การทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่รู้จักในภาษาสวาฮิลี
“สวาฮิลี.” เมื่อได้ยินคำนี้หลายคนอาจนึกถึงทวีปแอฟริกาและสัตว์ป่าที่เดินอยู่ทั่วทุ่งหญ้าเซเรงเกติ. แต่สำหรับคนที่พูดภาษาสวาฮิลี คำนี้มีความหมายมากกว่านั้น.
สวาฮิลีเป็นภาษาพูดของประชากรมากถึง 100 ล้านคนในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออกอย่างน้อย 12 ประเทศ. * หลายประเทศ เช่น เคนยา แทนซาเนีย และยูกันดาใช้ภาษาสวาฮิลีเป็นภาษาราชการหรือภาษาประจำชาติ. ในประเทศใกล้เคียงอื่น ๆ ภาษาสวาฮิลีเป็นภาษากลางที่ทำให้คนต่างถิ่นติดต่อพูดคุยและค้าขายกันได้ง่ายขึ้น.
ภาษาสวาฮิลีเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนในแอฟริกาตะวันออกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. ตัวอย่างเช่น เฉพาะในแทนซาเนียประเทศเดียวมีภาษาพูดอย่างน้อย 114 ภาษา. ลองนึกภาพว่า เมื่อคุณออกจากบ้านไปเพียง 40-80 กิโลเมตร คุณก็ได้พบผู้คนที่พูดภาษาต่างจากคุณอย่างสิ้นเชิง และบางภาษาก็พูดกันในหมู่บ้านเล็ก ๆ ไม่กี่แห่งเท่านั้น. คุณจะสื่อสารกับคนที่พูดภาษาเหล่านี้ได้อย่างไร? เห็นได้ชัดว่า การมีภาษากลางช่วยได้มากทีเดียว.
กว่าจะมาเป็นภาษาสวาฮิลี
เชื่อกันว่าภาษาสวาฮิลีแต่เดิมเป็นภาษาพูดซึ่งเริ่มใช้กันราว ๆ ศตวรรษที่สิบ. ต่อมา ในศตวรรษที่ 16 ภาษานี้เริ่มมีภาษาเขียนด้วย. ไม่นาน ผู้คนที่เรียนพูดภาษาสวาฮิลีก็สังเกตว่าหลายคำในภาษานี้คล้ายกับภาษาอาหรับมาก. ที่จริง
คำภาษาสวาฮิลีอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์มีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับและที่เหลือส่วนใหญ่มาจากภาษาแอฟริกา. ดังนั้น ไม่แปลกเลยที่มีการเขียนภาษาสวาฮิลีโดยใช้อักษรอาหรับเป็นเวลาหลายร้อยปี.ปัจจุบัน ภาษาสวาฮิลีเขียนด้วยอักษรโรมัน. เกิดอะไรขึ้น? ทำไมมีการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น? เพื่อจะได้คำตอบ เราต้องย้อนไปตอนกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อมิชชันนารีชาวยุโรปรุ่นแรกเข้ามาในแอฟริกาตะวันออกเพื่อเผยแพร่ข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลแก่ชนพื้นเมือง.
พระคำของพระเจ้ามาถึงแอฟริกาตะวันออก
ในปี 1499 ช่วงเวลาเดียวกับที่วัสโก ดา กามาผู้โด่งดังเดินเรืออ้อมแผ่นดินทางใต้สุดของทวีปแอฟริกา เหล่ามิชชันนารีชาวโปรตุเกสได้พยายามชักชวนชาวแอฟริกาตะวันออกให้มานับถือศาสนาคาทอลิกโดยตั้งสำนักงานแห่งหนึ่งขึ้นบนเกาะแซนซิบาร์. อย่างไรก็ตาม การต่อต้านจากคนท้องถิ่นทำให้ภายใน 200 ปีต่อมา ภาษาโปรตุเกสพร้อมกับ “ศาสนาคริสเตียน” ได้ถูกกำจัดออกไปจากภูมิภาคนี้.
หลังจากผ่านไป 150 ปีมีคนนำพระคำของพระเจ้ากลับมายังแอฟริกาตะวันออกอีกครั้ง. เขาคือโยฮันน์ ลุดวิก ครัฟ มิชชันนารีชาวเยอรมัน. เมื่อเขามาถึงเกาะมอมบาซา ประเทศเคนยาในปี 1844 ชาวแอฟริกาตะวันออกส่วนใหญ่ที่อาศัยในแถบชายฝั่งนับถือศาสนาอิสลาม ส่วนผู้คนมากมายในตอนกลางของทวีปก็กราบไหว้วิญญาณและภูตผีตามธรรมเนียมของบรรพบุรุษ. ครัฟเชื่อว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะได้อ่านคัมภีร์ไบเบิล.
ครัฟไม่รอช้า เขาเริ่มศึกษาภาษาสวาฮิลีทันที. เดือนมิถุนายน 1844 หลังจากมาถึงได้ไม่นาน เขาเริ่มแปลคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นงานที่ท้าทายมาก. อย่างไรก็ตาม ในเดือนถัดมาเกิดเรื่องเศร้าสลดเมื่อเขาสูญเสียภรรยาที่เพิ่งแต่งงานกันได้เพียงสองปี และไม่กี่วันต่อมาลูกสาวแบเบาะของเขาก็จากไปด้วย. แม้จะเศร้าเสียใจเพียงใด ครัฟก็มุ่งมั่นแปลคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นงานสำคัญของเขาต่อไป. ในปี 1847 หนังสือเยเนซิศสามบทแรกได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการพิมพ์ข้อความภาษาสวาฮิลีลงในกระดาษ.
ครัฟเป็นคนแรกที่ใช้อักษรโรมันในการเขียนภาษาสวาฮิลีแทนที่จะใช้อักษรอาหรับเหมือนที่เคยทำกันมา. เหตุผลประการหนึ่งที่เขาไม่ใช้อักษรอาหรับคือ เพราะ “พยัญชนะภาษาอาหรับยากเกินไปสำหรับชาวยุโรป” ที่ต้องการเรียนภาษาสวาฮิลี และ “อักษรโรมันจะช่วยให้ ‘ชนพื้นเมืองเรียนภาษาของชาวยุโรป’ ได้ง่ายขึ้น.” บางคนยังนิยมใช้อักษรอาหรับต่อมาอีกหลายปี และคัมภีร์ไบเบิลภาษาสวาฮิลีบางส่วนก็พิมพ์โดยใช้อักษรอาหรับ. แต่การใช้อักษรโรมันช่วยให้หลายคนเรียนภาษาสวาฮิลีได้ง่ายขึ้นจริง ๆ. มิชชันนารีหลายคนและผู้ที่เรียนภาษาสวาฮิลีต่างดีใจมากที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้.
นอกจากครัฟจะเป็นคนแรกที่แปลพระคำของพระเจ้าเป็นภาษาสวาฮิลีแล้ว เขายังวางพื้นฐานไว้สำหรับผู้แปลรุ่นต่อมาด้วย. เขาเขียนตำราไวยากรณ์ภาษาสวาฮิลีเล่มแรก และทำพจนานุกรมภาษาสวาฮิลีอีกเล่มหนึ่งด้วย.
พระนามของพระเจ้าในภาษาสวาฮิลี
ในหนังสือเยเนซิศสามบทแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ ครัฟแปลพระนามของพระเจ้าโดยใช้คำว่า “พระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง.” อย่างไรก็ตาม เมื่อใกล้ถึงปลายศตวรรษที่ 19 มีชาวต่างชาติอีกหลายคนเข้ามาในแอฟริกาตะวันออกและพวกเขาได้แปลคัมภีร์ไบเบิลส่วนที่เหลือเป็นภาษาสวาฮิลีจนครบทั้งเล่ม. ผู้แปลเหล่านี้บางคนคือโยฮันน์ รับมันน์, วิลเลียม เทย์เลอร์, แฮร์รี บินส์, เอดเวิร์ด สเตียร์, ฟรานซิส ฮอดจ์สัน, และอาเทอร์ เมดัน.
น่าสังเกตว่าฉบับแปลรุ่นแรกเหล่านี้บางฉบับมีพระนามของพระเจ้า ไม่ใช่เพียงสองสามแห่งเท่านั้น แต่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูตลอดทั้งเล่มเลยทีเดียว! ผู้แปลที่อยู่บนเกาะแซนซิบาร์แปลพระนามพระเจ้าว่า “ยอฮูวา” ส่วนคนที่ทำงานแปลบนเกาะมอมบาซาแปลพระนามนี้ว่า “เยโฮวา.”
เมื่อถึงปี 1895 คัมภีร์ไบเบิลครบชุดภาษาสวาฮิลีก็แล้วเสร็จ. ในช่วงหลายสิบปีต่อมา มีการแปลคัมภีร์ไบเบิลภาษาสวาฮิลีออกมาอีกหลายฉบับ แม้บางฉบับจะไม่ได้แจกจ่ายออกไปอย่างแพร่หลาย. ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีการพยายามอย่างจริงจังเพื่อกำหนดหลักภาษาสวาฮิลีที่จะใช้เป็นมาตรฐานในแอฟริกาตะวันออก. ดังนั้น ในปี 1952 จึงมีการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลฉบับสวาฮิลี ยูเนียน เวอร์ชัน ซึ่งต่อมากลายเป็นฉบับแปลที่แพร่หลายที่สุด. ผลจากการตีพิมพ์นี้ทำให้คำ “เยโฮวา” กลายเป็นคำแปลของพระนามพระเจ้าที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในภาษาสวาฮิลี.
น่าเสียดาย เมื่อคัมภีร์ไบเบิลรุ่นแรกเหล่านี้เลิกพิมพ์แล้ว พระนามของพระเจ้าก็ไม่เป็นที่รู้จักอีกเลย. ฉบับแปลบางฉบับถึงกับลบพระนามของพระเจ้าออกทั้งหมด ส่วนฉบับอื่น ๆ ใช้พระนามนี้เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น. ตัวอย่างเช่น ในฉบับยูเนียน เวอร์ชัน มีพระนามของพระเจ้าปรากฏเพียง 15 ครั้ง และในฉบับปรับปรุงแก้ไขซึ่งพิมพ์ในปี 2006 มีพระนามนี้เหลือเพียง 11 ครั้ง. *
แม้ว่าฉบับแปลนี้จะใช้พระนามของพระเจ้าน้อยมาก แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ. ในหน้าคำนำของพระคัมภีร์ฉบับนี้มีการกล่าวอย่างชัดเจนว่าพระนามของพระเจ้าคือยะโฮวา. คำอธิบายดังกล่าวนับว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับคนที่แสวงหาความจริง เพราะพวกเขาได้รู้จักพระนามของพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จากคัมภีร์ไบเบิลของตนเอง.
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่คัมภีร์ไบเบิลภาษาสวาฮิลีฉบับสุดท้ายที่มีการแปล. ในปี 1996 มีการออกพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่ ในภาษาสวาฮิลี. นี่
เป็นพระคัมภีร์ภาษาสวาฮิลีฉบับแรกที่นำพระนามของพระยะโฮวาซึ่งเคยปรากฏในหนังสือมัดธายถึงวิวรณ์กลับมาใส่ในที่เดิมครบทั้ง 237 ครั้ง. ต่อมา ในปี 2003 มีการออกพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ ครบชุดในภาษาสวาฮิลี. จนถึงทุกวันนี้ มีการพิมพ์พระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ภาษาสวาฮิลีออกมาแล้วประมาณ 900,000 เล่ม.พระนามของพระเจ้าไม่ได้ถูกปิดซ่อนไว้ด้วยตำแหน่งของพระองค์หรือถูกกล่าวถึงเฉพาะในหน้าคำนำอีกต่อไป. ตอนนี้ เมื่อคนที่หัวใจสุจริตเปิดพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาสวาฮิลี พวกเขาจะรู้สึกใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้นทุกครั้งที่ได้อ่านพระนามของพระองค์ซึ่งปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ฉบับนี้มากกว่า 7,000 ครั้ง.
นอกจากนั้น ฉบับแปลนี้ยังพยายามใช้ภาษาสวาฮิลีสมัยใหม่ที่เข้าใจง่ายซึ่งทุกคนในแอฟริกาตะวันออกคุ้นเคยดี. ไม่เพียงเท่านั้น ข้อผิดพลาดหลายแห่งที่พบในฉบับแปลอื่น ๆ ก็ถูกแก้ไขด้วย. ดังนั้น ผู้อ่านพระคัมภีร์ฉบับนี้สามารถมั่นใจได้ว่าเขากำลังอ่าน “ถ้อยคำแห่งความจริง” ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจจากพระยะโฮวาพระเจ้า พระผู้สร้างของเรา.—ท่านผู้ประกาศ 12:10
ผู้อ่านหลายคนได้แสดงความขอบคุณสำหรับพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาสวาฮิลี. วีเซนต์ เด็กหนุ่มวัย 21 ปีซึ่งเป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลาคนหนึ่งของพยานพระยะโฮวาบอกว่า “ผมดีใจจริง ๆ ที่พระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ ใช้ภาษาสวาฮิลีแบบง่าย ๆ และนำพระนามของพระยะโฮวาที่ถูกลบออกมาใส่ไว้ที่เดิม.” ฟรีดา คุณแม่ลูกสามรู้สึกว่าฉบับแปลนี้ช่วยให้เธออธิบายความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแก่คนอื่นได้ง่ายขึ้น.
งานแปลพระคำของพระเจ้าเป็นภาษาสวาฮิลีเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ และดำเนินต่อมานานกว่า 150 ปี. พระเยซูตรัสว่าพระองค์ ‘ได้ทำให้พระนามของพระบิดาปรากฏแจ้ง.’ (โยฮัน 17:6) ตอนนี้ พยานพระยะโฮวามากกว่า 76,000 คนที่พูดภาษาสวาฮิลีในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออกมีความสุขมากที่ได้ใช้ฉบับแปลโลกใหม่เพื่อทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักแก่ทุกคน.
^ วรรค 3 ภาษาสวาฮิลีที่ใช้กันในประเทศเหล่านี้มีหลายรูปแบบ.
^ วรรค 18 พระนามของพระเจ้าปรากฏในเยเนซิศ 22:14; เอ็กโซโด 6:2-8 (สองครั้ง); 17:15 (ใช้คำว่ายาห์เวห์); วินิจฉัย 6:24; บทเพลงสรรเสริญ 68:20; 83:18; ยะซายา 12:2; 26:4; 49:14; และยิระมะยา 16:21.