บท 20
“แบ่งที่ดินเพื่อเป็นมรดก”
จุดสำคัญ ความหมายของการแบ่งที่ดิน
1, 2. (ก) เอเสเคียลได้รับคำสั่งอะไรจากพระยะโฮวา? (ข) เราจะตอบคำถามอะไรบ้าง?
เอเสเคียลเห็นนิมิตที่ทำให้เขานึกย้อนไปถึงเรื่องราวในสมัยของโมเสสกับโยชูวาเมื่อเกือบ 900 ปีก่อนหน้านั้น ตอนนั้นพระยะโฮวาบอกให้โมเสสรู้เกี่ยวกับเขตแดนของแผ่นดินที่พระองค์สัญญา ต่อมาพระองค์บอกโยชูวาว่าควรจะแบ่งแผ่นดินนั้นให้ตระกูลต่าง ๆ ของอิสราเอลอย่างไร (กดว. 34:1-15; ยชว. 13:7; 22:4, 9) แต่ตอนนี้ ปี 593 ก่อน ค.ศ. พระยะโฮวาสั่งให้เอเสเคียลกับเพื่อนเชลยแบ่งแผ่นดินที่พระองค์สัญญาให้ตระกูลต่าง ๆ ของอิสราเอลอีกครั้ง!—อสค. 45:1; 47:14; 48:29
2 นิมิตนี้บอกให้เอเสเคียลและเพื่อนเชลยได้รู้อะไร? ทำไมนิมิตนี้ให้กำลังใจประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้? ในอนาคต นิมิตนี้จะเกิดขึ้นจริงในขอบเขตที่ใหญ่กว่าไหม?
นิมิตที่ให้คำรับรอง 4 เรื่อง
3, 4. (ก) นิมิตสุดท้ายของเอเสเคียลมีคำรับรองที่ทำให้มั่นใจ 4 เรื่องอะไร? (ข) ในบทนี้เราจะพิจารณาคำรับรองอะไร?
3 นิมิตสุดท้ายมีเนื้อหาครอบคลุม 9 บทของหนังสือเอเสเคียล (อสค. 40:1-48:35) นิมิตนี้ช่วยให้เชลยได้กำลังใจจากคำรับรอง 4 เรื่องเกี่ยวกับการ ฟื้นฟูชาติอิสราเอล นิมิตนั้นรับรองว่า 1. การนมัสการบริสุทธิ์ที่วิหารของพระเจ้าจะได้รับการฟื้นฟู 2. ปุโรหิตและคนเลี้ยงแกะที่ดีจะนำหน้าประชาชนในชาติที่ฟื้นฟูแล้ว 3. ทุกคนที่กลับไปอิสราเอลจะได้รับที่ดินเป็นมรดก และ 4. พระยะโฮวาจะอยู่กับพวกเขาอีกครั้ง
4 บท 13 และ 14 ของหนังสือนี้ได้พูดถึงวิธีที่คำรับรองสองอย่างแรกเกิดขึ้นจริง ซึ่งเกี่ยวกับการฟื้นฟูการนมัสการแท้และการนำหน้าของคนเลี้ยงแกะที่ดี ในบทนี้เราจะดูคำรับรองอย่างที่สามเกี่ยวกับแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาว่าจะให้เป็นมรดก และบทต่อไปเราจะพิจารณาคำรับรองอย่างที่สี่ที่ว่าพระยะโฮวาจะอยู่กับประชาชน—อสค. 47:13-21; 48:1-7, 23-29
“แผ่นดินนี้ . . . จะเป็นมรดกของพวกเจ้า”
5, 6. (ก) ในนิมิตของเอเสเคียล พระเจ้าบอกให้แบ่งเขตแดนอะไร? (ดูภาพแรก) (ข) นิมิตเรื่องการแบ่งที่ดินมีจุดประสงค์อะไร?
5 อ่านเอเสเคียล 47:14 ในนิมิต พระยะโฮวาให้เอเสเคียลสนใจแผ่นดินที่อีกไม่นานจะเป็นเหมือน “สวนเอเดน” (อสค. 36:35) พระยะโฮวาบอกเขาว่า “นี่คือเขตแดนที่เป็นมรดกของอิสราเอล 12 ตระกูลซึ่งพวกเจ้าต้องแบ่งกัน” (อสค. 47:13) “เขตแดน” ที่จะแบ่งกันนี้คือแผ่นดินที่ฟื้นฟูแล้วซึ่งพวกเชลยจะกลับไป จากนั้น เอเสเคียล 47:15-21 บอกว่าพระยะโฮวาอธิบายเกี่ยวกับแนวพรมแดนรอบนอกทั้งหมดของแผ่นดินนั้นอย่างละเอียด
6 นิมิตเรื่องการแบ่งที่ดินมีจุดประสงค์อะไร? การบอกขอบเขตที่แน่ชัดของแผ่นดินช่วยให้เอเสเคียลและเพื่อนเชลยรู้ว่าแผ่นดินที่พวกเขารักจะได้รับการฟื้นฟูอย่างแน่นอน ขอให้นึกภาพว่าเชลยชาวยิวจะมีกำลังใจขนาดไหนเมื่อพระยะโฮวาให้คำรับรองที่มีรายละเอียดชัดเจนอย่างนี้! แล้วประชาชนของพระเจ้าในสมัยโบราณได้รับส่วนแบ่งที่ดินเป็นมรดกจริง ๆ ไหม? ใช่ พวกเขาได้รับ
7. (ก) เกิดเหตุการณ์อะไรในปี 537 ก่อน ค.ศ. เรื่องนี้ทำให้เราคิดถึงอะไร? (ข) เราจะตอบคำถามอะไรก่อน?
7 ในปี 537 ก่อน ค.ศ. ประมาณ 56 ปีหลังจากเอเสเคียลได้รับนิมิต เชลยหลายหมื่นคนก็เริ่มกลับไปแผ่นดินอิสราเอลและครอบครองที่นั่น เหตุการณ์สำคัญที่เกิดนานมาแล้วนั้นทำให้เรานึกถึงการฟื้นฟูที่เกิดขึ้นกับประชาชนของพระเจ้าในสมัยปัจจุบันคือ พวกเขาได้รับส่วนแบ่งที่ดินด้วย นี่หมายความว่าอย่างไร? พระยะโฮวาอนุญาตให้ผู้รับใช้ของพระองค์เข้าไปในแผ่นดินโดยนัยและครอบครองแผ่นดินนี้ การฟื้นฟูแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาในสมัยโบราณสอนให้เรารู้หลายอย่างเกี่ยวกับการฟื้นฟูแผ่นดินโดยนัยของประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้ ก่อนที่เราจะพิจารณาว่าเราได้บทเรียนอะไรบ้าง ขอให้เราตอบคำถามแรกด้วยกันที่ว่า “ทำไมเราอาจสรุปได้ว่าแผ่นดินโดยนัยมีอยู่จริงในทุกวันนี้?”
8. (ก) พระยะโฮวาแทนที่ชาติอิสราเอลโดยกำเนิดด้วยชาติอะไร? (ข) แผ่นดินหรืออุทยานโดยนัยหมายถึงอะไร? (ค) แผ่นดินนี้เกิดขึ้นเมื่อไร และใครอาศัยอยู่ที่นั่น?
8 ในนิมิตที่เอเสเคียลได้รับก่อนหน้านี้ พระยะโฮวาทำให้เห็นว่าคำพยากรณ์เกี่ยวกับการฟื้นฟูอิสราเอลจะเกิดขึ้นจริงในขอบเขตที่ใหญ่กว่าเมื่อ “ดาวิดผู้รับใช้” ซึ่งหมายถึงพระเยซูคริสต์เริ่มปกครองเป็นกษัตริย์ (อสค. 37:24) พระเยซูเป็นกษัตริย์ในปี ค.ศ. 1914 และนานก่อนหน้านั้นชาติอิสราเอลโดยกำเนิดถูกแทนที่ด้วยอิสราเอลของพระเจ้าซึ่งประกอบไปด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิม (อ่านมัทธิว 21:43; 1 เปโตร 2:9) อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาไม่ได้แค่แทนที่อิสราเอลโดยกำเนิดด้วยอิสราเอลของพระเจ้า แต่พระองค์ยังแทนที่แผ่นดินอิสราเอลจริง ๆ ด้วยแผ่นดินหรืออุทยานโดยนัยด้วย (อสย. 66:8) ในบท 17 ของหนังสือนี้บอกว่า แผ่นดินโดยนัยคือสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้ความเชื่อเข้มแข็งซึ่งทุกคนพร้อมใจกันนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้ ผู้ถูกเจิมที่มีชีวิตอยู่บนโลกนมัสการพระยะโฮวาในแผ่นดินนี้ตั้งแต่ปี 1919 (ดูกรอบ 9ข “ทำไมเป็นปี 1919?”) ต่อมา “แกะอื่น” ที่มีความหวังจะได้อยู่บนโลกก็เริ่มเข้ามา อาศัยในแผ่นดินโดยนัยนี้ด้วย (ยน. 10:16) ถึงแม้ในทุกวันนี้อุทยานโดยนัยงดงามขึ้นและขยายขอบเขตใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผู้คนจะได้รับพรอย่างเต็มที่จริง ๆ ก็ต่อเมื่ออาร์มาเกดโดนผ่านไปแล้ว
แบ่งที่ดินให้เท่ากันและชัดเจน
9. พระยะโฮวาให้คำสั่งที่มีรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับการแบ่งที่ดิน?
9 อ่านเอเสเคียล 48:1, 28 หลังจากกำหนดแนวพรมแดนของที่ดินแล้ว พระยะโฮวาก็อธิบายวิธีแบ่งที่ดินนั้นอย่างละเอียด พระองค์บอกให้เอเสเคียลแบ่งที่ดินให้กับทั้ง 12 ตระกูลอย่างเท่าเทียมกันโดยไล่จากทางเหนือลงมาทางใต้ เริ่มจากตระกูลดานที่อยู่เหนือสุดของแผ่นดินไปจนถึงตระกูลกาดที่อยู่ใต้สุด ที่ดินทั้งสิบสองส่วนมีลักษณะเป็นแนวนอนทอดยาวจากพรมแดนทางตะวันออกไปจนถึงทะเลใหญ่หรือทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันตก—อสค. 47:20
10. นิมิตนี้น่าจะให้คำรับรองอะไรกับกลุ่มเชลย?
10 นิมิตนี้น่าจะให้คำรับรองอะไรกับกลุ่มเชลย? พวกเขาคงประทับใจรายละเอียดที่พระยะโฮวาบอกเอเสเคียลที่ว่าจะมีการแบ่งที่ดินอย่างเป็นระเบียบ ยิ่งกว่านั้น การแบ่งส่วนที่ดินอย่างชัดเจนสำหรับ 12 ตระกูลเน้นด้วยว่า เชลยทุกคนที่กลับบ้านเกิดจะได้รับส่วนแบ่งที่ดินในแผ่นดินที่ฟื้นฟูแล้วอย่างแน่นอน ไม่มีสักคนที่กลับไปบ้านเกิดแล้วจะไม่ได้รับที่ดินหรือไม่มีบ้านอยู่
11. เราได้บทเรียนอะไรจากนิมิตเกี่ยวกับการแบ่งที่ดิน? (ดูกรอบ “การแบ่งที่ดิน”)
11 เราได้บทเรียนที่ให้กำลังใจอะไรจากนิมิตนี้? ในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาที่ได้รับการฟื้นฟู นอกจากจะมีที่สำหรับปุโรหิต คนเลวี และหัวหน้าแล้ว ยังมีที่สำหรับทุกคนจากทั้ง 12 ตระกูลด้วย (อสค. 45:4, 5, 7, 8) ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน อุทยานโดยนัยไม่ได้มีที่สำหรับผู้ถูกเจิมที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกและแกะอื่นที่นำหน้าเท่านั้น แต่ยังมีที่สำหรับทุกคนที่เป็น “ชนฝูงใหญ่” ด้วย * (วว. 7:9) ไม่ว่าเราจะมีบทบาทอะไรในองค์การของพระเจ้า เราจะได้รับส่วนแบ่งและได้รับงานมอบหมายที่มีคุณค่าในแผ่นดินโดยนัยแน่นอน คำรับรองนี้ทำให้เราอุ่นใจจริง ๆ
ความแตกต่างที่สำคัญ 2 อย่างมีความหมายอย่างไรสำหรับเรา?
12, 13. พระยะโฮวาให้คำสั่งที่เจาะจงอะไรเกี่ยวกับการแบ่งที่ดินให้กับตระกูลต่าง ๆ?
12 เอเสเคียลอาจแปลกใจอยู่บ้างเมื่อพระยะโฮวาสั่งให้เขาแบ่งที่ดินอย่างนั้น เพราะพระองค์ไม่ได้สั่งเขาเหมือนกับที่เคยสั่งโมเสส ขอให้เรามาพิจารณาความแตกต่าง 2 อย่างในคำสั่งเหล่านั้น อย่างแรกเกี่ยวกับที่ดิน และอย่างที่สองเกี่ยวกับผู้อาศัย
13 อย่างแรก ที่ดิน พระยะโฮวาสั่งให้โมเสสแบ่งส่วนที่ดินให้ตระกูลใหญ่มากกว่าตระกูลเล็ก (กดว. 26:52-54) แต่ในนิมิตของเอเสเคียล พระองค์สั่งอย่างเฉพาะเจาะจงให้แบ่งที่ดินแบบที่ทุกตระกูลจะ “ได้เท่า ๆ กัน” (อสค. ) ดังนั้น ที่ดินมรดกของทั้ง 12 ตระกูลจึงมีระยะห่างจากเขตแดนทางเหนือถึงเขตแดนทางใต้เท่ากัน ชาวอิสราเอลทุกคนไม่ว่าอยู่ในตระกูลไหนก็สามารถเข้าถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และแหล่งน้ำที่ช่วยในการเพาะปลูกในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาได้เท่าเทียมกัน 47:14
14. คำสั่งของพระยะโฮวาเกี่ยวกับผู้อาศัยที่เป็นคนต่างชาติต่างจากสิ่งที่บอกไว้ในกฎหมายโมเสสอย่างไร?
14 อย่างที่สอง ผู้อาศัย กฎหมายของโมเสสปกป้องคนต่างชาติและอนุญาตให้พวกเขานมัสการพระยะโฮวาได้ แต่พวกเขาจะไม่ได้รับส่วนแบ่งที่ดิน (ลนต. 19:33, 34) แต่ตอนนี้พระยะโฮวาบอกให้เอเสเคียลทำเกินกว่ากฎหมายที่พระองค์กำหนดไว้ พระยะโฮวาสั่งว่า “คนต่างชาติเหล่านั้นอาศัยอยู่กับตระกูลไหน พวกเจ้าก็ต้องให้พวกเขาได้มรดกในเขตแดนของตระกูลนั้น” คำสั่งนี้แสดงว่าพระยะโฮวาไม่ถือว่า “ชาวอิสราเอล” และผู้อาศัยที่เป็นคนต่างชาติแตกต่างกันอีกต่อไป (อสค. 47:22, 23) ในแผ่นดินที่ได้รับการฟื้นฟูที่เอเสเคียลเห็นในนิมิต เขาเห็นผู้คนอยู่กันอย่างเท่าเทียมและเป็นหนึ่งเดียวกันในการนมัสการพระเจ้า—ลนต. 25:23
15. คำสั่งของพระยะโฮวาเกี่ยวกับที่ดินและผู้อาศัย ช่วยยืนยันความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเกี่ยวกับพระองค์?
15 คำสั่งที่โดดเด่น 2 อย่างที่เอเสเคียลได้รับเกี่ยวกับที่ดินและผู้อาศัยคงทำให้กลุ่มเชลยมีกำลังใจ พวกเขารู้ว่าพระยะโฮวาจะแบ่งที่ดินให้พวกเขา อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นอิสราเอลโดยกำเนิดหรือเป็นคนต่างชาติที่มานมัสการพระยะโฮวา (อสร. 8:20; นหม. 3:26; 7:6, 25; อสย. 56:3, 8) คำสั่งเหล่านี้ยังยืนยันความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลงซึ่งช่วยให้มีกำลังใจที่ว่า ผู้รับใช้ทุกคนของพระยะโฮวามีค่าเท่ากันสำหรับพระองค์ (อ่านฮักกัย 2:7) ทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะมีความหวังที่จะไปสวรรค์หรืออยู่บนโลก เราก็เห็นคุณค่าความจริงเรื่องนี้
16, 17. (ก) เราได้ประโยชน์อะไรเมื่อพิจารณารายละเอียดเรื่องที่ดินและผู้อาศัย? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทต่อไป?
16 เราได้ประโยชน์อะไรเมื่อพิจารณารายละเอียดเรื่องที่ดินและผู้อาศัย? เรื่องนี้เตือนเราว่าความเท่าเทียมและความเป็นหนึ่งเดียวต้องเป็นลักษณะที่เห็นได้ชัดในสังคมพี่น้องทั่วโลกในปัจจุบัน พระยะโฮวาไม่ลำเอียง เราจึงต้องถามตัวเองว่า เรากำลังเลียนแบบพระยะโฮวาในเรื่องนี้ไหม? เราปฏิบัติต่อพี่น้องคริสเตียนด้วยความนับถือจากใจจริงไหม ไม่ว่าเขาจะเป็นคนชาติไหนหรือยากดีมีจนอย่างไร? (โรม 12:10) เรามีความสุขที่พระยะโฮวาให้เราทุกคนเข้าถึงอุทยานโดยนัยได้อย่างเท่าเทียม ที่ซึ่งเราสามารถอุทิศทั้งตัวและหัวใจให้กับการรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อพ่อในสวรรค์ของเรา และทำให้เราได้รับพรจากพระองค์—กาลาเทีย 3:26-29; วิวรณ์ 7:9
17 ให้เรามาพิจารณาคำรับรองอย่างที่สี่ ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายในนิมิตของเอเสเคียล คำรับรองนี้คือ พระยะโฮวาสัญญาว่าจะอยู่กับกลุ่มเชลย เราจะได้บทเรียนอะไรจากคำสัญญานี้? ให้เรามาดูคำตอบด้วยกันในบทต่อไป