กรุงเยรูซาเลมโบราณถูกทำลายเมื่อไร?—ตอน 1
กรุงเยรูซาเลมโบราณถูกทำลายเมื่อไร?—ตอน 1
ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ? หลักฐานแสดงให้เห็นอะไร?
บทความนี้เป็นตอนแรกในชุดบทความสองตอนที่จะลงติดต่อกันในหอสังเกตการณ์ ซึ่งพิจารณาคำถามของผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปีที่กรุงเยรูซาเลมโบราณถูกทำลาย. ชุดบทความสองตอนนี้จะตอบคำถามที่ผู้อ่านบางคนสงสัยโดยอาศัยการค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนและหลักฐานจากคัมภีร์ไบเบิล.
“นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีส่วนใหญ่ยอมรับกันว่าปี 586 หรือ 587 ก่อน ส.ศ. เป็นปีที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย. * แต่ทำไมพยานพระยะโฮวาจึงบอกว่าเป็นปี 607 ก่อน ส.ศ.? พวกคุณมีหลักฐานอะไร?”
ผู้อ่านคนหนึ่งเขียนมาถามดังข้างต้น. แต่ทำไมเราควรสนใจว่ากษัตริย์นะบูคัดเนซัรที่ 2 แห่งบาบิโลนมาทำลายกรุงเยรูซาเลมจริง ๆ ในปีไหน? ประการแรก เนื่องจากเหตุการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอลประชาชนของพระเจ้า. นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งบอกว่าเหตุการณ์นี้นำไปสู่ “ความหายนะ ซึ่งเป็นความหายนะครั้งร้ายแรงที่สุด.” ปีนั้นเป็นจุดจบของพระวิหารซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการนมัสการพระเจ้าองค์ใหญ่ยิ่งมานานกว่า 400 ปี. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญในคัมภีร์ไบเบิลคร่ำครวญว่า “พวกเขาได้ทำให้พระวิหารบริสุทธิ์ของพระองค์เป็นมลทิน พวกเขาได้ทำให้เยรูซาเล็มเป็นที่ปรักหักพัง.”—บทเพลงสรรเสริญ 79:1, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน *
ประการที่สอง การรู้ว่า “ความหายนะครั้งร้ายแรงที่สุด” เกิดขึ้นในปีใดจริง ๆ และได้เห็นว่าคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องการฟื้นฟูการนมัสการแท้ในกรุงเยรูซาเลมสำเร็จเป็นจริงอย่างถูกต้องจะช่วยให้คุณมั่นใจในความน่าเชื่อถือของพระคำของพระเจ้า. แล้วทำไมปีที่พยานพระยะโฮวาระบุว่าเป็นพินาศกรรมของกรุงเยรูซาเลมจึงต่างจากปีที่นักประวัติศาสตร์ทั่วไปยอมรับกันถึง 20 ปี? คำตอบสั้น ๆ คือพยานฯ อาศัยหลักฐานที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล.
“เจ็ดสิบปี” ของใคร?
หลายปีก่อนกรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย ยิระมะยาห์ผู้พยากรณ์ชาวยิวได้ให้ข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยในการคำนวณเวลาของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล. ท่านเตือน “ชาวเยรูซาเล็มทั้งสิ้น” ดังนี้: “แผ่นดินนี้ทั้งสิ้นจะเป็นที่เริศร้างและทิ้งร้างและบรรดาประชาชาติเหล่านี้จะปรนนิบัติกษัตริย์กรุงบาบิโลนอยู่เจ็ดสิบปี.” (ยิระมะยา 25:1, 2, 11, ฉบับ R73) ผู้พยากรณ์ยิระมะยาห์ยังกล่าวในภายหลังอีกว่า “พระยะโฮวาตรัสว่า ‘เมื่อเจ้าทั้งหลายอยู่ที่บาบิโลนครบ 70 ปีแล้ว เราจะระลึกถึงพวกเจ้าและเราจะทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับพวกเจ้าว่าจะพาพวกเจ้ากลับมาที่นี่.’ ” (ยิระมะยา 29:10, ล.ม.) ช่วง “เจ็ดสิบปี” นี้มีความสำคัญอย่างไร? ช่วงเวลานี้ช่วยเราระบุปีที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลายได้อย่างไร?
คัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่แปลข้อนี้ว่า 70 ปี “แห่งบาบิโลน” (ฉบับ R73) แทนที่จะแปลว่า “ที่บาบิโลน.” ดังนั้น นักประวัติศาสตร์บางคนจึงอ้างว่าช่วงเวลานี้หมายถึง 70 ปีของจักรวรรดิบาบิโลน. ตามการลำดับเวลาของนักวิชาการส่วนใหญ่ จักรวรรดิบาบิโลนครอบครองแผ่นดินยูดาห์และกรุงเยรูซาเลมโบราณอยู่ 70 ปี คือตั้งแต่ประมาณปี 609 ก่อน ส.ศ. จนถึงปี 539 ก่อน ส.ศ. เมื่อเมืองหลวงของบาบิโลนถูกพิชิต.
อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลแสดงว่า 70 ปีนั้นเป็นช่วงแห่งการพิพากษาลงโทษอย่างรุนแรงจากพระเจ้าต่อประชาชนชาวยูดาห์และเยรูซาเลม เพราะพวกเขาไม่ได้เชื่อฟังพระเจ้าตามที่ได้สัญญาไว้กับพระองค์. (เอ็กโซโด 19:3-6) เมื่อพวกเขาไม่ยอมหันกลับจากแนวทางที่ชั่วช้า พระเจ้าจึงตรัสว่า “เราจะใช้ . . . นะบูคัดเนซัรกษัตริย์เมืองบาบูโลน . . . มาต่อสู้ประเทศนี้, แลต่อสู้ชาวเมืองประเทศนี้, แลต่อสู้บรรดาเมืองทั้งปวงอันล้อมรอบนั้น.” (ยิระมะยา 25:4, 5, 8, 9) แม้ชาติต่าง ๆ รอบข้างจะถูกบาบิโลนยึดครองเช่นกัน แต่ยิระมะยาห์เรียกความพินาศของกรุงเยรูซาเลมและการเนรเทศเป็นเวลา 70 ปีที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาว่าเป็น “โทษทัณฑ์ของประชาชนของข้าพเจ้า” อันเนื่องมาจาก “บาปใหญ่หลวง” ของกรุงเยรูซาเลม.—บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 1:8; 3:42; 4:6, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน
ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลชี้ให้เห็นว่าช่วง 70 ปีนั้นเป็นช่วงแห่งการลงโทษที่รุนแรงสำหรับชาวยูดาห์และพระเจ้าทรงใช้ชาวบาบิโลนเป็นเครื่องมือในการลงทัณฑ์พวกเขา. ถึงกระนั้น พระเจ้าบอกชาวยิวว่า “เมื่อครบถ้วนเจ็ดสิบปี . . . เราจะ . . . กระทำให้พวกเจ้ากลับมาถึงที่นี่” ซึ่งก็คือแผ่นดินยูดาห์และกรุงเยรูซาเลม.—ยิระมะยา 29:10
“เจ็ดสิบปี” เริ่มเมื่อไร?
เอษรา นักประวัติศาสตร์ผู้ได้รับการดลใจจากพระเจ้ามีชีวิตอยู่หลังจากคำพยากรณ์ของยิระมะยาห์เรื่อง 70 ปีสำเร็จเป็นจริง. เขาได้เขียนเกี่ยวกับกษัตริย์นะบูคัดเนซัรว่า “บรรดาคนที่เหลืออยู่ผู้รอดชีวิตจากคมดาบถูกจับกุมตัวไปที่บาบิโลนเป็นเชลยของกษัตริย์และบรรดาโอรสของพระองค์จวบจนอาณาจักรเปอร์เซียขึ้นมามีอำนาจ แผ่นดินได้ชื่นชมกับสะบาโตแห่งการหยุดพักตลอดช่วงปีที่เริศร้างอยู่จนครบเจ็ดสิบปีตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสไว้ผ่านทางเยเรมีย์.”—2 โครนิกา 36:20, 21, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย
ดังนั้น 70 ปีจะเป็นเวลาที่แผ่นดินยูดาห์และกรุงเยรูซาเลมได้ชื่นชมกับ “สะบาโตแห่งการหยุดพัก.” นี่หมายความว่าในช่วงดังกล่าวแผ่นดินยูดาห์จะไม่มีการเพาะปลูกใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหว่านพืชหรือการตัดแต่งเถาองุ่น. (เลวีติโก 25:1-5, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) เนื่องจากประชาชนของพระเจ้าไม่เชื่อฟังและทำบาปต่อพระองค์ซึ่งอาจรวมถึงการละเมิดกฎหมายเรื่องปีซะบาโต พระเจ้าจึงลงโทษโดยให้แผ่นดินของพวกเขาร้างเปล่าไม่มีการเพาะปลูกเป็นเวลา 70 ปี.—เลวีติโก 26:27, 32-35, 42, 43
แผ่นดินยูดาห์กลายเป็นที่ร้างเปล่าและไม่มีการเพาะปลูกเมื่อไร? จริง ๆ แล้ว กองทัพบาบิโลนภายใต้การนำของนะบูคัดเนซัรได้โจมตีกรุงเยรูซาเลมถึงสองครั้งในช่วงเวลาที่ห่างกันหลายปี. ช่วง 70 ปีเริ่มต้นเมื่อไร? แน่นอนว่าไม่ใช่ตอนที่นะบูคัดเนซัรมาล้อมกรุงเยรูซาเลมครั้งแรก. เพราะเหตุใด? เพราะในครั้งนี้ถึงแม้นะบูคัดเนซัรจะนำเชลยจำนวนมากจากเยรูซาเลมไปยังบาบิโลน แต่เขาก็ยังปล่อยให้ชาวยิวส่วนหนึ่งอยู่ในแผ่นดินนั้นต่อไปและยังไม่ได้ทำลายกรุงเยรูซาเลม. หลายปีหลังจากที่ชาวยิวถูกเนรเทศครั้งแรก ยังมี “ราษฎรที่ยากไร้ที่สุด” เหลืออยู่ในแผ่นดินยูดาห์. (2 กษัตริย์ 24:8-17, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) แต่แล้วเหตุการณ์ก็พลิกผัน.
ชาวยิวก่อกบฏ กองทัพบาบิโลนจึงกลับมาโจมตีกรุงเยรูซาเลมอีกครั้ง. (2 กษัตริย์ 24:20; 25:8-10) คราวนี้พวกเขาทำลายกรุงเยรูซาเลมและพระวิหารศักดิ์สิทธิ์จนราบคาบ และพวกเขาได้นำชาวเมืองจำนวนมากไปเป็นเชลยที่บาบิโลน. ภายในสองเดือน “ประชากรทั้งหมด [ที่ยังเหลืออยู่ในแผ่นดินยูดาห์] ตั้งแต่ผู้น้อยที่สุดจนถึงผู้ใหญ่ที่สุดพร้อมทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่กองทัพก็หนีไปยังอียิปต์เพราะกลัวชาวบาบิโลน.” (2 กษัตริย์ 25:25, 26, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนที่เจ็ดของชาวยิวซึ่งเรียกว่าทิชรี (กันยายน/ตุลาคม). ตอนนี้เองที่แผ่นดินยูดาห์ร้างเปล่าไม่มีการเพาะปลูกใด ๆ และได้ชื่นชมกับซะบาโตแห่งการหยุดพักจริง ๆ. พระเจ้าทรงใช้ยิระมะยาห์ให้บอกกับชาวยิวที่หนีไปยังอียิปต์ว่า “เจ้าทั้งหลายได้เห็นบรรดาเหตุร้ายที่เรานำมาเหนือกรุงเยรูซาเล็มและเหนือหัวเมืองยูดาห์ ทั้งสิ้น ดูเถิดทุกวันนี้เมืองเหล่านั้นก็เป็นที่ร้างเปล่าไม่มีผู้ใดอาศัยอยู่ในนั้น.” (ยิระมะยา 44:1, 2, ฉบับ R73) ดังนั้น ช่วงเวลา 70 ปีคงต้องเริ่มต้นในตอนนี้เอง. นั่นคือปีอะไร? เพื่อจะรู้คำตอบ เราต้องรู้ก่อนว่าช่วงเวลานี้สิ้นสุดลงเมื่อไร.
“เจ็ดสิบปี” สิ้นสุดลงเมื่อไร?
ผู้พยากรณ์ดานิเอลซึ่งมีชีวิตอยู่จนถึง “สมัยที่อาณาจักรเปอร์เซียขึ้นมามีอำนาจ” เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในบาบิโลนเวลานั้นและท่านได้คำนวณว่าช่วง 70 ปีจะสิ้นสุดลงเมื่อไร. ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้า, ดานิเอล, ได้เข้าใจจากทะเบียนบันทึกปี, ซึ่งจารึกพระดำรัสของพระเจ้าที่ได้มีมายังยิระมะยา, ศาสดาพยากรณ์, กล่าวถึงความร้างของกรุงยะรูซาเลมครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์.”—ดานิเอล 9:1, 2
เอษราได้ศึกษาคำพยากรณ์ของยิระมะยาห์และเชื่อมโยงเวลาสิ้นสุดของช่วง “เจ็ดสิบปี” เข้ากับเวลาที่ “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงดลพระทัยกษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซียให้ออกประกาศ.” (2 โครนิกา 36:21, 22, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) ชาวยิวถูกปล่อยเป็นอิสระเมื่อไร? หมายประกาศที่สั่งให้ปล่อยชาวยิวจากการเป็นเชลยออกมาใน “ปีแรกแห่งรัชกาลไซรัสพระราชาของเปอร์เซีย.” (ดูกรอบ “ปีที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์.”) ด้วยเหตุนี้ พอถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 537 ก่อน ส.ศ. ชาวยิวจึงได้กลับไปยังกรุงเยรูซาเลมเพื่อฟื้นฟูการนมัสการแท้.—เอษรา 1:1-5; 2:1; 3:1-5, ฉบับ R73
ดังนั้น ตามลำดับเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิล 70 ปีที่ยิระมะยาห์พยากรณ์สิ้นสุดลงในปี 537 ก่อน ส.ศ. และเมื่อนับย้อนไป 70 ปี ก็จะมาถึงปี 607 ก่อน ส.ศ. ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงเวลานี้.
แต่ถ้าหลักฐานจากพระคัมภีร์ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจชี้ว่าปี 607 ก่อน ส.ศ. คือปีที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย ทำไมผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงบอกว่าเป็นปี 587 ก่อน ส.ศ.? นั่นเป็นเพราะพวกเขาอาศัยข้อมูลจากสองแหล่งคือ งานเขียน
ของนักประวัติศาสตร์ในยุคกรีกและโรมัน และรายชื่อกษัตริย์ที่ปโตเลมีรวบรวมไว้. ข้อมูลจากทั้งสองแหล่งนี้น่าเชื่อถือกว่าคัมภีร์ไบเบิลไหม? ให้เรามาดูกัน.ข้อมูลของนักประวัติศาสตร์ยุคกรีกและโรมันถูกต้องแค่ไหน?
นักประวัติศาสตร์ซึ่งมีชีวิตอยู่ใกล้สมัยที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลายให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับกษัตริย์แห่งจักรวรรดิบาบิโลนใหม่. * (ดูกรอบ “กษัตริย์แห่งจักรวรรดิบาบิโลนใหม่.”) การลำดับเวลาโดยอาศัยข้อมูลของนักประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่ตรงกับการลำดับเวลาในคัมภีร์ไบเบิล. แต่ข้อมูลของพวกเขาเชื่อถือได้แค่ไหน?
นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ใกล้กับยุคบาบิโลนใหม่มากที่สุดคือเบอรอสซุส ชาวบาบิโลนซึ่งเป็น “นักบวชแห่งพระบาละ.” งานเขียนของเขาที่ชื่อ Babyloniaca ซึ่งเขียนขึ้นประมาณปี 281 ก่อน ส.ศ. สูญหายไปแล้ว แต่ข้อความบางส่วนยังคงถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวในงานเขียนของนักประวัติศาสตร์คนอื่น ๆ. เบอรอสซุสอ้างว่าผลงานของเขาอาศัยข้อมูลจาก “หนังสือต่าง ๆ ที่มีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในบาบิโลน.”1 เบอรอสซุสเป็นนักประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้จริง ๆ ไหม? ขอพิจารณาตัวอย่างหนึ่ง.
เบอรอสซุสเขียนว่าซันเฮริบแห่งอัสซีเรียเป็นกษัตริย์หลังจาก “การครองราชย์ของพระเชษฐา” และ “หลังจากนั้นราชบุตร [เอซัรฮัดโดนปกครองเป็นเวลา] 8 ปี และต่อมา ซัมมูเกส [ชามาช-ชูมา-อูคิน] 21 ปี.” (III 2.1, 4) อย่างไรก็ตาม เอกสารทางประวัติศาสตร์ของบาบิโลนที่เขียนขึ้นนานก่อนสมัยของเบอรอสซุสบอกว่า ซันเฮริบเป็นกษัตริย์ต่อจากซาร์กอนที่ 2 พระราชบิดา ไม่ใช่พระเชษฐา ส่วนเอซัรฮัดโดนก็ปกครองอยู่ 12 ปีไม่ใช่ 8 ปี และชามาช-ชูมา-อูคินปกครอง 20 ปีไม่ใช่ 21 ปี. นักวิชาการคนหนึ่งชื่อ อาร์. เจ. วาน เดอ สเปก ยอมรับว่าเบอรอสซุสได้อาศัยข้อมูลจากพงศาวดารของบาบิโลน แต่สเปกก็เขียนว่า “สิ่งนี้ไม่อาจรับประกันได้ว่าเขาจะไม่ใส่ข้อมูลอื่น ๆ หรือความคิดเห็นส่วนตัวเข้าไป.”2
นักวิชาการคนอื่น ๆ มองเบอรอสซุสอย่างไร? เอส. เอ็ม. เบอร์สไตน์ผู้ได้ศึกษาผลงานของเบอรอสซุสอย่างละเอียดถี่ถ้วนให้ความเห็นว่า “ผู้คนยอมรับกันมานานแล้วว่าเบอรอสซุสเป็นนักประวัติศาสตร์.” แต่เบอร์สไตน์สรุปว่า “ผลงานของเขาไม่แม่นยำพอที่จะทำให้เขาเป็นนักประวัติศาสตร์ได้. แม้แต่ข้อมูลบางส่วนจาก Babyloniaca ที่ยังเหลืออยู่ก็ยังมีข้อผิดพลาดมากมายอย่างไม่น่าเชื่อทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐาน . . . สำหรับนักประวัติศาสตร์แล้วข้อผิดพลาดเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ ดังนั้น ผลงานของเบอรอสซุสจึงไม่น่าจะเขียนขึ้นเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์.”3
เมื่อพิจารณาเรื่องทั้งหมดนี้ คุณคิดอย่างไร? การคำนวณของเบอรอสซุสถูกต้องแม่นยำทั้งหมดไหม? แล้วจะว่าอย่างไรกับนักประวัติศาสตร์ยุคกรีกและโรมันคนอื่น ๆ ที่อาศัยข้อเขียนของเบอรอสซุสเป็นหลักในการลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ? ข้อสรุปในหนังสือของนักประวัติศาสตร์เหล่านี้จะเชื่อถือได้จริง ๆ ไหม?
รายชื่อของปโตเลมี
คลาวดิอุส ปโตเลมี นักดาราศาสตร์ในศตวรรษที่สองสากลศักราชได้รวบรวมรายชื่อของกษัตริย์บาบิโลนไว้. รายชื่อนี้เป็นข้อมูลอีกอย่างหนึ่งที่พวกผู้เชี่ยวชาญใช้เพื่อสนับสนุนปี 587 ก่อน ส.ศ. รายชื่อของปโตเลมีถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญในการลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์รวมถึงช่วงเวลาที่จักรวรรดิบาบิโลนใหม่ปกครอง.
ปโตเลมีทำรายชื่อนี้ขึ้นหลังจากจักรวรรดิบาบิโลนใหม่ล่มสลายไปแล้วราว ๆ 600 ปี. ดังนั้น เขารู้ได้อย่างไรว่ากษัตริย์องค์แรกในรายชื่อที่เขาทำขึ้นเริ่มครองราชย์ปีไหน? ปโตเลมีอธิบายว่า โดยใช้วิธีคำนวณทางดาราศาสตร์รวมถึงการเกิดจันทรุปราคา “เราได้นับเวลาย้อนไปจนถึงต้นรัชกาลของนะโบนัสซาร์” ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์แรกในรายชื่อของเขา.4 ดังนั้น คริสโตเฟอร์ วอล์กเกอร์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งบริเตนกล่าวว่ารายชื่อของปโตเลมีเป็น “บันทึกคร่าว ๆ ที่เขาทำขึ้นเพื่อช่วยให้นักดาราศาสตร์เห็นลำดับเวลาที่แน่นอนของเหตุการณ์ต่าง ๆ” และ “ไม่ได้เป็นบันทึกที่ถูกต้องแม่นยำเกี่ยวกับการขึ้นครองราชย์และการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ซึ่งนักประวัติศาสตร์จะนำไปใช้ได้.”5
เลโอ เดอปาวด์ ศาสตราจารย์คนหนึ่งที่เชื่อถือและสนับสนุนผลงานของปโตเลมีมาตลอดเขียนว่า “รายชื่อของปโตเลมีเป็นที่ยอมรับกันมานานแล้วว่าถูกต้องแม่นยำในทางดาราศาสตร์. แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารายชื่อนี้จะถูกต้องแม่นยำทางประวัติศาสตร์ ด้วย.” เดอปาวด์กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับชื่อกษัตริย์องค์แรก ๆ [ซึ่งรวมถึงกษัตริย์ของจักรวรรดิบาบิโลนใหม่] รายชื่อนี้ยังต้องนำไปเทียบกับเอกสารอักษรรูปลิ่มอีกครั้งเพื่อจะรู้ว่ากษัตริย์แต่ละองค์ขึ้นครองราชย์เมื่อไร.”6
“เอกสารอักษรรูปลิ่ม” ที่เราสามารถใช้ตรวจสอบความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ของรายชื่อที่ปโตเลมีทำขึ้นคืออะไร? เอกสารนี้คือบันทึกต่าง ๆ ที่นักคัดลอกในยุคบาบิโลนใหม่หรือยุคใกล้เคียงได้ทำขึ้นโดยใช้อักษรรูปลิ่ม ซึ่งรวมถึงพงศาวดาร รายชื่อกษัตริย์ และแผ่นจารึกข้อมูลเกี่ยวกับการค้าขายของบาบิโลนใหม่.7
รายชื่อของปโตเลมีเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับบันทึกในเอกสารอักษรรูปลิ่ม? กรอบข้างล่างนี้ ( “รายชื่อของปโตเลมีเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับแผ่นจารึกโบราณ?”) แสดงให้เห็นว่ารายชื่อกษัตริย์ที่ปโตเลมีรวบรวมไว้ต่างจากรายชื่อในเอกสารอักษรรูปลิ่มโบราณอย่างไร. ขอสังเกตว่าระหว่างรัชสมัยของกษัตริย์คานดาลานูกับนะโบไนดัส ปโตเลมีบันทึก ชื่อกษัตริย์ไว้เพียงสี่องค์เท่านั้น. แต่รายชื่อกษัตริย์ที่พบในเมืองอูรุกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารอักษรรูปลิ่มบอกให้รู้ว่ามีกษัตริย์ถึงเจ็ด องค์ที่ปกครองอยู่ในช่วงนั้น. กษัตริย์ที่ปโตเลมีไม่กล่าวถึงปกครองอยู่เพียงช่วงสั้น ๆ และไม่มีความสำคัญใด ๆ ไหม? บันทึกเกี่ยวกับการค้าขายบนแผ่นดินเหนียวแสดงว่ากษัตริย์องค์หนึ่งในจำนวนนั้นปกครองนานถึงเจ็ดปี.8
นอกจากนั้น เอกสารอักษรรูปลิ่มต่าง ๆ ที่ทำขึ้นก่อนสมัยของนะโบโพลัสซาร์ (กษัตริย์องค์แรกของจักรวรรดิบาบิโลนใหม่) ยังแสดงอย่างชัดเจนว่ามีกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง (อาชูร์-เอเทล-อีลานี) ที่ปกครองบาบิโลนเป็นเวลาสี่ปี และยังมีช่วงว่างเว้นซึ่งไม่มีกษัตริย์ปกครองแผ่นดินนี้นานกว่าหนึ่งปี.9 แต่ข้อมูลทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏในรายชื่อของปโตเลมีเลย.
เหตุใดปโตเลมีจึงไม่กล่าวถึงกษัตริย์บางองค์? ดูเหมือนเขาไม่ถือว่ากษัตริย์เหล่านี้เป็นผู้ครอบครองบาบิโลนโดยชอบธรรม.10 ตัวอย่างเช่น เขาไม่รวมชื่อลาบาชี-มาร์ดุก กษัตริย์องค์หนึ่งของบาบิโลนใหม่ไว้ในรายชื่อของเขา. แต่เอกสารอักษรรูปลิ่มแสดงว่ากษัตริย์ที่ปโตเลมีไม่กล่าวถึงเคยปกครองบาบิโลนจริง ๆ.
โดยรวมแล้ว รายชื่อของปโตเลมีถือว่าถูกต้อง. แต่จะใช้รายชื่อที่ไม่ครบถ้วนนี้เป็นข้อมูลหลักในการลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้จริง ๆ ไหม?
ข้อสรุปที่ได้จากหลักฐานเหล่านี้
สรุปคือ คัมภีร์ไบเบิลกล่าวชัดเจนว่าชาวยิวถูกเนรเทศไปเป็นเชลยนาน 70 ปี. มีหลักฐานหนักแน่นที่แสดงว่าชาวยิวได้กลับไปยังมาตุภูมิของตนในปี 537 ก่อน ส.ศ. ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับกัน. ถ้านับย้อนไป 70 ปีก็จะมาถึงปี 607 ก่อน ส.ศ. ซึ่งเป็นปีที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย. ถึงแม้นักประวัติศาสตร์ยุคกรีกโรมันและปโตเลมีจะบอกว่าเป็นปีอื่น แต่ผลงานของบุคคลเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะเชื่อถือได้จริง ๆ ในเรื่องความถูกต้องแม่นยำ. เห็นได้ชัดว่า หลักฐานจากทั้งสองแหล่งนี้ยังไม่หนักแน่นพอที่จะพิสูจน์ว่าการลำดับเวลาของคัมภีร์ไบเบิลผิดพลาด.
อย่างไรก็ตาม มีคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบอีกหลายข้อ. ตัวอย่างเช่น ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใด ๆ เลยหรือที่สนับสนุนบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งชี้ว่ากรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ.? เอกสารอักษรรูปลิ่มที่ตรวจสอบอายุได้ซึ่งเขียนโดยประจักษ์พยานในยุคโบราณแสดงให้เห็นอะไร? เราจะพิจารณาคำถามเหล่านี้ในฉบับหน้า.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 หนังสืออ้างอิงทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงทั้งสองปี แต่เพื่อให้เข้าใจง่ายในชุดบทความนี้เราจะพูดถึงปี 587 ก่อน ส.ศ. (ก่อน ส.ศ. หมายถึงก่อนสากลศักราช).
^ วรรค 5 พยานพระยะโฮวาได้จัดพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลที่น่าเชื่อถือและวางใจได้เรียกว่าพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่. อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไม่ใช่พยานพระยะโฮวา คุณอาจชอบใช้ฉบับแปลอื่นเมื่อพิจารณาเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล. บทความนี้จึงยกข้อคัมภีร์จากฉบับแปลต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง.
^ วรรค 23 กษัตริย์องค์แรกของจักรวรรดิบาบิโลนใหม่คือนะโบโพลัสซาร์ ราชบิดาของนะบูคัดเนซัร และองค์สุดท้ายคือนะโบไนดัส. ช่วงเวลาที่กษัตริย์เหล่านี้ปกครองเป็นช่วงที่นักประวัติศาสตร์ให้ความสนใจมากเพราะครอบคลุมระยะเวลาเกือบทั้งหมดของช่วง 70 ปีแห่งการร้างเปล่า.
[กรอบ/ภาพหน้า 28]
ปีที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์
ปี 539 ก่อน ส.ศ. ซึ่งเป็นปีที่กษัตริย์ไซรัสที่ 2 พิชิตบาบิโลน คำนวณได้โดยอาศัยหลักฐานสองแหล่งต่อไปนี้:
▪ บันทึกทางประวัติศาสตร์สมัยโบราณและแผ่นจารึกอักษรรูปลิ่ม: ไดโอโดรัสแห่งซิซิลี (ประมาณปี 80-20 ก่อน ส.ศ.) เขียนว่าไซรัสได้เป็นกษัตริย์แห่งเปอร์เซียใน “ปีแรกของปีโอลิมเปียดที่ห้าสิบห้า.” (Historical Library Book IX 21) ปีนั้นคือปี 560 ก่อน ส.ศ. เฮโรโดทุส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก (ประมาณปี 485-425 ก่อน ส.ศ.) กล่าวว่า ไซรัสถูกปลงพระชนม์ “หลังจากปกครองได้ยี่สิบเก้าปี” แสดงว่าไซรัสสิ้นพระชนม์ในปีที่ 30 แห่งการครองราชย์ ซึ่งตรงกับปี 530 ก่อน ส.ศ. (Histories Book I Clio 214) แผ่นจารึกอักษรรูปลิ่มบันทึกว่าไซรัสถูกปลงพระชนม์หลังจากปกครองบาบิโลนได้เก้าปี. ดังนั้น เมื่อนับถอยหลังไปเก้าปีจากปี 530 ก่อน ส.ศ. ก็จะมาถึงปี 539 ก่อน ส.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ไซรัสพิชิตบาบิโลนได้.
หลักฐานยืนยันจากแผ่นจารึกอักษรรูปลิ่ม: แผ่นดินเหนียวที่บันทึกข้อมูลทางดาราศาสตร์ของบาบิโลน (BM 33066) ยืนยันว่าปี 530 ก่อน ส.ศ. เป็นปีที่ไซรัสสิ้นพระชนม์. ถึงแม้แผ่นดินเหนียวนี้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งทางดาราศาสตร์ผิดพลาดไปบ้าง แต่ก็ได้บันทึกเรื่องการเกิดจันทรุปราคาสองครั้งในปีที่เจ็ดของกษัตริย์แคมบีซิสที่ 2 ซึ่งเป็นโอรสและผู้สืบตำแหน่งต่อจากไซรัส. จันทรุปราคาสองครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับที่ชาวบาบิโลนมองเห็นในวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 523 ก่อน ส.ศ. และวันที่ 10 มกราคม ปี 522 ก่อน ส.ศ. ฉะนั้น ปีที่เจ็ดแห่งการครองราชย์ของแคมบีซิสก็น่าจะเริ่มในฤดูใบไม้ผลิปี 523 ก่อน ส.ศ. และปีแรกของเขาก็จะต้องเป็นปี 529 ก่อน ส.ศ. เพราะฉะนั้น ปีสุดท้ายที่ไซรัสปกครองคือปี 530 ก่อน ส.ศ. และปีแรกที่เขาปกครองบาบิโลนก็คือปี 539 ก่อน ส.ศ.
[ที่มาของภาพ]
Tablet: © The Trustees of the British Museum
[กรอบหน้า 31]
ข้อสรุปที่ได้
▪ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักกล่าวว่ากรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 587 ก่อน ส.ศ.
▪ การลำดับเวลาของคัมภีร์ไบเบิลบ่งชี้อย่างชัดเจนว่ากรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ.
▪ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่อาศัยข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์ยุคกรีกโรมันและรายชื่อของปโตเลมี.
▪ ข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์ยุคกรีกโรมันมีข้อผิดพลาดที่สำคัญหลายอย่างและมักไม่ตรงกับบันทึกบนแผ่นดินเหนียว.
[กรอบหน้า 31]
เชิงอรรถ
1. Babyloniaca (Chaldaeorum Historiae) Book One 1.1.
2. Studies in Ancient Near Eastern World View and Society page 295.
3. The Babyloniaca of Berossus page 8.
4. Almagest III 7 translated by G. J. Toomer in Ptolemy’s Almagest published 1998 page 166. ปโตเลมีรู้ว่าเหล่านักดาราศาสตร์ชาวบาบิโลนใช้หลักคณิตศาสตร์ในการ “คำนวณ” เวลาเกิดจันทรุปราคาในอดีตและอนาคต เพราะพวกเขาได้พบว่าจันทรุปราคาจะเกิดขึ้นในลักษณะเดิมทุก ๆ 18 ปี.—Almagest IV 2.
5. Mesopotamia and Iran in the Persian Period pages 17-18.
6. Journal of Cuneiform Studies Volume 47 1995 pages 106-107.
7. อักษรรูปลิ่มเป็นระบบการเขียนบันทึกในสมัยโบราณซึ่งผู้คัดลอกจะใช้เหล็กปลายแหลมรูปลิ่มกดลงบนแผ่นดินเหนียวที่ยังอ่อนตัวอยู่ให้เป็นรูปหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ.
8. ซิน-ชาร์รา-อิชคุน ปกครองอยู่เจ็ดปี และมีการพบบันทึกเกี่ยวกับการค้าขายของกษัตริย์องค์นี้ 57 แผ่น ซึ่งทำขึ้นตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีที่เจ็ดแห่งรัชกาลของเขา. ดู Journal of Cuneiform Studies Volume 35 1983 pages 54-59.
9. บันทึกเกี่ยวกับการค้าขาย C.B.M. 2152 ทำขึ้นในปีที่สี่ของกษัตริย์อาชูร์-เอเทล-อีลานี. (Legal and Commercial Transactions Dated in the Assyrian Neo-Babylonian and Persian Periods—Chiefly From Nippur by A.T. Clay 1908 page 74.) นอกจากนี้ แผ่นจารึก Harran Inscriptions of Nabonidus (H1B) I บรรทัด 30, บันทึกชื่อของกษัตริย์องค์นี้ไว้ก่อนชื่อนะโบโพลัสซาร์. (Anatolian Studies Vol. VIII 1958 pages 35 47.) ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับช่วงที่ไม่มีกษัตริย์ปกครอง ดูได้จาก Chronicle 2 line 14 of Assyrian and Babylonian Chronicles pages 87-88.
10. ผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ความเห็นว่าปโตเลมีดูเหมือนตั้งใจรวบรวมเฉพาะรายชื่อกษัตริย์แห่งบาบิโลนเท่านั้น เขาจึงเจตนาไม่กล่าวถึงกษัตริย์บางองค์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “กษัตริย์แห่งอัสซีเรีย.” อย่างไรก็ตาม ในกรอบหน้า 30 คุณจะสังเกตว่ามีชื่อกษัตริย์บางองค์ที่เป็น “กษัตริย์แห่งอัสซีเรีย” รวมอยู่ในรายชื่อของปโตเลมีด้วย. บันทึกเกี่ยวกับการค้าขาย จดหมายที่จารึกด้วยอักษรรูปลิ่ม และข้อความจารึกต่าง ๆ ล้วนแสดงว่ากษัตริย์อาชูร์-เอเทล-อีลานี, ซิน-ชูมู-ลีชีร์, และซิน-ชาร์รา-อิชคุน เคยปกครองบาบิโลนจริง.
[ตาราง/ภาพหน้า 29]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
กษัตริย์แห่งจักรวรรดิบาบิโลนใหม่
ถ้านักประวัติศาสตร์เหล่านี้เชื่อถือได้ ทำไมข้อมูลของพวกเขาจึงไม่ตรงกัน?
กษัตริย์
นะโบโพลัสซาร์
เบอรอสซุส ป. 350-270 ก่อน ส.ศ. (21)
โพลีฮิสเตอร์ ป. 105-? ก่อน ส.ศ. (20)
โยเซฟุส ป. 37-?100 ส.ศ. (—)
ปโตเลมี ป. 100-170 ส.ศ. (21)
นะบูคัดเนซัรที่ 2
เบอรอสซุส ป. 350-270 ก่อน ส.ศ. (43)
โพลีฮิสเตอร์ ป. 105-? ก่อน ส.ศ. (43)
โยเซฟุส ป. 37-?100 ส.ศ. (43)
ปโตเลมี ป. 100-170 ส.ศ. (43)
อาเมล-มาร์ดุก
เบอรอสซุส ป. 350-270 ก่อน ส.ศ. (2)
โพลีฮิสเตอร์ ป. 105-? ก่อน ส.ศ. (12)
โยเซฟุส ป. 37-?100 ส.ศ. (18)
ปโตเลมี ป. 100-170 ส.ศ. (2)
เนรีกลิสซาร์
เบอรอสซุส ป. 350-270 ก่อน ส.ศ. (4)
โพลีฮิสเตอร์ ป. 105-? ก่อน ส.ศ. (4)
โยเซฟุส ป. 37-?100 ส.ศ. (40)
ปโตเลมี ป. 100-170 ส.ศ. (4)
ลาบาชี-มาร์ดุก
เบอรอสซุส ป. 350-270 ก่อน ส.ศ. (9 เดือน)
โพลีฮิสเตอร์ ป. 105-? ก่อน ส.ศ. (—)
โยเซฟุส ป. 37-?100 ส.ศ. (9 เดือน)
ปโตเลมี ป. 100-170 ส.ศ. (—)
นะโบไนดัส
เบอรอสซุส ป. 350-270 ก่อน ส.ศ. (17)
โพลีฮิสเตอร์ ป. 105-? ก่อน ส.ศ. (17)
โยเซฟุส ป. 37-?100 ส.ศ. (17)
ปโตเลมี ป. 100-170 ส.ศ. (17)
จำนวนปีที่ครองราชย์ตามบันทึกของนักประวัติศาสตร์ยุคกรีกโรมัน
[ที่มาของภาพ]
Photograph taken by courtesy of the British Museum
[แผนภูมิ/ภาพหน้า 30]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
รายชื่อของปโตเลมีเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับแผ่นจารึกโบราณ?
ชื่อกษัตริย์บางองค์ไม่ปรากฏในรายชื่อของปโตเลมี. เพราะเหตุใด?
รายชื่อกษัตริย์ของปโตเลมี
นะโบนัสซาร์
นะบู-นาดิน-เซรี (นะดีนู)
มูคิน-เซรีและพูละ
อูลูลายู (ซัลมัลเอเซ็รที่ 5) “กษัตริย์แห่งอัสซีเรีย”
เมโรดัค-บาลาดัน
ซาร์กอนที่ 2 “กษัตริย์แห่งอัสซีเรีย”
ช่วงแรกที่ไม่มีกษัตริย์ปกครอง
เบล-อิบนี
อาชูร์-นาดิน-ชูมี
เนร์กัล-อูเชซิบ
มูเชซิบ-มาร์ดุก
ช่วงที่สองที่ไม่มีกษัตริย์ปกครอง
เอซัรฮัดโดน “กษัตริย์แห่งอัสซีเรีย”
ชามาช-ชูมา-อูคิน
คานดาลานู
นะโบโพลัสซาร์
นะบูคัดเนซัร
อาเมล-มาร์ดุก
เนรีกลิสซาร์
นะโบไนดัส
ไซรัส
แคมบีซิส
รายชื่อกษัตริย์บนแผ่นจารึกโบราณที่พบในเมืองอูรุก
คานดาลานู
ซิน-ชูมู-ลีชีร์
ซิน-ชาร์รา-อิชคุน
นะโบโพลัสซาร์
นะบูคัดเนซัร
อาเมล-มาร์ดุก
เนรีกลิสซาร์
ลาบาชี-มาร์ดุก
นะโบไนดัส
[ภาพ]
พงศาวดารของบาบิโลนเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารอักษรรูปลิ่มที่ช่วยเราตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อที่ปโตเลมีทำขึ้น
[ที่มาของภาพ]
Photograph taken by courtesy of the British Museum
[ที่มาของภาพหน้า 31]
Photograph taken by courtesy of the British Museum