บริหารเงินให้พอใช้—จะทำได้อย่างไร?
ลองนึกภาพว่าคุณมีถุงใบหนึ่งที่มีรูรั่วและคุณต้องพยายามทำให้ถุงใบนี้พองอยู่ตลอดเวลา. คุณจะทำอย่างไร? ถ้าคุณเป่าลมเข้าไปในถุงนั้นให้ได้อย่างน้อยเท่ากับปริมาณลมที่รั่วออกมา คุณก็จะทำให้ถุงพองอยู่ได้.
โดยพื้นฐานแล้ว การบริหารเงินให้พอใช้ก็อาศัยหลักการเดียวกัน. รายได้ของคุณอาจเปรียบได้กับลมที่คุณเป่าเข้าไปในถุง. รายจ่ายของคุณเปรียบได้กับลมที่รั่วออกไป. ปัญหาอยู่ที่ว่าคุณจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีรายจ่ายมากกว่ารายได้.
แม้หลักการนี้ฟังดูเหมือนง่าย แต่การนำไปใช้และได้รับประโยชน์นั้นเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียว. ผู้คนจะหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องเงินได้มากมาย ถ้าพวกเขาพยายามทำตามหลักการง่าย ๆ นี้. แล้วจะทำได้อย่างไร? เราจะพบคำแนะนำที่ใช้ได้จริงจากที่ไหน? คัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์มากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้. ให้เรามาดูคร่าว ๆ ว่าพระคัมภีร์มีหลักการอะไรบ้าง.
หลักการในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยได้
คัมภีร์ไบเบิลมีหลักการดี ๆ มากมายที่จะช่วยคุณจัดการกับเรื่องเงินได้. เราจะพิจารณาหลักการเหล่านี้บางอย่าง แล้วดูสิว่ามีข้อใดไหมที่อาจช่วยคุณบริหารเงินให้พอใช้จ่ายได้.
วางแผน หรือตั้งงบประมาณ.
เพื่อจะควบคุมการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณจำเป็นต้องรู้ว่าคุณมีรายรับเท่าไรและมีรายจ่ายอะไรบ้าง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “แผนงานของคนขยันขันแข็งนำสู่ความอุดมแน่นอน แต่ทุกคนที่เร่งร้อนก็มาสู่ความขัดสนเท่านั้น.” (สุภาษิต 21:5, ฉบับ R73) บางคนใช้วิธีง่าย ๆ โดยแบ่งเงินไว้เป็นซอง ๆ. แต่ละซองใส่เงินสำหรับค่าใช้จ่ายแต่ละอย่าง เช่น “ค่าอาหาร” “ค่าเช่าบ้าน” หรือ “ค่าเสื้อผ้า.” ไม่ว่าคุณจะใช้วิธีนี้หรือวิธีอื่น ๆ สิ่งสำคัญคือคุณต้องรู้ว่าคุณจ่ายเงินไปสำหรับอะไรบ้าง. คุณต้องใช้จ่ายสำหรับสิ่งจำเป็นก่อนเสมอ ไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย.
อย่าอิจฉาคนอื่น.
หลายคนในประเทศที่กำลังพัฒนาอยากมีสิ่งของต่าง ๆ เหมือนกับคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว. นอกจากนั้น ผู้คนจำนวนไม่น้อยอยากได้สิ่งของที่เขาเห็นเพื่อนบ้านมีกัน. ความรู้สึกเช่นนี้อาจเป็นกับดัก. จริง ๆ แล้วเพื่อนบ้านคนนั้นอาจไม่มีเงินพอที่จะซื้อหาสิ่งเหล่านั้นด้วยซ้ำ. ทำไมจะต้องทำตามคนอื่นในเรื่องที่โง่เขลาและทำให้ตัวเองเดือดร้อนเช่นนั้น? คัมภีร์ไบเบิลเตือนว่า “คนที่มีนัยน์ตาชั่วก็เร่งหาทรัพย์ศฤงคารและไม่ทราบว่าความขัดสนจะมาถึงเขา.”—สุภาษิต 28:22, ฉบับ R73
ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย.
พระเยซูทรงแนะนำสาวกของพระองค์ให้ควบคุมสายตาเพื่อจะ “มองที่สิ่งเดียว.” (มัดธาย 6:22) ถ้าคุณคิดอยากจะกินกุ้งมังกรกับไวน์ชั้นเยี่ยม ในขณะที่คุณมีเงินพอซื้อได้แค่ปลาทูกับน้ำเปล่าคุณก็จะมีปัญหาเรื่องเงินได้ง่าย ๆ. ตามรายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ประชากรชาวฟิลิปปินส์เกือบหนึ่งในสามและชาวอินเดียมากกว่าครึ่งหนึ่งดำรงชีวิตอยู่ด้วยรายได้ที่ต่ำกว่าเส้นวัดระดับความยากจนของแถบเอเชีย คือต่ำกว่าวันละ 40 บาท. สำหรับคนที่มีรายได้น้อยขนาดนั้น นับว่าฉลาดที่จะใช้จ่ายเฉพาะสิ่งจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น. อย่างไรก็ตาม หลักการเดียวกันนี้สามารถช่วยผู้ที่อยู่ในประเทศร่ำรวยให้หลีกเลี่ยงปัญหามากมายด้านการเงินได้ด้วย.
พอใจกับสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ.
เพื่อจะพอใจกับสิ่งที่เรามี เราต้องทำตามคำแนะนำที่ให้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายด้วย. คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำไว้ใน 1 ติโมเธียว 6:8 ว่า “เมื่อเรามีเครื่องอุปโภคบริโภคและที่อยู่อาศัย เราควรอิ่มใจกับสิ่งเหล่านี้.” คนที่มีความสุขมากที่สุดในโลกหลายคนมีเงินเพียงเล็กน้อย. ถึงกระนั้น พวกเขาก็อิ่มใจพอใจกับสิ่งที่ตนมีอยู่ ซึ่งไม่ใช่แค่วัตถุเงินทองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมีครอบครัวและเพื่อนฝูงที่รักใคร่กันด้วย.—สุภาษิต 15:17
อย่าสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น.
คำกล่าวในคัมภีร์ไบเบิลเป็นความจริงที่ว่า “คนมั่งมีย่อมมีอำนาจเหนือคนยากจน; และคนมักยืมก็เป็นบ่าวทาสแก่ผู้ให้ยืมนั้น.” (สุภาษิต 22:7) แม้ว่าอาจมีสภาพการณ์บางอย่างที่ทำให้คนเราต้องเป็นหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คนที่กู้หนี้ยืมสินโดยไม่จำเป็นเพียงเพื่อจะมีเงินซื้อหาสิ่งของที่ตนอยากได้ สุดท้ายแล้วก็มักต้องแบกรับภาระหนี้สินที่หนักอึ้ง. เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะกับคนที่ใช้บัตรเครดิต. วารสารไทม์ กล่าวว่า “เมื่อมีบัตรเครดิตอยู่ในมือ เราก็กลายเป็นคนไร้เหตุผลและขาดความยับยั้งชั่งใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ.” เอริกซึ่งอยู่ในฟิลิปปินส์บอกว่า “เมื่อผมใช้บัตรเครดิต ผมมักจะซื้อของมากกว่าเมื่อใช้เงินสด. การใช้บัตรทำให้ผมจ่ายเงินเกินงบอยู่บ่อย ๆ.” นับว่าสุขุมที่จะระมัดระวังให้มากเมื่อสามารถซื้ออะไรได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องจ่ายเงินสด!—2 กษัตริย์ 4:1; มัดธาย 18:25
เก็บเงินก่อนแล้วค่อยซื้อ.
ความคิดนี้อาจดูเหมือนล้าสมัย แต่การเก็บเงินก่อนแล้วค่อยซื้อเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องเงิน. การทำเช่นนั้นช่วยให้หลายคนพ้นจากการเป็นหนี้และภาระหนักที่ตามมา เช่น การจ่ายดอกเบี้ยอัตราสูงที่ถูกบวกเข้ากับราคาสินค้าทุกชนิด. ในคัมภีร์ไบเบิล มีการพูดถึงมดว่าเป็นสัตว์ที่ “ฉลาด” เพราะพวกมัน “สะสมอาหารของมันไว้ในฤดูร้อน” เพื่อจะมีกินในวันข้างหน้า.—สุภาษิต 6:6-8; 30:24, 25
เรียนจากประสบการณ์ของผู้อื่น
คำแนะนำทั้งหมดจากคัมภีร์ไบเบิลที่เราพิจารณาไปอาจดูเหมือนเป็นหลักการที่ดี แต่คำแนะนำเหล่านั้นจะช่วยผู้คนให้รู้วิธีบริหารเงินให้พอใช้จริง ๆ ไหม? ให้เรามาดูประสบการณ์ของผู้ที่นำคำแนะนำเหล่านั้นไปใช้ และสามารถจัดการกับปัญหาเรื่องเงินได้สำเร็จ.
ดีโอสดาโด คุณพ่อลูกสี่ยอมรับว่า วิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ทำให้เขาหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวได้ลำบากขึ้น. อย่างไรก็ตาม เขาตระหนักว่าการตั้งงบประมาณเป็นวิธีที่ดีมาก. เขากล่าวว่า “ผมจะวางแผนการ
ใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้. ผมจดรายการค่าใช้จ่ายทั้งหมด.” ดานีโล ก็ใช้วิธีเดียวกันนี้. เขากับภรรยาประสบปัญหาเมื่อธุรกิจเล็ก ๆ ที่ทำอยู่ขาดทุนย่อยยับ. แต่เมื่อวางแผนการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ พวกเขาก็มีเงินพอที่จะซื้อหาสิ่งจำเป็น. เขาบอกว่า “เรารู้ว่าแต่ละเดือนเราหาเงินได้เท่าไร และเรารู้ว่าเรามีรายจ่ายเท่าไร. เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราจะคุยกันว่าเรามีเงินเหลือมากน้อยแค่ไหนและจะใช้สำหรับอะไรบ้าง.”เพื่อจะควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ บางคนพบว่าเขาจำเป็นต้องตัดรายจ่ายบางรายการออกไป. เมอร์นา แม่ม่ายที่เลี้ยงลูกสามคนกล่าวว่า “แทนที่จะขึ้นรถโดยสารไปร่วมการประชุมคริสเตียน เดี๋ยวนี้ฉันกับลูก ๆ จะเดินไปด้วยกัน.” เมอร์นาพยายามช่วยลูก ๆ ให้เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย. เธอบอกว่า “ฉันพยายามวางตัวอย่างที่ดีโดยนำหลักการใน 1 ติโมเธียว 6:8-10 มาใช้ ซึ่งเป็นหลักการที่เน้นว่าเราต้องมีความอิ่มใจพอใจกับสิ่งที่เรามีอยู่.”
เจอรัลด์คุณพ่อลูกสองก็ทำคล้าย ๆ กันนั้น. เขาบอกว่า “เวลาเราศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในครอบครัว เราจะคุยกันเกี่ยวกับประสบการณ์ของพี่น้องคริสเตียนที่ใส่ใจกับเรื่องที่สำคัญจริง ๆ ซึ่งก็คือการมีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้า. การทำเช่นนั้นได้ผลดีทีเดียว เพราะลูก ๆ ไม่รบเร้าให้เราซื้อของที่ไม่จำเป็นจริง ๆ.”
เจเนตเป็นคนโสดและเป็นอาสาสมัครสอนคัมภีร์ไบเบิลเต็มเวลาในฟิลิปปินส์. เธอเพิ่งตกงาน แต่เธอก็ยังอยู่ได้ด้วยเงินเท่าที่มี. เธอบอกว่า “ฉันอยู่ได้เพราะฉันเข้มงวดกับตัวเองและวางแผนการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ. แทนที่จะไปห้างใหญ่ ๆ ฉันจะหาซื้อของตามแหล่งที่ขายสินค้าราคาถูก. ทำไมฉันจะต้องจ่ายแพงในเมื่อฉันสามารถหาของถูกได้? นอกจากนั้น ฉันจะไม่รีบซื้อของโดยไม่คิดให้ดีก่อน.” เจเนตยอมรับว่าการเก็บเงินก่อนแล้วค่อยซื้อเป็นวิธีที่ฉลาดสุขุมจริง ๆ. เธอบอกว่า “ถ้าฉันมีเงินเหลือแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ฉันจะเก็บเงินนั้นไว้เผื่อจะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า.”
เอริกที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ให้ความเห็นเกี่ยวกับบัตรเครดิตว่า “ผมตั้งกฎกับตัวเองว่าจะใช้บัตรเครดิตเฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น.” ดีโอสดาโดก็พูดทำนองเดียวกันว่า “ปกติแล้วผมจะควบคุมตัวเองโดยเก็บบัตรเครดิตไว้ที่ห้องทำงาน.”
คุณสามารถ บริหารเงินให้พอใช้ได้
หลายคนพบว่าถึงแม้คัมภีร์ไบเบิลจะเน้นเรื่องหลักการของพระเจ้าและการมีสัมพันธภาพกับพระองค์ แต่พระคัมภีร์ก็มีคำแนะนำที่ช่วยในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย. (สุภาษิต 2:6; มัดธาย 6:25-34) ถ้าคุณนำหลักการของคัมภีร์ไบเบิลที่กล่าวถึงในบทความนี้ไปใช้ และเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนที่ได้รับประโยชน์จากการทำตามหลักการเหล่านั้น คุณก็สามารถบริหารเงินให้พอใช้ได้เช่นกัน. ถ้าคุณทำเช่นนั้น คุณจะพ้นจากปัญหายุ่งยากและความวิตกกังวลมากมายที่หลายล้านคนกำลังประสบอยู่ในทุกวันนี้.