กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว
การมีลูกทำให้ชีวิตสมรสเปลี่ยนไป
ชาลส์พูดว่า * “ตอนที่ลูกสาวของเราเกิด ผมกับแมรีดีใจมาก. แต่หลังจากนั้นสองสามเดือนผมก็แทบไม่ได้หลับได้นอน. เราวางแผนไว้สำหรับลูกหลายอย่าง แต่พอเอาเข้าจริง ๆ กลับใช้ไม่ได้เลยสักอย่าง.”
แมรีพูดว่า “เมื่อลูกเกิดมา ฉันก็ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองเลย. ชีวิตของเราเปลี่ยนไปทันที. วัน ๆ ฉันได้แต่ยุ่งอยู่กับการชงนม เปลี่ยนผ้าอ้อม และกล่อมลูกให้หลับ. เราต้องปรับเปลี่ยนชีวิตหลายอย่าง. ฉันกับชาลส์ต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะมีเวลาให้กันเหมือนเดิม.”
หลายคนคงเห็นด้วยว่าการมีลูกเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มีความสุขมากที่สุดในชีวิต. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าลูกเป็น “ของประทาน” จากพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 127:3) พ่อแม่ที่เพิ่งมีลูกคนแรกเหมือนชาลส์และแมรียังรู้ด้วยว่าการมีลูกสามารถทำให้ชีวิตสมรสเปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึง. ตัวอย่างเช่น คุณแม่มือใหม่อาจสนใจแต่ลูกน้อยและรู้สึกแปลกใจที่เธอพร้อมจะตอบสนองความต้องการทุกอย่างของลูกไม่ว่าตนเองจะเหนื่อยล้าเพียงใด. ส่วนคุณพ่อมือใหม่ก็อาจรู้สึกอัศจรรย์ใจที่เห็นภรรยาผูกพันกับลูกน้อยมากเหลือเกิน แต่เขาอาจรู้สึกด้วยว่าจู่ ๆ ตัวเองก็กลายเป็นส่วนเกินไปเสียแล้ว.
ที่จริง การมีลูกคนแรกอาจเป็นต้นเหตุของปัญหาร้ายแรงในชีวิตสมรส. ความรู้สึกไม่มั่นคงและปัญหาระหว่างคู่สมรสที่ยังแก้ไม่ตกอาจผุดขึ้นมาและกลายเป็นเรื่องใหญ่โตเพราะการเป็นพ่อแม่อาจทำให้เขาทั้งสองรู้สึกเครียดมาก.
พ่อแม่ที่เพิ่งมีลูกคนแรกจะปรับตัวให้เข้ากับชีวิตที่วุ่นวายในช่วงสองสามเดือนแรกซึ่งต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิดได้อย่างไร? คู่สมรสจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมอยู่เสมอ? ทั้งคู่จะแก้ปัญหาอย่างไรเมื่อไม่เห็นพ้องกันในเรื่องวิธีเลี้ยงดูลูก? ให้เราพิจารณาปัญหาเหล่านี้และดูว่าหลักการในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยคู่สมรสแก้ปัญหาของพวกเขาได้อย่างไร.
ปัญหาที่ 1: จู่ ๆ ชีวิตก็วุ่นวายอยู่กับลูกทั้งวัน.
ทารกแรกเกิดต้องการเวลาและการเอาใจใส่จากแม่ตลอดเวลา. แม่อาจรู้สึกปลาบปลื้มที่ได้ดูแลลูกน้อยของเธอ. ในขณะเดียวกัน สามีก็อาจรู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง. มานเวลซึ่งอยู่ในบราซิลพูดว่า “พอมีลูก ภรรยาผมก็ทุ่มเทความสนใจให้ลูกจนหมด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ผมทำใจได้ยากที่สุด. เมื่อก่อนเรามีกันสองคน แต่เดี๋ยวนี้เธอมีแต่ลูก.” คุณจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้อย่างไร?
วิธีแก้ที่ใช้ได้จริง: อดทนต่อกันและกัน.
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ความรักอดกลั้นไว้นานและแสดงความกรุณา.” ความรัก “ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่โกรธง่าย.” (1 โครินท์ 13:4, 5) ทั้งสามีและภรรยาจะนำคำแนะนำนี้ไปใช้ได้อย่างไรเมื่อพวกเขามีลูก?
สามีที่ดีจะพิสูจน์ความรักที่มีต่อภรรยาโดยศึกษาหาความรู้เพื่อจะเข้าใจว่าการมีลูกส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้หญิงอย่างไรบ้าง. ถ้าเขาทำเช่นนั้น เขาจะเข้าใจว่าทำไมภรรยาจึงมีอารมณ์แปรปรวนง่าย. * อดัม ซึ่งอยู่ในฝรั่งเศสและมีลูกสาววัย 11 เดือนยอมรับว่า “บางครั้งผมไม่เข้าใจว่าทำไมภรรยาจึงอารมณ์เสีย และผมก็พลอยอารมณ์เสียไปด้วย. แต่ผมพยายามคิดว่าที่เธอหงุดหงิดไม่ใช่เพราะผมเป็นต้นเหตุ. จริง ๆ แล้วเป็นเพราะเธอยังไม่ชินกับสภาพการณ์ใหม่ในครอบครัว.”
บางครั้ง ภรรยาเข้าใจคุณผิดไปไหมทั้ง ๆ ที่คุณพยายามจะช่วยทำงานต่าง ๆ? ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อย่าเพิ่งอารมณ์เสียใส่เธอ. (ท่านผู้ประกาศ 7:9) ขอให้คุณอดทนและพยายามนึกถึงความต้องการของเธอก่อน แล้วคุณจะระงับความโกรธได้.—สุภาษิต 14:29
ส่วนภรรยาที่มีความเข้าใจจะคอยสนับสนุนสามีขณะที่เขาพยายามทำหน้าที่ใหม่นี้. เธอจะให้เขามีส่วนในการดูแลลูกและค่อย ๆ สอนเขาเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือชงนมให้ลูก แม้ว่าเขาจะทำได้ไม่คล่องในตอนแรก.
เอลเลน แม่วัย 26 ปี ยอมรับว่าเธอจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีที่เธอปฏิบัติต่อสามี. เธอพูดว่า “ฉันต้องไม่คิดว่าลูกเป็นของฉันคนเดียว. และฉันต้องคอยเตือนตัวเองว่าเมื่อสามีพยายามทำตามคำแนะนำของฉันแล้ว ฉันก็ไม่ควรจะจู้จี้กับเขามากเกินไป.”
ลองวิธีนี้: คุณที่เป็นภรรยา ถ้าสามีมีวิธีดูแลลูกต่างไปจากคุณก็อย่าเพิ่งติว่าหรือแก้ไขงานที่เขาทำไปแล้ว. ขอให้ชมเชยเขาในเรื่องที่เขาพอจะทำได้. ถ้าคุณทำอย่างนั้น คุณจะช่วยให้เขามีความมั่นใจและอยากช่วยคุณเลี้ยงลูกมากขึ้น. คุณที่เป็นสามี ขอให้คุณตัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นทิ้งไปเพื่อจะมีเวลาช่วยภรรยาเลี้ยงลูกได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะช่วงสองสามเดือนแรกหลังคลอด.
ปัญหาที่ 2: ความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาจืดจางลง.
เนื่องจากต้องอดหลับอดนอนและคอยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่เรื่อย ๆ จึงเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่มือใหม่หลายคู่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเอาไว้ได้. วิเวียน คุณแม่ลูกสองชาวฝรั่งเศสยอมรับว่า “ตอนแรก ฉันมัวแต่ทำหน้าที่แม่จนเกือบลืมไปว่าฉันก็มีหน้าที่เป็นภรรยาด้วย.”
ในอีกด้านหนึ่ง สามีอาจไม่เข้าใจว่าการตั้งครรภ์สามารถส่งผลกระทบต่อภรรยาทั้งด้านร่างกายและอารมณ์. ลูกที่เพิ่งคลอดอาจดึงเอาเวลาและพละกำลังของคุณทั้งสองไปหมด จนคุณไม่เหลือเรี่ยวแรงและเวลาที่จะเอาใจใส่ความต้องการของกันและกันรวมถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ด้วย. ถ้าเช่นนั้น คู่สมรสจะทำอย่างไรเพื่อลูกน้อยที่น่ารักและยังช่วยตัวเองไม่ได้จะไม่กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ทั้งคู่ห่างเหินกัน?
วิธีแก้ที่ใช้ได้จริง: ยืนยันความรักที่คุณมีต่อกันเสมอ.
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงชีวิตสมรสว่า “ผู้ชายจึงจะละบิดามารดาของตนไปผูกพันอยู่กับภรรยา: และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้อหนังอันเดียวกัน.” * (เยเนซิศ 2:24) เป็นพระประสงค์ของพระยะโฮวาพระเจ้าที่จะให้ลูกแยกไปจากพ่อแม่เมื่อเขาโตขึ้น. แต่พระองค์ทรงคาดหมายให้สามีและภรรยาผูกพันเป็นเนื้อหนังอันเดียวกันไปตลอดชีวิต. (มัดธาย 19:3-9) การเข้าใจพระประสงค์นี้จะช่วยคู่สมรสที่เพิ่งมีลูกให้จัดลำดับความสำคัญอย่างถูกต้องได้อย่างไร?
วิเวียนที่กล่าวถึงข้างต้นบอกว่า “ฉันคิดถึงคำกล่าวที่เยเนซิศ 2:24 และข้อคัมภีร์นั้นช่วยฉันให้ตระหนักว่าฉันเป็น ‘เนื้อหนังอันเดียวกัน’ กับสามี ไม่ใช่กับลูก. ฉันเห็นแล้วว่าฉันต้องรักษาสายสมรสให้เข้มแข็งอยู่เสมอ.” เทเรซา คุณแม่ที่มีลูกสาววัยสองขวบบอกว่า “เมื่อไรที่ฉันเริ่มรู้สึกห่างเหินกับสามี ฉันจะรีบเอาใจใส่ดูแลเขาอย่างเต็มที่ แม้มีเวลาเพียงเล็กน้อยในแต่ละวันก็ตาม.”
ถ้าคุณเป็นสามี คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้สายสมรสของคุณแน่นแฟ้นขึ้น? คุณน่าจะบอกภรรยาว่าคุณรักเธอ. พิสูจน์คำพูดของคุณด้วยการกระทำที่แสดงความรักอันอ่อนละมุน. ถ้าภรรยารู้สึกไม่มั่นใจในความรักของคุณ ขอให้พยายามอย่างจริงจังที่จะยืนยันความรักที่คุณมีต่อเธอ. ซาราห์ คุณแม่วัย 30 ปีบอกว่า “ภรรยาต้องการรู้ว่าเธอยังเป็นที่รักและมีค่าสำหรับสามีอยู่ แม้ว่าหลังคลอดบุตรรูปร่างของเธอจะเปลี่ยนไปก็ตาม.” อลัน คุณพ่อลูกสองซึ่งอยู่ในเยอรมนีเห็นว่าจำเป็นมากที่จะเอาใจใส่ความต้องการทางอารมณ์ของภรรยา. เขากล่าวว่า “ผมจะอยู่เคียงข้างและคอยปลอบโยนภรรยาเสมอเมื่อเธอรู้สึกไม่สบายใจ.”
เป็นเรื่องธรรมดาที่การมีลูกย่อมเป็นอุปสรรคต่อการมีเพศสัมพันธ์. ดังนั้น ทั้งสามีและภรรยาจำเป็นต้องพูดคุยกันถึงความต้องการของตน. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าการปรับเปลี่ยนใด ๆ ในเรื่องเพศสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสควรเป็นเรื่องที่ ‘ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน.’ (1 โครินท์ 7:1-5) นั่นหมายความว่าทั้งสามีและภรรยาต้องพูดคุยกัน. บางทีคุณอาจไม่กล้าพูดเรื่องเพศกับคู่สมรสเนื่องจากการเลี้ยงดูหรือวัฒนธรรมของคุณ. แต่การพูดคุยเช่นนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากในช่วงที่คู่สมรสต้องปรับเปลี่ยนกิจวัตรของตนเพื่อจะทำหน้าที่พ่อแม่ได้. จงเห็นอกเห็นใจกัน อดทน และซื่อสัตย์. (1 โครินท์ 10:24) เมื่อคุณทั้งสองทำเช่นนั้น คุณจะหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดและจะรักกันมากขึ้น.—1 เปโตร 3:7, 8
นอกจากนี้ คู่สมรสจะยิ่งรักกันมากขึ้นถ้าต่างฝ่ายต่างก็แสดงความขอบคุณในสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งทำ. สามีที่ดีจะยอมรับว่าจริง ๆ แล้วตลอดทั้งวันภรรยาได้ทำงานหลายอย่าง แม้ว่าเขาจะมองไม่เห็นก็ตาม. วิเวียนบอกว่า “พอตกเย็น ฉันมักรู้สึกเหมือนกับว่ายังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย ทั้ง ๆ ที่ฉันวุ่นอยู่กับการดูแลลูกตลอดเวลา!” แม้จะยุ่งอยู่สุภาษิต 17:17
กับลูกทั้งวัน แต่ภรรยาที่มีความเข้าใจจะระวังคำพูดและไม่ทำให้สามีรู้สึกว่างานที่เขาอุตส่าห์ทำเพื่อครอบครัวไม่มีความหมายอะไร.—ลองวิธีนี้: คุณที่เป็นแม่ ถ้าเป็นไปได้คุณควรนอนพักสักงีบตอนที่ลูกหลับ. เมื่อคุณได้ “ชาร์ตแบตเตอรี่” แล้ว คุณก็จะมีกำลังมากขึ้นที่จะเอาใจใส่สามี. คุณที่เป็นพ่อ ถ้าทำได้คุณน่าจะลุกขึ้นมาป้อนนมหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกตอนกลางคืนเพื่อให้ภรรยาได้พักผ่อน. ขอให้หมั่นบอกรักภรรยาโดยเขียนข้อความสั้น ๆ ทิ้งไว้ ส่งข้อความทางโทรศัพท์ หรือโทรศัพท์มาคุยกับเธอ. สามีภรรยาควรมีเวลาพูดคุยกันเป็นส่วนตัว. จงพูดเรื่องของคุณสองคน ไม่ใช่พูดแต่เรื่องของลูกเท่านั้น. จงเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอ แล้วคุณจะรับมือกับปัญหาที่มาพร้อมกับการเป็นพ่อแม่ได้ดีขึ้น.
ปัญหาที่ 3: คุณมีความคิดต่างกันในเรื่องการเลี้ยงลูก.
การเลี้ยงดูที่ได้รับในวัยเด็กอาจทำให้คู่สมรสมีข้อถกเถียงกันในเรื่องวิธีเลี้ยงลูก. คุณแม่ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่ออะซามิและคัตซุโรสามีของเธอก็ประสบปัญหานี้. อะซามิบอกว่า “ฉันรู้สึกว่าคัตซุโรตามใจลูกสาวของเรามากเกินไป ส่วนเขาก็รู้สึกว่าฉันเข้มงวดมากเกินไป.” คุณจะทำอย่างไรเพื่อจะไม่ทะเลาะกัน?
วิธีแก้ที่ใช้ได้จริง: พูดคุยและคอยช่วยเหลือกัน.
กษัตริย์โซโลมอนผู้ฉลาดสุขุมเขียนว่า “เมื่อกระทำโดยพลการ เขาย่อมก่อการโต้เถียง แต่ปัญญาอยู่กับคนที่ปรึกษาหารือกัน.” (สุภาษิต 13:10, ล.ม.) คุณรู้ไหมว่าคู่ของคุณต้องการเลี้ยงลูกอย่างไร? ถ้าคุณคอยจนกระทั่งมีลูกแล้วค่อยปรึกษากัน สุดท้ายคุณก็อาจทะเลาะกันแทนที่จะช่วยกันแก้ปัญหา.
ตัวอย่างเช่น คำถามต่อไปนี้มีข้อใดบ้างที่คุณตอบตรงกัน: “เราจะฝึกลูกให้มีนิสัยการกินการนอนที่ดีได้อย่างไร? เมื่อลูกร้องกลางดึก เราจะเข้าไปอุ้มและกล่อมลูกทุกครั้งไหม? เราจะทำอย่างไรถ้าลูกไม่ยอมหัดนั่งกระโถน?” แน่นอนว่า วิธีที่คุณเลือกอาจแตกต่างจากพ่อแม่คนอื่น ๆ. อีทาน พ่อที่มีลูกสองคนบอกว่า “คุณต้องพูดคุยกันเพื่อจะหาข้อตกลงให้ได้. เมื่อเป็นเช่นนั้น คุณทั้งสองจะสามารถเลี้ยงลูกให้มีความสุขได้.”
ลองวิธีนี้: นึกถึงวิธีที่พ่อแม่เลี้ยงดูคุณมา. ขอให้ใคร่ครวญดูว่าแนวคิดและวิธีเลี้ยงลูกแบบไหนของพ่อแม่ที่คุณต้องการนำมาใช้กับลูกของคุณ หรือแนวคิดและวิธีเลี้ยงลูกแบบไหนที่คุณไม่ต้องการจะนำมาใช้. จากนั้นก็คุยกับคู่สมรสเกี่ยวกับเรื่องนี้.
ลูกอาจเปลี่ยนชีวิตสมรสให้ดีขึ้น
นักสเกตน้ำแข็งสองคนที่ยังอ่อนประสบการณ์ย่อมต้องใช้เวลาและความอดทนเพื่อจะฝึกฝนจนทั้งคู่สามารถทรงตัวได้ดีบนลานสเกต. ทำนองเดียวกัน คุณที่เป็นพ่อแม่มือใหม่ก็ต้องการเวลาที่จะปรับตัวให้เข้ากับบทบาทใหม่ของตน. แต่ในที่สุดคุณก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น.
การเลี้ยงดูลูกเป็นการทดสอบว่าคุณจะรักษาคำปฏิญาณในการสมรสได้ดีเพียงไร และทำให้ความสัมพันธ์ของคุณทั้งสองไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป. อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงดูลูกทำให้คุณมีโอกาสพัฒนาคุณลักษณะนิสัยที่ดีหลายอย่าง. ถ้าคุณนำคำแนะนำที่ฉลาดสุขุมในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้คุณก็จะเป็นเหมือนเคนเนท พ่อคนหนึ่งซึ่งกล่าวว่า “การเลี้ยงดูลูกช่วยให้ผมกับภรรยาปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น. ตอนนี้เราคิดถึงตัวเองน้อยลงและมีความรักความเข้าใจมากขึ้น.” การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งในชีวิตสมรส.
^ วรรค 3 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.
^ วรรค 11 หลังจากคลอดบุตร แม่หลายคนอาจรู้สึกซึมเศร้าอยู่ระยะหนึ่ง. บางคนก็มีอาการหนักมากจนเป็นโรคที่เรียกกันว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอด. สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและวิธีรับมือกับโรคนี้ โปรดดูบทความ “ดิฉันเอาชนะภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” ในตื่นเถิด! 8 สิงหาคม 2002 และ “รู้จักภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” ในตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) 8 มิถุนายน 2003 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 19 หนังสือเชิงวิชาการเล่มหนึ่งกล่าวว่า คำกริยาภาษาฮีบรูที่แปลว่า “ผูกพัน” ในเยเนซิศ 2:24 อาจ ‘ถ่ายทอดความหมายว่าเป็นการติดสนิทกับบุคคลหนึ่งด้วยความรักและภักดี.’
ถามตัวเองว่า . . .
-
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฉันทำอะไรบ้างเพื่อให้คู่ของฉันรู้ว่าฉันเห็นคุณค่าสิ่งที่เขาทำเพื่อครอบครัว?
-
ฉันเปิดใจพูดคุยกับคู่สมรสในเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกครั้งสุดท้ายเมื่อไร?