“ประวัติศาสตร์ไม่เคยโกหก”
วันที่ 14 มิถุนายน 2007 สำนักงานไปรษณีย์แห่งชาติเอสโตเนียได้ออกสแตมป์ที่ระลึกดังที่เห็นในภาพด้านขวา. มีการออกแสตมป์นี้พร้อมกับแถลงการณ์ว่า “นี่คือแสตมป์ที่จัดทำขึ้นเพื่อระลึกถึงผู้บริสุทธิ์ชาวเอสโตเนียที่เสียชีวิตระหว่างการฆ่าล้างชาติพันธุ์ในยุคสตาลิน.” ระหว่างปี 1941-1951 ชาวเอสโตเนียหลายหมื่นคนถูกเนรเทศออกจากประเทศของตน.
“ประวัติศาสตร์ไม่เคยโกหก.” นี่เป็นสำนวนที่ชาวเอสโตเนียรู้จักดี และในประเทศอื่นก็มีสำนวนคล้าย ๆ กัน. จริงอยู่ เราเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่เราเรียนรู้จากอดีตได้. กษัตริย์โซโลมอนผู้ชาญฉลาดแห่งอิสราเอลโบราณกล่าวไว้ว่า “ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราได้เห็น แล้วเราก็ตั้งใจสังเกตดูทุกสิ่งที่ทำกันมาภายใต้ดวงอาทิตย์. ตลอดเวลาทั้งหมดนั้นมนุษย์ใช้อำนาจปกครองมนุษย์อย่างที่ก่อผลเสียหายแก่มนุษย์.”—ท่านผู้ประกาศ 8:9, ล.ม.
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อนในเอสโตเนียและในอีกหลายประเทศของยุโรปตะวันออกยืนยันคำกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี. การปกครองของมนุษย์ก่อความทุกข์เดือดร้อนแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์มากมายที่ถูกเนรเทศออกจากบ้านเกิดเมืองนอนหรือถูกคุมขังในค่ายแรงงานอันห่างไกล.
นักประวัติศาสตร์ชาวเอสโตเนียกล่าวว่า ระหว่างปี 1941 ถึง 1951 มีประชาชนกว่า 46,000 คนถูกเนรเทศออกจากประเทศเล็ก ๆ นี้. คนส่วนใหญ่ถูกเนรเทศเพราะเหตุผลทางการเมือง บางคนก็ถูกเนรเทศเพราะเรื่องเชื้อชาติหรือสถานภาพทางสังคม. แต่พยานพระยะโฮวาถูกขับออกนอกประเทศเพราะความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา.
ผู้นมัสการพระเจ้าถูกข่มเหง
นักประวัติศาสตร์ชื่อไอกี ราเฮ-ตัมม์ กล่าวไว้ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยตาร์ตูเมื่อปี 2004 ว่า “ตั้งแต่ปี 1948 ถึง 1951 มีพยานพระยะโฮวาและคนที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา 72 คนถูกจับกุม. แต่ในคืนวันที่ 1 เมษายน 1951 มีประชาชนจำนวนมากขึ้นถูกเนรเทศ และไม่เพียงประเทศแถบทะเลบอลติกเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังรวมถึงผู้คนในมอลโดวา ยูเครนตะวันตก และเบโลรุสเซียด้วย.”
พยานพระยะโฮวาในเอสโตเนียถูกข่มเหง ถูกกดดันทางจิตวิทยา ถูกสอบสวน และถูกจำคุกมาตั้งแต่ก่อนปี 1951 แล้ว. แต่การเนรเทศระลอกใหม่นี้ดูเหมือนเป็นความพยายามที่จะกวาดล้างพยานพระยะโฮวาให้หมดไปจากเอสโตเนีย.
วันที่ 1 เมษายน 1951 ที่ปรากฏบนแสตมป์คือวันที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว. ตัวเลข 382 บนแสตมป์คือจำนวนพยานฯ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ถูกเนรเทศในวันนั้น. จำนวนนี้ยังรวมถึงญาติและเพื่อนบ้านบางคนของพวกเขาที่ไม่ใช่พยานฯ ด้วย. มีการจับกุมพยานฯ ทั่วทั้งประเทศตลอดวัน
นั้น. ในคืนนั้น ทั้งผู้ใหญ่และเด็กถูกต้อนเข้าไปในตู้รถไฟที่ใช้บรรทุกสัตว์เพื่อเนรเทศไปยังไซบีเรีย.พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งที่ถูกจับคือเอลลา โทม * ซึ่งในเวลานั้นอายุ 25 ปี. เธอเล่าถึงวิธีการสอบสวนที่พยานฯ ส่วนใหญ่ต้องเจอดังนี้: “เจ้าหน้าที่คนหนึ่งพยายามพูดข่มขู่และสั่งให้ฉันเลิกประกาศ. ครั้งหนึ่ง เขาถามฉันว่า ‘แกยังอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปไหม? หรือแกอยากไปตายกับพระเจ้าของแกที่ทุ่งในไซบีเรีย?’ ” แต่เอลลายังคงประกาศข่าวดีต่อไปโดยไม่หวั่นกลัว. เธอถูกส่งไปที่ไซบีเรีย จากนั้นก็ถูกย้ายไปอยู่ในค่ายแรงงานหลายแห่งตลอดช่วงหกปี.
ในหมู่พยานฯ หลายร้อยคนที่ถูกเนรเทศโดยไม่มีการพิจารณาคดี มีหญิงสาวอีกคนหนึ่งชื่อฮีซี เลมเบอร์. เธอเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ 1 เมษายน 1951 ว่า “พวกเขาจู่โจมเข้ามาในบ้านตอนกลางคืนแล้วสั่งว่า ‘พวกแกมีเวลาเก็บของครึ่งชั่วโมง!’ ” ท่ามกลางความมืดมิด ฮีซีกับลูกสาววัยหกขวบถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปที่สถานีรถไฟอย่างลับ ๆ. รถไฟที่ทั้งเก่าทั้งโทรมส่งเสียงดังเอี๊ยดอ๊าดขณะที่แวะจอดตามสถานีเพื่อรับพยานฯ คนแล้วคนเล่า. เธอพูดว่า “เราถูกโยนเข้าไปในตู้รถไฟที่ใช้บรรทุกสัตว์. ยังดีที่มูลสัตว์บนพื้นกลายเป็นน้ำแข็งไปหมดแล้ว ไม่อย่างนั้นเราคงไม่กล้าเหยียบเข้าไป. เราเป็นเหมือนสัตว์ที่ถูกยัดเข้าไปในตู้ขนส่งสินค้า.”
การเดินทางที่แสนทรมานบนรถไฟตลอดสองสัปดาห์มีสภาพที่น่ารันทดเหลือเกิน. ตู้รถไฟทั้งแออัด สกปรก และไม่มีห้องน้ำ. ทั้งคนหนุ่มและคนแก่ถูกปฏิบัติอย่างเหยียดหยามจนไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหลืออยู่เลย. บางคนร้องไห้และไม่ยอมกินอะไร. แต่พยานฯ ต่างช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจกันโดยร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า และเอาอาหารที่มีมาแบ่งปันกัน. พวกเขาถูกส่งตัวไปยัง “บ้านใหม่ที่ถาวร” และพวกเจ้าหน้าที่ได้บอกพวกเขาว่า นี่เป็น “การเดินทางที่ไม่มีขากลับ.”
ฮีซียังจำได้ว่าตลอดการเดินทางครั้งนั้น เธอได้รับการหนุนใจจากเพื่อนร่วมความเชื่อซึ่งทำให้เธอซาบซึ้งใจมาก. เธอเล่าว่า “เมื่อมาถึงสถานีหนึ่ง รถไฟของเราจอดอยู่ข้างรถไฟที่มาจากมอลโดวา. เราได้ยินผู้ชายคนหนึ่งที่อยู่บนรถไฟขบวนนั้นร้องถามว่าเราเป็นใครและกำลังจะไปที่ไหน. เราบอกเขาว่าเราไม่รู้ว่ากำลังจะไปไหนและเราเป็นพยานพระยะโฮวาจากเอสโตเนีย. เพื่อนพยานฯ ที่อยู่บนรถไฟขบวนนั้นได้ยินที่เราคุยกัน พวกเขาจึงโยนขนมปังก้อนใหญ่กับลูกพรุนเข้ามาในตู้รถไฟของเรา.” เธอเล่าอีกว่า “ตอนนั้นเองที่เราเริ่มเข้าใจว่าแผนการกวาดล้างพยานฯ ครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่กว้างไกลขนาดไหน. พวกเขาต้องการกำจัดพยานฯ ในทุกดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต!”
เด็กสาวพยานฯ สองพี่น้องชื่อโครินนากับเอเนถูกแยกจากแม่นานกว่าหกปี. แม่ของพวกเธอซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาถูกจับไปก่อนและถูกส่งตัวไปที่ค่ายแรงงานแห่งหนึ่ง. และแล้วในคืนวันที่ 1 เมษายนอันหฤโหด เด็กสาวทั้งสองก็ถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไปจากบ้านแล้วถูกโยนขึ้นรถไฟ. โครินนาเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยความตื้นตันใจว่า “พยานฯ คนหนึ่งบนรถไฟซึ่งมีลูกสองคนช่วยดูแลเรา และปลอบเราว่าเธอยินดีให้เราอยู่กับเธอและลูก ๆ เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน.”
เกิดอะไรขึ้นเมื่อรถไฟไปถึงปลายทาง? หลังจากมาถึงไซบีเรียที่ทั้งกันดารและหนาวเหน็บได้หนึ่งวัน “ตลาดค้าทาส” ก็เริ่มขึ้น. พวกผู้ชายที่มีไร่นาในบริเวณนั้นพากันมา
เลือกซื้อคนไปทำงานในที่นาของตน. โครินนาเล่าว่า “เราได้ยินพวกเขาเถียงกันว่า ‘นายมีคนขับแทรกเตอร์อยู่แล้วนี่. คนนี้เป็นของฉัน.’ หรือ ‘ฉันซื้อคนแก่ไปสองคนแล้ว นายก็เอาแก่ ๆ ไปบ้างสิ.’ ”โครินนาและเอเนเป็นเด็กกล้าหาญ. พวกเธอเล่าว่า “เราคิดถึงแม่มาก เราโหยหาอ้อมกอดอันอบอุ่นของแม่เหลือเกิน!” ถึงกระนั้น พวกเธอก็รักษาความเชื่อที่เข้มแข็งในพระเจ้าเอาไว้ได้และยังมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ. โครินนาพูดอีกว่า “จะว่าไปก็ดีเหมือนกันที่แม่ไม่เห็นเราในสภาพนี้ เพราะบางครั้งเราต้องทำงานกลางทุ่งที่อากาศหนาวเหน็บโดยไม่มีเสื้อผ้าอุ่น ๆ.”
เราได้เห็นแล้วว่า ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในเอสโตเนียและที่อื่น ๆ ได้ทนทุกข์อย่างแสนสาหัสเพราะถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และพยานพระยะโฮวาก็อยู่ในกลุ่มนั้นด้วย. (ดูกรอบ “ ‘ความสยดสยอง’ สุดจะพรรณนา.”) แม้พยานพระยะโฮวาในเอสโตเนียจะเคยถูกข่มเหงและถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย แต่พวกเขาก็ยังเป็นกลุ่มชนที่มีความสุขและทำงานประกาศเผยแพร่อย่างกระตือรือร้น.
อนาคตที่สดใสรออยู่ข้างหน้า
คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่าพระยะโฮวาพระเจ้าทรงเกลียดชังความอยุติธรรม. พระคัมภีร์กล่าวว่า “ทุกคนที่กระทำสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่ชอบธรรมก็เป็นผู้ที่น่าสะอิดสะเอียนต่อพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน.” (พระบัญญัติ 25:16, ฉบับคิงเจมส์) ถึงแม้พระเจ้าจะยอมให้มีความชั่วช้าเกิดขึ้นในอดีต แต่อีกไม่นานพระองค์จะขจัดความอยุติธรรมและความชั่วให้หมดสิ้นไป. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “ยังอีกหน่อยหนึ่ง, คนชั่วจะไม่มี: ท่านจงเพ่งตาหาที่ของเขา, แต่ไม่มีแล้ว. แต่คนทั้งหลายที่มีใจถ่อมลงจะได้แผ่นดินเป็นมฤดก, และเขาจะชื่นชมยินดีด้วยความสงบสุขอันบริบูรณ์.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:10, 11
อนาคตที่สดใสรอเราอยู่! แม้เราจะเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อจะมีอนาคตที่ดีได้. ขอให้คุณเข้ามาใกล้ชิดพระเจ้าและเรียนรู้ว่าคุณจะเป็นคนหนึ่งที่มีอนาคตสดใสในโลกที่เต็มไปด้วยความชอบธรรมแท้ได้อย่างไร.—ยะซายา 11:9
^ วรรค 10 ประสบการณ์ของเอลลา โทม เคยลงในวารสารตื่นเถิด! ฉบับเมษายน 2006 หน้า 20-24.