บท 15
“ทรงรู้สึกสงสาร”
1-3. (ก) พระเยซูทรงตอบสนองอย่างไรเมื่อขอทานตาบอดสองคนอ้อนวอนให้พระองค์ช่วย? (ข) ถ้อยคำที่ว่า “รู้สึกสงสาร” หมายความเช่นไร? (ดูเชิงอรรถ.)
ชายตาบอดสองคนนั่งอยู่ริมถนน ใกล้เมืองเยริโค. ทุกวันเขาทั้งสองมาหาที่นั่งบริเวณที่ฝูงชนมักจะผ่านไปมาเพื่อจะขอทาน. อย่างไรก็ดี วันนี้คนทั้งสองกำลังจะประสบอะไรบางอย่างที่จะทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างน่าทึ่ง.
2 ทันใดนั้น คนขอทานก็ได้ยินเสียงชุลมุนวุ่นวาย. เนื่องจากมองไม่เห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ขอทานคนหนึ่งจึงถามว่ามีเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นอะไรหรือ และมีคนบอกเขาว่า “พระเยซูชาวนาซาเร็ธเสด็จ [ผ่าน] ไป.” พระเยซูกำลังเสด็จไปกรุงเยรูซาเลมเป็นครั้งสุดท้าย. แต่พระองค์มิได้เสด็จไปแต่ผู้เดียว; ฝูงชนหมู่ใหญ่ติดตามพระองค์ไป. เมื่อได้ยินว่าใครกำลังผ่านมา ขอทานทั้งสองก็ส่งเสียงเอะอะตะโกนขึ้นมาว่า “พระองค์ผู้บุตรดาวิดเจ้าข้า. ขอทรงเมตตาข้าพเจ้าเถิด.” ด้วยความรำคาญ ฝูงชนสั่งให้ขอทานเงียบ แต่เพราะรู้สึกสิ้นหวัง คนทั้งสองจึงไม่ยอมเงียบ.
3 พระเยซูทรงได้ยินพวกเขาร้องตะโกนแข่งกับเสียงเซ็งแซ่ของฝูงชน. พระองค์จะทำประการใด? มีหลายเรื่องหนักอึ้งอยู่ในความคิดและพระทัยของพระองค์. พระองค์กำลังจะเข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของชีวิตบนแผ่นดินโลก. พระองค์ทรงทราบว่าความทุกข์ทรมานและความตายอย่างทารุณรอพระองค์อยู่ที่กรุงเยรูซาเลม. กระนั้น พระองค์มิได้เพิกเฉยต่อการร้องขออย่างไม่ละลดเช่นนั้น. พระองค์ทรงหยุดแล้วรับสั่งให้พาขอทานที่ร้องตะโกนนั้นมาหาพระองค์. เขาทั้งสองทูลอ้อนวอนว่า “พระองค์เจ้าข้า, ขอให้ตาของข้าพเจ้าเห็นได้.” โดย “มีพระทัยเมตตา [“ด้วยความรู้สึกสงสาร,” ล.ม.]” พระเยซูทรงแตะต้องตาของ เขา แล้วเขาก็มองเห็นได้. * โดยไม่ชักช้า เขาทั้งสองเริ่มติดตามพระองค์ไป.—ลูกา 18:35-43; มัดธาย 20:29-34.
4. พระเยซูทำให้คำพยากรณ์ที่ว่าพระองค์จะ “สงสารคนอนาถา” สำเร็จเป็นจริงโดยวิธีใด?
4 นี่ไม่ใช่กรณีเดียวที่พระเยซูแสดงความเมตตาสงสาร. ในหลายโอกาสและภายใต้สภาพการณ์ที่ต่างกันหลายอย่าง พระเยซูแสดงความเมตตาสงสารเพราะรู้สึกสะเทือนพระทัยอย่างยิ่ง. คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลได้บอกล่วงหน้าว่าพระองค์จะ “สงสารคนอนาถา.” (บทเพลงสรรเสริญ 72:13) จริงตามถ้อยคำดังกล่าว พระเยซูทรงไวต่อความรู้สึกของคนอื่น. พระองค์ทรงริเริ่มที่จะช่วยเหลือผู้คน. ความเมตตาสงสารของพระองค์เป็นพลังกระตุ้นในการประกาศเผยแพร่ของพระองค์. ขอให้เราดูว่าพระธรรมกิตติคุณเผยให้เห็นอย่างไรถึงความเมตตาสงสารอันอ่อนละมุนที่กระตุ้นคำพูดและการกระทำของพระเยซู และพิจารณาว่าเราจะแสดงความเมตตาสงสารคล้ายกันนั้นได้โดยวิธีใด.
การคำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น
5, 6. ตัวอย่างอะไรแสดงว่าพระเยซูเป็นบุคคลที่ร่วมความรู้สึก?
5 พระเยซูเป็นบุคคลที่มีความร่วมรู้สึกอย่างลึกซึ้ง. พระองค์ทรงเห็นอกเห็นใจและมีความร่วมรู้สึกกับคนเหล่านั้นที่ทนทุกข์. แม้พระองค์ไม่ได้มีส่วนร่วมในสภาพการณ์ทุกอย่างของเขา พระทัยของพระองค์ก็รู้สึกถึงความเจ็บปวดของพวกเขาจริง ๆ. (เฮ็บราย 4:15) เมื่อรักษาหญิงคนหนึ่งที่ทุกข์ทรมานจากโรคโลหิตตกมาเป็นเวลา 12 ปี พระองค์พรรณนาถึงโรคของเธอว่าเป็น ‘อาการป่วยที่ทำให้เธอเป็นทุกข์’ โดยวิธีนี้ทรงยอมรับว่าโรคนี้ทำให้เธอเป็นทุกข์ทรมานแสนสาหัส. (มาระโก 5:25-34, ล.ม.) เมื่อทรงเห็นมาเรียกับคนเหล่านั้นที่อยู่กับเธอร้องไห้เนื่องจากการตายของลาซะโร ความโศกเศร้าของพวกเขาทำให้พระองค์ สะเทือนพระทัยมากจนพระองค์รู้สึกปั่นป่วนพระทัย. แม้พระองค์ทรงทราบว่ากำลังจะปลุกลาซะโรให้เป็นขึ้นจากตาย พระเยซูก็ยังรู้สึกสะเทือนพระทัยจนน้ำพระเนตรไหล.—โยฮัน 11:33, 35.
6 ในอีกโอกาสหนึ่ง คนโรคเรื้อนคนหนึ่งได้เข้าไปหาพระเยซูแล้วอ้อนวอนว่า “เพียงพระองค์ต้องการ พระองค์ก็จะทำให้ข้าพเจ้าสะอาดได้.” พระเยซูซึ่งเป็นมนุษย์สมบูรณ์ที่ไม่เคยป่วยเลยทรงตอบสนองอย่างไร? พระองค์รู้สึกเห็นอกเห็นใจคนโรคเรื้อน. ที่จริง “พระองค์ทรงรู้สึกสงสาร.” (มาระโก 1:40-42, ล.ม.) ครั้นแล้วพระองค์ได้ทำสิ่งที่ผิดธรรมดา. พระองค์ทรงทราบดีว่า ตามพระบัญญัติแล้วคนโรคเรื้อนไม่สะอาด และต้องไม่ไปคลุกคลีกับคนอื่น. (เลวีติโก 13:45, 46) แน่นอน พระเยซูสามารถรักษาชายคนนี้ได้โดยไม่ต้องสัมผัสตัวเขา. (มัดธาย 8:5-13) กระนั้น พระองค์ทรงเลือกที่จะยื่นพระหัตถ์แตะต้องคนโรคเรื้อนนั้นและตรัสว่า “เราต้องการ. จงสะอาดเถิด.” ทันใดนั้น โรคเรื้อนก็หายไปจากเขา. พระเยซูแสดงความร่วมรู้สึกอันอ่อนละมุนอะไรเช่นนี้!
7. อะไรจะช่วยเราให้ปลูกฝังความร่วมรู้สึก และอาจมีการแสดงคุณลักษณะนี้โดยวิธีใด?
7 ในฐานะคริสเตียน มีการเรียกร้องให้เราเลียนแบบพระเยซูในการแสดงความร่วมรู้สึก. คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเตือนเราให้แสดง “ความเห็นอกเห็นใจ.” * (1 เปโตร 3:8, ล.ม.) อาจไม่ง่ายที่จะเข้าใจความรู้สึกของคนที่ทนทุกข์จากความเจ็บป่วยหรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง—โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราไม่เคยประสบความทุกข์ดังกล่าวด้วยตัวเอง. แต่อย่าลืมว่า ความร่วมรู้สึกมิได้ขึ้นอยู่กับการประสบสภาพการณ์คล้ายกัน. พระเยซูทรงร่วมความรู้สึกกับคนป่วยถึงแม้พระองค์เองไม่เคยป่วย. ถ้าเช่นนั้น เราจะปลูกฝังความร่วมรู้สึกได้โดยวิธีใด? โดยอดทนฟังเมื่อคนที่ทนทุกข์เปิดใจเล่าให้เราฟังถึงความรู้สึกของเขา. เราอาจถามตัวเองว่า ‘หากฉันอยู่ในสภาพอย่างเขา ฉันจะรู้สึกอย่างไร?’ (1 โกรินโธ 12:26) หากเราทำให้ความรู้สึกของเราไวต่อความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้น เราก็จะสามารถ “พูดปลอบโยนคนที่ทุกข์ใจ” ได้ดีขึ้น. (1 เธซะโลนิเก 5:14, ล.ม.) บาง ครั้ง อาจแสดงความร่วมรู้สึกได้ไม่เพียงด้วยคำพูด แต่โดยการร้องไห้ด้วย. โรม 12:15 บอกว่า “จงร้องไห้ด้วยกันกับผู้ที่ร้องไห้.”
8, 9. พระเยซูแสดงการคำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นอย่างไร?
8 พระเยซูทรงคำนึงถึงคนอื่น และพระองค์ปฏิบัติในวิธีที่คำนึงถึงความรู้สึกของเขา. ขอระลึกถึงตอนที่ชายคนหนึ่งซึ่งหูหนวกและแทบจะพูดไม่ได้ ถูกพาตัวมาหาพระเยซู. ดูเหมือนจะตระหนักว่าชายคนนี้คงมีความรู้สึกอึดอัดใจอยู่บ้าง พระเยซูจึงทรงทำสิ่งที่ตามปกติแล้วพระองค์จะไม่ทำเมื่อรักษาคนอื่น: “พระองค์จึงนำคนนั้นออกจากประชาชนไปอยู่ต่างหาก.” พระเยซูทรงรักษาชายคนนี้ในที่ลับตาคนและไม่มีฝูงชนมองดู.—มาระโก 7:31-35.
9 พระเยซูทรงปฏิบัติด้วยการคำนึงถึงอย่างเดียวกันเมื่อมีคนพาชายตาบอดคนหนึ่งมาหาพระองค์และขอให้พระองค์รักษาเขา. พระเยซู “ได้จูงมือคนตาบอดพาออกไปนอกหมู่บ้าน.” ต่อจากนั้น พระเยซูทรงรักษาชายคนนี้เป็นขั้น ๆ. บางทีการทำเช่นนี้เปิดโอกาสให้ชายคนนี้ค่อย ๆ ปรับความคิดและสายตาให้รับภาพที่ละลานตาและโลกอันซับซ้อนรอบตัวเขาที่ต้องแสงตะวันอันเจิดจ้า. (มาระโก 8:22-26) พระเยซูแสดงให้เห็นการคำนึงถึงเสียจริง ๆ!
10. เราจะแสดงการคำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นในทางใดบ้าง?
10 การเป็นผู้ติดตามพระเยซูเรียกร้องให้เราแสดงการคำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น. ดังนั้น เราต้องระวังคำพูดของเรา จำไว้ว่าการใช้ลิ้นแบบไม่ยั้งคิดอาจทำให้คนอื่นรู้สึกเจ็บใจ. (สุภาษิต 12:18; 18:21) คำพูดเกรี้ยวกราด, คำพูดดูถูกเหยียดหยาม, และคำพูดถากถางแบบเชือดเฉือนไม่ควรให้มีอยู่ในท่ามกลางคริสเตียนซึ่งไวต่อความรู้สึกของคนอื่น. (เอเฟโซ 4:31) ผู้ปกครองทั้งหลาย คุณจะแสดงการคำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นได้โดยวิธีใด? เมื่อให้คำแนะนำ จงพูดอย่างนุ่มนวลด้วยความกรุณา ไม่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเสียศักดิ์ศรี. (ฆะลาเตีย 6:1) บิดามารดาทั้งหลาย คุณจะคำนึงถึงความรู้สึกของลูกได้โดยวิธีใด? เมื่อตีสอน พยายามใช้วิธีที่จะไม่ทำให้ลูกของคุณเสียหน้าโดยไม่จำเป็น.—โกโลซาย 3:21.
ริเริ่มในการช่วยเหลือคนอื่น
11, 12. เรื่องราวอะไรในคัมภีร์ไบเบิลที่แสดงว่าพระเยซูไม่ต้องให้มีใครมาขอร้องก่อนที่พระองค์แสดงความเมตตาสงสารต่อคนอื่น?
11 พระเยซูไม่ต้องให้มีใครมาขอร้องทุกครั้งไปก่อนที่พระองค์จะแสดงความเมตตาสงสารต่อคนอื่น. ที่จริง ความเมตตาสงสารไม่ใช่คุณลักษณะที่ทำให้คนเราอยู่เฉย ๆ แต่เป็นคุณลักษณะที่กระตุ้นให้ลงมือทำ. ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจ ความเมตตาสงสารอันอ่อนละมุนได้กระตุ้นพระเยซูให้ริเริ่มในการช่วยเหลือคนอื่น. ตัวอย่างเช่น เมื่อฝูงชนจำนวนมากที่ได้ค้างอยู่กับพระองค์เป็นเวลาสามวันกำลังจะไปโดยไม่มีอาหารกิน ไม่มีใครต้องมาบอกพระเยซูว่าประชาชนหิวหรือแนะนำให้พระองค์ทำอะไรบางอย่างในเรื่องนี้. เรื่องราวที่บันทึกไว้บอกว่า “พระเยซูทรงเรียกพวกสาวกของพระองค์มาตรัสว่า ‘เราสงสารคนเหล่านี้เพราะเขาค้างอยู่กับเราได้สามวันแล้วและไม่มีอาหารจะกิน เราไม่อยากให้เขาไปเมื่อยังอดอาหารอยู่ กลัวว่าเขาจะหิวโหยสิ้นแรงลงตามทาง.’” ต่อจากนั้น ด้วยความสมัครใจของพระองค์เอง พระองค์ทรงเลี้ยงอาหารฝูงชนโดยการอัศจรรย์.—มัดธาย 15:32-38, ฉบับแปลใหม่.
12 ขอพิจารณาอีกเรื่องหนึ่ง. ในปี ส.ศ. 31 ขณะที่พระเยซูอยู่ใกล้เมืองนาอิน พระองค์บังเอิญพบเหตุการณ์หนึ่งที่น่าเศร้า. ขบวนแห่ศพกำลังออกจากเมือง อาจกำลังมุ่งไปยังอุโมงค์ฝังศพบนเนินเขาที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อจะฝังศพ “ลูกคนเดียวของ . . . หญิงม่าย.” คุณนึกภาพออกไหมถึงความเจ็บปวดรวดร้าวในหัวใจของมารดาคนนี้? เธอกำลังจะฝังศพลูกชายคนเดียวของเธอ และไม่มีสามีที่จะร่วมความทุกข์โศกกับเธอ. จากผู้คนทั้งหมดในขบวนแห่ศพนั้น พระเยซู “ได้ทรงเห็น” แม่ม่ายที่ไร้บุตร. สิ่งที่ได้พบเห็นทำให้พระองค์สะเทือนพระทัย ใช่แล้ว “พระองค์ทรงเมตตากรุณา [“รู้สึกสงสาร,” ล.ม.] เขา.” ไม่มีใครต้องมา ร้องขอพระองค์. ความเมตตาสงสารที่อยู่ในพระทัยกระตุ้นพระองค์ให้ลงมือทำ. ดังนั้น “พระองค์เสด็จเข้าไปใกล้ถูกต้องโลง” แล้วทรงทำให้ชายหนุ่มกลับมีชีวิตอีก. เกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น? พระเยซูมิได้ขอให้ชายหนุ่มร่วมกับฝูงชนเดินทางไปกับพระองค์. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระเยซู “ทรงมอบชายหนุ่มให้แก่มารดาของเขา” ทำให้ทั้งสองกลับมาอยู่กันเป็นครอบครัวอีกและเป็นการทำให้แน่ใจว่าแม่ม่ายจะได้รับการเอาใจใส่ดูแล.—ลูกา 7:11-15, ล.ม.
13. เราจะเลียนแบบพระเยซูในการริเริ่มอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยคนเหล่านั้นที่ต้องการความช่วยเหลือได้โดยวิธีใด?
13 เราจะติดตามตัวอย่างของพระเยซูได้อย่างไร? แน่นอน เราไม่สามารถจัดให้มีอาหารโดยการอัศจรรย์หรือทำให้คนตายกลับมีชีวิตได้. อย่างไรก็ดี เราสามารถเลียนแบบพระเยซูในการริเริ่มช่วยคนเหล่านั้นที่ต้องการความช่วยเหลือ. เพื่อนร่วมความเชื่ออาจประสบความยุ่งยากอย่างหนักด้านการเงิน หรือตกงาน. (1 โยฮัน 3:17) อาจมีความจำเป็นอันเร่งด่วนที่จะซ่อมแซมบ้านของแม่ม่ายคนหนึ่ง. (ยาโกโบ 1:27) เราอาจรู้จักครอบครัวที่โศกเศร้าเนื่องจากสูญเสียญาติมิตรซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปลอบโยนหรือความช่วยเหลือบางอย่างในภาคปฏิบัติ. (1 เธซะโลนิเก 5:11) ในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง เราไม่ต้องคอยให้มีใครมาขอร้องก่อนจึงจะให้ความช่วยเหลือบางอย่าง. (สุภาษิต 3:27) ความเมตตาสงสารจะกระตุ้นเราให้ริเริ่มอย่างเหมาะสมที่จะช่วยเหลือ เท่าที่สภาพการณ์ของเราเอื้ออำนวย. อย่าลืมว่าการกระทำอย่างกรุณาซึ่งเป็นแบบธรรมดา ๆ หรือคำพูดปลอบโยนไม่กี่คำที่พูดจากใจจริงอาจเป็นการแสดงความเมตตาสงสารที่มีพลัง.—โกโลซาย 3:12.
ความเมตตาสงสารกระตุ้นพระองค์ให้ประกาศ
14. ทำไมพระเยซูให้ความสำคัญแก่งานประกาศข่าวดีเป็นอันดับแรก?
14 ดังที่เราได้เห็นในตอน 2 ของหนังสือนี้ พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่โดดเด่นในการประกาศข่าวดี. พระองค์ตรัสว่า “เราต้องประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า . . . เพราะเราถูกใช้มาเพื่อการนี้.” (ลูกา 4:43, ล.ม.) ทำไมพระองค์จึงให้ความสำคัญอันดับแรกแก่งานนี้? ประการแรกเนื่องจากความรัก ที่พระองค์มีต่อพระเจ้า. แต่พระเยซูมีแรงกระตุ้นอีกอย่างหนึ่ง: ความเมตตาสงสารอย่างจริงใจกระตุ้นพระองค์ให้ตอบสนองความจำเป็นทางฝ่ายวิญญาณของคนอื่น. ในทุกวิถีทางที่พระองค์แสดงความเมตตาสงสาร ไม่มีวิธีใดที่สำคัญยิ่งไปกว่าการสนองความหิวทางฝ่ายวิญญาณของคนอื่น. ขอให้เราพิจารณาสองเหตุการณ์ที่เผยให้เห็นว่าพระเยซูมีทัศนะอย่างไรต่อผู้คนที่พระองค์ประกาศให้ฟัง. การพิจารณาดังกล่าวจะช่วยเราให้วิเคราะห์เจตนาของเราเองในการมีส่วนร่วมในงานเผยแพร่ต่อสาธารณชน.
15, 16. จงพรรณนาสองเหตุการณ์ที่เผยให้เห็นว่าพระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรต่อผู้คนที่พระองค์ประกาศให้ฟัง.
15 ในปี ส.ศ. 31 หลังทุ่มเทพระองค์เองอย่างแข็งขันในงานเผยแพร่ประมาณสองปี พระเยซูได้เพิ่มความพยายามมากขึ้นโดยเริ่ม “เสด็จดำเนินไปตามนครและหมู่บ้านโดยรอบ” ในแกลิลี. สิ่งที่ได้พบเห็นทำให้พระองค์สะเทือนพระทัย. อัครสาวกมัดธายรายงานว่า “เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นประชาชนก็ทรงสงสารเขา ด้วยเขาถูกรังควานและไร้ที่พึ่งดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มัดธาย 9:35, 36, ฉบับแปลใหม่) พระเยซูทรงเห็นอกเห็นใจสามัญชน. พระองค์สำนึกอย่างแรงกล้าถึงสภาพฝ่ายวิญญาณที่น่าสังเวชของพวกเขา. พระองค์ทรง ทราบว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้ายและถูกละเลยอย่างสิ้นเชิงโดยผู้ที่จริง ๆ แล้วน่าจะบำรุงเลี้ยงพวกเขา ซึ่งก็คือพวกผู้นำศาสนานั่นเอง. โดยได้รับการกระตุ้นจากความเมตตาสงสารอย่างลึกซึ้ง พระเยซูทรงทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่อไปถึงผู้คนพร้อมด้วยข่าวสารแห่งความหวัง. ไม่มีอะไรจำเป็นสำหรับพวกเขายิ่งไปกว่าข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า.
16 เหตุการณ์คล้ายกันได้เกิดขึ้นในหลายเดือนต่อมา ใกล้เทศกาลปัศคาในปี ส.ศ. 32. ในโอกาสนี้ พระเยซูกับเหล่าอัครสาวกได้ลงเรือแล่นข้ามทะเลแกลิลีไปหาที่สงัดเพื่อจะพักผ่อน. แต่ฝูงชนได้วิ่งไปตามชายฝั่งและไปถึงอีกฝั่งหนึ่งก่อนที่เรือจะมาถึง. พระเยซูมีปฏิกิริยาอย่างไร? “เมื่อพระเยซูเสด็จขึ้นจากเรือ พระองค์ทรงเห็นชนฝูงใหญ่ แต่พระองค์ทรงรู้สึกสงสารพวกเขา เพราะพวกเขาเป็นเหมือนแกะที่ไม่มีผู้เลี้ยง. และพระองค์ทรงเริ่มสอนเขาหลายเรื่อง.” (มาระโก 6:31-34, ล.ม.) อีกครั้งหนึ่ง พระเยซู “ทรงรู้สึกสงสาร” เนื่องจากสภาพขาดแคลนทางฝ่ายวิญญาณของผู้คน. เช่นเดียวกับ “แกะที่ไม่มีผู้เลี้ยง” พวกเขาอดอยากทางฝ่ายวิญญาณและต้องดูแลตัวเอง. แทนที่จะเป็นเพียงการสำนึกในหน้าที่ ความเมตตาสงสารต่างหากที่ได้กระตุ้นให้พระเยซูประกาศ.
17, 18. (ก) อะไรกระตุ้นเราให้มีส่วนร่วมในงานเผยแพร่? (ข) เราจะปลูกฝังความสงสารต่อคนอื่นได้อย่างไร?
17 อะไรกระตุ้นเราในฐานะสาวกของพระเยซูให้มีส่วนร่วมในงานเผยแพร่? ดังที่เราได้เห็นในบท 9 ของหนังสือนี้ เรามีงานมอบหมาย มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะประกาศและทำให้คนเป็นสาวก. (มัดธาย 28:19, 20; 1 โกรินโธ 9:16) แต่แรงกระตุ้นของเราในการมีส่วนร่วมในงานนี้ต้องไม่ใช่เพียงแค่ความสำนึกในพันธะหน้าที่. สำคัญที่สุด ความรักที่มีต่อพระยะโฮวากระตุ้นเราให้ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระองค์. การประกาศของเรายังได้รับการกระตุ้นจากความเมตตาสงสารต่อคนเหล่านั้นที่มีความเชื่อต่างจากเราด้วย. (มาระโก 12:28-31) ถ้าเช่นนั้น เราจะปลูกฝังความเมตตาสงสารต่อคนอื่นได้อย่างไร?
18 เราต้องมองดูผู้คนเหมือนที่พระเยซูทรงมองพวกเขา นั่นคือ “ถูกรังควานและไร้ที่พึ่งดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” ขอให้นึกภาพว่าคุณพบลูกแกะตัวหนึ่งที่หลง ทางอย่างสิ้นหวัง. หากไม่มีผู้เลี้ยงนำแกะนั้นไปยังทุ่งหญ้าเขียวสดและแหล่งน้ำแล้ว สัตว์ที่น่าสงสารนี้ก็จะหิวโหยและกระหายน้ำ. คุณจะไม่สงสารลูกแกะตัวนี้หรือ? คุณจะพยายามสุดความสามารถที่จะให้หญ้าและน้ำแก่แกะนั้นบ้างมิใช่หรือ? ลูกแกะนั้นก็เหมือนกับหลายคนที่ยังไม่รู้จักข่าวดี. เนื่องจากถูกละเลยโดยผู้เลี้ยงแกะทางศาสนาจอมปลอม พวกเขาจึงอดอยากและกระหายทางฝ่ายวิญญาณอีกทั้งไม่มีความหวังแท้สำหรับอนาคต. เรามีสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขาซึ่งก็ได้แก่ อาหารฝ่ายวิญญาณที่บำรุงกำลังและน้ำแห่งความจริงที่ทำให้สดชื่นซึ่งพบในพระคำของพระเจ้า. (ยะซายา 55:1, 2) เมื่อเราไตร่ตรองดูความจำเป็นทางฝ่ายวิญญาณของคนที่อยู่รอบตัวเรา เรารู้สึกสงสารพวกเขา. เช่นเดียวกับพระเยซู ถ้าเรารู้สึกสงสารผู้คนอย่างยิ่ง เราก็จะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อบอกความหวังเรื่องราชอาณาจักรแก่พวกเขา.
19. เราอาจทำเช่นไรเพื่อช่วยกระตุ้นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลซึ่งมีคุณวุฒิ ให้มีส่วนร่วมในงานเผยแพร่แก่สาธารณชน?
19 เราจะช่วยคนอื่นให้ดำเนินตามตัวอย่างของพระเยซูได้อย่างไร? สมมุติว่าเราต้องการสนับสนุนนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลซึ่งมีคุณวุฒิให้เริ่มมีส่วนร่วมในงานประกาศแก่สาธารณชน. หรือบางทีเราต้องการช่วยคนที่เลิกประกาศให้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในงานเผยแพร่อีก. เราจะช่วยคนเช่นนั้นได้โดยวิธีใด? เราต้องกระตุ้นหัวใจเขา. จำไว้ว่าทีแรกพระเยซู “ทรงรู้สึกสงสาร” ผู้คน ครั้นแล้วพระองค์จึงทรงสอนพวกเขา. (มาระโก 6:34) ดังนั้น หากเราสามารถช่วยเขาให้ปลูกฝังความเมตตาสงสาร หัวใจของเขาก็คงจะกระตุ้นเขาให้เป็นเหมือนพระเยซูและบอกข่าวดีแก่คนอื่น. เราอาจถามพวกเขาว่า “การยอมรับข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรได้ทำ ให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง? จะว่าอย่างไรกับคนที่ยังไม่รู้ข่าวสารนี้ พวกเขาจำเป็นต้องรู้ข่าวดีด้วยมิใช่หรือ? คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยพวกเขา?” แน่นอน แรงกระตุ้นอันมีพลังมากที่สุดในการมีส่วนร่วมในงานเผยแพร่คือความรักที่มีต่อพระเจ้าและความปรารถนาที่จะรับใช้พระองค์.
20. (ก) มีอะไรเกี่ยวข้องด้วยในการเป็นผู้ติดตามพระเยซู? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทต่อไป?
20 การเป็นสาวกของพระเยซูเกี่ยวข้องไม่เพียงการกล่าวซ้ำคำตรัสของพระองค์และเลียนแบบการกระทำของพระองค์. เราต้องปลูกฝัง “เจตคติ” อย่างเดียวกับที่พระองค์มี. (ฟิลิปปอย 2:5, ล.ม.) ดังนั้น เรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่คัมภีร์ไบเบิลเผยให้เราเห็นความคิดและความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังคำตรัสและการกระทำของพระเยซู! โดยมารู้จักคุ้นเคยกับ “พระทัยของพระคริสต์” เราจะเตรียมพร้อมมากขึ้นที่จะพัฒนาให้มีความรู้สึกไวรวมทั้งความเมตตาสงสารอย่างจริงใจและโดยวิธีนี้จึงปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างที่พระเยซูปฏิบัติต่อผู้คนโดยทั่วไป. (1 โกรินโธ 2:16) ในบทต่อไป เราจะพิจารณาวิธีต่าง ๆ ที่พระเยซูทรงแสดงความรักต่อเหล่าสาวกของพระองค์โดยเฉพาะ.
^ วรรค 3 คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “รู้สึกสงสาร” ถูกเรียกว่าเป็น “คำหนึ่งซึ่งเน้นหนักมากที่สุดในภาษากรีกสำหรับความรู้สึกเมตตาสงสาร.” แหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวว่า คำนี้บ่งชี้ “ไม่เพียงความร่วมรู้สึกเมื่อเห็นความทุกข์ทรมาน แต่ยังชี้ถึงความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะปลดเปลื้องความทุกข์และขจัดให้หมดไป.”
^ วรรค 7 คำคุณศัพท์กรีกที่ได้รับการแปลว่า “เห็นอกเห็นใจ” มีความหมายตามตัวอักษรว่า “ทนทุกข์ร่วมกับ.”