ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

 กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว

พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​จะ​รับมือ​กับ​คน​นอก​ครอบครัว​ได้​อย่าง​ไร?

พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​จะ​รับมือ​กับ​คน​นอก​ครอบครัว​ได้​อย่าง​ไร?

มาร์กาเรต * แม่เลี้ยงคนหนึ่งในออสเตรเลียบอกว่า “ภรรยา​เก่า​ของ​สามี​ฉัน​สอน​ลูกๆของ​เธอ​ว่า ไม่​ว่า​ฉัน​จะ​พูด​อะไร​ก็​ไม่​ต้อง​ฟัง​ทั้ง​นั้น แม้​แต่​เรื่อง​ธรรมดาๆ เช่น ‘อย่า​ลืม​แปรง​ฟัน​นะ.’” มาร์กาเรต​รู้สึก​ว่า​ชีวิต​สมรส​ของ​เธอ​มี​ปัญหา​เพราะ​มี​คน​คอย​ยุยง​ให้​แตก​แยก​กัน.

ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​หรือ​แม่​เลี้ยง​มัก​จะ​มี​ปัญหา​เรื่อง​ความ​สัมพันธ์​กับ​คน​นอก​ครอบครัว​ซึ่ง​เป็น​ปัญหา​ที่​แก้​ยาก. * พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​ส่วน​ใหญ่​จำเป็น​ต้อง​ติด​ต่อ​พูด​คุย​กับ​อดีต​สามี​หรือ​ภรรยา​เพื่อ​ตก​ลง​กัน​เรื่อง​การ​เยี่ยม​เยียน การ​อบรม​สั่ง​สอน และ​การ​ส่ง​เสีย​เลี้ยง​ดู​ลูกๆ. นอก​จาก​นั้น เพื่อน​และ​ญาติๆอาจ​รู้สึก​ลำบาก​ใจ​ที่​จะ​ยอม​รับ​สมาชิก​ใหม่​ของ​ครอบครัว. ให้​เรา​มา​ดู​ว่า​คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​จะ​ช่วย​ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​ให้​รับมือ​กับ​ปัญหา​เหล่า​นี้​ได้​อย่าง​ไร.

ความ​สัมพันธ์ 1: พ่อ​แม่​แท้ๆของ​เด็ก

จูดิท แม่​เลี้ยง​คน​หนึ่ง​ใน​ประเทศ​นามิเบีย​บอก​ว่า “ภรรยา​เก่า​ของ​สามี​ฉัน​เคย​บอก​ลูกๆของ​เธอ​ว่า​ฉัน​เป็น​แค่​ภรรยา​ใหม่​ของ​พ่อ และ​ลูก​ของ​ฉัน​ไม่​ใช่​พี่​น้อง​ของ​พวก​เขา. คำ​พูด​ของ​เธอ​ทำ​ให้​ฉัน​รู้สึก​เจ็บ​ปวด​มาก เพราะ​ฉัน​ก็​รัก​ลูก​เลี้ยง​เหมือน​ลูก​แท้ๆของ​ฉัน​เอง.”

นัก​วิชาการ​ยอม​รับ​ว่า​ความ​ผูก​พัน​ระหว่าง​เด็ก​กับ​พ่อ​แม่​แท้ๆอาจ​สร้าง​ปัญหา​และ​ก่อ​ความ​แตก​แยก​ให้​กับ​ครอบครัว​ใหม่​ได้. บ่อย​ครั้ง คน​ที่​มี​ปัญหา​มาก​ที่​สุด​ก็​คือ​แม่​แท้ๆกับ​แม่​เลี้ยง. อะไร​จะ​ช่วย​ได้?

 เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ: กำหนดขอบเขตที่เหมาะสม. ถ้า​คุณ​พยายาม​กีด​กัน​อดีต​คู่​สมรส​ไม่​ให้​มา​ยุ่ง​เกี่ยว​กับ​ลูก​ของ​คุณ​เลย เด็ก​ก็​อาจ​มี​ปัญหา​ทาง​อารมณ์​ได้. * สำหรับ​เด็ก​แล้ว พ่อ​แม่ “ผู้​บังเกิด​เกล้า” ย่อม​เป็น​คน​พิเศษ​ใน​ใจ​เขา​เสมอ. (สุภาษิต 23:22, 25) ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง ถ้า​คุณ​ยอม​ให้​อดีต​คู่​สมรส​เข้า​มา​มี​บทบาท​ใน​บ้าน​ของ​คุณ​มาก​เกิน​ไป สามี​หรือ​ภรรยา​ใหม่​ของ​คุณ​คง​ไม่​สบาย​ใจ​หรือ​ถึง​กับ​โกรธ​ด้วย​ซ้ำ. ดัง​นั้น จง​จำกัดความ​สัมพันธ์​กับ​อดีต​สามี​หรือ​ภรรยา​ให้​อยู่​ใน​ขอบ​เขต​ที่​เหมาะ​สม​เพื่อ​ปก​ป้อง​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ แต่​ขณะ​เดียว​กัน​ก็​ให้​ความ​ร่วม​มือ​กับ​เขา​ซึ่ง​เป็น​พ่อ​แม่​แท้ๆของ​เด็ก​ให้​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้.

ข้อ​แนะ​สำหรับ​พ่อ​แม่​แท้ๆ

  • เมื่อ​ติด​ต่อ​กับ​อดีต​คู่​สมรส คุณ​ควร​พูด​เรื่อง​ลูก​เป็น​หลัก​และ​พยายาม​พูด​เรื่อง​อื่น​ให้​น้อย​ที่​สุด. ตัว​อย่าง​เช่น คุณ​อาจ​ขอร้อง​เขา​ให้​โทร​มา​หา​ลูก​ใน​เวลา​เดียว​กัน​เสมอ​และ​ให้​เป็น​ช่วง​กลางวัน​เท่า​นั้น แทน​ที่​จะ​โทร​มา​ดึกๆดื่นๆหรือ​โทร​มา​แบบ​ไม่​เป็น​เวล่ำ​เวลา.

  • ถ้า​คุณ​ไม่​ได้​สิทธิ์​ใน​การ​เลี้ยง​ดู​ลูก คุณ​อาจ​ติด​ต่อ​กับ​ลูก​เป็น​ประจำ​ได้​โดย​โทรศัพท์ เขียน​จดหมาย ส่ง​ข้อ​ความ หรือ​ส่ง​อีเมล. (พระ​บัญญัติ 6:6, 7) พ่อ​แม่​บาง​คน​ถึง​กับ​ใช้​ระบบ​สื่อสาร​แบบ​ที่​เห็น​หน้า​กัน​ได้. โดย​วิธี​นี้​คุณ​อาจ​เข้าใจ​ปัญหา​ของ​ลูก​มาก​ขึ้น​และ​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี​กับ​เขา​ได้​อย่าง​ที่​คุณ​อาจ​คิด​ไม่​ถึง​ด้วย​ซ้ำ.

ข้อ​แนะ​สำหรับ​แม่​เลี้ยง

  • แสดง “ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ” ต่อ​แม่​แท้ๆของ​ลูก​เลี้ยง โดย​พูด​ให้​ชัดเจน​ว่า​คุณ​ไม่​ได้​พยายาม​มา​แทน​ที่​เธอ. (1 เปโตร 3:8) เล่า​ให้​เธอ​ฟัง​เป็น​ระยะๆว่า​ลูก​ของ​เธอ​เป็น​อย่าง​ไร​บ้าง โดย​เน้น​แต่​เรื่อง​ดีๆ. (สุภาษิต 16:24) ขอ​คำ​แนะ​นำ​จาก​เธอ​และ​ขอบคุณ​เมื่อ​เธอ​ให้​คำ​แนะ​นำ.

  • ระวัง​ที่​จะ​ไม่​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​ลูก​เลี้ยง​มาก​เกิน​ไป​เมื่อ​อยู่​ต่อ​หน้า​แม่​แท้ๆของ​เขา. เบฟเวอร์ลี แม่​เลี้ยง​คน​หนึ่ง​ใน​สหรัฐ​เล่า​ว่า “ลูก​เลี้ยง​ของ​ฉัน​อยาก​เรียก​ฉัน​ว่า​แม่. เรา​เลย​ตก​ลง​กัน​ว่า​พวก​เขา​จะ​เรียก​ฉัน​ว่า​แม่​ได้​เมื่อ​อยู่​ที่​บ้าน​ของ​เรา แต่​ห้าม​เรียก​เมื่อ​อยู่​ต่อ​หน้า​เจน แม่​แท้ๆของ​พวก​เขา​หรือ​ครอบครัว​ของ​เธอ. หลัง​จาก​ใช้​วิธี​นี้ ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​ฉัน​กับ​เจน​ก็​ดี​ขึ้น. ที่​จริง เรา​ถึง​กับ​ช่วย​กัน​ดู​แล​เด็กๆเวลา​มี​การ​แสดง​ที่​โรง​เรียน​หรือ​เมื่อ​ไป​ทัศนศึกษา.”

คุณ​อาจ​ช่วย​ลูก​แท้ๆของ​คุณ​ได้​มาก​กว่า​ที่​คุณ​คิด

ข้อ​แนะ​ที่​ช่วย​ให้​พ่อ​แม่​แท้ๆกับ​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​เข้า​กัน​ได้

  • อย่า​พูด​ถึง​พ่อ​แม่​แท้ๆหรือ​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​ใน​แง่​ลบ​ให้​เด็ก​ได้​ยิน. เป็น​เรื่อง​ง่าย​ที่​จะ​เผลอ​พูด​แบบ​นั้น แต่​คำ​พูด​เชิง​นินทา​ว่า​ร้าย​มี​แต่​จะ​ทำ​ให้​เด็ก​ไม่​สบาย​ใจ และ​เขา​อาจ​เอา​คำ​พูด​ของ​คุณ​ไป​พูด​ต่อ​ก็​ได้. (ท่าน​ผู้​ประกาศ 10:20) ถ้า​เด็ก​มา​เล่า​ให้​คุณ​ฟัง​ว่า​พ่อ​แม่​แท้ๆหรือ​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​ของ​เขา​พูด​ไม่​ดี​เกี่ยว​กับ​คุณ ขอ​ให้​คุณ​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​เด็ก​เป็น​สำคัญ. คุณ​อาจ​พูด​ทำนอง​ที่​ว่า “ฉัน​เสียใจ​นะ​ที่​หนู​ต้อง​มา​ฟัง​เรื่อง​อย่าง​นี้. แม่​ของ​หนู​โกรธ​ฉัน และ​เวลา​ที่​คน​เรา​โมโห เรา​ก็​มัก​จะ​พูด​อะไร​ออก​ไป​โดย​ไม่​คิด.”

    การ​ปฏิบัติ​ต่อ​กัน​ด้วย​ความ​สุภาพ​และ​ความ​นับถือ​ช่วย​รักษา​ความ​สัมพันธ์​ที่​ดี

  • พยายาม​ตั้ง​กฎ​และ​อบรม​สั่ง​สอน​ลูก​ด้วย​หลักการ​เดียว​กัน​ทั้ง​สอง​บ้าน. ถ้า​ทำ​ไม่​ได้​จริงๆ ก็​ต้อง​อธิบาย​ให้​ลูก​เข้าใจ​โดย​ไม่​ตำหนิ​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง. ลอง​นึก​ถึง​ฉาก​เหตุ​การณ์​ต่อ​ไป​นี้:

     แม่เลี้ยง: ทิม อย่าลืมเอาผ้าเช็ดตัวที่ใช้แล้วไปตากด้วยนะจ๊ะ.

    ทิม: ที่บ้านแม่ผม เราก็แค่กองมันไว้บนพื้น เดี๋ยวแม่ก็เอาไปตากเอง.

    แม่เลี้ยง (โกรธ): แม่เธอนี่ยังไงนะ! ทำไมสอนลูกให้ขี้เกียจอย่างนี้.

    พูด​แบบ​นี้​ดี​กว่า​ไหม?

    แม่เลี้ยง (ใจ​เย็น): อย่างนั้นหรือจ๊ะ. แต่ที่นี่ เราต้องตากผ้าเช็ดตัวกันเองนะ.

  • อย่า​วาง​แผน​ทำ​กิจกรรม​ของ​ครอบครัว​ตอน​ที่​ลูก​เลี้ยง​มี​นัด​กับ​พ่อ​แม่​แท้ๆของ​เขา. (มัดธาย 7:12) ถ้า​คุณ​ไม่​สามารถ​ปรับ​เปลี่ยน​เวลา​ได้ ให้​ขอ​อนุญาต​พ่อ​แม่​แท้ๆก่อน​จะ​บอก​ให้​เด็ก​รู้​ว่า​คุณ​มี​แผนการ​อะไร.

ลองวิธีนี้: ถ้า​คราว​หน้า​คุณ​พบ​กับ​อดีต​สามี​หรือ​ภรรยา​ของ​คู่​สมรส หรือ​พบ​กับ​สามี​หรือ​ภรรยา​ใหม่​ของ​อดีต​คู่​สมรส ลอง​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ต่อ​ไป​นี้:

  1. สบ​ตา​และ​ยิ้ม​ให้​เขา. อย่า​ถอน​หายใจ ยัก​ไหล่ หรือ​ชัก​สี​หน้า​แสดง​ความ​รำคาญ​ออก​มา.

  2. ทักทาย​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง​โดย​เรียก​ชื่อ​ของ​เขา เช่น พูด​ว่า “สวัสดี​ค่ะ เจน.”

  3. ถ้า​คุณ​กำลัง​พูด​คุย​กับ​คน​อื่นๆ จง​ชวน​เขา​ให้​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​วง​สนทนา​ด้วย.

ความ​สัมพันธ์ 2: ลูก​เลี้ยง​ที่​โต​แล้ว

หนังสือ​เล่ม​หนึ่ง (Step Wars) ยก​คำ​พูด​ของ​ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ไม่​พอ​ใจ​ที่​สามี​ชอบ​เข้า​ข้าง​ลูก​ของ​เขา​ที่​โต​แล้ว​และ​ไม่​ยอม​เชื่อ​ว่า​ลูก​ของ​เขา​ปฏิบัติ​ต่อ​เธอ​อย่าง​ไม่​ให้​เกียรติ. เธอ​บอก​ว่า “พวก​เขา​ทำ​ให้​ฉัน​อารมณ์​พุ่ง​ปรี๊ด​ขึ้น​มา​ทันที.” คุณ​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​ไม่​ให้​ปัญหา​ระหว่าง​คุณ​กับ​ลูก​เลี้ยง​มา​บั่น​ทอน​ความ​สัมพันธ์​ของ​คุณ​กับ​คู่​สมรส?

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ: พยายามเข้าใจความรู้สึก. คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “อย่า​ให้​ใคร​ทำ​อะไร​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​ตน​เอง​เท่า​นั้น แต่​ให้​ทำ​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​คน​อื่น​ด้วย.” (1 โครินท์ 10:24) จง​แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​และ​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​คน​อื่น. ลูก​เลี้ยง​ที่​โต​แล้ว​อาจ​กลัว​ว่า​พ่อ​แม่​จะ​รัก​ครอบครัว​ใหม่​มาก​กว่า​เขา หรือ​เขา​อาจ​รู้สึก​ว่า​การ​ทำ​ดี​กับ​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง​เป็น​การ​ทรยศ​พ่อ​แม่​แท้ๆ. ขณะ​เดียว​กัน คู่​สมรส​ของ​คุณ​ก็​อาจ​กลัว​ว่า​การ​ดุ​ด่า​ว่า​กล่าว​ลูก​ของ​ตน​จะ​ทำ​ให้​ลูก​เสียใจ​และ​รู้สึก​ว่า​เขา​ไม่​เป็น​ที่​ต้องการ.

แทน​ที่​จะ​พยายาม​บังคับ​ลูก​เลี้ยง​ให้​สนิท​กับ​คุณ คุณ​ควร​ปล่อย​ให้​ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​คุณ​กับ​พวก​เขา​พัฒนา​ขึ้น​แบบ​ค่อย​เป็น​ค่อย​ไป. นับ​ว่า​ไม่​ฉลาด​ที่​จะ​บีบ​บังคับ​หรือ​กดดัน​ให้​ใคร​มา​รัก​เรา. (เพลง​ไพเราะ 8:4) ดัง​นั้น ขณะ​ที่​คุณ​พยายาม​สร้าง​ความ​สัมพันธ์​กับ​ลูก​เลี้ยง คุณ​ควร​คาด​หมาย​อย่าง​ที่​ตรง​กับ​ความ​เป็น​จริง​และ​มี​เหตุ​ผล.

อย่า​พูด​ทุก​สิ่ง​ที่​คุณ​คิด​หรือ​รู้สึก แม้​ว่า​ลูก​เลี้ยง​จะ​ทำ​ไม่​ดี​กับ​คุณ. (สุภาษิต 29:11) ถ้า​คุณ​รู้สึก​ว่า​การ​ควบคุม​คำ​พูด​เป็น​เรื่อง​ยาก ขอ​ให้​ทำ​เหมือน​กษัตริย์​ดาวิด​แห่ง​อิสราเอล​ที่​อธิษฐาน​ว่า “ข้า​แต่​พระ​ยะโฮวา, ขอ​ทรง​จัด​การ​แวด​ล้อม​ปาก​ของ​ข้าพเจ้า; ขอ​พระองค์​ทรง​รักษา​ประตู​ปาก​ของ​ข้าพเจ้า​ไว้.”—บทเพลง​สรรเสริญ 141:3

ถ้า​คุณ​ตัดสิน​ใจ​ย้าย​เข้า​ไป​อยู่​ใน​บ้าน​ที่​ลูก​เลี้ยง​ของ​คุณ​อยู่​มา​ตั้ง​แต่​เด็ก คุณ​อาจ​แปลก​ใจ​เมื่อ​เห็น​ว่า​เขา​ผูก​พัน​กับ​บ้าน​นั้น​มาก​ แค่​ไหน. จง​พยายาม​เปลี่ยน​แปลง​สิ่ง​ต่างๆใน​บ้าน​ให้​น้อย​ที่​สุด โดย​เฉพาะ​ห้อง​ที่​เขา​เคย​อยู่. ใน​บาง​กรณี​อาจ​ดี​กว่า​ถ้า​คุณ​จะ​ย้าย​ไป​อยู่​บ้าน​ใหม่.

ลองวิธีนี้: ถ้า​ลูก​เลี้ยง​ที่​โต​แล้ว​ไม่​ยอม​ให้​ความ​นับถือ​ต่อ​คุณ​หรือ​ไม่​เลิก​แสดง​กิริยา​หยาบคาย คุณ​ควร​บอก​คู่​สมรส​ว่า​คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร​กับ​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น และ​ตั้งใจ​ฟัง​ว่า​เขา​คิด​อย่าง​ไร. อย่า​กดดัน​คู่​สมรส​ให้​ว่า​กล่าว​แก้ไข​ลูก​ของ​เขา แต่​พยายาม​พูด​คุย​เพื่อ​คุณ​ทั้ง​สอง​จะ​เข้าใจ​กัน. ถ้า​คุณ “คิด​สอดคล้อง​กัน” เกี่ยว​กับ​ปัญหา​ที่​เกิด​ขึ้น คุณ​ก็​จะ​ช่วย​กัน​แก้ไข​สถานการณ์​ให้​ดี​ขึ้น​ได้.—2 โครินท์ 13:11

พยายาม​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​เด็ก​ทุก​คน​ใน​ครอบครัว

ความ​สัมพันธ์ 3: ญาติ​และ​เพื่อนๆ

แมเรียน แม่​เลี้ยง​คน​หนึ่ง​ใน​แคนาดา​บอก​ว่า “พ่อ​แม่​ฉัน​ชอบ​ให้​ของ​ขวัญ​ลูก​ชาย​ของ​ฉัน แต่​ไม่​ให้​ลูกๆของ​สามี. เรา​เลย​ต้อง​พยายาม​หา​ซื้อ​ของ​ขวัญ​ให้​พวก​เขา​ด้วย​เพื่อ​เด็กๆจะ​ไม่​รู้สึก​น้อย​ใจ แต่​บาง​ครั้ง​เรา​ก็​ไม่​มี​เงิน​พอ.”

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ: ครอบครัวใหม่ต้องมาก่อน. บอก​ญาติ​และ​เพื่อน​ให้​เข้าใจ​ว่า​คุณ​ตั้งใจ​จะ​ดู​แล​ครอบครัว​ใหม่​ของ​คุณ​อย่าง​ดี​ที่​สุด. (1 ติโมเธียว 5:8) แม้​คุณ​ไม่​อาจ​คาด​หมาย​ให้​พวก​เขา​รัก​คู่​สมรส​หรือ​ลูก​เลี้ยง​ของ​คุณ​ทันที แต่​คุณ​สามารถ​ขอ​ให้​พวก​เขา​ปฏิบัติ​ต่อ​สมาชิก​ครอบครัว​ใหม่​ของ​คุณ​อย่าง​สุภาพ​และ​ไม่​ลำเอียง. อธิบาย​ให้​ญาติ​หรือ​เพื่อน​เข้าใจ​ว่า​ลูก​เลี้ยง​ของ​คุณ​จะ​เสียใจ​ถ้า​พวก​เขา​ไม่​ได้​รับ​ความ​สนใจ​และ​ความ​กรุณา​เช่น​เดียว​กับ​ลูก​แท้ๆของ​คุณ.

พยายาม​ให้​ลูก​มี​โอกาส​ได้​ใกล้​ชิด​กับ​ปู่​ย่า​ตา​ยาย​ของ​พวก​เขา. ซูซาน แม่​คน​หนึ่ง​ใน​อังกฤษ​เล่า​ว่า “หลัง​จาก​สามี​คน​แรก​เสีย​ชีวิต​ได้ 18 เดือน ฉัน​ก็​แต่งงาน​ใหม่ พ่อ​แม่​ของ​สามี​เก่า​ไม่​ยอม​รับ​สามี​ใหม่​ของ​ฉัน. แต่​สถานการณ์​เริ่ม​ดี​ขึ้น​เมื่อ​เรา​ให้​พวก​ท่าน​เข้า​มา​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​ครอบครัว​มาก​ขึ้น ให้​เด็กๆโทร​หา​ปู่​กับ​ย่า​บ่อยๆ และ​ขอบคุณ​พวก​ท่าน​ที่​คอย​ช่วยเหลือ​เรา.”

ลองวิธีนี้: คิด​ดู​ว่า​มี​เพื่อน​หรือ​ญาติ​คน​ไหน​บ้าง​ที่​ยัง​ไม่​ยอม​รับ​ครอบครัว​ใหม่​ของ​คุณ จาก​นั้น​ปรึกษา​กับ​คู่​ของ​คุณ​ว่า​จะ​ปรับ​ปรุง​ความ​สัมพันธ์​ให้​ดี​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร.

ความ​สัมพันธ์​กับ​คน​นอก​ครอบครัว​อาจ​สร้าง​ปัญหา​ให้​กับ​ครอบครัว​ใหม่​ของ​คุณ. แต่​ขอ​ให้​คุณ​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล แล้ว​ครอบครัว​ของ​คุณ​จะ​ได้​รับ​พระ​พร​ที่​สัญญา​ไว้​ใน​พระ​คัมภีร์​ว่า “ครอบครัว​จะ​เจริญ​ก็​ด้วย​สติ​ปัญญา และ​ครอบครัว​จะ​มั่นคง​ก็​ด้วย​ความ​เข้าใจ.”—สุภาษิต 24:3, ล.ม.

^ วรรค 3 บาง​ชื่อ​ใน​บทความ​นี้​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.

^ วรรค 4 สำหรับ​คำ​แนะ​นำ​เกี่ยว​กับ​ปัญหา​อื่นๆ โปรด​ดู​บทความ​ชุด “วิธี​รับมือ​ข้อ​ท้าทาย​ของ​ครอบครัว​ที่​มี​พ่อ​เลี้ยง​แม่​เลี้ยง” ใน​วารสาร​ตื่นเถิด! ฉบับ​เมษายน 2012 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

^ วรรค 8 แต่​ถ้า​อดีต​คู่​สมรส​ของ​คุณ​ใช้​วิธี​ข่มขู่​หรือ​ใช้​ความ​รุนแรง คุณ​อาจ​จำเป็น​ต้อง​วาง​ข้อ​จำกัด​ให้​เข้มงวด​ขึ้น​เพื่อ​ความ​ปลอด​ภัย​ของ​คน​ใน​ครอบครัว.

ถาม​ตัว​เอง​ว่า . . .

  • ฉัน​จะ​เข้า​กับ​อดีต​สามี​หรือ​ภรรยา​ของ​คู่​สมรส​ได้​อย่าง​ไร?

  • เรา​จะ​ป้องกัน​ไม่​ให้​ญาติ​และ​เพื่อน​มา​ทำลาย​ความ​สัมพันธ์​ใน​ครอบครัว​โดย​ไม่​ตั้งใจ​ได้​อย่าง​ไร?