กรุงเยรูซาเลมโบราณถูกทำลายเมื่อไร?—ตอน 2
กรุงเยรูซาเลมโบราณถูกทำลายเมื่อไร?—ตอน 2
บันทึกบนแผ่นดินเหนียวบอกอะไรกันแน่?
บทความนี้เป็นตอนที่สองในชุดบทความสองตอนที่ลงติดต่อกันในหอสังเกตการณ์ ซึ่งพิจารณาคำถามของผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปีที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลายครั้งแรก. ชุดบทความสองตอนนี้จะตอบคำถามที่ผู้อ่านบางคนสงสัยโดยอาศัยการค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนและหลักฐานจากคัมภีร์ไบเบิล.
ข้อสรุปจากตอนหนึ่งมีดังต่อไปนี้:
▪ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่กล่าวว่ากรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 587 ก่อน ส.ศ. *
▪ การลำดับเวลาของคัมภีร์ไบเบิลบ่งชี้ว่ากรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ.
▪ ข้อสรุปของนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่อาศัยข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์ยุคกรีกโรมันและรายชื่อของปโตเลมี.
▪ ข้อเขียนบางส่วนของนักประวัติศาสตร์ยุคกรีกโรมันมีข้อผิดพลาดที่สำคัญหลายอย่างและมักไม่ตรงกับบันทึกบนแผ่นดินเหนียว. *
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าเชลยชาวยิวจะถูกเนรเทศไปอยู่ที่กรุงบาบิโลน “จนครบเจ็ดสิบปีตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสไว้ผ่านทางเยเรมีย์.” พวกเขาถูกปล่อยตัวเมื่อไร? ใน “ปีที่หนึ่ง [ปีรัชกาล] ของกษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซีย.” (2 โครนิกา 36:21, 22, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) ประวัติศาสตร์ในคัมภีร์ไบเบิลและประวัติศาสตร์โลกต่างก็ชี้ว่าการเนรเทศชาวยิวไปยังบาบิโลนสิ้นสุดลงหลังจากไซรัสพิชิตบาบิโลนได้และปล่อยชาวยิวกลับไปยังกรุงเยรูซาเลมในปี 537 ก่อน ส.ศ. เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลบอกชัดเจนว่าชาวยิวต้องเป็นเชลยนานถึง 70 ปี ดังนั้น ปีที่พวกเขาถูกเนรเทศจึงต้องเป็นปี 607 ก่อน ส.ศ.
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการส่วนใหญ่ระบุว่ากรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 587 ก่อน ส.ศ. นั่นเท่ากับว่าชาวยิวจะเป็นเชลยเพียง 50 ปีเท่านั้น. ทำไมพวกเขาจึงสรุปเช่นนั้น? เพราะพวกเขาคำนวณวันเวลาดังกล่าวโดยอาศัยเอกสารอักษรรูปลิ่มซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับกษัตริย์นะบูคัดเนซัรที่ 2 และกษัตริย์องค์อื่น ๆ ที่สืบราชสมบัติต่อจากท่าน.1 เอกสารเหล่านี้ส่วนใหญ่เขียนโดยผู้ที่มีชีวิตอยู่ตอนที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลายหรือในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น. แต่การคำนวณของบรรดานักวิชาการที่ระบุว่าเป็นปี 587 ก่อน ส.ศ. เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน? เอกสารอักษรรูปลิ่มเหล่านี้บอกอะไรกันแน่?
เพื่อจะตอบคำถามสองข้อนี้ ขอให้พิจารณาเอกสารสามประเภทที่นักวิชาการมักอ้างถึงคือ (1) พงศาวดารของบาบิโลน (2) บันทึกเกี่ยวกับการค้าขายบนแผ่นดินเหนียว และ (3) บันทึกทางดาราศาสตร์บนแผ่นดินเหนียว.
● พงศาวดารของบาบิโลน
คืออะไร? พงศาวดารของบาบิโลนคือชุดแผ่นดินเหนียวที่บันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวบาบิโลน.2
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวอย่างไร? อาร์. เอช. แซ็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านเอกสารอักษรรูปลิ่มคนหนึ่งกล่าวว่า พงศาวดารของบาบิโลนไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ ๆ ไว้อย่างครบถ้วน. * เขาเขียนว่านักประวัติศาสตร์ต้องค้นคว้าเพิ่มเติมจาก “แหล่งข้อมูลอื่น . . . จึงจะแน่ใจได้ว่าเหตุการณ์จริงเป็นอย่างไร.”
หลักฐานเหล่านั้นบอกอะไร? ประวัติศาสตร์ที่บันทึกในพงศาวดารของบาบิโลนมีช่วงที่ขาดหายไปหลายช่วง.3 (ดู กรอบข้างล่าง.) ดังนั้น จึงนับว่ามีเหตุผลที่จะถามว่า ข้อสรุปที่อาศัยข้อมูลจากพงศาวดารที่ไม่สมบูรณ์เช่นนี้จะเชื่อถือได้มากแค่ไหน?
● บันทึกเกี่ยวกับการค้าขายบนแผ่นดินเหนียว
คืออะไร? บันทึกเกี่ยวกับการค้าขายส่วนใหญ่ในสมัยจักรวรรดิบาบิโลนใหม่คือใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย. บันทึกเหล่านี้ระบุวันที่ เดือน และปีแห่งการครองราชย์ของกษัตริย์ในเวลานั้นด้วย. ตัวอย่างเช่น แผ่นดินเหนียวแผ่นหนึ่งบันทึกเกี่ยวกับการเจรจาซื้อขายที่ทำกันใน “วันที่ 27 เดือนนิซาน ปีที่ 11 ในรัชกาลของนะบูคัดเนซัร [หรือนะบูคัดเนซัรที่ 2] กษัตริย์แห่งบาบิโลน.”4
เมื่อกษัตริย์องค์หนึ่งสิ้นพระชนม์หรือถูกถอดออกจากตำแหน่งแล้วมีกษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ เดือนที่เหลืออยู่ในปีนั้นถือว่าเป็นปีขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์องค์ใหม่. *5 หรืออาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนรัชกาลจากกษัตริย์องค์หนึ่งไปเป็นอีกองค์หนึ่งเกิดขึ้นในปีเดียวกันตามปฏิทินของชาวบาบิโลน. ดังนั้น แผ่นดินเหนียวที่ทำขึ้นในช่วงปีขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์องค์ใหม่ ตามหลักเหตุผลแล้วต้องระบุเดือนที่ต่อจากเดือนสุดท้ายของกษัตริย์องค์ก่อน.
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวอย่างไร? อาร์. เอช. แซ็ก ได้ตรวจสอบบันทึกเกี่ยวกับการค้าขายหลายฉบับที่ทำขึ้นในสมัยจักรวรรดิบาบิโลนใหม่. หลังจากที่เขาได้ศึกษาบันทึกบน
แผ่นดินเหนียวในพิพิธภัณฑสถานแห่งบริเตนซึ่งยังไม่ถูกตีพิมพ์ ในปี 1972 แซ็กเขียนว่าข้อมูลบนแผ่นดินเหนียวได้ “ลบล้าง” ข้อสรุปที่นักวิชาการเคยให้ไว้ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการเปลี่ยนรัชกาลจากนะบูคัดเนซัรที่ 2 มาเป็นโอรสของเขาคืออาเมล-มาร์ดุก (หรือเอวิล-มะโรดัค).6 เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร? แซ็กรู้ว่าแผ่นดินเหนียวต่าง ๆ แสดงว่านะบูคัดเนซัรที่ 2 ยังปกครองอยู่ในเดือนที่หกของปีสุดท้ายที่เขาครองราชย์ (ปีที่ 43). อย่างไรก็ตาม แผ่นดินเหนียวที่เพิ่งถอดความใหม่เหล่านี้ซึ่งทำขึ้นในช่วงปีขึ้นครองราชย์ของอาเมล-มาร์ดุกกษัตริย์องค์ต่อมากลับลงบันทึกว่าเป็นเดือนที่สี่ และห้า ของปีที่เชื่อกันว่าเป็นปีเดียวกัน.7 เห็นได้ชัดว่าข้อมูลในบันทึกเหล่านี้ขัดแย้งกัน.หลักฐานเหล่านั้นบอกอะไร? มีความขัดแย้งอื่น ๆ ในเรื่องการเปลี่ยนกษัตริย์จากองค์หนึ่งไปเป็นอีกองค์หนึ่ง. ตัวอย่างเช่น บันทึกที่เพิ่งถอดความใหม่นี้แสดงว่านะบูคัดเนซัรที่ 2 ยังคงปกครองอยู่ในเดือนที่สิบของปีสุดท้ายของเขา ซึ่งเคยเชื่อกันว่าในช่วงนั้นกษัตริย์องค์ใหม่ได้เริ่มครองราชย์มาหกเดือนแล้ว.8 นอกจากนั้น ยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับการเปลี่ยนรัชกาลจากอาเมล-มาร์ดุกเป็นเนรีกลิสซาร์อีกด้วย.9
ทำไมความขัดแย้งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้? ดังที่กล่าวในตอนต้น พงศาวดารของบาบิโลนที่มีช่องโหว่แสดงให้เห็นว่าเราไม่มีบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องและครบถ้วน.10 เป็นไปได้ไหมว่าเคยมีกษัตริย์องค์อื่นคั่นอยู่ระหว่างกษัตริย์เหล่านั้น? ถ้าอย่างนั้นช่วงแห่งการปกครองของจักรวรรดิบาบิโลนใหม่ก็คงต้องยาวนานขึ้น. ดังนั้น ทั้งพงศาวดารของบาบิโลนและบันทึกเกี่ยวกับการค้าขายบนแผ่นดินเหนียวจึงไม่อาจใช้เป็นข้อมูลพิสูจน์ว่ากรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 587 ก่อน ส.ศ. อย่างที่คิดกัน. *
● บันทึกทางดาราศาสตร์บนแผ่นดินเหนียว
คืออะไร? บันทึกทางดาราศาสตร์คือเอกสารอักษรรูปลิ่มที่บอกตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ และดาวฤกษ์ต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เช่น ปีแห่งการครองราชย์ของผู้ที่ปกครองในช่วงเวลานั้น. ตัวอย่างเช่น บันทึกประจำวันทางดาราศาสตร์ที่แสดงไว้ข้างล่างนี้กล่าวถึงจันทรุปราคาที่เกิดขึ้นในเดือนที่หนึ่ง ปีที่หนึ่งของกษัตริย์มูคิน-เซรี.11
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวอย่างไร? ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าชาวบาบิโลนทำแผนที่ดวงดาวได้ละเอียดถี่ถ้วนและมีวิธีพยากรณ์การเกิดจันทรุปราคาที่ค่อนข้างแม่นยำ.12
แต่ชาวบาบิโลนจะคำนวณย้อนหลังเพื่อระบุเวลาที่เกิดจันทรุปราคาในอดีตได้ไหม? ศาสตราจารย์จอห์น สตีลเล กล่าวว่า “เป็นไปได้ว่าผู้ทำบันทึกเกี่ยวกับการเกิดจันทรุปราคาในยุคแรก ๆ ได้ใช้วิธีคำนวณย้อนหลัง.” (เราทำให้เป็นตัวเอน.)13 ศาสตราจารย์เดวิด บราวน์เป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่า
แผนที่ดวงดาวพร้อมกับการพยากรณ์เหล่านี้ทำขึ้นไม่นานก่อนที่จันทรุปราคาจะเกิดขึ้นและถูกบันทึกเอาไว้. เขายอมรับว่าเป็นไปได้ที่ข้อมูลเหล่านี้บางส่วนเกิดจาก “การคำนวณย้อนหลัง โดยผู้บันทึกข้อมูลในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราชและศตวรรษต่อ ๆ มา.”14 การคำนวณย้อนหลังเช่นนี้จะเชื่อถือได้จริง ๆ ไหมถ้าไม่มีหลักฐานอื่นสนับสนุน?แม้จะมีจันทรุปราคาเกิดขึ้นจริงในวันที่มีการพยากรณ์ไว้ แต่นั่นจะหมายความว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่บันทึกไว้ด้วยกันถูกต้องเสมอไปไหม? ไม่. ผู้เชี่ยวชาญชื่อ อาร์. เจ. วาน เดอ สเปก อธิบายว่า “ผู้บันทึกข้อมูลเหล่านี้เป็นโหราจารย์ ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์.” เขาบอกว่าข้อมูลบนแผ่นดินเหนียวส่วนที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ “ไม่แม่นยำเท่าที่ควร” และเขาเตือนว่าควรใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ “อย่างรอบคอบ.”15
หลักฐานเหล่านั้นบอกอะไร? ขอพิจารณาแผ่นจารึกดินเหนียว VAT 4956 เป็นตัวอย่าง. บรรทัดแรกบนแผ่นดินเหนียวนี้เขียนว่า “ปีที่ 37 ของนะบูคัดเนซัร กษัตริย์แห่งบาบิโลน.”16 จากนั้น มีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งของดวงจันทร์และดาวเคราะห์ต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับดาวฤกษ์และกลุ่มดาวอื่น ๆ. นอกจากนั้น แผ่นจารึกนี้ยังบอกว่ามีจันทรุปราคาเกิดขึ้นหนึ่งครั้งด้วย. พวกผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การเรียงตัวของดวงดาวตามตำแหน่งที่บอกไว้บนแผ่นดินเหนียวนี้เกิดขึ้นในปี 568/567 ก่อน ส.ศ. ฉะนั้น ปีที่ 18 ของนะบูคัดเนซัรที่ 2 ซึ่งเป็นปีที่เขาทำลายกรุงเยรูซาเลมก็คือปี 587 ก่อน ส.ศ. แต่ข้อมูลทางดาราศาสตร์เหล่านี้ชี้ถึงปี 568/567 ก่อน ส.ศ. เท่านั้น ไหม?
แผ่นจารึกนั้นบอกว่ามีการคำนวณว่าจันทรุปราคาจะเกิดขึ้นในวันที่ 15 เดือนที่สามหรือเดือนซิมานุตามปฏิทินของชาวบาบิโลน. จริงอยู่ เคยมีจันทรุปราคาเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในวันที่ 4 กรกฎาคม (ตามปฏิทินจูเลียน) ของเดือนซิมานุ ปี 568 ก่อน ส.ศ. แต่เมื่อ 20 ปีก่อนหน้านั้นก็เคยมีจันทรุปราคาเกิดขึ้นเช่นกันคือในวันที่ 15 กรกฎาคม ปี 588 ก่อน ส.ศ.17
ถ้าปี 588 ก่อน ส.ศ. เป็นปีที่ 37 แห่งการครองราชย์ของนะบูคัดเนซัรที่ 2 ดังนั้น ปีที่ 18 ของเขาก็จะต้องเป็นปี 607 ก่อน ส.ศ. และปีนี้แหละที่คัมภีร์ไบเบิลชี้ว่ากรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย! (ดู แผนภูมิแสดงลำดับเวลาข้างล่าง.) แต่ VAT 4956 ให้หลักฐานยืนยันอื่น ๆ เกี่ยวกับปี 607 ก่อน ส.ศ. ไหม?
นอกจากเรื่องจันทรุปราคาที่กล่าวมาแล้ว แผ่นจารึกดินเหนียวนี้ยังมีชุดข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งดวงจันทร์ 13 ชุดและดาวเคราะห์อีก 15 ชุด. ข้อมูลเหล่านี้บอกให้รู้ตำแหน่งของดวงจันทร์หรือดาวเคราะห์ที่สัมพันธ์กับดาวฤกษ์และกลุ่มดาวอื่น ๆ.18 นอกจากนั้น บนแผ่นดินเหนียวยังมีข้อมูลที่บันทึกไว้แปดครั้งเกี่ยวกับระยะเวลาระหว่างดวงอาทิตย์ขึ้นกับดวงจันทร์ขึ้น และดวงอาทิตย์ตกกับดวงจันทร์ตก.18a
เนื่องจากตำแหน่งดวงจันทร์เชื่อถือได้มากกว่า ผู้เชี่ยวชาญจึงวิเคราะห์ข้อมูลทั้ง 13 ชุดนี้ใน VAT 4956 อย่างละเอียด. พวกเขาวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้โดยอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถแสดงตำแหน่งของดวงดาวต่าง ๆ ในอดีต.19 ผลการวิเคราะห์เป็นเช่นไร? ปรากฏว่าข้อมูลบาง
ชุดไม่ตรงกับตำแหน่งของดวงจันทร์ในปี 568/567 ก่อน ส.ศ. แต่ข้อมูลทั้ง 13 ชุด ตรงกับตำแหน่งของดวงจันทร์เมื่อ 20 ปีก่อนหน้านั้น คือในปี 588/587 ก่อน ส.ศ.ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งดวงจันทร์เหล่านี้ตรงกับปี 588 ก่อน ส.ศ. มากกว่าปี 568 ก่อน ส.ศ. ดูได้จากกรอบด้านซ้าย. บรรทัดที่ 3 ของแผ่นดินเหนียวมีข้อความว่า ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งหนึ่งใน “คืนวันที่ 9 [เดือนนิซานุ].” อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญที่ตอนแรกยืนยันว่าตำแหน่งดังกล่าวของดวงจันทร์ตรงกับปี 568 ก่อน ส.ศ. (หรือปี 567 ถ้านับทางดาราศาสตร์) ยอมรับว่าจริง ๆ แล้วในปี 568 ก่อน ส.ศ. ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งดังกล่าวใน “วันที่ 8 เดือนนิซานุ ไม่ใช่วันที่ 9.” เพื่อจะใช้แผ่นดินเหนียวนี้สนับสนุนปี 568 ก่อน ส.ศ. พวกเขาจึงสรุปว่าเป็นความผิดพลาดของผู้บันทึกข้อมูลที่เขียนเลข “9” แทนที่จะเขียนเลข “8.”20 แต่ตำแหน่งของดวงจันทร์ในบรรทัดที่ 3 นี้ตรงกันพอดีกับวันที่ 9 เดือนนิซานุ ปี 588 ก่อน ส.ศ.21
เห็นได้ชัดว่า ข้อมูลทางดาราศาสตร์ส่วนใหญ่ใน VAT 4956 ชี้ว่าปี 588 ก่อน ส.ศ. คือปีที่ 37 แห่งการครองราชย์ของนะบูคัดเนซัรที่ 2. ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้สนับสนุนปี 607 ก่อน ส.ศ. ว่าเป็นปีที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลายอย่างที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้.
ทำไมควรวางใจคัมภีร์ไบเบิล?
ปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่ากรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 587 ก่อน ส.ศ. แต่ยิระมะยาห์และดานิเอลผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าชาวยิวจะเป็นเชลยนาน 70 ปีไม่ใช่ 50 ปี. (ยิระมะยา 25:1, 2, 11; 29:10; ดานิเอล 9:2) คำกล่าวของพวกเขายืนยันอย่างหนักแน่นว่ากรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ. ข้อมูลที่กล่าวข้างต้นแสดงว่าข้อสรุปนี้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สนับสนุน.
พวกผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องแม่นยำของคัมภีร์ไบเบิลครั้งแล้วครั้งเล่า. แต่ทุกครั้งหลักฐานใหม่ ๆ ที่มีการค้นพบกลับช่วยพิสูจน์ว่าคัมภีร์ไบเบิลถูกต้องแม่นยำ. * คนที่วางใจในคัมภีร์ไบเบิลมีเหตุผลที่จะรู้สึกเช่นนั้น. พวกเขามั่นใจก็เพราะมีหลักฐานมากมายบ่งชี้ว่าคัมภีร์ไบเบิลถูกต้องแม่นยำทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคำพยากรณ์. หลักฐานเหล่านี้ทำให้พวกเขาเชื่อว่าคัมภีร์ไบเบิลมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าดังที่พระคัมภีร์บอกไว้. (2 ติโมเธียว 3:16) คุณน่าจะลองตรวจสอบหลักฐานเหล่านี้ด้วยตัวคุณเองมิใช่หรือ? แล้วคุณก็อาจจะได้ข้อสรุปอย่างเดียวกัน.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 ก่อน ส.ศ. ในบทความนี้หมายถึง “ก่อนสากลศักราช.”
^ วรรค 8 ดูบทความ “กรุงเยรูซาเลมโบราณถูกทำลายเมื่อไร—ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ? หลักฐานแสดงให้เห็นอะไร?” ในหอสังเกตการณ์ฉบับ 1 ตุลาคม 2011.
^ วรรค 14 ข้อสังเกต: ไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดที่กล่าวถึงในบทความนี้ยอมรับว่ากรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ.
^ วรรค 18 ปีขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์องค์ใหม่จะเริ่มนับจากเดือนที่เขาปกครองต่อจากกษัตริย์องค์ก่อนไปจนถึงสิ้นปีนั้น. ปีถัดไปจึงจะนับว่าเป็นปีแห่งการครองราชย์อย่างเป็นทางการของเขา.
^ วรรค 21 มีการทำบันทึกเกี่ยวกับการค้าขายตลอดช่วงที่กษัตริย์แห่งจักรวรรดิบาบิโลนใหม่ปกครอง. เมื่อนำปีแห่งการปกครองของกษัตริย์เหล่านี้มารวมกันและคำนวณเวลาย้อนไปจากนะโบไนดัสกษัตริย์องค์สุดท้ายของจักรวรรดินี้ก็จะไปถึงปี 587 ก่อน ส.ศ. ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นปีที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย. แต่การคำนวณย้อนหลังเช่นนี้จะถูกต้องก็ต่อเมื่อกษัตริย์แต่ละองค์ขึ้นครองราชย์ต่อเนื่องกันโดยไม่มีช่วงว่างเว้นเลย.
^ วรรค 36 สำหรับตัวอย่างที่พิสูจน์ในเรื่องนี้ โปรดดูบท 4 และ 5 ของหนังสือคัมภีร์ไบเบิล—คำของพระเจ้าหรือของมนุษย์? (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[กรอบ/แผนภูมิหน้า 23]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
พงศาวดารของบาบิโลน—ประวัติศาสตร์ที่มีช่องโหว่
นักประวัติศาสตร์ทั่วไปคิดว่าจักรวรรดิบาบิโลนใหม่ปกครองนานประมาณ 88 ปี แต่ตลอดช่วงเวลานั้นพงศาวดารของบาบิโลนมีบันทึกเพียง 35 ปี.
ปีที่ไม่มีบันทึกในพงศาวดาร
ปีที่มีบันทึกในพงศาวดาร
BM 21901
BM 21946
BM 35382
ยุคจักรวรรดิบาบิโลนใหม่
ยุคเปอร์เซีย
นะโบโพลัสซาร์
นะบูคัดเนซัรที่ 2
อาเมล-มาร์ดุก
นะโบไนดัส
เนรีกลิสซาร์
ลาบาชี-มาร์ดุก
BM 25127
BM 22047
BM 25124
[ที่มาของภาพ]
BM 21901 and BM 35382: Photograph taken by courtesy of the British Museum; BM 21946: Copyright British Museum; BM 22047 25124 25127: © The Trustees of the British Museum
[กรอบ/ภาพหน้า 24]
บันทึกประจำวันทางดาราศาสตร์ Bm 32238
แผ่นดินเหนียวนี้มีบันทึกเกี่ยวกับปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่เกิดขึ้นในอดีต. แผ่นดินเหนียวนี้ทำขึ้นหลังจากจันทรุปราคาครั้งสุดท้าย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากจันทรุปราคาครั้งแรกราว ๆ 400 ปี. เนื่องจากผู้บันทึกข้อมูลไม่ได้เห็นปรากฏการณ์ทั้งหมดนั้นด้วยตัวเอง จึงเป็นไปได้ว่าเขาใช้วิธีคำนวณทางคณิตศาสตร์เพื่อจะรู้ว่าจันทรุปราคาครั้งแรก ๆ เกิดขึ้นเมื่อไร. การคำนวณของเขาไม่อาจถือว่าถูกต้องและใช้เป็นข้ออ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้ เว้นแต่จะมีหลักฐานอื่นมายืนยัน.
[ที่มาของภาพ]
© The Trustees of the British Museum
[กรอบ/ภาพหน้า 26, 27]
แผ่นดินเหนียว Vat 4956 บอกอะไรกันแน่?
ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ? บรรทัดที่สามของแผ่นดินเหนียวนี้เขียนว่า “คืนวันที่ 9” ของเดือนที่หนึ่ง (นิซานุ/นิซาน) “ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่ง 1 คิวบิตหน้าดาวเบตาเวอร์จินิส.” อย่างไรก็ตาม ในปี 1915 ผู้เชี่ยวชาญสองคนคือนอยเกเบาเออร์และไวด์เนอร์ได้เขียนเกี่ยวกับปี 568 ก่อน ส.ศ. (ซึ่งชี้ว่า ปี 587 ก่อน ส.ศ. คือปีที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย) ว่า “ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่ง 1 คิวบิตหน้าดาวดวงนี้ในวันที่ 8 นิซาน ไม่ใช่วันที่ 9 นิซาน.” (เราทำให้เป็นตัวเอน.) อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งดังกล่าวของดวงจันทร์ตรงกันพอดีกับวันที่ 9 เดือนนิซาน ปี 588 ก่อน ส.ศ. ซึ่งชี้ว่าปี 607 ก่อน ส.ศ. คือปีที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย.
น่าจะเป็นวันที่ 9 หรือวันที่ 8?
(1) สัญลักษณ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในภาพหมายเลข 1 คือเลข 9 ในภาษาอักคาด.
(2) เมื่อนอยเกเบาเออร์กับไวด์เนอร์ถอดความอักษรรูปลิ่มบนแผ่นดินเหนียวนี้ พวกเขาได้เปลี่ยนเลข “9” เป็นเลข “8.”
(3) เฉพาะในเชิงอรรถเท่านั้นที่บอกว่าข้อความดั้งเดิมบนแผ่นดินเหนียวเป็นเลข “9.”
(4) แม้แต่ในงานแปลของพวกเขาที่เป็นภาษาเยอรมัน พวกเขาก็ยังเขียนเป็นเลข “8.”
(5) ในปี 1988 แซ็กกับฮังเกอร์ได้ตีพิมพ์ข้อความตามที่ปรากฏบนแผ่นดินเหนียวนั้นโดยไม่มีการแก้ไขใด ๆ และพวกเขาได้เขียนเป็นเลข “9.”
(6) แต่เมื่อนำข้อความที่ตีพิมพ์แล้วไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ พวกเขากลับบอกว่า “วันที่ 9” นี้ “ที่ถูกคือวันที่ 8.”
[ที่มาของภาพ]
bpk/Vorderasiatisches Museum SMB/Olaf M. Teßmer
[กรอบหน้า 28]
เชิงอรรถสำหรับบทความ “กรุงเยรูซาเลมโบราณถูกทำลายเมื่อไร?—ตอน 2”
1. อักษรรูปลิ่มเป็นระบบการเขียนในสมัยโบราณซึ่งผู้เขียนจะใช้เหล็กปลายแหลมรูปลิ่มกดลงบนแผ่นดินเหนียวที่ยังอ่อนตัวอยู่ให้เป็นรูปหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ.
2. Assyrian and Babylonian Chronicles by A. K. Grayson published 1975 2000 reprint page 8.
3. จักรวรรดิบาบิโลนใหม่เริ่มขึ้นในศตวรรษที่เจ็ดก่อน ส.ศ. เมื่อกษัตริย์แห่งราชวงศ์แคลเดียปกครองจักรวรรดิบาบิโลน. กษัตริย์องค์แรกคือนะโบโพลัสซาร์ราชบิดาของนะบูคัดเนซัรที่ 2. จักรวรรดินี้สิ้นสุดลงเมื่อนะโบไนดัสกษัตริย์องค์สุดท้ายถูกไซรัสกษัตริย์เปอร์เซียโค่นอำนาจในปี 539 ก่อน ส.ศ.
4. Neo-Babylonian Business and Administrative Documents by Ellen Whitley Moore published 1935 page 33.
5. Archimedes Volume 4 New Studies in the History and Philosophy of Science and Technology “Observations and Predictions of Eclipse Times by Early Astronomers” by John M. Steele published 2000 page 36.
6. Amel-Marduk 562-560 B.C.—A Study Based on Cuneiform Old Testament Greek Latin and Rabbinical Sources. With Plates by Ronald H. Sack published 1972 page 3.
7. แผ่นดินเหนียว BM 80920 และ BM 58872 ทำขึ้นในเดือนที่สี่และห้าของปีขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์เอวิล-มะโรดัค. แซ็กได้นำข้อความบนแผ่นดินเหนียวทั้งสองนี้มาตีพิมพ์ในหนังสือAmel-Marduk 562-560 B.C.—A Study Based on Cuneiform Old Testament Greek Latin and Rabbinical Sources. With Plates pages 3 90 106.
8. แผ่นดินเหนียวนี้ (BM 55806) ซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งบริเตนทำขึ้นในเดือนที่สิบ ปีที่ 43.
9. แผ่นดินเหนียว BM 75106 และ BM 61325 ทำขึ้นในเดือนที่เจ็ดและสิบของปีที่เชื่อกันว่าเป็นปีสุดท้ายแห่งการครองราชย์ (ปีที่สอง) ของเอวิล-มะโรดัค. แต่แผ่นดินเหนียว BM 75489 ทำขึ้นในเดือนที่สองของปีขึ้นครองราชย์ของเนรีกลิสซาร์ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ต่อมา.—Catalogue of the Babylonian Tablets in the British Museum Volume VIII (Tablets From Sippar 3) by Erle Leichty J. J. Finkelstein and C.B.F. Walker published 1988 pages 25 35.
Catalogue of the Babylonian Tablets in the British Museum Volume VII (Tablets From Sippar 2) by Erle Leichty and A. K. Grayson published 1987 page 36.
Neriglissar—King of Babylon by Ronald H. Sack published 1994 page 232. เดือนที่ระบุไว้บนแผ่นดินเหนียวนี้คือเดือนอาจารุ (เดือนที่สอง).
10. ขอพิจารณาตัวอย่างของเนรีกลิสซาร์. บันทึกของราชวงศ์กล่าวถึงกษัตริย์องค์นี้ว่าเป็น “โอรสของเบล-ชุม-อิชคุน” ซึ่งเป็น “กษัตริย์แห่งบาบิโลน.” (เราทำให้เป็นตัวเอน.) ข้อความจารึกอีกแห่งหนึ่งกล่าวว่าเบล-ชุม-อิชคุนเป็น “เจ้าชายผู้ปราดเปรื่อง.” คำว่า “เจ้าชาย” หรือ รูบู ในภาษาเดิมเป็นคำระบุตำแหน่งซึ่งอาจหมายถึง “กษัตริย์, ผู้ปกครอง” ได้ด้วย. เนื่องจากมีความขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องช่วงแห่งการครองราชย์ของเนรีกลิสซาร์กับอาเมล-มาร์ดุกที่ปกครองก่อนท่าน ดังนั้น เป็นไปได้ไหมว่าเบลชุมอิชคุน “กษัตริย์แห่งบาบิโลน” เคยปกครองคั่นอยู่ระหว่างกษัตริย์สององค์นี้? ศาสตราจารย์อาร์. พี. โดเออร์ที ยอมรับว่า “หลักฐานที่แสดงว่าเนรีกลิสซาร์มีเชื้อสายกษัตริย์เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้.”—Nabonidus and Belshazzar—A Study of the Closing Events of the Neo-Babylonian Empire by Raymond P. Dougherty published 1929 page 61.
11. Astronomical Diaries and Related Texts From Babylonia Volume V edited by Hermann Hunger published 2001 pages 2-3.
12. Journal of Cuneiform Studies Volume 2 No. 4 1948 “A Classification of the Babylonian Astronomical Tablets of the Seleucid Period” by A. Sachs pages 282-283.
13. Astronomical Diaries and Related Texts From Babylonia Volume V page 391.
14. Mesopotamian Planetary Astronomy-Astrology by David Brown published 2000 pages 164 201-202.
15. Bibliotheca Orientalis L N° 1/2 Januari-Maart 1993 “The Astronomical Diaries as a Source for Achaemenid and Seleucid History” by R. J. van der Spek pages 94 102.
16. Astronomical Diaries and Related Texts From Babylonia Volume I by Abraham J. Sachs completed and edited by Hermann Hunger published 1988 page 47.
17. Babylonian Eclipse Observations From 750 BC to 1 BC by Peter J. Huber and Salvo De Meis published 2004 page 186. ตามบันทึกบนแผ่นดินเหนียว VAT 4956 จันทรุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 เดือนสามของบาบิโลน ซึ่งบ่งชี้ว่าเดือนซิมานุเริ่มขึ้น 15 วันก่อนหน้านั้น. ถ้าจันทรุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม ปี 588 ก่อน ส.ศ. ตามปฏิทินจูเลียน วันแรกของเดือนซิมานุ ปี 588 ก่อน ส.ศ. ก็จะต้องเป็นวันที่ 30 มิถุนายน/1 กรกฎาคม. ดังนั้น เดือนแรก (นิซานุ) ของปีใหม่ตามปฏิทินของชาวบาบิโลนก็ต้องเริ่มสองเดือนก่อนหน้านั้นคือวันที่ 2/3 พฤษภาคม. แม้ว่าตามปกติแล้วปีที่เกิดจันทรุปราคาจะต้องเริ่มในวันที่ 3/4 เมษายน แต่ VAT 4956 บรรทัดที่ 6 กล่าวไว้ว่า มีการเพิ่มเดือน เข้ามา (อธิกมาส) หลัง เดือนที่สิบสอง (เดือนสุดท้ายหรือเดือนอัดดารุ) ของปีก่อน. (แผ่นดินเหนียวนี้เขียนว่า “วันที่ 8 เดือน 12[2].”) ดังนั้น ปีใหม่จริง ๆ จึงเริ่มในวันที่ 2/3 พฤษภาคม. ด้วยเหตุนี้ วันที่เกิดจันทรุปราคาในปี 588 ก่อน ส.ศ. จึงตรงกับข้อมูลบนแผ่นดินเหนียว.
18. ตามที่กล่าวใน Berichte über die Verhandlungen der Königl. Sächsischen Gesellschaft der Wissenschaften zu Leipzig (Reports Regarding the Discussions of the Royal Saxonian Society of Sciences at Leipzig); Volume 67; May 1 1915; in the article “Ein astronomischer Beobachtungstext aus dem 37. Jahre Nebukadnezars II” (An Astronomical Observer’s Text of the 37th Year Nebuchadnezzar II) by Paul V. Neugebauer and Ernst F. Weidner pages 67-76 มีชุดข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งดวงจันทร์ 13 ชุดซึ่งอธิบายว่าดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับดาวฤกษ์และกลุ่มดาวอื่น ๆ อย่างไร. นอกจากนี้ ยังมีชุดข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์อีก 15 ชุด. ถึงแม้สัญลักษณ์ของดวงจันทร์ บนแผ่นดินเหนียวจะเห็นได้อย่างชัดเจน แต่สัญลักษณ์อื่น ๆ ซึ่งเป็นชื่อของดาวเคราะห์และตำแหน่งของดาวเหล่านั้นกลับเห็นได้ไม่ชัด. (Mesopotamian Planetary Astronomy—Astrology by David Brown published 2000 pages 53-57) เพราะเหตุนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์จึงเปิดช่องให้มีการคาดเดาและตีความได้หลายอย่าง. เนื่องจากตำแหน่งของดวงจันทร์หาได้ง่าย จึงทำให้สามารถบอกตำแหน่งของดาวอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับดวงจันทร์ซึ่งกล่าวถึงใน VAT 4956 นี้ได้เช่นกัน และตำแหน่งของดาวเหล่านี้ที่บันทึกไว้ก็ถือได้ว่าแม่นยำทีเดียว.
18a. ระยะเวลาเหล่านี้ (“lunar threes”) เป็นระยะเวลาที่นับจากดวงอาทิตย์ตกถึงดวงจันทร์ตกในช่วงต่าง ๆ สามช่วงของเดือน เช่น ในวันที่หนึ่งและวันอื่น ๆ อีกสองวัน. ผู้เชี่ยวชาญเอาระยะเวลาเหล่านี้มาคำนวณเพื่อกำหนดวันที่ตามปฏิทิน. (“The Earliest Datable Observation of the Aurora Borealis” by F. R. Stephenson and David M. Willis in Under One Sky—Astronomy and Mathematics in the Ancient Near East edited by John M. Steele and Annette Imhausen published 2002 pages 420-428) ในสมัยโบราณการนับระยะเวลาเช่นนี้ทำได้โดยใช้นาฬิกาชนิดพิเศษ. การนับระยะเวลาด้วยวิธีนี้จึงไม่อาจเชื่อถือได้เสมอไป. (Archimedes Volume 4 New Studies in the History and Philosophy of Science and Technology “Observations and Predictions of Eclipse Times by Early Astronomers” by John M. Steele published 2000 pages 65-66) แต่การคำนวณตำแหน่ง ของดวงจันทร์ที่สัมพันธ์กับดาวดวงอื่น ๆ เป็นวิธีที่ถูกต้องแม่นยำกว่า.
19. การวิเคราะห์นี้ทำโดยอาศัยโปรแกรมประมวลผลข้อมูลทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า TheSky6™. นอกจากนั้น ยังมีการใช้โปรแกรมฟรีแวร์ Cartes du Ciel/Sky Charts (CDC) และโปรแกรมแปลงวันที่ของหอดูดาวกองทัพเรือสหรัฐ. เนื่องจากสัญลักษณ์บนแผ่นจารึกอักษรรูปลิ่มเกี่ยวกับตำแหน่งของดาวเคราะห์หลายตำแหน่งเปิดช่องให้มีการคาดเดาและตีความได้หลายอย่าง ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงไม่ใช้ตำแหน่งเหล่านี้ในการวิเคราะห์เพื่อจะระบุว่าปีใดตรงกับข้อมูลบนแผ่นดินเหนียวนี้.
20. Berichte über die Verhandlungen der Königl. Sächsischen Gesellschaft der Wissenschaften zu Leipzig (Reports Regarding the Discussions of the Royal Saxonian Society of Sciences at Leipzig); Volume 67; May 1 1915; “Ein astronomischer Beobachtungstext aus dem 37. Jahre Nebukadnezars II (-567/66)” (An Astronomical Observer’s Text of the 37th Year Nebuchadnezzar II) by Paul V. Neugebauer and Ernst F. Weidner page 41.
21. แผ่นดินเหนียว VAT 4956 บรรทัดที่สามเขียนว่า “ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่ง 1 คิวบิต [หรือ 2 องศา] หน้าดาวเบตาเวอร์จินิส.” ผลการวิเคราะห์ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้แสดงว่าในวันที่ 9 เดือนนิซานุ ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่ง 2 องศา 4 ลิปดา หน้าดาวเบตาเวอร์จินิสและต่ำกว่าดาวดวงนี้ 0 องศา. ข้อมูลบนแผ่นดินเหนียวและผลการวิเคราะห์นี้ตรงกันพอดี.
[แผนภูมิหน้า 25]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
แผ่นดินเหนียว VAT 4956 ชี้ว่ากรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปีใด—587 ก่อน ส.ศ. หรือ 607 ก่อน ส.ศ.?
▪ แผ่นดินเหนียวนี้อธิบายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นในปีที่ 37 แห่งการครองราชย์ของกษัตริย์นะบูคัดเนซัรที่ 2.
▪ กษัตริย์นะบูคัดเนซัรที่ 2 ทำลายกรุงเยรูซาเลมในปีที่ 18 แห่งการครองราชย์ของเขา.—ยิระมะยา 32:1
ถ้าปีที่ 37 แห่งการครองราชย์ของนะบูคัดเนซัรที่ 2 คือปี 568 ก่อน ส.ศ. กรุงเยรูซาเลมจะถูกทำลายในปี 587 ก่อน ส.ศ.
610 ก่อน ส.ศ.
600
590
580
570
560
ถ้าปีที่ 37 แห่งการครองราชย์ของเขาคือปี 588 ก่อน ส.ศ. กรุงเยรูซาเลมจะถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ. ตามการลำดับเวลาของคัมภีร์ไบเบิล.
▪ แผ่นดินเหนียว VAT 4956 ชี้ว่ามีทางเป็นไปได้มากกว่าที่กรุงเยรูซาเลมจะถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ.
[ที่มาของภาพหน้า 22]
Photograph taken by courtesy of the British Museum