จดหมายจากเบนิน
ฉันคิดผิดรึเปล่าที่มาที่นี่?
เช้าวันหนึ่งในแอฟริกาตะวันตก. กลิ่นหอมของซอสและข้าวที่ต้มร้อน ๆ โชยมากับสายลม. พวกผู้หญิงเดินกันขวักไขว่อยู่บนถนนพร้อมกับเทินของห่อใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อไว้บนศีรษะ. เสียงหัวเราะครื้นเครงระคนกับเสียงผู้คนในตลาดที่กำลังต่อรองราคากันอย่างดุเดือด. แม้จะยังเช้าอยู่ แต่แสงแดดก็ร้อนจนรู้สึกอบอ้าว.
เมื่อเห็นโยโว หรือคนผิวขาวเดินผ่านมา เด็กกลุ่มหนึ่งพากันร้องเพลงและเต้นรำเพื่อเรียกร้องความสนใจ. พวกเด็ก ๆ มักจะร้องเพลงที่ขึ้นต้นว่า “โยโว โยโว บงซัวร์” และลงท้ายว่า “จะให้รางวัลอะไรพวกหนูบ้าง?” แต่มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งไม่ร่วมวงกับเพื่อน ๆ. ขณะที่ฉันเดินผ่านไป เด็กคนนี้เดินตามมาและเริ่มทำท่าทางบางอย่างซึ่งดูคล้ายภาษามือ. ตอนอยู่ที่สหรัฐ ฉันเคยหัดสะกดคำโดยใช้ภาษามืออเมริกัน แต่ผู้คนในเบนินพูดภาษาฝรั่งเศส.
ฉันพยายามสะกดอักษรแปดตัวซึ่งเป็นชื่อตัวเองด้วยความยากลำบาก. เด็กคนนั้นยิ้มกว้างอย่างดีใจ. เขาจับมือฉันแล้วพาเดินลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยจนมาถึงบ้านของเขาซึ่งก่อด้วยอิฐบล็อกและมีสองห้องเหมือนกับบ้านหลังอื่น ๆ. คนในครอบครัวของเขาเข้ามาห้อมล้อมฉัน. ทุกคนพูดคุยกันด้วยภาษามือ. แล้วฉันจะทำอย่างไร? ฉันบอกชื่อตัวเองเป็นภาษามือแล้วเขียนข้อความสั้น ๆ บอกพวกเขาว่าฉันเป็นมิชชันนารีที่สอนคัมภีร์ไบเบิล และฉันจะกลับมาหาพวกเขาอีก. เพื่อนบ้านบางคนซึ่งเป็นคนหูดีเข้ามาร่วมวงสนทนาด้วย และทุกคนพยักหน้าว่าอยากให้ฉันกลับมาอีก. ฉันถามตัวเองว่า ‘ฉันคิดผิดรึเปล่าที่ตามเด็กคนนี้มา?’
เมื่อกลับมาบ้าน ฉันคิดว่า ‘ต้องมีใครสักคนช่วยคนเหล่านี้ให้รู้จักคำสัญญาของพระเจ้าที่ว่า “หูของคนหูหนวกจะยินได้.”’ (ยะซายา 35:5) ฉันลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคนหูหนวก. ผลสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อไม่นานมานี้พบว่าในเบนินมีคนหูหนวกและคนหูตึงไม่ต่ำกว่า 12,000 คน. ฉันดีใจมากที่รู้ว่าภาษาที่ใช้ในโรงเรียนโสตศึกษาเป็นภาษามืออเมริกัน ไม่ใช่ภาษามือฝรั่งเศส. แต่น่าเสียดาย ไม่มีพยานฯ แม้แต่คนเดียวในประเทศนี้ที่รู้ภาษามืออเมริกัน. ฉันปรารภกับพยานฯ คนหนึ่งในท้องถิ่นว่า “ฉันอยากให้มีใครสักคนที่รู้ภาษามืออเมริกันมาช่วยที่นี่บ้าง.” เธอตอบว่า “ก็เธอไงล่ะ.” พยานฯ คนนั้นพูดถูก! ฉันจึงสั่งซื้อคู่มือเรียนภาษามือและขอดีวีดีภาษามือที่พยานพระยะโฮ วาผลิตมาศึกษาด้วยตนเอง. แล้วคำอธิษฐานขอความช่วยเหลือของฉันก็ได้รับคำตอบเมื่อพยานฯ คนหนึ่งที่ชำนาญภาษามืออเมริกันได้ย้ายจากแคเมอรูนมาที่เบนิน.
ต่อมา หลายคนเริ่มรู้ว่าฉันกำลังเรียนภาษามือ. มีคนบอกให้ฉันไปเยี่ยมผู้ชายหูหนวกคนหนึ่งชื่อบรีซซึ่งเป็นช่างเขียนแผ่นป้าย. ห้องทำงานของเขาที่สร้างขึ้นง่าย ๆ จากทางปาล์มใบใหญ่ที่เย็บติดกันมีลมโกรกเย็นสบายทั้ง ๆ ที่อากาศภายนอกร้อนอบอ้าว. ผนังที่ลายพร้อยไปด้วยสารพัดสีซึ่งกระเด็นจากแปรงของเขาบอกให้รู้ว่าเขาทำงานนี้มานานหลายปีแล้ว. เขาปัดฝุ่นบนม้านั่งสองตัว มองมาที่ฉัน และรอให้ฉันเริ่มพูด. ฉันหยิบแผ่นดีวีดีใส่เข้าไปในเครื่องเล่นที่พกไปด้วย. เขาลากม้านั่งเข้ามาใกล้เพื่อมองดูภาพในจอเล็ก ๆ. เขาส่งภาษามือว่า “เข้าใจ! เข้าใจ!” เด็ก ๆ ในละแวกนั้นมามุงดูและชะเง้อมองด้วยความอยากรู้. เด็กคนหนึ่งโพล่งออกมาว่า “ทำไมพวกเขาดูหนังแต่ไม่เปิดเสียงล่ะ?”
ทุกครั้งที่ฉันกลับไปเยี่ยมบรีซจะมีคนมามุงดูดีวีดีภาษามือมากขึ้นเรื่อย ๆ. หลังจากนั้นไม่นาน บรีซกับผู้สนใจอีกหลายคนก็เริ่มเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนกับพวกเรา. ภาษามือของฉันพัฒนาขึ้นเพราะต้องคอยแปลส่วนต่าง ๆ ของการประชุมให้พวกเขา. กลุ่มภาษามือของเราใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และคนหูหนวกบางคนถึงกับมาตามหาฉัน. ตัวอย่างเช่น วันหนึ่งรถคันเก่าของฉันส่งเสียงดังลั่นเพราะตกหลุมตอนที่ฉันพยายามหักหลบพวกแพะและหมูที่พลัดหลงมา. แล้วจู่ ๆ ก็มีเสียงดังปังมาจากด้านหลังรถอีก. ฉันคิดในใจว่า ‘ต้องมีอะไรพังอีกแน่ ๆ!’ แต่ที่จริง มีชายหูหนวกคนหนึ่งวิ่งตามรถฉันมาและพยายามเรียกให้ฉันหยุดรถโดยทุบรถของฉัน!
ต่อมา มีการตั้งกลุ่มภาษามืออเมริกันขึ้นในเมืองอื่น ๆ ด้วย. เมื่อเริ่มมีการแปลภาษามือในการประชุมภาคที่จัดขึ้นทุกปี ฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้แปลส่วนต่าง ๆ ของการประชุม. ครั้งหนึ่งตอนที่ฉันยืนอยู่บนเวทีและรอให้ผู้บรรยายเริ่มพูด จู่ ๆ ฉันก็คิดถึงตอนที่เพิ่งย้ายมารับใช้ในเบนิน. ฉันเคยถามตัวเองบ่อย ๆ ว่า ‘มิชชันนารีอย่างฉันจะช่วยผู้คนในแอฟริกาให้มากขึ้นได้อย่างไร?’ เมื่อมองดูคนหูหนวกในห้องประชุม ฉันก็รู้ว่าฉันได้คำตอบแล้ว. ฉันก็เป็นมิชชันนารีที่ช่วยคนหูหนวกไงล่ะ. ฉันไม่สงสัยอีกแล้วว่า “ฉันคิดผิดรึเปล่าที่มาที่นี่?”