ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 13

“เรารักพระบิดา”

“เรารักพระบิดา”

1, 2. อัครสาวก​โยฮัน​ได้​เปิด​เผย​อะไร​เกี่ยว​กับ​เย็น​วัน​สุด​ท้าย​ที่​เหล่า​อัครสาวก​อยู่​กับ​พระ​เยซู?

 ชาย​ชรา​เอา​ปากกา​ก้าน​ขน​นก​จุ่ม​หมึก ใน​ใจ​ของ​เขา​เต็ม​ไป​ด้วย​ความ​ทรง​จำ​มาก​มาย. เขา​ชื่อ​โยฮัน เป็น​อัครสาวก​คน​สุด​ท้าย​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่. ตอน​นี้​โยฮัน​อายุ​ราว ๆ 100 ปี เขา​ย้อน​คิด​ถึง​เหตุ​การณ์​ใน​เย็น​วัน​หนึ่ง​ที่​น่า​จด​จำ​ที่​สุด​ซึ่ง​ได้​เกิด​ขึ้น​มา​หก​สิบ​กว่า​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น—วัน​สุด​ท้าย​ที่​เขา​กับ​เพื่อน​อัครสาวก​อยู่​กับ​พระ​เยซู​ก่อน​พระองค์​สิ้น​พระ​ชนม์. โดย​การ​ชี้​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระเจ้า โยฮัน​สามารถ​จำ​เหตุ​การณ์​ต่าง ๆ อย่าง​ละเอียด​และ​เขียน​เรื่อง​นั้น​ไว้.

2 คืน​วัน​นั้น พระ​เยซู​ตรัส​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​ใน​ไม่​ช้า​พระองค์​จะ​ถูก​ประหาร. โยฮัน​ผู้​เดียว​เปิด​เผย​เหตุ​ผล​ว่า​ทำไม พระ​เยซู​ตรัส​ว่า​พระองค์​จะ​ยอม​ประสบ​ความ​ตาย​อัน​เจ็บ​ปวด​รวดร้าว​เช่น​นั้น: “เพื่อ​โลก​จะ​ได้​รู้​ว่า​เรา​รัก​พระ​บิดา. และ​พระ​บิดา​ได้​ตรัส​สั่ง​เรา​อย่าง​ไร เรา​จึง​กระทำ​อย่าง​นั้น. จง​ลุก​ขึ้น, ให้​เรา​ทั้ง​หลาย​ไป​จาก​ที่​นี่​เถิด.”—โยฮัน 14:31.

3. พระ​เยซู​แสดง​ให้​เห็น​โดย​วิธี​ใด​ว่า​ทรง​รัก​พระ​บิดา​ของ​พระองค์?

3 “เรา​รัก​พระ​บิดา.” ไม่​มี​อะไร​สำคัญ​สำหรับ​พระ​เยซู​ยิ่ง​ไป​กว่า​นี้​อีก​แล้ว. พระองค์​มิ​ได้​ตรัส​ซ้ำ​ข้อ​ความ​ดัง​กล่าว​อยู่​เรื่อย ๆ. ที่​จริง โยฮัน 14:31 เป็น​แห่ง​เดียว​ใน​บันทึก​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เรา​พบ​ว่า​พระ​เยซู​ตรัส​ตรง​ไป​ตรง​มา​ถึง​ความ​รัก​ที่​พระองค์​มี​ต่อ​พระ​บิดา. อย่าง​ไร​ก็​ดี พระ​เยซู​ดำเนิน​ชีวิต ตาม​คำ​ตรัส​นั้น. ความ​รัก​ที่​พระองค์​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ปรากฏ​ให้​เห็น​ทุก​วัน. ความ​กล้า​หาญ​ของ​พระ​เยซู, การ​เชื่อ​ฟัง, และ​ความ​อด​ทน​ของ​พระองค์​ล้วน​เป็น​หลักฐาน​แสดง​ถึง​ความ​รัก​ที่​พระองค์​มี​ต่อ​พระเจ้า. งาน​รับใช้​ทั้ง​สิ้น​ของ​พระองค์​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​จาก​ความ​รัก​นี้.

4, 5. คัมภีร์​ไบเบิล​ส่ง​เสริม​ความ​รัก​ชนิด​ใด และ​อาจ​กล่าว​ได้​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​ความ​รัก​ที่​พระ​เยซู​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา?

4 ใน​ทุก​วัน​นี้ บาง​คน​อาจ​คิด​ว่า​ความ​รัก​เป็น​คุณลักษณะ​ที่​แสดง​ถึง​ความ​อ่อนแอ. พวก​เขา​อาจ​คิด​ถึง​บท​กวี​หรือ​เพลง​ที่​เกี่ยว​กับ​ความ​รัก บาง​ที​กระทั่ง​คิด​ถึง​ความ​เพ้อ​ฝัน​ซึ่ง​บาง​ครั้ง​มี​อยู่​ใน​ความ​รัก​ระหว่าง​ชาย​หญิง. คัมภีร์​ไบเบิล​มี​การ​พูด​ถึง​ความ​รัก​ระหว่าง​ชาย​หญิง ทว่า​ใน​แบบ​ที่​น่า​นับถือ​ยิ่ง​กว่า​ที่​เป็น​อยู่​ใน​ปัจจุบัน. (สุภาษิต 5:15-21) แต่​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ให้​ความ​สนใจ​กับ​การ​พิจารณา​ความ​รัก​อีก​ชนิด​หนึ่ง​มาก​กว่า. ความ​รัก​แบบ​นี้​ไม่​ใช่​เป็น​เพียง​ความ​รักใคร่​หลงใหล​หรือ​อารมณ์​ชั่ว​วูบ; ทั้ง​มิ​ใช่​เป็น​แบบ​ปรัชญา​ที่​มุ่ง​เน้น​ความ​คิด​แต่​ขาด​อารมณ์​ความ​รู้สึก. ความ​รัก​นี้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ทั้ง​หัวใจ​และ​จิตใจ. ความ​รัก​ดัง​กล่าว​เกิด​จาก​ตัว​ตน​ใน​ส่วน​ลึก​ที่​สุด อยู่​ภาย​ใต้​การ​ควบคุม​ของ​หลักการ​อัน​สูง​ส่ง​และ​ประสาน​กับ​หลักการ​นั้น และ​ความ​รัก​แบบ​นี้​แสดง​ออก​โดย​การ​กระทำ​ที่​เสริม​สร้าง. ความ​รัก​แบบ​นี้​จึง​ไม่​ใช่​ความ​เพ้อ​ฝัน​หรือ​เป็น​เพียง​อารมณ์​ชั่ว​วูบ​อย่าง​แน่นอน. พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​กล่าว​ว่า “ความ​รัก​ไม่​ล้มเหลว​เลย.”—1 โกรินโธ 13:8, ล.ม.

5 ใน​บรรดา​มวล​มนุษย์​ที่​เคย​มี​ชีวิต​อยู่ พระ​เยซู​เป็น​ผู้​ที่​รัก​พระ​ยะโฮวา​มาก​ที่​สุด. ไม่​มี​ใคร​เหนือ​กว่า​พระ​เยซู​ใน​การ​ปฏิบัติ​ตาม​ถ้อย​คำ​ที่​พระองค์​เอง​ยก​ขึ้น​มา​กล่าว​ฐานะ​เป็น​พระ​บัญญัติ​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​บรรดา​บัญญัติ​ทั้ง​สิ้น​ของ​พระเจ้า​ที่​ว่า “เจ้า​ต้อง​รัก​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เจ้า​ด้วย​สุด​หัวใจ​ของ​เจ้า​และ​ด้วย​สุด​ชีวิต​ของ​เจ้า​และ​ด้วย​สุด​จิตใจ​ของ​เจ้า​และ​ด้วย​สุด​กำลัง​ของ​เจ้า.” (มาระโก 12:30, ล.ม.) พระ​เยซู​พัฒนา​ความ​รัก​ดัง​กล่าว​โดย​วิธี​ใด? พระองค์​ทำ​ให้​ความ​รัก​ที่​มี​ต่อ​พระเจ้า​แรง​กล้า​อยู่​เสมอ​โดย​วิธี​ใด​ระหว่าง​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก? และ​เรา​จะ​เลียน​แบบ​พระองค์​ได้​โดย​วิธี​ใด?

ความ​ผูก​พัน​แห่ง​ความ​รัก​ที่​ยาว​นาน​ที่​สุด​และ​เหนียวแน่น​ที่​สุด

6, 7. เรา​ทราบ​โดย​วิธี​ใด​ว่า​สุภาษิต 8:22-31 พรรณนา​ถึง​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า ไม่​ใช่​พรรณนา​ถึง​แต่​พระ​ปัญญา​ที่​เป็น​คุณลักษณะ​เท่า​นั้น?

6 คุณ​เคย​ทำ​งาน​ใน​โครงการ​หนึ่ง​ร่วม​กับ​เพื่อน​คน​หนึ่ง​ไหม และ​ปรากฏ​ว่า คุณ​ทั้ง​สอง​กลาย​เป็น​เพื่อน​ที่​ดี​ต่อ​กัน​มาก​ขึ้น สนิท​กัน​ยิ่ง​ขึ้น? ประสบการณ์​ที่​น่า​ยินดี​เช่น​นั้น​อาจ​ช่วย​คุณ​ให้​เข้าใจ​ความ​รัก​ที่​พัฒนา​ขึ้น​ระหว่าง​พระ​ยะโฮวา​กับ​พระ​บุตร​องค์​เดียว​ที่​พระเจ้า​ทรง​สร้าง​เอง. เรา​ได้​อ้าง​ถึง​สุภาษิต 8:30 มาก​กว่า​หนึ่ง​ครั้ง แต่​ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​บริบท​ของ​ข้อ​นั้น​อย่าง​ละเอียด​มาก​ขึ้น. ใน​ข้อ 22 ถึง 31 เรา​พบ​คำ​พรรณนา​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​เกี่ยว​กับ​พระ​ปัญญา​ที่​เป็น​ประหนึ่ง​บุคคล. เรา​ทราบ​โดย​วิธี​ใด​ว่า ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้​หมาย​ถึง​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า?

7 ใน​ข้อ 22 พระ​ปัญญา​กล่าว​ว่า “พระ​ยะโฮวา​ทรง​สร้าง​ตัว​เรา​เป็น​ปฐม​แห่ง​ทาง​การ, ก่อน​กิจ​โบราณ​อื่น ๆ ของ​พระองค์.” ใน​ที่​นี้ คง​ไม่​ได้​พูด​ถึง​เฉพาะ​แต่​พระ​ปัญญา​ที่​เป็น​คุณลักษณะ​เท่า​นั้น เพราะ​พระ​ปัญญา​ไม่​เคย​ถูก “สร้าง” ขึ้น. พระ​ปัญญา​ไม่​มี​จุด​เริ่ม​ต้น เพราะ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ดำรง​อยู่​ตลอด​มา​และ​ทรง​ไว้​ซึ่ง​พระ​ปัญญา​เสมอ​มา. (บทเพลง​สรรเสริญ 90:2) อย่าง​ไร​ก็​ดี พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​เป็น “บุตร​หัวปี​เหนือ​ทุก​สิ่ง​ที่​ทรง​สร้าง.” พระองค์​ได้​ถูก​สร้าง​ขึ้น; พระองค์​เป็น​สิ่ง​แรก​สุด​ใน​ผล​งาน​การ​สร้าง​ทั้ง​สิ้น​ของ​พระ​ยะโฮวา. (โกโลซาย 1:15, ฉบับ​แปล 2002) พระ​บุตร​ทรง​ดำรง​อยู่​ก่อน​แผ่นดิน​โลก​และ​ฟ้า​สวรรค์ ดัง​ที่​พรรณนา​ไว้​ใน​พระ​ธรรม​สุภาษิต. และ​ใน​ฐานะ​พระ​วาทะ โฆษก​ของ​พระเจ้า​เอง พระองค์​แสดง​ถึง​พระ​ปัญญา​ของ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ครบ​ถ้วน.—โยฮัน 1:1.

8. พระ​บุตร​ทรง​ทำ​อะไร​ระหว่าง​ช่วง​ที่​ดำรง​อยู่​ก่อน​มา​เป็น​มนุษย์ และ​เรา​อาจ​คิด​คำนึง​ถึง​อะไร​เมื่อ​รู้สึก​หยั่ง​รู้​ค่า​สิ่ง​ทรง​สร้าง?

8 พระ​บุตร​ทรง​ทำ​อะไร​ระหว่าง​ช่วง​เวลา​อัน​ยาว​นาน​ยิ่ง​นัก​ก่อน​พระองค์​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก? ข้อ 30 บอก​เรา​ว่า​พระองค์​ทรง​อยู่​เคียง​ข้าง​พระ​บิดา​ฐานะ​เป็น “นาย​ช่าง.” ข้อ​นี้​หมาย​ความ​เช่น​ไร? โกโลซาย 1:16 (ล.ม.) อธิบาย​ว่า “โดย​พระองค์ สิ่ง​อื่น​ทั้ง​สิ้น​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ทั้ง​ใน​สวรรค์​และ​ที่​แผ่นดิน​โลก . . . สิ่ง​อื่น​ทั้ง​สิ้น​ได้​สร้าง​ขึ้น​โดย​พระองค์​และ​เพื่อ​พระองค์.” ดัง​นั้น พระ​ยะโฮวา​พระ​ผู้​สร้าง​ทรง​ใช้​พระ​บุตร​ของ​พระองค์​ที่​เป็น​นาย​ช่าง​ให้​สร้าง​สรรพสิ่ง​อื่น ๆ—ตั้ง​แต่​พวก​กาย​วิญญาณ​ที่​อยู่​ใน​แดน​สวรรค์​ไป​จน​ถึง​เอกภพ​กว้าง​ใหญ่​ไพศาล​ที่​เป็น​วัตถุ, แผ่นดิน​โลก​พร้อม​กับ​ชีวิต​พืช​และ​สัตว์​ที่​น่า​อัศจรรย์​หลาก​หลาย​ชนิด, จน​ถึง​สุด​ยอด​ของ​การ​ทรง​สร้าง​ทาง​แผ่นดิน​โลก นั่น​ก็​คือ​มนุษยชาติ. ใน​บาง​แง่​มุม ความ​ร่วม​มือ​กัน​ระหว่าง​พระ​บิดา​กับ​พระ​บุตร​เช่น​นี้ เรา​อาจ​เทียบ​ได้​กับ​ความ​ร่วม​มือ​กัน​ระหว่าง​สถาปนิก​ที่​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​ช่าง​ก่อ​สร้าง​ที่​ชำนาญ​เป็น​พิเศษ​ใน​การ​สร้าง​ตรง​ตาม​แบบ​แปลน​ที่​สถาปนิก​คิด​ขึ้น​มา. เมื่อ​เรา​รู้สึก​เกรง​ขาม​เนื่อง​จาก​แง่​มุม​ใด​แง่​มุม​หนึ่ง​ของ​การ​ทรง​สร้าง ที่​จริง​แล้ว​เรา​กำลัง​สรรเสริญ​สถาปนิก​องค์​ยิ่ง​ใหญ่. (บทเพลง​สรรเสริญ 19:1) อย่าง​ไร​ก็​ดี เรา​ยัง​อาจ​ระลึก​ถึง​การ​ร่วม​มือ​กัน​มา​นาน​อย่าง​มี​ความ​สุข​ระหว่าง​พระ​ผู้​สร้าง​กับ “นาย​ช่าง” ของ​พระองค์​ด้วย.

9, 10. (ก) อะไร​เสริม​ความ​ผูก​พัน​ระหว่าง​พระ​ยะโฮวา​กับ​พระ​บุตร​ของ​พระองค์​ให้​เหนียวแน่น​ยิ่ง​ขึ้น? (ข) อะไร​จะ​เสริม​ความ​ผูก​พัน​ระหว่าง​คุณ​กับ​พระ​บิดา​ของ​คุณ​ทาง​ภาค​สวรรค์​ให้​เหนียวแน่น​ยิ่ง​ขึ้น?

9 เมื่อ​คน​ไม่​สมบูรณ์​สอง​คน​ทำ​งาน​ด้วย​กัน​อย่าง​ใกล้​ชิด บาง​ครั้ง​ยาก​ที่​เขา​ทั้ง​สอง​จะ​เข้า​กัน​ได้. แต่​หา​เป็น​เช่น​นั้น​กับ​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​บุตร​ของ​พระองค์​ไม่! พระ​บุตร​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​พระ​บิดา​มา​เป็น​เวลา​นาน​สุด​คณานับ และ “ชื่นชม​ยินดี​เฉพาะ​พระ​พักตร์​พระองค์​ตลอด เวลา.” (สุภาษิต 8:30) ใช่​แล้ว พระองค์​ทรง​ยินดี​อยู่​กับ​พระ​บิดา และ​นี่​เป็น​ความ​รู้สึก​ที่​ทั้ง​สอง​พระองค์​มี​ต่อ​กัน. เป็น​ธรรมดา​ที่​พระ​บุตร​เป็น​เหมือน​พระ​บิดา​ของ​พระองค์​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ทรง​เรียน​รู้​ที่​จะ​เลียน​แบบ​คุณลักษณะ​ของ​พระเจ้า. ดัง​นั้น ไม่​น่า​แปลก​ที่​ความ​ผูก​พัน​ระหว่าง​พระ​บิดา​กับ​พระ​บุตร​จึง​เหนียวแน่น​อย่าง​ยิ่ง! เรา​จึง​เรียก​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง​ว่า นี่​เป็น​ความ​ผูก​พัน​แห่ง​ความ​รัก​ที่​ยาว​นาน​ที่​สุด​และ​เหนียวแน่น​ที่​สุด​ใน​เอกภพ​ทั้ง​สิ้น.

10 แต่​เรื่อง​นี้​อาจ​หมาย​ความ​เช่น​ไร​สำหรับ​เรา? คุณ​อาจ​รู้สึก​ว่า​คุณ​ไม่​มี​วัน​จะ​สร้าง​ความ​ผูก​พัน​เช่น​นั้น​กับ​พระ​ยะโฮวา​ได้. จริง​อยู่ ไม่​มี​ใคร​สัก​คน​ใน​พวก​เรา​มี​ตำแหน่ง​สูง​ส่ง​เหมือน​พระ​บุตร. อย่าง​ไร​ก็​ดี เรา​มี​โอกาส​อัน​ยอด​เยี่ยม. จำ​ไว้​ว่า พระ​เยซู​ทรง​เข้า​ใกล้​พระ​บิดา​ยิ่ง​ขึ้น​โดย​การ​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​พระองค์. ด้วย​ความ​รัก​พระ​ยะโฮวา​เสนอ​โอกาส​ให้​เรา​เป็น “ผู้​ร่วม​ทำ​การ​ด้วย​กัน​กับ​พระเจ้า.” (1 โกรินโธ 3:9) ขณะ​ที่​เรา​ติด​ตาม​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​ใน​งาน​รับใช้ เรา​ควร​จำ​ไว้​เสมอ​ว่า​เรา​เป็น​ผู้​ร่วม​งาน​กับ​พระเจ้า. ดัง​นั้น ความ​ผูก​พัน​ของ​ความ​รัก​ที่​ทำ​ให้​เรา​เป็น​หนึ่ง​เดียว​กับ​พระ​ยะโฮวา​จึง​เหนียวแน่น​ยิ่ง​ขึ้น. จะ​มี​สิทธิ​พิเศษ​ใด​หรือ​ที่​ใหญ่​ยิ่ง​กว่า​นี้?

วิธี​ที่​พระ​เยซู​รักษา​ความ​รัก​อัน​มั่นคง​ต่อ​พระ​ยะโฮวา

11-13. (ก) ทำไม​เป็น​ประโยชน์​ที่​จะ​คิด​ถึง​ความ​รัก​ประหนึ่ง​ว่า​เป็น​สิ่ง​มี​ชีวิต และ​พระ​เยซู​ตอน​เยาว์​วัย​ได้​รักษา​ความ​รัก​ที่​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ให้​มั่นคง​อย่าง​ไร? (ข) พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​ได้​แสดง​ความ​สน​พระทัย​ใน​การ​เรียน​รู้​จาก​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ไร​ทั้ง​ก่อน​และ​หลัง​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก​ฐานะ​เป็น​มนุษย์?

11 ใน​หลาย​ทาง นับ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​ที่​จะ​คิด​ถึง​ความ​รัก​ใน​หัวใจ​เรา​ประหนึ่ง​ว่า​เป็น​สิ่ง​ที่​มี​ชีวิต. เช่น​เดียว​กับ​ต้น​ไม้​อัน​สวย​งาม​ที่​ปลูก​ไว้​ภาย​ใน​บ้าน ความ​รัก​ต้อง​ได้​รับ​การ​บำรุง​และ​ดู​แล​รักษา​เพื่อ​จะ​เจริญ​งอกงาม. หาก​ถูก​ละเลย ขาด​การ​บำรุง​เลี้ยง ความ​รัก​ก็​จะ​อ่อน​ลง​แล้ว​ก็​ตาย. พระ​เยซู​มิ​ได้​ถือ​ว่า​ความ​รัก​ที่​พระองค์​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​เรื่อง​ไม่​สลัก​สำคัญ. พระองค์​รักษา​ความ​รัก​ให้​มั่นคง​และ​เจริญ​งอกงาม​ตลอด​ช่วง​ที่​พระองค์​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก. ให้​เรา​ดู​ว่า​พระองค์​ทำ​เช่น​นั้น​อย่าง​ไร.

12 ลอง​คิด​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ถึง​เหตุ​การณ์​ที่​พระ​เยซู​ผู้​เยาว์​วัย​ได้​พูด​ออก​มา​โดย​ไม่​ต้อง​คิด ณ พระ​วิหาร​ใน​กรุง​เยรูซาเลม. ขอ​ระลึก​ถึง​ถ้อย​คำ​ที่​พระองค์​ตรัส​แก่​บิดา​มารดา​ผู้​เป็น​ห่วง​พระองค์​ว่า “ท่าน​เที่ยว​หา​ฉัน​ทำไม? ท่าน​ยัง​ไม่​ทราบ​หรือ​ว่า ฉัน​คง​ต้อง​อยู่​ใน​ราชฐาน​แห่ง​พระ​บิดา​ของ​ฉัน?” (ลูกา 2:49) ตอน​ที่​เป็น​เด็ก ดู​เหมือน​ว่า​พระ​เยซู​ยัง​ไม่​มี​ความ​ทรง​จำ​ใด ๆ เกี่ยว​กับ​ความ​เป็น​อยู่​ของ​พระองค์​ก่อน​มา​เป็น​มนุษย์. กระนั้น พระองค์​ก็​มี​ความ​รัก​อัน​แรง​กล้า​ต่อ​พระ​ยะโฮวา พระ​บิดา​ของ​พระองค์. พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า ปกติ​แล้ว​ความ​รัก​เช่น​นั้น​แสดง​ออก​โดย​การ​นมัสการ. ดัง​นั้น ไม่​มี​ที่​อื่น​ใด​บน​แผ่นดิน​โลก​ที่​น่า​สนใจ​สำหรับ​พระ​เยซู​เหมือน​ราชสำนัก​แห่ง​การ​นมัสการ​บริสุทธิ์​ของ​พระ​บิดา. พระองค์​ทรง​ปรารถนา​จะ​อยู่​ที่​นั่น​และ​ไม่​ประสงค์​จะ​จาก​ไป. ยิ่ง​กว่า​นั้น พระองค์​ไม่​ใช่​เป็น​เพียง​ผู้​สังเกต​ดู. พระองค์​ทรง​กระตือรือร้น​ที่​จะ​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​และ​แสดง​ความ​คิด​เห็น​ใน​สิ่ง​ที่​พระองค์​ทรง​ทราบ. ความ​รู้สึก​ดัง​กล่าว​มิ​ได้​เริ่ม​ตอน​ที่​พระองค์​มี​พระ​ชนมายุ 12 พรรษา ทั้ง​ความ​รู้สึก​นั้น​ก็​มิ​ได้​หมด​ไป​ใน​วัย​นั้น.

13 ขณะ​อยู่​ใน​สวรรค์​ก่อน​มา​เป็น​มนุษย์ พระ​บุตร​ได้​ทรง​เรียน​รู้​จาก​พระ​บิดา​อย่าง​กระตือรือร้น. คำ​พยากรณ์​ที่​บันทึก​ใน​ยะซายา 50:4-6 เปิด​เผย​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​การ​ศึกษา​เป็น​พิเศษ​แก่​พระ​บุตร​ใน​เรื่อง​บทบาท​ของ​พระองค์​ฐานะ​พระ​มาซีฮา. ถึง​แม้​การ​ศึกษา​ดัง​กล่าว​รวม​ไป​ถึง​การ​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​ความ​ยาก​ลำบาก​บาง​อย่าง​ซึ่ง​จะ​เกิด​ขึ้น​กับ​พระองค์​ฐานะ​ผู้​ถูก​เจิม​ของ​พระ​ยะโฮวา พระ​บุตร​ก็​ได้​เรียน​รู้​อย่าง​กระตือรือร้น. ต่อ​มา หลัง​จาก​พระ​เยซู​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก​และ​เจริญ​วัย​เป็น​ผู้​ใหญ่ พระองค์​ก็​ยัง​คง​กระตือรือร้น​ที่​จะ​ไป​ราชสำนัก​ของ​พระ​บิดา​และ​เข้า​ร่วม​ใน​การ​นมัสการ​และ​การ​เรียน​รู้​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประสงค์​ให้​มี​ขึ้น​ที่​นั่น. ด้วย​เหตุ​นี้ คัมภีร์​ไบเบิล​รายงาน​เรื่อง​ที่​พระ​เยซู​เข้า​ร่วม​เป็น​ประจำ​ที่​พระ​วิหาร​และ​ธรรมศาลา. (ลูกา 4:16; 19:47) หาก​เรา​ต้องการ​ให้​ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​คง​อยู่​และ​เจริญ​งอกงาม เรา​ต้อง​ขยัน​ขันแข็ง​ใน​การ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน สถาน​ที่​ซึ่ง​เรา​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​และ​ทำ​ให้​ความ​รู้​และ​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระองค์​ลึกซึ้ง​ยิ่ง​ขึ้น.

“พระองค์​เสด็จ​ขึ้น​ไป​บน​ภูเขา​โดย​ลำพัง​เพื่อ​อธิษฐาน”

14, 15. (ก) ทำไม​พระ​เยซู​หา​ทาง​อยู่​ตาม​ลำพัง? (ข) คำ​อธิษฐาน​ที่​พระ​เยซู​ทูล​ต่อ​พระ​บิดา​เผย​ให้​เห็น​ความ​สนิทสนม​และ​ความ​นับถือ​อย่าง​ไร?

14 พระ​เยซู​ยัง​รักษา​ความ​รัก​ที่​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ให้​มั่นคง​โดย​การ​อธิษฐาน​เป็น​ประจำ​ด้วย. ถึง​แม้​พระองค์​เป็น​คน​ที่​เป็น​มิตร​และ​ชอบ​พบ​ปะ​ผู้​คน น่า​สังเกต​ว่า​พระองค์​เห็น​คุณค่า​ของ​การ​อยู่​ตาม​ลำพัง. ตัว​อย่าง​เช่น ลูกา 5:16 กล่าว​ว่า “พระองค์​เสด็จ​ออก​ไป​ใน​ที่​สงัด​และ​ทรง​อธิษฐาน.” คล้าย​กัน มัดธาย 14:23 (ฉบับ​แปล​ใหม่) กล่าว​ว่า “เมื่อ​ให้​ประชาชน​เหล่า​นั้น​ไป​หมด​แล้ว พระองค์​เสด็จ​ขึ้น​ไป​บน​ภูเขา​โดย​ลำพัง​เพื่อ​อธิษฐาน. เวลา​ก็​ดึก​ลง​พระองค์​ยัง​ทรง​อยู่​ที่​นั่น​แต่​ผู้​เดียว.” พระ​เยซู​หา​ทาง​อยู่​ตาม​ลำพัง​ใน​โอกาส​เหล่า​นี้​และ​ใน​โอกาส​อื่น ๆ ใช่​ว่า​เพราะ​พระองค์​เป็น​คน​ที่​ปลีก​ตัว​จาก​สังคม​หรือ​ไม่​ชอบ​การ​คบหา​สมาคม​กับ​คน​อื่น แต่​เป็น​เพราะ​พระองค์​ต้องการ​อยู่​ตาม​ลำพัง​กับ​พระ​ยะโฮวา เพื่อ​จะ​สนทนา​อย่าง​สะดวก​กับ​พระ​บิดา​ของ​พระองค์​ใน​คำ​อธิษฐาน.

15 เมื่อ​อธิษฐาน บาง​ครั้ง​พระ​เยซู​ใช้​คำ​ว่า “อาบา, พระ​บิดา​เจ้าข้า.” (มาระโก 14:36) ใน​สมัย​ของ​พระ​เยซู “อาบา” เป็น​คำ​ที่​แสดง​ถึง​ความ​สนิทสนม​ที่​ใช้​หมาย​ถึง “บิดา” เป็น​คำ​ซึ่ง​ใช้​กัน​ภาย​ใน​ครอบครัว. บ่อย​ครั้ง​คำ​นี้​อยู่​ใน​บรรดา​คำ​แรก ๆ ที่​เด็ก​จะ​หัด​พูด. กระนั้น ก็​เป็น​คำ​ที่​แสดง​ถึง​ความ​นับถือ. ถึง​แม้​คำ​นี้​เผย​ให้​เห็น​ความ​สนิทสนม​ของ​พระ​บุตร​ที่​พูด​กับ​พระ​บิดา​ที่​รัก​ของ​พระองค์ คำ​นี้​ยัง​บ่ง​ชี้​ถึง​ความ​นับถือ​อัน​สุด​ซึ้ง​ที่​มี​ต่อ​อำนาจ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ฐานะ​บิดา​ด้วย. เรา​พบ​ว่า​มี​ความ​สนิทสนม​และ​ความ​นับถือ​รวม​กัน​ตลอด​คำ​อธิษฐาน​ของ​พระ​เยซู​ที่​มี​การ​บันทึก​ไว้. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​โยฮัน​บท 17 อัครสาวก​โยฮัน​ได้​บันทึก​คำ​อธิษฐาน​ที่​ยาว​ซึ่ง​พระ​เยซู​ทูล​ต่อ​พระเจ้า​อย่าง​จริง​ใจ​ใน​คืน​สุด​ท้าย​ของ​พระองค์​บน​โลก​นี้. เป็น​การ​กระตุ้น​ใจ​อย่าง​แท้​จริง​ที่​เรา​จะ​ศึกษา​คำ​อธิษฐาน​นั้น​และ​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​เลียน​แบบ​คำ​อธิษฐาน​ดัง​กล่าว—แน่นอน ไม่​ใช่​โดย​พูด​ซ้ำ​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู แต่​โดย​การ​หา​วิธี​ต่าง ๆ ที่​จะ​พูด​จาก​หัวใจ​กับ​พระ​บิดา​ทาง​ภาค​สวรรค์​ของ​เรา​บ่อย​เท่า​ที่​เรา​จะ​ทำ​ได้. การ​ทำ​เช่น​นี้​จะ​ทำ​ให้​ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระเจ้า​ยัง​คง​อยู่​และ​มั่นคง.

16, 17. (ก) พระ​เยซู​ตรัส​ถึง​ความ​รัก​ที่​พระองค์​มี​ต่อ​พระ​บิดา​อย่าง​ไร? (ข) พระ​เยซู​พรรณนา​ถึง​พระทัย​เอื้อเฟื้อ​ของ​พระ​บิดา​อย่าง​ไร?

16 ดัง​ที่​เรา​สังเกต​ก่อน​หน้า​นี้ พระ​เยซู​มิ​ได้​ตรัส​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​ว่า “เรา​รัก​พระ​บิดา.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลาย​ครั้ง​ด้วย​คำ​ตรัส​ของ​พระองค์ พระองค์​แสดง​ว่า​รัก​พระ​บิดา. เป็น​เช่น​นั้น​อย่าง​ไร? พระ​เยซู​เอง​ตรัส​ว่า “พระ​บิดา​ผู้​เป็น​เจ้า​แห่ง​สวรรค์​และ​แผ่นดิน​โลก ข้าพเจ้า​สรรเสริญ​พระองค์​ต่อ​หน้า​คน​ทั้ง​ปวง.” (มัดธาย 11:25, ล.ม.) เมื่อ​ศึกษา​ตอน​ที่ 2 ของ​หนังสือ​นี้ เรา​เห็น​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​ชอบ​สรรเสริญ​พระ​บิดา​โดย​การ​ช่วย​ผู้​คน​ให้​รู้​จัก​พระ​บิดา. ตัว​อย่าง​เช่น พระองค์​ทรง​เปรียบ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​เหมือน​บิดา​ซึ่ง​ปรารถนา​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​ให้​อภัย​บุตร​ที่​ดื้อ​รั้น​ของ​ตน​จน​ถึง​กับ​คอย​การ​มา​ถึง​ของ​บุตร​น้อย​ที่​กลับ​ใจ ครั้น​มอง​เห็น​เขา​แต่​ไกล จึง​วิ่ง​ออก​ไป​หา​แล้ว​สวมกอด​เขา. (ลูกา 15:20) ใคร​หรือ​ที่​อ่าน​ข้อ​ความ​ตอน​นี้​แล้ว​จะ​ไม่​รู้สึก​ซาบซึ้ง​ตรึง​ใจ​จาก​การ​ที่​พระ​เยซู​พรรณนา​ถึง​ความ​รัก​และ​การ​ให้​อภัย​ของ​พระ​ยะโฮวา?

17 บ่อย​ครั้ง​พระ​เยซู​ทรง​สรรเสริญ​พระ​บิดา​เนื่อง​ด้วย​ความ​มี​พระทัย​เอื้อเฟื้อ. พระ​เยซู​ทรง​ใช้​ตัว​อย่าง​ของ​บิดา​ที่​เป็น​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​เพื่อ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​สามารถ​แน่​ใจ​ได้​สัก​เพียง​ไร​ว่า พระ​บิดา​ของ​เรา​จะ​ประทาน​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ให้​เรา​ซึ่ง​จำเป็น​จริง ๆ สำหรับ​เรา. (ลูกา 11:13) พระ​เยซู​ยัง​ตรัส​เกี่ยว​กับ​ความ​หวัง​ที่​พระ​บิดา​ทรง​เสนอ​ให้​ด้วย​พระทัย​เอื้อเฟื้อ​อย่าง​ยิ่ง. พระ​เยซู​ทรง​พรรณนา​ด้วย​ความ​ปรารถนา​อัน​ล้ำ​ลึก​เกี่ยว​กับ​ความ​หวัง​ของ​พระองค์​เอง​ที่​จะ​กลับ​ไป​อยู่​เคียง​ข้าง​พระ​บิดา​ใน​สวรรค์​อีก. (โยฮัน 14:28; 17:5) พระองค์​ทรง​แจ้ง​เหล่า​สาวก​ถึง​ความ​หวัง​ที่​พระ​ยะโฮวา​เสนอ​แก่ “แกะ​ฝูง​เล็ก” ของ​พระ​คริสต์ นั่น​คือ​การ​อยู่​ใน​สวรรค์​และ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​ปกครอง​ของ​พระ​มหา​กษัตริย์​มาซีฮา. (ลูกา 12:32, ล.ม.; โยฮัน 14:2) และ​พระองค์​ทรง​ปลอบโยน​ผู้​กระทำ​ผิด​ที่​กำลัง​จะ​ตาย​โดย​ให้​ความ​หวัง​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​ใน​อุทยาน. (ลูกา 23:43) การ​กล่าว​ถึง​ความ​เอื้อเฟื้อ​อย่าง​มาก​มาย​ของ​พระ​บิดา​ใน​วิธี​เหล่า​นี้​ช่วย​พระ​เยซู​ให้​รักษา​ความ​รัก​ที่​มั่นคง​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​แน่นอน. สาวก​หลาย​คน​ของ​พระ​คริสต์​ได้​พบ​ว่า​สิ่ง​ที่​ช่วย​ได้​มาก​ที่​สุด​ใน​การ​เสริม​ความ​รัก​และ​ความ​เชื่อ​ที่​พวก​เขา​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​คือ​การ​พูด​ถึง​พระองค์​และ​ความ​หวัง​ที่​พระองค์​เสนอ​ให้​เขา.

คุณ​จะ​เลียน​แบบ​ความ​รัก​ที่​พระ​เยซู​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ไหม?

18. อะไร​คือ​แนว​ทาง​สำคัญ​ที่​สุด​ที่​เรา​ต้อง​ดำเนิน​ตาม​พระ​เยซู และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

18 ใน​ทุก​แนว​ทาง​ที่​เรา​ต้อง​ติด​ตาม​พระ​เยซู ไม่​มี​สัก​ทาง​เดียว​ที่​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​นี้ นั่น​คือ เรา​ต้อง​รัก​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​หัวใจ, สุด​ชีวิต, สุด​จิตใจ, และ​สุด​กำลัง​ของ​เรา. (ลูกา 10:27) ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ไม่​สามารถ​วัด​ได้​จาก​เพียง​แค่​ว่า​เรา​มี​ความ​รู้สึก​เช่น​นั้น​แรง​กล้า​แค่​ไหน แต่​ดู​จาก​การ​กระทำ​ใน​ชีวิต​จริง​ของ​เรา​ด้วย. พระ​เยซู​ไม่​พอ​พระทัย​เพียง​แค่​รู้สึก รัก​พระ​บิดา​ของ​พระองค์ ทั้ง​ไม่​เพียง​ตรัส ว่า “เรา​รัก​พระ​บิดา.” พระองค์​ตรัส​ว่า “เพื่อ​โลก​จะ​ได้​รู้​ว่า​เรา​รัก​พระ​บิดา. และ​พระ​บิดา​ได้​ตรัส​สั่ง​เรา​อย่าง​ไร. เรา​จึง​กระทำ​อย่าง​นั้น.” (โยฮัน 14:31) ซาตาน​ได้​กล่าวหา​ว่า​จะ​ไม่​มี​มนุษย์​คน​ใด​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​เนื่อง​ด้วย​ความ​รัก​อย่าง​ไม่​เห็น​แก่​ตัว. (โยบ 2:4, 5) เพื่อ​ให้​คำ​ตอบ​อย่าง​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้​สำหรับ​การ​ให้​ร้าย​ป้าย​สี​แบบ​ประสงค์​ร้าย​ของ​ซาตาน พระ​เยซู​ทรง​ลง​มือ​ปฏิบัติ​อย่าง​กล้า​หาญ​และ​แสดง​ให้​โลก​รู้​ว่า​พระองค์​ทรง​รัก​พระ​บิดา​มาก​สัก​เพียง​ไร. พระองค์​เชื่อ​ฟัง​จน​ถึง​ขั้น​สละ​ชีวิต​ของ​พระองค์. คุณ​จะ​ดำเนิน​ตาม​พระ​เยซู​ไหม? คุณ​จะ​แสดง​ให้​โลก​เห็น​ไหม​ว่า​คุณ​รัก​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​อย่าง​แท้​จริง?

19, 20. (ก) เรา​ต้องการ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน​เป็น​ประจำ​ด้วย​เหตุ​ผล​ที่​สำคัญ​อะไร​บ้าง? (ข) เรา​น่า​จะ​มี​ทัศนะ​เช่น​ไร​ต่อ​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว, การ​คิด​รำพึง, และ​การ​อธิษฐาน​ของ​เรา?

19 เรา​มี​ความ​จำเป็น​ทาง​ด้าน​วิญญาณ​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​แสดง​ความ​รัก​ดัง​กล่าว. ด้วย​เหตุ​นี้ พระ​ยะโฮวา​ทรง​จัด​ให้​เรา​นมัสการ​ใน​วิธี​ที่​บำรุง​และ​เสริม​สร้าง​ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระ​บิดา. เมื่อ​คุณ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน พยายาม​จำ​ไว้​ว่า​คุณ​อยู่​ที่​นั่น​เพื่อ​นมัสการ​พระเจ้า​ของ​คุณ. แง่​มุม​ต่าง ๆ ของ​การ​นมัสการ​นั้น​รวม​ไป​ถึง​การ​ร่วม​ใน​คำ​อธิษฐาน​อย่าง​จริง​ใจ, การ​ร้อง​เพลง​สรรเสริญ, การ​ตั้งใจ​ฟัง, และ​มี​ส่วน​ออก​ความ​คิด​เห็น​เมื่อ​มี​โอกาส. การ​ประชุม​ดัง​กล่าว​ยัง​ทำ​ให้​คุณ​มี​โอกาส​ที่​จะ​หนุน​ใจ​เพื่อน​คริสเตียน​ด้วย. (เฮ็บราย 10:24, 25) การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ประจำ ณ การ​ประชุม​คริสเตียน​จะ​ช่วย​ให้​ความ​รัก​ที่​คุณ​มี​ต่อ​พระเจ้า​มั่นคง​ยิ่ง​ขึ้น​เรื่อย ๆ.

20 ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​จะ​เพิ่ม​พูน​ยิ่ง​ขึ้น​โดย​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว, การ​คิด​รำพึง, และ​การ​อธิษฐาน​ด้วย. ขอ​ให้​คิด​ถึง​สิ่ง​เหล่า​นี้​ว่า​เป็น​วิธี​ที่​จะ​อยู่​ตาม​ลำพัง​กับ​พระ​ยะโฮวา. ขณะ​ที่​คุณ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ที่​เป็น​ลายลักษณ์​อักษร​และ​คิด​รำพึง​ถึง​พระ​คำ​นั้น พระ​ยะโฮวา​กำลัง​ถ่ายทอด​ความ​คิด​ของ​พระองค์​ให้​คุณ. ขณะ​ที่​คุณ​อธิษฐาน คุณ​กำลัง​เปิด​หัวใจ​ต่อ​พระองค์. อย่า​ลืม​ว่า​การ​อธิษฐาน​เกี่ยว​ข้อง​ไม่​เพียง​แค่​การ​ทูล​ขอ​อะไร​บาง​อย่าง​จาก​พระเจ้า. การ​อธิษฐาน​ยัง​เป็น​โอกาส​ที่​จะ​ขอบพระคุณ​พระ​ยะโฮวา​สำหรับ​พระ​พร​ต่าง ๆ ที่​คุณ​ได้​รับ​และ​สรรเสริญ​พระองค์​สำหรับ​ราชกิจ​อัน​มหัศจรรย์​ของ​พระองค์. (บทเพลง​สรรเสริญ 146:1) นอก​จาก​นี้ การ​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​เปิด​เผย​ด้วย​ความ​ยินดี​และ​ความ​กระตือรือร้น​เป็น​วิธี​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​ขอบพระคุณ​พระ​ยะโฮวา​และ​แสดง​ว่า​คุณ​รัก​พระองค์.

21. ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​สำคัญ​อย่าง​ไร และ​จะ​มี​การ​พิจารณา​อะไร​ใน​บท​ต่าง ๆ ต่อ​จาก​นี้?

21 ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​เป็น​ปัจจัย​สำคัญ​สำหรับ​ความ​สุข​ถาวร​ของ​คุณ. ความ​รัก​เช่น​นี้​แหละ​ที่​อาดาม​และ​ฮาวา​จะ​ต้อง​มี​เพื่อ​จะ​ประสบ​ผล​สำเร็จ—และ​นี่​เป็น​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​เขา​ทั้ง​สอง​ไม่​ได้​พัฒนา. ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ที่​สุด​ที่​คุณ​จำเป็น​ต้อง​มี​เพื่อ​จะ​ผ่าน​การ​ทดสอบ​ใด ๆ เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ, เพื่อ​จะ​ปฏิเสธ​การ​ล่อ​ใจ​ไม่​ว่า​เรื่อง​ไหน, เพื่อ​จะ​อด​ทน​การ​ทดลอง​ใด ๆ ก็​ตาม. นี่​เป็น​ปัจจัย​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​การ​เป็น​สาวก​ของ​พระ​เยซู. แน่นอน ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​เพื่อน​มนุษย์. (1 โยฮัน 4:20) ใน​บท​ต่าง ๆ ต่อ​จาก​นี้ เรา​จะ​พิจารณา​ว่า​พระ​เยซู​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​ผู้​คน​โดย​วิธี​ใด. ใน​บท​ถัด​ไป เรา​จะ​พิจารณา​เหตุ​ผล​ที่​ผู้​คน​มาก​มาย​ได้​พบ​ว่า​พระ​เยซู​เป็น​บุคคล​ที่​เข้า​หา​ได้​ง่าย.