คำของพระเจ้าแพร่หลายในสเปนยุคกลางได้อย่างไร?
“ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อเดินทางไปสเปน ข้าพเจ้าจะแวะมาหาพวกท่าน และเมื่อได้อยู่กับพวกท่านระยะหนึ่งจนพอใจแล้ว ก็จะมีพวกท่านร่วมเดินทางไปด้วยช่วงหนึ่ง”—โรม 15:24
ข้อความนี้อยู่ในจดหมายที่อัครสาวกเปาโลเขียนถึงเพื่อนคริสเตียนในกรุงโรมประมาณปี ค.ศ. 56 แม้คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าเปาโลเดินทางไปสเปนจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือ ความพยายามของเปาโลและผู้เผยแพร่พระคัมภีร์ยุคบุกเบิกคนอื่น ๆ ได้ทำให้ข่าวดีจากคัมภีร์ไบเบิลไปถึงสเปนในช่วงศตวรรษที่ 2
ไม่นานชุมชนคริสเตียนในสเปนก็เริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสเปนอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันมานาน พอถึงศตวรรษที่ 2 ภาษาละตินจึงกลายเป็นภาษาที่คนส่วนใหญ่พูดกันโดยทั่วไป การแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาละตินจึงเป็นสิ่งจำเป็น
คัมภีร์ไบเบิลภาษาละตินที่ผู้คนต้องการ
คริสเตียนชาวสเปนยุคแรก ๆ แปลพระคัมภีร์ภาษาละตินหลายฉบับซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ เวทุส ลาตินา ฮิสปานา คัมภีร์ไบเบิลชุดนี้ได้แพร่หลายในสเปนนานหลายปีก่อนที่เจโรมจะแปลพระคัมภีร์ฉบับละตินวัลเกต อันโด่งดังเสร็จสมบูรณ์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 5
พระคัมภีร์ที่เจโรมแปลเสร็จในเบทเลเฮม ปาเลสไตน์ ไปถึงสเปนอย่างรวดเร็ว เมื่อลูซินิอุสนักศึกษาพระคัมภีร์ที่ร่ำรวยรู้ว่าเจโรมกำลังแปลพระคัมภีร์ภาษาละติน เขาอยากได้สำเนาพระคัมภีร์ฉบับนี้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เขาจึงส่งนักคัดลอกหกคนไปที่เบทเลเฮมเพื่อคัดลอกพระคัมภีร์และนำกลับมาที่สเปน ในศตวรรษต่อ ๆ มาฉบับละตินวัลเกต ก็ค่อย ๆ เข้ามาแทนที่พระคัมภีร์ชุดก่อนที่เรียกว่า เวทุส ลาตินา ฮิสปานา ฉบับภาษาละตินเหล่านี้ช่วยให้คนในสเปนสามารถอ่านและเข้าใจข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลได้ แต่เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลาย ความจำเป็นต้องแปลภาษาใหม่ก็เกิดขึ้น
คัมภีร์ไบเบิลบนแผ่นหินชนวน
ในศตวรรษที่ 5 ชาววิสิกอทและชาวเผ่าเยอรมันอื่น ๆ ได้บุกโจมตีสเปน พวกเขาได้นำภาษากอทิกเข้ามาบนคาบสมุทรแห่งนี้ ผู้บุกรุกเหล่านี้นับถือศาสนาคริสต์ที่เรียกว่านิกายอาริอุสซึ่งไม่เชื่อคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ และได้นำพระคัมภีร์ฉบับแปลของพวกเขามาด้วยซึ่งเรียกว่า คัมภีร์ไบเบิลภาษากอทิกของอุลฟิลัส คนในสเปนก็ได้อ่านจนถึงปลายศตวรรษที่ 6 แต่เมื่อกษัตริย์เรคคาเรดแห่งเผ่าวิสิกอทเลิกนับถือนิกายอาริอุสแล้วเปลี่ยนไปนับถือนิกายคาทอลิก เขาสั่งให้เก็บและทำลายหนังสือของนิกายอาริอุสทั้งหมด รวมทั้งพระคัมภีร์ฉบับของอุลฟิลัส ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีฉบับแปลภาษากอทิกหลงเหลืออยู่ในสเปนอีกเลย
แต่ในช่วงเวลานั้นคำสอนของพระเจ้าก็ยังหาอ่านได้ทั่วไปในสเปน นอกจากภาษากอทิกแล้ว ยังมีภาษาละตินท้องถิ่นซึ่งพูดกันทั่วไปในสเปนด้วย ต่อมา ภาษานี้กลายเป็นที่มาของกลุ่มภาษาโรมานซ์ซึ่งพูดกันในคาบสมุทรไอบีเรีย * เอกสารภาษา ละตินท้องถิ่นที่เก่าแก่ที่สุดนี้เรียกว่า แผ่นหินชนวนของวิสิกอท แผ่นหินพวกนี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 และ 7 ซึ่งบางแผ่นมีข้อความจากบทเพลงสรรเสริญและหนังสือกิตติคุณ มีอยู่แผ่นหนึ่งที่บันทึกข้อความจากเพลงสรรเสริญ บท 16 ทั้งบท
การที่มีข้อคัมภีร์บนแผ่นหินชนวนธรรมดา ๆ แสดงให้เห็นว่าคนทั่วไปในสมัยนั้นสามารถหาอ่านและคัดลอกคำสอนของพระเจ้าได้ แม้แต่ครูก็ยังใช้ข้อความจากคัมภีร์ไบเบิลเป็นแบบเรียนให้เด็กฝึกอ่านและเขียน แผ่นหินชนวนเป็นเครื่องเขียนราคาถูก ซึ่งต่างจากแผ่นหนังราคาแพงที่โรงเรียนนักธรรมใช้ผลิตคัมภีร์ไบเบิลฉบับที่มีภาพประกอบ
พระคัมภีร์ที่มีภาพประกอบเล่มหนึ่งซึ่งล้ำค่ามากถูกเก็บไว้ในโบสถ์ซาน อิซิโดโร เมืองเลออน ประเทศสเปน พระคัมภีร์เล่มนี้มีมาตั้งแต่ปี 960 มีทั้งหมด 516 แผ่น ขนาดประมาณ 47 คูณ 34 เซนติเมตร และหนักประมาณ 18 กิโลกรัม ส่วนอีกเล่มหนึ่งคือคัมภีร์ไบเบิลแห่งรีปอล ซึ่งมีมาตั้งแต่ประมาณปี 1020 ปัจจุบันอยู่ที่ห้องสมุดแห่งวาติกัน คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้เป็นหนึ่งในฉบับที่เลิศหรูที่สุดในยุคกลาง แต่เพื่อจะทำงานศิลปะอย่างนั้นได้ นักบวชต้องใช้เวลาทั้งวันในการประดิษฐ์อักษรตัวเริ่มต้นเพียงตัวเดียวและใช้เวลาทั้งสัปดาห์เพื่อทำปกด้านใน แต่พระคัมภีร์ที่หรูหราขนาดนั้นกลับไม่ได้ช่วยแพร่ข่าวสารของพระเจ้าไปถึงประชาชนมากนัก
คัมภีร์ไบเบิลภาษาอาหรับ
พอถึงศตวรรษที่ 8 การรุกรานของชาวมุสลิมก็ทำให้อีกภาษาหนึ่งเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในสเปน ในอาณานิคมชาวมุสลิม ภาษาอาหรับเริ่มเข้ามาแทนที่ภาษาละตินและทำให้มีความจำเป็นต้องแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาใหม่นี้
จากศตวรรษที่ 5 ถึง 8 คัมภีร์ไบเบิลภาษาละตินและภาษาอาหรับช่วยคนในสเปนให้ได้อ่านคัมภีร์ไบเบิลคำสอนของพระเจ้า
คัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาอาหรับหลายฉบับ โดยเฉพาะหนังสือกิตติคุณเป็นส่วนที่นิยมอ่านกันมากในสเปนยุคกลาง ในศตวรรษที่ 8 จอห์น บิชอปแห่งเซบียาได้แปลคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มเป็นภาษาอาหรับ น่าเสียดายที่ปัจจุบันไม่มีฉบับแปลนี้หลงเหลืออยู่เลย หนังสือกิตติคุณฉบับภาษาอาหรับชุดหนึ่งจาก
สมัยกลางศตวรรษที่ 10 ถูกเก็บรักษาไว้ที่วิหารแห่งเลออน ประเทศสเปนเผยโฉมพระคัมภีร์ภาษาสเปน
ในช่วงปลายยุคกลาง ภาษาสเปนหรือคาสติเลียนเริ่มใช้กันในคาบสมุทรไอบีเรีย ภาษาใหม่นี้เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้คำสอนของพระเจ้าแพร่ไปถึงผู้คนอย่างรวดเร็ว * มีการพบข้อคัมภีร์ฉบับภาษาสเปนที่เก่าแก่ที่สุดจากต้นศตวรรษที่ 13 ในหนังสือชื่อ ลา ฟาเซียนดา เด อุลทรา มาร์ (Deeds From Across the Seas) หนังสือนี้มีบันทึกการเดินทางไปอิสราเอล รวมทั้งข้อความจากหนังสือห้าเล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิลที่เรียกว่า เพนทาทุก และหนังสืออื่น ๆ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู รวมทั้งกิตติคุณและจดหมายของอัครสาวก
ผู้มีอำนาจของคริสตจักรไม่พอใจฉบับแปลนี้ ในปี 1234 สภาแห่งเมืองตาร์ราโกนามีคำสั่งว่า ใครก็ตามที่มีหนังสือทุกอย่างที่เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลในภาษาสเปนต้องนำไปให้นักเทศน์ท้องถิ่นเผาทำลายให้หมด แต่คำสั่งนี้ไม่สามารถหยุดยั้งการแปลคัมภีร์ไบเบิลได้จริง ๆ เพราะว่ากษัตริย์อัลฟองโซที่ 10 (ค.ศ. 1252-1284) ซึ่งถือว่าเป็นผู้ริเริ่มการใช้ภาษาสเปนในแบบที่เป็นภาษาเขียนต้องการสนับสนุนการแปลพระคัมภีร์ภาษาสเปน ไม่นานหลังจากนั้น ฉบับแปลภาษาสเปนจากยุคนี้ รวมถึงก่อนยุคอัลฟองซีนไบเบิลก็เผยโฉมออกมา
ฉบับแปลทั้งสองยุคนี้ได้ช่วยพัฒนาภาษาสเปนที่เพิ่งเริ่มต้นให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา นักวิชาการชื่อโทมัส มอนต์โกเมอรี่ พูดถึงพระคัมภีร์ก่อนยุคอัลฟองซีนไบเบิลว่า “ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ได้ผลิตผลงานชิ้นเยี่ยมที่ถือว่ามีความถูกต้องแม่นยำและเข้าใจง่าย . . . ภาษาที่ง่ายและชัดเจนแบบนี้จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อคนที่ไม่รู้ภาษาละตินจะอ่านและเข้าใจได้”
อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาสเปนยุคแรกแปลมาจากฉบับละตินวัลเกต แทนที่จะแปลจากภาษาดั้งเดิม เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 นักวิชาการชาวยิวหลายคนได้ผลิตพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่เป็นภาษาสเปนออกมาหลายฉบับ โดยแปลจากภาษาฮีบรูโดยตรง ตอนนั้นสเปนเป็นประเทศที่มีชุมชนชาวยิวใหญ่ที่สุดในยุโรป และผู้แปลชาวยิวสามารถหาสำเนาพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูที่อยู่ในสภาพดีเพื่อนำมาใช้ในการแปลได้ *
ฉบับอัลบาไบเบิล ซึ่งแปลเสร็จในศตวรรษที่ 15 เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นมาก ลูอิส เด กูซมัง ขุนนางชาวสเปนที่มีชื่อเสียงสั่งให้รับบีที่ชื่อโมยเซส อาราเคล แปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาสเปนกัสตีโซ (ดั้งเดิม) เขาให้เหตุผลสองอย่างที่ขอให้แปลคัมภีร์ไบเบิล หนึ่ง “คัมภีร์ไบเบิลภาษาโรมานซ์ที่ใช้กันในตอนนี้ไม่ได้รับการแปลอย่างถูกต้อง” และสอง “ผู้อ่านอย่างเราต้องการหมายเหตุริมหน้ากระดาษเพื่อจะเข้าใจข้อความที่ยาก ๆ ได้” คำขอของโมยเซสแสดงให้เห็นว่า คนในสมัยนั้นอยากอ่านและอยากเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลเป็นอย่างมาก และยังแสดงว่าในเวลานั้นพระคัมภีร์ภาษาสเปนได้แพร่หลายไปทั่วประเทศแล้ว
ผลงานของผู้แปลและผู้คัดลอกพระคัมภีร์ในยุคกลางเหล่านี้ทำให้คนที่มีการศึกษาในสเปนสามารถอ่านพระคัมภีร์ในภาษาที่
เข้าใจได้ง่าย นักประวัติศาสตร์ชื่อฮวน ออร์ตส กอนซาเลซ ให้ข้อสังเกตว่า “ชาวสเปนรู้จักคัมภีร์ไบเบิลดีกว่าคนที่อยู่ในเยอรมันหรืออังกฤษก่อนสมัยของลูเทอร์ด้วยซ้ำ”“ชาวสเปนรู้จักคัมภีร์ไบเบิลดีกว่าคนที่อยู่ในเยอรมันหรืออังกฤษก่อนสมัยของลูเทอร์ด้วยซ้ำ”—ฮวน ออร์ตส กอนซาเลซ นักประวัติศาสตร์
แต่พอสิ้นศตวรรษที่ 15 ศาลศาสนาในสเปนสั่งห้ามไม่ให้มีการแปลหรือมีพระคัมภีร์ไว้ในครอบครองไม่ว่าในภาษาใด ๆ คัมภีร์ไบเบิลกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสเปนตลอดช่วงเวลาที่มืดมนนี้ แต่ในเวลาที่ยากลำบากนี้ก็ยังมีผู้แปลที่กล้าหาญบางคนแปลพระคัมภีร์ภาษาสเปนอยู่ในประเทศอื่นและลักลอบนำเข้ามา หลังจากสามศตวรรษผ่านไปการสั่งห้ามที่ยาวนานก็ถูกยกเลิก *
ประวัติศาสตร์ของคัมภีร์ไบเบิลในสเปนยุคกลางแสดงให้เห็นว่า พวกผู้ต่อต้านสรรหาวิธีต่าง ๆ เพื่อขัดขวางไม่ให้ประชาชนได้อ่านคำสอนของพระเจ้า แต่พวกเขาก็ไม่สามารถทำให้คำสอนของพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์เงียบเสียงลงได้—บทเพลงสรรเสริญ 83:1; 94:20
การทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของผู้แปลหลายคนทำให้คัมภีร์ไบเบิลสามารถหยั่งรากและแผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่วสเปนยุคกลาง ผู้แปลพระคัมภีร์สมัยปัจจุบันเจริญรอยตามผู้แปลยุคบุกเบิกเหล่านั้น ซึ่งแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาละติน กอทิก อาหรับ และสเปน ทุกวันนี้คนที่พูดภาษาสเปนนับล้าน ๆ สามารถอ่านคำสอนของพระเจ้าในภาษาของตัวเองซึ่งเป็นภาษาที่เข้าถึงหัวใจของพวกเขา
^ วรรค 10 รวมถึงภาษาคาสติเลียน คาตาลัน กาลีเซียและโปรตุเกส
^ วรรค 17 ทุกวันนี้มีผู้คนประมาณ 540 ล้านคนใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาหลัก
^ วรรค 20 ดูบทความเรื่อง “พระนามของพระเจ้ากับความพยายามของอัลฟองโซ เด ซาโมรา เพื่อทำให้ข้อความในพระคัมภีร์ถูกต้อง” ในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 ธันวาคม 2011
^ วรรค 23 ดูบทความ “การต่อสู้ของคาซิโอโดโร เด เรย์นา เพื่อให้มีคัมภีร์ไบเบิลภาษาสเปน” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มิถุนายน 1996