การต่อสู้เพื่อข่าวดีในเทสซาโลนิเก
การต่อสู้เพื่อข่าวดีในเทสซาโลนิเก
เทสซาโลนิเกที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า เทสซาโลนิกิหรือซาโลนิกา เป็นเมืองท่าที่เจริญมากทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศกรีซ. เนื่องจากเทสซาโลนิเกเป็นเมืองใหญ่ เมืองนี้จึงมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของคริสเตียนสมัยศตวรรษแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เปาโลทำงานประกาศสั่งสอนในฐานะอัครสาวกที่ถูกส่งไปยังชนต่างชาติ.—กิจการ 9:15; โรม 11:13
ราว ๆ ปีสากลศักราช 50 เปาโลกับซีลัสเพื่อนร่วมเดินทางได้มาถึงเมืองเทสซาโลนิเก. พวกเขาอยู่ระหว่างการเดินทางรอบที่สองในงานมิชชันนารีของเปาโล และนี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขามีโอกาสนำข่าวดีเกี่ยวกับพระคริสต์มาประกาศในดินแดนที่ปัจจุบันคือทวีปยุโรป.
เมื่อทั้งสองมาถึงเทสซาโลนิเก ไม่ต้องสงสัยว่าความทรงจำที่เคยถูกตีและถูกจองจำในคุกที่เมืองฟิลิปปอยเมืองหลวงของแคว้นมาซิโดเนียยังคงแจ่มชัดอยู่ในใจพวกเขา. ที่จริง ในภายหลังเปาโลได้บอกชาวเทสซาโลนิเกว่าตอนที่ท่านจะไปเยี่ยมพวกเขา ท่านได้ประกาศ ‘ข่าวดีของพระเจ้าทั้ง ๆ ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย.’ (1 เทสซาโลนิเก 2:1, 2) สถานการณ์ในเทสซาโลนิเกจะดีกว่าไหม? การประกาศในเมืองนี้จะเป็นอย่างไร? งานของพวกเขาจะเกิดผลไหม? ก่อนอื่น ให้เรามาดูประวัติของเมืองโบราณนี้.
เมืองที่ฝ่าวิกฤติมามากมาย
แม้แต่ชื่อของเทสซาโลนิเกก็มาจากคำภาษากรีกสองคำที่มีความหมายว่า “ชาวเทสซาลี” กับ “ชัยชนะ” ซึ่งบ่งบอกถึงความเดือดร้อนวุ่นวายและการต่อสู้. เชื่อกันว่าในปี 352 ก่อน ส.ศ. กษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งมาซิโดเนีย ราชบิดาของอะเล็กซานเดอร์มหาราชได้ปราบปรามชนเผ่าหนึ่งในแคว้นเทสซาลีซึ่งอยู่ทางตอนกลางของกรีซได้สำเร็จ. ตามเรื่องที่เล่าขานกันมา กษัตริย์ฟิลิปได้ตั้งชื่อบุตรสาวคนหนึ่งของเขาว่าเทสซาโลนิกิ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงชัยชนะในครั้งนั้น. ต่อมา เธอได้แต่งงานกับคัสซันเดอร์ หนึ่งในผู้ครองอาณาจักรนี้ต่อจากอะเล็กซานเดอร์พี่ชายของเธอ. ประมาณปี 315 ก่อน ส.ศ. คัสซันเดอร์ได้สร้างเมืองหนึ่งทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรชัลกีดิกีและตั้งชื่อเมืองนี้ตามชื่อภรรยาของเขา. ประวัติศาสตร์ของเทสซาโลนิเกเต็มไปด้วยความขัดแย้งและการนองเลือด.
เทสซาโลนิเกยังเป็นเมืองที่เจริญมั่งคั่งด้วย. เมืองนี้มีท่าเรือธรรมชาติที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในทะเลอีเจียน. ในสมัยโรมัน เมืองนี้ตั้งอยู่บนทางหลวงเวีย เอกนาเทียที่โด่งดัง. เนื่องจากตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทั้งทางทะเลและทางบก เทสซาโลนิเกจึงเป็นประตูสู่การค้าที่สำคัญของจักรวรรดิโรมัน. ตลอดหลายยุคหลายสมัย ความเจริญมั่งคั่งของเทสซาโลนิเกดึงดูดชนชาติต่าง ๆ ให้อยากเข้ามาครอบครอง ทั้งชาวกอท ชาวสลาฟ ชาวแฟรงก์ ชาวเวนิซ และชาวเติร์ก. บางชนชาติก็พิชิตเมืองนี้ได้โดยใช้กำลังและทำให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อมากมาย. แต่ตอนนี้ขอให้เรามุ่งความสนใจไปยังเปาโลขณะที่ท่านเยี่ยมเมืองนี้เป็นครั้งแรกและพยายามประกาศข่าวดีที่นั่น.
เปาโลมาถึงเมืองเทสซาโลนิเก
เมื่อเปาโลเดินทางไปเมืองใดเป็นครั้งแรก ท่านมักจะไปหาชาวยิวก่อนเพราะพวกเขาคุ้นเคยกับพระคัมภีร์เป็นอย่างดีทำให้ท่านสามารถหยิบยกเรื่องเหล่านั้นขึ้นมาพูดคุยและช่วยให้พวกเขาเข้าใจข่าวดีได้ง่าย. นักวิชาการคนหนึ่งให้ความเห็นว่าการที่เปาโลทำเช่นนี้แสดงว่าท่านเป็นห่วงเพื่อนร่วมชาติของตน หรือไม่ท่านก็พยายามใช้ชาวยิวและคนที่ยำเกรงพระเจ้าเป็นฐานสำหรับการทำงานในหมู่คนต่างชาติ.—กิจการ 17:2-4
ดังนั้น สิ่งแรกที่เปาโลทำเมื่อมาถึงเทสซาโลนิเกคือไปที่ธรรมศาลา และ “ถกเรื่องในพระคัมภีร์กับชาวยิว เขาอธิบายและพิสูจน์โดยอ้างอิงข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ว่าพระคริสต์จำเป็นต้องทนทุกข์และเป็นขึ้นจากตาย และกล่าวว่า ‘พระเยซูที่เราประกาศให้ท่านทั้งหลายรู้จักนี่แหละคือพระคริสต์.’ ”—กิจการ 17:2, 3, 10
เปาโลเน้นเรื่องบทบาทของพระมาซีฮาและการระบุตัวพระองค์ซึ่งเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ผู้ฟัง. คำสอนที่ว่าพระมาซีฮาได้ทนทุกข์จนสิ้นพระชนม์ขัดแย้งกับความคิดของชาวยิวที่เชื่อว่าพระมาซีฮาจะเสด็จมาในฐานะนักรบที่องอาจ. เพื่อโน้มน้าวใจชาวยิว เปาโลได้ “ถก,” “อธิบาย,” และ “พิสูจน์โดยอ้างอิง” ข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นครูที่มีประสิทธิภาพ. * แต่ผู้คนมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อได้ยินข่าวสารสำคัญที่เปาโลพยายามบอกพวกเขา?
งานรับใช้เกิดผลทั้ง ๆ ที่มีอุปสรรค
ชาวยิวบางคนกับชาวกรีกหลายคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว รวมทั้ง “ผู้หญิงที่เป็นคนสำคัญ ๆ จำนวนไม่น้อย” รับฟังข่าวสารของเปาโล. การใช้สำนวน “ผู้หญิงที่เป็นคนสำคัญ ๆ” นับว่าเหมาะทีเดียวเพราะในมาซิโดเนียมีผู้หญิงหลายคนเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม. พวกเธอบางคนมีตำแหน่งในรัฐบาล เป็นเจ้าของที่ดิน มีสิทธิพิเศษบางอย่าง และมีธุรกิจของตนเอง. แม้แต่อนุสาวรีย์หลายแห่งก็สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พวกเธอ. เช่นเดียวกับนักธุรกิจหญิงชาวเมืองฟิลิปปอยที่ชื่อลิเดีย มีสตรีสูงศักดิ์ชาวเทสซาโลนิเกหลายคนตอบรับข่าวดี และดูเหมือนว่าพวกเธอมาจากตระกูลที่มีชื่อเสียงและเป็นภรรยาของเหล่าขุนนาง.—กิจการ 16:14, 15; 17:4
อย่างไรก็ตาม ชาวยิวพากันอิจฉาเปาโล. พวกเขาจึงเกณฑ์ “คนเลวตามตลาดที่ไม่รู้จักทำงานมาเป็นพรรคพวกแล้วก่อความวุ่นวายในเมือง.” (กิจการ 17:5) คนพวกนี้เป็นใคร? นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งอธิบายว่าพวกเขาเป็น “นักเลงอันธพาลและพวกเดนสังคม.” เขายังกล่าวด้วยว่า “ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่ได้สนใจจริง ๆ ว่าเปาโลกำลังพูดเรื่องอะไร. พวกเขาก็เหมือนฝูงชนหัวรุนแรงกลุ่มอื่น ๆ ที่ปลุกระดมได้ง่ายและพร้อมจะสร้างสถานการณ์เลวร้ายทุกรูปแบบ.”
ฝูงชนเหล่านี้ “บุกเข้าบ้านยาโซน [เจ้าของบ้านที่เปาโลพักอยู่] และหาทางเอาตัวเปาโลกับซีลัสออกมาให้ฝูงชน.” เมื่อไม่พบเปาโล พวกเขาจึงหันไปพึ่งผู้มีอำนาจสูงสุดในเมืองนั้น. ดังนั้น “พวกเขาก็ลากยาโซนกับพี่น้องบางคนไปหาคณะผู้ปกครองเมืองและร้องว่า ‘คนเหล่านั้นซึ่งเป็นพวกที่ทำให้แผ่นดินวุ่นวายก็มาที่นี่ด้วย.’ ”—กิจการ 17:5, 6
เนื่องจากเทสซาโลนิเกเป็นเมืองหลวงของมาซิโดเนีย เมืองนี้จึงมีอำนาจปกครองตนเองในระดับหนึ่ง. ส่วนหนึ่งของคณะผู้บริหารเมืองประกอบด้วยตัวแทนประชาชน * (เจ้าครองนคร) คือเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองไม่ให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรมเข้าแทรกแซงและเพิกถอนสิทธิพิเศษต่าง ๆ. ดังนั้น คณะผู้ปกครองเมืองคงหวั่นวิตกเมื่อได้ยินว่ามี “ผู้ก่อความวุ่นวาย” มาทำลายความสงบสุขของชาวเมืองนี้.
ที่เรียกว่า สภาราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ตัดสินคดีความต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองนี้. “คณะผู้ปกครองเมือง” หรือโพลิตอาร์ชแล้วเปาโลกับซีลัสก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุด. ฝูงชนพากันร้องว่า “คนพวกนี้ฝ่าฝืนบัญชาของซีซาร์ พวกเขาบอกว่ามีกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง คือเยซู.” (กิจการ 17:7) หนังสือวิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งอธิบายว่าข้อกล่าวหานี้บอกเป็นนัยว่าเปาโลกับซีลัสกำลัง “ปลุกระดมและกบฏ” ต่อจักรพรรดิ ซึ่งตามปกติแล้วจะ “ไม่ยอมให้ประชาชนในดินแดนใต้อาณัติของตนเอ่ยชื่อกษัตริย์องค์ [อื่น] เว้นแต่จะได้รับอนุญาต.” และเนื่องจากพระเยซูผู้ที่เปาโลประกาศว่าเป็นกษัตริย์ก็เคยถูกพวกโรมันประหารด้วยข้อหาปลุกระดม เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจึงรู้สึกว่าข้อกล่าวหานี้น่าเชื่อถือ.—ลูกา 23:2
เมื่อคณะผู้ปกครองเมืองได้ยินเช่นนั้นก็พากันวิตก. แต่เนื่องจากไม่มีหลักฐานแน่ชัดและไม่สามารถจับตัวผู้ถูกกล่าวหาได้ ‘ผู้ปกครองเมืองจึงเรียกเงินประกันตัวจากยาโซนกับคนอื่น ๆ แล้วปล่อยตัวไป.’ (กิจการ 17:8, 9) การที่ยาโซนและเพื่อนคริสเตียนคนอื่น ๆ จ่ายเงินประกันเป็นการรับรองว่าเปาโลจะต้องออกไปจากเมืองนี้และไม่กลับมาสร้างความวุ่นวายอีก. บางทีเปาโลคงกำลังคิดถึงเหตุการณ์นี้เมื่อท่านเขียนว่า “ซาตานขวางทาง [ท่าน] ไว้” และทำให้ท่านไม่สามารถกลับเข้าไปในเมืองนั้นได้อีก.—1 เทสซาโลนิเก 2:18
เมื่อเกิดสถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้ พวกพี่น้องจึงส่งเปาโลกับซีลัสไปเมืองเบโรยาในคืนนั้นเอง. ปรากฏว่างานรับใช้ของเปาโลที่นั่นเกิดผลดีเช่นกัน. และเมื่อผู้ต่อต้านชาวยิวในเมืองเทสซาโลนิเกได้ยินข่าว พวกเขาก็เดินทางไกลถึง 80 กิโลเมตรเพื่อไปปลุกระดมชาวเมืองเบโรยาให้ลุกฮือขึ้นต่อต้านเปาโลกับซีลัส. ไม่ช้า เปาโลก็ต้องออกเดินทางอีกครั้ง. ท่านมุ่งหน้าไปยังเอเธนส์ แต่การต่อสู้เพื่อข่าวดียังไม่จบสิ้นเพียงเท่านี้.—กิจการ 17:10-14
การต่อสู้ของประชาคมที่ตั้งขึ้นใหม่
น่ายินดี ในที่สุดการตั้งประชาคมในเมืองเทสซาโลนิเกก็ประสบความสำเร็จ แต่การต่อต้านไม่ใช่อุปสรรคเพียงอย่างเดียวที่พวกเขาต้องเผชิญ. คริสเตียนชาวเทสซาโลนิเกอาศัยอยู่ท่ามกลางคนนอกรีตที่ประพฤติผิดศีลธรรม และเรื่องนี้ทำให้เปาโลเป็นห่วงมาก. พี่น้องของท่านจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ไหม?—1 เทสซาโลนิเก 2:17; 3:1, 2, 5
คริสเตียนในเมืองเทสซาโลนิเกรู้ว่าเมื่อพวกเขาเลิกมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคมและศาสนาของชาวเมืองนั้น เพื่อนฝูงที่เคยคบหาอาจไม่ชอบหรือโกรธเคืองพวกเขา. (โยฮัน 17:14) นอกจากนั้น เมืองเทสซาโลนิเกยังเต็มไปด้วยวิหารของเหล่าเทพเจ้ากรีก เช่น ซูส อาร์เตมิส และอะพอลโล รวมทั้งเทพเจ้าของอียิปต์อีกมากมาย. การนมัสการจักรพรรดิก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากและประชาชนทุกคนต้องเข้าร่วมในพิธีที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการนี้. คนที่ไม่ยอมเข้าร่วมจะถูกมองว่าตั้งตัวเป็นกบฏต่อโรม.
ส่วนใหญ่แล้วการนมัสการรูปเคารพส่งเสริมให้มีการใช้1 เทสซาโลนิเก 4:3-8
ชีวิตอย่างสำส่อนไร้ยางอาย. สิ่งที่เหมือนกันในการนมัสการเทพเจ้ากาบิรุสผู้พิทักษ์เมืองเทสซาโลนิเกกับเทพไดโอนิซุส และเทพธิดาแอโฟรไดทีกับเทพธิดาไอซิสของอียิปต์ คือมีการร่วมเพศอย่างโจ่งครึ่มและการดื่มจนเมามายรวมทั้งการปล่อยตัวอย่างสุดเหวี่ยงระหว่างที่ประกอบพิธีกรรม. การอยู่ด้วยกันโดยไม่ได้สมรสและการค้าประเวณีเป็นเรื่องธรรมดาของเมืองนี้. การผิดประเวณีไม่ถือว่าเป็นบาป. สังคมของพวกเขาได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของชาวโรมัน ซึ่งนักวิชาการคนหนึ่งอธิบายว่า “ในเมืองนี้มีชายหญิงจำนวนมากมายซึ่งมีอาชีพขายบริการเพื่อสนองความต้องการทุกรูปแบบของชาวเมือง และบรรดาแพทย์ต่างก็แนะนำว่าไม่ควรเก็บความรู้สึกใด ๆ ไว้ แต่ให้ปลดปล่อยความต้องการออกมาอย่างเต็มที่.” ดังนั้น ไม่แปลกที่เปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนในเมืองนี้ให้ “ละเว้นจากการผิดประเวณี,” ไม่ “มักมากในกาม,” และหลีกเลี่ยง “การประพฤติที่ไม่สะอาด.”—ได้ชัยชนะในการต่อสู้
คริสเตียนในเมืองเทสซาโลนิเกต้องตั้งใจแน่วแน่ที่จะต่อสู้เพื่อความเชื่อ. แต่ทั้ง ๆ ที่ถูกต่อต้าน เผชิญความยากลำบาก อีกทั้งอยู่ในหมู่คนนอกรีตและสภาพแวดล้อมที่ผิดศีลธรรม คริสเตียนเหล่านี้ก็ได้รับคำชมเชยจากเปาโลเพราะพวกเขา ‘ทำงานด้วยความเชื่อ ทำงานหนักด้วยความรัก และเพียรอดทน’ รวมทั้งมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการเผยแพร่ข่าวดีออกไปอย่างกว้างขวาง.—1 เทสซาโลนิเก 1:3, 8
ในปี ส.ศ. 303 คนที่เรียกตัวเองว่าคริสเตียนถูกข่มเหงอย่างโหดร้ายทารุณตลอดทั่วจักรวรรดิโรมัน. แกนนำคนสำคัญคือซีซาร์กาเลริอุสซึ่งพำนักอยู่ในเทสซาโลนิเกและได้สร้างอาคารที่โอ่อ่าสง่างามหลายหลัง. ซากปรักหักพังของอาคารเหล่านี้บางส่วนยังเหลืออยู่ให้นักท่องเที่ยวชมดูได้.
ทุกวันนี้ พยานพระยะโฮวาในเทสซาโลนิกิยังคงประกาศแก่ผู้คนที่พวกเขาพบ. บ่อยครั้งพวกเขาพูดคุยกับผู้คนตรงหน้าอาคารที่สร้างขึ้นโดยศัตรูที่โหดร้ายของศาสนาคริสเตียน. แม้ว่าในช่วงศตวรรษที่ 20 งานประกาศของพวกเขาจะถูกต่อต้านอย่างหนัก แต่ปัจจุบันมีพยานฯ ประมาณ 60 ประชาคมทำงานประกาศอย่างขันแข็งในเมืองนี้และเขตที่อยู่โดยรอบ. ความพยายามของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อเผยแพร่ข่าวดีซึ่งได้เริ่มขึ้นเมื่อหลายศตวรรษที่แล้วยังดำเนินอยู่และเกิดผลมากมาย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 เปาโลอาจอ้างถึงข้อความต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบทเพลงสรรเสริญ 22:7; 69:21; ยะซายา 50:6; 53:2-7; และดานิเอล 9:26.
^ วรรค 16 คำนี้ไม่ปรากฏในหนังสือภาษากรีกเล่มใด แต่มีอยู่ในข้อความจารึกจากศตวรรษที่หนึ่งก่อน ส.ศ. ซึ่งพบตามที่ต่าง ๆ ในเมืองเทสซาโลนิเก. หลักฐานเหล่านี้ยืนยันความถูกต้องของบันทึกในหนังสือกิจการ.
[แผนที่หน้า 18]
(ดูรายละเอียดในวารสาร)
เวีย เอกนาเทีย
มาซิโดเนีย
ฟิลิปปอย
อัมฟิโปลิส
เทสซาโลนิเก
เบโรยา
เทสซาลี
ทะเลอีเจียน
เอเธนส์
[ภาพหน้า 20, 21]
บน: เมืองเทสซาโลนิกิในปัจจุบัน
ล่าง: ลานค้าขายและโรงอาบน้ำแบบโรมันในอะกอรา
[ภาพหน้า 21]
อาคารรูปโดมใกล้ซุ้มประตูกาเลริอุส; รูปสลักนูนของซีซาร์กาเลริอุส; การประกาศใกล้ซุ้มประตูกาเลริอุส
[ที่มาของภาพหน้า 18]
Head medallion: © Bibliothèque nationale de France; stone inscription: Thessalonica Archaeological Museum copyright Hellenic Ministry of Culture and Tourism
[ที่มาของภาพหน้า 20]
Two bottom left images: 16th Ephorate of Prehistoric and Classical Antiquities copyright Hellenic Ministry of Culture and Tourism
[ที่มาของภาพหน้า 21]
Middle image: Thessalonica Archaeological Museum copyright Hellenic Ministry of Culture and Tourism