บท 12
“นอกจากอุทาหรณ์แล้ว พระองค์ไม่ได้ตรัสสิ่งใดแก่เขา”
1-3. (ก) เหล่าสาวกที่เดินทางไปกับพระเยซูมีโอกาสที่ไม่มีใดเหมือนเช่นไร และพระองค์ทำให้พวกเขาจำสิ่งที่พระองค์สอนได้ง่ายขึ้นโดยวิธีใด? (ข) ทำไมอุทาหรณ์ที่บังเกิดผลจึงจำได้ง่าย?
เหล่าสาวกที่เดินทางไปกับพระเยซูมีโอกาสที่ไม่มีใดเหมือน. พวกเขาเรียนรู้โดยตรงจากครูผู้ยิ่งใหญ่. พวกเขาได้ยินด้วยตัวเองขณะที่พระองค์อธิบายพระคำของพระเจ้าและสอนพวกเขาถึงความจริงที่น่าตื่นเต้น. ตอนนี้ พวกเขาต้องเก็บรักษาคำตรัสอันล้ำค่าของพระองค์ไว้ในจิตใจและหัวใจของเขา; ยังไม่ถึงเวลาที่จะเก็บรักษาคำตรัสของพระองค์ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร. * อย่างไรก็ดี พระเยซูทรงทำให้พวกเขาจำสิ่งที่พระองค์สอนได้ง่ายขึ้น. โดยวิธีใด? โดยวิธีสอนของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อุทาหรณ์อย่างชำนิชำนาญ.
2 ที่จริง อุทาหรณ์ที่บังเกิดผลเป็นเรื่องที่ลืมยาก. นักประพันธ์คนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า อุทาหรณ์ “เปลี่ยนเสียงให้เป็นภาพ” และอุทาหรณ์ “ปล่อยผู้ฟังให้คิดด้วยภาพที่สร้างอยู่ในความคิดของเขา.” เนื่องจากบ่อยครั้งเราเข้าใจได้ดีที่สุดถ้าเห็นภาพ อุทาหรณ์สามารถทำให้แม้แต่แนวคิดที่เป็นนามธรรมเข้าใจง่ายขึ้น. อุทาหรณ์สามารถทำให้ถ้อยคำมีความหมายแจ่มชัดยิ่งขึ้น สอนบทเรียนที่จะติดแน่นอยู่ในความทรงจำของเรา.
3 ไม่มีครูคนใดในโลกชำนิชำนาญในการใช้อุทาหรณ์มากไปกว่าพระเยซูคริสต์. จนกระทั่งทุกวันนี้ อุทาหรณ์ของพระองค์เป็นเรื่องที่จำได้ง่าย. ทำไมพระเยซูมักใช้การสอนวิธีนี้? อะไรทำให้อุทาหรณ์ของพระองค์บังเกิดผลอย่างมาก? เราจะเรียนการใช้วิธีสอนเช่นนี้ได้อย่างไร?
เหตุผลที่พระเยซูสอนโดยใช้อุทาหรณ์
4, 5. ทำไมพระเยซูจึงใช้อุทาหรณ์?
4 คัมภีร์ไบเบิลให้เหตุผลสำคัญสองประการที่พระเยซูสอนโดยใช้อุทาหรณ์. เหตุผลประการแรก โดยการสอนเช่นนั้นพระองค์ทำให้คำพยากรณ์สำเร็จ. เราอ่านที่มัดธาย 13:34, 35 (ล.ม.) ว่า “พระเยซูตรัสแก่ฝูงชนโดยใช้อุทาหรณ์. แท้จริง นอกจากอุทาหรณ์แล้ว พระองค์ไม่ได้ตรัสสิ่งใดแก่เขา; เพื่อสิ่งที่กล่าวโดยทางผู้พยากรณ์จะสำเร็จที่ว่า ‘เราจะออกปากกล่าวเป็นอุทาหรณ์.’” ผู้พยากรณ์ที่มัดธายกล่าวถึงคือผู้เขียนบทเพลงสรรเสริญ 78:2. หลายศตวรรษก่อนพระเยซูประสูติ พระวิญญาณของพระเจ้าดลใจผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญให้เขียนบทเพลงนี้. ขอพิจารณาว่าเรื่องนี้หมายความเช่นไร. นี่หมายความว่าพระยะโฮวาทรงกำหนดไว้หลายร้อยปีล่วงหน้าว่า พระมาซีฮาจะสอนโดยใช้อุทาหรณ์. ดังนั้น พระยะโฮวาคงต้องเห็นคุณค่าของการสอนด้วยวิธีนี้อย่างแน่นอน.
5 เหตุผลประการที่สอง พระเยซูทรงอธิบายว่า พระองค์ใช้อุทาหรณ์เพื่อจะแยกคนที่หัวใจ “ด้านชา” ออกไป. (มัดธาย 13:10-15, ล.ม.; ยะซายา 6:9, 10) อุทาหรณ์ของพระองค์สามารถเปิดโปงเจตนาของผู้คนในทางใดบ้าง? ในบางกรณี พระองค์ต้องการให้ผู้ฟังขอคำอธิบายเพื่อจะเข้าใจความหมายแห่งคำตรัสของพระองค์อย่างเต็มที่. คนที่ถ่อมเต็มใจจะถาม ส่วนคนที่หยิ่งยโสหรือไม่แยแสก็จะไม่ถาม. (มัดธาย 13:36; มาระโก 4:34) ดังนั้น อุทาหรณ์ของพระเยซูเปิดเผย ความจริงแก่ผู้ที่มีหัวใจกระหายอยากรู้ความจริง; ในขณะเดียวกัน อุทาหรณ์ของพระองค์ปิดบัง ความจริงไว้จากคนที่มีหัวใจหยิ่ง.
6. อุทาหรณ์ต่าง ๆ ของพระเยซูส่งเสริมจุดมุ่งหมายที่เป็นประโยชน์อะไรบ้าง?
6 อุทาหรณ์ของพระเยซูส่งเสริมจุดมุ่งหมายที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ อีกหลายอย่าง. อุทาหรณ์เหล่านั้นเร้าความสนใจ กระตุ้นผู้คนให้รับฟัง. อุทาหรณ์ทำให้เกิดมโนภาพที่เข้าใจง่าย. ดังที่กล่าวตอนต้น อุทาหรณ์ของพระเยซูช่วยผู้ฟังให้จำคำตรัสของพระองค์. คำเทศน์บนภูเขาตามที่บันทึกในมัดธาย 5:3–7:27 เป็นตัวอย่างที่เด่นเกี่ยวกับการที่พระเยซูทรงใช้ภาพพจน์หรืออุทาหรณ์มากมาย. ตามการนับรายหนึ่ง คำเทศน์นี้มีภาพพจน์ (คำพูดที่เป็นสำนวนโวหารทำให้นึก เห็นภาพ) มากกว่า 50 อย่าง. เพื่อให้เห็นภาพว่ามีการใช้บ่อยแค่ไหน ให้จำไว้ว่าเราสามารถอ่านออกเสียงคำเทศน์นี้จบในเวลาราว ๆ 20 นาที. ในอัตราความเร็วเช่นนั้น เฉลี่ยแล้วมีการกล่าวภาพพจน์เกือบทุก ๆ 20 วินาที! เห็นได้ชัดว่า พระเยซูทรงเห็นคุณค่าของการใช้คำพูดที่ทำให้เห็นภาพ!
7. ทำไมเราควรเลียนแบบการใช้อุทาหรณ์ของพระเยซู?
7 ในฐานะสาวกของพระคริสต์ เราต้องการเลียนแบบวิธีการสอนของพระองค์ ซึ่งรวมไปถึงการที่พระองค์ใช้อุทาหรณ์ด้วย. เช่นเดียวกับเครื่องปรุงรสซึ่งทำให้อาหารน่ารับประทานมากขึ้น อุทาหรณ์ที่บังเกิดผลสามารถทำให้การสอนของเราน่าสนใจมากขึ้นสำหรับคนอื่น. นอกจากนั้น คำพูดที่ทำให้เห็นภาพที่คิดมาอย่างรอบคอบก็ยังสามารถทำให้ความจริงที่สำคัญเข้าใจง่ายขึ้นด้วย. ตอนนี้ขอให้เราพิจารณาปัจจัยบางอย่างที่ทำให้อุทาหรณ์ของพระเยซูบังเกิดผลจริง ๆ. แล้วเราก็จะสามารถมองเห็นว่าเราจะใช้วิธีสอนที่มีคุณค่าเช่นนี้อย่างบังเกิดผลได้อย่างไร.
การใช้การเปรียบเทียบแบบง่าย ๆ
8, 9. พระเยซูใช้การเปรียบเทียบง่าย ๆ อย่างไร และอะไรทำให้การเปรียบเทียบของพระองค์มีพลังจริง ๆ?
8 ในการสอน พระเยซูมักจะใช้การเปรียบเทียบที่ไม่ซับซ้อน ใช้เพียงไม่กี่คำเท่านั้น. ถึงกระนั้น คำง่าย ๆ ก็ทำให้เห็นภาพชัดเจนและสอนความจริงที่สำคัญในเรื่องพระเจ้าได้อย่างแจ่มแจ้ง. ตัวอย่างเช่น เมื่อกระตุ้นเหล่าสาวกมิให้กระวนกระวายในเรื่องสิ่งจำเป็นประจำวัน พระองค์ทรงชี้ถึง “นกในอากาศ” และ “ดอกไม้ที่ทุ่งนา.” นกมิได้หว่านพืชและเก็บเกี่ยว ทั้งดอกไม้ก็มิได้ปั่นด้ายเหนื่อย. กระนั้น พระเจ้าใฝ่พระทัยนกและดอกไม้. จุดสำคัญเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย นั่นคือ ถ้าพระเจ้าเอาพระทัยใส่ดูแลนกและดอกไม้ ก็แน่นอนว่าพระองค์จะดูแลมนุษย์ที่ “แสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าก่อน.”—มัดธาย 6:26, 28-33.
9 นอกจากนั้น พระเยซูใช้คำอุปมาอย่างมากมายด้วย ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่มีพลังมาก. อุปมาเป็นการกล่าวพาดพิงถึงสิ่งหนึ่งราวกับว่าเป็น อีกสิ่งหนึ่ง. นี่ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระองค์ทำให้การเปรียบเทียบเป็นแบบง่าย ๆ. ในโอกาสหนึ่ง พระองค์ทรงบอกเหล่าสาวกว่า “ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก.” พวกสาวกสามารถเข้าใจความหมายของการเปรียบเทียบนี้ได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ โดยคำพูดและการกระทำของพวกเขา เขาสามารถให้แสงแห่งความจริงส่องออกไปและช่วยคนอื่นให้สรรเสริญพระเจ้า. (มัดธาย 5:14-16) ขอสังเกตอุปมาอื่นบางเรื่องที่พระเยซูใช้ เช่น “ท่านทั้งหลายเป็นเกลือแห่งแผ่นดินโลก.” “เราเป็นต้นองุ่น, ท่านทั้งหลายเป็นกิ่ง.” (มัดธาย 5:13; โยฮัน 15:5) ภาพพจน์ดังกล่าวมีพลังตรงที่เป็นถ้อยคำง่าย ๆ.
10. ตัวอย่างอะไรบ้างที่แสดงให้เห็นวิธีที่คุณสามารถใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบในการสอนของคุณได้?
10 คุณจะใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบในการสอนได้อย่างไร? คุณไม่ต้องคิดแต่งเรื่องที่ละเอียดยืดยาว. เพียงแต่พยายามคิดถึงการเปรียบเทียบง่าย ๆ. ลองนึกภาพว่าคุณกำลังพิจารณาเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายและคุณต้องการยกตัวอย่างเพื่อแสดงว่าการปลุกคนตายให้เป็นขึ้นมาไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับพระยะโฮวา. คุณคิดถึงการเปรียบเทียบเช่นไร? คัมภีร์ไบเบิลเปรียบความตายเหมือนกับการนอนหลับ. คุณอาจพูดว่า “พระเจ้าสามารถปลุกคนตายให้เป็นขึ้นมาได้ง่าย ๆ เหมือนที่เราปลุกคนที่หลับให้ตื่นขึ้น.” (โยฮัน 11:11-14) สมมุติว่าคุณต้องการยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อแสดงว่าเด็กจำเป็นต้องได้รับความรักและความเอ็นดูเพื่อจะวัฒนาขึ้น. คุณจะใช้ตัวอย่างอะไร? คัมภีร์ไบเบิลใช้การเปรียบเทียบดังนี้: เด็กเป็น “เหมือนหน่อมะกอกเทศ.” (บทเพลงสรรเสริญ 128:3, ฉบับแปลใหม่) คุณอาจพูดว่า “เด็กจำเป็นต้องได้รับความรักและความเอ็นดูเช่นเดียวกับต้นไม้ต้องได้รับแสงแดดและน้ำ.” ยิ่งการเปรียบเทียบง่ายเท่าใด ผู้ฟังก็จะยิ่งเข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้น.
ใช้อุทาหรณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
11. จงยกตัวอย่างที่แสดงว่าอุทาหรณ์ของพระเยซูอาศัยสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์คงได้สังเกตดูขณะเจริญวัยอยู่ในมณฑลแกลิลี.
11 พระเยซูมีความชำนิชำนาญในการใช้อุทาหรณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ของผู้คน. อุทาหรณ์หลายเรื่องของพระองค์สะท้อนให้เห็นสภาพการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันซึ่งพระองค์คงได้พบเห็นขณะเจริญวัยในมณฑลแกลิลี. ขอให้คิดสักครู่ถึงชีวิตในช่วงต้น ๆ ของพระองค์. บ่อยครั้งสักเพียงไรที่พระองค์เห็นมารดาของพระองค์โม่เมล็ดข้าวให้เป็นแป้ง, ใส่เชื้อลงในแป้ง, จุดตะเกียง, หรือกวาดบ้าน? (มัดธาย 13:33; 24:41; ลูกา 15:8) บ่อยครั้งเพียงใดที่พระองค์เฝ้าดูชาวประมงหย่อนอวนลงในทะเลแกลิลี? (มัดธาย 13:47) บ่อยแค่ไหนที่พระองค์ได้เห็นเด็ก ๆ เล่นกันกลางตลาด? (มัดธาย 11:16) แน่นอน พระเยซูคงได้พบเห็นสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดาซึ่งพระองค์ได้กล่าวถึงในอุทาหรณ์หลายเรื่องของพระองค์ เช่น การหว่านเมล็ดพืช, งานเลี้ยงสมรสที่มีความชื่นชมยินดี, และนาข้าวสุกเหลืองที่ต้องแสงตะวัน.—มัดธาย 13:3-8; 25:1-12; มาระโก 4:26-29.
12, 13. ทำไมจึงมีนัยสำคัญที่พระเยซูใช้ถนน ‘จากกรุงยะรูซาเลมไปยังเมืองยะริโฮ’ เพื่อนำเสนอเรื่องในอุทาหรณ์เกี่ยวกับเพื่อนบ้านชาวซะมาเรีย?
12 ในอุทาหรณ์ของพระองค์ พระเยซูตรัสถึงรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งผู้ฟังพระองค์รู้จักกันดี. ตัวอย่างเช่น พระองค์เริ่มเล่าอุทาหรณ์เรื่องเพื่อนบ้านชาวซะมาเรียว่า “มีคนหนึ่งลงไปจากกรุงยะรูซาเลมจะไปยังเมืองยะริโฮ, และเขาถูกพวกโจรปล้น โจรนั้นได้แย่งชิงเสื้อผ้าของเขาและทุบตี, แล้วก็ละทิ้งเขาไว้เกือบจะตาย.” (ลูกา 10:30) การที่พระเยซูใช้ถนน “จากกรุงยะรูซาเลมจะไปยังเมืองยะริโฮ” เพื่อนำเสนอเรื่องนั้นมีนัยสำคัญ. ขณะเล่าอุทาหรณ์นี้ พระองค์อยู่ในมณฑลยูเดีย ไม่ไกลจากกรุงเยรูซาเลม ดังนั้น ผู้ที่ฟังพระองค์คงจะรู้จักถนนที่ว่านี้. เป็นที่รู้จักกันว่าถนนสายนี้อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเดินทางลำพังคนเดียว. ถนนสายนี้ทั้งเปลี่ยวและคดเคี้ยวไปมาตลอดเส้นทาง ทำให้พวกโจรมีที่ซุ่มซ่อนตัวมากมาย.
13 พระเยซูรวมเอารายละเอียดอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีไว้ด้วยเกี่ยวกับถนน “จากกรุงยะรูซาเลมจะไปยังเมืองยะริโฮ.” ตามที่เล่าในอุทาหรณ์ ทีแรกปุโรหิตคนหนึ่งและต่อมาก็ชาวเลวีอีกคนหนึ่งต่างก็เดินผ่านถนนสายนั้น แต่ไม่มีใครหยุดเพื่อช่วยชายที่ถูกทำร้ายนั้น. (ลูกา 10:31, 32) พวกปุโรหิตรับใช้ที่พระ วิหารในกรุงเยรูซาเลม และชาวเลวีเป็นผู้ช่วยของเขา. ปุโรหิตและชาวเลวีหลายคนพักอาศัยในเมืองเยริโค (ยะริโฮ) เมื่อพวกเขาไม่ได้ทำงานที่พระวิหาร เมืองเยริโคอยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเลมเพียง 23 กิโลเมตร. ดังนั้น จึงพบเห็นพวกเขาได้บนถนนสายนี้. ขอให้สังเกตด้วยว่าพระเยซูตรัสถึงคนที่เดินทางว่า “ลงไปจากกรุงยะรูซาเลม.” ผู้ฟังพระองค์เข้าใจเรื่องนี้ได้. กรุงเยรูซาเลมอยู่สูงกว่าเมืองเยริโค. ดังนั้น เมื่อเดินทาง “จากกรุงยะรูซาเลม” ผู้ที่เดินทางคงจะ “ลงไปจาก” กรุงนั้นจริง ๆ. * พระเยซูทรงคำนึงถึงผู้ฟังพระองค์อย่างเห็นได้ชัด.
14. เมื่อใช้อุทาหรณ์ เราจะคำนึงถึงผู้ฟังของเราได้อย่างไร?
14 เมื่อเราใช้อุทาหรณ์ เราต้องคำนึงถึงผู้ฟังด้วยเช่นกัน. มีอะไรบ้างเกี่ยวกับผู้ฟังที่อาจมีผลต่อการเลือกอุทาหรณ์ของเรา? บางทีอาจต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ, ภูมิหลังทางวัฒนธรรมหรือทาง ครอบครัว, และอาชีพ. ตัวอย่างเช่น อุทาหรณ์ที่กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการทำไร่ไถนาอาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายในเขตที่มีการทำเกษตรกรรมมากกว่าในเมืองใหญ่. ชีวิตและกิจกรรมประจำวันของผู้ฟัง ลูก ๆ ของเขา, บ้านเรือน, งานอดิเรก, อาหารการกินของพวกเขา อาจใช้เป็นพื้นฐานสำหรับอุทาหรณ์ที่เหมาะได้ด้วย.
นำสิ่งทรงสร้างมาใช้ในอุทาหรณ์
15. เพราะเหตุใดจึงไม่น่าประหลาดใจที่พระเยซูมีความรู้อย่างละเอียดลออเกี่ยวกับสิ่งทรงสร้าง?
15 อุทาหรณ์ของพระเยซูหลายเรื่องเผยให้เห็นว่า พระองค์มีความรู้ในเรื่องธรรมชาติ รวมทั้งเรื่องพืช, สัตว์, และสภาพอากาศ. (มัดธาย 16:2, 3; ลูกา 12:24, 27) พระองค์ได้ความรู้ดังกล่าวมาจากที่ไหน? ขณะที่เจริญวัยขึ้นในแกลิลี พระองค์ย่อมมีโอกาสมากมายในการสังเกตสิ่งทรงสร้างต่าง ๆ. สำคัญยิ่งกว่านั้น พระเยซูทรงเป็น “ผู้แรกที่บังเกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง” และในการสร้างสรรพสิ่ง พระยะโฮวาทรงใช้พระองค์เป็น “นายช่าง.” (โกโลซาย 1:15, 16, ล.ม.; สุภาษิต 8:30, 31, ล.ม.) จึงไม่น่าประหลาดใจมิใช่หรือที่พระเยซูมีความรู้อย่างละเอียดลออเกี่ยวกับสิ่งทรงสร้าง? ขอให้เรามาดูวิธีที่พระองค์นำความรู้นี้ไปใช้อย่างชำนิชำนาญ.
16, 17. (ก) อะไรบ่งชี้ว่าพระเยซูทรงรู้จักคุ้นเคยกับนิสัยของแกะเป็นอย่างดี? (ข) ตัวอย่างอะไรแสดงว่าแกะฟังเสียงของผู้เลี้ยงอย่างแท้จริง?
16 ขอระลึกว่าพระเยซูทรงเรียกพระองค์เองว่า “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” และเรียกเหล่าสาวกว่า “แกะ.” ถ้อยคำของพระเยซูบ่งชี้ว่าพระองค์ทรงรู้จักคุ้นเคยกับนิสัยของแกะเป็นอย่างดี. พระองค์ทรงทราบว่ามีความผูกพันเป็นพิเศษระหว่างผู้เลี้ยงแกะกับแกะของเขา. พระองค์สังเกตว่าแกะพวกนี้ที่ไว้ใจคน พร้อมจะติดตามผู้นำไปทันทีและพวกมันติดตามผู้เลี้ยงอย่างซื่อสัตย์. ทำไมแกะจึงตามผู้เลี้ยงแกะ? พระเยซูตรัสว่า ‘เพราะแกะรู้จักเสียงของผู้เลี้ยง.’ (โยฮัน 10:2-4, 11, ล.ม.) แกะรู้จักเสียงของผู้เลี้ยงจริง ๆ ไหม?
17 จอร์จ เอ. สมิท เขียนสิ่งที่เขาได้พบเห็นไว้ในหนังสือภูมิประเทศทางประวัติศาสตร์ของดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (ภาษาอังกฤษ) ว่า “บางครั้ง เราพักผ่อนตอนเที่ยงข้างบ่อน้ำแห่งหนึ่งในยูเดียที่มีผู้เลี้ยงแกะสามหรือสี่คนลงมาที่นั่นพร้อมกับฝูงแกะของเขา. ฝูงแกะของผู้เลี้ยงแกะเหล่านั้นมารวมกลุ่มปะปนกันที่บ่อน้ำ และเราสงสัยว่า ผู้เลี้ยงแกะแต่ละคนจะรู้ได้อย่างไรว่าแกะตัวไหนเป็นของเขา. แต่หลังจากพวกแกะได้น้ำและเล่นกันเสร็จแล้ว ผู้เลี้ยงก็ทยอยกลับขึ้นไปคนละฝั่งของหุบเขา และแต่ละคนก็ร้องเรียกแกะด้วยเสียงที่มีลักษณะเฉพาะ และแกะของผู้เลี้ยงแต่ละคนก็แยกกันออกจากกลุ่มกลับไปหาผู้เลี้ยงของมันเป็นฝูงแบบเดิมอย่างมีระเบียบเหมือนกับตอนที่พวกมันมา.” พระเยซูคงไม่อาจหาตัวอย่างอะไรที่ดีไปกว่านี้เพื่อแสดงให้เห็นจุดสำคัญของพระองค์ นั่นคือ หากเรายอมรับและเชื่อฟังคำสอนอีกทั้งติดตามการนำของพระองค์ เราจะอยู่ภายใต้การเอาใจใส่ดูแลของ “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี.”
18. เราจะพบข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งทรงสร้างของพระยะโฮวาได้จากที่ไหน?
18 เราจะเรียนวิธีนำสิ่งทรงสร้างมาใช้เป็นอุทาหรณ์ได้อย่างไร? ลักษณะนิสัยที่ โดดเด่นของสัตว์อาจให้พื้นฐานสำหรับการเปรียบเทียบที่ง่ายทว่าบังเกิดผล. เราจะพบข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งทรงสร้างของพระยะโฮวาได้จากที่ไหน? คัมภีร์ไบเบิลเป็นแหล่งความรู้อย่างมากมายเกี่ยวกับสัตว์นานาชนิด และบางครั้งมีการใช้ลักษณะนิสัยของสัตว์ในแบบที่เป็นอุทาหรณ์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวพาดพิงถึงการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเหมือนละมั่งบนภูเขาหรือเสือดาว, ระแวดระวังเหมือนงู, ไม่เป็นพิษเป็นภัยเหมือนนกพิราบ. * (1 โครนิกา 12:8, ฉบับแปลใหม่; ฮะบาฆูค 1:8; มัดธาย 10:16, ล.ม.) แหล่งข้อมูลที่มีคุณค่าอื่น ๆ ได้แก่หอสังเกตการณ์, ตื่นเถิด!, และสรรพหนังสืออื่น ๆ ที่พยานพระยะโฮวาจัดพิมพ์ขึ้น. คุณสามารถเรียนรู้ได้มากจากการสังเกตวิธีที่สรรพหนังสือเหล่านี้ใช้การเปรียบเทียบง่าย ๆ โดยอาศัยสิ่งทรงสร้างที่น่าพิศวงมากมายหลายอย่างของพระยะโฮวา.
นำตัวอย่างที่ผู้ฟังรู้จักดีมาใช้
19, 20. (ก) พระเยซูทรงใช้เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างบังเกิดผลเช่นไรเพื่อเปิดโปงความเชื่อผิด ๆ? (ข) เราจะใช้ตัวอย่างและประสบการณ์จากชีวิตจริงในการสอนของเราได้อย่างไร?
19 ตัวอย่างเปรียบเทียบที่มีพลังอาจอยู่ในรูปของตัวอย่างจากชีวิตจริง. ครั้งหนึ่ง พระเยซูทรงใช้เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเพื่อเปิดโปงความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าเหตุร้ายอันน่าเศร้าสลดย่อมเกิดขึ้นกับคนที่สมควรจะได้รับ. พระองค์ตรัสว่า “สิบแปดคนนั้นที่หอรบที่ซีโลอามได้พังทับเขาตายเสียนั้น, ท่านทั้งหลายคิดว่าเขาเป็นคนบาปยิ่งกว่าคนทั้งปวงที่อาศัยในกรุงยะรูซาเลมหรือ?” (ลูกา 13:4) ที่จริง สิบแปดคนนั้นไม่ได้ตายเพราะบาปบางอย่างที่กระตุ้นให้พระเจ้าไม่พอพระทัย. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ความตายอันน่าเศร้าสลดนั้นเป็นผลจาก “วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า.” (ท่านผู้ประกาศ 9:11, ล.ม.) โดยวิธีนี้ พระเยซูทรงหักล้างคำสอนเท็จโดยยกเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้ฟังของพระองค์รู้จักดี.
20 เราจะใช้ตัวอย่างและประสบการณ์จากชีวิตจริงในการสอนของเราได้อย่าง ไร? สมมุติว่าคุณกำลังพิจารณาความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ของพระเยซูเกี่ยวกับสัญลักษณ์แห่งการประทับของพระองค์. (มัดธาย 24:3-14) คุณอาจอ้างถึงข่าวที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้เกี่ยวกับสงคราม, การกันดารอาหาร, หรือแผ่นดินไหวเพื่อแสดงว่าลักษณะเด่นเฉพาะอย่างของสัญลักษณ์นี้กำลังสำเร็จเป็นจริง. หรือสมมุติว่าคุณต้องการใช้ประสบการณ์หนึ่งเพื่อแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเนื่องจากการสวมใส่บุคลิกภาพใหม่. (เอเฟโซ 4:20-24) คุณจะพบประสบการณ์ดังกล่าวได้ที่ไหน? คุณอาจคิดถึงภูมิหลังที่หลากหลายของเพื่อนร่วมความเชื่อ หรือคุณอาจใช้ประสบการณ์ที่พิมพ์ในหนังสือเล่มหนึ่งของพยานพระยะโฮวา.
21. การเป็นครูสอนพระคำของพระเจ้าอย่างบังเกิดผลมีผลตอบแทนอะไรบ้าง?
21 พระเยซูทรงเป็นครูที่ชำนิชำนาญอย่างแท้จริง! ดังที่เราได้เห็นในตอน 2 นี้ ‘การสอน . . . และการประกาศข่าวดี’ เป็นงานประจำชีวิตของพระองค์. (มัดธาย 4:23, ล.ม.) งานนี้เป็นงานประจำชีวิตของเราด้วย. การเป็นครูที่บังเกิดผลมีผลตอบแทนมากมาย. เมื่อเราสอน เรากำลังให้บางสิ่งแก่คนอื่น และการให้ดังกล่าวทำให้มีความสุข. (กิจการ 20:35) ความสุขเช่นนั้นเป็นความยินดีเนื่องจากรู้ว่าเรากำลังบอกสิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงและถาวร นั่นคือความจริงเกี่ยวกับพระยะโฮวา. เรายังมีความอิ่มใจพอใจเพราะรู้ว่าเรากำลังติดตามตัวอย่างของพระเยซู ครูผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาบนแผ่นดินโลก.
^ วรรค 1 บันทึกแรกที่มีขึ้นโดยการดลใจเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูบนแผ่นดินโลกดูเหมือนจะเป็นกิตติคุณของมัดธาย ซึ่งเขียนหลังจากพระเยซูสิ้นพระชนม์ราว ๆ แปดปี.
^ วรรค 13 พระเยซูยังตรัสด้วยว่าปุโรหิตและชาวเลวีมา “จาก กรุงยะรูซาเลม” ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงมาจากพระวิหาร. ดังนั้น จึงไม่อาจจะอ้างเหตุผลที่ฟังขึ้นได้เลยสำหรับความเฉยเมยของพวกเขาโดยอ้างว่าที่พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ช่วยชายที่ดูเหมือนว่าตายแล้วนั้นเพราะไม่ต้องการกลายเป็นคนขาดคุณสมบัติชั่วคราวสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ที่พระวิหาร.—เลวีติโก 21:1; อาฤธโม 19:16.
^ วรรค 18 สำหรับการใช้ลักษณะนิสัยของสัตว์ในเชิงอุปมาในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งมีรายการที่ละเอียดกว่า ขอดูหนังสือการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 268, 270-271.