ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

 จงใกล้ชิดพระเจ้า

“พระยะโฮวาเต็มพระทัยให้อภัยท่านทั้งหลาย”

“พระยะโฮวาเต็มพระทัยให้อภัยท่านทั้งหลาย”

เอดเวิร์ด เฮอร์เบิร์ต นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 17 กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่ไม่ยอมให้อภัยคนอื่นคือคนที่ทำลายสะพานซึ่งตัวเขาเองต้องเดินข้าม.” คำกล่าวนี้ชี้ให้เห็นเหตุผลข้อหนึ่งที่เราต้องให้อภัยผู้อื่น นั่นคือ เราอาจต้องขอให้คนอื่นให้อภัยเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง. (มัดธาย 7:12) แต่มีเหตุผลสำคัญกว่านั้นที่เราต้องให้อภัยกัน. ขอให้สังเกตคำพูดของอัครสาวกเปาโลซึ่งบันทึกไว้ที่โกโลซาย 3:13.—อ่าน

เนื่องจากเราทุกคนเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ บางครั้งเราอาจทำให้คนอื่นขุ่นเคืองหรือไม่พอใจ และคนอื่นก็อาจทำให้เราขุ่นเคืองเช่นกัน. (โรม 3:23) เราจะรักษาสันติสุขกับเพื่อนมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ได้อย่างไร? เปาโลแนะนำว่าเราต้องยอมผ่อนปรนและให้อภัย. คำแนะนำที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้คนที่มีชีวิตอยู่เมื่อเกือบสองพันปีที่แล้ว และยังเป็นประโยชน์ต่อเราในทุกวันนี้ด้วย. ให้เราพิจารณาคำพูดของเปาโลให้ละเอียดขึ้น.

“จงทนกันและกันเรื่อยไป.” สำนวนที่ว่า “ทน . . . เรื่อยไป” ตรงกับคำภาษากรีกที่มีความหมายว่ารู้จักผ่อนปรน หรืออดทนอดกลั้น. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งบอกว่าคริสเตียนแสดงคุณลักษณะนี้โดย “เต็มใจทนกับข้อผิดพลาดหรือนิสัยที่ไม่ดีของคนอื่นซึ่งทำให้พวกเขาขุ่นเคือง.” คำว่า “กันและกัน” บอกให้รู้ว่าทั้งสองฝ่ายต้องอดทน. นี่หมายความว่า ถ้าเราระลึกเสมอว่านิสัยบางอย่างของเราอาจทำให้คนอื่นขุ่นเคือง เราก็จะไม่ยอมให้นิสัยหรือพฤติกรรมของคนอื่นที่เราไม่ชอบมาทำลายสันติสุขระหว่างเรากับเขา. แต่ถ้าคนอื่นทำผิดต่อเราล่ะ?

“ให้อภัยกันอย่างใจกว้าง.” นักวิชาการคนหนึ่งอธิบายว่าคำภาษากรีกที่ใช้ในสำนวนนี้ “ไม่ใช่คำที่หมายถึงการยกโทษหรือการให้อภัยแบบธรรมดา . . . แต่มีความหมายลึกซึ้งกว่าซึ่งมักจะใช้เพื่อเน้นว่าการให้อภัยต้องมาจากใจที่มีความเมตตากรุณา.” หนังสืออ้างอิงอีกเล่มหนึ่งกล่าวว่าคำนี้ยังหมายถึง “การทำสิ่งที่น่ายินดี น่าพอใจ และเป็นประโยชน์.” เราแสดงความเมตตากรุณาโดยเต็มใจให้อภัยแม้แต่เมื่อเรา “มีเหตุจะบ่นว่าผู้อื่น.” แต่ทำไมเราควรเต็มใจทำเช่นนั้น? เหตุผลหนึ่งคือ เพราะสักวันหนึ่งเราเองก็อาจจำเป็นต้องขอให้คนที่ทำผิดต่อเราให้อภัยเรา เช่นกัน.

“พระยะโฮวาเต็มพระทัยให้อภัยท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านทั้งหลายก็จงทำอย่างนั้น.” เหตุผลสำคัญที่สุดที่เราต้องให้อภัยผู้อื่นอย่างใจกว้างคือ พระยะโฮวาพระเจ้าเต็มใจให้อภัยเราอย่างใจกว้าง. (มีคา 7:18) ขอให้หยุดคิดสักครู่หนึ่งว่าพระยะโฮวาแสดงความเมตตากรุณามากเพียงไรต่อคนบาปที่กลับใจ. พระยะโฮวาต่างจากเราเพราะพระองค์ไม่เคยทำบาป. แต่พระองค์ก็ยังเต็มใจให้อภัยคนบาปที่กลับใจ แม้รู้ว่าพระองค์ไม่จำเป็นต้องได้รับการอภัยบาปจากพวกเขา. พระยะโฮวาเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมจริงในเรื่องการให้อภัยอย่างใจกว้างต่อคนบาปที่กลับใจ!

พระยะโฮวาเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมจริงในเรื่องการให้อภัยอย่างใจกว้างต่อคนบาปที่กลับใจ!

ความเมตตากรุณาของพระยะโฮวาทำให้เราอยากใกล้ชิดและเลียนแบบพระองค์. (เอเฟโซส์ 4:32–5:1) เราควรถามตัวเองว่า ‘ถ้าพระยะโฮวาให้อภัยฉันมากขนาดนี้ แล้วทำไมฉันยังไม่ยอมให้อภัยเพื่อนมนุษย์ที่ทำผิดต่อฉันทั้งที่เขากลับใจจริงๆ?’—ลูกา 17:3, 4