ฉันชอบดนตรี แต่จะไม่หลงใหลได้อย่างไร?
บท 31
ฉันชอบดนตรี แต่จะไม่หลงใหลได้อย่างไร?
ดนตรีสำคัญสำหรับคุณขนาดไหน?
□ ถ้าไม่มีดนตรีฉันก็อยู่ได้
□ ถ้าไม่มีดนตรีฉันตายแน่
คุณชอบฟังเพลงตอนไหน?
□ ตอนเดินทาง
□ ตอนอ่านหนังสือ
□ ตลอดเวลา
คุณชอบฟังเพลงสไตล์ไหน และเพราะอะไร? ․․․․․
ดูเหมือนเราทุกคนถูกสร้างมาให้มีความสุขกับเสียงเพลง. สำหรับหนุ่มสาวส่วนใหญ่ ดนตรีเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้. แอมเบอร์ อายุ 21 บอกว่า “ชีวิตฉันขาดเสียงเพลงไม่ได้. ฉันต้องฟังเพลงตลอดเวลาไม่ว่าจะทำความสะอาด ทำกับข้าว ซื้อของ หรืออ่านหนังสือ.”
ดนตรีไม่ได้เป็นแค่จังหวะที่ดูเหมือนไม่มีผลอะไร ที่จริง มันเจาะลึกถึงอารมณ์ความรู้สึกของเราได้. เมื่ออารมณ์หดหู่ การฟังเพลงจะช่วยปลอบโยนเราเหมือน “ถ้อยคำที่ถูกกาลเทศะก็ดีเหลือหลาย.” (สุภาษิต 15:23, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) เจสซิกา อายุ 16 บอกว่า “บางครั้งเมื่อฉันซึมเศร้ารู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจฉัน แต่เมื่อฟังเพลงของวงโปรด ฉันรู้เลยว่ายังมีอีกหลายคนที่เหมือนฉัน.”
หาจุดที่เห็นพ้อง
แน่นอน คุณคงชอบเพลงตามสไตล์ของคุณ แต่พ่อแม่อาจไม่ชอบ. หนุ่มคนหนึ่งบอกว่า “พ่อสั่งว่า ‘ปิดเสียงนั้นได้แล้ว แก้วหูจะแตก.’” คุณไม่อยากมีเรื่อง แต่พ่อแม่ชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่. สาวอีกคนหนึ่งบ่นว่า “ทำไมพวกเขา ไม่คิดถึงตอนเป็นวัยรุ่นบ้าง พ่อแม่ของพวกเขา จะคิดไหมว่าเพลงที่เขาฟังนั้นแย่?” อินกริด อายุ 16 บอกว่า “พวกผู้ใหญ่ชอบจมอยู่กับอดีต. เขาน่าจะหัดยอมรับรสนิยมของคนรุ่นใหม่บ้าง.”
อินกริดพูดได้น่าคิด. ตลอดประวัติศาสตร์ใคร ๆ ก็รู้ว่าคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่มักมีรสนิยมแตกต่างกัน. แต่ถ้าเป็นเรื่องของดนตรีก็น่าจะพูดคุยกันได้. คุณกับพ่อแม่น่าจะหาจุดที่
เห็นพ้องกันได้มิใช่หรือ? ถ้าพ่อแม่เชื่อพระคัมภีร์ คุณก็ได้เปรียบ. ทำไมล่ะ? เพราะพระคำของพระเจ้าจะช่วยคุณกับพ่อแม่ให้รู้ว่าอะไรที่ยอมรับไม่ได้และอะไรที่เลือกได้ตามรสนิยมของแต่ละคน. ในเรื่องนี้ คุณต้องพิจารณาปัจจัยสองอย่างคือ (1) เนื้อเพลง กับ (2) เวลา. ก่อนอื่นให้มาดูคำถามต่อไปนี้.เพลงที่ฉันฟังมีเนื้อร้องแบบไหน?
ดนตรีเป็นเหมือนอาหาร ถ้าเป็นชนิดที่ดีปริมาณพอเหมาะก็เป็นประโยชน์. แต่ถ้าเป็นชนิดที่ไม่ดีไม่ว่าปริมาณเท่าไรก็มีแต่โทษ. น่าเสียดายเพลงที่มีเนื้อร้องไม่ดีมักมีดนตรีที่น่าฟัง. สตีฟบ่นว่า “ทำไมเพลงเพราะ ๆ ต้องมีเนื้อร้องที่น่าเกลียดด้วย.”
ถ้าคุณชอบทำนองของเพลงนั้น แล้วเนื้อร้องล่ะสำคัญไหม? เพื่อจะได้คำตอบลองคิดดูว่า ถ้ามีคนอยากให้คุณกินยาพิษ เขาจะหลอกคุณอย่างไร? เขาคงเอายาพิษไปเคลือบน้ำตาลไม่ใช่หรือ? โยบผู้ซื่อสัตย์ถามว่า “หูลิ้มลองถ้อยคำ ดั่งลิ้นลิ้มรสอาหารไม่ใช่หรือ?” (โยบ 12:11, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) ดังนั้น อย่าฟังเพลงเพราะคุณชอบ ทำนองหรือดนตรีซึ่งเปรียบเหมือนน้ำตาลที่เคลือบอยู่ แต่ให้ “ลิ้มลองถ้อยคำ” โดยการดูชื่อเพลงและเนื้อร้องด้วย. เพราะอะไร? เพราะเนื้อร้องในเพลงมีผลต่อความคิดและทัศนะของคนเรา.
น่าเสียดายที่เพลงส่วนใหญ่ในทุกวันนี้มักมีเนื้อร้องที่เน้นเรื่องเพศ ความรุนแรง และการใช้ยาเสพติด. ถ้าคุณคิดว่าการฟังเพลงแบบนี้ไม่มีผลต่อคุณ นั่นแสดงว่าคุณโดน “พิษ” ของมันเข้าแล้ว.
ให้ตัดสินใจเอง
เพื่อน ๆ อาจกดดันคุณให้ฟังเพลงที่เสื่อมทรามและยังมีความกดดันจากวงการเพลงอีก. วิทยุ ทีวี และอินเทอร์เน็ตทำให้ดนตรีกลายเป็นธุรกิจหลายพันล้านที่ทรงอิทธิพล. มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดให้มาจัดและตัดสินใจเรื่องรสนิยมทางดนตรีให้คุณ.
แต่ถ้าคุณปล่อยให้เพื่อนหรือสื่อต่าง ๆ เลือกดนตรีแทนคุณ คุณจะกลายเป็นทาสที่ไร้ความคิดให้เขาจูงจมูก. (โรม 6:16) พระคัมภีร์เตือนคุณให้ต้านทานอิทธิพลของโลกในเรื่องนี้. (โรม 12:2) ดังนั้น คุณควรฝึกใช้ “วิจารณญาณเพื่อจะแยก ออกว่าอะไรถูกอะไรผิด.” (ฮีบรู 5:14) คุณจะใช้วิจารณญาณของคุณในการเลือกดนตรีอย่างไร? ลองพิจารณาคำแนะนำต่อไปนี้.
ดูรูปที่ปกหน้าปกหลัง. บ่อยครั้ง แค่ดูรูปที่ปกหน้าปกหลังหรือรูปที่โฆษณาก็พอจะรู้ว่าเป็นเพลงประเภทไหน. ถ้าเห็นรูปเซ็กซ์ที่โจ่งแจ้ง รูปที่แสดงถึงความรุนแรง หรือเกี่ยวกับไสยศาสตร์ก็ต้องระวังเพราะข้างในคงเป็นเพลงประเภทนั้น.
ดูเนื้อร้อง. เนื้อร้องพูดถึงอะไร? คุณอยากฟังหรือร้องตามเนื้อนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกไหม? เนื้อร้องขัดกับค่านิยมและหลักการของคริสเตียนไหมไม่ว่าจะเป็นเพลงไทยหรือเพลงต่างประเทศ?—เอเฟโซส์ 5:3-5
สังเกตผลที่เกิดกับตัวเอง. ฟิลิปบอกว่า “ดนตรีและเนื้อร้องหลายเพลงทำให้ผมซึมเศร้า.” ใช่แล้ว ดนตรีมีผลต่อคนเราหลายทาง. ดนตรีที่คุณฟังทำให้คุณมีอารมณ์แบบไหน? ลองถามตัวเองว่า ‘ฉันมักจะจมอยู่กับความคิดที่ไม่ดีหลังจากฟังเพลงนั้นไหม? ฉันเริ่มใช้คำแสลงตามเพลงพวกนั้นไหม?’—1 โครินท์ 15:33
คิดถึงความรู้สึกคนอื่น. พ่อแม่คุณรู้สึกอย่างไรกับเพลงที่คุณฟัง? ให้ถามความเห็นพวกเขาและคิดด้วยว่าเพื่อนคริสเตียนจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินคุณฟังเพลงแบบนี้. บางคนจะไม่สบายใจไหม? ถ้าคุณยอมปรับเปลี่ยนเพราะคิดถึงความรู้สึกคนอื่นแสดงว่าคุณโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว.—การพิจารณาคำถามที่กล่าวไปจะช่วยคุณให้เลือกเพลงที่ตัวเองชื่นชอบโดยไม่ทำลายสายสัมพันธ์ของคุณกับพระยะโฮวา. แต่ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม.
แค่ไหนถึงไม่มากเกินไป?
ดนตรีที่ดีเป็นเหมือนอาหารที่มีประโยชน์. แต่สุภาษิตเตือนว่า “เจ้าได้พบน้ำผึ้งแล้วหรือ? จงกินแต่พอสมควร, เกรงว่าถ้ากินอิ่มเกินไปก็จะอาเจียนออกมา.” (สุภาษิต 25:16) ใคร ๆ ก็รู้ว่าน้ำผึ้งมีประโยชน์. แต่ถ้ากินมากเกินไปจะมีโทษถึงแม้เป็นสิ่งที่ดี ก็ตาม. ข้อคิดคือ สิ่งที่ดีควรใช้อย่างพอเหมาะพอควร.
แต่หนุ่มสาวบางคนปล่อยให้ดนตรีครอบงำชีวิตเขา เช่นเจสซิกาที่พูดถึงตอนต้นยอมรับว่า “ฉันฟังเพลงตลอดเวลาแม้แต่ตอนที่ฉันอ่านและศึกษาพระคัมภีร์. ฉันบอกพ่อแม่ว่ามันช่วยให้มีสมาธิ แต่พวกเขาไม่เชื่อ.” คุณรู้สึกเหมือนเจสซิกาไหม?
คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าแค่ไหนถึงมากเกินไป? ลองพิจารณาคำถามต่อไปนี้.
ฉันฟังเพลงวันละกี่ชั่วโมง? ․․․․․
ฉันเสียเงินไปกับเรื่องดนตรีเดือนละเท่าไร? ․․․․․
ดนตรีทำให้ฉันห่างเหินกับคนในครอบครัวไหม? ถ้าอย่างนั้น ฉันจะปรับปรุงตัวได้อย่างไร? ․․․․․
ปรับปรุงนิสัยการฟังดนตรี
ถ้าคุณใช้เวลากับเรื่องดนตรีมากเกินไป คุณควรจำกัดเวลาและปรับปรุงนิสัยในการฟังเพลง เช่น คุณอาจต้องเปลี่ยนนิสัยที่เอาหูฟังเสียบไว้ตลอดเวลาหรือเมื่อเข้าบ้านต้องเปิดเพลงทันที.
ทำไมไม่ลองฝึกอยู่เงียบ ๆ บ้าง? นี่อาจช่วยคุณให้ศึกษาค้นคว้าได้ดีขึ้น. สตีฟที่พูดถึงตอนต้นบอกว่า “ถ้าปิดเพลง คุณจะอ่านรู้เรื่องขึ้น.” ลองอ่านหนังสือโดยไม่มีเสียงดนตรี ดูสิว่าคุณจะมีสมาธิมากขึ้นไหม?
คุณต้องจัดเวลาอ่านและศึกษาพระคัมภีร์กับหนังสือขององค์การ. บางครั้งพระเยซูหาที่เงียบ ๆ เพื่ออธิษฐานและใคร่ครวญ. (มาระโก 1:) คุณล่ะหาที่เงียบ ๆ เพื่อศึกษาไหม? ถ้าไม่ นั่นจะมีผลต่อความก้าวหน้าของคุณ. 35
เลือกให้ถูก
ดนตรีเป็นของขวัญที่ดีเลิศจากพระเจ้า แต่คุณต้องระวังอย่าใช้อย่างผิด ๆ. อย่าเป็นเหมือนมาร์ลีนซึ่งยอมรับว่า “มีบางเพลงที่น่าจะทิ้ง แต่ฉันกลับเก็บไว้เพราะชอบ.” ลองคิดดูว่า การฟังเพลงที่ไม่ดีจะมีผลเสียต่อความคิดจิตใจเธอขนาดไหน. คุณต้องระวังอย่าเป็นแบบนั้น. อย่าปล่อยให้ดนตรีมีอิทธิพลเหนือคุณหรือกระทั่งทำลายชีวิตคุณ. เมื่อคุณเลือกเพลงที่จะฟัง ให้เลือกตามมาตรฐานของคริสเตียน. คบเพื่อนที่มีมาตรฐานคริสเตียนเหมือนคุณ. อธิษฐานขอความช่วยเหลือและการชี้นำจากพระเจ้า.
ดนตรีช่วยให้คุณผ่อนคลายและแก้เหงาได้ยามที่อยู่คนเดียว. แต่เมื่อดนตรีหยุด คุณก็เหงาเหมือนเดิม. ดนตรีจึงทำหน้าที่แทนเพื่อนไม่ได้. ดังนั้น อย่าปล่อยให้ดนตรีครอบงำชีวิตคุณ. ฟังได้ แต่อย่าหลงใหล.
คุณต้องผ่อนคลายบ้าง. พระคัมภีร์มีหลักการอะไรที่จะช่วยคุณให้สนุกสนานได้อย่างเหมาะสม?
ข้อคัมภีร์หลัก
“หูลิ้มลองถ้อยคำ ดั่งลิ้นลิ้มรสอาหารไม่ใช่หรือ?”—โยบ 12:11, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย
ข้อแนะ
ถ้าคุณอยากให้พ่อแม่เข้าใจว่าทำไมคุณ ชอบเพลงหรือวงดนตรีนั้น ให้พยายามสนใจเพลงที่พวกเขา ชอบ แล้วพวกเขาอาจสนใจเพลงที่คุณชอบด้วย.
คุณรู้ไหม . . . ?
ถ้าคุณไม่อยากให้พ่อแม่ได้ยินเพลงโปรดของคุณ นั่นแสดงว่ารสนิยมในการฟังเพลงของคุณมีปัญหา.
แผนปฏิบัติการ
ฉันจะควบคุมการฟังเพลงได้ ถ้าฉัน ․․․․․
ถ้าเพื่อนพยายามกดดันฉันให้ฟังเพลงที่ไม่ดี ฉันจะบอกว่า ․․․․․
สิ่งที่ฉันอยากถามพ่อแม่เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ․․․․․
คุณคิดอย่างไร?
● ทำไมการเลือกเพลงจึงสำคัญ?
● คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเพลงไหนฟังได้หรือไม่ได้?
● คุณจะมีรสนิยมทางดนตรีหลากหลายขึ้นได้อย่างไร?
[คำโปรยหน้า 259]
“บางครั้งเมื่อรู้ตัวว่าเพลงที่ฉันฟังเป็นเพลงที่ไม่ดี ฉันจะปิดทันที. เพราะถ้ายังไม่ปิด ฉันจะเริ่มหาข้อแก้ตัวเพื่อฟังต่อ.”—คาเมรอน
[กรอบ/ภาพหน้า 258]
การมีรสนิยมหลากหลายทางดนตรี
ตอนนี้คุณชอบอาหารหลากหลายกว่าตอนห้าขวบใช่ไหม? นั่นคงเพราะคุณได้ลองชิมอาหารรสใหม่ ๆ. เช่นกัน อย่าฟังดนตรีแค่สไตล์เดียว ให้ฟังหลาย ๆ สไตล์.
วิธีหนึ่งที่ช่วยได้คือการเรียนดนตรี ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายแต่ก็ทำให้คุณมีความสุขและมีโอกาสรู้จักเพลงสไตล์อื่นนอกจากที่นิยมกัน. แต่คุณจะเอาเวลาไหนมาเรียนดนตรี? ก็เวลาที่คุณใช้ดูทีวีหรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ไงล่ะ. ลองมาฟังวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง.
“การเล่นดนตรีสนุกมาก. ตอนที่คุณเล่น คุณใส่อารมณ์ลงไปได้. การเล่นเพลงใหม่ ๆ ช่วยให้ผมมีรสนิยมทางดนตรีหลากหลายขึ้น.”—ไบรอัน อายุ 18 เล่นกีตาร์ กลอง และเปียโน
“ถ้าคุณอยากเล่นได้ดี คุณต้องซ้อมบ่อย ๆ. ตอนซ้อมไม่สนุกเท่าไร แต่พอเล่นเป็น คุณจะรู้สึกดีเพราะคุณทำได้สำเร็จ.”—เจด อายุ 13 เล่นวิโอลา
“ตอนที่ฉันเหนื่อยหรืออารมณ์ไม่ดี ฉันจะเล่นกีตาร์แล้วรู้สึกผ่อนคลาย. การเล่นดนตรีดีจริง ๆ ทำให้ฉันสดชื่นและสบายใจ.”—วาเนสซา อายุ 20 เล่นกีตาร์ เปียโน และคลาริเน็ต
“ผมเคยคิดว่าคงไม่มีทางเล่นดนตรีดีเท่าคนนั้นคนนี้. แต่เมื่อพยายามฝึกมาก ๆ ตอนนี้ผมเล่นเก่งแล้ว ผมดีใจจริง ๆ. เมื่อผมเห็นนักดนตรีที่เล่นเก่ง ๆ ผมรู้สึกชื่นชมเขายิ่งกว่าแต่ก่อน.”—เจคอบ อายุ 20 เล่นกีตาร์
[ภาพหน้า 255]
ดนตรีเป็นเหมือนอาหาร ถ้าเป็นชนิดที่ดีปริมาณพอเหมาะก็เป็นประโยชน์. แต่ถ้าเป็นชนิดที่ไม่ดีไม่ว่าปริมาณเท่าไรก็มีแต่โทษ