ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 7

“จงพินิจพิจารณาพระองค์ผู้ได้ทรงอดทน”

“จงพินิจพิจารณาพระองค์ผู้ได้ทรงอดทน”

1-3. (ก) พระ​เยซู​ทรง​รู้สึก​ปวด​ร้าว​แสน​สาหัส​แค่​ไหน​ใน​สวน​เกทเซมาเน และ​อะไร​เป็น​สาเหตุ? (ข) จะ​กล่าว​ได้​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​ตัว​อย่าง​ความ​อด​ทน​ของ​พระ​เยซู และ​เกิด​คำ​ถาม​อะไร​ขึ้น?

 ความ​กดดัน​รุนแรง​ยิ่ง​นัก. พระ​เยซู​ไม่​เคย​ประสบ​ความ​เจ็บ​ปวด​รวดร้าว​ทาง​จิตใจ​และ​ทาง​อารมณ์​เช่น​นี้​มา​ก่อน​เลย. ตอน​นั้น​เป็น​ช่วง​ท้าย ๆ ของ​ชีวิต​พระองค์​บน​แผ่นดิน​โลก. พระองค์​เสด็จ​มา​ที่​สวน​เกทเซมาเน​ซึ่ง​เป็น​สถาน​ที่​ที่​คุ้น​เคย​พร้อม​กับ​เหล่า​อัครสาวก. พระองค์​มัก​จะ​พบ​ปะ​กับ​พวก​เขา​ที่​นี่. อย่าง​ไร​ก็​ดี ใน​คืน​นี้ พระองค์​จำเป็น​ต้อง​อยู่​ตาม​ลำพัง​ช่วง​หนึ่ง. โดย​ปล่อย​พวก​อัครสาวก​ไว้ พระองค์​เสด็จ​ลึก​เข้า​ไป​ใน​สวน แล้ว​ทรง​คุกเข่า​ลง เริ่ม​ต้น​อธิษฐาน. พระองค์​ทรง​อธิษฐาน​อย่าง​จริงจัง​และ​รู้สึก​ปวด​ร้าว​จน​พระ​เสโท (เหงื่อ) ของ​พระองค์​เป็น “เหมือน​โลหิต​ไหล​หยด​ลง​ถึง​ดิน.”—ลูกา 22:39-44.

2 ทำไม​พระ​เยซู​ทรง​เป็น​ทุกข์​ถึง​เพียง​นั้น? จริง​อยู่ พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​ใน​ไม่​ช้า​พระองค์​จะ​ต้อง​เผชิญ​ความ​ทุกข์​ทรมาน​ทาง​กาย​แสน​สาหัส แต่​นี่​ไม่​ใช่​เหตุ​ผล​ที่​พระองค์​ทรง​เป็น​ทุกข์. พระองค์​ทรง​คำนึง​ถึง​เรื่อง​ที่​สำคัญ​กว่า. พระองค์​ทรง​เป็น​ห่วง​อย่าง​ยิ่ง​เกี่ยว​กับ​พระ​นาม​ของ​พระ​บิดา​และ​สำนึก​ว่า​อนาคต​ของ​ครอบครัว​มนุษย์​ขึ้น​อยู่​กับ​การ​ที่​พระองค์​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์. พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​เพียง​ไร​ที่​พระองค์​อด​ทน. หาก​พระองค์​ล้มเหลว พระองค์​จะ​นำ​คำ​ติเตียน​มาก​มาย​มา​สู่​พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา. แต่​พระ​เยซู​มิ​ได้​ล้มเหลว. ต่อ​มา​ใน​วัน​นั้น ช่วง​ก่อน​ที่​จะ​สูด​ลม​หายใจ​เฮือก​สุด​ท้าย พระองค์​ผู้​ทรง​วาง​แบบ​อย่าง​อัน​ดี​เยี่ยม​ที่​สุด​ใน​เรื่อง​ความ​อด​ทน​เท่า​ที่​เคย​มี​บน​แผ่นดิน​โลก​ทรง​ร้อง​ออก​มา​อย่าง​ผู้​มี​ชัย​ชนะ​ว่า “สำเร็จ​แล้ว.”—โยฮัน 19:30.

3 คัมภีร์​ไบเบิล​กระตุ้น​เรา​ให้ “พินิจ​พิจารณา​พระองค์ [พระ​เยซู] ผู้​ได้​ทรง​อด​ทน.” (เฮ็บราย 12:3, ล.ม.) ดัง​นั้น มี​การ​ยก​คำ​ถาม​สำคัญ​บาง​อย่าง​ขึ้น​มา​ที่​ว่า พระ​เยซู​ทรง​อด​ทน​การ​ทดลอง​อะไร​บ้าง? อะไร​ทำ​ให้​พระองค์​สามารถ​อด​ทน​ได้? เรา​จะ​ติด​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​พระองค์​ได้​อย่าง​ไร? แต่​ก่อน​ที่​เรา​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้ ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​ดู​ว่า​ความ​อด​ทน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อะไร.

ความ​อด​ทน​คือ​อะไร?

4, 5. (ก) “ความ​อด​ทน” หมาย​ความ​เช่น​ไร? (ข) เรา​อาจ​ยก​ตัว​อย่าง​เช่น​ไร​ที่​แสดง​ว่า​ความ​อด​ทน​เกี่ยว​ข้อง​ไม่​เพียง​แค่​การ​ประสบ​ความ​ยาก​ลำบาก​ที่​เลี่ยง​ไม่​พ้น?

4 เป็น​ครั้ง​คราว เรา​ทุก​คน​ล้วน “ทน​ยาก​ลำบาก . . . ด้วย​การ​ทดลอง​ต่าง ๆ.” (1 เปโตร 1:6) ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​เรา​ประสบ​การ​ทดลอง​จะ​หมาย​ความ​เสมอ​ไป​ไหม​ว่า​เรา​อด​ทน​การ​ทดลอง​นั้น? ไม่​ใช่. คำ​นาม​ภาษา​กรีก​สำหรับ “ความ​อด​ทน” หมาย​ถึง “ความ​สามารถ​ที่​จะ​ยืนหยัด​หรือ​ไม่​ยอม​แพ้​แม้​เผชิญ​ความ​ยุ่งยาก.” ผู้​คง​แก่​เรียน​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​หนึ่ง​อธิบาย​เกี่ยว​กับ​ความ​อด​ทน​ชนิด​ที่​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​อ้าง​ถึง​ว่า “ความ​อด​ทน​เป็น​น้ำใจ​ซึ่ง​สามารถ​ทน​รับ​สิ่ง​ต่าง ๆ ได้ ไม่​วาง​มือ​ง่าย ๆ แต่​มี​ความ​หวัง​ที่​แรง​กล้า . . . ความ​อด​ทน​เป็น​คุณสมบัติ​ที่​ทำ​ให้​คน​เรา​ยืนหยัด​ขณะ​ที่​เผชิญ​ปัญหา​ต่อ ๆ ไป. ความ​อด​ทน​เป็น​คุณธรรม​ซึ่ง​สามารถ​เปลี่ยน​การ​ทดลอง​ที่​หนัก​หน่วง​ที่​สุด​ให้​กลาย​เป็น​สง่า​ราศี เนื่อง​จาก​ความ​อด​ทน​ทำ​ให้​มอง​เลย​ความ​เจ็บ​ปวด​ไป​และ​เห็น​ถึง​เป้าหมาย​เบื้อง​หน้า.”

5 ดัง​นั้น การ​อด​ทน​ไม่​ใช่​เป็น​เพียง​เรื่อง​ของ​การ​ประสบ​ความ​ยาก​ลำบาก​ที่​เลี่ยง​ไม่​พ้น. ตาม​ความ​หมาย​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล ความ​อด​ทน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​มั่นคง การ​รักษา​เจตคติ​ที่​ถูก​ต้อง​และ​ทัศนะ​ที่​เต็ม​ด้วย​ความ​หวัง​ขณะ​เผชิญ​การ​ทดลอง​ต่าง ๆ. ขอ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​นี้: ชาย​สอง​คน​ถูก​จำ​คุก​ใน​สภาพการณ์​คล้าย​กัน​แต่​ด้วย​สาเหตุ​ที่​ต่าง​กัน​ที​เดียว. คน​หนึ่ง​เป็น​อาชญากร​ธรรมดา​ซึ่ง​ยอม​ต้อง​โทษ​ติด​คุก​อย่าง​เสีย​ไม่​ได้​ด้วย​ใบ​หน้า​เศร้า​หมอง. อีก​คน​หนึ่ง​เป็น​คริสเตียน​แท้​ซึ่ง​ติด​คุก​เนื่อง​จาก​แนว​ทาง​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​เขา ยัง​มั่นคง​อยู่​และ​รักษา​เจตคติ​ใน​แง่​บวก​เพราะ​เขา​มอง​ว่า​สภาพการณ์​ของ​ตน​เป็น​โอกาส​ที่​จะ​แสดง​ความ​เชื่อ. จะ​ถือ​ว่า​อาชญากร​เป็น​ตัว​อย่าง​ของ​ความ​อด​ทน​ไม่​ได้​แน่ ๆ ขณะ​ที่​คริสเตียน​ผู้​ภักดี​เป็น​ตัว​อย่าง​ของ​คุณลักษณะ​ที่​ดี​เลิศ​นี้.—ยาโกโบ 1:2-4.

6. เรา​ปลูกฝัง​ความ​อด​ทน​โดย​วิธี​ใด?

6 ความ​อด​ทน​เป็น​สิ่ง​จำเป็น​เพื่อ​เรา​จะ​ได้​รับ​ความ​รอด. (มัดธาย 24:13) อย่าง​ไร​ก็​ตาม คุณลักษณะ​สำคัญ​นี้​ไม่​ได้​ติด​ตัว​เรา​มา​แต่​กำเนิด. ความ​อด​ทน​เป็น​คุณลักษณะ​ที่​ต้อง​ปลูกฝัง. โดย​วิธี​ใด? โรม 5:3 กล่าว​ว่า “ความ​ยาก​ลำบาก​นั้น​กระทำ​ให้​บังเกิด​มี​ความ​อด​ทน.” ใช่​แล้ว หาก​เรา​ต้องการ​จริง ๆ ที่​จะ​พัฒนา​ความ​อด​ทน เรา​จะ​ไม่​ถอย​หนี​จาก​การ​ทดสอบ​ความ​เชื่อ​ทุก​อย่าง​ด้วย​ความ​หวาด​กลัว. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น เรา​ต้อง​ตั้ง​หน้า​สู้​กับ​การ​ทดสอบ​ดัง​กล่าว. เมื่อ​เรา​เผชิญ​การ​ทดลอง​ไม่​ว่า​เรื่อง​ใหญ่​หรือ​เล็ก​วัน​แล้ว​วัน​เล่า​และ​เอา​ชนะ​ได้ ผล​ที่​เกิด​ขึ้น​คือ​ความ​อด​ทน. การ​ทดลอง​แต่​ละ​อย่าง​ที่​เรา​ผ่าน​มา​ได้​จะ​เสริม​กำลัง​เรา​ให้​เผชิญ​การ​ทดลอง​ครั้ง​ต่อ​ไป. แน่นอน เรา​ไม่​ได้​พัฒนา​ความ​อด​ทน​ด้วย​ตัว​เรา​เอง. เรา “พึ่ง​อาศัย​ใน​กำลัง​ซึ่ง​พระเจ้า​ทรง​ประทาน​ให้.” (1 เปโตร 4:11, ล.ม.) เพื่อ​ช่วย​เรา​ให้​ตั้ง​มั่นคง​อยู่​ต่อ​ไป พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​ให้​การ​ช่วยเหลือ​อย่าง​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้ นั่น​คือ​ตัว​อย่าง​พระ​บุตร​ของ​พระองค์. ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​อย่าง​ใกล้​ชิด​ยิ่ง​ขึ้น​ใน​ประวัติ​อัน​ไม่​มี​ที่​ติ​เกี่ยว​กับ​ความ​อด​ทน​ของ​พระ​เยซู.

การ​ทดลอง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​อด​ทน

7, 8. พระ​เยซู​ทรง​อด​ทน​กับ​อะไร​บ้าง​ขณะ​ที่​ชีวิต​ของ​พระองค์​บน​แผ่นดิน​โลก​ใกล้​จะ​จบ​ลง?

7 ขณะ​ที่​ชีวิต​ของ​พระองค์​บน​แผ่นดิน​โลก​ใกล้​จะ​จบ​ลง พระ​เยซู​ทรง​อด​ทน​ความ​โหด​ร้าย​ทารุณ​ต่าง ๆ หลาย​อย่าง. นอก​จาก​ความ​เครียด​ทาง​จิตใจ​อย่าง​รุนแรง​ที่​พระองค์​ประสบ​ใน​คืน​สุด​ท้าย​แล้ว ขอ​พิจารณา​ความ​รู้สึก​ผิด​หวัง​ที่​พระองค์​ต้อง​ประสบ​และ​ความ​อัปยศ​อดสู​ที่​พระองค์​ได้​รับ. เพื่อน​สนิท​คน​หนึ่ง​ได้​ทรยศ​ต่อ​พระองค์, เพื่อน ๆ ที่​ใกล้​ชิด​ที่​สุด​พา​กัน​ละ​ทิ้ง​พระองค์, พระองค์​ถูก​พิจารณา​คดี​อย่าง​ผิด​กฎหมาย ซึ่ง​ระหว่าง​นั้น​สมาชิก​ศาล​สูง​สุด​ทาง​ศาสนา​ของ​ประเทศ​ได้​เยาะเย้ย, ถ่ม​น้ำลาย​รด, และ​ชก​พระองค์. กระนั้น พระองค์​ทรง​อด​ทน​สิ่ง​เหล่า​นี้​ทั้ง​หมด​ด้วย​ความ​สง่า​ผ่าเผย​และ​ความ​เข้มแข็ง​อย่าง​สงบ.—มัดธาย 26:46-49, 56, 59-68.

8 ใน​ช่วง​ท้าย ๆ ของ​ชีวิต พระ​เยซู​ทรง​อด​ทน​กับ​ความ​ทุกข์​ทรมาน​ทาง​กาย​อย่าง​มาก​มาย. พระองค์​ถูก​เฆี่ยน กล่าว​กัน​ว่า​เป็น​การ​เฆี่ยน​อย่าง​รุนแรง​ด้วย​วิธี​ที่​ทำ​ให้​เกิด “รอย​แผล​เป็น​แนว​ลึก​และ​เลือด​ไหล​โซม.” พระองค์​ถูก​ตอก​กับ​หลัก ถูก​ประหาร​ใน​วิธี​ที่​นำ​ไป​สู่ “ความ​ตาย​อย่าง​ช้า ๆ พร้อม​กับ​ความ​เจ็บ​ปวด​และ​ทรมาน​ที่​สุด.” คิด​ดู​สิ​ว่า​พระองค์​คง​ต้อง​รู้สึก​เจ็บ​ปวด​รวดร้าว​สัก​เพียง​ไร​ขณะ​ที่​ตะปู​ใหญ่​ตอก​ทะลุ​ข้อ​พระ​หัตถ์​และ​พระ​บาท​ของ​พระองค์ ตรึง​พระองค์​ติด​กับ​หลัก. (โยฮัน 19:1, 16-18) ขอ​ให้​นึก​ถึง​ความ​เจ็บ​ปวด​แสน​สาหัส​ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​พระองค์​ขณะ​ที่​หลัก​ถูก​ตั้ง​ตรง​และ​น้ำหนัก​ร่าง​กาย​ของ​พระองค์​ถ่วง​ลง​จาก​ตะปู​นั้น​และ​หลัง​ของ​พระองค์​ที่​มี​รอย​แผล​ก็​ครูด​กับ​หลัก. และ​พระองค์​ทรง​อด​ทน​ความ​ทุกข์​ทรมาน​ทาง​กาย​อย่าง​สาหัส​เช่น​นี้​ใน​ขณะ​เดียว​กับ​ที่​แบก​ภาระ​ทาง​จิตใจ​ดัง​ที่​พรรณนา​ไว้​ใน​ตอน​ต้น​ของ​บท​นี้.

9. มี​อะไร​เกี่ยว​ข้อง​อยู่​ด้วย​ใน​การ​แบก “เสา​ทรมาน” ของ​เรา​และ​ติด​ตาม​พระ​เยซู?

9 ใน​ฐานะ​สาวก​ของ​พระ​คริสต์ เรา​อาจ​ต้อง​อด​ทน​กับ​อะไร​บ้าง? พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ถ้า​ผู้​ใด​ต้องการ​ติด​ตาม​เรา ให้​เขา . . . แบก​เสา​ทรมาน​ของ​ตน​แล้ว​ติด​ตาม​เรา​เรื่อย​ไป.” (มัดธาย 16:24, ล.ม.) คำ “เสา​ทรมาน” ที่​ใช้​เชิง​อุปมา​ใน​ข้อ​นี้​แสดง​ถึง​ความ​ทุกข์​ทรมาน, ความ​อับอาย, หรือ​กระทั่ง​ความ​ตาย. การ​ติด​ตาม​พระ​คริสต์​ไม่​ใช่​แนว​ทาง​ที่​ง่าย. มาตรฐาน​คริสเตียน​ของ​เรา​ทำ​ให้​เรา​ต่าง​ออก​ไป. โลก​นี้​เกลียด​ชัง​เรา​เพราะ​เรา​ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก. (โยฮัน 15:18-20; 1 เปโตร 4:4) ถึง​กระนั้น เรา​ก็​เต็ม​ใจ​แบก​เสา​ทรมาน​ของ​เรา—ใช่​แล้ว เรา​พร้อม​ที่​จะ​ทน​ทุกข์ กระทั่ง​ตาย​ด้วย​ซ้ำ แทน​ที่​จะ​เลิก​ติด​ตาม​ผู้​เป็น​แบบ​อย่าง​ของ​เรา.—2 ติโมเธียว 3:12.

10-12. (ก) ทำไม​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​อยู่​รอบ​ข้าง​จึง​เป็น​การ​ทดสอบ​ความ​อด​ทน​สำหรับ​พระ​เยซู? (ข) สภาพการณ์​ที่​เป็น​การ​ทดลอง​อะไร​บ้าง​ที่​พระ​เยซู​ได้​ทรง​อด​ทน?

10 ระหว่าง​งาน​รับใช้​ของ​พระองค์ พระ​เยซู​ได้​เผชิญ​การ​ทดสอบ​อื่น ๆ ที่​เกิด​ขึ้น​เนื่อง​จาก​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​อยู่​รอบ​ข้าง​พระองค์. จำ​ไว้​ว่า​พระองค์​เป็น “นาย​ช่าง” ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใช้​ให้​สร้าง​แผ่นดิน​โลก​และ​ชีวิต​ทั้ง​สิ้น​บน​โลก. (สุภาษิต 8:22-31) ดัง​นั้น พระ​เยซู​ทรง​ทราบ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​มี​พระ​ประสงค์​เช่น​ไร​ต่อ​มนุษยชาติ; พวก​เขา​จะ​ต้อง​สะท้อน​คุณลักษณะ​ต่าง ๆ ของ​พระองค์​และ​เพลิดเพลิน​กับ​ชีวิต​ที่​มี​สุขภาพ​สมบูรณ์. (เยเนซิศ 1:26-28) ขณะ​ที่​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก พระ​เยซู​ทรง​เห็น​ผล​ที่​น่า​เศร้า​ของ​บาป​จาก​มุม​มอง​ที่​ต่าง​ออก​ไป—พระองค์​เอง​เป็น​มนุษย์ สามารถ​มี​ความ​รู้สึก​และ​อารมณ์​แบบ​มนุษย์. พระองค์​คง​ต้อง​รู้สึก​เจ็บ​ปวด​สัก​เพียง​ไร​ที่​ได้​รู้​เห็น​ด้วย​ตัว​เอง​ว่า​มนุษย์​ได้​เสื่อม​ไป​จาก​ความ​สมบูรณ์​ใน​ตอน​แรก​ของ​อาดาม​กับ​ฮาวา​มาก​ขนาด​ไหน! ด้วย​เหตุ​นี้ พระ​เยซู​จึง​เผชิญ​การ​ทดสอบ​ความ​อด​ทน. พระองค์​จะ​รู้สึก​ท้อ​แท้​และ​หมด​หวัง​ไหม โดย​มอง​มนุษย์​ที่​ผิด​บาป​ว่า​เป็น​ผู้​ที่​จะ​ช่วย​อะไร​ไม่​ได้​อีก​แล้ว? ให้​เรา​มา​ดู​กัน.

11 การ​ที่​ชาว​ยิว​ไม่​ตอบรับ​ทำ​ให้​พระ​เยซู​เป็น​ทุกข์​ถึง​กับ​ทรง​กันแสง​อย่าง​เปิด​เผย. พระองค์​ปล่อย​ให้​ความ​ไม่​แยแส​ของ​พวก​เขา​ทำ​ให้​ใจ​แรง​กล้า​ของ​พระองค์​น้อย​ลง​หรือ​ทำ​ให้​พระองค์​เลิก​ประกาศ​ไหม? ตรง​กัน​ข้าม พระองค์ “ทรง​สั่ง​สอน​ใน​บริเวณ​พระ​วิหาร​ทุก​วัน.” (ลูกา 19:41-44, 47, ฉบับ​แปล​ใหม่) พระองค์ “มี​พระทัย​เป็น​ทุกข์” เนื่อง​จาก​หัวใจ​ที่​แข็ง​กระด้าง​ของ​พวก​ฟาริซาย​ซึ่ง​เฝ้า​ดู​อย่าง​ใกล้​ชิด​ว่า​พระองค์​จะ​รักษา​ชาย​คน​หนึ่ง​ใน​วัน​ซะบาโต​หรือ​ไม่. พระองค์​ทรง​ยอม​ให้​ผู้​ต่อ​ต้าน​ที่​ถือ​ว่า​ตัว​เอง​ชอบธรรม​มา​ทำ​ให้​พระองค์​ต้อง​กลัว​ไหม? ไม่​เป็น​เช่น​นั้น​แน่นอน! พระองค์​ทรง​ยืนหยัด​มั่นคง​และ​รักษา​ชาย​คน​นั้น—ตรง​กลาง​ธรรมศาลา​นั้น​ที​เดียว!—มาระโก 3:1-5.

12 มี​สิ่ง​อื่น​อีก​ที่​คง​ต้อง​เป็น​เรื่อง​หนัก​ใจ​สำหรับ​พระ​เยซู นั่น​คือ​ข้อ​อ่อนแอ​ของ​เหล่า​สาวก​ที่​ใกล้​ชิด​ที่​สุด​ของ​พระองค์. ดัง​ที่​เรา​ได้​เรียน​ใน​บท 3 พวก​เขา​แสดง​ความ​ปรารถนา​ไม่​ละลด​ที่​จะ​ได้​ความ​เด่น​ดัง. (มัดธาย 20:20-24; ลูกา 9:46) พระ​เยซู​ทรง​ให้​คำ​แนะ​นำ​พวก​เขา​มาก​กว่า​หนึ่ง​ครั้ง​เกี่ยว​กับ​ความ​จำเป็น​เรื่อง​ความ​ถ่อม​ใจ. (มัดธาย 18:1-6; 20:25-28) กระนั้น พวก​เขา​ก็​ช้า​ใน​การ​ตอบรับ. คิด​ดู​สิ ใน​คืน​สุด​ท้าย​ที่​พระองค์​ทรง​อยู่​กับ​พวก​เขา “มี​การ​เถียง​กัน” ว่า​ใคร​ใน​พวก​เขา​เป็น​ใหญ่​ที่​สุด! (ลูกา 22:24) พระองค์​ทรง​หมด​หวัง​ใน​ตัว​พวก​เขา โดย​หา​เหตุ​ผล​ว่า​พวก​เขา​เป็น​คน​ที่​หมด​ทาง​แก้ไข​แล้ว​ไหม? ไม่. โดย​อด​ทน​อยู่​เสมอ พระองค์​ยัง​คง​มอง​ใน​แง่​ดี​และ​มี​ความ​หวัง ทรง​มอง​ดู​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ใน​ตัว​เขา​ต่อ​ไป. พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​พวก​เขา​มี​ใจ​รัก​พระ​ยะโฮวา​และ​ต้องการ​จริง ๆ ที่​จะ​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระองค์.—ลูกา 22:25-27.

เรา​จะ​ยอม​ให้​การ​ต่อ​ต้าน​ทำ​ให้​เรา​หมด​กำลังใจ​ไหม หรือ​ว่า​เรา​จะ​ประกาศ​ต่อ​ ๆ ​ไป​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า?

13. เรา​อาจ​เผชิญ​การ​ทดสอบ​อะไร​คล้าย​กับ​ที่​พระ​เยซู​ได้​ทน​เอา?

13 เรา​อาจ​เผชิญ​การ​ทดสอบ​คล้าย​กับ​ที่​พระ​เยซู​ได้​ทน​เอา. ตัว​อย่าง​เช่น เรา​อาจ​เผชิญ​กับ​ผู้​คน​ที่​ไม่​ตอบรับ​หรือ​ถึง​กับ​ต่อ​ต้าน​ข่าวสาร​เรื่อง​ราชอาณาจักร. เรา​จะ​ยอม​ให้​การ​ไม่​ตอบรับ​เช่น​นั้น​ทำ​ให้​เรา​หมด​กำลังใจ​ไหม หรือ​เรา​จะ​ประกาศ​ต่อ​ไป​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า? (ติโต 2:14) เรา​อาจ​ถูก​ทดสอบ​เนื่อง​จาก​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​พี่​น้อง​คริสเตียน. คำ​พูด​พล่อย ๆ หรือ​การ​กระทำ​ที่​ไม่​ยั้ง​คิด​อาจ​ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​เจ็บใจ. (สุภาษิต 12:18) เรา​จะ​ปล่อย​ให้​ข้อ​บกพร่อง​ของ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ทำ​ให้​เรา​หมด​หวัง​ใน​ตัว​เขา​ไหม หรือ​เรา​จะ​ทน​กับ​ข้อ​บกพร่อง​ของ​เขา​ต่อ​ไป​และ​มอง​หา​ส่วน​ดี​ใน​ตัว​เขา?—โกโลซาย 3:13.

เหตุ​ผล​ที่​พระ​เยซู​ทรง​อด​ทน

14. ปัจจัย​สอง​อย่าง​อะไร​ได้​ช่วย​พระ​เยซู​ให้​ยืนหยัด​มั่นคง?

14 อะไร​ได้​ช่วย​พระ​เยซู​ให้​ยืนหยัด​และ​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ทั้ง ๆ ที่​พระองค์​เผชิญ​การ​สบประมาท, ความ​ผิด​หวัง, และ​ความ​ทุกข์​ทรมาน​ทั้ง​มวล? มี​ปัจจัย​สำคัญ​สอง​ประการ​ที่​ค้ำจุน​พระ​เยซู. ประการ​แรก พระองค์​ทรง​หมาย​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา โดย​อ้อน​วอน “พระเจ้า​ผู้​ทรง​ประทาน​ความ​เพียร​อด​ทน.” (โรม 15:5, ล.ม.) ประการ​ที่​สอง พระ​เยซู​ทรง​มอง​ไป​ข้าง​หน้า จด​จ้อง​ดู​ว่า​ความ​อด​ทน​ของ​พระองค์​จะ​นำ​ไป​สู่​อะไร. ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​ปัจจัย​เหล่า​นี้​ที​ละ​อย่าง.

15, 16. (ก) อะไร​แสดง​ว่า​พระ​เยซู​ไม่​ได้​พึ่ง​อาศัย​กำลัง​ของ​พระองค์​เอง​เพื่อ​จะ​อด​ทน? (ข) พระ​เยซู​มี​ความ​มั่น​ใจ​เช่น​ไร​ใน​พระ​บิดา และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

15 ถึง​แม้​เป็น​พระ​บุตร​ที่​สมบูรณ์​ของ​พระเจ้า พระ​เยซู​ก็​มิ​ได้​อาศัย​กำลัง​ของ​พระองค์​เอง​ที่​จะ​อด​ทน. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น พระองค์​หมาย​พึ่ง​พระ​บิดา​ของ​พระองค์​ทาง​ภาค​สวรรค์​และ​อธิษฐาน​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระเจ้า. อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “พระ​คริสต์​ได้​ถวาย​คำ​วิงวอน​และ​คำ​ขอร้อง​ด้วย​เสียง​ดัง​และ​น้ำ​พระ​เนตร​ไหล​ถึง​พระองค์​ผู้​ซึ่ง​สามารถ​ช่วย​พระองค์​ให้​พ้น​จาก​ความ​ตาย.” (เฮ็บราย 5:7, ล.ม.) สังเกต​ว่า​พระ​เยซู “ได้​ถวาย” ไม่​เพียง​คำ​ขอร้อง​เท่า​นั้น แต่​คำ​วิงวอน​ด้วย. “คำ​วิงวอน” พาด​พิง​ถึง​การ​อ้อน​วอน​อย่าง​จริง​ใจ​และ​จริงจัง​โดย​เฉพาะ—เป็น​การ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ. การ​ใช้​คำ​วิงวอน​ใน​รูป​พหูพจน์​ตาม​ภาษา​เดิม​บ่ง​ชี้​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​อ้อน​วอน​พระ​ยะโฮวา​มาก​กว่า​หนึ่ง​ครั้ง. ที่​จริง ใน​สวน​เกทเซมาเน พระ​เยซู​ทรง​อธิษฐาน​อย่าง​จริงจัง​หลาย​ครั้ง.—มัดธาย 26:36-44.

16 พระ​เยซู​มี​ความ​มั่น​ใจ​เต็ม​ที่​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​ตอบ​คำ​วิงวอน​ของ​พระองค์ เพราะ​พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​พระ​บิดา​เป็น “ผู้​สดับ​คำ​อธิษฐาน.” (บทเพลง​สรรเสริญ 65:2) ระหว่าง​ช่วง​ที่​ดำรง​อยู่​ก่อน​มา​เป็น​มนุษย์ พระ​บุตร​หัวปี​ได้​เห็น​วิธี​ที่​พระ​บิดา​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​ของ​เหล่า​ผู้​นมัสการ​ที่​ภักดี. ตัว​อย่าง​เช่น พระ​บุตร​ได้​เป็น​ประจักษ์​พยาน​ใน​สวรรค์​ตอน​ที่​พระ​ยะโฮวา​ได้​ส่ง​ทูตสวรรค์​องค์​หนึ่ง​ไป​เพื่อ​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​ด้วย​น้ำ​ใส​ใจ​จริง​ของ​ผู้​พยากรณ์​ดานิเอล—แม้​แต่​ก่อน​ดานิเอล​อธิษฐาน​เสร็จ​ด้วย​ซ้ำ. (ดานิเอล 9:20, 21) ดัง​นั้น พระ​บิดา​จะ​ไม่​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​ได้​อย่าง​ไร​เมื่อ​พระ​บุตร​ผู้​ได้​รับ​กำเนิด​องค์​เดียว​ของ​พระองค์​เผย​ความ​ใน​ใจ​ของ​พระองค์ “ด้วย​เสียง​ดัง​และ​น้ำ​พระ​เนตร​ไหล”? พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตอบ​คำ​อ้อน​วอน​ของ​พระ​บุตร​แล้ว​ส่ง​ทูตสวรรค์​องค์​หนึ่ง​มา​ชู​กำลัง​พระองค์​เพื่อ​จะ​อด​ทน​การ​ทดลอง​ที่​หนัก​หน่วง.—ลูกา 22:43.

17. เพื่อ​จะ​อด​ทน ทำไม​เรา​ควร​หมาย​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา และ​เรา​อาจ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้​โดย​วิธี​ใด?

17 เพื่อ​จะ​อด​ทน เรา​ต้อง​หมาย​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา​เช่น​กัน ซึ่ง​เป็น​พระเจ้า “ผู้​ทรง​ชู​กำลัง.” (ฟิลิปปอย 4:13) หาก​พระ​บุตร​ผู้​สมบูรณ์​ของ​พระเจ้า​ทรง​สำนึก​ถึง​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​อ้อน​วอน​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​ยะโฮวา เรา​ก็​ควร​จะ​ทำ​มาก​ยิ่ง​กว่า​นั้น​สัก​เท่า​ใด! เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู เรา​อาจ​ต้อง​อ้อน​วอน​พระ​ยะโฮวา​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า. (มัดธาย 7:7) ถึง​แม้​เรา​ไม่​คาด​หมาย​ว่า​ทูตสวรรค์​จะ​มา​หา​เรา แต่​เรา​ก็​มั่น​ใจ​ได้​ว่า พระเจ้า​ของ​เรา​องค์​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​จะ​ตอบ​คำ​ร้อง​ขอ​ของ​คริสเตียน​ผู้​ภักดี​ซึ่ง “วิงวอน​อธิษฐาน​ทั้ง​กลางวัน​กลางคืน​ไม่​ขาด.” (1 ติโมเธียว 5:5, ฉบับ​แปล​ใหม่) ถึง​แม้​ว่า​เรา​จะ​เผชิญ​การ​ทดลอง​อะไร​ก็​ตาม—ไม่​ว่า​จะ​เป็น​สุขภาพ​ที่​ไม่​ดี, ความ​ตาย​ของ​ผู้​เป็น​ที่​รัก, หรือ​การ​ข่มเหง​จาก​ผู้​ต่อ​ต้าน—พระ​ยะโฮวา​จะ​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า​ของ​เรา​เพื่อ​จะ​มี​สติ​ปัญญา, ความ​กล้า​หาญ, และ​กำลัง​ที่​จะ​อด​ทน​ได้.—2 โกรินโธ 4:7-11; ยาโกโบ 1:5.

พระ​ยะโฮวา​จะ​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​อย่าง​แรง​กล้า​ของ​เรา​ที่​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​เพื่อ​จะ​อด​ทน

18. พระ​เยซู​ทรง​มอง​เลย​ความ​ทุกข์​ไป​ยัง​สิ่ง​ที่​อยู่​เบื้อง​หน้า​อย่าง​ไร?

18 ปัจจัย​ประการ​ที่​สอง​ที่​ทำ​ให้​พระ​เยซู​สามารถ​อด​ทน​ได้​คือ​พระองค์​ทรง​มอง​เลย​ความ​ทุกข์​ไป​ยัง​สิ่ง​ที่​อยู่​เบื้อง​หน้า​พระองค์. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​เกี่ยว​กับ​พระ​เยซู​ว่า “เพราะ​เห็น​แก่​ความ​ยินดี​ซึ่ง​มี​อยู่​ตรง​หน้า พระองค์​ยอม​ทน​หลัก​ทรมาน.” (เฮ็บราย 12:2, ล.ม.) ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ความ​หวัง, ความ​ยินดี, และ​ความ​อด​ทน​ก่อ​ผล​ร่วม​กัน​อย่าง​ไร. อาจ​สรุป​ได้​ดัง​นี้: ความ​หวัง​นำ​ไป​สู่​ความ​ยินดี และ​ความ​ยินดี​นำ​ไป​สู่​ความ​อด​ทน. (โรม 15:13; โกโลซาย 1:11) พระ​เยซู​มี​อนาคต​อัน​ยอด​เยี่ยม​อยู่​ข้าง​หน้า. พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​ความ​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระองค์​จะ​ช่วย​พิสูจน์​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​สิทธิ​ใน​การ​ปกครอง​ของ​พระ​บิดา​และ​ทำ​ให้​พระองค์​สามารถ​ไถ่​ถอน​ครอบครัว​มนุษย์​จาก​บาป​และ​ความ​ตาย. พระ​เยซู​ยัง​มี​ความ​หวัง​ใน​การ​ปกครอง​ฐานะ​พระ​มหา​กษัตริย์​และ​รับใช้​ฐานะ​มหา​ปุโรหิต ที่​จะ​นำ​พระ​พร​อีก​มาก​มาย​มา​สู่​มนุษย์​ที่​เชื่อ​ฟัง​อีก​ด้วย. (มัดธาย 20:28; เฮ็บราย 7:23-26) โดย​เพ่งเล็ง​อยู่​ที่​อนาคต​และ​ความ​หวัง​ซึ่ง​อยู่​ตรง​หน้า​พระองค์ พระ​เยซู​ประสบ​ความ​ยินดี​สุด​คณานับ แล้ว​ความ​ยินดี​นั้น​ก็​ช่วย​พระองค์​ให้​อด​ทน.

19. เมื่อ​เผชิญ​การ​ทดสอบ​ความ​เชื่อ เรา​จะ​ให้​ความ​หวัง, ความ​ยินดี, และ​ความ​อด​ทน​ก่อ​ผล​ร่วม​กัน​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​เรา​ได้​โดย​วิธี​ใด?

19 เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู เรา​ต้อง​ให้​ความ​หวัง, ความ​ยินดี, และ​ความ​อด​ทน​ก่อ​ผล​ร่วม​กัน​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​เรา. อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ว่า “จง​ยินดี​ใน​ความ​หวัง.” แล้ว​ท่าน​กล่าว​ต่อ​ไป​อีก​ว่า “จง​อด​ทน​ใน​การ​ยาก​ลำบาก.” (โรม 12:12) คุณ​เผชิญ​การ​ทดสอบ​ความ​เชื่อ​อย่าง​รุนแรง​ใน​เวลา​นี้​อยู่​ไหม? ถ้า​เช่น​นั้น ก็​ขอ​ให้​มอง​ไป​ข้าง​หน้า. อย่า​ลืม​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​ความ​อด​ทน​ของ​คุณ​จะ​นำ​คำ​สรรเสริญ​มา​สู่​พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา. จง​รักษา​ภาพ​ความ​หวัง​อัน​ล้ำ​ค่า​เกี่ยว​กับ​ราชอาณาจักร​ให้​คม​ชัด. จง​วาด​ภาพ​ตัว​เอง​อยู่​ใน​โลก​ใหม่​ของ​พระเจ้า​ที่​กำลัง​จะ​มา​ถึง และ​นึก​ภาพ​ตัว​คุณ​กำลัง​ประสบ​พระ​พร​ใน​อุทยาน. การ​คาด​ล่วง​หน้า​ถึง​ความ​สำเร็จ​เป็น​จริง​ของ​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​น่า​พิศวง​ซึ่ง​พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​สัญญา​ไว้—รวม​ทั้ง​การ​พิสูจน์​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​สิทธิ​ใน​การ​ปกครอง​ของ​พระองค์, การ​ขจัด​ความ​ชั่ว​ไป​จาก​แผ่นดิน​โลก, และ​การ​กำจัด​ความ​เจ็บ​ป่วย​และ​ความ​ตาย—จะ​ทำ​ให้​หัวใจ​ของ​คุณ​เปี่ยม​ด้วย​ความ​ยินดี และ​ความ​ยินดี​นั้น​ก็​จะ​ช่วย​คุณ​ให้​อด​ทน​ได้​ไม่​ว่า​การ​ทดลอง​อะไร​จะ​เกิด​ขึ้น​กับ​คุณ​ก็​ตาม. เมื่อ​เทียบ​กับ​ความ​สำเร็จ​เป็น​จริง​ของ​ความ​หวัง​เรื่อง​ราชอาณาจักร ความ​ทุกข์​ใด ๆ ใน​ระบบ​นี้​นับ​ว่า ‘เบา​บาง​และ​อยู่​แต่​ประเดี๋ยว​เดียว’ อย่าง​แท้​จริง.—2 โกรินโธ 4:17.

“ดำเนิน​ตาม​รอย​พระ​บาท​ของ​พระองค์​อย่าง​ใกล้​ชิด”

20, 21. ใน​เรื่อง​ความ​อด​ทน พระ​ยะโฮวา​ทรง​คาด​หมาย​อะไร​จาก​เรา และ​เรา​ควร​มี​ความ​ตั้งใจ​เช่น​ไร?

20 พระ​เยซู​ทรง​ทราบ​ว่า​การ​เป็น​สาวก​ของ​พระองค์​จะ​เป็น​แนว​ทาง​ที่​ท้าทาย​ซึ่ง​ต้อง​ใช้​ความ​อด​ทน. (โยฮัน 15:20) พระองค์​พร้อม​ที่​จะ​นำ​ทาง โดย​รู้​อยู่​ว่า​ตัว​อย่าง​ของ​พระองค์​จะ​เสริม​กำลัง​คน​อื่น. (โยฮัน 16:33) จริง​อยู่ พระ​เยซู​ทรง​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​สมบูรณ์​พร้อม​ใน​เรื่อง​ความ​อด​ทน แต่​เรา​อยู่​ห่าง​ไกล​ความ​สมบูรณ์. พระ​ยะโฮวา​ทรง​คาด​หมาย​อะไร​จาก​เรา? เปโตร​อธิบาย​ว่า “พระ​คริสต์​ได้​ทรง​ทน​ทุกข์​ทรมาน​เพื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย ทรง​วาง​แบบ​อย่าง​ไว้​ให้​ท่าน เพื่อ​ท่าน​จะ​ได้​ดำเนิน​ตาม​รอย​พระ​บาท​ของ​พระองค์​อย่าง​ใกล้​ชิด.” (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) ใน​วิธี​ที่​พระองค์​ทรง​รับมือ​กับ​การ​ทดลอง​ต่าง ๆ พระ​เยซู​ทรง​วาง “แบบ​อย่าง” ไว้​ให้​ลอก​เลียน​ตาม. * ประวัติ​เกี่ยว​กับ​ความ​อด​ทน​ที่​พระองค์​ทรง​สั่ง​สม​ไว้​อาจ​เทียบ​ได้​กับ “ก้าว​เท้า” หรือ​รอย​เท้า. เรา​ไม่​สามารถ​ดำเนิน​ตาม​รอย​พระ​บาท​ดัง​กล่าว​ได้​อย่าง​ครบ​ถ้วน แต่​เรา​สามารถ​ดำเนิน​ตาม​ได้ “อย่าง​ใกล้​ชิด.”

21 ดัง​นั้น ขอ​ให้​เรา​ตั้งใจ​ที่​จะ​ดำเนิน​ตาม​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​สุด​ความ​สามารถ​ของ​เรา. ขอ​อย่า​ลืม​ว่า​ยิ่ง​เรา​ดำเนิน​ตาม​รอย​พระ​บาท​ของ​พระ​เยซู​อย่าง​ใกล้​ชิด​มาก​เท่า​ใด เรา​ก็​ยิ่ง​จะ​เตรียม​พร้อม​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น​ที่​จะ​อด​ทน “จน​ถึง​ที่​สุด”—อาจ​เป็น​ที่​สุด​ของ​ระบบ​เก่า​นี้​หรือ​ที่​สุด​ของ​ชีวิต​เรา​ใน​ปัจจุบัน. เรา​ไม่​รู้​ว่า​อย่าง​ไหน​จะ​มา​ก่อน แต่​ที่​เรา​รู้​แน่ ๆ คือ พระ​ยะโฮวา​จะ​ประทาน​บำเหน็จ​ให้​เรา​ตลอด​นิรันดร​กาล ถ้า​เรา​อด​ทน.—มัดธาย 24:13.

^ วรรค 20 คำ​ภาษา​กรีก​ที่​ได้​รับ​การ​แปล​ว่า “แบบ​อย่าง” หมาย​ความ​ตาม​ตัว​อักษร​ว่า “การ​เขียน​ข้าง​ใต้.” อัครสาวก​เปโตร​เป็น​ผู้​เขียน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​คน​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​ใช้​คำ​นี้ ซึ่ง​กล่าว​กัน​ว่า​หมาย​ถึง “‘ข้อ​ความ​บน​หัว​กระดาษ​สำหรับ​คัด​ลอก’ ใน​แบบ​ฝึก​หัด​ของ​เด็ก เป็น​แบบ​อย่าง​ของ​การ​เขียน​ที่​ครบ​ถ้วน​ซึ่ง​เด็ก​ต้อง​ลอก​เลียน​ให้​ถูก​ต้อง​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้.”