บท 5
“ไปดูความชั่วและสิ่งน่ารังเกียจที่พวกเขาทำกันที่นั่น”
จุดสำคัญ ความเสื่อมด้านการนมัสการและด้านศีลธรรมของยูดาห์ที่ทรยศพระเจ้า
1-3. พระยะโฮวาอยากให้เอเสเคียลเห็นอะไรที่วิหารในกรุงเยรูซาเล็ม? และทำไมพระองค์ทำอย่างนั้น? (ดูตอน 2)
ผู้พยากรณ์เอเสเคียลเป็นลูกของปุโรหิตเขาจึงรู้จักกฎหมายโมเสสเป็นอย่างดี และยังคุ้นเคยกับวิหารในเยรูซาเล็มและการนมัสการที่บริสุทธิ์ของพระยะโฮวาซึ่งควรทำกันที่นั่น (อสค. 1:3; มลค. 2:7) แต่ตอนนี้ ปี 612 ก่อน ค.ศ. สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่วิหารของพระยะโฮวาคงทำให้เอเสเคียลและชาวยิวที่ซื่อสัตย์ทุกคนตกตะลึงแน่ ๆ
2 พระยะโฮวาอยากให้เอเสเคียลเห็นความเสื่อมทรามที่วิหารและบอก “พวกผู้นำของยูดาห์” ที่เป็นเชลยในบาบิโลนซึ่งมาหาเขาที่บ้านว่าเขาเห็นอะไรบ้าง (อ่านเอเสเคียล 8:1-4; อสค. 11:24, 25; 20:1-3) พระยะโฮวาใช้พลังบริสุทธิ์พาเอเสเคียล (ในนิมิต) ออกจากบ้านในเทลอาบิบ ริมฝั่งแม่น้ำเคบาร์ในบาบิโลนไปที่เยรูซาเล็มห่างออกไปทางตะวันตกหลายร้อยกิโลเมตร พระยะโฮวาพาเขาเข้าไปที่ประตูลานชั้นในของวิหารทางทิศเหนือ แล้วพระองค์ก็เริ่มพาเขาไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในวิหาร
3 ตอนนี้เอเสเคียลได้เห็นเหตุการณ์ที่น่าตกตะลึง 4 อย่างที่บอกให้รู้ว่าการนมัสการของคนในชาตินี้เสื่อมทรามถึงขีดสุด เกิดอะไรขึ้นกับการนมัสการที่ บริสุทธิ์ของพระยะโฮวา? และนิมิตนี้เกี่ยวข้องกับเราในทุกวันนี้อย่างไร? ให้เราตามเอเสเคียลไปดูด้วยกัน แต่ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าพระยะโฮวาคาดหมายอะไรจากคนที่นมัสการพระองค์
“เรา . . . เป็นพระเจ้าที่ต้องการให้พวกเจ้านมัสการเราเพียงผู้เดียว”
4. พระยะโฮวาคาดหมายอะไรจากคนที่นมัสการพระองค์?
4 ประมาณ 900 ปีก่อนสมัยเอเสเคียล พระยะโฮวาบอกชัดเจนว่าพระองค์ต้องการอะไรจากคนที่นมัสการพระองค์ ในข้อสองของบัญญัติ 10 ประการ พระยะโฮวาบอกชาวอิสราเอลว่า * “เรายะโฮวาพระเจ้าของเจ้าเป็นพระเจ้าที่ต้องการให้พวกเจ้านมัสการเราเพียงผู้เดียว” (อพย. 20:5) คำพูดที่ว่า “นมัสการเราเพียงผู้เดียว” แสดงว่าพระยะโฮวาไม่ยอมให้มีการนมัสการพระอื่น ในบท 2 ของหนังสือนี้ เรารู้ว่าสิ่งสำคัญอย่างแรกของการนมัสการบริสุทธิ์คือ ผู้รับต้องเป็นพระยะโฮวาเท่านั้น คนที่นมัสการพระยะโฮวาต้องให้พระองค์สำคัญที่สุดในชีวิตพวกเขา (อพย. 20:3) พูดง่าย ๆ คือ พระยะโฮวาต้องการให้คนที่นมัสการพระองค์ทำให้การนมัสการของพวกเขาบริสุทธิ์สะอาดเสมอ โดยไม่เอาการนมัสการเท็จมาปนกับการนมัสการแท้ ในปี 1513 ก่อน ค.ศ. ชาวอิสราเอลเต็มใจทำสัญญากับพระยะโฮวาว่าพวกเขาจะนมัสการพระองค์ผู้เดียว (อพย. 24:3-8) พระยะโฮวารักษาสัญญาและพระองค์ก็คาดหมายให้ประชาชนของพระองค์รักษาสัญญาด้วย—ฉธบ. 7:9, 10; 2 ซม. 22:26
5, 6. ทำไมพระยะโฮวาเป็นผู้เดียวที่สมควรได้รับการนมัสการจากชาวอิสราเอล?
5 พระยะโฮวามีเหตุผลไหมที่คาดหมายให้ชาวอิสราเอลนมัสการพระองค์ผู้เดียว? แน่นอน! เพราะพระองค์เป็นพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด เป็นผู้ปกครองสูงสุดในเอกภพ เป็นบ่อเกิดของชีวิตและผู้ค้ำจุนชีวิต (สด. 36:9; กจ. 17:28) พระยะโฮวายังเป็นผู้ช่วยชาวอิสราเอลให้รอดด้วย ตอนให้บัญญัติ 10 ประการ พระองค์เตือนประชาชนว่า “เราคือยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า ผู้พาเจ้าออกจากอียิปต์ดินแดนของการเป็นทาส” (อพย. 20:2) เห็นได้ชัดว่า พระยะโฮวาเป็นผู้เดียวที่สมควรได้รับการนมัสการจากชาวอิสราเอล
6 พระยะโฮวาไม่เปลี่ยนแปลง (มลค. 3:6) พระองค์คาดหมายให้มนุษย์นมัสการพระองค์ผู้เดียวตลอดมา คิดดูสิว่าพระองค์จะรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่น่าตกตะลึง 4 อย่างที่ให้เอเสเคียลเห็นในนิมิต
เหตุการณ์ที่ 1 รูปเคารพที่ทำให้พระเจ้าขุ่นเคือง
7. (ก) ชาวยิวที่ทรยศพระเจ้ากำลังทำอะไรที่ประตูทิศเหนือของวิหาร และพระยะโฮวารู้สึกอย่างไร? (ดูภาพแรก) (ข) ทำไมพระยะโฮวาถึงขุ่นเคือง? (ดูเชิงอรรถ 2)
7 อ่านเอเสเคียล 8:5, 6 เอเสเคียลคงตกใจมาก! ชาวยิวที่ทรยศพระเจ้ากำลังไหว้รูปเคารพอยู่ที่ทางเหนือของประตูที่เข้าไปยังแท่นบูชา รูปเคารพนั้นอาจเป็นเสาศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นตัวแทนของเทพธิดาอัชเชราห์ที่ชาวคานาอันเชื่อว่าเป็นภรรยาของพระบาอัล แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปเคารพแบบไหน ชาว อิสราเอลที่กราบไหว้รูปพวกนั้นก็กำลังผิดสัญญาที่ให้ไว้กับพระยะโฮวา การนมัสการรูปเคารพแทนที่จะนมัสการพระยะโฮวาเพียงผู้เดียวทำให้พระองค์ขุ่นเคือง พวกเขากำลังยั่วให้พระองค์โกรธ * (ฉธบ. 32:16; อสค. 5:13) คิดดูสิ พระยะโฮวาอยู่กับวิหารมานานกว่า 400 ปี (1 พก. 8:10-13) แต่ตอนนี้พระองค์ต้อง “ทิ้งที่ศักดิ์สิทธิ์ [ของพระองค์] ไป” เพราะประชาชนเอารูปเคารพเข้ามาในวิหาร
8. นิมิตของเอเสเคียลเรื่องรูปเคารพที่ทำให้พระเจ้าขุ่นเคืองเกี่ยวข้องกับสมัยของเราอย่างไร?
8 นิมิตของเอเสเคียลเรื่องรูปเคารพที่ทำให้พระเจ้าขุ่นเคืองเกี่ยวข้องกับสมัยของเราอย่างไร? ยูดาห์ที่ทรยศพระเจ้าทำให้เรานึกถึงคริสต์ศาสนจักร โบสถ์ต่าง ๆ ไหว้รูปเคารพแล้วบอกว่านั่นเป็นการนมัสการพระเจ้า แต่พระเจ้าไม่ยอมรับการนมัสการแบบนั้น พระยะโฮวาไม่เคยเปลี่ยน เราจึงแน่ใจได้ว่าคริสต์ศาสนจักรทำให้พระยะโฮวาโกรธเหมือนที่ยูดาห์เคยทำให้พระองค์โกรธมาแล้ว (ยก. 1:17) พระยะโฮวาไม่ยอมรับการนมัสการของคริสต์ศาสนจักรอย่างแน่นอน!
9, 10. เราได้บทเรียนอะไรจากนิมิตเรื่องการไหว้รูปเคารพในบริเวณวิหาร?
9 เราได้บทเรียนอะไรจากนิมิตเรื่องการไหว้รูปเคารพบริเวณวิหาร? เพื่อจะนมัสการพระยะโฮวาผู้เดียว เราต้องไม่ “ยุ่งเกี่ยวกับการไหว้รูปเคารพ” (1 คร. 10:14) เราอาจคิดว่า ‘ฉันก็ไม่ได้ใช้รูปเคารพในการนมัสการพระยะโฮวานะ!’ แต่การไหว้รูปเคารพมีหลายรูปแบบซึ่งอาจเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้ หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งอธิบายว่า “ถ้าเรามองว่าบางสิ่งมีค่า น่ายกย่อง หรือสำคัญกว่าการนมัสการพระเจ้า เราก็กำลังให้สิ่งนั้นเป็นรูปเคารพ” ดังนั้น รูปเคารพอาจรวมถึงวัตถุสิ่งของ เงินทอง เพศ ความบันเทิง หรืออะไรก็ตามที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในชีวิตแทนที่จะเป็นพระยะโฮวา (มธ. 6:19-21, 24; อฟ. 5:5; คส. 3:5) เราต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการไหว้รูปเคารพทุกรูปแบบ เพราะพระยะโฮวาเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่เราต้องนมัสการสุดหัวใจ!—1 ยน. 5:21
10 เหตุการณ์แรกที่พระยะโฮวาให้เอเสเคียลเห็นเกี่ยวข้องกับ “สิ่งน่ารังเกียจและน่าขยะแขยง” แต่พระยะโฮวาบอกกับเอเสเคียลผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ว่า “เจ้าจะได้เห็นสิ่งที่น่ารังเกียจยิ่งกว่านี้อีก” ยังมีอะไรน่ารังเกียจกว่าการไหว้รูปเคารพในบริเวณวิหารอีกหรือ?
เหตุการณ์ที่ 2 ผู้นำ 70 คนถวายเครื่องหอมให้พระเท็จ
11. เอเสเคียลเห็นสิ่งที่น่าตกใจอะไรหลังจากเข้าไปที่ลานวิหารชั้นในใกล้แท่นบูชา?
11 อ่านเอเสเคียล 8:7-12 เมื่อเอเสเคียลเจาะกำแพงและเข้าไปที่ลานชั้นในใกล้ ๆ แท่นบูชา เขาคงตกใจที่เห็นรูปแกะสลักของ “สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ที่น่ารังเกียจทุกอย่าง และรูปเคารพที่น่าขยะแขยง” * รูปแกะสลักบนผนังเป็นตัวแทนของพระเท็จ จากนั้นเอเสเคียลเห็นสิ่งที่น่าตกใจกว่านั้นอีก นั่น คือ “ผู้นำของชาวอิสราเอล 70 คน” กำลังยืนอยู่ “ในที่มืด” และถวายเครื่องหอมให้พระเท็จ ตามกฎหมายที่พระเจ้าให้กับชาติอิสราเอล การเผาเครื่องหอมหมายถึงคำอธิษฐานที่พระเจ้ายอมรับซึ่งมาจากผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ (สด. 141:2) แต่พระยะโฮวาถือว่าเครื่องหอมที่ผู้นำ 70 คนถวายให้พระเท็จเป็นสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ คำอธิษฐานของพวกเขาเป็นเหมือนกลิ่นเหม็นที่น่ารังเกียจสำหรับพระองค์ (สภษ. 15:8) ผู้นำเหล่านั้นหลอกตัวเองว่า “พระยะโฮวาไม่เห็นพวกเราหรอก” แต่พระองค์เห็น และยังให้เอเสเคียลเห็นด้วยว่าพวกเขากำลังทำอะไรในวิหารของพระองค์
12. ทำไมเราต้องเป็นคนซื่อสัตย์แม้จะอยู่ “ในที่มืด” และใครควรเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้?
12 เราได้เรียนอะไรจากนิมิตเกี่ยวกับผู้นำชาวอิสราเอล 70 คนที่ถวายเครื่องหอมให้พระเท็จ? ถ้าเราอยากให้พระเจ้าฟังคำอธิษฐานของเราและมองว่าการนมัสการของเราบริสุทธิ์เสมอ เราก็ต้องรักษาความซื่อสัตย์แม้จะอยู่ “ในที่มืด” (สภษ. 15:29) ขอให้จำไว้ว่าพระยะโฮวาเห็นทุกอย่างที่เราทำ ถ้าเราเชื่อว่าพระยะโฮวามีอยู่จริง เราจะไม่ทำสิ่งที่พระองค์ไม่พอใจแม้แต่ตอนที่เราอยู่คนเดียว (ฮบ. 4:13) ผู้ดูแลในประชาคมต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ ชีวิตแบบคริสเตียน (1 ปต. 5:2, 3) พี่น้องในประชาคมคาดหมายว่าผู้ดูแลที่นำหน้าในการนมัสการที่การประชุมจะใช้ชีวิตตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิล แม้แต่ตอนที่พวกเขาอยู่ “ในที่มืด” ซึ่งอาจเป็นตอนที่ไม่มีคนเห็น—สด. 101:2, 3
เหตุการณ์ที่ 3 “พวกผู้หญิง . . . ร้องไห้อาลัยพระทัมมุส”
13. เอเสเคียลเห็นพวกผู้หญิงที่ทรยศพระเจ้ากำลังทำอะไรอยู่ที่ประตูทิศเหนือของวิหาร?
13 อ่านเอเสเคียล 8:13, 14 หลังจากเห็นการกระทำที่น่ารังเกียจ 2 อย่างนั้นแล้ว พระยะโฮวาบอกเอเสเคียลอีกว่า “เจ้าจะได้เห็นพวกเขาทำสิ่งที่น่ารังเกียจยิ่งกว่านี้อีก” เขาเห็นอะไร? “ที่หน้าประตูทิศเหนือของวิหารของพระยะโฮวา” เขาเห็น “พวกผู้หญิงนั่งร้องไห้อาลัยพระทัมมุส” ทัมมุสเป็นเทพเจ้าของเมโสโปเตเมีย ในจารึกของชาวสุเมเรียนทัมมุสมีอีกชื่อหนึ่งว่าดูมูซี เป็นสามีของอิชทาร์เทพธิดาแห่งการเจริญพันธุ์ * การร้องไห้ของผู้หญิงชาวอิสราเอลอาจเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายของพระทัมมุส การที่พวกเธอมาร้องไห้อาลัยพระทัมมุสในวิหารของพระยะโฮวา เป็นการทำพิธีกรรมของศาสนาเท็จในวิหารซึ่งเป็นศูนย์กลางการนมัสการที่บริสุทธิ์ แต่การทำอย่างนี้ก็ไม่ได้ทำให้การนมัสการเท็จบริสุทธิ์ขึ้นมาได้ เพราะพระยะโฮวามองว่าผู้หญิงที่ทรยศพวกนั้นกำลังทำ “สิ่งที่น่ารังเกียจ”!
14. เราได้บทเรียนอะไรเมื่อรู้ว่าพระยะโฮวารังเกียจการนมัสการของพวกผู้หญิงที่ทรยศพระองค์?
14 เราได้บทเรียนอะไรเมื่อรู้ว่าพระยะโฮวารังเกียจการนมัสการของพวกผู้หญิงที่ทรยศพระองค์? เพื่อให้การนมัสการของเราบริสุทธิ์อยู่เสมอ เราต้องไม่เอาพิธีกรรมที่พระเจ้าไม่ยอมรับมาปนกับการนมัสการพระองค์ ดังนั้น เราต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับเทศกาลหรือการฉลองที่มาจากศาสนาเท็จ ทำไมเราต้องสนใจที่มาด้วยล่ะ? เพราะถึงแม้เทศกาลบางอย่างในทุกวันนี้ เช่น คริสต์มาสและอีสเตอร์จะดูไม่มีอันตราย แต่อย่าลืมว่าพระยะโฮวารู้ที่มาของเทศกาลเหล่านั้นดี และรู้ด้วยว่าทำไมผู้คนถึงนิยมฉลองกันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน หรือผู้คนจะพยายามอย่างไรเพื่อทำให้เทศกาลของศาสนาเท็จกลายเป็นการนมัสการที่บริสุทธิ์ พระองค์ก็ยังมองว่าสิ่งเหล่านี้น่ารังเกียจ—2 คร. 6:17; วว. 18:2, 4
เหตุการณ์ที่ 4 ผู้ชาย 25 คน “กำลังหมอบลงนมัสการดวงอาทิตย์”
15, 16. ผู้ชาย 25 คนกำลังทำอะไรที่ลานชั้นในของวิหาร และทำไมการกระทำนั้นเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามพระยะโฮวา?
15 อ่านเอเสเคียล 8:15-18 ก่อนที่พระยะโฮวาจะให้เอเสเคียลเห็นเหตุการณ์ที่ 4 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สุดท้าย พระองค์เริ่มต้นด้วยคำพูดที่คุ้นเคยว่า “เจ้าจะได้เห็นสิ่งที่น่ารังเกียจยิ่งกว่านี้อีก” เอเสเคียลอาจสงสัยว่า ‘ยังจะมีอะไรน่ารังเกียจยิ่งกว่าสิ่งที่เห็นไปแล้วอีกเหรอ?’ ตอนนี้เอเสเคียลอยู่ที่ลานชั้นในของวิหาร เขาเห็นผู้ชาย 25 คนอยู่ตรงทางเข้าวิหาร กำลังหมอบลง นมัสการ “ดวงอาทิตย์ทางทิศตะวันออก” ผู้ชายพวกนี้ดูหมิ่นพระยะโฮวาอย่างเลวร้ายที่สุดและทำให้พระองค์โกรธมาก เพราะอะไร?
16 ขอให้นึกภาพอย่างนี้ ทางเข้าวิหารหันไปทางทิศตะวันออก คนที่เดินเข้ามาทางนี้จะต้องหันหลังให้ดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้นทางทิศตะวันออกและหันหน้าไปทางทิศตะวันตก แต่ผู้ชาย 25 คนในนิมิต “หันหลังให้วิหาร” และหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเพื่อนมัสการดวงอาทิตย์ การหันหลังให้ “วิหารของพระยะโฮวา” ก็เท่ากับหันหลังให้พระองค์ (1 พก. 8:10-13) ผู้ชาย 25 คนนี้ทรยศพระเจ้า พวกเขาปฏิเสธพระยะโฮวาและฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ในเฉลยธรรมบัญญัติ 4:15-19 พวกเขาดูหมิ่นเหยียดหยามพระเจ้าผู้สมควรได้รับการนมัสการแต่เพียงผู้เดียว!
พระยะโฮวาเป็นผู้เดียวที่สมควรได้รับการนมัสการจากเรา
17, 18. (ก) เราได้บทเรียนอะไรจากนิมิตเกี่ยวกับพวกที่นมัสการดวงอาทิตย์ในวิหาร? (ข) ชาวอิสราเอลที่ทรยศพระเจ้าทำให้ความสัมพันธ์กับใครเสียหาย? และเกิดผลเสียอย่างไร?
17 เราได้บทเรียนอะไรจากนิมิตเกี่ยวกับพวกที่นมัสการดวงอาทิตย์? เพื่อให้การนมัสการของเราบริสุทธิ์อยู่เสมอ เราต้องพึ่งความเข้าใจและสติปัญญาที่มาจากพระยะโฮวา จำไว้ว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าเป็นดวงอาทิตย์” และคำของพระองค์เป็น “แสงสว่าง” ส่องทางให้เรา (สด. 84:11; 119:105) พระยะโฮวาให้คัมภีร์ไบเบิลและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่มาจากองค์การของพระองค์เพื่อช่วยเราให้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง เพื่อเราจะมีชีวิตที่มีความสุขในตอนนี้และมีชีวิตตลอดไปในอนาคต ถ้าเรามองหาสติปัญญาหรือคำแนะนำในการใช้ชีวิตจากโลกนี้ก็เท่ากับว่าเรากำลังหันหลังให้พระยะโฮวา ซึ่งทำให้พระองค์โกรธและเสียใจมาก เราคงไม่อยากทำอย่างนั้นแน่ ๆ! นิมิตของเอเสเคียลยังเตือนเราด้วยว่า เราต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนที่หันหลังให้ความจริงเพราะคนพวกนี้ทิ้งพระเจ้าไปแล้ว—สภษ. 11:9
18 เหตุการณ์ที่น่าตกตะลึง 4 อย่างเกี่ยวกับการไหว้รูปเคารพและการนมัสการเท็จซึ่งเอเสเคียลเห็น ทำให้รู้ว่าการนมัสการของยูดาห์ที่ทรยศพระเจ้าเสื่อมทรามมากจริง ๆ เมื่อการนมัสการของพวกเขาไม่บริสุทธิ์ ความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระเจ้าก็เสียหาย และที่ไหนมีการนมัสการที่ไม่สะอาด ที่นั่นก็มักจะมีศีลธรรมที่เสื่อมทรามด้วย ดังนั้น ไม่แปลกที่ชาวอิสราเอลที่ทรยศจะทำผิดศีลธรรมทุกรูปแบบ ผลคือ นอกจากความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระเจ้าจะเสียหายแล้ว ความสัมพันธ์กับคนอื่นก็เสียหายด้วย ตอนนี้ให้เรามาดูว่า ผู้พยากรณ์เอเสเคียลได้รับการดลใจให้เขียนเกี่ยวกับความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของยูดาห์ที่ทรยศพระเจ้าไว้อย่างไรบ้าง
“ความไม่สะอาดทางศีลธรรม—พวกเจ้า . . . ทำตัวชั่วช้าลามก”
19. เอเสเคียลพูดถึงความเสื่อมทางศีลธรรมของชาติอิสราเอลอย่างไร?
19 อ่านเอเสเคียล 22:3-12 ชาติอิสราเอลตั้งแต่ผู้นำไปจนถึงประชาชนมีสภาพศีลธรรมที่เสื่อมทรามถึงขีดสุด ผู้นำหรือ “หัวหน้า” ใช้อำนาจฆ่าคน บริสุทธิ์ ประชาชนทั่วไปก็ละเมิดกฎหมายของพระเจ้า ลูก “ดูถูกพ่อแม่ตัวเอง” การมีเพศสัมพันธ์กับญาติใกล้ชิดกลายเป็นเรื่องธรรมดา บางคนก็เอาเปรียบหลอกลวงคนต่างชาติ และข่มเหงรังแกลูกกำพร้าพ่อและแม่ม่าย ผู้ชายอิสราเอลมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของเพื่อนบ้าน ประชาชนกลายเป็นคนโลภไม่รู้จักพอ พวกเขารับสินบน รีดไถ และฉ้อโกง พระยะโฮวาคงเจ็บปวดมากที่เห็นชาวอิสราเอลไม่รักษาสัญญา พวกเขาเหยียบย่ำกฎหมายของพระองค์ และไม่สำนึกว่าพระองค์ให้กฎหมายมาก็เพราะรักพวกเขา ความเสื่อมทางศีลธรรมของพวกเขาทำให้พระยะโฮวาเสียใจมาก พระองค์จึงสั่งให้เอเสเคียลไปบอกประชาชนที่ทำผิดศีลธรรมว่า “พวกเจ้าลืมเราหมดแล้ว”
20. บันทึกของเอเสเคียลเกี่ยวกับความไม่สะอาดทางศีลธรรมในยูดาห์เกี่ยวข้องกับเราในทุกวันนี้อย่างไร?
20 บันทึกของเอเสเคียลเกี่ยวกับความไม่สะอาดทางศีลธรรมในยูดาห์เกี่ยวข้องกับเราในทุกวันนี้อย่างไร? สภาพที่เสื่อมทรามของยูดาห์ที่ทรยศพระเจ้าทำให้เรานึกถึงศีลธรรมที่เสื่อมทรามในโลกทุกวันนี้ ผู้นำทางการเมืองใช้อำนาจในทางที่ผิดและกดขี่ประชาชน ผู้นำทางศาสนาโดยเฉพาะพวกนักเทศน์ของคริสต์ศาสนจักรอวยพรกองทัพของชาติต่าง ๆ ที่ทำให้คนนับล้านต้องตาย พวกนักเทศน์ไม่สนใจมาตรฐานศีลธรรมทางเพศที่สะอาดซึ่งบอกไว้ชัดเจนในคัมภีร์ไบเบิล ผลคือมาตรฐานทางศีลธรรมในโลกรอบตัวเราต่ำทรามลง เรื่อย ๆ แน่ใจได้เลยว่าพระยะโฮวาจะพูดกับคริสต์ศาสนจักรเหมือนที่เคยพูดกับยูดาห์ที่ทรยศพระเจ้าว่า “พวกเจ้าลืมเราหมดแล้ว”
21. เราได้บทเรียนอะไรจากเรื่องความไม่สะอาดทางศีลธรรมในยูดาห์?
21 เราที่เป็นประชาชนของพระยะโฮวาได้บทเรียนอะไรจากความไม่สะอาดทางศีลธรรมในยูดาห์? เพื่อพระยะโฮวาจะยอมรับการนมัสการของเรา เราต้องเป็นคนสะอาดในทุกด้าน นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเราอยู่ในโลกที่ไร้ศีลธรรม (2 ทธ. 3:1-5) แต่เรารู้ว่าพระยะโฮวารู้สึกอย่างไรกับการกระทำที่ไร้ศีลธรรมทุกรูปแบบ (1 คร. 6:9, 10) เราทำตามมาตรฐานทางศีลธรรมของพระยะโฮวาเพราะเรารักพระองค์และรักกฎหมายของพระองค์ (สด. 119:97; 1 ยน. 5:3) ถ้าเราทำสิ่งที่ไม่สะอาดทางศีลธรรมก็แสดงว่าเราไม่รักพระยะโฮวาพระเจ้าผู้บริสุทธิ์สะอาด เราคงไม่อยากให้พระองค์พูดกับเราว่า “พวกเจ้าลืมเราหมดแล้ว”
22. (ก) คุณตั้งใจจะทำอะไรเมื่อได้เรียนเรื่องที่พระยะโฮวาเปิดเผยเกี่ยวกับยูดาห์? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทต่อไป?
22 เราได้บทเรียนสำคัญหลายอย่างจากนิมิตที่พระยะโฮวาเปิดเผยเกี่ยวกับความเสื่อมด้านการนมัสการและด้านศีลธรรมของยูดาห์ เรื่องนี้ทำให้เราตั้งใจมากขึ้นที่จะนมัสการพระยะโฮวาเท่านั้นเพราะพระองค์ผู้เดียวสมควรได้รับการนมัสการจากเรา เพื่อจะทำอย่างนั้น เราต้องไม่นมัสการรูปเคารพทุกรูปแบบและรักษาตัวให้สะอาดทางศีลธรรมเสมอ แต่พระยะโฮวาทำอย่างไรกับประชาชนที่ไม่ซื่อสัตย์? หลังจากให้ผู้พยากรณ์เอเสเคียลเห็นนิมิตเกี่ยวกับวิหาร พระยะโฮวาก็บอกเขาว่า “เราจะจัดการพวกเขาเพราะเราโกรธมาก” (อสค. 8:17, 18) เราอยากรู้ว่าพระยะโฮวาจะจัดการยูดาห์ที่ไม่ซื่อสัตย์อย่างไร เพราะพระองค์จะทำแบบนั้นกับโลกชั่วในทุกวันนี้ด้วย บทต่อไปเราจะดูว่าพระยะโฮวาลงโทษยูดาห์อย่างไร
^ ในหนังสือเอเสเคียลคำว่า “อิสราเอล” มักจะหมายถึงผู้คนในยูดาห์และเยรูซาเล็ม—อสค. 12:19, 22; 18:2; 21:2, 3
^ ในภาษาฮีบรูคำว่า “ขุ่นเคือง” แปลตรงตัวว่า “หึงหวง” แสดงว่าพระยะโฮวาถือว่าความไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์เป็นเรื่องร้ายแรงมาก เหมือนความรู้สึกของสามีเมื่อรู้ว่าภรรยากำลังจะไม่ซื่อสัตย์ต่อเขา (สภษ. 6:34) พระยะโฮวาก็เหมือนกับสามี พระองค์ขุ่นเคืองหรือหึงหวงเมื่อชาวอิสราเอลไม่ซื่อสัตย์ พวกเขาผิดสัญญาโดยทิ้งพระองค์ไปนมัสการรูปเคารพ หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งบอกว่า “พระเจ้าขุ่นเคือง . . . เพราะพระองค์บริสุทธิ์ พระองค์ผู้เดียวที่เป็นองค์บริสุทธิ์ . . . พระองค์จะไม่ยอมให้มีคู่แข่ง”—อพย. 34:14
^ ในภาษาฮีบรู คำที่แปลว่า “รูปเคารพที่น่าขยะแขยง” อาจเกี่ยวข้องกับคำว่า “มูลสัตว์” และใช้ในเชิงดูถูก
^ บางคนอ้างว่าทัมมุสเป็นอีกชื่อหนึ่งของนิมโรด แต่ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือยืนยันเรื่องนี้