กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว
ฉันจะผ่านปีแรกของการแต่งงานไปได้อย่างไร?
เขาพูด: “ผมไม่คิดเลยว่าผมกับภรรยาจะต่างกันมากขนาดนี้! เช่น ผมชอบตื่นเช้าแต่ภรรยาผมชอบนอนดึก. อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ของเธอก็ทำให้ผมงง! ไม่ใช่แค่นั้นนะ เวลาผมทำอาหารเธอก็จะติโน่นตินี่ โดยเฉพาะถ้าผมเอาผ้าเช็ดจานมาเช็ดมือ.”
เธอพูด: “สามีฉันเป็นคนไม่ค่อยพูด. แต่ฉันชินกับการอยู่ในครอบครัวที่ชอบพูดชอบคุย โดยเฉพาะเวลากินข้าวด้วยกัน. เวลาสามีฉันทำอาหาร เขาชอบเอาผ้าที่ใช้เช็ดจานไปเช็ดมือ! ฉันเห็นแล้วหงุดหงิดจริง ๆ! ทำไมพวกผู้ชายถึงเข้าใจยากอย่างนี้นะ? แล้วชีวิตสมรสจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร?”
ถ้าคุณเพิ่งแต่งงานใหม่ คุณเคยเจอปัญหาทำนองนี้ไหม? คุณรู้สึกไหมว่าจู่ ๆ คู่ของคุณก็มีข้อบกพร่องที่ไม่เคยมีในตอนที่คุณคบหาดูใจกัน? เนื่องจาก “คนที่แต่งงานก็จะทำให้ตัวเองลำบาก” ดังนั้น คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อลดความยุ่งยากลำบากเหล่านั้น?—1 โครินท์ 7:28
ประการแรก อย่าคิดว่าเพียงแค่คุณแต่งงานกัน คุณกับคู่สมรสก็จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องชีวิตสมรสในทันที. ตอนที่เป็นโสดคุณคงได้พัฒนาทักษะที่ดีหลายอย่างเพื่อจะเข้ากับคนอื่นได้ และในช่วงที่คุณคบหาดูใจกันคุณคงได้พัฒนาทักษะเหล่านี้มากขึ้น. แต่การแต่งงานจะเป็นการทดสอบความสามารถของคุณที่จะเข้ากับคนอื่นในอีกวิธีหนึ่ง และเปิดโอกาสให้คุณพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อีกด้วย. คุณจะทำผิดพลาดไหม? แน่นอน. แล้วคุณจะมีทักษะที่จำเป็นได้ไหม? ได้!
วิธีที่ดีที่สุดที่จะปรับปรุงทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งก็คือปรึกษาผู้ที่รู้เรื่องนั้นดี แล้วทำตามคำแนะนำของเขา. ผู้ที่รู้เรื่องชีวิตสมรสดีที่สุดก็คือพระยะโฮวาพระเจ้า. ที่จริง พระองค์ทรงเป็นผู้ที่สร้างเราให้มีความปรารถนาที่จะสมรส. (เยเนซิศ 2:22-24) ขอให้สังเกตว่าคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระองค์จะช่วยคุณอย่างไรให้เอาชนะปัญหาและพัฒนาทักษะที่คุณจำเป็นต้องมีเพื่อจะรักษาชีวิตสมรสให้ผ่านปีแรกและปีต่อ ๆ ไปได้.
ทักษะที่ 1. ปรึกษาหารือกัน
อะไรคือปัญหา?
สามีคนหนึ่งในญี่ปุ่นชื่อเคอิจิ *มักจะ ลืมไปว่าการตัดสินใจของเขามีผลกระทบต่อภรรยา. เขาเล่าว่า “ผมมักจะตอบรับคำเชิญโดยไม่ได้คุยกับภรรยาก่อน. แล้วตอนหลังถึงมารู้ว่าเธอไปไม่ได้.” แอลเลน สามีคนหนึ่งในออสเตรเลียบอกว่า “ผมรู้สึกว่าคนที่ปรึกษาภรรยาทุกเรื่องไม่ใช่ลูกผู้ชาย.” ภูมิหลังของเขาทำให้เขาคิดแบบนั้น. เช่นเดียวกับไดแอนซึ่งอยู่ในบริเตน. เธอบอกว่า “เมื่อฉันต้องการคำแนะนำฉันมักจะปรึกษาครอบครัวเสมอ. ดังนั้น ก่อนตัดสินใจเรื่องอะไรฉันมักจะถามครอบครัวแทนที่จะถามสามี.”
อะไรคือทางแก้?
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงถือว่าคู่สมรสเป็น “เนื้อหนังเดียวกัน.” (มัดธาย 19:3-6) ในสายพระเนตรของพระองค์ไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ ระหว่างมนุษย์ที่สำคัญยิ่งกว่าความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยา! เพื่อรักษาสายสมรสให้เข้มแข็งจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผย.
สามีและภรรยาสามารถเรียนหลายสิ่งจากการสังเกตวิธีที่พระยะโฮวาพระเจ้าสนทนากับอับราฮาม. ตัวอย่างเช่น ลองอ่านบทสนทนาซึ่งบันทึกที่เยเนซิศ 18:17-33. ขอให้สังเกตสามวิธีที่พระเจ้าทรงให้เกียรติแก่อับราฮาม. (1) พระยะโฮวาอธิบายว่าพระองค์ตั้งพระทัยจะทำอะไร. (2) พระองค์ฟังเมื่ออับราฮามแสดงความคิดเห็น. (3) พระยะโฮวายอมปรับเปลี่ยนวิธีการของพระองค์ให้เป็นไปตามที่อับราฮามต้องการเท่าที่เป็นไปได้. คุณจะทำแบบเดียวกันเมื่อปรึกษาหารือกับคู่สมรสได้อย่างไร?
ลองวิธีนี้: เมื่อพูดคุยกันในเรื่องที่มีผลกระทบต่อคุณทั้งสองคน (1) ให้อธิบายว่าคุณอยากทำอะไรโดยพูดแบบเสนอความคิดเห็น แทนที่จะบอกว่าคุณได้ตัดสินใจแล้วว่าจะทำอะไรหรือบังคับให้คู่สมรสทำตามความคิดเห็นของคุณ; (2) ถามความเห็นของคู่สมรสและยอมรับว่าเขามีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยกับคุณ; และ (3) แสดง ‘ให้เห็นว่าคุณเป็นคนมีเหตุผล’ โดยทำตามที่คู่ของคุณต้องการเมื่อเป็นไปได้.—ฟิลิปปอย 4:5
ทักษะที่ 2. พูดอย่างผ่อนหนักผ่อนเบา
อะไรคือปัญหา?
ภูมิหลังทางวัฒนธรรมหรือครอบครัวอาจทำให้คุณเป็นคนที่ชอบพูดตรง ๆ หรือพูดแบบขวานผ่าซาก. ตัวอย่างเช่น เลียมซึ่งอยู่ในยุโรปบอกว่า “ผมมาจากที่ที่ผู้คนคิดอะไรก็พูดออกมาตรง ๆ. ผมมักจะพูดตรงเกินไปทำให้ภรรยาอารมณ์เสียบ่อย ๆ. ผมต้องหัดพูดให้นุ่มนวลขึ้น.”
อะไรคือทางแก้?
อย่าคิดเอาเองว่าคู่ของคุณชอบวิธีพูดแบบที่คุณเคยชิน. (ฟิลิปปอย 2:3, 4) คำแนะนำที่ อัครสาวกเปาโลให้กับมิชชันนารีคนหนึ่งเป็นประโยชน์กับคนที่เพิ่งแต่งงานด้วย. ท่านกล่าวว่า “ทาสขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ควรทะเลาะวิวาท แต่ต้องสุภาพอ่อนโยนต่อทุกคน.” (2 ติโมเธียว 2:24) คำว่า “สุภาพอ่อนโยน” ในภาษากรีกดั้งเดิมอาจแปลได้ด้วยว่า “ผ่อนหนักผ่อนเบา.” คนที่ผ่อนหนักผ่อนเบาจะเข้าใจสถานการณ์และปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นด้วยความอ่อนโยนและไม่ทำให้เกิดความขุ่นเคือง.
ลองวิธีนี้: เมื่อคู่ของคุณทำให้คุณหงุดหงิดก็ให้คิดว่าคุณไม่ได้กำลังพูดกับคู่สมรสแต่พูดอยู่กับเพื่อนสนิทหรือนายจ้าง. คุณจะยังใช้น้ำเสียงหรือคำพูดแบบเดียวกันนั้นไหม? จากนั้น ให้คิดถึงเหตุผลที่คุณน่าจะพูดกับคู่สมรสอย่างให้เกียรติและสุภาพอ่อนโยนมากยิ่งกว่าที่คุณพูดกับเพื่อนหรือนายจ้าง.—โกโลซาย 4:6
ทักษะที่ 3. ปรับตัวให้เข้ากับบทบาทใหม่
อะไรคือปัญหา?
ตอนแรกสามีอาจจะแสดงความเป็นผู้นำแบบที่เข้มงวดเกินไป หรือภรรยาอาจไม่ชินกับการเสนอความคิดเห็นของตัวเองอย่างผ่อนหนักผ่อนเบา. ตัวอย่างเช่น อันโตนีโอสามีชาวอิตาลีบอกว่า “พ่อของผมแทบไม่เคยปรึกษาแม่เกี่ยวกับเรื่องในครอบครัวเลย. ดังนั้น เมื่อผมแต่งงานใหม่ ๆ ผมจึงปกครองครอบครัวเหมือนเป็นพระราชา.” เดบบีภรรยาคนหนึ่งในแคนาดาบอกว่า “ฉันชอบสั่งสามีให้เก็บของให้เป็นระเบียบเรียบร้อยกว่านี้. แต่ดูเหมือนนิสัยชอบบงการของฉันจะทำให้เขายิ่งดื้อไม่ยอมทำตาม.”
อะไรคือทางแก้สำหรับสามี?
สามีบางคนอาจคิดว่าคัมภีร์ไบเบิลสอนให้ภรรยาเชื่อฟังสามีแบบเดียวกับที่ลูกเชื่อฟังพ่อแม่. (โกโลซาย 3:20; 1 เปโตร 3:1) อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าสามีต้อง “ผูกพันใกล้ชิดกับภรรยา และทั้งสองจะเป็นเนื้อหนังเดียวกัน” แต่ไม่ได้กล่าวว่าพ่อแม่จะผูกพันกับลูกในลักษณะนั้นด้วย. (มัดธาย 19:5) พระยะโฮวาตรัสว่าภรรยาเป็นคู่เคียงของสามี. (เยเนซิศ 2:18) แต่พระองค์ไม่เคยตรัสว่าลูกเป็นคู่เคียงของพ่อแม่. ถ้า สามีปฏิบัติกับภรรยาเหมือนเป็นลูก เขากำลังแสดงความนับถือต่อการจัดเตรียมของพระเจ้าเรื่องการสมรสไหม?
ที่จริง พระคำของพระเจ้ากระตุ้นคุณให้ปฏิบัติต่อภรรยาเหมือนกับที่พระเยซูปฏิบัติต่อประชาคมคริสเตียน. คุณจะช่วยให้ภรรยานับถือคุณในฐานะผู้นำได้ง่ายขึ้นถ้า (1) คุณไม่คาดหมายว่าเธอต้องเชื่อฟังคุณในทันทีและเชื่อฟังอย่างครบถ้วน และ (2) คุณรักเธอเหมือนกับที่คุณรักตัวคุณเองแม้แต่ในยามที่เกิดปัญหา.—เอเฟโซส์ 5:25-29
อะไรคือทางแก้สำหรับภรรยา?
ขอให้ยอมรับว่าตอนนี้สามีคือผู้ที่พระเจ้าแต่งตั้งให้เป็นผู้นำของคุณ. (1 โครินท์ 11:3) ถ้าคุณให้ความนับถือต่อสามี คุณก็กำลังแสดงความนับถือต่อพระเจ้า. ถ้าคุณไม่ให้ความนับถือต่อเขาในฐานะผู้นำ คุณก็แสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วคุณรู้สึกอย่างไรต่อสามีและต่อพระเจ้ารวมถึงคำสอนของพระองค์ด้วย.—โกโลซาย 3:18
เมื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหา ให้พยายามคิดว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรแทนที่จะตำหนิสามี. ตัวอย่างเช่น ราชินีเอศเธระต้องการให้กษัตริย์อะหัศวะโรศผู้เป็นสามีจัดการกับความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น. แทนที่จะตำหนิสามี นางพูดอย่างผ่อนหนักผ่อนเบา. สามีก็รับฟังคำขอของนางและจัดการเรื่องราวให้ถูกต้องในที่สุด. (เอศเธระ 7:1-4; 8:3-8) สามีของคุณคงจะรักคุณมากขึ้นถ้า (1) คุณให้เวลาเขาได้เรียนรู้ที่จะทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวได้อย่างดี และ (2) คุณปฏิบัติต่อเขาด้วยความนับถือแม้แต่เมื่อเขาทำผิดพลาด.—เอเฟโซส์ 5:33
ลองวิธีนี้: แทนที่จะคิดว่าคู่ของคุณมีอะไรบ้างที่ควรปรับปรุง ให้คิดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ตัวคุณเองจำเป็นต้องปรับปรุง. สามีทั้งหลาย: เมื่อคุณทำให้ภรรยาอารมณ์เสียเพราะวิธีที่คุณแสดงความเป็นผู้นำหรือเพราะคุณไม่ได้แสดง ให้ถามภรรยาว่าคุณควรปรับปรุงตัวอย่างไรแล้วก็จดคำแนะนำของเธอไว้. ภรรยาทั้งหลาย: เมื่อสามีของคุณรู้สึกว่าคุณไม่ได้แสดงความนับถือต่อเขาอย่างที่ควร ให้ถามสามีว่าคุณควรปรับปรุงตัวอย่างไรแล้วก็ฟังคำแนะนำของเขา.
อย่าคาดหมายมากเกินไป
การรักษาชีวิตสมรสให้มีความสุขโดยไม่คาดหมายจากคู่สมรสมากเกินไปเป็นเหมือนกับการขี่จักรยาน. ตอนที่เริ่มหัดขี่คุณอาจจะล้มอยู่หลายครั้งจนกว่าจะมีความมั่นใจ. ทำนองเดียวกัน หลังจากแต่งงานใหม่ ๆ คุณอาจจะทำผิดพลาดเป็นครั้งคราวจนกว่าคุณจะรู้วิธีจัดการกับปัญหาในชีวิตสมรส.
จงมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ. อย่ามองว่าเรื่องที่คู่ของคุณเป็นห่วงเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่อย่าคิดมากเกินไปกับความผิดพลาดของตัวเอง บางทีคุณอาจหัวเราะให้กับความผิดพลาดนั้นได้. พยายามใช้ทุกโอกาสเพื่อทำให้คู่สมรสมีความสุขในช่วงปีแรกของการแต่งงาน. (พระบัญญัติ 24:5) เหนือสิ่งอื่นใด ขอให้นำคำแนะนำในพระคำของพระเจ้ามาใช้ในชีวิตสมรสของคุณ. ถ้าคุณทำเช่นนั้น ชีวิตสมรสของคุณก็จะมั่นคงมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป.
^ วรรค 9 บางชื่อเป็นชื่อสมมุติ.
ถามตัวเองว่า . . .
-
ฉันถือว่าคู่สมรสเป็นเพื่อนที่ไว้ใจและใกล้ชิดที่สุดไหม หรือฉันชอบปรึกษาคนอื่นมากกว่า?
-
ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ฉันได้ทำอะไรเป็นพิเศษบ้างไหมที่แสดงว่าฉันรักและนับถือคู่สมรส?