โอลีเวตอง—ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลภาษาฝรั่งเศสที่ต่ำต้อย
โอลีเวตอง—ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลภาษาฝรั่งเศสที่ต่ำต้อย
วันที่ 13 กันยายน 1540 เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าไปค้นบ้านของโกแลง เปลอง. ในห้องลับพวกเขาได้พบเอกสารต้องสงสัยบางอย่าง รวมทั้งหนังสือเล่มใหญ่เล่มหนึ่ง. ในหน้าสองของหนังสือนั้นเขียนว่า “ปิแยร์ โรแบร์ โอลีเวเทนัส ผู้แปลที่ต่ำต้อย.” นี่คือคัมภีร์ไบเบิลของพวกวัลเดนส์! โกแลง เปลองถูกจับ ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นพวกนอกรีต และถูกเผาทั้งเป็น.
ในเวลานั้น ฝรั่งเศสก็เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรปที่คริสตจักรคาทอลิกพยายามไล่ล่าพวกนักปฏิรูปศาสนาเพื่อกำจัดคำสอนของพวกเขาที่ “เป็นอันตราย.” นักปฏิรูปศาสนาคนหนึ่งที่มีใจแรงกล้าชื่อกีโยม ฟาเรล ตั้งใจว่าจะทำให้ประเทศที่พูดภาษาฝรั่งเศสทั้งหมดยอมรับแนวคิดของมาร์ติน ลูเทอร์ ผู้นำการปฏิรูปศาสนาซึ่งก่อตั้งนิกายโปรเตสแตนต์. ฟาเรลมาจากเมืองโดฟีเนทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส. เขารู้ว่าอาวุธสำคัญที่จะทำให้ได้ชัยชนะในสงครามความคิดครั้งนี้ก็คือหนังสือและสิ่งพิมพ์. เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น เขาต้องพิมพ์ใบปลิวและบทความต่าง ๆ ออกมา รวมทั้งคัมภีร์ไบเบิลด้วย. แต่จะหาเงินทุนจากที่ไหนล่ะ? เขาจึงคิดว่าจะไปขอความช่วยเหลือจากพวกวัลเดนส์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ขึ้นกับคริสตจักรใดและทุ่มเทตัวในการประกาศข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิล.
สภาสงฆ์ที่ชองโฟรอง
ย้อนไปราวกลางเดือนกันยายน 1532 บาร์บ (นักเทศน์) ของพวกวัลเดนส์ได้จัดการประชุมคณะสงฆ์ขึ้นที่ชองโฟรอง หมู่บ้านเล็ก ๆ ใกล้เมืองตูริน ประเทศอิตาลี. เป็นเวลาหลายปีที่พวกวัลเดนส์ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพวกผู้นำการปฏิรูปศาสนา. ดังนั้น ฟาเรลและคนอื่น ๆ อีกหลายคนจึงได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมกับสภาสงฆ์ในครั้งนี้. พวกวัลเดนส์อยากรู้ว่าหลักคำสอนของพวกเขาจะสอดคล้องลงรอยกับคำสอนของลูเทอร์และเหล่าผู้ติดตามหรือไม่. *
ที่ชองโฟรอง คำพูดที่มีวาทศิลป์ของฟาเรลทำให้พวกวัลเดนส์ยอมให้ความร่วมมือ. เมื่อบาร์บ ของพวกวัลเดนส์ให้ฟาเรลดูคัมภีร์ไบเบิลเก่าแก่หลายฉบับที่คัดลอกด้วยมือในภาษาของพวกเขา ฟาเรลจึงชักชวนพวกเขาให้ช่วยบริจาคเงินเพื่อจัดพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลภาษาฝรั่งเศส. อย่างไรก็ตาม แทนที่จะแปลจากภาษาละตินเช่นเดียวกับฉบับเลอแฟฟวร์ เดตาป ที่ออกในปี 1523 คัมภีร์ไบเบิลฉบับที่กำลังจะพิมพ์นี้ต้องแปลจากภาษาฮีบรูและกรีกโดยตรง. แต่ใครล่ะจะทำงานนี้ได้?
ฟาเรลรู้จักคนคนนั้น. เขาคือปิแยร์ โรแบร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อโอลีเวตอง * ครูหนุ่มที่เกิดในแคว้นปีการ์ดีทางเหนือของฝรั่งเศส. โอลีเวตองเป็นลูกพี่ลูกน้องของชอง โกแวง (จอห์น คาลวิน). เขาเป็นนักปฏิรูปในยุคแรก ๆ และเป็นคนที่ไว้ใจได้. นอกจากนั้น เขายังทุ่มเทเวลาหลายปีในเมืองสตราสบูร์กเพื่อศึกษาภาษาต่าง ๆ ที่ใช้เขียนคัมภีร์ไบเบิล.
เช่นเดียวกับฟาเรลและคนอื่น ๆ หลายคน โอลีเวตองได้ลี้ภัยไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์. เพื่อน ๆ ขอให้เขารับงานแปลนี้.
หลังจากปฏิเสธอยู่หลายครั้ง สุดท้ายเขาก็ยอมตกลง โดยแปลคัมภีร์ไบเบิล “จากภาษาฮีบรูและภาษากรีกเป็นภาษาฝรั่งเศส.” ในเวลาเดียวกัน พวกวัลเดนส์ได้ให้เงินทุนสนับสนุน 500 เหรียญทองคำ ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ทีเดียว! พวกเขาใช้เงินในการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้รวมทั้งสิ้น 800 เหรียญ.อีกากับไนติงเกล
ต้นปี 1534 โอลีเวตองแยกตัวไปทำงานตามลำพังบนเทือกเขาแอลป์ โดยขลุกอยู่ท่ามกลางกองหนังสือ ซึ่งเปรียบเหมือน “อาจารย์ที่ไร้เสียง” ของเขา. ห้องสมุดของเขาคงทำให้นักวิชาการสมัยใหม่รู้สึกอิจฉาไปตาม ๆ กัน. ห้องสมุดนี้มีทั้งคัมภีร์ไบเบิลภาษาซีเรีย กรีก และละติน รวมถึงข้อเขียนของพวกรับบี หนังสือไวยากรณ์ภาษาแคลเดีย และอื่น ๆ อีกมากมาย. อย่างไรก็ตาม หนังสือที่สำคัญต่องานแปลของเขามากที่สุดคือคัมภีร์ไบเบิลฉบับล่าสุดซึ่งพิมพ์ที่เวนิซและเป็นภาษาฮีบรู.
โอลีเวตองแปลส่วนที่เรียกกันในทุกวันนี้ว่าพันธสัญญาใหม่ โดยใช้พระคัมภีร์ภาษาฝรั่งเศสฉบับเลอแฟฟวร์ เดตาปเป็นหลัก แต่ก็มีบางครั้งที่เขาแปลโดยอาศัยฉบับภาษากรีกของเอราสมุส ผู้คงแก่เรียนชาวดัตช์. คำศัพท์ที่โอลีเวตองเลือกใช้มักแตกต่างจากที่ใช้กันในคริสตจักรคาทอลิก. ตัวอย่างเช่น เขาใช้คำว่า “ผู้ดูแล” แทน “บิชอป” “ความลับ” แทน “ข้อลึกลับ” และ “ประชาคม” แทน “คริสตจักร.”
สำหรับส่วนที่หลายคนเรียกว่าพันธสัญญาเดิม โอลีเวตองตั้งใจจะแปลแบบคำต่อคำจากต้นฉบับภาษาฮีบรูโดยตรง. ครั้งหนึ่ง เขาเคยพูดติดตลกเกี่ยวกับการแปลภาษาฮีบรูเป็นภาษาฝรั่งเศสว่าเป็นเหมือน “การสอนนกไนติงเกลเสียงหวานให้ร้องเสียงแหบห้าวเหมือนอีกา”!
ในต้นฉบับภาษาฮีบรู โอลีเวตองได้พบพระนามของพระเจ้าในรูปเททรากรัมมาทอนหลายพันครั้ง. เขาเลือกแปลพระนามนี้ว่า “ผู้ทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์” ซึ่งต่อมากลายเป็นคำที่นิยมใช้กันในคัมภีร์ไบเบิลภาษาฝรั่งเศสของโปรเตสแตนต์. อย่างไรก็ตาม ในข้อคัมภีร์หลายข้อเขาเลือกใช้คำ “ยะโฮวา” โดยเฉพาะที่เอ็กโซโด 6:3.
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1535 หลังจากทำงานแปลได้เพียงหนึ่งปีหรือราว ๆ นั้น โอลีเวตองก็ประกาศว่างานของเขาเสร็จสิ้นแล้ว! เนื่องจากโอลีเวตองยอมรับว่าก่อนหน้านี้เขาได้เริ่ม “ทำงานที่เหนื่อยยากนี้ [งานแปล] มานานแล้วโดยลำพัง” จึงเป็นไปได้ว่าช่วงปี 1534/1535 คือโค้งสุดท้ายของงานที่เขาพากเพียรทำมาตลอดหลายปี. โอลีเวตองกล่าวอย่างถ่อมตนว่า “ข้าพเจ้าทำสุดความสามารถแล้ว.” ต่อจากนี้ก็เหลือเพียงการจัดพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลภาษาฝรั่งเศสฉบับแรกซึ่งข้อความส่วนใหญ่แปลจากภาษาดั้งเดิม.
โรงพิมพ์ของปีโร
ผู้ที่เข้ามามีบทบาทในเวลาต่อมาคือปีแยร์ เดอ แวงเกลอ หรือที่รู้จักในชื่อปีโร ปีการ์. เขาเป็นเพื่อนคนหนึ่งของฟาเรลและเป็นช่างพิมพ์ที่สนับสนุนกลุ่มปฏิรูปศาสนา. หลังจากถูกคริสตจักรคาทอลิกขับไล่ออกจากเมืองลียง เขาได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองเนอชาแตล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1533. ก่อนหน้านี้เขาได้เริ่มผลิตสิ่งพิมพ์จำนวนมากที่ “เป็นภัยต่อศาสนา” ด้วยเงินสนับสนุนจากพวกวัลเดนส์. ตัวอย่างเช่น โรงพิมพ์ของเขาได้ผลิตโปสเตอร์โจมตีพิธีมิสซา. โปสเตอร์เหล่านี้บางส่วนได้ตกอยู่ในมือของกษัตริย์ฟรานซิสที่ 1 แห่งฝรั่งเศสซึ่งเป็นคาทอลิก.
เดอ แวงเกลอเริ่มงานพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้เป็นการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิล! เพื่อให้งานเร็วขึ้น เขาได้แบ่งคนงาน
เป็นสองกลุ่ม กลุ่มละสี่ถึงห้าคน. คนงานเหล่านี้ช่วยกันเรียงตัวพิมพ์และพิมพ์ออกมาทีละหน้า. ในที่สุด “วันที่ 4 มิถุนายน ปี 1535” เดอ แวงเกลอก็ได้ลงชื่อในคัมภีร์ไบเบิลฉบับโอลีเวตองในฐานะผู้จัดพิมพ์. ในหน้าคำนำ ผู้แปลได้อุทิศผลงานของเขาให้แก่เหล่าผู้เชื่อถือที่น่าสงสาร “ซึ่งถูกกดขี่และต้องทนทุกข์” เนื่องจาก “ธรรมเนียมประเพณีที่ไร้ค่า.”ผลงานที่ออกมาเป็นไปตามที่คาดหมายไว้ทุกประการ. นอกจากจะแปลด้วยภาษาฝรั่งเศสที่สละสลวยและเข้าใจง่ายแล้ว ยังมีอีกหลายสิ่งที่ช่วยให้คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้น่าอ่านยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอักษรกอทิกที่คมชัดสวยงาม หรือการแบ่งหน้ากระดาษเป็นสองคอลัมน์โดยแยกเป็นบทและวรรค. หมายเหตุริมหน้ากระดาษบอกให้รู้ว่าผู้แปลทำงานอย่างละเอียดถี่ถ้วนและแม่นยำมาก. นอกจากนั้น คำนำ ภาคผนวก ตาราง และบทกวี ยังทำให้ผลงานชิ้นนี้น่าสนใจยิ่งขึ้น. ตอนท้ายเล่ม ผู้แปลได้แต่งบทกลอนสั้น ๆ โดยใช้อักษรกล ซึ่งเมื่อนำอักษรตัวแรกของแต่ละบาทมารวมกันก็จะถอดความได้ว่า “วัลเดนส์ เหล่าผู้เผยแพร่กิตติคุณ ได้มอบทรัพย์อันล้ำค่านี้ไว้ในมือของสาธารณชนแล้ว.”
ผลงานอันทรงคุณค่า. . .ทว่าล้มเหลว
ผลงานของโอลีเวตองซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกเยาะเย้ย ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันถ้วนหน้าว่าเป็นผลงานอันทรงคุณค่าของผู้แปลที่ปราดเปรื่อง. นอกจากนี้ งานแปลของเขายังเป็นต้นแบบสำหรับการแปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับต่าง ๆ ของโปรเตสแตนต์มานานถึงสามร้อยปี.
แม้จะพิมพ์ออกมาราว ๆ หนึ่งพันเล่ม แต่คัมภีร์ไบเบิลฉบับโอลีเวตองกลับขายได้น้อยมาก. ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไม่มีแผนการจัดจำหน่ายอย่างเป็นระบบ และในช่วงนั้นภาษาฝรั่งเศสมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว. เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ใหญ่และหนักถึง 5 กิโลกรัมจึงไม่เหมาะที่ผู้เดินทางเผยแพร่ศาสนาจะพกพาไปด้วย และยังลำบากสำหรับคนที่ต้องอ่านอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ.
แม้ตำรวจจะพบคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ในบ้านของโกแลง เปลองในฝรั่งเศสอย่างที่กล่าวในตอนต้น แต่ความจริงแล้วการจำหน่ายคัมภีร์ไบเบิลฉบับโอลีเวตองถือว่าล้มเหลว. เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 150 ปี คือในปี 1670 ร้านหนังสือแห่งหนึ่งในเมืองเจนีวาก็ยังขายพระคัมภีร์ฉบับนี้อยู่.
“บุรุษนิรนามที่ไร้หลักแหล่ง”
เมื่อโอลีเวตองแปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้เสร็จแล้วก็ไม่มีใครได้ยินชื่อเขาอีกเลย. อย่างไรก็ตาม เขาได้แก้ไขพระคัมภีร์ของเขาทั้งภาคพันธสัญญาใหม่และบางส่วนของพันธสัญญาเดิมหลายครั้งโดยใช้นามแฝง. นอกจากนั้น เขายังทุ่มเททำงานที่เขารักอีกอย่างหนึ่งคืองานสอน. ด้วยใจที่รักความเป็นครู เขาได้ปรับปรุงคู่มือสำหรับเยาวชน (ภาษาฝรั่งเศส) ซึ่งเป็นหนังสือที่สอนให้เยาวชนรู้จักหลักศีลธรรมและเป็นแบบหัดอ่านภาษาฝรั่งเศสโดยอาศัยเรื่องราวจากพระคัมภีร์. นามแฝงหนึ่งที่เขาใช้คือ เบลีเซม เด เบลีมากอม ซึ่งหมายความว่า “บุรุษนิรนามที่ไร้หลักแหล่ง.”
โอลีเวตองเสียชีวิตในปี 1538 เมื่ออายุเพียง 30 ต้น ๆ ซึ่งอาจเป็นที่กรุงโรม. มีไม่กี่คนในทุกวันนี้ที่รู้ว่าครูหนุ่มผู้ปราดเปรื่องจากแคว้นปีการ์ดีคนนี้มีบทบาทสำคัญในการจัดพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลภาษาฝรั่งเศส. ชื่อของเขาแทบไม่ปรากฏในพจนานุกรมเล่มใด. ด้วยเหตุนี้ ไม่แปลกเลยที่หลุยส์ โรแบร์ ผู้มีฉายาว่าโอลีเวตองจะเรียกตัวเองว่า “ผู้แปลที่ต่ำต้อย”!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 เพื่อจะเข้าใจว่าพวกวัลเดนส์มาเข้ากับโปรเตสแตนต์ได้อย่างไร โปรดดูหอสังเกตการณ์ 15 มีนาคม 2002 หน้า 20-23.
^ วรรค 7 ชื่อเดิมของปิแยร์คือ หลุยส์ โรแบร์. ส่วนฉายาโอลีเวตอง ดูเหมือนว่ามาจากการที่เขาชอบใช้น้ำมันมะกอกจุดตะเกียงเมื่อทำงานในยามค่ำคืน.
[ที่มาของภาพหน้า 18]
Archives de la Ville de Neuchâtel Suisse/Photo: Stefano Iori
[ที่มาของภาพหน้า 19]
Left photo: Alain Leprince - La Piscine-musée Roubaix/Courtesy of the former Bouchard Museum Paris
Center and right: Société de l’Histoire du Protestantisme Français Paris
[ที่มาของภาพหน้า 20]
Société de l’Histoire du Protestantisme Français Paris