ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การพิจารณาคดีที่น่าอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์

การพิจารณาคดีที่น่าอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์

การ​พิจารณา​คดี​ที่​น่า​อัปยศ​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์

มี​เพียง​ไม่​กี่​คดี​ใน​อดีต​ที่​โด่งดัง​เท่า​กับ​คดี​นี้. บันทึก​ใน​หนังสือ​กิตติคุณ​ทั้ง​สี่​เล่ม​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​เล่า​เรื่อง​การ​จับ​กุม การ​พิจารณา​คดี และ​การ​ประหาร​ชีวิต​พระ​เยซู​คริสต์​อย่าง​ละเอียด. ทำไม​คุณ​ควร​สนใจ​เรื่อง​นี้? ประการ​แรก เนื่อง​จาก​พระ​เยซู​สั่ง​สาวก​ให้​ระลึก​ถึง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระองค์ ฉะนั้น การ​พิจารณา​คดี​ซึ่ง​นำ​ไป​สู่​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​จึง​เป็น​เรื่อง​สำคัญ. ประการ​ที่​สอง เรา​ควร​รู้​ว่า​เรื่อง​ต่าง ๆ ที่​ยก​ขึ้น​มา​กล่าวหา​พระ​เยซู​เป็น​ความ​จริง​หรือ​ไม่. และ​ประการ​ที่​สาม การ​ที่​พระ​เยซู​ยอม​สละ​ชีวิต​ของ​พระองค์​เป็น​เครื่อง​บูชา​มี​ความ​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​ต่อ​เรา​และ​อนาคต​ของ​เรา.—ลูกา 22:19; โยฮัน 6:40

ใน​สมัย​ที่​มี​การ​พิจารณา​คดี​พระ​เยซู ปาเลสไตน์​อยู่​ใต้​อำนาจ​การ​ปกครอง​ของ​โรม. ชาว​โรมัน​ยอม​ให้​ผู้​นำ​ศาสนา​ยิว​ใน​ท้องถิ่น​ตัดสิน​คดีความ​ระหว่าง​ชาว​ยิว​ด้วย​กัน​ได้​โดย​อาศัย​กฎหมาย​ของ​พวก​เขา​เอง แต่​ดู​เหมือน​ว่า​ไม่​ให้​อำนาจ​พวก​เขา​ตัดสิน​ประหาร​ชีวิต​อาชญากร. ด้วย​เหตุ​นี้ พระ​เยซู​จึง​ถูก​ผู้​นำ​ศาสนา​ชาว​ยิว​ซึ่ง​เป็น​ศัตรู​จับ​กุม​แต่​ถูก​ประหาร​ชีวิต​โดย​พวก​โรมัน. งาน​ประกาศ​สั่ง​สอน​ของ​พระองค์​ทำ​ให้​ผู้​นำ​ศาสนา​ยิว​ใน​สมัย​นั้น​อับอาย​ขายหน้า​อย่าง​มาก พวก​เขา​จึง​ตัดสิน​ว่า​พระ​เยซู​ต้อง​ตาย. เมื่อ​ศาสตราจารย์​ด้าน​กฎหมาย​คน​หนึ่ง​ได้​วิเคราะห์​ความ​พยายาม​ของ​คน​เหล่า​นี้​ที่​คิด​กำจัด​พระ​เยซู เขา​ถึง​กับ​เรียก​แผนการ​ทั้ง​หมด​ว่า “อาชญากรรม​ที่​โหด​ร้าย​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​หลัก​นิติ​ศาสตร์.” *

การ​พิจารณา​คดี​ที่​ผิด​หลัก​กฎหมาย

กล่าว​กัน​ว่า พระ​บัญญัติ​ที่​โมเซ​ถ่ายทอด​แก่​ชาว​อิสราเอล​นั้น​เป็น “ระบบ​กฎหมาย​ที่​ดี​ที่​สุด​และ​ทัน​สมัย​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​มี​การ​ประกาศ​ใช้​มา.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​สมัย​พระ​เยซู​พวก​รับบี​ที่​เคร่งครัด​ใน​เรื่อง​หยุมหยิม​ได้​เพิ่ม​กฎ​อีก​มาก​มาย​เข้า​กับ​กฎหมาย​ที่​บัญญัติ​ไว้​ใน​พระ​คัมภีร์ และ​ต่อ​มา​กฎ​เหล่า​นี้​หลาย​ข้อ​ได้​ถูก​บันทึก​ไว้​ใน​หนังสือ​ทัลมุด. (ดู​กรอบ  “กฎหมาย​ยิว​ใน​ศตวรรษ​แรก ๆ” หน้า 20.) การ​พิจารณา​คดี​พระ​เยซู​เป็น​ไป​ตาม​หลัก​เกณฑ์​ของ​พระ​คัมภีร์​และ​ตาม​หลัก​กฎหมาย​ที่​พวก​รับบี​เพิ่ม​เข้า​มา​ไหม?

ก่อน​การ​จับ​กุม​พระ​เยซู มี​พยาน​สอง​ปาก​ให้​การ​ต่อ​ศาล​ตรง​กัน​ว่า​พระองค์​ทำ​ผิด​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง​ไหม? การ​จับ​กุม​ที่​ถูก​ต้อง​ตาม​กฎหมาย​ควร​เป็น​เช่น​นั้น. ใน​ปาเลสไตน์​สมัย​ศตวรรษ​แรก หาก​ชาว​ยิว​คน​หนึ่ง​คิด​ว่า​มี​ผู้​ทำ​ผิด​กฎหมาย เขา​ต้อง​ไป​ยื่น​ฟ้อง​ต่อ​ศาล​ใน​เวลา​ที่​ศาล​เปิด​พิจารณา​คดี​ตาม​ปกติ. ศาล​ไม่​สามารถ​ยื่น​ฟ้อง​ได้​เอง แต่​มี​หน้า​ที่​ดำเนิน​การ​ไต่สวน​ความ​ผิด​ตาม​ที่​มี​การ​ยื่น​ฟ้อง. ผู้​ที่​จะ​ฟ้องร้อง​ได้​มี​เพียง​พยาน​ที่​เห็น​เหตุ​การณ์​เท่า​นั้น. การ​พิจารณา​คดี​จะ​มี​ขึ้น​ก็​ต่อ​เมื่อ​มี​พยาน​อย่าง​น้อย​สอง​ปาก​ให้​การ​ตรง​กัน. คำ​ให้​การ​ของ​พยาน​สอง​ปาก​ประกอบ​กัน​เป็น​ข้อ​กล่าวหา​ที่​จะ​นำ​ไป​สู่​การ​จับ​กุม. คำ​ให้​การ​ของ​พยาน​เพียง​ปาก​เดียว​ใช้​เป็น​ข้อ​กล่าวหา​ไม่​ได้. (พระ​บัญญัติ 19:15) แต่​ใน​กรณี​ของ​พระ​เยซู หัวหน้า​ศาสนา​ชาว​ยิว​เพียง​แต่​หา “วิธี​ที่​แนบ​เนียน” เพื่อ​กำจัด​พระองค์. พระ​เยซู​ถูก​จับ​กุม​ใน​เวลา​ที่​พวก​เขา​เห็น​ว่า​เหมาะ ซึ่ง​ก็​คือ​ตอน​กลางคืน​และ “ใน​เวลา​ที่​ปลอด​คน.”—ลูกา 22:2, 5, 6, 53

ตอน​ที่​พระ​เยซู​ถูก​จับ​กุม พระองค์​ไม่​ได้​ถูก​ตั้ง​ข้อ​กล่าวหา​ใด ๆ. พวก​ปุโรหิต​และ​สภา​ซันเฮดริน​ซึ่ง​เป็น​ศาล​สูง​ของ​ชาว​ยิว​ได้​เริ่ม​หา​พยาน​หลัง​จาก​ที่​จับ​กุม​พระองค์​แล้ว. (มัดธาย 26:59) พวก​เขา​ไม่​สามารถ​หา​พยาน​สอง​ปาก​ที่​ให้​การ​ตรง​กัน​ได้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ศาล​ไม่​มี​หน้า​ที่​หา พยาน. และ​ตาม​คำ​กล่าว​ของ​เอ. เทย์เลอร์ อิน​เนส ทนาย​ความ​และ​นัก​เขียน “การ​พิจารณา​คดี​บุคคล​หนึ่ง​โดย​เฉพาะ​คดี​ที่​ถึง​ขั้น​ประหาร​ชีวิต​โดย​ไม่​มี​การ​แจ้ง​ให้​รู้​ก่อน​ว่า​เขา​ได้​ทำ​ผิด​อะไร ถือ​ว่า​เป็น​การ​กระทำ​ที่​โหด​เหี้ยม​จริง ๆ.”

ฝูง​ชน​ที่​จับ​กุม​พระ​เยซู​นำ​พระองค์​ไป​ยัง​บ้าน​ของ​อดีต​มหา​ปุโรหิต​อันนาส และ​เขา​ได้​เริ่ม​ไต่สวน​พระองค์. (ลูกา 22:54; โยฮัน 18:12, 13) อันนาส​ไม่​สนใจ​กฎ​ที่ว่าการ​พิจารณา​คดี​อาญา​ซึ่ง​มี​โทษ​ถึง​ตาย​จะ​ต้อง​ทำ​ใน​เวลา​กลางวัน​ไม่​ใช่​กลางคืน. ยิ่ง​กว่า​นั้น การ​พิจารณา​ไต่สวน​เพื่อ​หา​ข้อ​เท็จ​จริง​จะ​ต้อง​ทำ​ใน​ศาล​อย่าง​เปิด​เผย ไม่​ใช่​แอบ​ทำ​อย่าง​ลับ ๆ. เนื่อง​จาก​พระ​เยซู​ทราบ​ว่า​การ​สอบสวน​ของ​อันนาส​ไม่​ถูก​ต้อง​ตาม​กฎหมาย พระองค์​จึง​ตรัส​ว่า “เจ้า​ถาม​เรา​ทำไม? จง​ถาม​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ได้​ฟัง​เรา​พูด. พวก​เขา​รู้​ว่า​เรา​พูด​อะไร.” (โยฮัน 18:21) อันนาส​ควร​ซัก​ถาม​พยาน​ไม่​ใช่​จำเลย. คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​อาจ​กระตุ้น​ผู้​พิพากษา​ที่​รัก​ความ​เป็น​ธรรม​ให้​เคารพ​หลักการ​พิจารณา​คดี​ที่​ถูก​ต้อง แต่​อันนาส​ไม่​สนใจ​เรื่อง​ความ​ยุติธรรม.

หลัง​จาก​พระ​เยซู​ตรัส​เช่น​นั้น พระองค์​ก็​ถูก​เจ้าหน้าที่​คน​หนึ่ง​ตบ​พระ​พักตร์ แต่​นั่น​ไม่​ใช่​การ​กระทำ​ที่​รุนแรง​เพียง​อย่าง​เดียว​ที่​พระองค์​ต้อง​เผชิญ​ใน​คืน​นั้น. (ลูกา 22:63; โยฮัน 18:22) กฎหมาย​เกี่ยว​กับ​เมือง​คุ้ม​ภัย​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​หนังสือ​อาฤธโม​บท 35 ระบุ​ว่า ผู้​ถูก​กล่าวหา​จะ​ต้อง​ได้​รับ​การ​คุ้มครอง​ไม่​ให้​ถูก​ทำ​ร้าย​จน​กว่า​จะ​มี​การ​ตัดสิน​ว่า​เขา​มี​ความ​ผิด​จริง. พระ​เยซู​ก็​สม​ควร​ได้​รับ​การ​คุ้มครอง​เช่น​นั้น​ด้วย.

จาก​นั้น ผู้​จับ​กุม​ได้​นำ​ตัว​พระ​เยซู​ไป​ที่​บ้าน​ของ​เคยาฟัส​มหา​ปุโรหิต ซึ่ง​การ​พิจารณา​คดี​อย่าง​ผิด​กฎหมาย​ใน​ตอน​กลางคืน​ได้​ดำเนิน​ต่อ​ไป. (ลูกา 22:54; โยฮัน 18:24) ณ ที่​นั่น พวก​ปุโรหิต​ได้​ท้าทาย​หลัก​ความ​ยุติธรรม​ทั้ง​ปวง​โดย​หา “พยาน​เท็จ​มา​ปรักปรำ​พระ​เยซู​เพื่อ​จะ​ได้​ประหาร​พระองค์” แต่​ก็​ไม่​มี​พยาน​สอง​ปาก​ที่​ให้​การ​ตรง​กัน​เกี่ยว​กับ​คำ​พูด​ของ​พระ​เยซู. (มัดธาย 26:59; มาระโก 14:56-59) ดัง​นั้น มหา​ปุโรหิต​จึง​พยายาม​ทำ​ให้​พระ​เยซู​พูด​สิ่ง​ที่​จะ​มัด​ตัว​พระองค์​เอง. เขา​ถาม​พระองค์​ว่า “เจ้า​ไม่​โต้​ตอบ​อะไร​หรือ? เจ้า​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​ที่​คน​เหล่า​นี้​ให้​การ​ปรักปรำ​เจ้า?” (มาระโก 14:60) กลวิธี​นี้​ผิด​หลัก​กฎหมาย​โดย​สิ้นเชิง. อิน​เนส ทนาย​ความ​ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “การ​ตั้ง​คำ​ถาม​ให้​จำเลย​ตอบ และ​คอย​จ้อง​จับ​ผิด​คำ​ตอบ​ของ​เขา​เป็น​การ​ละเมิด​หลัก​ความ​ยุติธรรม.”

ใน​ที่​สุด พวก​เขา​เจอ​ข้อ​ที่​จะ​เอา​ผิด​พระ​เยซู​ได้. เมื่อ​พวก​เขา​ถาม​ว่า “เจ้า​เป็น​พระ​คริสต์​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​ผู้​สม​ควร​ได้​รับ​การ​สรรเสริญ​ใช่​หรือ​ไม่?” พระ​เยซู​ตอบ​ว่า “เรา​คือ​ผู้​นั้น และ​พวก​เจ้า​จะ​เห็น​บุตร​มนุษย์​นั่ง​ด้าน​ขวา​พระ​หัตถ์​ของ​พระองค์​ผู้​ทรง​ฤทธิ์​และ​จะ​เห็น​ท่าน​มา​ใน​เมฆ​บน​ท้องฟ้า.” พวก​ปุโรหิต​ถือ​ว่า​คำ​ตอบ​ของ​พระ​เยซู​เป็น​การ​หมิ่น​ประมาท​พระเจ้า และ “พวก​เขา​ทั้ง​หมด​ตัดสิน​ให้​พระองค์​รับ​โทษ​ถึง​ตาย.”—มาระโก 14:61-64 *

พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​ระบุ​ไว้​ว่า​การ​พิจารณา​คดี​จะ​ต้อง​ทำ​อย่าง​เปิด​เผย​ต่อ​หน้า​สาธารณชน. (พระ​บัญญัติ 16:18; ประวัตินางรูธ 4:1) แต่​การ​พิจารณา​คดี​พระ​เยซู​กลับ​ทำ​อย่าง​ลับ ๆ. ไม่​มี​ใคร​พยายาม​หรือ​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​พูด​แก้​ต่าง​แทน​พระ​เยซู. ไม่​มี​การ​ตรวจ​สอบ​ว่า​พระ​เยซู​มี​คุณสมบัติ​เป็น​พระ​มาซีฮา​อย่าง​ที่​พระองค์​ตรัส​หรือ​ไม่. พระ​เยซู​ไม่​มี​โอกาส​หา​พยาน​มา​สู้​คดี และ​ไม่​มี​การ​ให้​คณะ​ผู้​พิพากษา​ลง​มติ​ตาม​ระเบียบ​เพื่อ​ตัดสิน​ชี้ขาด​ว่า​พระองค์​เป็น​ผู้​กระทำ​ผิด​หรือ​เป็น​ผู้​บริสุทธิ์.

ให้​การ​ต่อ​หน้า​ปีลาต

เนื่อง​จาก​ดู​เหมือน​ว่า​ชาว​ยิว​ไม่​มี​อำนาจ​ตัดสิน​ประหาร​ชีวิต​พระ​เยซู พวก​เขา​จึง​นำ​ตัว​พระองค์​ไป​หา​ปอนติอุส ปีลาต ผู้​ว่า​ราชการ​ชาว​โรมัน. คำ​ถาม​แรก​ของ​ปีลาต​คือ: “พวก​เจ้า​ฟ้อง​ชาย​ผู้​นี้​ด้วย​ข้อ​หา​อะไร?” เนื่อง​จาก​พวก​ยิว​รู้​ว่า​ข้อ​กล่าวหา​เท็จ​เรื่อง​การ​หมิ่น​ประมาท​พระเจ้า​ที่​พวก​เขา​ตั้ง​ขึ้น​ไม่​ใช่​เรื่อง​สำคัญ​สำหรับ​ปีลาต พวก​เขา​จึง​พยายาม​จะ​ให้​ปีลาต​ตัดสิน​ลง​โทษ​พระ​เยซู​โดย​ไม่​ต้อง​สอบสวน. พวก​เขา​พูด​ว่า “ถ้า​คน​นี้​ไม่​ได้​ทำ​ผิด พวก​เรา​คง​ไม่​ส่ง​ตัว​เขา​มา​ให้​ท่าน.” (โยฮัน 18:29, 30) ปีลาต​ไม่​ยอม​ทำ​ตาม​ที่​พวก​ยิว​เรียก​ร้อง พวก​เขา​จึง​ต้อง​หา​ข้อ​กล่าวหา​ใหม่​ซึ่ง​ก็​คือ: “พวก​เรา​เห็น​ว่า​คน​นี้​บ่อน​ทำลาย​ชาติ ห้าม​คน​เสีย​ภาษี​แก่​ซีซาร์ และ​บอก​ว่า​ตัว​เขา​เป็น​พระ​คริสต์ กษัตริย์​องค์​หนึ่ง.” (ลูกา 23:2) และ​แล้ว​ข้อ​หา​หมิ่น​ประมาท​พระเจ้า​ก็​ถูก​เปลี่ยน​เป็น​ข้อ​หา​กบฏ​ได้​อย่าง​แยบยล.

ข้อ​กล่าวหา​ที่​ว่า “ห้าม​คน​เสีย​ภาษี” นั้น​ไม่​เป็น​ความ​จริง​และ​ผู้​ที่​กล่าวหา​พระ​เยซู​ก็​รู้​ดี. พระ​เยซู​ถึง​กับ​สอน​ให้​เสีย​ภาษี​ด้วย​ซ้ำ. (มัดธาย 22:15-22) สำหรับ​ข้อ​กล่าวหา​ที่​ว่า​พระ​เยซู​ตั้ง​ตัว​เป็น​กษัตริย์ ปีลาต​มอง​ออก​ทันที​ว่า​ชาย​ที่​ยืน​อยู่​ต่อ​หน้า​เขา​ไม่​เป็น​ภัย​ต่อ​โรม​อย่าง​แน่นอน. เขา​ประกาศ​ว่า “เรา​ไม่​เห็น​ว่า​เขา​มี​ความ​ผิด​อะไร.” (โยฮัน 18:38) ปีลาต​ยัง​ยืน​ยัน​คำ​พูด​นั้น​ตลอด​การ​พิจารณา​คดี.

ตอน​แรก​ปีลาต​พยายาม​หา​ทาง​ปล่อย​ตัว​พระ​เยซู​โดย​อาศัย​ธรรมเนียม​การ​ปล่อย​ตัว​นัก​โทษ​ใน​วัน​ปัศคา. แต่​สุด​ท้าย​ปีลาต​กลับ​ปล่อย​ตัว​บารับบัส​ซึ่ง​ถูก​จับ​ด้วย​ข้อ​หา​ปลุกระดม​และ​ฆ่า​คน.—ลูกา 23:18, 19; โยฮัน 18:39, 40

หลัง​จาก​นั้น ผู้​ว่า​ราชการ​โรมัน​คน​นี้​พยายาม​จะ​ปล่อย​ตัว​พระ​เยซู​อีก​ครั้ง​โดย​ใช้​วิธี​ประนีประนอม. เขา​สั่ง​ให้​เฆี่ยน​พระ​เยซู แล้ว​เอา​เสื้อ​คลุม​สี​ม่วง​กับ​มงกุฎ​หนาม​มา​สวม​ให้​พระองค์ จาก​นั้น​ก็​ตี​และ​เยาะเย้ย​พระองค์​อีก. เขา​ประกาศ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ว่า​พระ​เยซู​เป็น​ผู้​บริสุทธิ์. การ​ทำ​เช่น​นี้​ก็​เหมือน​กับ​ปีลาต​พูด​ว่า ‘ปุโรหิต​ทั้ง​หลาย แค่​นี้​พอ​ใจ​พวก​ท่าน​หรือ​ยัง?’ ปีลาต​อาจ​หวัง​ว่า​เมื่อ​ประชาชน​เห็น​ภาพ​คน​ที่​พวก​เขา​อยาก​แก้แค้น​ถูก​ทหาร​โรมัน​เฆี่ยน​ตี​อย่าง​ทารุณ​แล้ว พวก​เขา​ก็​น่า​จะ​พอ​ใจ​หรือ​เกิด​ความ​สงสาร​ขึ้น​มา​บ้าง. (ลูกา 23:22) แต่​ก็​ไม่​เป็น​เช่น​นั้น.

“ปีลาต​จึง​ยัง​คง​หา​ทาง​ปล่อย [พระ​เยซู] อยู่. แต่​พวก​ยิว​ตะโกน​ว่า ‘ถ้า​ท่าน​ปล่อย​คน​นี้ ท่าน​ก็​ไม่​ใช่​มิตร​ของ​ซีซาร์. ทุก​คน​ที่​ตั้ง​ตัว​เป็น​กษัตริย์​ก็​พูด​ต่อ​ต้าน​ซีซาร์.’ ” (โยฮัน 19:12) ซีซาร์​ใน​เวลา​นั้น​คือ​ทิเบริอุส. เขา​เป็น​จักรพรรดิ​ที่​ขึ้น​ชื่อ​ว่า​โหด​เหี้ยม​และ​มัก​จะ​ประหาร​ชีวิต​ใคร​ก็​ตาม​ที่​เขา​คิด​ว่า​ไม่​จงรักภักดี แม้​แต่​เจ้าหน้าที่​ระดับ​สูง​ก็​ไม่​เว้น. ปีลาต​ขัด​ใจ​พวก​ยิว​มา​มาก​พอ​แล้ว เขา​จึง​ไม่​อยาก​มี​เรื่อง​ขัด​แย้ง​กับ​พวก​ยิว​อีก ยัง​ไม่​ต้อง​พูด​ถึง​ข้อ​กล่าวหา​เรื่อง​ความ​ไม่​จงรักภักดี. คำ​พูด​ของ​ฝูง​ชน​เท่า​กับ​เป็น​การ​ข่มขู่​ซึ่ง​ทำ​ให้​ปีลาต​หวาด​กลัว. เขา​ยอม​แพ้​ต่อ​แรง​กดดัน​และ​สั่ง​ให้​นำ​ตัว​พระ​เยซู​ผู้​บริสุทธิ์​ไป​ตรึง​บน​เสา.—โยฮัน 19:16

วิเคราะห์​หลักฐาน

นัก​วิจารณ์​ด้าน​กฎหมาย​หลาย​คน​ได้​วิเคราะห์​เรื่อง​ราว​การ​พิจารณา​คดี​พระ​เยซู​ที่​บันทึก​ใน​หนังสือ​กิตติคุณ​สี่​เล่ม. พวก​เขา​ลง​ความ​เห็น​ว่า​การ​พิจารณา​คดี​ครั้ง​นี้​เป็น​ความ​ยุติธรรม​ที่​ลวง​โลก. ทนาย​ความ​คน​หนึ่ง​เขียน​ว่า “การ​พิจารณา​ครั้ง​นั้น​ซึ่ง​เริ่ม​ต้น สิ้น​สุด และ​ประกาศ​คำ​ตัดสิน​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ระหว่าง​เวลา​เที่ยง​คืน​จน​ถึง​ช่วง​เช้า นับ​ว่า​เป็น​การ​กระทำ​ที่​ขัด​กับ​แบบ​แผน​และ​กฎหมาย​ของ​ชาว​ฮีบรู​รวม​ทั้ง​หลัก​ความ​ยุติธรรม​อย่าง​สิ้นเชิง.” ศาสตราจารย์​ด้าน​กฎหมาย​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “กระบวนการ​ทั้ง​หมด​เต็ม​ไป​ด้วย​การ​กระทำ​ที่​ผิด​กฎหมาย​อย่าง​ร้ายแรง​และ​มี​ความ​ไม่​ชอบ​มา​พากล​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด​หลาย​ประการ จน​อาจ​ถือ​ได้​ว่า​ผล​การ​ตัดสิน​นั้น​ไม่​ต่าง​อะไร​กับ​การ​ใช้​กฎหมาย​เพื่อ​ฆ่า​คน.”

พระ​เยซู​เป็น​ผู้​บริสุทธิ์. แต่​พระองค์​รู้​ว่า​พระองค์​จำเป็น​ต้อง​สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​ช่วย​มนุษยชาติ​ที่​เชื่อ​ฟัง​ให้​รอด. (มัดธาย 20:28) พระองค์​ทรง​รัก​ความ​ยุติธรรม​มาก​จน​ถึง​กับ​ยอม​ถูก​พิจารณา​คดี​อย่าง​ไร้​ความ​ยุติธรรม​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​มี​มา. พระองค์​ยอม​เช่น​นั้น​ก็​เพื่อ​เห็น​แก่​คน​บาป​อย่าง​เรา. ขอ​เรา​อย่า ได้​ลืม​เรื่อง​นี้​เป็น​อัน​ขาด.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 3 การ​ที่​คริสต์​ศาสนจักร​ได้​ใช้​เรื่อง​ราว​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู​ใน​หนังสือ​กิตติคุณ​เพื่อ​ปลุก​กระแส​ต่อ​ต้าน​ชาว​ยิว​เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​ตำหนิ​อย่าง​ยิ่ง เพราะ​แนว​คิด​เช่น​นั้น​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​เจตนารมณ์​ของ​ผู้​เขียน​กิตติคุณ​ซึ่ง​พวก​เขา​เอง​ก็​เป็น​ชาว​ยิว.

^ วรรค 11 การ​หมิ่น​ประมาท​พระเจ้า​หมาย​ถึง การ​ออก​พระ​นาม​พระเจ้า​โดย​ไม่​ให้​ความ​นับถือ หรือ​อ้าง​ว่า​ตน​มี​อำนาจ​ซึ่ง​เป็น​ของ​พระเจ้า​แต่​เพียง​ผู้​เดียว. ผู้​กล่าวหา​พระ​เยซู​ไม่​มี​หลักฐาน​ที่​แสดง​ว่า​พระองค์​ได้​กระทำ​ความ​ผิด​ใน​ข้อ​หา​เหล่า​นี้.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 20]

 กฎหมาย​ยิว​ใน​ศตวรรษ​แรก ๆ

คำ​สอน​สืบ​ปาก​ของ​ชาว​ยิว​ถูก​เขียน​เป็น​ลายลักษณ์​อักษร​ประมาณ​ศตวรรษ​แรก ๆ ของ​สากล​ศักราช. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เชื่อ​กัน​ว่า​คำ​สอน​เหล่า​นี้​มี​อายุ​เก่า​แก่​กว่า​นั้น​อีก. ต่อ​ไป​นี้​เป็น​กฎ​บาง​ข้อ​ใน​คำ​สอน​สืบ​ปาก​ของ​ชาว​ยิว:

▪ ใน​คดี​อาญา​ซึ่ง​มี​โทษ​ถึง​ตาย ศาล​ต้อง​ฟัง​คำ​ให้​การ​ของ​ฝ่าย​จำเลย​ก่อน​เพื่อ​เขา​จะ​มี​โอกาส​ถูก​ปล่อย​ตัว

▪ ผู้​พิพากษา​ต้อง​พยายาม​สุด​ความ​สามารถ​เพื่อ​ช่วย​ชีวิต​จำเลย

▪ ผู้​พิพากษา​สามารถ​ยก​เหตุ​ผล​เพื่อ​ช่วย จำเลย​ได้ แต่​ไม่​มี​สิทธิ์​ปรักปรำ เขา

▪ ต้อง​มี​การ​เตือน​พยาน​ให้​สำนึก​ว่า​คำ​ให้​การ​ของ​เขา​มี​ผล​ต่อ​ความ​เป็น​ความ​ตาย​ของ​ผู้​อื่น

▪ ใน​การ​สอบ​ปากคำ​ต้อง​แยก​สอบ​พยาน​เป็น​คน ๆ ไป

▪ คำ​ให้​การ​ของ​พยาน​ทุก​ปาก​ต้อง​ตรง​กัน​ใน​จุด​ที่​สำคัญ เช่น วัน​ที่ เวลา สถาน​ที่​เกิด​เหตุ และ​อื่น ๆ

▪ คดี​อาญา​ซึ่ง​มี​โทษ​ถึง​ตาย​ต้อง​พิจารณา​ใน​ตอน​กลางวัน​และ​สิ้น​สุด​ใน​ตอน​กลางวัน

▪ จะ​ไม่​มี​การ​พิจารณา​คดี​อาญา​ซึ่ง​มี​โทษ​ถึง​ตาย​ใน​วัน​ก่อน​วัน​ซะบาโต​หรือ​ใน​ช่วง​เทศกาล

▪ การ​พิจารณา​คดี​อาญา​ซึ่ง​มี​โทษ​ถึง​ตาย อาจ​เริ่ม​และ​สิ้น​สุด​ลง​ใน​วัน​เดียว​กัน​ได้​หาก​คำ​ตัดสิน​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​จำเลย แต่​ถ้า​ไม่​เป็น​เช่น​นั้น การ​พิจารณา​คดี​จะ​ดำเนิน​ต่อ​ไป​ใน​วัน​รุ่ง​ขึ้น และ​จะ​ประกาศ​คำ​ตัดสิน​รวม​ทั้ง​ประหาร​ชีวิต​จำเลย​ใน​วัน​นั้น

▪ ใน​การ​พิจารณา​คดี​อาญา​ซึ่ง​มี​โทษ​ถึง​ตาย​ต้อง​มี​ผู้​พิพากษา​อย่าง​น้อย 23 คน

▪ ผู้​พิพากษา​จะ​ออก​เสียง​ลง​มติ​กัน​ที​ละ​คน​ว่า​ควร​ตัดสิน​ให้​ปล่อย​ตัว​หรือ​ลง​โทษ โดย​เริ่ม​จาก​ผู้​พิพากษา​ที่​อายุ​น้อย​ที่​สุด. อาลักษณ์​จะ​บันทึก​คำ​ตัดสิน​ของ​ผู้​พิพากษา​ทั้ง​ฝ่าย​ที่​เห็น​ว่า​ควร​ปล่อย​ตัว​และ​ฝ่าย​ที่​เห็น​ว่า​ควร​ลง​โทษ

▪ จำเลย​อาจ​ถูก​ปล่อย​ตัว​ได้​แม้​ผู้​พิพากษา​ฝ่าย​ที่​เห็น​ควร​ให้​ปล่อย​ตัว​จะ​มี​เสียง​มาก​กว่า​เพียง​หนึ่ง​เสียง แต่​ใน​กรณี​ที่​ตัดสิน​ลง​โทษ​จะ​ต้อง​มี​เสียง​ข้าง​มาก​เกิน​สอง​เสียง​ขึ้น​ไป. ถ้า​เสียง​ข้าง​มาก​มี​เสียง​เดียว​ต้อง​หา​ผู้​พิพากษา​มา​เพิ่ม​อีก​สอง​คน และ​จะ​ทำ​เช่น​นี้​จน​กว่า​จะ​ตัดสิน​คดี​ได้

▪ คำ​ตัดสิน​ว่า​มี​ความ​ผิด​โดย​ไม่​มี​ผู้​พิพากษา​แม้​แต่​คน​เดียว​คัดค้าน​ถือ​ว่า​เป็น​โมฆะ. คำ​ตัดสิน​ที่​เป็น​เอกฉันท์​ถือ​ว่า “ส่อ​เจตนา​สม​รู้​ร่วม​คิด”

การ​กระทำ​ที่​ขัด​ต่อ​กฎหมาย​ใน​การ​พิจารณา​คดี​พระ​เยซู

▪ ศาล​ไม่​รับ​ฟัง​คำ​แถลง​หรือ​คำ​ให้​การ​ของ​พยาน​เพื่อ​จำเลย​จะ​มี​โอกาส​ถูก​ปล่อย​ตัว

▪ ไม่​มี​ผู้​พิพากษา​คน​ใด​พยายาม​ปก​ป้อง​พระ​เยซู พวก​เขา​เป็น​ศัตรู​ของ​พระองค์

▪ เหล่า​ปุโรหิต​พยายาม​หา​พยาน​เท็จ​มา​ปรักปรำ​เพื่อ​ให้​พระ​เยซู​ถูก​ตัดสิน​ลง​โทษ​ถึง​ตาย

▪ มี​การ​พิจารณา​คดี​ตอน​กลางคืน​และ​ทำ​อย่าง​ลับ ๆ

▪ การ​พิจารณา​คดี​เริ่ม​และ​สิ้น​สุด​ภาย​ใน​วัน​เดียว​และ​เป็น​วัน​ก่อน​เทศกาล

▪ ไม่​มี​การ​ยื่น​คำ​ฟ้อง​หรือ​แจ้ง​ข้อ​กล่าวหา​ก่อน​การ​จับ​กุม​พระ​เยซู

▪ ข้อ​ที่​พระ​เยซู​อ้าง​ว่า​เป็น​พระ​มาซีฮา​ซึ่ง​ทำ​ให้​ถูก​กล่าวหา​ว่า “หมิ่น​ประมาท​พระเจ้า” ไม่​ได้​รับ​การ​ตรวจ​สอบ

▪ มี​การ​เปลี่ยน​ข้อ​กล่าวหา​เมื่อ​คดี​มา​ถึง​มือ​ปีลาต

▪ ข้อ​กล่าวหา​ทั้ง​หมด​เป็น​ความ​เท็จ

▪ ปีลาต​ไม่​พบ​ว่า​พระ​เยซู​มี​ความ​ผิด​แต่​ก็​ยัง​สั่ง​ให้​ประหาร​ชีวิต​พระองค์

[กรอบ​หน้า 22]

พยาน​ต้อง​รับผิดชอบ​ต่อ​การ​ตาย​ของ​จำเลย

ก่อน​ที่​พยาน​จะ​ให้​การ​ใน​คดี​อาญา​ซึ่ง​มี​โทษ​ถึง​ตาย ศาล​ของ​ชาว​ยิว​จะ​เตือน​เขา​ให้​ตระหนัก​ถึง​คุณค่า​ของ​ชีวิต​ดัง​นี้:

“เจ้า​อาจ​ตั้งใจ​ว่า​จะ​ให้​การ​เป็น​พยาน​โดย​อาศัย​การ​คาด​เดา ข่าว​ลือ หรือ​สิ่ง​ที่​พยาน​คน​หนึ่ง​ได้​ยิน​มา​จาก​อีก​คน​หนึ่ง หรือ​เจ้า​อาจ​คิด​ว่า ‘เรา​ก็​ได้​ยิน​มา​จาก​คน​ที่​เชื่อถือ​ได้.’ หรือ​เจ้า​อาจ​ไม่​รู้​ว่า​ใน​ขั้น​สุด​ท้าย​เรา​จะ​ซัก​ถาม​และ​ตรวจ​สอบ​คำ​ให้​การ​ของ​เจ้า​โดย​ใช้​วิธี​ทดสอบ​ที่​เหมาะ​สม. เจ้า​ควร​รู้​ไว้​ว่า​กฎหมาย​ที่​ใช้​ใน​การ​พิจารณา​คดี​เกี่ยว​กับ​ทรัพย์​สิน​นั้น​แตกต่าง​จาก​กฎหมาย​ที่​ใช้​ใน​การ​พิจารณา​คดี​อาญา​ซึ่ง​มี​โทษ​ถึง​ตาย. ใน​คดี​เกี่ยว​กับ​ทรัพย์​สิน ผู้​กระทำ​ผิด​สามารถ​จ่าย​เงิน​ชด​ใช้​ค่า​เสียหาย​แล้ว​คดี​นั้น​ก็​จะ​สิ้น​สุด​ลง. ใน​คดี​อาญา​ซึ่ง​มี​โทษ​ถึง​ตาย โลหิต [ของ​จำเลย] และ​โลหิต​ของ​ลูก​หลาน​ทั้ง​สิ้น​ของ​เขา [ผู้​ที่​ถูก​ตัดสิน​ว่า​มี​ความ​ผิด​โดย​ไม่​เป็น​ธรรม] ที่​จะ​เกิด​มา​ใน​วัน​ข้าง​หน้า​จะ​ตก​อยู่​กับ​เขา [ผู้​ที่​เป็น​พยาน​เท็จ] ไป​ตลอด.”—ทัลมุด​ของ​บาบิโลน, สภา​ซันเฮดริน 37​a

ถ้า​จำเลย​ถูก​ตัดสิน​ว่า​มี​ความ​ผิด​จริง พยาน​ต้อง​เป็น​คน​ลง​มือ​ประหาร​ผู้​กระทำ​ผิด​นั้น.—เลวีติโก 24:14; พระ​บัญญัติ 17:6, 7