บท 18
“จงตามเราต่อ ๆ ไป”
1-3. (ก) พระเยซูเสด็จจากพวกอัครสาวกไปในลักษณะเช่นไร และทำไมนั่นไม่ใช่การอำลาที่เศร้าสร้อย? (ข) ทำไมเราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูตั้งแต่ที่พระองค์เสด็จกลับไปสวรรค์?
ชายสิบเอ็ดคนยืนอยู่ด้วยกันบนภูเขา. พวกเขามองดูบุคคลที่ 12 ด้วยความรักและความนิยมชมชอบอย่างยิ่ง. บุคคลผู้นี้อยู่ในร่างมนุษย์ แต่ที่จริงท่านคือพระเยซูผู้คืนพระชนม์แล้ว กลับมาเป็นผู้มีฤทธิ์อำนาจมากที่สุดในบรรดาบุตรกายวิญญาณของพระยะโฮวาอีกครั้งหนึ่ง. พระเยซูได้รวบรวมพวกอัครสาวกของพระองค์ให้มาประชุมกับพระองค์บนภูเขามะกอกเทศนี้เป็นครั้งสุดท้าย.
2 ภูเขานี้ซึ่งเป็นส่วนของทิวเขาหินปูนพาดผ่านหุบเขาคิดโรนมาจากกรุงเยรูซาเลม คงทำให้พระเยซูคิดถึงความทรงจำหลายเรื่องอย่างแน่นอน. เมืองเบทานี (เบธาเนีย) ที่พระเยซูทรงปลุกลาซะโรให้เป็นขึ้นจากตายก็ตั้งอยู่บนเนินเขาเหล่านี้แหละ. เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ พระเยซูเริ่มเดินทางโดยประทับบนหลังลาอย่างผู้มีชัยจากเมืองเบทฟาเก (เบธฟาเฆ) ที่อยู่ใกล้ ๆ นั้นเข้าสู่กรุงเยรูซาเลม. สวนเกทเซมาเนคงจะอยู่ในบริเวณของภูเขามะกอกเทศด้วย ซึ่งพระเยซูอยู่ที่นั่นหลายชั่วโมงด้วยความรู้สึกเป็นทุกข์ยิ่งนักก่อนที่พระองค์จะถูกจับ. ตอนนี้บนเนินเขาเดียวกัน พระเยซูทรงเตรียมพร้อมที่จะจากมิตรสหายและสาวกผู้ใกล้ชิดที่สุดของพระองค์ไป. พระองค์ตรัสคำอำลาด้วยความกรุณา. ครั้นแล้วพระองค์เริ่มลอยขึ้นจากพื้นแผ่นดิน! พวกอัครสาวกยืนตะลึงงันอยู่ที่นั่น จ้องมองตามผู้เป็นนายที่รักของตนขณะที่พระองค์เสด็จขึ้นไปในท้องฟ้า. ในที่สุด เมฆก็บังพระองค์ไว้จากสายตาของพวกเขา และพวกเขามองไม่เห็นพระองค์อีกต่อไป.—กิจการ 1:6-12.
3 เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คุณรู้สึกว่านี่เป็นการจบลงที่ทั้งน่ายินดีและน่าสลดใจ เป็นการอำลาที่เศร้าสร้อยไหม? ไม่เลย. ที่จริง ตามที่ทูตสวรรค์สององค์เตือนพวกอัครสาวกในโอกาสนั้น เรื่องราวของพระเยซูไม่ได้จบลงแค่นั้น. (กิจการ 1:10, 11) ในหลายทาง การที่พระองค์เสด็จจากไปสวรรค์นั้นเป็นเพียง การเริ่มต้น. พระคำของพระเจ้ามิได้ปล่อยให้เรามืดแปดด้านในเรื่องเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นกับพระเยซูต่อจากนั้น. การเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูตั้งแต่เสด็จกลับสู่สวรรค์นับว่าสำคัญ. เพราะเหตุใด? ขอระลึกถึงถ้อยคำที่พระเยซูตรัสแก่เปโตรว่า “จงตามเราต่อ ๆ ไป.” (โยฮัน 21:19, 22, ล.ม.) เราทุกคนต้องเชื่อฟังพระบัญชานั้น ไม่ใช่เป็นเพียงการเลือกชั่วคราว แต่เป็นแนวทางชีวิต. เพื่อจะทำเช่นนั้น เราต้องเข้าใจว่านายของเรากำลังทำอะไรอยู่ในขณะนี้และงานมอบหมายอะไรที่พระองค์ได้รับในสวรรค์.
ชีวิตของพระเยซูตั้งแต่เสด็จกลับสู่สวรรค์
4. คัมภีร์ไบเบิลได้เปิดเผยล่วงหน้าอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสวรรค์หลังจากพระเยซูเสด็จกลับไปที่นั่น?
4 พระคัมภีร์มิได้เปิดเผยรายละเอียดตอนที่พระเยซูเสด็จสู่สวรรค์, การต้อนรับพระองค์, และความยินดีของพระองค์ที่ได้มาอยู่ร่วมกับพระบิดาอีก. อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยล่วงหน้าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสวรรค์ไม่นานหลังจากพระเยซูเสด็จกลับไปที่นั่น. เป็นเวลามากกว่า 1,500 ปี ชาวยิวได้เห็นพิธีศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งเป็นประจำ. วันหนึ่งในแต่ละปี มหาปุโรหิตได้เข้าไปในที่บริสุทธิ์ที่สุดของพระวิหารเพื่อประพรมโลหิตของเครื่องบูชาในวันไถ่โทษตรงหน้าหีบสัญญาไมตรี. ในวันนั้น มหาปุโรหิตเป็นภาพเล็งถึงพระมาซีฮา. พระเยซูได้ทำให้ความหมายเชิงพยากรณ์ของพิธีนั้นสำเร็จครั้งเดียวสำหรับตลอดกาลหลังจากพระองค์เสด็จกลับไปสวรรค์. พระองค์ได้เสด็จเข้าในที่ประทับอันใหญ่ยิ่งของพระยะโฮวาในสวรรค์—สถานที่บริสุทธิ์ที่สุดในเอกภพ—และถวายคุณค่าแห่งเครื่องบูชาไถ่ของพระองค์แด่พระบิดา. (เฮ็บราย 9:11, 12, 24) พระยะโฮวาทรงยอมรับค่าไถ่นั้นไหม?
5, 6. (ก) หลักฐานอะไรแสดงว่าพระยะโฮวาทรงยอมรับเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์? (ข) ใครได้รับประโยชน์จากค่าไถ่ และโดยวิธีใด?
5 เราพบคำตอบโดยการพิจารณาเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่พระเยซูเสด็จขึ้นสวรรค์. คริสเตียนกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 120 คนกำลังประชุมกันอยู่ในห้องชั้นบนที่กรุงเยรูซาเลม ในทันใดนั้นมีเสียงเหมือนพายุแรงกล้าดังก้องทั่วสถานที่นั้น. สิ่งที่คล้ายเปลวไฟลักษณะเหมือนลิ้นปรากฏเหนือศีรษะ ของพวกเขา พวกเขาเต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และเริ่มต้นพูดภาษาต่าง ๆ. (กิจการ 2:1-4) เหตุการณ์นี้แสดงถึงการกำเนิดของชาติใหม่ ชาติอิสราเอลฝ่ายวิญญาณซึ่งเป็น “เชื้อสายที่ทรงเลือกไว้” ใหม่ของพระเจ้า และเป็น “คณะปุโรหิตหลวง” เพื่อปฏิบัติตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าบนแผ่นดินโลก. (1 เปโตร 2:9, ล.ม.) เห็นได้ชัด พระยะโฮวาพระเจ้าทรงยอมรับและพอพระทัยเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์. การเทพระวิญญาณบริสุทธิ์ครั้งนี้อยู่ในบรรดาพระพรแรก ๆ ที่เป็นไปได้โดยค่าไถ่.
6 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ค่าไถ่ของพระคริสต์ได้อำนวยประโยชน์แก่เหล่าสาวกของพระองค์ทั่วโลก. ไม่ว่าเราอยู่ในบรรดา “แกะฝูงเล็ก” ที่ถูกเจิมซึ่งจะปกครองร่วมกับพระคริสต์ในสวรรค์ หรือว่าอยู่ในบรรดา “แกะอื่น” ซึ่งจะมีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์บนแผ่นดินโลก เราได้รับประโยชน์จากเครื่องบูชาของพระองค์. (ลูกา 12:32; โยฮัน 10:16) ค่าไถ่เป็นพื้นฐานสำหรับความหวังและการให้อภัยบาปของเรา. ตราบเท่าที่เรา “แสดงความเชื่อ” ในค่าไถ่นั้นต่อ ๆ ไป ดำเนินตามพระเยซูทุก ๆ วัน เราจะมีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดและมีความหวังอันรุ่งโรจน์สำหรับอนาคต.—โยฮัน 3:16.
7. พระเยซูได้รับอำนาจอะไรหลังจากเสด็จกลับสวรรค์ และคุณอาจสนับสนุนพระองค์ได้โดยวิธีใด?
7 พระเยซูทรงทำอะไรในสวรรค์ตั้งแต่พระองค์เสด็จกลับไปที่นั่น? พระองค์มีอำนาจมากมาย. (มัดธาย 28:18) ที่จริง พระยะโฮวาทรงแต่งตั้งพระองค์ให้ปกครองเหนือประชาคมคริสเตียน ซึ่งเป็นงานมอบหมายที่พระองค์ทรงปฏิบัติในวิธีที่แสดงความรักและความยุติธรรม. (โกโลซาย 1:13) ดังที่มีการบอกไว้ล่วงหน้า พระเยซูได้ประทานผู้ชายที่รับผิดชอบให้เอาใจใส่ดูแลความจำเป็นของฝูงแกะของพระองค์. (เอเฟโซ 4:8) ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงเลือกเปาโลให้เป็น “อัครสาวกมายังพวกต่างประเทศ” ส่งท่านไปเผยแพร่ข่าวดีในดินแดนที่ห่างไกล. (โรม 11:13; 1 ติโมเธียว 2:7) ตอนที่ศตวรรษแรกใกล้จะจบลง พระเยซูได้ส่งข่าวสารที่มีคำชมเชย, คำแนะนำ, และการว่ากล่าวแก้ไขไปยังเจ็ดประชาคมในแคว้นเอเชียของโรม. (วิวรณ์บท 2-3) คุณยอมรับพระเยซูฐานะประมุขของประชาคมคริสเตียนไหม? (เอเฟโซ 5:23) เพื่อจะดำเนินตาม พระองค์ต่อ ๆ ไป คุณควรจะส่งเสริมน้ำใจที่เชื่อฟังและร่วมมือกันในประชาคมของคุณ.
8, 9. พระเยซูได้รับอำนาจอะไรในปี 1914 และนั่นควรมีความหมายเช่นไรต่อการตัดสินใจของเรา?
8 พระเยซูยังได้รับอำนาจมากกว่านั้นอีกในปี 1914. ในปีนั้น พระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรมาซีฮาของพระยะโฮวา. เมื่อการปกครองของพระเยซูเริ่มต้น “มีการสงครามในสวรรค์.” ผลเป็นเช่นไร? ซาตานและเหล่าปิศาจของมันได้ถูกเหวี่ยงลงมายังแผ่นดินโลก ทำให้เกิดยุคของวิบัติ. สงครามที่ลุกลามออกไป, อาชญากรรม, เหตุการณ์ที่น่าสยดสยอง, โรคภัยไข้เจ็บ, แผ่นดินไหว, และการกันดารอาหารซึ่งทำให้มนุษย์สมัยปัจจุบันเดือดร้อนเตือนเราว่าพระเยซูกำลังปกครองอยู่ในสวรรค์ขณะนี้ทีเดียว. ซาตานยังคงเป็น “ผู้ครองโลกนี้” เป็นระยะเวลาสั้น ๆ. (วิวรณ์ 12:7-12; โยฮัน 12:31; มัดธาย 24:3-7; ลูกา 21:11) อย่างไรก็ดี พระเยซูกำลังให้โอกาสผู้คนทั่วโลกที่จะยอมรับการปกครองของพระองค์.
9 นับว่าสำคัญที่เรายืนมั่นอยู่ฝ่ายพระมหากษัตริย์มาซีฮา. ในการตัดสินใจทุกอย่างของเราแต่ละวัน เราต้องแสวงหาความพอพระทัยจากพระองค์ ไม่ใช่ความพอใจจากโลกที่เสื่อมทรามนี้. ในขณะที่ “พระมหากษัตริย์แห่งมหากษัตริย์ทั้งปวงและเจ้านายแห่งเจ้านายทั้งปวง” องค์นี้ตรวจตราดูมนุษยชาติ พระทัยที่ชอบธรรมของพระองค์พลุ่งขึ้นด้วยความพิโรธและเปี่ยมล้นด้วยความยินดี. (วิวรณ์ 19:16) เพราะเหตุใด?
ความพิโรธและความยินดีของพระมหากษัตริย์มาซีฮา
10. อุปนิสัยอะไรของพระเยซูที่มีมาแต่ดั้งเดิม แต่อะไรทำให้ผู้เป็นนายของเรามีความพิโรธอย่างชอบธรรม?
10 เช่นเดียวกับพระบิดาของพระองค์ ผู้เป็นนายของเราทรงมีความสุขมาแต่ดั้งเดิม. (1 ติโมเธียว 1:11) ตอนที่เป็นมนุษย์ พระเยซูไม่ใช่คนที่ชอบตำหนิวิจารณ์หรือชอบเรียกร้อง. กระนั้น ก็มีหลายสิ่งเกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ที่คงต้องทำให้พระองค์มีความพิโรธอย่างชอบธรรม. แน่นอน พระองค์พิโรธบรรดาองค์การศาสนาต่าง ๆ ที่อ้างอย่างผิด ๆ ว่าเป็นตัวแทนของพระองค์. ดังที่พระองค์ได้ ทรงบอกไว้ล่วงหน้าว่า “มิใช่ทุกคนที่เรียกเราว่า ‘พระองค์เจ้าข้า, พระองค์เจ้าข้า’ จะได้เข้าในเมือง [“ราชอาณาจักรฝ่าย,” ล.ม.] สวรรค์, แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระทัยพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์นั้นจึงจะเข้าได้. ในวันนั้นจะมีคนเป็นอันมากร้องแก่เราว่า, ‘พระองค์เจ้าข้า, พระองค์เจ้าข้า, ข้าพเจ้าได้ . . . กระทำการอัศจรรย์มากด้วยออกพระนามของพระองค์มิใช่หรือ?’ ขณะนั้นเราจะกล่าวแก่เขาว่า, ‘เราไม่รู้จักเจ้าเลย. เจ้าทั้งหลายผู้ประพฤติล่วงพระบัญญัติจงถอยไปจากเรา.’”—มัดธาย 7:21-23.
11-13. ทำไมบางคนอาจรู้สึกงงที่พระเยซูใช้ถ้อยคำรุนแรงกับคนเหล่านั้นที่กระทำ “การอัศจรรย์มาก” ในพระนามของพระองค์ ถึงกระนั้น ทำไมพระองค์พิโรธ? จงยกตัวอย่างเปรียบเทียบ.
11 หลายคนในทุกวันนี้ที่เรียกตัวเองว่าคริสเตียนอาจรู้สึกว่าถ้อยคำดังกล่าวทำให้งง. ทำไมพระเยซูจึงใช้ถ้อยคำที่รุนแรงดังกล่าวกับคนที่ได้กระทำ “การอัศจรรย์มาก” ในพระนามของพระองค์? คริสตจักรต่าง ๆ ของคริสต์ศาสนจักรได้อุปถัมภ์องค์กรการกุศลต่าง ๆ, ช่วยเหลือคนจน, สร้างโรงพยาบาลและโรงเรียน และทำงานอื่นอีกหลายอย่าง. เพื่อจะเข้าใจว่าทำไมมีเหตุผลสมควรที่พระเยซูพิโรธพวกเขา ขอพิจารณาตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องหนึ่ง.
12 บิดามารดาคู่หนึ่งต้องเดินทางไกล. เขาพาลูก ๆ ไปด้วยไม่ได้ ดังนั้น เขาจึงจ้างคนให้มาดูแลลูก ๆ. เขาให้คำสั่งง่าย ๆ แก่เธอว่า “ดูแลลูกของเราให้ดี. จัดอาหารให้เขากิน, ดูแลพวกเขาให้สะอาด, และระวังอย่าให้มีอันตรายเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ.” แต่เมื่อบิดามารดากลับมา ก็ตกตะลึงที่เห็นลูก ๆ หิวโซ. พวกเขาสกปรกมอมแมม, ป่วย, และน่าสังเวช. พวกเด็กร้องหาพี่เลี้ยง แต่เธอไม่ได้ใส่ใจ. เพราะเหตุใด? เธออยู่บนบันได กำลังล้างหน้าต่างอยู่. ด้วยความโกรธจัดบิดามารดาถามว่าเกิดอะไรขึ้น. พี่เลี้ยงเด็กตอบว่า “ดูสิว่าฉันได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง! หน้าต่างก็สะอาดใช่ไหม? บ้านก็ซ่อมให้ ทำทั้งหมดนี้ก็เพื่อพวกคุณน่ะแหละ!” บิดามารดาจะรู้สึกดีขึ้นไหม? ไม่อย่างแน่นอน! เขาไม่ได้ขอให้เธอทำงานพวกนั้นเลย เขาเพียงแต่ต้องการให้ลูก ๆ ได้รับการเอาใจใส่ดูแล. การที่เธอไม่เอาใจใส่ฟังคำสั่งนั้นย่อมทำให้พวกเขาโกรธมาก.
13 คริสต์ศาสนจักรได้ประพฤติเหมือนพี่เลี้ยงเด็กคนดังกล่าว. พระเยซูได้ให้ พระบัญชาแก่เหล่าตัวแทนของพระองค์ให้เลี้ยงดูผู้คนทางฝ่ายวิญญาณ โดยสอนความจริงในพระคำของพระเจ้าแก่พวกเขา และช่วยพวกเขาให้สะอาดทางฝ่ายวิญญาณ. (โยฮัน 21:15-17) กระนั้น น่าสลดใจที่คริสต์ศาสนจักรไม่ได้เชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์ แต่ได้ปล่อยผู้คนให้อดอยากทางฝ่ายวิญญาณ ทำให้สับสนเนื่องจากคำสอนเท็จและการไม่รู้ความจริงพื้นฐานของคัมภีร์ไบเบิล. (ยะซายา 65:13; อาโมศ 8:11) แม้แต่การพยายามจะปรับปรุงให้โลกนี้ดีขึ้นก็ไม่อาจเอามาเป็นข้อแก้ตัวสำหรับการที่คริสต์ศาสนจักรจงใจไม่เชื่อฟัง. ที่จริง ระบบของโลกนี้เป็นเหมือนบ้านที่ถูกกำหนดไว้สำหรับการรื้อทำลาย! พระคำของพระเจ้าชี้ชัดว่าระบบโลกของซาตานจะถูกทำลายในไม่ช้า.—1 โยฮัน 2:15-17.
14. งานอะไรที่ทำให้พระเยซูมีความสุขในทุกวันนี้ และเพราะเหตุใด?
14 ในอีกด้านหนึ่ง พระเยซูคงต้องมีความสุขสักเพียงไรเมื่อทอดพระเนตรจากสวรรค์ลงมาเห็นผู้คนนับล้านกำลังทำงานที่พระองค์ทรงมอบหมายแก่เหล่าผู้ติดตามของพระองค์ก่อนเสด็จจากโลกนี้ไป นั่นคืองานทำให้คนเป็นสาวกซึ่งพวกเขากำลังทำอยู่. (มัดธาย 28:19, 20) นับว่าเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่จะทำให้กษัตริย์มาซีฮามีความยินดี! ขอเราตั้งใจที่จะไม่เลิกราในการช่วย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.) ไม่เหมือนกับนักเทศน์ของคริสต์ศาสนจักร คริสเตียนผู้ถูกเจิมกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มนี้ได้นำหน้าในงานประกาศด้วยความเชื่อฟังและเลี้ยงดูฝูงแกะของพระคริสต์อย่างซื่อสัตย์.
15, 16. (ก) พระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรกับการขาดความรักที่แพร่หลายอยู่ในทุกวันนี้ และเราทราบโดยวิธีใดว่าพระเยซูทรงรู้สึกอย่างนั้น? (ข) เพราะเหตุใดพระเยซูพิโรธคริสต์ศาสนจักร?
15 เราแน่ใจได้ว่าพระมหากษัตริย์พิโรธเมื่อทอดพระเนตรเห็นการขาดความรักที่แพร่หลายอยู่ในโลกทุกวันนี้. เราอาจจำได้ว่าพวกฟาริซายได้ติเตียนพระเยซูอย่างไรเรื่องการรักษาโรคในวันซะบาโต. พวกเขามีใจแข็งกระด้างและดื้อรั้นเสียจนอาศัยเฉพาะแต่การตีความตามความคิดที่แคบของตนเองเกี่ยวกับพระบัญญัติของโมเซและกฎหมายสืบปาก. การอัศจรรย์ของพระเยซูก่อผลประโยชน์มากสักเพียงไร! แต่ความยินดี, การปลดเปลื้อง, การทำให้ความเชื่อเข้มแข็งซึ่งเกิดจากการอัศจรรย์ดังกล่าวไม่มีความหมายอะไรสำหรับคนเหล่านี้. พระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรกับพวกเขา? ครั้งหนึ่งพระองค์ “ทอดพระเนตรดูรอบด้วยพระพิโรธ, มีพระทัยเป็นทุกข์เพราะใจเขาแข็งกะด้างนัก.”—มาระโก 3:5.
16 ทุกวันนี้ พระเยซูทรงเห็นสิ่งที่ทำให้พระองค์ “มีพระทัยเป็นทุกข์” มากยิ่งกว่านั้น. พวกผู้นำในคริสต์ศาสนจักรถูกทำให้ตาบอดเนื่องจากความเลื่อมใสของพวกเขาที่มีต่อประเพณีและหลักคำสอนที่ไม่ประสานกับพระคัมภีร์. นอกจากนี้ พวกเขาโกรธแค้นเนื่องจากการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. ในหลายส่วนของโลก นักเทศน์นักบวชได้ปลุกปั่นให้เกิดการข่มเหงอันร้ายกาจต่อบรรดาคริสเตียนซึ่งพยายามอย่างจริงใจที่จะประกาศข่าวสารที่พระเยซูได้ทรงประกาศนั้น. (โยฮัน 16:2; วิวรณ์ 18:4, 24) ในเวลาเดียวกัน นักเทศน์ดังกล่าวมักจะกระตุ้นให้สาวกของตนทำสงครามและฆ่าคนอื่น—ประหนึ่งว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้พระเยซูคริสต์พอพระทัย!
17. สาวกแท้ของพระเยซูทำให้พระองค์มีพระทัยยินดีโดยวิธีใด?
17 ตรงกันข้าม เหล่าสาวกแท้ของพระเยซูพยายามจะแสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์. พวกเขาประกาศข่าวดีแก่ “คนทุกชนิด” เช่นเดียวกับที่พระเยซูได้ทำทั้ง ๆ ที่มีการต่อต้าน. (1 ติโมเธียว 2:4, ล.ม.) และพวกเขาแสดงความรักที่โดดเด่นต่อกันและกัน; นี่เป็นเครื่องหมายสำคัญในการระบุตัวพวกเขา. (โยฮัน 13:34, 35) ขณะที่พวกเขาปฏิบัติต่อเพื่อนคริสเตียนด้วยความรัก, ความนับถือ, และอย่างที่คำนึงถึงศักดิ์ศรี พวกเขาก็ดำเนินตามพระเยซูอย่างแท้จริง และทำให้พระมหากษัตริย์มาซีฮามีพระทัยยินดี!
18. อะไรทำให้นายของเราเสียพระทัย แต่เราอาจทำให้พระองค์พอพระทัยได้โดยวิธีใด?
18 นอกจากนี้ ขอให้เราจำไว้เสมอว่านายของเราทรงเสียพระทัยเมื่อเหล่าสาวกของพระองค์ไม่ได้อดทน ปล่อยให้ความรักที่เขามีต่อพระยะโฮวาเย็นลงและเลิกรับใช้พระองค์. (วิวรณ์ 2:4, 5) อย่างไรก็ดี พระเยซูพอพระทัยคนเหล่านั้นที่อดทนจนถึงที่สุด. (มัดธาย 24:13) ดังนั้น ในทุกวิถีทาง ขอให้เราจำพระบัญชาของพระคริสต์ไว้เสมอที่ว่า “จงตามเราต่อ ๆ ไป.” (โยฮัน 21:19, ล.ม.) ขอให้เราพิจารณาพระพรบางประการที่พระมหากษัตริย์มาซีฮาจะประทานให้แก่คนเหล่านั้นที่อดทนจนถึงที่สุด.
พระพรหลั่งไหลมาสู่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระมหากษัตริย์
19, 20. (ก) การดำเนินตามพระเยซูนำไปสู่พระพรอะไรในขณะนี้? (ข) การดำเนินตามพระคริสต์จะช่วยเราสนองความจำเป็นที่เราต้องมีบิดาได้อย่างไร?
19 การดำเนินตามพระเยซูเป็นแนวทางสู่ชีวิตที่ให้ผลตอบแทนอย่างแท้จริงในขณะนี้. หากเรายอมรับพระคริสต์ฐานะผู้เป็นนายของเรา ติดตามการชี้นำของพระองค์และใช้ตัวอย่างของพระองค์เป็นเครื่องนำทางของเราแล้ว เราจะพบทรัพย์อันล้ำค่าที่ผู้คนตลอดทั่วโลกแสวงหาแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ. เราจะมีงานที่ทำให้ชีวิตเราเต็มด้วยจุดมุ่งหมาย, มีครอบครัวที่ประกอบด้วยเพื่อนร่วมความเชื่อที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยความผูกพันอันแท้จริงของความรัก, มีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด, และความสงบใจ. กล่าวโดยรวบรัด เราจะพบชีวิตที่มีความสุขและน่าพอใจ. และเราจะได้รับประโยชน์มากกว่านั้นอีก.
20 พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมให้พระเยซูเป็น “พระบิดาองค์ถาวร” สำหรับคนเหล่านั้นที่หวังจะมีชีวิตอยู่ตลอดไปบนแผ่นดินโลก. พระเยซูเข้ามาแทนที่อาดาม บิดาแรกของมนุษยชาติผู้ซึ่งได้ทรยศต่อลูกหลานทั้งสิ้นของเขาอย่างน่าสังเวช. (ยะซายา 9:6, 7) โดยยอมรับพระเยซูฐานะเป็น “พระบิดาองค์ถาวร” ของเรา แสดงความเชื่อในพระองค์ เราจึงมีความหวังที่แน่นอนในเรื่องชีวิตนิรันดร์. นอกจากนั้น โดยวิธีนี้เราจึงเข้าใกล้พระยะโฮวาพระเจ้ามากขึ้น. ดังที่เราได้เรียนรู้ การพยายามจะดำเนินตามตัวอย่างของพระเยซูวันแล้ววันเล่าเป็นวิธีดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในการเชื่อฟังพระบัญชานี้ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าที่ว่า “จงเป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า ดังบุตรที่รัก.”—เอเฟโซ 5:1, ล.ม.
21. สาวกของพระคริสต์สะท้อนความสว่างในโลกที่มืดมนอย่างไร?
21 ขณะที่เราเลียนแบบพระเยซูและพระยะโฮวาพระบิดาของพระองค์ เรามีสิทธิพิเศษอันยอดเยี่ยม. เราสะท้อนความสว่างอันเจิดจ้า. ในโลกที่ปกคลุมด้วยความมืดนี้ หลายพันล้านคนได้ถูกซาตานนำไปผิดทางและเลียนแบบลักษณะนิสัยของมัน เราผู้ซึ่งดำเนินตามพระคริสต์ทำให้ภาพสะท้อนของความสว่างอันเจิดจ้าที่สุดแพร่ไปทั่ว นั่นคือความสว่างเกี่ยวกับความจริงในพระคัมภีร์, ความสว่างของคุณลักษณะที่ดีแบบคริสเตียน, ความสว่างของความยินดีแท้, สันติ สุข, และความรักอันแท้จริง. เวลาเดียวกัน เราก็เข้าใกล้พระยะโฮวายิ่งขึ้น และนั่นเป็นเป้าหมายสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้สำหรับบุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาไม่ว่าใคร ๆ.
22, 23. (ก) พระพรอะไรในอนาคตจะมีมายังคนเหล่านั้นที่ดำเนินตามพระเยซูต่อไปด้วยความภักดี? (ข) ความตั้งใจของเราควรเป็นเช่นไร?
22 นอกจากนี้ ขอให้คิดถึงสิ่งที่พระยะโฮวาทรงประสงค์จะทำเพื่อคุณในอนาคตโดยทางพระมหากษัตริย์มาซีฮาของพระองค์. ในไม่ช้า พระมหากษัตริย์องค์นี้จะทำสงครามอันชอบธรรมกับระบบชั่วของซาตาน. ชัยชนะของพระเยซูเป็นเรื่องแน่นอน! (วิวรณ์ 19:11-15) หลังจากนั้น พระคริสต์จะเริ่มการปกครองพันปีเหนือแผ่นดินโลก. รัฐบาลของพระองค์ทางภาคสวรรค์จะกระจายผลประโยชน์ ของค่าไถ่ไปยังมนุษย์ที่ซื่อสัตย์ทุกคน และยกระดับคนเช่นนั้นสู่ความสมบูรณ์. ขอให้นึกภาพตัวคุณเองมีสุขภาพแข็งแรงกระปรี้กระเปร่า, หนุ่มแน่นและมีกำลังอยู่ตลอดเวลา, ทำงานอย่างมีความสุขร่วมกับครอบครัวมนุษย์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อทำให้แผ่นดินโลกนี้เปลี่ยนเป็นอุทยาน! ในตอนสิ้นสุดรัชสมัยพันปี พระเยซูจะมอบคืนการปกครองให้พระบิดาของพระองค์. (1 โกรินโธ 15:24) หากคุณดำเนินตามพระคริสต์ด้วยความภักดีต่อ ๆ ไป คุณจะได้รับพระพรอันยอดเยี่ยมจนยากที่จะนึกภาพออกด้วยซ้ำ นั่นคือ “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า”! (โรม 8:21, ล.ม.) ใช่แล้ว เราจะได้รับพระพรทั้งสิ้นที่อาดามกับฮาวาเคยมีและได้ทำให้สูญเสียไป. ในฐานะบุตรชายหญิงของพระยะโฮวาทางแผ่นดินโลก เราจะปราศจากรอยเปื้อนบาปของอาดามตลอดไป. “ความตายจะไม่มีต่อไป” อย่างแท้จริง.—วิวรณ์ 21:4.
23 ขอระลึกถึงผู้ปกครองหนุ่มที่มั่งคั่งคนนั้นซึ่งเราได้พิจารณาในบท 1. เขาได้ปฏิเสธคำเชิญของพระเยซูที่ว่า “เชิญตามเรามา.” (มาระโก 10:17-22, ล.ม.) ขออย่าทำผิดพลาดแบบเดียวกับเขา! ขอให้คุณยึดมั่นกับคำเชิญของพระเยซูด้วยความยินดีและความกระตือรือร้น. ขอให้คุณตั้งใจที่จะอดทน ดำเนินตามผู้เลี้ยงที่ดีต่อไปวันแล้ววันเล่า, ปีแล้วปีเล่า, และมีชีวิตอยู่เพื่อจะเห็นพระองค์ทำให้พระประสงค์ทั้งสิ้นของพระยะโฮวาสำเร็จเป็นจริงอย่างรุ่งโรจน์ในที่สุด!