กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว
เมื่อลูกวัยรุ่นสงสัยความเชื่อทางศาสนาของคุณ
เมื่อพวกเขาเริ่มโตขึ้น หนุ่มสาวหลายคนเลือกที่จะนับถือศาสนาเดียวกับพ่อแม่. (2 ติโมเธียว 3:14) แต่บางคนก็ไม่ทำเช่นนั้น. คุณจะทำอย่างไรถ้าลูกวัยรุ่นเริ่มสงสัยความเชื่อทางศาสนาของคุณ? บทความนี้จะอธิบายว่าพยานพระยะโฮวาทำอย่างไรเมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้.
“ฉันไม่อยากนับถือศาสนาเดียวกับพ่อแม่อีกต่อไป. ฉันจะเลิกทำตามท่านแล้ว.”—โครา อายุ 18 ปี *
คุณมั่นใจว่าศาสนาที่คุณนับถือสอนความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า. คุณเชื่อว่าคัมภีร์ไบเบิลสอนให้รู้จักแนวทางชีวิตที่ดีที่สุด. ดังนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณจะปลูกฝังค่านิยมของคุณให้ลูก. (พระบัญญัติ 6:6, 7) แต่จะว่าอย่างไรถ้าลูกโตขึ้นและเขาไม่สนใจจะเรียนรู้เรื่องพระเจ้าอีกต่อไป? คุณจะทำอย่างไรถ้าเขาเริ่มสงสัยความเชื่อทางศาสนาที่เขาเคยกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เมื่อเป็นเด็ก?—กาลาเทีย 5:7
ถ้าเกิดปัญหาเช่นนี้ อย่าเพิ่งสรุปว่าคุณเป็นพ่อแม่คริสเตียนที่ใช้ไม่ได้. เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ดังที่เราจะพิจารณาต่อไป. แต่ขอให้จำไว้ว่าท่าทีและการตอบสนองของคุณเมื่อลูกวัยรุ่นเริ่มสงสัยความเชื่อทางศาสนาจะเป็นเครื่องตัดสินว่าเขาจะเลือกยึดมั่นหรือผลักไส ความเชื่อที่คุณพร่ำสอนเขา. ถ้าคุณตอบโต้ด้วยท่าทีแข็งกร้าวเหมือนเป็นศัตรูกับลูก คุณก็ต้องต่อสู้กันอย่างดุเดือด และนี่จะเป็นสงครามที่คุณไม่มีทางชนะได้เลย.—โกโลซาย 3:21
คงจะดีกว่าสักเพียงไรที่จะฟังคำเตือนของอัครสาวกเปาโล. ท่านเขียนว่า “ทาสขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ควรทะเลาะวิวาท แต่ต้องสุภาพอ่อนโยนต่อทุกคน มีคุณวุฒิที่จะสอน รู้จักอดกลั้น.” (2 ติโมเธียว 2:24) คุณจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าคุณ “มีคุณวุฒิที่จะสอน” ถ้าลูกวัยรุ่นสงสัยความเชื่อทางศาสนาของคุณ?
มองปัญหาให้ออก
ก่อนอื่น คุณต้องพยายามมองให้ออกว่าอะไรอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกคิดอย่างนั้น. ตัวอย่างเช่น:
-
เขารู้สึกเหงาและไม่มีเพื่อนในประชาคมคริสเตียนไหม? “ฉันอยากมีเพื่อน ฉันเลยไปสนิทกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน แต่การทำเช่นนั้นทำให้ฉันไม่ได้พัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าเป็นเวลาหลายปี. การคบหาสมาคมที่ไม่ดีทำให้ฉันไม่อยากทำกิจวัตรคริสเตียนอีกต่อไป แต่ตอนนี้ฉันรู้สึกเสียใจมาก.”—เลนอร์ อายุ 19 ปี
-
เขาขาดความมั่นใจในตัวเองจนไม่กล้าพูดเรื่องศาสนากับเพื่อน ๆ ไหม? “ตอนผมเป็นนักเรียน ผมไม่กล้าพูดเรื่องความเชื่อทางศาสนาของผมกับเพื่อนในชั้นเรียน. ผมกลัวเพื่อน ๆ จะมองผมเป็นตัวประหลาดหรือไม่ก็เรียกผมว่า ‘หลวงพ่อ.’ ถ้าเด็กคนไหนทำตัวต่างจากคนอื่นก็จะไม่มีใครยอมคบด้วย ผมไม่อยากเป็นอย่างนั้น.”—รามอน อายุ 23 ปี
-
เขารู้สึกว่าการดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของคริสเตียนเป็นสิ่งที่ยากเกินไปไหม? “หนูรู้สึกว่าคำสัญญาของคัมภีร์ไบเบิลเรื่องชีวิตนิรันดร์อยู่บนขั้นสูงสุดของบันไดที่สูงลิบ และหนูยังไม่ได้ก้าวขึ้นบันไดเลยแม้แต่ขั้นเดียว หนูรู้สึกว่าคำสัญญานั้นอยู่ไกลเกินเอื้อม. หนูกลัวเหลือเกินเมื่อคิดว่าต้องปีนขึ้นบันไดที่สูงขนาดนั้น หนูเลยคิดว่าไม่เอาดีกว่า.”—เรอเน อายุ 16 ปี
หันหน้ามาคุยกัน
ที่จริงแล้ว อะไรอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกวัยรุ่นของคุณ รู้สึกเช่นนั้น? วิธีที่ดีที่สุดที่จะรู้คำตอบก็คือถามลูก! แต่คุณต้องระวังไม่ให้การพูดคุยกับลูกกลายเป็นการทะเลาะโต้เถียงกัน. ขอให้ทำตามคำแนะนำที่ยาโกโบ 1:19 ที่ว่า “ทุกคนต้องไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ.” จงอดทนกับลูก. ขอให้ใช้ ‘ความอดกลั้นไว้นานและศิลปะในการสอน’ เหมือนกับที่คุณปฏิบัติต่อคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวของคุณ.—2 ติโมเธียว 4:2
ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกวัยรุ่นของคุณไม่อยากไปร่วมการประชุมคริสเตียน คุณควรพยายามหาสาเหตุว่าอะไรทำให้เขาไม่อยากไป. แต่คุณต้องใจเย็น ๆ. ถ้าคุณเป็นเหมือนกับพ่อในฉากการสนทนาข้างล่างนี้ ความพยายามของคุณคงจะล้มเหลว.
ลูก: ผมไม่อยากไปประชุมแล้ว.
พ่อ: [พูดเสียงแข็ง] ที่บอกว่าไม่อยากไป ลูกหมายความ ว่ายังไง?
ลูก: ผมคิดว่ามันน่าเบื่อ ก็แค่นั้น!
พ่อ: ลูกรู้สึกอย่างนั้น กับพระเจ้าหรือ? ลูกคิดว่าพระองค์น่าเบื่อ หรือ? คิดได้ยังไง! ตราบใดที่ลูกยังอยู่ในบ้านหลังนี้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ลูกก็ต้องไป!
พระเจ้าต้องการให้พ่อแม่สอนลูกเกี่ยวกับพระองค์ และต้องการให้ลูกเชื่อฟังพ่อแม่. (เอเฟโซส์ 6:1) อย่างไรก็ตาม คุณคงไม่ต้องการให้ลูกทำกิจวัตรคริสเตียนตามคุณโดยไม่เต็มใจและต้องฝืนใจไปร่วมการประชุมกับคุณ. ถ้าเป็นได้คุณคงอยากให้เขาไปกับคุณทั้งตัวและหัวใจ.
คุณจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าถ้าคุณมองออกว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริงของลูก. เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ ขอให้พิจารณาว่าพ่อในฉากสนทนาข้างต้นจะเปลี่ยนวิธีพูดให้ดีขึ้นได้อย่างไร.
ลูก: ผมไม่อยากไปประชุมแล้ว.
พ่อ: [พูดอย่างใจเย็น] ทำไมลูกคิดอย่างนั้นล่ะ?
ลูก: ผมคิดว่ามันน่าเบื่อ ก็แค่นั้น!
พ่อ: การนั่งฟังเป็นชั่วโมง ๆ ก็อาจ น่าเบื่อจริง ๆ. แต่อะไรทำให้ลูกรู้สึกเบื่อมากที่สุด?
ลูก: ไม่รู้สิ. ผมก็แค่อยากไปที่อื่นมากกว่า.
พ่อ: เพื่อน ๆ ของลูกรู้สึกอย่างนั้นด้วยไหม?
ลูก: เอ่อ ไม่รู้สิพ่อ! ก็ตอนนี้ผมไม่มี เพื่อนเลยสักคน. ตั้งแต่เพื่อนสนิทของผมย้ายไป ผมก็ไม่รู้จะคุยกับใคร! ทุกคนคุยกันสนุกสนาน แต่ไม่มีใครคุยกับผมเลย!
พ่อที่พยายามตะล่อมถามความรู้สึกของลูกอย่างใจเย็นเช่นนี้ นอกจากจะได้เข้าใจว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริงของลูกแล้ว (ในกรณีนี้คือความเหงา) เขายังสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับลูกและเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันมากขึ้นต่อไป.—ดูกรอบเมื่อเวลาผ่านไป หนุ่มสาวหลายคนได้เรียนรู้ว่าถ้าพวกเขาเอาชนะปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าได้ พวกเขาก็จะมีความรู้สึกที่ดีขึ้นต่อตัวเองและ มั่นใจในความเชื่อทางศาสนาของตนมากขึ้น. ขอพิจารณาตัวอย่างของรามอนเด็กหนุ่มที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ซึ่งไม่กล้าบอกเพื่อนที่โรงเรียนว่าเขาเป็นคริสเตียน. ในที่สุด รามอนก็รู้ว่าการบอกคนอื่นเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด แม้ว่าบางครั้งเขาอาจถูกเพื่อนเยาะเย้ยก็ตาม. เขาเล่าว่า:
“ครั้งหนึ่ง เพื่อนนักเรียนคนหนึ่งล้อเลียนผมเกี่ยวกับศาสนาของผม. ผมเครียดและกลัวมาก และผมรู้สึกว่าเพื่อนทั้งชั้นกำลังฟังอยู่. แต่ผมก็ตัดสินใจย้อนถามเขา เกี่ยวกับความเชื่อของเขา เอง. ผมประหลาดใจที่เห็นว่าเขาเครียดมากกว่าผมอีก! ตั้งแต่นั้นผมก็รู้ว่าเด็กหนุ่มสาวหลายคนมีความเชื่อทางศาสนาแต่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับศาสนาของตัวเอง. ผมก็ยังดีกว่าพวกเขาเพราะผมอธิบาย ความเชื่อของผมได้. ที่จริง เมื่อพูดถึงเรื่องความเชื่อทางศาสนา คนที่น่าจะรู้สึกเครียดและอึดอัดก็คือเพื่อนร่วมชั้น ของผม ไม่ใช่ผม!”
ลองวิธีนี้: พยายามตะล่อมถามลูกว่าเขารู้สึกอย่างไรกับการเป็นคริสเตียน. เขาคิดว่าการเป็นคริสเตียนมีข้อดีข้อเสียอย่างไร? ข้อดีมีมากกว่าข้อเสียไหม? และให้ลูกอธิบายว่าทำไมจึงตอบเช่นนั้น. (มาระโก 10:29, 30) คุณอาจให้ลูกวัยรุ่นเขียนคำตอบของเขาลงในกระดาษที่แบ่งเป็นสองช่อง ช่องซ้ายให้เขียนข้อเสียและช่องขวาให้เขียนข้อดี. เมื่อลูกของคุณได้เห็นข้อสรุปของเขาที่เขียนออกมาในกระดาษ เขาอาจมองเห็นว่าตนเองมีปัญหาอะไรและหาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านั้น.
“ความสามารถในการใช้เหตุผล” ของลูกวัยรุ่น
พ่อแม่และบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างก็รู้ว่าเด็กวัยรุ่นกับเด็กเล็กมีวิธีคิดแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด. (1 โครินท์ 13:11) เด็กเล็กมักจะคิดตามที่เห็นเท่านั้น เช่น ขาวก็คือขาว ดำก็คือดำ ขณะที่เด็กวัยรุ่นมักคิดแบบมีเหตุมีผลมากกว่า. ตัวอย่างเช่น เด็กเล็กอาจคิดแค่ตามที่พ่อแม่สอนว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างทุกสิ่ง. (เยเนซิศ 1:1) แต่เด็กวัยรุ่นอาจพยายามคิดหาคำตอบว่า ‘ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่ามีพระเจ้า? ถ้าพระเจ้าเป็นความรักทำไมทรงยอมให้มีความชั่ว? เป็น ไปได้จริง ๆ หรือที่พระเจ้าจะดำรงอยู่เรื่อยมาโดยไม่มีจุดเริ่มต้น?’—บทเพลงสรรเสริญ 90:2
คุณอาจรู้สึกว่าการคิดหาเหตุผลเช่นนี้แสดงว่าความเชื่อที่คุณปลูกฝังให้ลูกเริ่มสั่นคลอน. ที่จริง การที่ลูกคิดอย่างนี้ถือเป็นพัฒนาการ อีกขั้นหนึ่งของเขา. ถ้าจะว่าไปแล้ว การตั้งคำถามเช่นนั้นอาจเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้คริสเตียนพัฒนาความเชื่อให้เข้มแข็งขึ้น.—กิจการ 17:2, 3
นอกจากนั้น การที่ลูกวัยรุ่นตั้งคำถามแสดงว่าเขากำลังฝึก “ความสามารถในการใช้เหตุผล.” (โรม 12:1, 2) ในที่สุด เขาจะสามารถเข้าใจ “ความกว้าง ความยาว ความสูง และความลึก” ของความเชื่อแบบคริสเตียนซึ่งเป็นเรื่องที่เขาไม่เข้าใจเมื่อเป็นเด็ก. (เอเฟโซส์ 3:18) ดังนั้น ตอนนี้เป็นเวลาที่คุณจำเป็นต้องช่วยลูกวัยรุ่นให้คิดหาเหตุผล เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาของเขา. โดยวิธีนี้ ลูกก็จะมีความมั่นใจในความเชื่อของตน.—สุภาษิต 14:15; กิจการ 17:11
ลองวิธีนี้: ชวนลูกทบทวนความรู้พื้นฐานในพระคัมภีร์ที่คุณและลูกอาจคิดว่ารู้ดีอยู่แล้ว. ตัวอย่างเช่น ลองให้เขาหาคำตอบเกี่ยวกับคำถามเหล่านี้: ‘อะไรทำให้ฉัน เชื่อว่ามีพระเจ้า? มีหลักฐานอะไรที่แสดงว่าพระเจ้ารักและห่วงใยฉัน? ทำไมฉันคิดว่าการทำตามกฎหมายของพระเจ้าเป็นประโยชน์ต่อฉันเสมอ?’ ระวังอย่ายัดเยียดความคิดของคุณให้ลูก. คุณควรช่วยลูกให้พัฒนาความเชื่อของเขาเอง. การทำเช่นนั้นจะช่วยให้ลูกมั่นใจในความเชื่อของเขามากขึ้น.
“ได้รับการช่วยให้เชื่อมั่น”
คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงเด็กหนุ่มชื่อติโมเธียวซึ่งรู้จักหนังสือบริสุทธิ์ “ตั้งแต่เป็นทารก.” ถึงกระนั้น อัครสาวกเปาโลก็เตือนติโมเธียวว่า “จงทำตามสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้และสิ่งที่ท่านได้รับการช่วยให้เชื่อมั่น ว่าเป็นความจริงต่อ ๆ ไป.” (2 ติโมเธียว 3:14, 15) เช่นเดียวกับติโมเธียว ลูกของคุณอาจเรียนรู้มาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลมาตั้งแต่เป็นทารก. แต่ตอนนี้คุณจำเป็นต้องช่วยเขาให้เชื่อมั่นในคำสอนเหล่านั้นเพื่อเขาจะพัฒนาความเชื่อของตนขึ้นมาได้.
หนังสือคำถามที่หนุ่มสาวถาม—คำตอบที่ได้ผล เล่ม 1 กล่าวว่า “ตราบใดที่ลูกยังอยู่กับคุณ คุณมีสิทธิ์บอกเขาให้เข้าร่วมกิจกรรมคริสเตียนกับคุณ. แต่สิ่งสำคัญคือ การช่วยลูกให้รักพระเจ้าจากหัวใจ ไม่ใช่ทำตามคุณเหมือนหุ่นยนต์.” ถ้าคุณตั้งเป้าหมายนี้ไว้ในใจ คุณก็สามารถช่วยลูกวัยรุ่นให้ “มีความเชื่อที่มั่นคง” เพื่อเขาจะยึดความเชื่อนั้นเป็นแนวทางชีวิตของเขา ไม่ใช่ของคุณ. *—1 เปโตร 5:9
^ วรรค 4 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.
^ วรรค 40 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดดูหอสังเกตการณ์ 1 พฤษภาคม 2009 หน้า 10-12 และหนังสือคำถามที่หนุ่มสาวถาม—คำตอบที่ได้ผล เล่ม 1 หน้า 315-318.
ถามตัวเองว่า . . .
-
ฉันมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อลูกเริ่มสงสัยความเชื่อทางศาสนาของฉัน?
-
ฉันจะใช้คำแนะนำในบทความนี้อย่างไรเพื่อปรับปรุงท่าทีที่ฉันแสดงต่อลูก?