พระเจ้าทรงใฝ่พระทัยผู้หญิงไหม?
“บาปเริ่มจากผู้หญิง และเพราะผู้หญิงเราทุกคนจึงต้องตาย.”—หนังสือเอ็คเคลซิแอสติคุส ศตวรรษที่สองก่อนสากลศักราช
“เจ้าเป็นช่องทางที่พญามารใช้ เจ้าเป็นคนที่เริ่มกินผลจากต้นไม้ต้องห้ามเจ้าเป็นคนแรกที่ละทิ้ง กฎหมายของพระเจ้า . . . เจ้าทำลายผู้ชายซึ่งเป็นแบบพระฉายของพระเจ้าอย่างง่ายดาย.”—เทอร์ทูลเลียน จากหนังสือว่าด้วยเรื่องเครื่องแต่งกายของผู้หญิง ศตวรรษที่สองสากลศักราช
คำกล่าวโบราณเหล่านี้ไม่ได้มาจากคัมภีร์ไบเบิล. เป็นเวลาหลายศตวรรษที่คำกล่าวนี้ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างดูถูกเหยียดหยาม. แม้แต่ในทุกวันนี้ พวกคลั่งศาสนาบางคนยังคงยกคำกล่าวจากข้อเขียนทางศาสนาขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ว่าการปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างโหดร้ายเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม โดยอ้างว่าผู้หญิงเป็นต้นเหตุทำให้มนุษยชาติเดือดร้อน. พระเจ้าทรงประสงค์ให้ผู้หญิงถูกผู้ชายเหยียดหยามและทำร้ายจริง ๆ หรือ? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้อย่างไร? ให้เรามาดูกัน.
พระเจ้าทรงแช่งสาปผู้หญิงไหม?
ไม่. ผู้ที่ถูกพระเจ้า “แช่งสาป” คือ “งูตัวแรกเดิมซึ่งถูกเรียกว่าพญามาร.” (เยเนซิศ 3:14; วิวรณ์ 12:9) เมื่อพระเจ้าตรัสว่าอาดามจะ “บังคับบัญชา” ภรรยาของเขา พระเจ้าไม่ได้หมายความว่าพระองค์เห็นชอบให้ผู้ชายกดขี่ผู้หญิง. (เยเนซิศ 3:16) พระองค์เพียงแต่บอกล่วงหน้าถึงผลอันน่าเศร้าของบาปที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์คู่แรก.
ดังนั้น การข่มเหงรังแกผู้หญิงเป็นผลจากลักษณะนิสัยที่ผิดบาปของมนุษย์ ไม่ใช่พระประสงค์ของพระเจ้า. คัมภีร์ไบเบิลไม่สนับสนุนความคิดที่ว่าผู้หญิงต้องถูกผู้ชายกดขี่เพื่อชดใช้บาปแรกเดิมนั้น.—โรม 5:12
พระเจ้าทรงสร้างผู้หญิงให้ต่ำต้อยกว่าผู้ชายไหม?
ไม่. เยเนซิศ 1:27 กล่าวว่า “พระเจ้าจึงทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามแบบฉายาของพระองค์, และตามแบบฉายาของพระองค์นั้น พระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น, และได้ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง.” ดังนั้น พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทั้งชายและหญิงให้มีความสามารถที่จะสะท้อนบุคลิกลักษณะของพระองค์มาตั้งแต่แรก. แม้ว่าอาดามกับฮาวาจะมีลักษณะทางร่างกายและอารมณ์แตกต่างกัน แต่พวกเขาทั้งสองได้รับพระบัญชาอย่างเดียวกันและมีสิทธิเท่าเทียมกันในสายพระเนตรของพระเจ้า.—เยเนซิศ 1:28-31
ก่อนที่จะสร้างฮาวา พระเจ้าตรัสว่า “เราจะสร้างขึ้นอีกคนหนึ่ง, ให้เป็นคู่เคียง เหมาะกับเขา [อาดาม].” (เยเนซิศ 2:18) คำว่า “คู่เคียง” บ่งบอกไหมว่าผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย? ไม่เลย เพราะคำนี้ในภาษาฮีบรูยังแปลได้อีกว่า “ผู้ช่วย” ของผู้ชาย. ขอให้คิดถึงบทบาทที่ส่งเสริมกันของ ศัลยแพทย์กับวิสัญญีแพทย์ระหว่างการผ่าตัด. แพทย์คนใดคนหนึ่งจะทำงานโดยลำพังได้ไหม? ไม่ได้แน่ ๆ! ศัลยแพทย์ซึ่งเป็นคนผ่าตัดผู้ป่วยสำคัญกว่าวิสัญญีแพทย์ไหม? คงไม่ใช่เช่นนั้น. ในทำนองเดียวกัน พระเจ้าทรงสร้างผู้ชายและผู้หญิงให้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่เป็นคู่แข่งกัน.—เยเนซิศ 2:24
อะไรแสดงว่าพระเจ้าทรงห่วงใยผู้หญิง?
เนื่องจากพระเจ้าทรงทราบล่วงหน้าว่าผู้ชายที่กลายเป็นมนุษย์ผิดบาปจะประพฤติตัวเช่นไร พระองค์จึงแสดงให้เห็นตั้งแต่แรกว่าพระองค์ต้องการปกป้องผู้หญิง. ลอร์ เอนารด์ ผู้เขียนหนังสือลา บีบเลอ โอ เฟมิแนง (คัมภีร์ไบเบิลในเพศหญิง) ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับพระบัญญัติของโมเซที่ตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 16 ก่อนสากลศักราชว่า “ส่วนใหญ่แล้วกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงในสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติมักเป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อปกป้องพวกเธอ.”
ตัวอย่างเช่น พระบัญญัติสั่งให้ชาวอิสราเอลนับถือและให้เกียรติทั้งบิดาและมารดา. (เอ็กโซโด 20:12; 21:15, 17) นอกจากนี้ พวกเขายังต้องคำนึงถึงหญิงมีครรภ์ด้วย. (เอ็กโซโด 21:22) แม้แต่ในทุกวันนี้ กฎหมายของพระเจ้าที่ให้การปกป้องยังแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากกฎหมายของหลายประเทศทั่วโลกที่ทำให้ผู้หญิงบางคนไม่ได้รับสิทธิของตน. แต่ยังมีหลักฐานอื่น ๆ อีกที่แสดงว่าพระเจ้าทรงห่วงใยผู้หญิง.
กฎหมายที่สะท้อนทัศนะของพระเจ้าต่อผู้หญิง
พระบัญญัติที่พระยะโฮวาพระเจ้าประทานแก่ชาติอิสราเอลโบราณเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประชาชนไม่ว่าชายหรือหญิง เพราะพระบัญญัตินี้ช่วยพวกเขาให้มีสุขภาพดี มีศีลธรรม และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้า. ตราบใดที่ชาติอิสราเอลเชื่อฟังและทำตามกฎหมายนี้ พวกเขาก็จะ ‘เหนือกว่าบรรดาชนประเทศทั่วโลก.’ (พระบัญญัติ 28:1, 2) ผู้หญิงมีฐานะเช่นไรตามพระบัญญัติของพระเจ้า? ขอพิจารณาแง่มุมต่อไปนี้:
1. เป็นบุคคลที่มีเสรีภาพ. ต่างจากผู้หญิงหลายชาติในยุคโบราณ ผู้หญิงชาวอิสราเอลมีเสรีภาพมากทีเดียว. แม้ว่าสามีจะเป็นประมุขของครอบครัว แต่ภรรยาที่ได้รับความไว้วางใจจากสามีสามารถ “พิเคราะห์ดูนาที่ดีและซื้อสุภาษิต 31:11, 16-19) ตามพระบัญญัติของโมเซ ผู้หญิงทุกคนถือเป็นบุคคลที่มีสิทธิของตนเองและไม่ได้เป็นเพียงส่วนประกอบที่ไม่สำคัญของผู้ชาย.
ไว้” และ “ทำไร่องุ่น.” ถ้าเธอมีฝีมือในการปั่นด้ายและทอผ้า เธอก็สามารถทำธุรกิจของตนเองได้ด้วย. (นอกจากนี้ ผู้หญิงในอิสราเอลโบราณยังสามารถสร้างสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าเป็นส่วนตัวได้. คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงฮันนาซึ่งอธิษฐานถึงพระเจ้าเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวและปฏิญาณไว้กับพระองค์โดยไม่มีใครรู้. (1 ซามูเอล 1:11, 24-28) หญิงชาวเมืองซุเนมคนหนึ่งเคยไปปรึกษาผู้พยากรณ์เอลีชาเป็นประจำทุกวันซะบาโต. (2 กษัตริย์ 4:22-25) พระเจ้าทรงใช้ผู้หญิงบางคน เช่น ดะโบราและฮินดาให้เป็นตัวแทนของพระองค์. แม้แต่ผู้ชายที่มีตำแหน่งสูงและเหล่าปุโรหิตก็ยังไปขอคำแนะนำจากพวกเธอ.—วินิจฉัย 4:4-8; 2 กษัตริย์ 22:14-16, 20
2. มีโอกาสทางการศึกษา. เนื่องจากผู้หญิงมีส่วนในสัญญาแห่งพระบัญญัติที่พระเจ้าทำกับชาติอิสราเอล พวกเธอจึงได้รับเชิญให้มาฟังการอ่านพระบัญญัติซึ่งทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ. (พระบัญญัติ 31:12; นะเฮมยา 8:2, 8) พวกเธอยังได้รับการฝึกเพื่อทำงานบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการด้วย. ตัวอย่างเช่น ดูเหมือนว่ามีผู้หญิงบางคน “ปรนนิบัติ” ที่พลับพลา และบางคนก็อยู่ในคณะนักร้องประสานเสียง.—เอ็กโซโด 38:8; 1 โครนิกา 25:5, 6
ผู้หญิงหลายคนมีความรู้ความสามารถในการทำมาค้าขาย. (สุภาษิต 31:24) นอกจากนั้น ผู้หญิงชาวอิสราเอลยังมีส่วนในการอบรมสั่งสอนบุตรชายตั้งแต่เล็กจนโต ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมของชาติอื่น ๆ ในสมัยนั้นที่กำหนดให้เฉพาะบิดาเท่านั้นเป็นผู้สอนบุตรชายได้. (สุภาษิต 31:1) เห็นได้ชัดว่า ผู้หญิงในอิสราเอลโบราณไม่ใช่คนไร้การศึกษาเลย.
3. ได้รับเกียรติและความนับถือ. พระบัญญัติสิบประการบอกไว้อย่างชัดเจนว่า “จงนับถือบิดามารดาของเจ้า.” (เอ็กโซโด 20:12) ในสุภาษิตของกษัตริย์โซโลมอนผู้ฉลาด สุขุม เราอ่านว่า “ศิษย์ของเราเอ๋ย, จงฟังโอวาทบิดาของเจ้า, และอย่าละทิ้งคำสอนของมารดาเจ้า.”—สุภาษิต 1:8
นอกจากนี้ พระบัญญัติยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีที่ผู้ชายพึงปฏิบัติต่อผู้หญิงที่ไม่ใช่คู่สมรส ซึ่งเป็นการให้เกียรติผู้หญิง. (เลวีติโก 18:6, 9; พระบัญญัติ 22:25, 26) สามีที่ดีต้องคำนึงถึงข้อจำกัดด้านร่างกายของภรรยาและธรรมชาติของผู้หญิง.—เลวีติโก 18:19
4. มีสิทธิ์ได้รับการปกป้อง. ในพระคัมภีร์ พระยะโฮวาทรงพรรณนาพระองค์เองว่าเป็น “บิดาของลูกกำพร้า, และเป็นผู้แก้แค้นของพวกแม่ม่าย.” คำตรัสนี้แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ปกป้องสิทธิของคนที่ไม่มีบิดาหรือสามีคอยปกป้องคุ้มครอง. (บทเพลงสรรเสริญ 68:5; พระบัญญัติ 10:17, 18) ด้วยเหตุนี้ เมื่อหญิงม่ายของผู้พยากรณ์คนหนึ่งถูกเจ้าหนี้เอารัดเอาเปรียบ พระยะโฮวาทรงเข้ามาช่วยเหลือโดยทำการอัศจรรย์ให้เธอไม่อดตายและรักษาศักดิ์ศรีของเธอไว้.—2 กษัตริย์ 4:1-7
ก่อนที่ชาวอิสราเอลจะเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญา หัวหน้าครอบครัวคนหนึ่งชื่อซัพฮาดเสียชีวิตไปโดยที่ไม่มีบุตรชายสืบสกุล. ดังนั้น ลูกสาวห้าคนของเขาจึงไปร้องเรียนต่อโมเซเพื่อขอ “กรรมสิทธิ์ที่ดิน” ในแผ่นดินตามคำสัญญา. พระยะโฮวาทรงประทานแก่พวกเธอมากกว่าที่ขอด้วยซ้ำ. พระองค์สั่งโมเซว่า “เจ้าจงให้กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นมรดกท่ามกลางพี่น้องบิดาของเขาและกระทำให้มรดกบิดาของเขาตกทอดมาถึงเขา.” ตั้งแต่นั้นมา ผู้หญิงชาวอิสราเอลจึงสามารถรับมรดกจากบิดา และมรดกนั้นยังตกทอดไปถึงลูกหลานของพวกเธอด้วย.—อาฤธโม 27:1-8, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971
ทัศนะของพระเจ้าต่อผู้หญิงถูกบิดเบือน
ตามพระบัญญัติของโมเซ ผู้หญิงอยู่ในฐานะที่มีเกียรติและคนอื่น ๆ ต่างเคารพสิทธิของพวกเธอ. อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ศตวรรษที่สี่ก่อน ส.ศ. เป็นต้นมา ศาสนายิวได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมกรีกซึ่งถือว่าผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย.—ดูกรอบ “การดูถูกเหยียดหยามผู้หญิงในงานเขียนยุคโบราณ.”
ตัวอย่างเช่น เฮซิโอด กวีชาวกรีก (ศตวรรษที่แปดก่อน ส.ศ.) กล่าวหาผู้หญิงว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาและความเดือดร้อนทุกอย่างของมนุษยชาติ. เขาได้เขียนในหนังสือเล่มหนึ่ง (Theogony) ว่า “เผ่าพันธุ์ผู้หญิงที่ร้ายกาจซึ่งอยู่ท่ามกลางผู้ชายล้วนแต่นำความตายและความหายนะมาสู่ผู้ชาย.” ความคิดนี้เป็นที่ยอมรับในศาสนายิวตอนต้นศตวรรษที่สองก่อน ส.ศ. หนังสือทัลมุดของชาวยิวที่รวบรวมขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่สอง ส.ศ. เตือนผู้ชายว่า “อย่าเสวนากับผู้หญิงให้มากนัก เพราะเกรงว่าในที่สุดพวกเจ้าจะถูกชักจูงให้ทำสิ่งซึ่งเป็นมลทิน.”
ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ทัศนะที่ดูหมิ่นดังกล่าวมีผลกระทบต่อบทบาทของผู้หญิงในสังคมชาวยิวอย่างมาก. ในสมัยพระเยซูก็มีข้อห้ามแล้วว่าผู้หญิงที่เข้าไปในบริเวณพระวิหารจะต้องอยู่ในลานสำหรับผู้หญิงเท่านั้น. เฉพาะผู้
ชายที่มีสิทธิ์เรียนรู้เรื่องศาสนา และดูเหมือนว่าที่ธรรมศาลาผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้นมัสการร่วมกับผู้ชาย. หนังสือทัลมุดยกคำพูดของรับบีคนหนึ่งซึ่งกล่าวว่า “ใครก็ตามที่สอนโทราห์ [พระบัญญัติ] ให้ลูกสาวก็สอนสิ่งที่น่าอัปยศอดสูแก่ลูกสาวของตน.” โดยการบิดเบือนทัศนะของพระเจ้า ผู้นำศาสนายิวได้สอนผู้ชายให้ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้หญิง.เมื่อพระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลก พระองค์ทรงสังเกตว่ามีอคติที่ฝังรากลึกเช่นนั้นอยู่ในธรรมเนียมประเพณีของชาวยิว. (มัดธาย 15:6, 9; 26:7-11) คำสอนและธรรมเนียมเหล่านี้มีผลต่อวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่อผู้หญิงไหม? เราเรียนอะไรได้จากทัศนะและวิธีปฏิบัติของพระองค์? ศาสนาคริสเตียนแท้ได้ช่วยให้ผู้หญิงพ้นจากการกดขี่ไหม? บทความถัดไปจะตอบคำถามเหล่านี้.