ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทำอย่างไรฉันถึงจะเข้ากับพี่น้องได้?

ทำอย่างไรฉันถึงจะเข้ากับพี่น้องได้?

บท 6

ทำ​อย่าง​ไร​ฉัน​ถึง​จะ​เข้า​กับ​พี่​น้อง​ได้?

คุณ​คิด​ว่า​ความ​สัมพันธ์​ของ​คุณ​กับ​พี่​น้อง​อยู่​ใน​ระดับ​ไหน​ระหว่าง 1 (ห่าง​เหิน) ถึง 5 (สนิทสนม)? ․․․․․

พี่​น้อง​บาง​คน​สนิท​กัน​มาก. ตัว​อย่าง​เช่น เฟลิเซีย อายุ 19 บอก​ว่า “อีเรนา​น้อง​สาว​ฉัน​อายุ 16 เธอ​เป็น​เพื่อน​ที่​ดี​ที่​สุด​ของ​ฉัน.” คาร์ลี​ซึ่ง​อายุ 17 พูด​ถึง​เอริก​พี่​ชาย​อายุ 20 ว่า “เรา​เข้า​กัน​ได้​ดี​มาก. เรา​ไม่​เคย​ทะเลาะ​กัน​เลย.”

แต่​ความ​สัมพันธ์​ของ​พี่​น้อง​หลาย​คน​อาจ​เป็น​เหมือน​ลอเรน​กับ​มาร์ลา. ลอเรน​บอก​ว่า “เรา​ทะเลาะ​กัน​ได้​ทุก​เรื่อง แม้​แต่​เรื่อง​ที่​ไร้​สาระ.” หรือ​บาง​ที​คุณ​อาจ​รู้สึก​เหมือน​แอลิส​อายุ 12 ซึ่ง​พูด​ถึง​เดนนิส​พี่​ชาย​อายุ 14 ว่า “พี่​เขา​ชอบ​กวน​ประสาท​หนู. เขา​ชอบ​บุก​เข้า​มา​ใน​ห้อง​และ​หยิบ​ของ​ไป​โดย​ไม่​ขอ. พี่​เดนนิส​ไม่​รู้​จัก​โต​สัก​ที.”

คุณ​มี​พี่​หรือ​น้อง​ที่​ชอบ​กวน​ประสาท​ไหม? ถึง​แม้​พ่อ​แม่​คุณ​มี​หน้า​ที่​คอย​ดู​แล​ความ​สงบ​เรียบร้อย​ใน​บ้าน. แต่​คุณ​เอง​ก็​ต้อง​เรียน​รู้​ที่​จะ​อยู่​ร่วม​กับ​คน​อื่น​ด้วย ซึ่ง​จะ​เริ่ม​ฝึก​ได้​กับ​พี่​น้อง​ของ​คุณ.

ลอง​คิด​ถึง​เรื่อง​ที่​คุณ​เคย​ทะเลาะ​กับ​พี่​น้อง. เรื่อง​อะไร​ที่​คุณ​ทะเลาะ​กัน​บ่อย​ที่​สุด? ดู​รายการ​ข้าง​ล่าง​และ​ขีด ✔ หน้า​ช่อง​ที่​ทำ​ให้​คุณ​โมโห​จัด.

ของ​ส่วน​ตัว. พี่​ของ​ฉัน​หยิบ​ของ​ไป​โดย​ไม่​ขอ​ก่อน.

นิสัย​ขัด​กัน. พี่​ของ​ฉัน​เป็น​คน​เห็น​แก่​ตัว ไม่​คำนึง​ถึง​คน​อื่น และ​ชอบ​เจ้า​กี้​เจ้า​การ.

ความ​เป็น​ส่วน​ตัว. พี่​ชอบ​เข้า​ห้อง​ฉัน​โดย​ไม่​เคาะ​ประตู ชอบ​แอบ​อ่าน​อีเมล​หรือ​เอส​เอ็ม​เอส​ของ​ฉัน.

อื่น ๆ ․․․․․

ถ้า​พี่​หรือ​น้อง​ของ​คุณ​ชอบ​ยั่ว​ให้​คุณ​โมโห เช่น เจ้า​กี้​เจ้า​การ​ออก​คำ​สั่ง​หรือ​ไม่​เคารพ​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​ของ​คุณ คุณ​คง​อด​หงุดหงิด​ไม่​ได้. แต่​สุภาษิต​ข้อ​หนึ่ง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “เมื่อ​กวน​จมูก​ก็​ได้​เลือด​ออก​มา; เมื่อ​กวน​โทโส​ก็​ได้​การ​ทะเลาะ​วิวาท.” (สุภาษิต 30:33) ถ้า​คุณ​เก็บ​ความ​โกรธ​ไว้ สัก​วัน​คุณ​จะ​ระเบิด​ออก​มา เช่น​เดียว​กับ​การ​กวน​จมูก​ทำ​ให้​เลือด​ออก. แล้ว​ปัญหา​ก็​มี​แต่​จะ​ยิ่ง​รุนแรง​ขึ้น. (สุภาษิต 26:21) คุณ​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​ความ​หงุดหงิด​จะ​ไม่​ระเบิด​ออก​มา​จน​ต้อง​ทะเลาะ​กัน? ขั้น​แรก คุณ​ต้อง​รู้​ว่า​อะไร​คือ​สาเหตุ​ที่​แท้​จริง.

สิ่ง​ที่​เห็น​ภาย​นอก​หรือ​สาเหตุ​ที่​ซ่อน​อยู่?

ปัญหา​ระหว่าง​พี่​น้อง​อาจ​เปรียบ​ได้​กับ​สิว. สิว​ที่​เรา​เห็น​คือ​สิ่ง​ที่​ไม่​น่า​ดู แต่​สาเหตุ​ที่​ซ่อน​อยู่​คือ​การ​ติด​เชื้อ. ทำนอง​เดียว​กัน การ​ที่​พี่​น้อง​ทะเลาะ​กัน​ก็​เป็น​สิ่ง​ที่​ไม่​น่า​ดู และ​แสดง​ว่า​ต้อง​มี​สาเหตุ​ซ่อน​อยู่.

คุณ​อาจ​พยายาม​บีบ​สิว แต่​นั่น​เป็น​เพียง​การ​จัด​การ​กับ​สิ่ง​ที่​เห็น​ภาย​นอก​และ​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​แผล​เป็น​หรือ​ติด​เชื้อ​มาก​ขึ้น. วิธี​จัด​การ​ที่​ดี​กว่า​คือ​รักษา​การ​ติด​เชื้อ​ซึ่ง​ช่วย​ป้องกัน​ไม่​ให้​สิว​ลุก​ลาม​ไป. ปัญหา​กับ​พี่​น้อง​ก็​เช่น​กัน หัด​มอง​ให้​ออก​ว่า​อะไร​คือ​สาเหตุ​ที่​ซ่อน​อยู่ แล้ว​คุณ​ก็​จะ​มอง​ข้าม​สิ่ง​ที่​เห็น​ภาย​นอก​และ​เข้าใจ​ต้นตอ​ของ​ปัญหา. นอก​จาก​นั้น คุณ​น่า​จะ​นำ​คำ​แนะ​นำ​ของ​กษัตริย์​โซโลมอน​ผู้​ชาญ​ฉลาด​ไป​ใช้​ด้วย ซึ่ง​เขียน​ไว้​ว่า “สติ​ปัญญา​ย่อม​ทำ​ให้​คน​ไม่​โกรธ​เร็ว.”—สุภาษิต 19:11

เพื่อ​ให้​เห็น​ตัว​อย่าง แอลิส​ที่​เอ่ย​ถึง​ตอน​ต้น​ได้​พูด​ถึง​เดนนิส​พี่​ชาย​ว่า “เขา​ชอบ​บุก​เข้า​มา​ใน​ห้อง​และ​หยิบ​ของ​ไป​โดย​ไม่​ขอ.” นั่น​คือ​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น. แต่​สาเหตุ​ที่​แท้​จริง​คือ​อะไร? นี่​น่า​จะ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​เคารพ​สิทธิ์​ผู้​อื่น. แอลิส​อาจ​จัด​การ​กับ​ปัญหา​โดย​บอก​เดนนิส​ว่า อย่า เข้า​มา​ใน​ห้อง​หรือ​เอา​ข้าวของ​ของ​เธอ​ไป​ใช้​อีก. แต่​การ​ทำ​อย่าง​นั้น​เป็น​เพียง​การ​จัด​การ​กับ​สิ่ง​ที่​เห็น และ​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​มาก​ขึ้น. แต่​ถ้า​แอลิส​ทำ​ให้​เดนนิส​ยอม​รับ​ว่า เขา​ควร​เคารพ​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​และ​ข้าวของ​ของ​เธอ ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​พวก​เขา​ก็​น่า​จะ​ดี​ขึ้น.

หัด​แก้ไข​หรือ​หลีก​เลี่ยง​ความ​ขัด​แย้ง

ที่​จริง การ​รู้​สาเหตุ​ของ​ปัญหา​ระหว่าง​คุณ​กับ​พี่​น้อง​เป็น​เพียง​ส่วน​หนึ่ง​ของ​การ​แก้​ปัญหา. คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​แก้​ปัญหา​และ​หลีก​เลี่ยง​ที่​จะ​ไม่​ทะเลาะ​กัน​อีก? ลอง​ทำ​ตาม​หก​ขั้น​ตอน​ต่อ​ไป​นี้.

1. ร่วม​กัน​ตั้ง​กฎ. ให้​ย้อน​ไป​ดู​ว่า​อะไร​เป็น​สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​คุณ​กับ​พี่​น้อง​ทะเลาะ​กัน. โดย​คิด​ถึง​สาเหตุ​ที่​ซ่อน​อยู่ พวก​คุณ​อาจ​ร่วม​กัน​ตั้ง​กฎ​บาง​อย่าง. เช่น ถ้า​พวก​คุณ​มัก​ทะเลาะ​กัน​เรื่อง​ข้าวของ​ส่วน​ตัว อาจ​ตั้ง​กฎ​ข้อ 1 ว่า “ต้อง​ขอ​อนุญาต​ก่อน​จะ​เอา​ของ​ของ​คน​อื่น​ไป.” กฎ​ข้อ 2 “ถ้า​คน​หนึ่ง​คน​ใด​บอก​ว่า ‘อย่า​เอา​ไป​ใช้​นะ’ ก็​ต้อง​ทำ​ตาม.” เมื่อ​พวก​คุณ​ตั้ง​กฎ ขอ​ให้​นึก​ถึง​คำ​สั่ง​ของ​พระ​เยซู​ที่​ว่า “สารพัด​สิ่ง​ที่​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ต้องการ​ให้​คน​อื่น​ทำ​ต่อ​เจ้า จง​ทำ​อย่าง​นั้น​ต่อ​เขา.” (มัดธาย 7:12) โดย​วิธี​นี้ คุณ​ก็​จะ​ตั้ง​กฎ​ที่​ทั้ง​คุณ​กับ​พี่​น้อง​ทำ​ตาม​ได้. หลัง​จาก​นั้น ให้​พ่อ​แม่​ช่วย​ดู​ว่า​กฎ​ของ​พวก​คุณ​ใช้​ได้​ไหม.—เอเฟโซส์ 6:1

2. ตัว​คุณ​ต้อง​ทำ​ตาม​กฎ. อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “ท่าน​ผู้​สอน​คน​อื่น​ไม่​ได้​สอน​ตน​เอง​หรือ? ท่าน​ผู้​สอน​ว่า ‘อย่า​ขโมย’ ท่าน​เอง​ขโมย​หรือ?” (โรม 2:21) คุณ​จะ​นำ​หลักการ​นี้​ไป​ใช้​อย่าง​ไร? ตัว​อย่าง​เช่น ถ้า​อยาก​ให้​พี่​น้อง​เคารพ​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​ของ​คุณ คุณ​ก็​ต้อง​เคาะ​ประตู​ก่อน​เข้า​ห้อง​เขา หรือ​ขอ​อนุญาต​เขา​ก่อน​จะ​อ่าน​อีเมล​หรือ​เอส​เอ็ม​เอส​ของ​เขา.

3. อย่า​โกรธ​ง่าย. ทำไม​นี่​จึง​เป็น​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี? เพราะ​ภาษิต​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “อย่า​ให้​ใจ​ของ​เจ้า​โกรธ​เร็ว, ความ​โกรธ​มี​ประจำ​อยู่​ใน​ทรวง​อก​ของ​คน​โฉด​เขลา.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 7:9) ถ้า​คุณ​โกรธ​ง่าย ชีวิต​คุณ​จะ​ไม่​มี​ความ​สุข. พี่​น้อง​คุณ​คง​จะ​พูด​หรือ​ทำ​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​คุณ​ไม่​พอ​ใจ. แต่​ให้​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​เคย​ทำ​แบบ​นั้น​กับ​พวก​เขา​ไหม?’ (มัดธาย 7:1-5) เจนนี​บอก​ว่า “ตอน​อายุ 13 ฉัน​เคย​คิด​ว่า​ตัว​เอง​เจ๋ง ไม่​ว่า​คิด​อะไร​ก็​ถูก​เสมอ​และ​ทุก​คน​ต้อง ฟัง​ฉัน. ตอน​นี้​น้อง​สาว​ฉัน​ก็​เป็น​อย่าง​นั้น. ฉัน​จึง​พยายาม​ไม่​ถือสา​สิ่ง​ที่​เธอ​พูด.”

4. ให้​อภัย​แล้ว​ลืม​เสีย. ถ้า​มี​ปัญหา​สำคัญ​ก็​ต้อง​พูด​คุย​และ​จัด​การ​แก้ไข. แต่​คุณ​ต้อง​เรียก​พี่​น้อง​มา​ชี้​แจง​ข้อ​ผิด​พลาด​ทุก​อย่าง​ที่​เขา​ทำ​ไหม? พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​พอ​พระทัย​ถ้า​คุณ​เต็ม​ใจ​จะ “ไม่​ถือ​โทษ.” (สุภาษิต 19:11) แอ​ลิ​สัน อายุ 19 บอก​ว่า “ฉัน​กับ​เรเชล​น้อง​สาว​แก้ไข​ความ​ขัด​แย้ง​ได้​เสมอ. เรา​ต่าง​พร้อม​จะ​ขอ​โทษ​และ​อธิบาย​สิ่ง​ที่​เรา​คิด​ว่า​เป็น​สาเหตุ​ของ​ความ​ขัด​แย้ง. บาง​ครั้ง​ฉัน​จะ​เอา​เรื่อง​นั้น​ไป​นอน​คิด​ก่อน. พอ​วัน​รุ่ง​ขึ้น ปัญหา​มัก​จะ​หาย​ไป​เอง​โดย​ที่​ฉัน​ไม่​ต้อง​พูด​ถึง​เรื่อง​นั้น​เลย.”

5. ให้​พ่อ​แม่​ช่วย​ไกล่เกลี่ย. ถ้า​คุณ​กับ​พี่​น้อง​แก้ไข​ปัญหา​สำคัญ​ไม่​ได้ พ่อ​แม่​อาจ​ช่วย​พวก​คุณ​ให้​คืน​ดี​กัน. (โรม 14:19) แต่​จำ​ไว้​ว่า หาก​คุณ​แก้ไข​ความ​ขัด​แย้ง​ได้​โดย​ไม่​ต้อง​ให้​พ่อ​แม่​ช่วย นั่น​แสดง​ว่า​คุณ​เป็น​ผู้​ใหญ่​มาก​ขึ้น.

6. มอง​ข้อ​ดี​ของ​พี่​น้อง. พี่​น้อง​ของ​คุณ​คง​มี​ข้อ​ดี​ที่​คุณ​ชอบ. ลอง​เขียน​ข้อ​ดี​ของ​พี่​น้อง​คุณ​คน​ละ​หนึ่ง​ข้อ.

ชื่อ

․․․․․

สิ่ง​ที่​ฉัน​ชอบ

․․․․․

แทน​ที่​จะ​เอา​แต่​คิด​ถึง​ข้อ​เสีย​ของ​พี่​น้อง คุณ​น่า​จะ​หา​โอกาส​บอก​เขา​ว่า​คุณ​ชอบ​อะไร​ใน​ตัว​เขา​บ้าง.—บทเพลง​สรรเสริญ 130:3; สุภาษิต 15:23

คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า พี่​น้อง​ของ​คุณ​อาจ​ไม่​ใช่​คน​ที่​คุณ​สนิท​มาก​ที่​สุด. (สุภาษิต 18:24) แต่​สาย​สัมพันธ์​ของ​คุณ​กับ​พี่​น้อง​จะ​ดี​ขึ้น ถ้า​คุณ “ทน​กัน​และ​กัน​เรื่อย​ไป” แม้​ว่า​คุณ “มี​เหตุ​จะ​บ่น​ว่า” พวก​เขา. (โกโลซาย 3:13) เมื่อ​ทำ​เช่น​นั้น คุณ จะ​รู้สึก​หงุดหงิด​กับ​พี่​น้อง​น้อย​ลง และ​พวก​เขา ก็​จะ​หงุดหงิด​กับ​คุณ น้อย​ลง​ด้วย.

ใน​บท​ต่อ​ไป

จะ​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า คุณ​พร้อม​จะ​ออก​จาก​บ้าน​ไหม?

ข้อ​คัมภีร์​หลัก

‘ให้​คน​ทั้ง​ปวง​เห็น​ว่า​คุณ​เป็น​คน​มี​เหตุ​ผล.’—ฟิลิปปอย 4:5

ข้อ​แนะ

ถ้า​คุณ​มี​พี่​หรือ​น้อง​ที่​เข้า​กัน​ไม่​ค่อย​ได้ ขอ​ให้​คิด​ใน​แง่​ดี​ว่า​นั่น​จะ​ช่วย​คุณ​ให้​รู้​วิธี​ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​คน​อื่น.

คุณ​รู้​ไหม . . . ?

เมื่อ​คุณ​จาก​บ้าน​ไป คุณ​อาจ​จะ​เจอ​คน​ที่​ทำ​ให้​หงุดหงิด เช่น เพื่อน​ร่วม​งาน หรือ​คน​อื่น ๆ ที่​ดู​เหมือน​ไม่​มี​มารยาท ไม่​คำนึง​ถึง​คน​อื่น และ​เห็น​แก่​ตัว. คุณ​เรียน​รู้​วิธี​จัด​การ​กับ​เรื่อง​นี้​อย่าง​สันติ​ได้​ตั้ง​แต่​อยู่​ที่​บ้าน.

แผน​ปฏิบัติการ

กฎ​ที่​ฉัน​กับ​พี่​น้อง​ร่วม​กัน​ตั้ง​ขึ้น​คือ ․․․․․

ฉัน​จะ​เป็น​เหตุ​ให้​พี่​น้อง​หงุดหงิด​น้อย​ลง ถ้า​ฉัน ․․․․․

สิ่ง​ที่​ฉัน​อยาก​ถาม​พ่อ​แม่​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้​คือ ․․․․․

คุณ​คิด​อย่าง​ไร?

● ทำไม​จึง​สำคัญ​ที่​จะ​ดู​ให้​ออก​ว่า​อะไร​คือ​สิ่ง​ที่​เห็น​ภาย​นอก​และ​สาเหตุ​ที่​ซ่อน​อยู่?

● คุณ​คิด​ว่า​การ​มี​พี่​น้อง​มี​ข้อ​ดี​อะไร​บ้าง?

[คำ​โปรย​หน้า 46]

“ถ้า​ไม่​มี​พี่​น้อง ฉัน​คง​ไม่​มี​ความ​ทรง​จำ​ดี ๆ อย่าง​นี้. ฉัน​อยาก​บอก​คน​ที่​มี​พี่​น้อง​ว่า ‘อย่า​มอง​ข้าม​พวก​เขา พวก​เขา​สำคัญ​นะ.’”—มาริลิน

[กรอบ​หน้า 42]

แบบ​สอบ​ถาม

หา​สาเหตุ​ที่​แท้​จริง

คุณ​อยาก​ฝึก​หา​สาเหตุ​ที่​ซ่อน​อยู่​ของ​ปัญหา​ระหว่าง​คุณ​กับ​พี่​น้อง​ไหม? ถ้า​อย่าง​นั้น ลอง​อ่าน​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ของ​พระ​เยซู​เรื่อง​บุตร​ที่​จาก​บ้าน​ไป​และ​ผลาญ​มรดก​ของ​ตน​จน​หมด. (ลูกา 15:11-32) สังเกต​ดี ๆ ว่า​พี่​ชาย​ของ​เขา​มี​ท่าที​อย่าง​ไร​เมื่อ​น้อง​ชาย​กลับ​บ้าน. แล้ว​ตอบ​คำ​ถาม​ต่อ​ไป​นี้.

อะไร​กระตุ้น​พี่​ชาย​ให้​มี​ท่าที​อย่าง​นั้น? ․․․․

คุณ​คิด​ว่า​อะไร​คือ​สาเหตุ​ที่​ซ่อน​อยู่? ․․․․

พ่อ​พยายาม​แก้ไข​ปัญหา​อย่าง​ไร? ․․․․․

พี่​ชาย​ต้อง​ทำ​อะไร​เพื่อ​แก้ไข​ปัญหา? ․․․․․

ตอน​นี้​ลอง​คิด​ถึง​เรื่อง​ที่​คุณ​เพิ่ง​ทะเลาะ​กับ​พี่​น้อง​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้. แล้ว​ตอบ​คำ​ถาม​ต่อ​ไป​นี้.

พวก​คุณ​ทะเลาะ​กัน​เรื่อง​อะไร? ․․․․․

คุณ​คิด​ว่า​อะไร​คือ​สาเหตุ​ที่​ซ่อน​อยู่? ․․․․․

เพื่อ​จะ​จัด​การ​กับ​ปัญหา​นี้​และ​ป้องกัน​ไม่​ให้​เกิด​ขึ้น​อีก คุณ​คิด​ว่า​ควร​ตั้ง​กฎ​อะไร​บ้าง? ․․․․․

[ภาพ​หน้า 43]

ปัญหา​ระหว่าง​พี่​น้อง​อาจ​เปรียบ​ได้​กับ​สิว คุณ​ต้อง​จัด​การ​กับ​สาเหตุ​ที่​ซ่อน​อยู่ ไม่​ใช่​แค่​สิ่ง​ที่​เห็น​ภาย​นอก