เธอเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องประชาชนของพระเจ้า
จงเลียนแบบความเชื่อของเขา
เธอเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องประชาชนของพระเจ้า
เอศเธระพยายามข่มใจให้สงบขณะเดินเข้าไปใกล้บริเวณที่ประทับของกษัตริย์ในพระราชวังที่กรุงชูชาน (ซูซัร). นี่ไม่ง่ายสำหรับเธอ. สิ่งที่เธอเห็นอยู่เบื้องหน้าคือภาพสลักนูนบนผนังซึ่งตกแต่งด้วยอิฐเคลือบหลากสี ทั้งภาพโคผู้มีปีก เหล่าพลธนู และภาพสิงโต. นอกจากนี้ยังมีเสาหินที่แกะเป็นลายเส้นตั้งตระหง่านเป็นแถวและรูปปั้นขนาดมหึมา. พระราชวังแห่งนี้ตั้งอยู่บนที่ราบกว้างใหญ่ใกล้เทือกเขาซากรอสที่มีหิมะปกคลุมและเบื้องล่างคือแม่น้ำโชอัสเพสที่ใสบริสุทธิ์. ทุกรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชวังนี้ล้วนถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้ผู้พบเห็นตระหนักถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่เกรียงไกรของบุรุษที่เธอกำลังจะไปพบ ผู้เรียกตัวเองว่า “จอมราชัน.” และบุรุษผู้นี้ยังเป็นสามีของเธอด้วย.
สามีหรือ? กษัตริย์อะหัศวะโรศช่างแตกต่างจากสามีที่หญิงสาวชาวยิวที่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าคนใดจะอยากได้เป็นคู่ครอง! * เขาไม่ได้ยึดถือแบบอย่างของอับราฮามผู้ถ่อมใจซึ่งยอมฟังซาราห์ภรรยาของตนตามการชี้นำของพระเจ้า. (เยเนซิศ 21:12) กษัตริย์องค์นี้แทบไม่รู้อะไรหรืออาจไม่รู้อะไรเลยด้วยซ้ำเกี่ยวกับพระยะโฮวาพระเจ้าของเอศเธระและกฎหมายต่าง ๆ ของพระองค์. แต่อะหัศวะโรศรู้จักกฎหมายของเปอร์เซียเป็นอย่างดี รวมถึงกฎหมายห้ามสิ่งที่เอศเธระกำลังจะทำนี้ด้วย. นั่นคือกฎหมายอะไร? คือกฎหมายที่ว่า ใครก็ตามที่เข้าเฝ้ากษัตริย์เปอร์เซียโดยไม่มีรับสั่งให้เข้าเฝ้าจะมีโทษถึงตาย. เอศเธระไม่ได้ถูกเรียกให้เข้าเฝ้า แต่เธอจะต้องเข้าเฝ้ากษัตริย์ให้ได้. ขณะที่เดินเข้าไปใกล้ท้องพระโรงซึ่งเป็นจุดที่กษัตริย์อาจมองเห็นเธอได้จากบัลลังก์ เอศเธระคงรู้สึกว่าตัวเองกำลังเดินไปสู่ความตาย.—เอศเธระ 4:11; 5:1
ทำไมเธอจึงต้องเสี่ยงชีวิตเช่นนั้น? และเราจะเรียนอะไรได้จากความเชื่อของหญิงสาวผู้โดดเด่นคนนี้? ก่อนอื่น ให้เรามาดูว่าหญิงสามัญชนอย่างเอศเธระกลายมาเป็นราชินีผู้สูงศักดิ์แห่งเปอร์เซียได้อย่างไร.
“รูปร่างงามและสะสวย”
เอศเธระเป็นเด็กกำพร้า. เราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพ่อแม่ของเธอซึ่งตั้งชื่อให้เธอว่าฮะดัดซา. ชื่อนี้ในภาษาฮีบรูหมายถึง “ต้นเมอร์เทิล” ซึ่งเป็นไม้พุ่มมีดอกสีขาวน่ารัก. หลังจากพ่อแม่ของเอศเธระเสียชีวิต มาระดะคายญาติผู้ใจดีได้รับหนูน้อยกำพร้าคนนี้มาเลี้ยงด้วยความสงสาร. มาระดะคายเป็นลูกพี่ลูกน้องของเอศเธระแต่อายุแก่กว่ามาก. เขารับเธอมาอยู่ที่บ้านและเลี้ยงเป็นลูกของตนเอง.—เอศเธระ 2:5-7, 15
มาระดะคายและเอศเธระอาศัยอยู่ในชูชานเมืองหลวงของเปอร์เซียในฐานะชาวยิวที่ถูกเนรเทศ. ดังนั้น คงมีบ้างที่ผู้คนในเมืองนี้จะปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างดูถูกดูแคลนเนื่องจากศาสนาและกฎหมายที่พวกเขายึดถือ. มาระดะคายคงได้พร่ำสอนเอศเธระเกี่ยวกับพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณา ผู้คอยช่วยเหลือประชาชนของพระองค์มาหลายต่อหลายครั้งในอดีตและจะทรงทำเช่นนั้นอีก. การใช้เวลาอยู่ด้วยกันเช่นนั้นคงทำให้ทั้งสองสนิทกันมาก. (เลวีติโก 26:44, 45) เห็นได้ชัดว่า เอศเธระและมาระดะคายมีความรักและความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น.
ดูเหมือนว่ามาระดะคายเป็นข้าราชการคนหนึ่งในพระราชวังที่กรุงชูชาน และเขามักจะนั่งอยู่ที่ประตูเมืองกับเอศเธระ 2:19, 21; 3:3) เราไม่รู้ว่าชีวิตวัยเด็กของเอศเธระเป็นอย่างไร แต่เราแน่ใจได้ว่าเธอคงดูแลพ่อบุญธรรมและบ้านของเขาเป็นอย่างดี. บ้านของพวกเขาคงไม่ได้อยู่ในเขตของคนร่ำรวยและอยู่คนละฝั่งแม่น้ำกับพระราชวัง. เอศเธระคงชอบไปเดินตลาดในกรุงชูชาน ซึ่งมีช่างทอง ช่างเงิน และพวกพ่อค้าเอาสินค้ามาวางขาย. เอศเธระคงคิดไม่ถึงว่าวันหนึ่งข้างหน้า ข้าวของสวยงามราคาแพงเช่นนั้นจะกลายเป็นสิ่งธรรมดาสำหรับเธอ. เธอไม่รู้เลยว่าอนาคตของตัวเองจะเป็นเช่นไร.
เหล่าข้าราชบริพารของกษัตริย์. (ราชินีถูกถอดออกจากตำแหน่ง
วันหนึ่ง มีข่าวเล่าลือไปทั่วกรุงชูชานว่าเกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นในราชสำนัก. กษัตริย์อะหัศวะโรศได้จัดงานเลี้ยงใหญ่ซึ่งมีอาหารชั้นเลิศและเหล้าองุ่นอย่างดีให้แก่บรรดาเจ้านายและขุนนางทั้งหลาย. กษัตริย์ได้สั่งให้คนไปเชิญพระนางวัศธีราชินีผู้เลอโฉมซึ่งกำลังกินเลี้ยงอยู่กับเหล่าสตรีมาเข้าเฝ้า. แต่พระนางวัศธีไม่ยอมเสด็จมา. กษัตริย์ทรงอับอายและกริ้วมากจึงถามเหล่าที่ปรึกษาว่าควรลงโทษพระนางวัศธีอย่างไร. ผลคือ นางถูกถอดออกจากตำแหน่งราชินี. จากนั้น ข้าราชสำนักหลายคนถูกส่งออกไปทั่วอาณาจักรเพื่อเสาะหาสาวพรหมจารีที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงามมาให้กษัตริย์เลือกเป็นราชินีองค์ใหม่.—เอศเธระ 1:1–2:4
เราอาจนึกภาพมาระดะคายมองดูเอศเธระด้วยความรักและเอ็นดู. เขาคงรู้สึกภูมิใจแต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้เมื่อเห็นว่าเด็กน้อยเอศเธระเติบโตขึ้นเป็นหญิงสาวที่งดงามยิ่งนัก. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า เธอ “รูปร่างงามและสะสวย.” (เอศเธระ 2:7) รูปร่างหน้าตาที่สวยงามเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ชื่นชม แต่ความสวยงามต้องมาพร้อมกับสติปัญญาและความถ่อมใจด้วย. มิฉะนั้นแล้ว ความสวยก็จะไม่มีค่าอะไรเลย แถมยังทำให้คนเรากลายเป็นคนหยิ่งและมีนิสัยที่น่ารังเกียจด้วย. (สุภาษิต 11:22) คุณเห็นว่าเรื่องนี้เป็นความจริงไหม? สำหรับเอศเธระ ความสวยของเธอจะเป็นคุณหรือเป็นโทษ? เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้.
คนของกษัตริย์สังเกตเห็นเอศเธระ. พวกเขาจึงเลือกเธอพร้อมกับสาวงามคนอื่น ๆ เพื่อนำไปยังพระราชวังซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ. เอศเธระจึงถูกพรากไปจากมาระดะคาย. (เอศเธระ 2:8) การจากกันครั้งนี้คงเป็นเรื่องยาก เพราะทั้งสองรักและผูกพันกันเหมือนเป็นพ่อลูกจริง ๆ. มาระดะคายคงไม่ต้องการให้ลูกสาวบุญธรรมแต่งงานกับคนที่ไม่นมัสการพระเจ้า แม้จะเป็นกษัตริย์ก็ตาม. แต่เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้. เอศเธระคงตั้งใจฟังและจดจำทุกถ้อยคำที่มาระดะคายสั่งสอนเธอเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจากกัน! ขณะที่ถูกนำตัวไปยังพระราชวังชูชาน เธอคงมีคำถามมากมายอยู่ในใจ. จากนี้ไปชีวิตของเธอจะเป็นอย่างไร?
เป็นที่โปรดปราน “ในสายตาของทุกคนที่ได้พบเห็น”
เอศเธระรู้สึกเหมือนกับถูกพาไปยังอีกโลกหนึ่งซึ่งเธอไม่เคยรู้จักหรือพบเห็นมาก่อน. เธอเป็นคนหนึ่งในหมู่ “หญิงสาวเป็นอันมาก” ซึ่งถูกเลือกมาจากที่ต่าง ๆ ทั่วจักรวรรดิเปอร์เซีย. ธรรมเนียม ภาษา และความคิดของหญิงสาวเหล่านี้แตกต่างกันมาก. พวกเธอถูกมอบให้อยู่ในการดูแลเอศเธระ 2:8, 12) เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นคงเป็นเรื่องง่ายที่หญิงสาวเหล่านี้จะกลายเป็นคนที่สนใจแต่เรื่องความสวยความงามที่ไร้แก่นสารและการแข่งขันชิงดีกัน. เอศเธระจะเป็นอย่างนั้นไหม?
ของเจ้าพนักงานชื่อเฮฆาย. เขาจะเตรียมหญิงสาวเหล่านี้ด้วยวิธีต่าง ๆ รวมทั้งการประทินผิวและนวดตัวด้วยน้ำมันหอมเป็นเวลาหนึ่งปี. (ไม่มีใครอีกแล้วที่ห่วงใยเอศเธระมากเท่ากับมาระดะคาย. คัมภีร์ไบเบิลเล่าว่า ทุก ๆ วันเขาพยายามเข้าไปใกล้ตึกของพวกผู้หญิงให้มากที่สุดเพื่อสืบถามข่าวคราวของเอศเธระ. (เอศเธระ 2:11) เมื่อได้ยินเรื่องราวของเธอแม้เพียงเล็กน้อยจากคนรับใช้ในตึกนั้นที่ให้ความช่วยเหลือ มาระดะคายคงต้องมีความสุขและภาคภูมิใจในตัวลูกสาวคนนี้มากทีเดียว. เพราะเหตุใด?
เอศเธระเป็นที่โปรดปรานของเฮฆาย เขาจึงช่วยเหลือและดูแลเธอเป็นอย่างดี. เขาให้สาวใช้เจ็ดคนคอยปรนนิบัติเธอและให้อยู่ในห้องพักที่ดีที่สุด. บันทึกในพระคัมภีร์ถึงกับกล่าวว่า เอศเธระ “ได้รับความโปรดปรานในสายตาของทุกคนที่ได้พบเห็น.” (เอศเธระ 2:9, 15, ฉบับแปลคิงเจมส์) เธอชนะใจทุกคนได้เพราะความสวยเพียงอย่างเดียวไหม? ไม่เลย เอศเธระมีสิ่งอื่นที่มีค่ายิ่งกว่าความสวย.
ตัวอย่างเช่น เราอ่านว่า “เอศเธระนั้นยังไม่ได้บอกว่าพี่น้องและวงศ์ญาติของตนเป็นผู้ใด: ด้วยว่ามาระดะคายได้ห้ามไม่ให้บอกแก่ผู้ใดให้รู้ความนั้น.” (เอศเธระ 2:10) มาระดะคายสั่งให้เธอระวังที่จะไม่บอกให้คนอื่นรู้ว่าเธอเป็นลูกหลานชาวยิว. เขารู้ว่าพวกขุนนางชั้นสูงชาวเปอร์เซียมีอคติอย่างมากต่อชาวยิว. มาระดะคายคงดีใจมากที่รู้ว่าเอศเธระยังคอยระวังตัวและเชื่อฟังเขาไม่เปลี่ยนแปลงแม้จะอยู่ไกลหูไกลตาเช่นนี้!
เด็กหนุ่มสาวในทุกวันนี้ก็อาจทำให้พ่อแม่หรือผู้ที่ปกครองดูแลเขาชื่นใจยินดีได้เช่นกัน. แม้จะอยู่ไกลสายตาพ่อแม่หรืออยู่ท่ามกลางคนที่สนใจแต่เรื่องไร้สาระ ไม่มีศีลธรรม หรือชั่วช้าเลวทราม พวกเขาก็ยังสามารถต้านทานอิทธิพลที่ไม่ดีและยึดมั่นกับมาตรฐานที่ถูกต้องของพระเจ้าตามที่ได้รับการสั่งสอนมา. เช่นเดียวกับเอศเธระ หนุ่มสาวเหล่านี้ทำให้พระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์มีพระทัยยินดี.—สุภาษิต 27:11
เมื่อถึงเวลาที่เอศเธระต้องไปเข้าเฝ้ากษัตริย์ เธอได้รับอนุญาตให้เลือกของที่เธอเห็นว่าจำเป็นต้องใช้ ซึ่งอาจเป็นเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่จะทำให้เธอดูสวยขึ้น. แต่เอศเธระแสดงความถ่อมใจโดยทำตามคำแนะนำของเฮฆายและไม่ได้ขอสิ่งใดเพิ่มเติมอีก. (เอศเธระ 2:15) เธอคงรู้ว่าความ สวยเพียงอย่างเดียวไม่อาจชนะใจกษัตริย์ได้ แต่ความอ่อนน้อมถ่อมตนต่างหากที่มีคุณค่าและหาได้ยากยิ่งในราชสำนักแห่งนี้. เธอคิดถูกไหม?
บันทึกในพระคัมภีร์ให้คำตอบดังนี้: “ฝ่ายกษัตริย์ได้รักนางเอศเธระมากกว่าหญิงทั้งปวง, และนางเอศเธระนั้นได้รับความชอบและความโปรดปรานในพระเนตรของกษัตริย์มากยิ่งกว่าหญิงพรหมจารีทั้งหลายเหล่านั้น; และกษัตริย์จึงเอาราชมงกุฎใส่ศีรษะนางเอศเธระ, และตั้งไว้เป็นมเหสีแทนพระนางวัศธีนั้น.” (เอศเธระ 2:17) คงเป็นเรื่องยากที่สาวชาวยิวผู้ถ่อมตนคนนี้จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต. ตอนนี้เธอคือราชินีองค์ใหม่ มเหสีของกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจที่สุดในโลกสมัยนั้น! ตำแหน่งใหม่นี้จะทำให้เธอกลายเป็นคนหยิ่งไหม?
ไม่เลย! เอศเธระยังเชื่อฟังคำสั่งของมาระดะคายบิดาบุญธรรมเสมอ. เธอยังไม่ได้บอกใครว่าเธอเป็นชาวยิว. ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อมาระดะคายรู้ว่ามีคนวางแผนจะลอบปลงพระชนม์กษัตริย์อะหัศวะโรศและบอกให้เอศเธระไปเตือนพระสวามี เธอก็เชื่อฟังเขา แล้วผู้วางแผนเหล่านั้นก็ถูกจับประหาร. (เอศเธระ 2:20-23) นอกจากนั้น เธอยังแสดงความเชื่อในพระเจ้าโดยเป็นคนถ่อมใจและเชื่อฟังเสมอ. โลกทุกวันนี้ไม่ถือว่าการเชื่อฟังเป็นสิ่งที่มีค่า. การไม่เชื่อฟังและการกบฏขัดขืนจึงกลายเป็นเรื่องธรรมดา. แต่คนที่มีความเชื่อแท้จะถือว่าการเชื่อฟังเป็นสิ่งที่มีค่าเช่นเดียวกับเอศเธระ.
ความเชื่อของเอศเธระถูกทดสอบ
ต่อมา ชายคนหนึ่งชื่อฮามานเข้ามามีบทบาทในราชสำนักของอะหัศวะโรศ. กษัตริย์แต่งตั้งฮามานเป็นหัวหน้าเหล่าเสนาบดี เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญและมีอำนาจสูงสุดในจักรวรรดิรองจากกษัตริย์เท่านั้น. กษัตริย์ถึงกับออกกฎหมายว่าใครก็ตามที่พบฮามานจะต้องแสดงความเคารพต่อเขา. (เอศเธระ 3:1-4) กฎหมายข้อนี้เป็นปัญหาสำหรับมาระดะคาย. เขาเต็มใจเชื่อฟังกษัตริย์ในทุกเรื่องที่ไม่ขัดกับพระบัญชาของพระเจ้า. แต่ฮามานเป็น “ชาวอะฆาฆ.” นั่นหมายความว่าเขาคงเป็นลูกหลานของอะฆาฆกษัตริย์ชาวอะมาเลคที่ถูกซามูเอลผู้พยากรณ์ของพระเจ้าประหาร. (1 ซามูเอล 15:33) ชาวอะมาเลคชั่วช้ามากถึงขนาดที่ตั้งตัวเป็นศัตรูของพระยะโฮวาและชาวอิสราเอล. ดังนั้น ชาวอะมาเลคทั้งชาติถือว่าถูกพระเจ้าพิพากษาลงโทษแล้ว. * (พระบัญญัติ 25:19) เป็นไปได้หรือที่ชาวยิวผู้ซื่อสัตย์จะแสดงความเคารพต่อลูกหลานของกษัตริย์อะมาเลค? มาระดะคายไม่มีวันทำเช่นนั้น. เขาจะไม่ยอมก้มหัวให้ฮามานโดยเด็ดขาด. ทุกวันนี้ชายหญิงที่ซื่อสัตย์หลายคนยอมเสี่ยงชีวิตของตนเพื่อยึดมั่นกับหลักการที่ว่า “พวกข้าพเจ้าต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะผู้มีอำนาจปกครอง ไม่ใช่เชื่อฟังมนุษย์.”—กิจการ 5:29
ฮามานโกรธมาก. แต่เขาคิดว่าแค่ฆ่ามาระดะคายคนเดียวก็ยังน้อยไป. เขาต้องการกำจัดเพื่อนร่วมชาติของมาระดะคายทุกคน! ฮามานไปเฝ้ากษัตริย์และใส่ร้ายป้ายสีชาวยิว. เขาไม่ได้บอกกษัตริย์ว่าคนเหล่านี้เป็นชนชาติใด แต่พูดทำนองว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความสำคัญอะไรและ “กระจัดกระจายไปอยู่กับพลไพร่ทั้งปวงตลอดทั่วอาณาเขตของพระองค์.” ที่ร้ายกว่านั้น เขาบอกว่าชนกลุ่มนี้ดื้อด้านไม่ยอมเชื่อฟังกฎหมายของกษัตริย์ พวกเขาจึงเป็นภัยร้ายแรงต่อแผ่นดิน. เขาเสนอว่าจะถวายเงินจำนวนมากให้แก่กษัตริย์เพื่อใช้ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวให้หมดไปจากจักรวรรดิ. * กษัตริย์อะหัศวะโรศจึงมอบแหวนที่มีตราประจำพระองค์แก่ฮามานเพื่อให้เขาใช้ประทับตราคำสั่งใด ๆ ก็ได้ตามใจชอบ.—เอศเธระ 3:5-10
ไม่ช้ามีการส่งม้าเร็วออกไปทั่วจักรวรรดิเปอร์เซียอันกว้างใหญ่เพื่อประกาศข่าวว่าชาวยิวทั้งหมดจะถูกประหาร. คิดดูสิว่าเมื่อข่าวนี้แพร่ไปไกลถึงกรุงเยรูซาเลม ผู้คนที่นั่นจะรู้สึกอย่างไร. ตอนนั้นชาวยิวที่เหลืออยู่ซึ่งกลับมาจากเอศเธระ 3:12–4:1
การเป็นเชลยในกรุงบาบิโลนกำลังช่วยกันบูรณะฟื้นฟูกรุงเยรูซาเลมขึ้นใหม่โดยยังไม่ทันได้สร้างกำแพงป้องกันเมืองด้วยซ้ำ. เมื่อมาระดะคายได้ยินข่าวที่น่าตกตะลึงนี้เขาคงนึกถึงชาวยิวเหล่านั้น รวมทั้งเพื่อนและญาติ ๆ ในเมืองชูชาน. เขาลุกขึ้นฉีกเสื้อผ้าของตน นุ่งผ้าเนื้อหยาบ เอาขี้เถ้าใส่หัว แล้วร้องไห้เสียงดังอยู่กลางกรุงชูชาน. แต่ฮามานกลับนั่งดื่มเหล้าอยู่กับกษัตริย์โดยไม่รู้สึกรู้สาในความทุกข์ร้อนที่ตนก่อขึ้นกับชาวยิวในหัวเมืองต่าง ๆ รวมทั้งที่อยู่ในกรุงชูชานด้วย.—มาระดะคายรู้ว่าเขาต้องทำอะไรสักอย่าง. แต่เขาจะทำอะไรได้? เมื่อเอศเธระทราบว่ามาระดะคายกำลังทุกข์ใจมากเธอก็ส่งเสื้อผ้าไปให้เขา แต่มาระดะคายไม่ยอมรับ. บางทีมาระดะคายอาจสงสัยมานานแล้วว่าทำไมพระยะโฮวาพระเจ้าจึงยอมให้เอศเธระบุตรสาวที่รักถูกพรากไปเป็นราชินีของกษัตริย์นอกรีต. ดูเหมือนตอนนี้เขาเริ่มเข้าใจเหตุผลแล้ว. มาระดะคายจึงฝากข่าวไปถึงราชินีเอศเธระ ขอให้พระนางไปเข้าเฝ้าและทูลอ้อนวอนกษัตริย์ “เพื่อเห็นแก่ชนชาติของพระนาง.”—เอศเธระ 4:4-8, ฉบับ R73
เมื่อทราบข่าว เอศเธระก็เป็นทุกข์ยิ่งนัก. นี่เป็นการทดสอบความเชื่อครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของเธอ. และจากถ้อยคำที่เธอฝากไปบอกมาระดะคายอย่างไม่ปิดบังทำให้รู้ว่าเธอกลัว. เธอเตือนเขาให้นึกถึงกฎหมายของกษัตริย์ที่ว่า ถ้าผู้ใดเข้าไปหากษัตริย์โดยไม่มีรับสั่งให้เข้าเฝ้า ผู้นั้นจะต้องตายสถานเดียว. เว้นแต่กษัตริย์จะยื่นทัณฑกรทองคำให้จึงจะพ้นโทษได้. เอศเธระมีเหตุผลพอที่จะหวังได้ไหมว่าเธอจะได้รับความเมตตาเช่นนั้น โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระนางวัศธีตอนที่เธอไม่ยอมไปเข้าเฝ้าตามรับสั่งของกษัตริย์? เธอบอกมาระดะคายว่ากษัตริย์ไม่ได้รับสั่งให้เธอเข้าเฝ้า 30 วันแล้ว! เนื่องจากไม่ได้เข้าเฝ้ามานานขนาดนั้น เอศเธระคงต้องสงสัยว่าเธอยังเป็นที่โปรดปราน *—เอศเธระ 4:9-11
ของกษัตริย์ที่เอาใจยากผู้นี้อยู่หรือไม่.มาระดะคายตอบกลับไปอย่างหนักแน่นเพื่อเสริมความเชื่อของเอศเธระ. เขาบอกว่าถ้าเธอไม่ลงมือทำอะไร พระเจ้าก็จะช่วยชาวยิวให้รอดโดยใช้ช่องทางอื่น แต่เธอจะแน่ใจได้หรือว่าเธอเองจะรอดพ้นจากน้ำมือของศัตรูถ้าการข่มเหงเริ่มขึ้น? คำพูดของมาระดะคายแสดงให้เห็นว่าเขามีความเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวาจะไม่มีวันปล่อยให้ประชาชนของพระองค์ถูกกวาดล้างและคำสัญญาของพระองค์จะต้องสำเร็จเป็นจริง. (ยะโฮซูอะ 23:14) แล้วมาระดะคายก็ถามเอศเธระว่า “บางทีที่เจ้ามารับตำแหน่งราชินีก็เพื่อยามคับขันนี้ก็เป็นได้ใครจะรู้?” (เอศเธระ 4:12-14, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) มาระดะคายวางใจในพระยะโฮวาพระเจ้าของเขาอย่างเต็มเปี่ยม. แล้วเราล่ะ?—สุภาษิต 3:5, 6
เพราะความเชื่อเข้มแข็ง แม้ความตายก็ไม่กลัว
ตอนนี้ถึงเวลาที่เอศเธระต้องตัดสินใจ. เธอขอให้มาระดะคายบอกชาวยิวให้อดอาหารพร้อมกับเธอเป็นเวลาสามวัน. ถ้อยคำสุดท้ายที่เธอฝากไปบอกมาระดะคายแสดงถึงความเชื่อและความกล้าหาญที่เด็ดเดี่ยวของเธอ. คำพูดของเธอที่ว่า “ถึงเราจะต้องตายก็ตายเถิด” ยังเป็นคำกล่าวที่ผู้คนในอีกหลายศตวรรษต่อมารู้จักดี. (เอศเธระ 4:15-17) ตลอดสามวันนั้นเธอคงต้องอธิษฐานอย่างแรงกล้ายิ่งกว่าที่เธอเคยทำมาทั้งชีวิต. แต่ในที่สุดก็ถึงเวลาที่ต้องไปเฝ้ากษัตริย์. เอศเธระแต่งตัวด้วยเครื่องทรงของมเหสีที่งามที่สุด. เธอพยายามทำทุกสิ่งที่คิดว่าจะทำให้กษัตริย์พอใจได้. แล้วเธอก็ไปเข้าเฝ้ากษัตริย์.
เอศเธระเดินไปยังท้องพระโรงที่กษัตริย์ประทับอยู่ ดังที่พรรณนาในตอนต้น. เรานึกภาพได้ไม่ยากว่าความคิดจิตใจของเธอคงเต็มไปด้วยความวิตกกังวล และเธอคงอธิษฐานอยู่ในใจไปตลอดทาง. เธอเข้าไปในท้องพระโรงซึ่งเป็นจุดที่กษัตริย์อะหัศวะโรศอาจมองเห็นเธอได้จากบัลลังก์. บางทีเธออาจพยายามอ่านความรู้สึกจากสีหน้าของกษัตริย์. ใบหน้าของเขาล้อมด้วยเครารูปทรงสี่เหลี่ยมที่ตัดแต่งอย่างประณีตรับกับผมที่หยิกเป็นลอนของเขา. ถ้าเธอต้องรอจนกว่ากษัตริย์จะมองเห็น ระหว่างนั้นเธอคงรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเนิ่นนานราวกับไม่มีที่สิ้นสุด. แต่ในที่สุดสามีก็เห็นเธอ. เขาแปลกใจมาก แต่ก็ไม่ได้แสดงสีหน้าขุ่นเคือง. แล้วเขาก็ยื่นทัณฑกรทองคำออกมา!—เอศเธระ 5:1, 2
กษัตริย์ยอมให้เอศเธระเข้าเฝ้าและรับฟังสิ่งที่เธอทูลขอ. เอศเธระเสี่ยงชีวิตเพื่อพระเจ้าและเพื่อนร่วมชาติของเธอ. เธอได้วางตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมในเรื่องความเชื่อสำหรับผู้รับใช้ทุกคนของพระเจ้าตลอดทุกยุคทุกสมัย. แต่ภารกิจของเธอเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น. เธอจะทำอย่างไรให้กษัตริย์เชื่อว่าฮามานเสนาบดีคนโปรดของเขาเป็นผู้วางแผนชั่วช้านี้? เธอจะปกป้องเพื่อนร่วมชาติของเธอได้อย่างไร? เราจะพิจารณาคำถามเหล่านี้ในโอกาสต่อไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าอะหัศวะโรศก็คือเซอร์เซสที่ 1 ผู้ปกครองจักรวรรดิเปอร์เซียในช่วงต้นศตวรรษที่ห้าก่อนสากลศักราช.
^ วรรค 24 ฮามานอาจเป็นคนหนึ่งในชาวอะมาเลคกลุ่มสุดท้ายที่หนีรอดจากการกวาดล้างในอดีต เพราะชาวอะมาเลคส่วนใหญ่ที่ “เหลืออยู่” ถูกฆ่าตายไปแล้วตั้งแต่สมัยของกษัตริย์ฮิศคียาห์.—1 โครนิกา 4:43
^ วรรค 25 ฮามานเสนอจะให้เหรียญเงิน 10,000 ตะลันต์ ซึ่งมีค่าเท่ากับเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน. ถ้ากษัตริย์อะหัศวะโรศคือเซอร์เซสที่ 1 จริง ๆ ข้อเสนอของฮามานคงทำให้กษัตริย์คล้อยตามได้ง่ายขึ้น. ดูเหมือนว่าก่อนจะแต่งงานกับเอศเธระ เซอร์เซสได้สูญเสียเงินจำนวนมากในการทำสงครามกับกองทัพกรีกซึ่งเขาพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ.
^ วรรค 28 กษัตริย์เซอร์เซสที่ 1 ได้ชื่อว่าเป็นคนฉุนเฉียวเจ้าอารมณ์และโมโหร้าย. เฮโรโดทุสนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกชี้ให้เห็นบางตัวอย่างจากเหตุการณ์ตอนที่เซอร์เซสไปรบกับกองทัพกรีก. กษัตริย์สั่งให้ทำสะพานโป๊ะโดยเอาเรือมาผูกต่อกันเพื่อข้ามช่องแคบเฮลเลสพอนต์. เมื่อสะพานถูกพายุพัดกระหน่ำจนใช้การไม่ได้ กษัตริย์เซอร์เซสได้สั่งให้ตัดหัวนายช่างคุมงานทุกคน และถึงกับสั่งให้ทหาร “ลงทัณฑ์” ช่องแคบเฮลเลสพอนต์โดยเฆี่ยนน้ำขณะที่อ่านคำสาปแช่งด้วยเสียงดัง. ระหว่างการรบครั้งเดียวกันนั้น เมื่อชายเศรษฐีคนหนึ่งมาทูลขอไม่ให้เอาลูกชายไปเป็นทหาร กษัตริย์เซอร์เซสได้สั่งให้ฟันร่างของลูกชายเขาขาดเป็นสองท่อนแล้วเสียบประจาน.
[ภาพหน้า 19]
มาระดะคายมีเหตุผลที่จะภูมิใจในตัวลูกสาวบุญธรรมของเขา
[ภาพหน้า 20]
เอศเธระรู้ว่าความอ่อนน้อมถ่อมตนและสติปัญญามีค่ายิ่งกว่ารูปร่างหน้าตาที่งดงาม
[ภาพหน้า 22, 23]
เอศเธระยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องประชาชนของพระเจ้า