ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 17

“ไม่มีผู้ใดมีความรักใหญ่ยิ่งกว่านี้”

“ไม่มีผู้ใดมีความรักใหญ่ยิ่งกว่านี้”

1-4. (ก) เกิด​อะไร​ขึ้น​เมื่อ​ปีลาต​แนะ​นำ​ตัว​พระ​เยซู​ต่อ​ฝูง​ชน​ที่​โกรธ​แค้น​ซึ่ง​ชุมนุม​กัน​อยู่​ข้าง​นอก​ทำเนียบ​ของ​ผู้​สำเร็จ​ราชการ? (ข) พระ​เยซู​ทรง​ตอบ​สนอง​อย่าง​ไร​ต่อ​ความ​อัปยศ​อดสู​และ​ความ​ทุกข์​ทรมาน และ​เกิด​คำ​ถาม​สำคัญ​อะไร​ขึ้น?

 “ดู​เถอะ! นี่​แหละ​ลูก​ผู้​ชาย!” นี่​เป็น​ถ้อย​คำ​ที่​ปนเตียว​ปีลาต​ผู้​สำเร็จ​ราชการ​ชาว​โรมัน​ได้​แนะ​นำ​ตัว​พระ​เยซู​คริสต์​ต่อ​ฝูง​ชน​ที่​โกรธ​แค้น​ซึ่ง​ชุมนุม​กัน​อยู่​ข้าง​นอก​ทำเนียบ​ของ​ผู้​สำเร็จ​ราชการ​ใน​ตอน​รุ่ง​อรุณ​ของ​วัน​ปัศคา​ปี ส.ศ. 33. (โยฮัน 19:5, ล.ม.) เพียง​ไม่​กี่​วัน​ก่อน​หน้า​นั้น ฝูง​ชน​ได้​โห่​ร้อง​ต้อนรับ​พระ​เยซู​ขณะ​ที่​พระองค์​เสด็จ​เข้า​สู่​กรุง​เยรูซาเลม​อย่าง​ผู้​มี​ชัย​ฐานะ​พระ​มหา​กษัตริย์​ที่​พระเจ้า​ทรง​แต่ง​ตั้ง. อย่าง​ไร​ก็​ดี ใน​คืน​นี้ ฝูง​ชน​ที่​เป็น​ปรปักษ์​มอง​พระองค์​อย่าง​ที่​ต่าง​ออก​ไป​ที​เดียว.

2 พระ​เยซู​สวม​เสื้อ​คลุม​ยาว​สี​ม่วง​แบบ​ที่​ผู้​คน​ใน​ราชวงศ์​สวม​ใส่ และ​มี​มงกุฎ​อยู่​บน​พระ​เศียร. แต่​เสื้อ​คลุม​ที่​พาด​ปิด​หลัง​ซึ่ง​ถูก​เฆี่ยน​เป็น​แนว​เลือด​ไหล​โซม และ​มงกุฎ​ที่​สาน​ด้วย​หนาม​ซึ่ง​กด​ลง​ไป​บน​หนัง​พระ​เศียร​จน​เลือด​ซึม​ใน​ตอน​นั้น​เป็น​การ​เยาะเย้ย​ฐานะ​กษัตริย์​ของ​พระองค์. ผู้​คน​ที่​ถูก​พวก​ปุโรหิต​ใหญ่​ยุยง​ได้​ปฏิเสธ​บุรุษ​ที่​ถูก​ทุบ​ตี​ซึ่ง​ยืน​อยู่​ต่อ​หน้า​พวก​เขา. พวก​ปุโรหิต​ร้อง​ตะโกน​ว่า “ตรึง​เขา​เสีย ตรึง​เขา​เสีย.” ด้วย​ใจ​ที่​มุ่ง​จะ​เข่น​ฆ่า ผู้​คน​ร้อง​ว่า “เขา​ควร​จะ​ตาย.”—โยฮัน 19:1-7, ฉบับ​แปล​ใหม่.

3 พระ​เยซู​ทรง​อด​ทน​ความ​อัปยศ​อดสู​และ​ความ​ทุกข์​ทรมาน​ด้วย​ความ​สง่า​ผ่าเผย​และ​ความ​กล้า​หาญ​โดย​ไม่​ปริปาก​บ่น. * พระองค์​ทรง​เตรียม​พร้อม​เต็ม​ที่​ที่​จะ​สิ้น​พระ​ชนม์. ใน​ช่วง​ท้าย​ของ​วัน​ปัศคา​นั้น พระองค์​เต็ม​พระทัย​ยอม​สิ้น​พระ​ชนม์​อย่าง​เจ็บ​ปวด​รวดร้าว​บน​หลัก​ทรมาน.—โยฮัน 19:17, 18, 30.

4 โดย​การ​สละ​ชีวิต​ของ​พระองค์ พระ​เยซู​พิสูจน์​ว่า​พระองค์​เป็น​มิตร​แท้​สำหรับ​เหล่า​สาวก. พระองค์​ตรัส​ว่า “ไม่​มี​ผู้​ใด​มี​ความ​รัก​ใหญ่​ยิ่ง​กว่า​นี้ คือ​ที่​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด​จะ​สละ​ชีวิต​ของ​ตน​เพื่อ​มิตร​สหาย.” (โยฮัน 15:13, ล.ม.) นี่​ทำ​ให้​เกิด​คำ​ถาม​สำคัญ​บาง​อย่าง​ขึ้น​มา. จำเป็น​จริง ๆ ไหม​ที่​พระ​เยซู​จะ​ประสบ​ความ​ทุกข์​ทรมาน​ทั้ง​หมด​นี้​และ​ต่อ​จาก​นั้น​ก็​สิ้น​พระ​ชนม์? ทำไม​พระองค์​เต็ม​พระทัย​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น? ใน​ฐานะ “มิตร​สหาย” และ​สาวก​ของ​พระองค์ เรา​จะ​เลียน​แบบ​ตัว​อย่าง​ของ​พระองค์​ได้​อย่าง​ไร?

ทำไม​พระ​เยซู​ต้อง​ทน​ทุกข์​และ​สิ้น​พระ​ชนม์?

5. พระ​เยซู​ทรง​ทราบ​โดย​วิธี​ใด​ว่า​มี​การ​ทดลอง​อะไร​บ้าง​ที่​รอ​พระองค์​อยู่?

5 ใน​ฐานะ​พระ​มาซีฮา​ตาม​คำ​สัญญา พระ​เยซู​ทรง​ทราบ​เหตุ​การณ์​ที่​คาด​ว่า​จะ​เกิด​ขึ้น​กับ​พระองค์. พระองค์​ทรง​ทราบ​คำ​พยากรณ์​หลาย​ข้อ​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ที่​บอก​ล่วง​หน้า​อย่าง​ละเอียด​ถึง​ความ​ทุกข์​ทรมาน​และ​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระ​มาซีฮา. (ยะซายา 53:3-7, 12; ดานิเอล 9:26) มาก​กว่า​หนึ่ง​ครั้ง​ที่​พระองค์​เตรียม​เหล่า​สาวก​ไว้​สำหรับ​การ​ทดลอง​ต่าง ๆ ที่​รอ​พระองค์​อยู่. (มาระโก 8:31; 9:31) ระหว่าง​เดิน​ทาง​ไป​กรุง​เยรูซาเลม​เพื่อ​ฉลอง​ปัศคา​ครั้ง​สุด​ท้าย พระองค์​ตรัส​อย่าง​ชัด​แจ้ง​แก่​เหล่า​อัครสาวก​ว่า “เขา​จะ​มอบ​บุตร​มนุษย์​ไว้​กับ​ปุโรหิต​ใหญ่​และ​พวก​อาลักษณ์, และ​เขา​จะ​ปรับ​โทษ​ท่าน​ถึง​ตาย, และ​จะ​มอบ​ท่าน​ไว้​กับ​คน​ต่าง​ประเทศ คน​ต่าง​ประเทศ​นั้น​จะ​เยาะเย้ย​ท่าน, ถ่ม​น้ำลาย​รด​ท่าน, จะ​เฆี่ยน​ตี​ท่าน​และ​จะ​ฆ่า​ท่าน​เสีย.” (มาระโก 10:33, 34) ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้​ไม่​ได้​กล่าว​ขึ้น​มา​ลอย ๆ. ดัง​ที่​เรา​ได้​เห็น​แล้ว พระ​เยซู​ถูก​เยาะเย้ย, ถูก​ถ่ม​น้ำลาย​รด, ถูก​เฆี่ยน​ตี, และ​ถูก​ประหาร​จริง ๆ.

6. ทำไม​พระ​เยซู​จำเป็น​ต้อง​ทน​ทุกข์​และ​สิ้น​พระ​ชนม์?

6 แต่​ทำไม​พระ​เยซู​จำเป็น​ต้อง​ทน​ทุกข์​และ​สิ้น​พระ​ชนม์? มี​เหตุ​ผล​ที่​สำคัญ​จริง ๆ อยู่​หลาย​ประการ. ประการ​แรก โดย​รักษา​ความ​ภักดี พระ​เยซู​จะ​พิสูจน์​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ของ​พระองค์​และ​สนับสนุน​พระ​บรม​เดชานุภาพ​ของ​พระ​ยะโฮวา. อย่า​ลืม​ว่า​ซาตาน​ได้​อ้าง​อย่าง​ผิด ๆ ว่า​มนุษย์​รับใช้​พระเจ้า​เพียง​เพราะ​ผล​ประโยชน์​อัน​เห็น​แก่​ตัว. (โยบ 2:1-5) โดย​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์ “จน​ถึง​ความ​มรณา . . . บน​หลัก​ทรมาน” พระ​เยซู​ทรง​ให้​คำ​ตอบ​ชัด​แจ้ง​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้​สำหรับ​ข้อ​กล่าวหา​ที่​ไม่​มี​มูล​ของ​ซาตาน. (ฟิลิปปอย 2:8, ล.ม.; สุภาษิต 27:11) ประการ​ที่​สอง พระ​มาซีฮา​ทน​ทุกข์​ทรมาน​และ​สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​จะ​ไถ่​บาป​ของ​คน​อื่น. (ยะซายา 53:5, 10; ดานิเอล 9:24) พระ​เยซู​ทรง​ประทาน “ชีวิต​ของ​ท่าน​ให้​เป็น​ค่า​ไถ่​คน​เป็น​อัน​มาก” เปิด​ทาง​ให้​พวก​เรา​มี​สัมพันธภาพ​อัน​ดี​กับ​พระเจ้า. (มัดธาย 20:28) ประการ​ที่​สาม โดย​อด​ทน​ความ​ยาก​ลำบาก​และ​ความ​ทุกข์​ทรมาน​ทุก​รูป​แบบ พระ​เยซู “ได้​ผ่าน​การ​ทดลอง​มา​แล้ว​ทุก​ประการ​เหมือน​พวก​เรา.” ด้วย​เหตุ​นี้ พระองค์​ทรง​เป็น​มหา​ปุโรหิต​ที่​เมตตา​สงสาร ผู้​ซึ่ง​สามารถ “เห็น​อก​เห็น​ใจ​ใน​ความ​อ่อนแอ​ของ​เรา.”—เฮ็บราย 2:17, 18; 4:15, ล.ม.

ทำไม​พระ​เยซู​เต็ม​พระทัย​จะ​สละ​ชีวิต​ของ​พระองค์?

7. พระ​เยซู​เสีย​สละ​มาก​ขนาด​ไหน​เมื่อ​พระองค์​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก?

7 เพื่อ​จะ​มี​ความ​เข้าใจ​ที่​ถูก​ต้อง​ใน​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​เต็ม​พระทัย​ทำ ขอ​ให้​คิด​อย่าง​นี้: มี​ชาย​คน​ใด​หรือ​จะ​ทิ้ง​ครอบครัว​และ​บ้าน​ของ​ตัว​เอง​ไป​แล้ว​ย้าย​ไป​ต่าง​ประเทศ​หาก​เขา​รู้​ว่า​คน​ส่วน​ใหญ่​ที่​อยู่​ใน​ประเทศ​นั้น​จะ​ปฏิเสธ​เขา และ​รู้​ว่า​เขา​จะ​ต้อง​ได้​รับ​ความ​อัปยศ​อดสู​รวม​ทั้ง​ความ​ทุกข์​ทรมาน และ​ใน​ที่​สุด​เขา​จะ​ถูก​ฆ่า? ตอน​นี้​ขอ​พิจารณา​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​ได้​กระทำ. ก่อน​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก พระองค์​มี​ฐานะ​ตำแหน่ง​ที่​ไม่​มี​ใด​เหมือน​อยู่​ใน​สวรรค์​เคียง​ข้าง​พระ​บิดา​ของ​พระองค์. กระนั้น พระ​เยซู​เต็ม​พระทัย​เสด็จ​จาก​พระ​นิเวศ​ของ​พระองค์​ใน​สวรรค์​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก​ฐานะ​มนุษย์. พระองค์​ทรง​ทำ​เช่น​นี้​ทั้ง ๆ ที่​รู้​ว่า​คน​ส่วน​ใหญ่​จะ​ปฏิเสธ​พระองค์​และ​พระองค์​จะ​ต้อง​ประสบ​ความ​อัปยศ​อดสู​อย่าง​เหี้ยม​โหด, ความ​ทุกข์​ทรมาน​แสน​สาหัส, และ​ความ​ตาย​อย่าง​เจ็บ​ปวด​รวดร้าว. (ฟิลิปปอย 2:5-7) อะไร​กระตุ้น​พระ​เยซู​ให้​ทำ​การ​เสีย​สละ​เช่น​นั้น?

8, 9. อะไร​กระตุ้น​พระ​เยซู​ให้​สละ​ชีวิต​ของ​พระองค์?

8 ยิ่ง​กว่า​อะไร​ทั้ง​หมด พระ​เยซู​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​จาก​ความ​รัก​อย่าง​สุด​ซึ้ง​ที่​มี​ต่อ​พระ​บิดา. ความ​อด​ทน​ของ​พระ​เยซู​เป็น​หลักฐาน​แสดง​ถึง​ความ​รัก​ที่​พระองค์​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา. ความ​รัก​เช่น​นั้น​ทำ​ให้​พระ​เยซู​เป็น​ห่วง​เกี่ยว​กับ​พระ​นาม​และ​ชื่อเสียง​ของ​พระ​บิดา. (มัดธาย 6:9; โยฮัน 17:1-6, 26) สำคัญ​ที่​สุด พระ​เยซู​ทรง​ประสงค์​ที่​จะ​เห็น​พระ​นาม​ของ​พระ​บิดา​พ้น​จาก​คำ​ติเตียน​ที่​ทับ​ถม​พระ​นาม​นั้น. ดัง​นั้น พระ​เยซู​ทรง​ถือ​ว่า​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​อัน​สูง​สุด​ที่​จะ​ทน​ทุกข์​เพื่อ​เห็น​แก่​ความ​ชอบธรรม เพราะ​พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ของ​พระองค์​จะ​มี​บทบาท​ใน​การ​ทำ​ให้​พระ​นาม​อัน​ล้ำ​เลิศ​ของ​พระ​บิดา​เป็น​ที่​นับถือ​อัน​บริสุทธิ์.—1 โครนิกา 29:13.

9 พระ​เยซู​มี​แรง​กระตุ้น​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ใน​การ​สละ​ชีวิต​ของ​พระองค์ นั่น​คือ​ความ​รัก​ที่​มี​ต่อ​มนุษยชาติ. นี่​เป็น​ความ​รัก​ที่​เกิด​ขึ้น​ตั้ง​แต่​ตอน​เริ่ม​ต้น​ประวัติศาสตร์​ของ​มนุษย์​ที​เดียว. นาน​ก่อน​ที่​พระ​เยซู​เสด็จ​มา​แผ่นดิน​โลก คัมภีร์​ไบเบิล​เปิด​เผย​ว่า​พระองค์​ทรง​รู้สึก​อย่าง​นั้น​ดัง​นี้: “สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​เรา​ยินดี​นั้น​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เหล่า​บุตร​ของ​มนุษย์.” (สุภาษิต 8:30, 31, ล.ม.) ความ​รัก​ของ​พระองค์​ปรากฏ​ชัด​ตอน​ที่​พระองค์​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก. ดัง​ที่​เรา​ได้​เห็น​ใน​สาม​บท​ก่อน​ของ​หนังสือ​นี้ ใน​หลาย​ทาง​พระ​เยซู​แสดง​ความ​รัก​ของ​พระองค์​ต่อ​มนุษย์​โดย​ทั่ว​ไป​และ​ต่อ​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​โดย​เฉพาะ. แต่​ใน​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน ส.ศ. 33 พระองค์​เต็ม​พระทัย​สละ​ชีวิต​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​พวก​เรา. (โยฮัน 10:11) จริง ๆ แล้ว ไม่​มี​วิธี​ใด​ที่​ใหญ่​ยิ่ง​กว่า​นี้​สำหรับ​พระองค์​ที่​จะ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​เรา. เรา​ควร​เลียน​แบบ​พระองค์​ใน​เรื่อง​นี้​ไหม? ใช่​แล้ว. ที่​จริง เรา​ได้​รับ​พระ​บัญชา​ให้​ทำ​เช่น​นั้น.

“รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​เหมือน​ที่​เรา​ได้​รัก​เจ้า”

10, 11. อะไร​คือ​บัญญัติ​ใหม่​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ให้​แก่​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์ บัญญัติ​นี้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อะไร และ​ทำไม​สำคัญ​ที่​เรา​เชื่อ​ฟัง​บัญญัติ​นี้?

10 คืน​ก่อน​สิ้น​พระ​ชนม์ พระ​เยซู​ทรง​รับสั่ง​แก่​เหล่า​สาวก​ผู้​ใกล้​ชิด​ที่​สุด​ของ​พระองค์​ว่า “เรา​ให้​บัญญัติ​ใหม่​ไว้​แก่​เจ้า​ทั้ง​หลาย คือ​ว่า​ให้​เจ้า​ทั้ง​หลาย​รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน; เรา​รัก​เจ้า​ทั้ง​หลาย​มา​แล้ว​อย่าง​ไร เจ้า​จง​รัก​กัน​และ​กัน​อย่าง​นั้น​ด้วย. เพราะ​เหตุ​นี้​แหละ คน​ทั้ง​หลาย​จะ​รู้​ว่า​พวก​เจ้า​เป็น​สาวก​ของ​เรา ถ้า​พวก​เจ้า​รัก​กัน.” (โยฮัน 13:34, 35, ล.ม.) “รัก​กัน​และ​กัน”—ทำไม​นี่​เป็น “บัญญัติ​ใหม่”? พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​สั่ง​อยู่​แล้ว​ว่า “จง​รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตัว​เอง.” (เลวีติโก 19:18) แต่​บัญญัติ​ใหม่​เรียก​ร้อง​ให้​มี​ความ​รัก​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​กว่า​นั้น เป็น​ความ​รัก​ซึ่ง​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​สละ​ชีวิต​ของ​ตน​เอง​เพื่อ​คน​อื่น. พระ​เยซู​เอง​ทรง​ชี้​ชัด​ถึง​เรื่อง​นี้​เมื่อ​ตรัส​ว่า “นี่​แหละ​เป็น​บัญญัติ​ของ​เรา คือ​ให้​เจ้า​ทั้ง​หลาย​รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​เหมือน​ที่​เรา​ได้​รัก​เจ้า. ไม่​มี​ผู้​ใด​มี​ความ​รัก​ใหญ่​ยิ่ง​กว่า​นี้ คือ​ที่​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด​จะ​สละ​ชีวิต​ของ​ตน​เพื่อ​มิตร​สหาย.” (โยฮัน 15:12, 13, ล.ม.) ที่​แท้​แล้ว บัญญัติ​ใหม่​บอก​ว่า “จง​รัก​คน​อื่น ไม่​ใช่​เหมือน รัก​ตัว​เอง แต่​มาก​กว่า ตัว​เอง.” โดย​วิธี​ที่​พระองค์​ดำเนิน​ชีวิต​และ​สิ้น​พระ​ชนม์ พระ​เยซู​แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​ความ​รัก​เช่น​นั้น​เป็น​อย่าง​ไร.

11 ทำไม​สำคัญ​ที่​เรา​เชื่อ​ฟัง​บัญญัติ​ใหม่? จำ​ไว้​ว่า​พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “เพราะ​เหตุ​นี้​แหละ [ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ตัว​เอง] คน​ทั้ง​หลาย​จะ​รู้​ว่า​พวก​เจ้า​เป็น​สาวก​ของ​เรา.” ใช่​แล้ว ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ตัว​เอง​ระบุ​ตัว​เรา​ว่า​เป็น​คริสเตียน​แท้. เรา​อาจ​เทียบ​ความ​รัก​เช่น​นี้​กับ​บัตร​ประจำ​ตัว. คน​เหล่า​นั้น​ที่​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่​ประจำ​ปี​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​มี​บัตร​ติด​หน้า​อก. บัตร​นี้​ระบุ​ตัว​ผู้​ติด​บัตร โดย​แสดง​ชื่อ​และ​ประชาคม​ของ​เขา. ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ที่​มี​ต่อ​กัน​และ​กัน​เป็น​เหมือน “บัตร” ที่​ระบุ​ตัว​คริสเตียน​แท้. กล่าว​อีก​อย่าง​หนึ่ง ความ​รัก​ที่​เรา​แสดง​ต่อ​กัน​ควร​เป็น​ที่​สังเกต​ได้​ชัด​เช่น​เดียว​กับ​ป้าย​หรือ​บัตร​ติด​หน้า​อก​ที่​บอก​ให้​ผู้​สังเกต​รู้​ว่า​เรา​เป็น​สาวก​แท้​ของ​พระ​คริสต์​จริง ๆ. เรา​แต่​ละ​คน​ควร​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘“บัตร” ของ​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ปรากฏ​ชัด​ใน​ชีวิต​ของ​ฉัน​ไหม?’

ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ตัว​เอง—เกี่ยว​ข้อง​กับ​อะไร?

12, 13. (ก) เรา​ต้อง​เต็ม​ใจ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​กัน​และ​กัน​ถึง​ขีด​ไหน? (ข) การ​เสีย​สละ​ตัว​เอง​หมาย​ความ​เช่น​ไร?

12 ใน​ฐานะ​สาวก​ของ​พระ​เยซู เรา​ต้อง​รัก​กัน​และ​กัน​เหมือน​ที่​พระองค์​ได้​รัก​เรา. นี่​หมาย​ถึง​การ​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​เสีย​สละ​เพื่อ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ. เรา​ต้อง​เต็ม​ใจ​เสีย​สละ​ถึง​ขีด​ไหน? คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​เรา​ว่า “เช่น​นี้​แหละ​เรา​จึง​รู้​จัก​ความ​รัก โดย​ที่​พระองค์​ได้​ทรง​ยอม​สละ​พระ​ชนม์​ของ​พระองค์​เพื่อ​เรา และ​เรา​ก็​ควร​จะ​สละ​ชีวิต​ของ​เรา​เพื่อ​พี่​น้อง.” (1 โยฮัน 3:16, ฉบับ​แปล 2002) เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู เรา​ต้อง​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​ตาย​แทน​กัน​หาก​จำเป็น. ใน​ยาม​ที่​มี​การ​ข่มเหง เรา​จะ​สละ​ชีวิต​ของ​เรา​เอง​แทน​ที่​จะ​ทรยศ​พี่​น้อง​คริสเตียน​และ​ทำ​ให้​ชีวิต​ของ​เขา​เป็น​อันตราย. ใน​ประเทศ​ที่​แตก​แยก​เนื่อง​จาก​การ​ต่อ​สู้​ด้าน​เชื้อชาติ​หรือ​ชาติ​พันธุ์ เรา​จะ​เสี่ยง​ชีวิต​ของ​เรา​เอง​เพื่อ​ปก​ป้อง​พี่​น้อง​ของ​เรา​โดย​ไม่​คำนึง​ถึง​ภูมิหลัง​ทาง​เชื้อชาติ​หรือ​ชาติ​พันธุ์​ของ​พวก​เขา. เมื่อ​ชาติ​ต่าง ๆ ทำ​สงคราม​กัน เรา​สมัคร​ใจ​ยอม​ติด​คุก​หรือ​กระทั่ง​ยอม​ตาย​มาก​กว่า​ที่​จะ​จับ​อาวุธ​ต่อ​สู้​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ—หรือ​กับ​ใคร ๆ ก็​ตาม.—โยฮัน 17:14, 16; 1 โยฮัน 3:10-12.

13 การ​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​สละ​ชีวิต​ของ​เรา​เพื่อ​พี่​น้อง​ไม่​ใช่​วิธี​เดียว​ที่​จะ​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ตัว​เอง. ที่​จริง มี​ไม่​กี่​คน​ใน​พวก​เรา​ที่​ต้อง​เสีย​สละ​มาก​ขนาด​นั้น. อย่าง​ไร​ก็​ดี หาก​เรา​รัก​พี่​น้อง​ของ​เรา​มาก​ถึง​ขนาด​ที่​จะ​ตาย​แทน​เขา เรา​ก็​น่า​จะ​เต็ม​ใจ​เสีย​สละ​ที่​น้อย​กว่า​นั้น โดย​ทุ่มเท​ตัว​เรา​เพื่อ​ช่วย​เขา​ใน​ขณะ​นี้​มิ​ใช่​หรือ? การ​เสีย​สละ​ตัว​เอง​หมาย​ถึง​การ​สละ​ผล​ประโยชน์​หรือ​ความ​สะดวก​สบาย​ของ​เรา​เอง​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​คน​อื่น. เรา​จัด​ให้​ความ​จำเป็น​และ​สวัสดิภาพ​ของ​เขา​มา​ก่อน​ของ​เรา​เอง​ถึง​แม้​การ​ทำ​เช่น​นั้น​จะ​ไม่​สะดวก​ก็​ตาม. (1 โกรินโธ 10:24) เรา​จะ​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ได้​โดย​วิธี​ใด​บ้าง​ที่​ใช้​ได้​จริง?

ใน​ประชาคม​และ​ใน​ครอบครัว

14. (ก) ผู้​ปกครอง​ต้อง​เสีย​สละ​ใน​ทาง​ใด​บ้าง? (ข) คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร​กับ​ผู้​ปกครอง​ที่​ทำ​งาน​หนัก​ใน​ประชาคม​ของ​คุณ?

14 ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​เสีย​สละ​หลาย​อย่าง​เพื่อ “เลี้ยง​ฝูง​แกะ.” (1 เปโตร 5:2, 3) นอก​จาก​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​ครอบครัว​ของ​ตน​เอง​แล้ว เขา​อาจ​ต้อง​ใช้​เวลา​ระหว่าง​ตอน​เย็น​หรือ​ตอน​สุด​สัปดาห์​เพื่อ​เอา​ใจ​ใส่​เรื่อง​ต่าง ๆ ของ​ประชาคม, รวม​ทั้ง​เตรียม​ส่วน​ต่าง ๆ สำหรับ​การ​ประชุม, เยี่ยม​บำรุง​เลี้ยง, และ​ตัดสิน​ความ. ผู้​ปกครอง​หลาย​คน​เสีย​สละ​เพิ่ม​ขึ้น โดย​ทำ​งาน​หนัก​ใน​การ​ประชุม​หมวด​และ​การ​ประชุม​ภาค​และ​รับใช้​ฐานะ​สมาชิก​ของ​คณะ​กรรมการ​ประสาน​งาน​กับ​โรง​พยาบาล, กลุ่ม​ที่​จัด​ขึ้น​เพื่อ​เยี่ยม​ผู้​ป่วย​ที่​รับ​การ​รักษา​ใน​โรง​พยาบาล, และ​คณะ​กรรมการ​ก่อ​สร้าง​ภูมิภาค. ผู้​ปกครอง​ทั้ง​หลาย ขอ​อย่า​ลืม​ว่า โดย​การ​รับใช้​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ—ใช้​เวลา, กำลัง, และ​ทรัพยากร​ของ​คุณ​บำรุง​เลี้ยง​ฝูง​แกะ—คุณ​กำลัง​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ตัว​เอง. (2 โกรินโธ 12:15) ความ​พยายาม​อย่าง​ไม่​เห็น​แก่​ตัว​ของ​คุณ​ได้​รับ​การ​หยั่ง​รู้​ค่า​ไม่​เพียง​แต่​จาก​พระ​ยะโฮวา​เท่า​นั้น แต่​จาก​ประชาคม​ที่​คุณ​บำรุง​เลี้ยง​นั้น​ด้วย.—ฟิลิปปอย 2:29; เฮ็บราย 6:10.

15. (ก) ภรรยา​ของ​ผู้​ปกครอง​ได้​เสีย​สละ​ใน​ทาง​ใด​บ้าง? (ข) คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร​กับ​ภรรยา​ที่​ให้​การ​เกื้อ​หนุน​ซึ่ง​สละ​เวลา​ที่​เธอ​พึง​ได้​จาก​สามี​ให้​กับ​ประชาคม​ของ​คุณ?

15 แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​กับ​ภรรยา​ของ​ผู้​ปกครอง สตรี​ที่​ให้​การ​เกื้อ​หนุน​เหล่า​นี้​ก็​เสีย​สละ​ด้วย​มิ​ใช่​หรือ​เพื่อ​สามี​ของ​ตน​จะ​สามารถ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​ฝูง​แกะ​ของ​พระเจ้า​ได้? ภรรยา​เสีย​สละ​แน่ ๆ เมื่อ​สามี​ต้อง​ให้​เวลา​กับ​เรื่อง​ต่าง ๆ ของ​ประชาคม​ซึ่ง​มิ​ฉะนั้น​แล้ว​เขา​อาจ​ใช้​เวลา​นั้น​กับ​ครอบครัว​ของ​ตน. ขอ​ให้​คิด​ถึง​ภรรยา​ของ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​ด้วย​เช่น​กัน รวม​ทั้ง​การ​ที่​พวก​เธอ​ต้อง​เสีย​สละ​เพื่อ​จะ​เดิน​ทาง​ไป​กับ​สามี​จาก​ประชาคม​หนึ่ง​ไป​อีก​ประชาคม​หนึ่ง​และ​จาก​หมวด​หนึ่ง​ไป​ยัง​อีก​หมวด​หนึ่ง. พวก​เธอ​ละ​ทิ้ง​บ้าน​ของ​ตัว​เอง​ไป​และ​บาง​ที​ต้อง​นอน​หลับ​ใน​ที่​ต่าง​กัน​ทุก​สัปดาห์. ภรรยา​ผู้​ที่​เต็ม​ใจ​จัด​ให้​ผล​ประโยชน์​ของ​ประชาคม​มา​ก่อน​ผล​ประโยชน์​ของ​ตัว​เอง​พึง​ได้​รับ​คำ​ชมเชย​เนื่อง​ด้วย​การ​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ด้วย​ใจ​เอื้อ​อารี.—ฟิลิปปอย 2:3, 4.

16. บิดา​มารดา​คริสเตียน​เสีย​สละ​เช่น​ไร​บ้าง​เพื่อ​บุตร​ของ​ตน?

16 เรา​จะ​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ใน​ครอบครัว​ได้​โดย​วิธี​ใด? บิดา​มารดา​ทั้ง​หลาย คุณ​เสีย​สละ​หลาย​อย่าง​เพื่อ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​บุตร​และ​อบรม​เลี้ยง​ดู​พวก​เขา “ด้วย​การ​ตี​สอน​และ​การ​ปรับ​ความ​คิด​จิตใจ​ตาม​หลักการ​ของ​พระ​ยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) คุณ​อาจ​ต้อง​ใช้​เวลา​หลาย​ชั่วโมง​ทำ​งาน​ที่​ทำ​ให้​หมด​เรี่ยว​แรง​เพียง​เพื่อ​จะ​จัด​หา​อาหาร​ให้​ครอบครัว​และ​เพื่อ​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​ลูก ๆ จะ​มี​เครื่อง​นุ่ง​ห่ม​พอ​เพียง​รวม​ทั้ง​ที่​อยู่​อาศัย. คุณ​คง​อยาก​จะ​เสีย​สละ​ตัว​เอง​มาก​กว่า​ที่​จะ​เห็น​ลูก​ขาด​สิ่ง​จำเป็น​ใน​ชีวิต. คุณ​ยัง​ใช้​ความ​พยายาม​อย่าง​มาก​ที่​จะ​ศึกษา​กับ​ลูก ๆ, พา​พวก​เขา​ไป​การ​ประชุม​คริสเตียน, และ​ทำ​งาน​กับ​พวก​เขา​ใน​งาน​เผยแพร่​ตาม​บ้าน. (พระ​บัญญัติ 6:6, 7) ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ของ​คุณ​ทำ​ให้​ผู้​ริเริ่ม​ชีวิต​ครอบครัว​พอ​พระทัย​และ​อาจ​หมาย​ถึง​ชีวิต​นิรันดร์​สำหรับ​ลูก ๆ ของ​คุณ.—สุภาษิต 22:6; เอเฟโซ 3:14, 15.

17. สามี​คริสเตียน​จะ​เลียน​แบบ​เจตคติ​ที่​ไม่​เห็น​แก่​ตัว​ของ​พระ​เยซู​ได้​อย่าง​ไร?

17 สามี​ทั้ง​หลาย คุณ​จะ​เลียน​แบบ​พระ​เยซู​ใน​การ​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ได้​โดย​วิธี​ใด? คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​คำ​ตอบ​ว่า “สามี​ทั้ง​หลาย จง​รัก​ภรรยา​ของ​ตน​ต่อ ๆ ไป​เช่น​เดียว​กับ​พระ​คริสต์​ได้​ทรง​รัก​ประชาคม​และ​ได้​สละ​พระองค์​เอง​เพื่อ​ประชาคม.” (เอเฟโซ 5:25, ล.ม.) ดัง​ที่​เรา​ทราบ​แล้ว พระ​เยซู​ทรง​รัก​เหล่า​สาวก​มาก​จน​กระทั่ง​พระองค์​สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​พวก​เขา. สามี​คริสเตียน​เลียน​แบบ​เจตคติ​ที่​ไม่​เห็น​แก่​ตัว​ของ​พระ​เยซู​ผู้​ซึ่ง “มิ​ได้​ทรง​กระทำ​แต่​สิ่ง​ที่​ชอบ​พระทัย​ของ​พระองค์.” (โรม 15:3) สามี​เช่น​นั้น​เต็ม​ใจ​จัด​ให้​ความ​จำเป็น​และ​ผล​ประโยชน์​ของ​ภรรยา​มา​ก่อน​ของ​ตน​เอง. เขา​ไม่​ยืนกราน​อย่าง​แข็งขัน​ว่า​ต้อง​ทำ​ทุก​สิ่ง​ตาม​แบบ​ที่​เขา​เอง​ชอบ​มาก​กว่า แต่​เขา​แสดง​ความ​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​โอน​อ่อน​ผ่อน​ตาม​ที่​ภรรยา​ชอบ​หาก​ไม่​ละเมิด​หลักการ​ใน​พระ​คัมภีร์. สามี​ที่​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ได้​รับ​ความ​พอ​พระทัย​จาก​พระ​ยะโฮวา​ทั้ง​ยัง​ได้​รับ​ความ​รัก​และ​ความ​นับถือ​จาก​ภรรยา​และ​บุตร​ของ​ตน.

คุณ​จะ​ทำ​ประการ​ใด?

18. อะไร​กระตุ้น​เรา​ให้​ปฏิบัติ​ตาม​บัญญัติ​ใหม่​ที่​ให้​รัก​กัน​และ​กัน?

18 การ​เชื่อ​ฟัง​บัญญัติ​ใหม่​ที่​ให้​รัก​กัน​และ​กัน​ไม่​ใช่​แนว​ทาง​ปฏิบัติ​ที่​ง่าย แต่​เรา​มี​แรง​กระตุ้น​อัน​ทรง​พลัง​ใน​การ​ทำ​เช่น​นั้น. เปาโล​ได้​เขียน​ว่า “ด้วย​ว่า​ความ​รัก​ของ​พระ​คริสต์​กระตุ้น​เรา เพราะ​เรา​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​นี้ คือ คน​หนึ่ง​ตาย​เพื่อ​คน​ทั้ง​ปวง . . . และ​พระองค์​สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​คน​ทั้ง​ปวง เพื่อ​คน​ที่​มี​ชีวิต​จะ​ไม่​อยู่​เพื่อ​ตน​เอง​อีก​ต่อ​ไป แต่​เพื่อ​พระองค์​ผู้​ได้​สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​พวก​เขา​และ​ถูก​ปลุก​ให้​คืน​พระ​ชนม์​แล้ว.” (2 โกรินโธ 5:14, 15, ล.ม.) เนื่อง​จาก​พระ​เยซู​สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​เรา เรา​ควร​รู้สึก​ถูก​กระตุ้น​ให้​มี​ชีวิต​อยู่​เพื่อ​พระองค์​มิ​ใช่​หรือ? เรา​สามารถ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้​โดย​การ​ติด​ตาม​ตัว​อย่าง​ของ​พระองค์​ใน​เรื่อง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ.

19, 20. ของ​ประทาน​อัน​ล้ำ​ค่า​อะไร​ที่​พระ​ยะโฮวา​ประทาน​ให้​เรา และ​เรา​จะ​แสดง​ให้​เห็น​โดย​วิธี​ใด​ว่า​เรา​ยอม​รับ​ของ​ประทาน​นั้น?

19 พระ​เยซู​มิ​ได้​พูด​เกิน​จริง​เมื่อ​ตรัส​ว่า “ไม่​มี​ผู้​ใด​มี​ความ​รัก​ใหญ่​ยิ่ง​กว่า​นี้ คือ​ที่​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด​จะ​สละ​ชีวิต​ของ​ตน​เพื่อ​มิตร​สหาย.” (โยฮัน 15:13, ล.ม.) การ​ที่​พระองค์​เต็ม​พระทัย​สละ​ชีวิต​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​พวก​เรา​เป็น​การ​แสดง​ความ​รัก​ของ​พระองค์ อย่าง​ใหญ่​ยิ่ง​ที่​สุด​ต่อ​เรา. กระนั้น มี​อีก​ผู้​หนึ่ง​ที่​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​เรา​มาก​กว่า​นั้น​เสีย​อีก. พระ​เยซู​ทรง​ชี้​แจง​ว่า “พระเจ้า​ทรง​รัก​โลก​มาก​ถึง​กับ​ทรง​ประทาน​พระ​บุตร​ผู้​ได้​รับ​กำเนิด​องค์​เดียว​ของ​พระองค์ เพื่อ​ทุก​คน​ที่​สำแดง​ความ​เชื่อ​ใน​พระองค์​นั้น​จะ​ไม่​ถูก​ทำลาย​แต่​มี​ชีวิต​นิรันดร์.” (โยฮัน 3:16, ล.ม.) พระเจ้า​ทรง​รัก​เรา​มาก​ถึง​กับ​ประทาน​พระ​บุตร​ของ​พระองค์​เป็น​ค่า​ไถ่ ทำ​ให้​มี​ทาง​เป็น​ไป​ได้​ที่​เรา​จะ​ได้​รับ​การ​ช่วย​ให้​พ้น​จาก​บาป​และ​ความ​ตาย. (เอเฟโซ 1:7) ค่า​ไถ่​เป็น​ของ​ประทาน​อัน​ล้ำ​ค่า​จาก​พระ​ยะโฮวา แต่​พระองค์​ไม่​ทรง​บังคับ​เรา​ให้​ยอม​รับ​ค่า​ไถ่​นั้น.

20 ตัว​เรา​เอง​ต้อง​เป็น​ฝ่าย​ยอม​รับ​เอา​ของ​ประทาน​จาก​พระ​ยะโฮวา. โดย​วิธี​ใด? โดย “สำแดง​ความ​เชื่อ” ใน​พระ​บุตร​ของ​พระองค์. อย่าง​ไร​ก็​ดี ความ​เชื่อ​ไม่​ใช่​เป็น​เพียง​คำ​พูด. เรา​พิสูจน์​ว่า​มี​ความ​เชื่อ​โดย​การ​กระทำ โดย​วิธี​ที่​เรา​ดำเนิน​ชีวิต. (ยาโกโบ 2:26) เรา​พิสูจน์​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​เยซู​คริสต์​โดย​การ​ดำเนิน​ตาม​พระองค์​ทุก ๆ วัน. การ​ทำ​เช่น​นี้​จะ​นำ​พระ​พร​อัน​อุดม​มา​ให้​เรา​ใน​ขณะ​นี้​และ​ใน​อนาคต ดัง​ที่​บท​สุด​ท้าย​ของ​หนังสือ​นี้​จะ​อธิบาย.

^ วรรค 3 พระ​เยซู​ถูก​ถ่ม​น้ำลาย​รด​สอง​ครั้ง​ใน​วัน​นั้น ครั้ง​แรก​โดย​ผู้​นำ​ศาสนา และ​ต่อ​จาก​นั้น​โดย​ทหาร​โรมัน. (มัดธาย 26:59-68; 27:27-30) แม้​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​ดูถูก​เช่น​นี้ พระองค์​ก็​ทรง​ทน​เอา​โดย​ไม่​บ่น ทำ​ให้​คำ​พยากรณ์​สำเร็จ​ที่​ว่า “ข้าพเจ้า​มิ​ได้​ซ่อน​หน้า​ให้​พ้น​จาก​ความ​หยาบ​หยาม​และ​การ​ถ่ม​น้ำลาย.”—ยะซายา 50:6.