ทางแก้สำหรับปัญหาที่คู่สมรสบ่นกันบ่อย ๆ
ทางแก้สำหรับปัญหาที่คู่สมรสบ่นกันบ่อย ๆ
คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าชีวิตสมรสเป็นเรื่องง่าย. อัครสาวกเปาโลได้รับการดลใจจากพระเจ้าให้เขียนว่า คนที่แต่งงานจะต้องเจอกับ “ความยากลำบากในชีวิต.” (1 โครินท์ 7:28, พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับมาตรฐาน) แต่สามีภรรยาอาจทำอะไรได้หลายอย่างเพื่อลดปัญหาในชีวิตสมรสและทำให้คู่ของตนมีความสุขมากขึ้น. ให้เรามาพิจารณาปัญหาหกเรื่องที่คู่สมรสมักจะบ่นกัน และดูว่าการนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลมาใช้จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร.
1
สามีบ่นว่า:
“ผมกับภรรยาห่างเหินกันมากขึ้นทุกที.”
หลักการในคัมภีร์ไบเบิล:
“ตรวจดูให้แน่ใจว่าสิ่งไหนสำคัญกว่า.”—ฟิลิปปอย 1:10
สายสมรสเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตคุณ. คุณควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ก่อนเรื่องใด ๆ. ดังนั้น คุณน่าจะตรวจดูว่าตารางเวลาของคุณมีส่วนทำให้คุณมีปัญหากับคู่สมรสหรือไม่. อย่าปล่อยให้กิจวัตรและการงานในแต่ละวันมาเป็นเหตุให้คุณห่างเหินกัน. จริงอยู่ งานอาชีพและสภาพการณ์อื่น ๆ ที่เลี่ยงไม่ได้อาจทำให้คุณต้องแยกจากกันบ้างเป็นครั้งคราว. แต่ในเรื่องที่คุณสามารถควบคุม
ได้ เช่น การใช้เวลากับเพื่อนฝูงหรือการทำงานอดิเรก คุณก็ควรจะควบคุมมิใช่หรือ?อย่างไรก็ตาม คู่สมรสบางคู่อาจหมกมุ่นกับงานอาชีพหรือจงใจใช้เวลามากขึ้นกับงานอดิเรกเพื่อจะไม่ต้องอยู่กับคู่ของตน. คนเหล่านี้ไม่ได้ “ห่างเหินกัน” แต่พวกเขากำลังหนีปัญหา. ถ้าคุณหรือคู่ของคุณตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ คุณต้องค้นหาให้ได้ว่าปัญหาคืออะไรและพยายามแก้ไข. การให้เวลากับคู่สมรสเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะช่วยให้คุณทั้งสองสนิทสนมกันและ “เป็นเนื้อหนังอันเดียวกัน” ได้อย่างแท้จริง.—เยเนซิศ 2:24
ประสบการณ์ของผู้ที่นำคำแนะนำนี้ไปใช้: แอนดรูว์ * กับแทนจีคู่สมรสชาวออสเตรเลียแต่งงานมาสิบปีแล้ว. แอนดรูว์บอกว่า “ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าการทำงานอาชีพและการช่วยเหลืองานสังคมมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตสมรสได้. ดังนั้น ผมกับภรรยาจึงจัดเวลา ไว้พูดคุยกันและเผยความรู้สึกในใจออกมา.”
เดฟกับเจน ซึ่งอยู่ในสหรัฐและแต่งงานกันมา 22 ปี มักจะใช้เวลาทุกเย็นวันละครึ่งชั่วโมงพูดคุยกันว่าวันนั้นพวกเขาได้เจอเรื่องอะไรมาบ้างและคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น. เจนบอกว่า “นี่เป็นเวลาที่สำคัญมากและเราไม่ยอมให้กิจกรรมอื่นมาแทรกในช่วงเวลานี้.”
2
ภรรยาบ่นว่า:
“ฉันไม่ได้สิ่งที่ฉันต้องการอีกแล้วจากชีวิตสมรส.”
หลักการในคัมภีร์ไบเบิล:
“อย่าให้ใครทำอะไรเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่ให้ทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่นด้วย.”—1 โครินท์ 10:24
คนที่คิดแต่ว่าตนเองจะได้อะไร จากการสมรสจะไม่มีวันมีความสุขได้จริง ๆ ไม่ว่าจะแต่งงานใหม่อีกกี่ครั้งกี่หนก็ตาม. ชีวิตสมรสจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อทั้งสองมุ่งที่จะเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ. พระเยซูให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า “การให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”—กิจการ 20:35
ประสบการณ์ของผู้ที่นำคำแนะนำนี้ไปใช้: มารีอากับ
มาร์ตินซึ่งอยู่ในเม็กซิโกแต่งงานมา 39 ปีแล้ว. แต่ชีวิตสมรสของพวกเขาไม่ได้ราบรื่นเสมอ. พวกเขาจำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีปัญหากันอย่างรุนแรง. มารีอาเล่าว่า “ระหว่างที่เราทะเลาะกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ฉันก็พลั้งปากพูดกับมาร์ตินอย่างที่ไม่ให้ความนับถือ แล้วเขาก็โกรธมาก. ฉันพยายามอธิบายว่าฉันไม่ได้หมายความอย่างที่พูดจริง ๆ และที่พูดออกไปอย่างนั้นก็เพราะว่าฉันกำลังโมโห. แต่เขาก็ไม่ฟัง.” มาร์ตินบอกว่า “ตอนที่เรากำลังทะเลาะกัน ผมเริ่มคิดว่าเราคงอยู่ด้วยกันต่อไปไม่ได้อีกแล้ว และผมจะไม่พยายามประคับประคองชีวิตสมรสของเราอีกต่อไป.”มาร์ตินอยากได้ความนับถือ ส่วนมารีอาก็อยากได้ความเข้าใจ. แต่ไม่มีใครได้สิ่งที่ตัวเองต้องการเลย.
พวกเขาแก้ปัญหานี้อย่างไร? มาร์ตินบอกว่า “ผมพยายามสงบสติอารมณ์ และเราทั้งคู่ก็ตัดสินใจใช้คำแนะนำที่สุขุมในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการให้ความนับถือและแสดงความกรุณาต่อกัน. ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้รู้ว่าไม่ว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นสักกี่ครั้ง เราก็เอาชนะปัญหาเหล่านั้นได้ถ้าเราอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าและเอาคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้.”—ยะซายา 48:17, 18; เอเฟโซส์ 4:31, 32
3
ภรรยาบ่นว่า:
“สามีของฉันไม่ทำสิ่งที่เขาควรทำ.”
หลักการในคัมภีร์ไบเบิล:
“เราแต่ละคนจะต้องให้การเรื่องของตัวเองต่อพระเจ้า.”—โรม 14:12
เป็นความจริงที่ว่าชีวิตสมรสจะไม่ประสบความสำเร็จถ้ามีเพียงฝ่ายเดียวที่พยายามทำหน้าที่ของตน. แต่จะแย่ยิ่งกว่านั้นอีกถ้าทั้งสองฝ่ายละเลยหน้าที่และต่างก็โทษว่าอีกฝ่ายหนึ่งบกพร่อง.
ถ้าคุณเอาแต่คิดว่าคู่ของคุณควรทำอะไร คุณก็ทำให้ตัวเองจมอยู่ในความทุกข์. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณยกข้อบกพร่องของคู่สมรสมาเป็นข้ออ้างเพื่อจะไม่ทำหน้าที่รับผิดชอบของตนเอง. ตรงกันข้าม ถ้าคุณพยายามเป็นสามีหรือภรรยาที่ดี ชีวิตสมรสของคุณก็คงจะดีขึ้น. (1 เปโตร 3:1-3) สำคัญยิ่งกว่านั้น คุณได้พิสูจน์ว่าคุณนับถือการจัดเตรียมของพระเจ้าเรื่องการสมรส และสิ่งที่คุณทำนั้นจะทำให้พระองค์พอพระทัยอย่างยิ่ง.—1 เปโตร 2:19
ประสบการณ์ของผู้ที่นำคำแนะนำนี้ไปใช้: คิมกับสามีซึ่งอยู่ในเกาหลีแต่งงานมา 38 ปีแล้ว. คิมบอกว่า “บางครั้งสามีก็รำคาญฉันและไม่ยอมพูดด้วย ซึ่งฉันไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร. พอเขาทำอย่างนี้ ฉันเลยรู้สึกว่าความรักที่เขามีต่อฉันจืดจางไปแล้ว. บางครั้งฉันก็คิดว่า ‘เขาอยากให้ฉันเข้าใจเขา แต่ทำไมเขาไม่พยายามจะเข้าใจฉันบ้าง?’ ”
คิมอาจคิดก็ได้ว่านี่ไม่ยุติธรรมเลยและคิดถึงแต่สิ่งที่สามีไม่ได้ทำ. แต่เธอไม่ได้คิดเช่นนั้น. คิมบอกว่า “แทนที่จะรู้สึกโมโห ฉันเรียนรู้ว่าการเริ่มเข้าไปพูดกับเขาก่อนเป็นวิธีที่ดีที่สุด. แล้วในที่สุดเราทั้งคู่ก็สามารถสงบใจลงและปรับความเข้าใจกันได้.”—ยาโกโบ 3:18
4
สามีบ่นว่า:
“ภรรยาของผมไม่ยอมเชื่อฟัง.”
หลักการในคัมภีร์ไบเบิล:
“พระคริสต์ทรงเป็นประมุขของผู้ชายทุกคน.”—1 โครินท์ 11:3
สามีที่รู้สึกว่าภรรยาไม่เชื่อฟังควรสำรวจดูตัวเองก่อนว่าเขาเต็มใจเชื่อฟังพระเยซูคริสต์ผู้เป็นประมุขของเขาหรือไม่. สามีจะแสดงให้เห็นว่าเขาเชื่อฟังได้โดยทำตามแบบอย่างของพระเยซู.
อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “สามีทั้งหลาย จงรักภรรยาเสมออย่างที่พระคริสต์ทรงรักประชาคมและได้สละพระองค์เองเพื่อประชาคม.” (เอเฟโซส์ 5:25) พระเยซูไม่ “ทำตัวเป็นนายเหนือ” เหล่าสาวก. (มาระโก 10:42-44) พระองค์ให้คำสั่งที่ชัดเจนแก่สาวกและปรับความคิดของพวกเขาเมื่อเห็นว่าจำเป็น. แต่พระองค์ไม่เคยดุว่า ทั้งยังกรุณาต่อพวกเขาและคำนึงถึงข้อจำกัดของพวกเขาด้วย. (มัดธาย 11:29, 30; มาระโก 6:30, 31; 14:37, 38) พระองค์ให้ผลประโยชน์ของพวกเขามาก่อนเสมอ.—มัดธาย 20:25-28
สามีต้องถามตัวเองว่า ‘ทัศนะที่ผมมีต่อผู้หญิงและการเป็นประมุขครอบครัวได้รับอิทธิพลจากอะไรมากกว่ากัน ระหว่างธรรมเนียมในท้องถิ่นกับคำแนะนำและตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิล?’ ตัวอย่างเช่น คุณรู้สึกอย่างไรกับผู้หญิงที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของสามีและคัดค้านอย่างหนักแน่นแต่ก็แสดงความนับถือ? ในคัมภีร์ไบเบิล ซาราห์ภรรยาของอับราฮามถือว่าเป็นตัวอย่างของภรรยาที่ยอมเชื่อฟังสามี. (1 เปโตร 3:1, 6) แต่เมื่อเห็นว่าจำเป็น ซาราห์ไม่ลังเลที่จะบอกให้รู้ว่าเธอคิดอย่างไร เช่น ตอนที่อับราฮามมองไม่เห็นปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นในครอบครัว.—เยเนซิศ 16:5; 21:9-12
เห็นได้ชัดว่า อับราฮามไม่ได้เป็นสามีที่ชอบข่มขู่จนซาราห์ไม่กล้าพูดอะไรเลย. ท่านไม่ใช่ประมุขที่เผด็จการ. ทำนองเดียวกัน สามีที่ทำตามคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลจะไม่บังคับขู่เข็ญภรรยาหรือเรียกร้องให้ภรรยาเชื่อฟังตนในทุกเรื่อง. เขาจะได้รับความนับถือจากภรรยาถ้าเขาเป็นประมุขที่มีความเห็นอกเห็นใจ.
ประสบการณ์ของผู้ที่นำคำแนะนำนี้ไปใช้: เจมส์ซึ่งอยู่ในอังกฤษและแต่งงานมาแปดปีแล้วบอกว่า “ผมตั้งใจว่าจะไม่ตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ โดยไม่ปรึกษาภรรยาก่อน. ผมพยายามจะไม่คิดถึงแต่ตัวเองเท่านั้น. แทนที่จะทำอย่างนั้น ผมตั้งใจว่าจะให้ความต้องการของภรรยามาก่อนเสมอ.”
จอร์จอาศัยอยู่ในสหรัฐและแต่งงานมา 59 ปีแล้ว. เขาบอกว่า “ผมพยายามจะไม่ทำให้ภรรยารู้สึกว่าเธอต่ำต้อยแต่จะปฏิบัติกับเธอเหมือนเป็นเพื่อนคู่คิดที่เฉลียวฉลาดและมีความสามารถ.”—สุภาษิต 31:10
5
ภรรยาบ่นว่า:
“สามีของฉันไม่ทำหน้าที่ผู้นำ.”
หลักการในคัมภีร์ไบเบิล:
“สตรีที่มีปัญญาทุกคนย่อมก่อสร้างบ้านเรือนของตนขึ้น; แต่ผู้ที่โฉดเขลาย่อมรื้อบ้านลงด้วยมือตนเอง.”—สุภาษิต 14:1
ถ้าสามีของคุณไม่กล้าตัดสินใจหรือไม่เป็นผู้นำในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ในครอบครัว คุณมีทางเลือกอย่างน้อยสามทาง. (1) คุณอาจพร่ำบ่นในเรื่องที่เขาบกพร่อง หรือ (2) คุณอาจทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวเสียเอง หรือ (3) คุณอาจชมเชยเขาด้วยความจริงใจเมื่อเขาพยายามจะทำหน้าที่ผู้นำ. ถ้าคุณเลือกข้อใดข้อหนึ่งในสองข้อแรก คุณก็ทำให้บ้านของคุณพังลงด้วยมือของคุณเอง. แต่ถ้าคุณเลือกข้อสามคุณจะช่วยเสริมสร้างสายสมรสให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น.
ผู้ชายหลายคนถือว่าความนับถือสำคัญยิ่งกว่าความรัก. ดังนั้น ถ้าคุณทำให้สามีรู้สึกว่าคุณนับถือเขา โดยทำให้เขารู้สึกว่าคุณเห็นค่าความพยายามของเขาในการทำหน้าที่ประมุขและครอบครัวก็ได้รับประโยชน์อย่างมาก สามีของคุณก็คงจะพัฒนาบทบาทของตนให้ดียิ่งขึ้น. จริงอยู่ อาจมีบางเรื่องที่คุณไม่เห็นพ้องกับสามี. เมื่อเป็นเช่นนั้น คุณทั้งสองต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน. (สุภาษิต 18:13) แต่ถ้อยคำและน้ำเสียงที่คุณใช้อาจทำให้สายสมรสแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นหรือขาดสะบั้นลงก็ได้. (สุภาษิต 21:9; 27:15) การพูดด้วยความนับถือทำให้มีโอกาสมากกว่าที่สามีของคุณจะเป็นประมุขครอบครัวที่กล้าตัดสินใจอย่างที่คุณต้องการ.
ประสบการณ์ของผู้ที่นำคำแนะนำนี้ไปใช้: มิเชล ซึ่งอยู่ในสหรัฐและแต่งงานมา 30 ปีบอกว่า “แม่เลี้ยงดูฉันและน้องสาวสองคนโดยไม่มีสามีคอยช่วยเหลือ ท่านจึงเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง. ฉันเองก็มีนิสัยคล้าย ๆ กับแม่. ดังนั้น ฉันจึงต้องคอยเตือนตัวเองให้เชื่อฟังสามีเสมอ. ตัวอย่างเช่น ฉันพยายามปรึกษาสามีก่อนแทนที่จะตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเอง.”
เรเชลอยู่ในออสเตรเลียและแต่งงานกับมาร์กมา 21 ปีแล้ว. เธอเป็นอีกคนหนึ่งที่โตขึ้นมาในครอบครัวที่มีปัญหา. เธอเล่าว่า “แม่ของฉันไม่เคยยอมลงให้พ่อเลย. พวกท่านมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำและไม่ได้แสดงความนับถือต่อกัน. ในช่วงปีแรก ๆ ที่แต่งงาน ฉันก็ทำตัวไม่ต่างกับแม่ของฉัน. แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ฉันได้เรียนรู้ว่าการทำตามคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่ให้แสดงความนับถือต่อกันช่วยได้มากจริง ๆ. ตอนนี้ฉันกับมาร์กมีความสุขมากกว่าแต่ก่อนหลายเท่า.”
6
ภรรยาบ่นว่า:
“ฉันทนนิสัยที่น่ารำคาญของเขาไม่ไหวแล้ว.”
หลักการในคัมภีร์ไบเบิล:
“จงทนกันและกันเรื่อยไปและให้อภัยกันอย่างใจกว้างถ้าใครมีเหตุจะบ่นว่าผู้อื่น.”—โกโลซาย 3:13
ตอนแรก ๆ ที่คุณคบกัน คุณมักจะมองแต่คุณลักษณะที่ดีของคู่รักจนแทบไม่เห็นข้อบกพร่องของเขาเลย. ตอนนี้คุณจะทำเหมือนเมื่อก่อนได้ไหม? ไม่ต้องสงสัยว่าคู่สมรสของ
คุณคงมีข้อบกพร่องที่เป็นเหตุให้คุณบ่นว่าได้. แต่ขอให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันควรเลือกมองอะไร ข้อดีหรือข้อเสียของคู่สมรส?’พระเยซูใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบที่กระตุ้นใจเพื่อแสดงว่าเราจำเป็นต้องมองข้ามข้อบกพร่องของผู้อื่น. พระองค์ถามว่า “เหตุใดเจ้าจึงมองดูเศษฟางในตาพี่น้องของเจ้า แต่ไม่มองท่อนไม้ในตาของเจ้าเอง?” (มัดธาย 7:3) เศษฟางคือหญ้าเส้นเล็ก ๆ. ส่วนท่อนไม้ที่กล่าวถึงในข้อนี้คือไม้ท่อนยาวที่ใช้ทำคานหลังคา. พระเยซูชี้จุดสำคัญอะไร? พระองค์บอกว่า “จงเอาท่อนไม้ออกจากตาเจ้าเองก่อน แล้วเจ้าจึงจะมองเห็นชัดว่าจะเอาเศษฟางออกจากตาของพี่น้องเจ้าอย่างไร.”—มัดธาย 7:5
ก่อนจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบนั้น พระเยซูได้ให้คำเตือนที่น่าคิดข้อหนึ่ง. พระองค์ตรัสว่า “จงเลิกตัดสินผู้อื่นเพื่อเจ้าทั้งหลายจะไม่ถูกตัดสิน เพราะเจ้าทั้งหลายตัดสินผู้อื่นอย่างไร เจ้าจะถูกตัดสินอย่างนั้น.” (มัดธาย 7:1, 2) ถ้าคุณอยากให้พระเจ้ามองข้ามข้อบกพร่องซึ่งเปรียบเหมือนท่อนไม้ในตาของคุณ คุณก็ต้องพยายามอย่างจริงจังที่จะมองข้ามข้อบกพร่องของคู่สมรส.—มัดธาย 6:14, 15
ประสบการณ์ของผู้ที่นำคำแนะนำนี้ไปใช้: เจนนี ซึ่งอยู่ในอังกฤษและแต่งงานกับไซมอนมาเก้าปีแล้วบอกว่า “นิสัยของสามีที่ทำให้ฉันหงุดหงิดมากที่สุดคือเขาไม่ค่อยวางแผนล่วงหน้าและชอบทำอะไรในนาทีสุดท้าย. น่าขันจริง ๆ ที่ฉันรู้สึกอย่างนั้น เพราะตอนที่เราคบกันฉันก็รักเขาตรงที่เขาชอบทำอะไรปุบปับนี่แหละ. แต่มาตอนนี้ฉันก็รู้ว่าตัวเองมีข้อบกพร่องเหมือนกัน อย่างเช่น เป็นคนชอบบงการคนอื่น. ฉันกับไซมอนพยายามจะมองข้ามข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของกันและกัน.”
เคิร์ต สามีของมิเชลที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “ถ้าคุณเพ่งมองนิสัยที่น่ารำคาญของคู่สมรส ข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ. แต่ผมมักจะนึกถึงคุณลักษณะที่ดี ๆ ของมิเชลที่ทำให้ผมหลงรักเธอในตอนแรก.”
เคล็ดลับของชีวิตคู่ที่ประสบความสำเร็จ
ตัวอย่างต่าง ๆ ที่ยกมานี้แสดงให้เห็นว่าในชีวิตสมรสอาจมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างที่ไม่อาจเลี่ยงได้ แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าจะแก้ไข. อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ประสบความสำเร็จ? คุณต้องพัฒนาความรักที่มีต่อพระเจ้าและเต็มใจทำตามคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์.
อะเลกซ์กับอิโทฮังซึ่งอยู่ที่ไนจีเรียและแต่งงานมานานกว่า 20 ปีได้พบเคล็ดลับดังกล่าว. อะเลกซ์กล่าวว่า “ผมพบว่าปัญหายุ่งยากแทบทุกเรื่องในชีวิตสมรสแก้ไขได้ถ้าคู่สมรสเอาหลักการในคัมภีร์ไบเบิลมาใช้.” ภรรยาของเขากล่าวว่า “เราได้มาเข้าใจว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะอธิษฐานด้วยกันเป็นประจำ และทำตามคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่ให้เรารักและอดทนต่อกันด้วยความจริงใจ. ตอนนี้เรามีปัญหาน้อยกว่าตอนที่เพิ่งแต่งงานกันด้วยซ้ำ.”
คุณอยากเรียนรู้มากขึ้นไหมว่าคำแนะนำที่ดีในพระคำของพระเจ้าจะเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวของคุณอย่างไร? ถ้าอย่างนั้น ขอเชิญคุณติดต่อกับพยานพระยะโฮวาเพื่อพวกเขาจะอธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมจากบท 14 ของหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? *
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 10 บางชื่อเป็นชื่อสมมุติ.
^ วรรค 63 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 4]
เราให้เวลากันและกันไหม?
[ภาพหน้า 5]
ผมพยายามจะเป็นฝ่ายให้มากกว่าฝ่ายรับไหม?
[ภาพหน้า 6]
ฉันจะเป็นฝ่ายพูดกับเขาก่อนได้ไหม?
[ภาพหน้า 7]
ผมถามความเห็นของภรรยาก่อนตัดสินใจไหม?
[ภาพหน้า 9]
ฉันพยายามมองเฉพาะคุณสมบัติที่ดีของสามีไหม?