​ป่วย​เรา​ไม่​อยาก​ถูก​กัน​ออก​ไป ราว​กับ​ว่า​ไม่​มี​ค่า​อะไร​หรือ​ไร้​ความ​สามารถ​อย่าง​สิ้นเชิง. เรา​อยาก​มี​ส่วน​ช่วย แม้​จะ​ทำ​ได้​เพียง​เล็ก​น้อย​ก็​ตาม. นับ​ว่า​ดี​มาก ๆ ที่​ได้​รู้สึก​ว่า​เรา​ยัง​สามารถ​ทำ​อะไร​ได้​อยู่! มัน​ทำ​ให้​เรา​อยาก​มี​ชีวิต​อยู่​ต่อ​ไป. ผม​ชอบ​คน​ที่​ปล่อย​ให้​ผม​ตัดสิน​ใจ แล้ว​ก็​นับถือ​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​ผม. การ​เป็น​ผู้​ป่วย​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​เรา​จะ​ทำ​หน้า​ที่​ของ​เรา​ให้​สำเร็จ​ไม่​ได้ เช่น การ​เป็น​พ่อ, เป็น​แม่, หรือ​เป็น​อะไร​ก็​ตาม.”

รักษา​การ​ติด​ต่อ​ไว้​เสมอ

หลักการ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล:

“มิตร​แท้​ย่อม​รัก​อยู่​ทุก​เวลา และ​เป็น​พี่​น้อง​ซึ่ง​เกิด​มา​เพื่อ​ยาม​ที่​มี​ความ​ทุกข์​ยาก.”—สุภาษิต 17:17, ล.ม.

▪ ถ้า​คุณ​ไม่​สามารถ​ไป​เยี่ยม​เพื่อน​ได้​เพราะ​อยู่​ไกล​หรือ​เนื่อง​จาก​สภาพการณ์​บาง​อย่าง คุณ​ก็​อาจ​โทรศัพท์​ไป​คุย​กับ​เขา, เขียน​การ์ด, หรือ​ส่ง​อีเมล. คุณ​จะ​เขียน​เรื่อง​อะไร​ได้​บ้าง? อลัน ดี. วูลเฟลต์​ที่​ปรึกษา​ด้าน​การ​รับมือ​กับ​ความ​โศก​เศร้า​ให้​คำ​แนะ​นำ​ว่า “จง​พูด​ถึง​เหตุ​การณ์​ใน​อดีต​ที่​คุณ​เคย​สนุก​ด้วย​กัน. จง​สัญญา​ว่า​คุณ​จะ​เขียน​มา​หา​เขา​อีก​เร็ว ๆ นี้ และ​ก็​ทำ​ตาม​สัญญา.”

อย่า​ลังเล​ที่​จะ​หนุน​ใจ​เพื่อน​ที่​ป่วย​เพราะ​กลัว​ว่า​จะ​พูด​อะไร​ที่​ไม่​ถูก​หรือ​ทำ​อะไร​ผิด. ใน​หลาย​กรณี เพียง​แค่​คุณ​อยู่​ข้าง ๆ เขา​ก็​ช่วย​ได้​มาก​แล้ว. ลอรี โฮป​เขียน​ใน​หนังสือ​ของ​เธอ​ว่า “เรา​ทุก​คน​ต่าง​ก็​พูด​และ​ทำ​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​คน​อื่น​เข้าใจ​ผิด​หรือ​ทำ​ให้​คน​อื่น​เจ็บ​ช้ำ​น้ำใจ​ได้​โดย​ไม่​ตั้งใจ. นั่น​ไม่​ใช่​ปัญหา. แต่​จะ​เป็น​ปัญหา​ถ้า​คุณ​กลัว​จน​ไม่​กล้า​ติด​ต่อ​กับ​คน​ที่​ต้องการ​คุณ​เหลือ​เกิน.”

เพื่อน​ที่​ป่วย​หนัก​อาจ​ต้องการ​คุณ​มาก​กว่า​เมื่อ​ก่อน. จง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คุณ​เป็น “มิตร​แท้.” ความ​พยายาม​ของ​คุณ​อาจ​ไม่​ได้​ทำ​ให้​เขา​หาย​ป่วย แต่​คุณ​อาจ​ช่วย​ให้​คน​ที่​คุณ​รัก​รับมือ​กับ​สภาพการณ์​ที่​ยาก​ลำบาก​นั้น​ได้​ง่าย​ขึ้น.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 บาง​ชื่อ​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.