บท 14
“ประชาชนเป็นอันมากมาเฝ้าพระองค์”
1-3. เกิดอะไรขึ้นเมื่อบิดามารดาพาลูก ๆ ของตนมาหาพระเยซู และเหตุการณ์นี้เผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับพระเยซู?
พระเยซูทรงทราบว่าจุดจบของชีวิตพระองค์บนแผ่นดินโลกใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว. พระองค์มีเวลาเหลืออยู่เพียงไม่กี่สัปดาห์ และยังคงมีอีกมากมายหลายสิ่งที่จะต้องทำ! พระองค์กำลังประกาศสั่งสอนอยู่กับเหล่าอัครสาวกของพระองค์ในพีเรีย แคว้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน. พวกเขาทำงานเผยแพร่ลงไปทางใต้ไปยังกรุงเยรูซาเลม ที่นั่นพระเยซูจะเข้าร่วมปัศคาครั้งสุดท้ายของพระองค์ซึ่งส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อชีวิตพระองค์.
2 หลังจากที่พระเยซูได้ถกกับผู้นำศาสนาบางคนอย่างหนักแล้ว ก็เกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย. ผู้คนพาลูก ๆ ของตนมาหาพระองค์. ดูเหมือนว่า พวกเด็ก ๆ อยู่ในวัยที่ต่างกัน เพราะมาระโกกล่าวถึงพวกเขาโดยใช้คำเดียวกับที่ใช้ก่อนหน้านั้นเพื่อพรรณนาถึงเด็กอายุ 12 ปี ส่วนลูกาใช้คำที่อาจแปลได้ว่า “ทารก.” (ลูกา 18:15; มาระโก 5:41, 42; 10:13) แน่นอน ที่ไหนก็ตามที่มีเด็ก ๆ มักจะมีเสียงเจี๊ยวจ๊าวและวุ่นวายอยู่บ้าง. พวกสาวกของพระเยซูตำหนิบิดามารดา บางทีอาจคิดไปว่านายของตนมีธุระยุ่งจนไม่มีเวลาจะสนใจเด็ก ๆ. พระเยซูทรงทำเช่นไร?
3 เมื่อพระเยซูทรงเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น พระองค์รู้สึกเคืองพระทัย. พระองค์เคืองพระทัยใคร? พวกเด็ก ๆ หรือว่าพวกบิดามารดา? ไม่ใช่ พระองค์เคืองพระทัยพวกสาวกของพระองค์! พระองค์ตรัสว่า “จงยอมให้เด็กเล็ก ๆ เข้ามาหาเรา, อย่าห้ามเขาเลย, เพราะว่าชาวแผ่นดินของพระเจ้าย่อมเป็นคนอย่างนั้น. เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า, ผู้หนึ่งผู้ใดมิได้รับแผ่นดินของพระเจ้าเหมือนเด็กเล็ก ๆ, ผู้นั้นจะเข้าในแผ่นดินนั้นไม่ได้.” แล้วพระเยซูทรง “อุ้ม” เด็กเหล่านั้นและทรงอวยพรพวกเขา. (มาระโก 10:13-16) คำที่มาระโกใช้ในข้อนี้บ่งชี้ ว่าพระเยซูทรงกอดพวกเด็ก ๆ ด้วยความรักใคร่ บางทีถึงกับอุ้มทารกบางคนด้วยซ้ำ ดังที่ผู้แปลคนหนึ่งได้กล่าวนั้น. เห็นได้ชัดว่า พระเยซูทรงชอบเด็ก. อย่างไรก็ดี เราเรียนรู้อะไรอีกเกี่ยวกับพระองค์ในที่นี้ นั่นคือ พระองค์เป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย.
4, 5. (ก) เราแน่ใจได้อย่างไรว่าพระเยซูเป็นคนที่เข้าหาได้ง่าย? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไรในบทนี้?
4 หากพระเยซูเป็นคนเคร่งขรึม, เฉยเมย, หรือหยิ่งยโส เด็กเหล่านั้นคงจะไม่อยากมาหาพระองค์ ทั้งบิดามารดาก็คงไม่กล้าพาลูกมาหาพระองค์. ขณะที่คุณนึกภาพเหตุการณ์นี้ คุณคงจะเห็นบิดามารดายิ้มแฉ่งทีเดียวขณะที่บุรุษผู้ใจดีคนนี้แสดงความรักใคร่ต่อลูก ๆ ของพวกเขา ยอมรับว่าพวกเด็กมีคุณค่าในสายพระเนตรพระเจ้า และอวยพรพวกเขา. ที่จริง แม้พระเยซูแบกภาระหนักที่สุด พระองค์ก็ยังคงเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่ายที่สุดในบรรดามนุษย์.
5 ใครอีกได้พบว่าพระเยซูเป็นคนที่เข้าหาได้ง่าย? อะไรทำให้พระองค์เป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายจริง ๆ? และเราจะเรียนรู้เพื่อเป็นเหมือนพระเยซูในเรื่องนี้ได้อย่างไร? ให้เรามาดูกัน.
ใครพบว่าพระเยซูเป็นคนที่เข้าหาได้ง่าย?
6-8. บ่อยครั้งพระเยซูติดต่อเกี่ยวข้องกับใคร เจตคติของพระองค์ที่มีต่อพวกเขาแตกต่างจากเจตคติของพวกผู้นำศาสนาอย่างไร?
6 ขณะที่คุณอ่านเรื่องราวในกิตติคุณ คุณอาจรู้สึกทึ่งเนื่องจากผู้คนจำนวนมากไม่ลังเลที่จะเข้าไปหาพระเยซู. ตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งเราอ่านถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ว่ามี “คนเป็นอันมาก.” “คนมากหลายมาจากมณฑลฆาลิลาย . . . ติดตามพระองค์ไป.” “คนเป็นอันมากพากันมาเฝ้าพระองค์.” “และประชาชนเป็นอันมากมาเฝ้าพระองค์.” “คนเป็นอันมากได้ไปกับพระองค์.” (มัดธาย 4:25; 13:2; 15:30; ลูกา 14:25) ใช่แล้ว บ่อยครั้งผู้คนจำนวนมากมายอยู่รอบพระองค์.
7 โดยทั่วไป คนเหล่านี้เป็นสามัญชนซึ่งผู้นำศาสนากล่าวถึงพวกเขาด้วยความดูถูกว่าเป็น “คนบ้านนอก.” พวกฟาริซายและพวกปุโรหิตพูดอย่างเปิดเผยว่า “ประชาชนนี้ที่ไม่รู้จักพระบัญญัติก็ต้องถูกแช่งอยู่แล้ว.” (โยฮัน 7:49) ข้อเขียนของพวกรับบีในภายหลังยืนยันเจตคติดังกล่าว. ผู้นำศาสนาหลายคนมองดูคนเช่นนั้นด้วยความรังเกียจ ไม่ยอมรับประทานอาหารกับพวกเขา, ไม่ซื้อของจากพวกเขา, หรือคบหากับพวกเขา. ที่จริง บางคนยืนกรานว่าไม่มีความหวังในการกลับเป็นขึ้นจากตายสำหรับคนเช่นนั้นที่ไม่รู้จักกฎหมายสืบปาก! คนที่ต่ำต้อยจำนวนมากคงต้องหลบเลี่ยงผู้นำดังกล่าว แทนที่จะขอความช่วยเหลือหรือการชี้นำจากพวกเขา. แต่พระเยซูต่างออกไป.
8 พระเยซูทรงติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้คนทั่วไปอย่างไม่ถือตัว. พระองค์รับประทานอาหารกับพวกเขา, ทรงรักษาเขาให้หายจากโรค, ทรงสอนพวกเขา, และให้ความหวังแก่พวกเขา. แน่นอน พระเยซูทรงมองตามสภาพจริง โดยยอมรับว่าคนส่วนใหญ่จะปฏิเสธโอกาสที่จะรับใช้พระยะโฮวา. (มัดธาย 7:13, 14) อย่างไรก็ดี พระองค์ทรงหวังว่าแต่ละคนจะตอบรับ และทรงทราบว่าหลายคนมีความสามารถที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง. ช่างแตกต่างเสียจริง ๆ จากพวกปุโรหิตและพวกฟาริซายที่มีใจแข็งกระด้าง! แต่น่าประหลาดใจ แม้กระทั่งพวกปุโรหิตและพวกฟาริซายก็ยังเข้าหาพระเยซู และพวกเขาหลายคนได้เปลี่ยนแนวทางของตนและติดตามพระองค์. (กิจการ 6:7; 15:5) เศรษฐีหรือผู้มีอิทธิพลบางคนก็เช่นกันได้พบว่าพระเยซูเป็นคนที่เข้าหาได้ง่าย.—มาระโก 10:17, 22.
9. เหตุใดพวกผู้หญิงจึงรู้สึกว่าพระเยซูเป็นคนที่เข้าหาได้ง่าย?
9 พวกผู้หญิงก็ไม่ลังเลที่จะเข้าไปหาพระเยซู. บ่อยครั้งพวกเธอคงต้องรู้สึกว่าได้รับการดูถูกอย่างน่าอับอายจากผู้นำศาสนา. พวกรับบีโดยทั่วไปเหยียดหยามใครก็ตามที่สั่งสอนผู้หญิง. ที่จริง ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นพยานในศาล; ถือกันว่าพวกเธอเป็นพยานที่เชื่อถือไม่ได้. พวกรับบีถึงกับกล่าวในคำอธิษฐานบทหนึ่งว่า พวกเขาขอบคุณพระเจ้าที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้หญิง! กระนั้น พวกผู้หญิงพบว่าพระเยซูไม่ได้แสดงการดูถูกเช่นนั้น. หลายคนเข้าไปหาพระองค์ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้. ตัวอย่างเช่น เราได้อ่านเรื่องราวที่มาเรีย พี่สาวของลาซะโรนั่งอยู่ที่พระบาทของพระเยซู ตั้งอกตั้งใจฟังคำตรัสของพระเยซู ขณะที่มาธาพี่สาว ของเธอวุ่นอยู่กับการเตรียมอาหารด้วยความกังวลเกินควร. พระเยซูทรงชมเชยมาเรียที่จัดลำดับความสำคัญอย่างถูกต้อง.—ลูกา 10:39-42.
10. พระเยซูต่างจากพวกผู้นำศาสนาอย่างไรในวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่อคนป่วย?
10 คนป่วยก็พากันหลั่งไหลไปหาพระเยซูด้วย ถึงแม้บ่อยครั้งพวกผู้นำศาสนาปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนเป็นคนที่น่ารังเกียจของสังคม. พระบัญญัติของโมเซได้กำหนดไว้ว่า ควรกักบริเวณคนที่เป็นโรคเรื้อนด้วยเหตุผลทางสุขภาพ แต่นั่นไม่เป็นเหตุที่จะปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นอย่างที่ขาดความกรุณา. (เลวีติโกบท 13) อย่างไรก็ดี ต่อมากฎของพวกรับบีแถลงว่าคนโรคเรื้อนเป็นที่น่ารังเกียจเหมือนอุจจาระ. ผู้นำศาสนาบางคนทำถึงขนาดที่ขว้างก้อนหินใส่คนโรคเรื้อนเพื่อไม่ให้พวกเขาเข้ามาใกล้! ยากที่จะนึกภาพออกว่าคนที่ได้รับการปฏิบัติแบบนั้นจะรวบรวมความกล้าได้อย่างไรเพื่อเข้าไปหาผู้สอนคนใดก็ตาม แต่คนโรคเรื้อนได้เข้าไปหาพระเยซู. ผู้ที่เป็นโรคเรื้อนคนหนึ่งกล่าวถ้อยคำแสดงความเชื่อซึ่งรู้จักกันดีที่ว่า “พระองค์เจ้าข้า, ถ้าพระองค์พอพระทัย [“ต้องการ,” ล.ม.] พระองค์อาจจะทำให้ข้าพเจ้าหายโรคเป็นสะอาดได้.” (ลูกา 5:12) ในบทถัดไป เราจะพิจารณาการตอบสนองของพระเยซู. ถึงตอนนี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะบอกว่า นี่เป็นข้อพิสูจน์อันชัดแจ้งที่สุดว่าพระเยซูเป็นบุคคลที่เข้าหาได้ง่าย.
11. ตัวอย่างอะไรแสดงว่าคนเหล่านั้นที่ทุกข์ใจด้วยความรู้สึกผิดกล้าเข้าหาพระเยซู และทำไมเรื่องนี้นับว่าสำคัญ?
11 คนที่ทุกข์ใจเนื่องด้วยความรู้สึกผิดกล้าเข้าหาพระเยซู. ตัวอย่างเช่น ขอให้คิดถึงตอนที่พระเยซูรับประทานอาหารที่บ้านของฟาริซายคนหนึ่ง. ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นคนบาปได้เข้ามาในบ้านและคุกเข่าลงที่พระบาทของพระเยซู ร้องไห้คร่ำครวญถึงความผิดของเธอ. น้ำตาเธอเปียกโชกพระบาทของพระเยซู และเธอใช้ผมเช็ดพระบาทพระองค์จนแห้ง. ขณะที่เจ้าภาพของพระเยซูถอยหนีด้วยความรังเกียจและติเตียนพระเยซูอย่างแรงที่ยอมให้หญิงคนนี้มาอยู่ใกล้ พระเยซูชมเชยหญิงคนนี้ด้วยความกรุณาเพราะการกลับใจอย่างจริงใจของเธอและทำให้เธอมั่นใจในการให้อภัยของพระยะโฮวา. (ลูกา 7:36-50) ทุกวันนี้ ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาก่อน ผู้คนที่หนักอึ้งด้วยความรู้สึกผิดต้องกล้าเข้าไปหาคนที่สามารถช่วยเขาให้ฟื้นฟูสัมพันธภาพกับพระเจ้า! อะไรที่ทำให้พระเยซูเป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายเช่นนั้น?
อะไรทำให้พระเยซูเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย?
12. ทำไมไม่น่าแปลกใจที่พระเยซูเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย?
12 อย่าลืมว่าพระเยซูทรงเลียนแบบพระบิดาที่รักของพระองค์ผู้สถิตในสวรรค์อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง. (โยฮัน 14:9) คัมภีร์ไบเบิลเตือนใจเราว่า พระยะโฮวา “มิทรงอยู่ห่างไกลจากเราทุกคนเลย.” (กิจการ 17:27) พระยะโฮวา “ผู้สดับคำอธิษฐาน” เป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่ายเสมอสำหรับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์และสำหรับใครอื่นซึ่งต้องการอย่างจริงใจที่จะแสวงหาพระองค์และรับใช้พระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2) คิดดูสิ บุคคลสำคัญที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในเอกภพทรงเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่ายที่สุดด้วย! เช่นเดียวกับพระบิดา พระเยซูทรงรักผู้คน. ในบทต่าง ๆ ต่อจากนี้ เราจะพิจารณาความรักที่แรงกล้าในพระทัยของพระเยซู. อย่างไรก็ดี พระเยซูเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย ส่วนใหญ่เนื่องจากความรักที่พระองค์มีต่อผู้คนเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ง่าย. ขอให้เราพิจารณาลักษณะนิสัยบางอย่างของพระเยซูที่แสดงให้เห็นความรักดังกล่าว.
13. บิดามารดาอาจเลียนแบบพระเยซูได้โดยวิธีใด?
13 ผู้คนรู้สึกได้ไม่ยากว่าพระเยซูสนพระทัยพวกเขาเป็นส่วนตัว. ความสนใจเป็นส่วนตัวเช่นนั้นมิได้หมดไปเมื่อพระเยซูอยู่ภายใต้ความกดดัน. ดังที่เราได้พิจารณามาแล้ว เมื่อบิดามารดาพาลูก ๆ มาหาพระเยซู พระองค์ยังคงเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่ายแม้มีธุระยุ่ง และกำลังแบกความรับผิดชอบที่หนัก. พระองค์วางตัวอย่างที่ดีอะไรเช่นนี้สำหรับบิดามารดา! การเลี้ยงดูบุตรเป็นเรื่องยากในโลกทุกวันนี้. กระนั้น นับว่าสำคัญที่บุตรมองว่าบิดามารดาเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย. หากคุณเป็นบิดาหรือมารดา คุณรู้ดีว่าบางครั้งคุณก็มีธุระยุ่งจริง ๆ จนไม่มีเวลาเอาใจใส่ความต้องการของลูก. กระนั้น คุณจะทำให้ลูกมั่นใจได้ไหมว่า คุณจะหาเวลาให้เขาโดยเร็วเท่าที่เป็นไปได้? ขณะที่คุณรักษาคำพูดของคุณ ลูกก็จะเรียนรู้ว่า ความอดทนย่อมได้รับผลตอบแทน. เขาจะเรียนรู้ด้วยว่า คุณยินดีให้เข้าพบได้ทุกเมื่อไม่ว่าเขามีปัญหาหรือความกังวลใด ๆ ก็ตาม.
14-16. (ก) สภาพการณ์เช่นไรเป็นเหตุให้พระเยซูทำการอัศจรรย์ครั้งแรก และทำไมการอัศจรรย์ดังกล่าวนับว่าเป็นการกระทำที่ยอดเยี่ยม? (ข) การอัศจรรย์ของพระเยซูที่คานาเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับพระองค์ และให้บทเรียนอะไรสำหรับบิดามารดา?
14 พระเยซูทรงทำให้ผู้คนรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นห่วงกังวลเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพระองค์. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณาการอัศจรรย์ครั้งแรกที่พระเยซูทรงทำ. พระองค์เข้าร่วมงานเลี้ยงสมรสในคานา เมืองหนึ่งในแกลิลี. ได้เกิดปัญหาขึ้นซึ่งทำให้ลำบากใจ—เหล้าองุ่นหมด! มาเรียมารดาของพระเยซู ได้บอกเรื่องนี้ให้บุตรของเธอรู้. และพระเยซูทรงทำเช่นไร? พระองค์ได้สั่งให้คนรับใช้ตักน้ำให้เต็มโอ่งหินขนาดใหญ่หกใบ. เมื่อเอาตัวอย่างน้ำในโอ่งไปให้ผู้ดูแลงานเลี้ยงชิม มันคือเหล้าองุ่นอย่างดี! นี่เป็นการเล่นกลไหม? เปล่าเลย “น้ำกลายเป็นเหล้าองุ่น.” (โยฮัน 2:1-11) การทำให้สิ่งหนึ่งเปลี่ยนไปเป็นอีกสิ่งหนึ่งเป็นความคิดฝันของมนุษย์มานานแล้ว. ตลอดหลายศตวรรษ คนที่เรียกว่านักเล่นแร่แปรธาตุได้พยายามทำให้ตะกั่วกลายเป็นทองคำ. พวกเขาไม่เคยประสบผลสำเร็จเลย—แม้ว่าที่จริงแล้ว ตะกั่วและทองคำเป็นธาตุที่คล้ายกันอย่างน่าทึ่ง. * จะว่าอย่างไรกับน้ำและเหล้าองุ่น? น้ำมีองค์ประกอบทางเคมีที่ไม่ซับซ้อน ประกอบด้วยธาตุพื้นฐานสองอย่าง. ส่วนเหล้าองุ่นมีสารเกือบหนึ่งพันอย่างที่ประกอบกันเป็นธาตุพื้นฐานหลายอย่าง และธาตุหลายอย่างในบรรดาธาตุเหล่านั้นก็มีองค์ประกอบที่ซับซ้อน! ทำไมพระเยซูจะทำการอัศจรรย์เช่นนั้นเพียงเพื่อแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การที่เหล้าองุ่นหมดในงานเลี้ยงสมรส?
15 นี่ไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยสำหรับเจ้าสาวและเจ้าบ่าว. ในตะวันออกกลางสมัยโบราณ การมีน้ำใจรับรองแขกเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง. การที่เหล้าองุ่นหมดในงานเลี้ยงสมรสคงทำให้เจ้าสาวและเจ้าบ่าวขายหน้ามากทีเดียว ทำให้ทั้งคู่ เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีในวันสมรสของตนและเรื่องนี้จะอยู่ในความทรงจำของเขาไปอีกหลายปีหลังจากนั้น. ปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนทั้งสองและสำคัญสำหรับพระเยซูด้วย. ดังนั้น พระองค์จึงลงมือจัดการในเรื่องนี้. คุณเห็นแล้วใช่ไหมว่าทำไมผู้คนจึงเข้าหาพระองค์พร้อมด้วยเรื่องที่พวกเขาเป็นห่วงกังวล?
16 อีกครั้งหนึ่ง บิดามารดาอาจได้บทเรียนที่เป็นประโยชน์จากเรื่องนี้. จะว่าอย่างไรหากลูกเข้าหาคุณเพราะหนักใจด้วยปัญหาบางอย่าง? คุณคงอยากจะบอกปัดไปว่าปัญหาที่เขากังวลนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย หรืออาจเห็นว่าเป็นเรื่องน่าขันด้วยซ้ำ. เมื่อเทียบกับภาระหนักของคุณเองแล้ว ปัญหาของลูกอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยจริง ๆ. แต่อย่าลืมว่า ปัญหานั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยสำหรับเด็ก! หากปัญหานั้นสำคัญสำหรับคนที่คุณรักมากแล้ว ก็น่าจะสำคัญสำหรับคุณด้วยมิใช่หรือ? การบอกให้ลูกรู้ว่าคุณใส่ใจในเรื่องที่เขากังวลจะทำให้คุณเป็นบิดามารดาที่เข้าหาได้ง่าย.
17. พระเยซูทรงวางตัวอย่างอะไรในเรื่องความอ่อนโยน และทำไมคุณลักษณะนี้เป็นหลักฐานแสดงถึงความเข้มแข็ง?
17 ดังที่เราได้พิจารณาในบท 3 พระเยซูทรงอ่อนโยนและถ่อมใจ. (มัดธาย 11:29) ความอ่อนโยนเป็นคุณลักษณะที่ดีเลิศ เป็นข้อพิสูจน์ที่มีพลังของความถ่อมในหัวใจคนเรา. ความอ่อนโยนเป็นส่วนหนึ่งของผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าและเกี่ยวข้องกับสติปัญญาจากพระเจ้า. (ฆะลาเตีย 5:22, 23; ยาโกโบ 3:13) แม้ถูกยั่วยุอย่างรุนแรง พระเยซูก็ยังควบคุมตัวเองได้. ความอ่อนโยนของพระองค์ไม่ใช่ความอ่อนแอแน่ ๆ. ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวถึงคุณลักษณะนี้ว่า “เบื้องหลังความอ่อนละมุนคือความแข็งแกร่งดุจเหล็กกล้า.” ที่จริง บ่อยครั้ง เราต้องเข้มแข็งเพื่อจะควบคุมอารมณ์ของเราและปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความอ่อนโยน. แต่โดยที่พระยะโฮวาอวยพรความพยายามของเรา เราสามารถเลียนแบบพระเยซูในการแสดงความอ่อนโยน และนั่นจะทำให้เราเป็นคนเข้าหาได้ง่ายขึ้น.
18. ตัวอย่างอะไรเผยให้เห็นความมีเหตุผลของพระเยซู และทำไมคุณคิดว่าคุณลักษณะนี้จะทำให้คนเราเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย?
18 พระเยซูมีเหตุผล. ตอนที่พระเยซูอยู่ในเมืองไทร์ (ตุโร) ผู้หญิงคนหนึ่งมาหาพระองค์เพราะลูกสาวของเธอ “มีผีสิงอยู่เป็นทุกข์ลำบากยิ่งนัก.” พระเยซูทรงแสดงให้เห็นในสามวิธีว่า พระองค์ไม่อยากจะทำสิ่งที่เธอต้องการ. วิธีแรก พระองค์ไม่ตอบ; วิธีที่สอง พระองค์บอกเหตุผลที่พระองค์ไม่ควรทำตามที่เธอขอ; วิธีที่สาม พระองค์ทรงยกอุทาหรณ์ที่ทำให้เหตุผลของพระองค์ชัดเจนยิ่งขึ้น. แต่พระองค์มีท่าทีที่เย็นชาแข็งกร้าวไหม? พระองค์ทรงบ่งบอกเป็นนัยไหมว่า เธอกำลังเสี่ยงอันตรายที่บังอาจมาแย้งคำพูดของบุรุษสำคัญเช่นพระองค์? เปล่าเลย ผู้หญิงคนนี้รู้สึกมั่นใจอย่างเห็นได้ชัด. เธอไม่เพียงขอความช่วยเหลือเท่านั้น แต่บากบั่นต่อไปทั้ง ๆ ที่พระองค์ดูเหมือนไม่เต็มพระทัยจะช่วยเธอ. พระเยซูทรงเห็นความเชื่อที่โดดเด่นซึ่งกระตุ้นให้เธอบากบั่น พระองค์จึงทรงรักษาลูกสาวของเธอ. (มัดธาย 15:22-28) แน่นอน ความมีเหตุผลของพระเยซู การที่พระองค์เต็มพระทัยจะฟังและโอนอ่อนผ่อนตามเมื่อเหมาะสม ทำให้ผู้คนกระตือรือร้นจะเข้าหาพระองค์!
คุณเป็นคนเข้าหาได้ง่ายไหม?
19. เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นคนเข้าหาได้ง่ายจริง ๆ หรือไม่?
19 ผู้คนชอบคิดว่าตัวเองเป็นคนเข้าหาได้ง่าย. ตัวอย่างเช่น บางคนซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจชอบพูดว่า เขามีนโยบายเปิดประตูบ้านไว้เสมอ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของเขาสามารถเข้าหาเขาได้ทุกเมื่อ. อย่างไรก็ดี คัมภีร์ไบเบิลมีคำเตือนที่มีพลังดังนี้: “คนโดยมากมักจะประกาศคุณความดีของตนเอง; แต่คนสัตย์ซื่อแท้ ๆ ใครเล่าจะหาพบ?” (สุภาษิต 20:6) เป็นเรื่องง่ายที่จะพูดว่าเราเป็นคนเข้าหาได้ง่าย แต่เราเลียนแบบความรักของพระเยซูในแง่นี้ได้เหมือนพระองค์จริง ๆ ไหม? คำตอบไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามองตัวเองอย่างไร แต่อยู่ที่ว่าคนอื่นมองเราอย่างไร. เปาโลกล่าวว่า “ให้ความมีเหตุผลของท่านทั้งหลายปรากฏแก่คนทั้งปวง.” (ฟิลิปปอย 4:5, ล.ม.) เราแต่ละคนควรถามว่า ‘คนอื่นมองดูฉันอย่างไร? ชื่อเสียงของฉันเป็นเช่นไร?’
20. (ก) ทำไมจึงสำคัญที่คริสเตียนผู้ปกครองจะเป็นคนเข้าหาได้ง่าย? (ข) ทำไมเราควรเป็นคนมีเหตุผลในสิ่งที่เราคาดหมายจากผู้ปกครองในประชาคม?
20 คริสเตียนผู้ปกครองพยายามเป็นพิเศษที่จะเป็นคนที่เข้าหาได้ง่าย. พวกเขาปรารถนาอย่างจริงจังที่จะปฏิบัติตามคำพรรณนาที่บันทึกในยะซายา 32:1, 2 (ล.ม.) ที่ว่า “แต่ละท่านต้องเป็นเหมือนที่หลบซ่อนให้พ้นลมและที่กำบังจากพายุฝน เหมือนสายธารในประเทศที่แล้งน้ำ เหมือนร่มเงาแห่งหินผาใหญ่ในแดนกันดาร.” ผู้ปกครองสามารถให้การปกป้อง, ความสดชื่น, และการบรรเทาทุกข์ดังกล่าวได้ ก็ต่อเมื่อเขาเป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายเสมอ. จริงอยู่ การทำเช่นนั้นใช่ว่าจะง่ายเสมอ ไป เพราะผู้ปกครองแบกภาระรับผิดชอบที่หนักในสมัยที่ยุ่งยากนี้. ถึงกระนั้น ผู้ปกครองไม่ควรทำให้คนอื่นคิดว่าเขามีธุระยุ่งเกินไปจนไม่ได้เอาใจใส่ความจำเป็นของแกะของพระยะโฮวา. (1 เปโตร 5:2) สมาชิกคนอื่น ๆ ของประชาคมพยายามจะเป็นคนมีเหตุผลในสิ่งที่เขาคาดหมายจากคนซื่อสัตย์เช่นนั้น โดยแสดงน้ำใจถ่อมและให้ความร่วมมือ.—เฮ็บราย 13:17.
21. บิดามารดาจะยังคงเป็นผู้ที่บุตรเข้าหาได้ง่ายโดยวิธีใด และเราจะพิจารณาอะไรในบทถัดไป?
21 บิดามารดาพยายามเป็นคนที่ลูกเข้าหาได้เสมอ. การทำเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ! บิดามารดาต้องการให้บุตรรู้ว่าการไว้เนื้อเชื่อใจคุณพ่อหรือคุณแม่นั้นปลอดภัย. ดังนั้น บิดามารดาคริสเตียนต้องเป็นคนอ่อนโยนและมีเหตุผล ระวังที่จะไม่แสดงปฏิกิริยามากเกินไปเมื่อลูกยอมรับความผิดพลาดหรือแสดงความคิดที่ผิดบางอย่างออกมา. ขณะที่อบรมบุตรด้วยความอดทน บิดามารดาพยายามจะเปิดโอกาสให้มีการสื่อความกันอยู่เสมอ. ที่จริง เราทุกคนต้องการเป็นคนเข้าหาได้ง่ายอยู่เสมอ เช่นเดียวกับพระเยซู. ในบทถัดไป เราจะพิจารณาความเมตตาสงสารอย่างจริงใจของพระเยซู ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พระองค์เป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย.
^ วรรค 14 นักศึกษาวิชาเคมีรู้กันว่าตะกั่วและทองคำอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กันทีเดียวในตารางธาตุ. อะตอมของตะกั่วเพียงแต่มีโปรตอนในนิวเคลียสของมันมากกว่าทองคำสามโปรตอน. นักฟิสิกส์สมัยปัจจุบันถึงกับทำให้ตะกั่วปริมาณเล็กน้อยเปลี่ยนเป็นทองคำ แต่กระบวนการดังกล่าวต้องใช้พลังงานมากจนไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย.