คุณรู้ไหม?
คุณรู้ไหม?
งานรับใช้ในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเลมได้เงินสนับสนุนจากที่ไหน?
▪ งานรับใช้หลายอย่างในพระวิหารอาศัยเงินที่ได้จากการเก็บภาษี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินถวายสิบลดหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในพระบัญญัติ. แต่เงินภาษีแบบอื่น ๆ ก็ถูกนำมาใช้ด้วย. ตัวอย่างเช่น ในสมัยที่มีการสร้างพลับพลา พระยะโฮวาสั่งให้โมเซเก็บเงินจากชาวอิสราเอลทุกคนที่ขึ้นทะเบียนแล้ว คนละครึ่งเชเกล (เชกไกละ) เพื่อ “นำมาถวายพระยะโฮวา.”—เอ็กโซโด 30:12-16
ในสมัยต่อมา ดูเหมือนว่ากลายเป็นธรรมเนียมสำหรับชาวยิวที่จะบริจาคเงินตามอัตราที่กำหนดไว้เพื่อจ่ายเป็นค่าภาษีบำรุงพระวิหารประจำปี. พระเยซูเองก็เคยสั่งให้เปโตรไปตกปลาและเอาเหรียญในปากของมันไปจ่ายเป็นค่าภาษี.—มัดธาย 17:24-27
หลายปีก่อน มีการพบเหรียญเงินสองเหรียญในกรุงเยรูซาเลม ซึ่งเป็นเหรียญเชเกลแบบเดียวกับที่ชาวยิวใช้เสียภาษีบำรุงพระวิหาร. เหรียญอันหนึ่งซึ่งพบในร่องระบายน้ำที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่หนึ่งเป็นเหรียญที่ผลิตจากเมืองไทระในปีสากลศักราช 22. เหรียญเชเกลนี้ด้านหนึ่งเป็นรูปใบหน้าของเมลคาร์ตหรือบาอัลซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญของไทระ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปนกอินทรีเกาะบนหัวเรือ. เหรียญอันที่สองพบในซากปรักหักพังที่นำออกมาจากบริเวณเนินพระวิหาร. เหรียญนี้ทำขึ้นในปีแรกที่ชาวยิวกบฏต่อโรม ประมาณปี ส.ศ. 66-67. บนเหรียญนี้มีรูปจอกเหล้าองุ่นกับผลทับทิม 3 ผล และมีข้อความว่า “ครึ่งเชเกล” กับ “นครเยรูซาเลมอันศักดิ์สิทธิ์.” ศาสตราจารย์กาเบรียล บาร์เค พูดถึงเหรียญที่มีการค้นพบนี้ว่า “มีรอยที่เกิดจากการถูกไฟเผาซึ่งน่าจะเป็นในคราวที่พระวิหารหลังที่สองถูกเผาในปี ส.ศ. 70.”
โครงการก่อสร้างของกษัตริย์นะบูคัดเนซัรแห่งบาบิโลนยิ่งใหญ่เพียงไร?
▪ หนังสือดานิเอลในคัมภีร์ไบเบิลบันทึกคำตรัสของกษัตริย์นะบูคัดเนซัรที่ว่า “กรุงบาบูโลนใหญ่ไพศาลนี้มิใช่หรือที่เราได้สร้างไว้ให้เป็นราชฐานด้วยอานุภาพอันใหญ่หลวงของเรา, ไว้เป็นที่ผดุงสง่าราศีแห่งรัชของเรา?” (ดานิเอล 4:30) กรุงบาบิโลนโบราณยิ่งใหญ่ขนาดนั้นจริงหรือ?
นักประวัติศาสตร์ต่างยกย่องนะบูคัดเนซัรว่าเป็นผู้ที่สร้างโบสถ์วิหาร พระราชวัง กำแพงเมือง และสวนลอยที่งดงามยิ่ง. มหาวิหารที่อยู่ใจกลางกรุงบาบิโลนมีหอคอยหรือซิกกูแรตซึ่งอาจสูงกว่า 70 เมตร. อย่างไรก็ตาม หนังสือบาบิโลน—นครที่น่าอัศจรรย์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “โครงการก่อสร้าง [ของนะบูคัดเนซัร] ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือถนนขบวนพิธีและประตูอิชทาร์.” ถนนขบวนพิธีซึ่งทอดยาวจากประตูอิชทาร์มีกำแพงขนาบอยู่ทั้งสองข้าง. บนกำแพงมีภาพนูนรูปสิงโตกำลังเยื้องย่างอย่างสง่างาม. หนังสือเล่มเดียวกันนี้กล่าวถึงประตูอิชทาร์ซึ่งเป็นทางเข้าที่โอ่อ่าที่สุดของบาบิโลนว่า “ซุ้มประตูใหญ่โตมโหฬารซึ่งก่อด้วยอิฐเคลือบสีฟ้าเข้มและประดับด้วยภาพสลักของวัวตัวผู้กับมังกรนับร้อย ๆ ตัว คงต้องเป็นภาพที่ทำให้ผู้มาเยือนในสมัยนั้นประทับใจจนไม่อาจลืมเลือนได้.”
ตอนต้นศตวรรษที่ 20 นักโบราณคดีได้ขุดพบซากปรักหักพังของถนนขบวนพิธีและประตูอิชทาร์จำนวนมาก. พวกเขาได้นำชิ้นส่วนเหล่านี้ไปสร้างเป็นถนนขบวนพิธีและประตูจำลองในพิพิธภัณฑ์เปอร์กามอนที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี.
[ภาพหน้า 12]
ขนาดเท่าของจริง
[ที่มาของภาพ]
Top: Clara Emit Courtesy of Israel Antiquities Authority; bottom: Zev Radovan
[ภาพหน้า 12]
ประตูอิชทาร์ที่ถูกจำลองขึ้นใหม่