ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 6

“พระองค์ได้ทรงเรียนรู้การเชื่อฟัง”

“พระองค์ได้ทรงเรียนรู้การเชื่อฟัง”

1, 2. ทำไม​พ่อ​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​จึง​รู้สึก​พอ​ใจ​ที่​เห็น​ว่า​ลูก​ชาย​เชื่อ​ฟัง และ​ความ​รู้สึก​ของ​เขา​สะท้อน​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ไร?

 พ่อ​มอง​ออก​ไป​นอก​หน้าต่าง เฝ้า​ดู​ลูก​ชาย​วัย​เยาว์​ของ​ตน​เล่น​อยู่​กับ​เพื่อน ๆ. ลูก​บอล​ของ​พวก​เขา​กระดอน​จาก​สนาม​ไป​ที่​ถนน. เด็ก​น้อย​มอง​ตาม​ลูก​บอล​ด้วย​ความ​อยาก​ได้​คืน​มา​เหลือ​เกิน. เพื่อน​คน​หนึ่ง​บอก​ให้​เขา​วิ่ง​ออก​ไป​เก็บ​ลูก​บอล​ที่​ถนน แต่​เด็ก​น้อย​สั่น​หัว​แล้ว​พูด​ว่า “ไม่​ได้​หรอก พ่อ​ห้าม​ไม่​ให้​ฉัน​ทำ​แบบ​นั้น.” พ่อ​ยิ้ม​ด้วย​ความ​พอ​ใจ.

2 ทำไม​ผู้​เป็น​พ่อ​จึง​รู้สึก​พอ​ใจ​อย่าง​นั้น? เพราะ​เขา​ได้​สั่ง​ลูก​ชาย​ไว้​ไม่​ให้​ออก​ไป​ที่​ถนน​ตาม​ลำพัง. เมื่อ​ลูก​เชื่อ​ฟัง ถึง​แม้​ไม่​รู้​ว่า​พ่อ​เฝ้า​ดู​อยู่ ผู้​เป็น​พ่อ​ย่อม​รู้​ว่า​ลูก​ชาย​กำลัง​เรียน​รู้​เรื่อง​การ​เชื่อ​ฟัง​และ​ผล​ก็​คือ​ลูก​จะ​ปลอด​ภัย​มาก​ขึ้น. พ่อ​คน​นี้​รู้สึก​เหมือน​กับ​พระ​ยะโฮวา พระ​บิดา​ของ​เรา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์. พระเจ้า​ทรง​ทราบ​ว่า​ที่​เรา​จะ​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​และ​มี​ชีวิต​อยู่​เพื่อ​จะ​เห็น​อนาคต​อัน​ยอด​เยี่ยม​ที่​พระองค์​เตรียม​ไว้​ให้​เรา เรา​ต้อง​เรียน​ที่​จะ​วางใจ​และ​เชื่อ​ฟัง​พระองค์. (สุภาษิต 3:5, 6) เพื่อ​บรรลุ​เป้าหมาย​นี้ พระองค์​ทรง​ส่ง​ครู​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​บรรดา​ครู​ที่​เป็น​มนุษย์​มา​ให้​เรา.

3, 4. โดย​วิธี​ใด​ที่​พระ​เยซู “เรียน​รู้​การ​เชื่อ​ฟัง” และ “ถูก​ทำ​ให้​สมบูรณ์”? จง​ยก​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ.

3 คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​น่า​ทึ่ง​เกี่ยว​กับ​พระ​เยซู​ว่า “ถึง​แม้​พระองค์​ทรง​เป็น​พระ​บุตร พระองค์​ได้​ทรง​เรียน​รู้​การ​เชื่อ​ฟัง​จาก​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​พระองค์​ทน​เอา; และ​ครั้น​ภาย​หลัง​พระองค์​ถูก​ทำ​ให้​สมบูรณ์ พระองค์​จึง​ได้​เป็น​ผู้​รับผิดชอบ​ต่อ​ความ​รอด​นิรันดร์​แก่​คน​ทั้ง​ปวง​ที่​เชื่อ​ฟัง​พระองค์.” (เฮ็บราย 5:8, 9, ล.ม.) พระ​บุตร​องค์​นี้​ทรง​ดำรง​อยู่​ใน​สวรรค์​เป็น​เวลา​นาน​จน​ไม่​อาจ​นับ​ได้. พระองค์​ทรง​เห็น​ซาตาน​และ​เพื่อน​ทูตสวรรค์​ที่​กบฏ​ของ​มัน​ไม่​เชื่อ​ฟัง แต่​พระ​บุตร​หัวปี​ไม่​เคย​เข้า​ร่วม​กับ​พวก​มัน​เลย. คำ​พยากรณ์​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ได้​นำ​ถ้อย​คำ​ต่อ​ไป​นี้​มา​ใช้​กับ​พระองค์​ที่​ว่า “ข้าพเจ้า​ไม่​ได้​ขัด​ขืน.” (ยะซายา 50:5) ถ้า​เช่น​นั้น ถ้อย​คำ​ที่​ว่า “พระองค์​ได้​ทรง​เรียน​รู้​การ​เชื่อ​ฟัง” จะ​นำ​มา​ใช้​กับ​พระ​บุตร​องค์​นี้​ผู้​ซึ่ง​เชื่อ​ฟัง​อย่าง​ไม่​ขาด​ตก​บกพร่อง​ได้​อย่าง​ไร? บุคคล​ที่​สมบูรณ์​เช่น​นั้น​จะ “ถูก​ทำ​ให้​สมบูรณ์” ได้​อย่าง​ไร?

4 ขอ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​นี้. ทหาร​มี​ดาบ​เหล็ก​อยู่​เล่ม​หนึ่ง. แม้​ไม่​เคย​มี​การ​ทดลอง​ใช้​ดาบ​นี้​ใน​การ​สู้​รบ แต่​ก็​เป็น​ดาบ​ที่​ทำ​ขึ้น​มา​อย่าง​ประณีต​เพื่อ​จะ​ใช้​ได้​โดย​ไม่​มี​ที่​ติ. อย่าง​ไร​ก็​ดี เขา​เอา​ดาบ​เล่ม​นี้​ไป​เปลี่ยน​กับ​ดาบ​อีก​เล่ม​หนึ่ง​ซึ่ง​ทำ​จาก​โลหะ​ที่​แข็ง​กว่า เป็น​เหล็ก​กล้า​ที่​แข็งแรง​ทนทาน. ดาบ​เล่ม​ใหม่​นี้​ได้​ถูก​ใช้​มา​แล้ว​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ​ใน​การ​สู้​รบ. นี่​เป็น​การ​แลก​เปลี่ยน​ที่​แสดง​ถึง​ความ​ฉลาด​มิ​ใช่​หรือ? คล้าย​กัน พระ​เยซู​ได้​แสดง​ให้​เห็น​การ​เชื่อ​ฟัง​อย่าง​ไม่​มี​ที่​ติ​ก่อน​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก. แต่​หลัง​จาก​พระองค์​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก​นี้ การ​เชื่อ​ฟัง​ของ​พระองค์​มี​ลักษณะ​ที่​ต่าง​ออก​ไป​อย่าง​สิ้นเชิง. ตอน​นี้​การ​เชื่อ​ฟัง​นั้น​ถูก​ทดสอบ ประหนึ่ง​ว่า​ถูก​ทำ​ให้​แข็งแรง​ทนทาน​ขึ้น และ​ได้​รับ​การ​พิสูจน์​โดย​การ​ทดลอง​ต่าง ๆ ซึ่ง​พระ​เยซู​ไม่​มี​วัน​ได้​ประสบ​ใน​สวรรค์​เลย.

5. เหตุ​ใด​การ​เชื่อ​ฟัง​ของ​พระ​เยซู​สำคัญ​จริง ๆ และ​เรา​จะ​พิจารณา​อะไร​ใน​บท​นี้?

5 การ​เชื่อ​ฟัง​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ยิ่ง​สำหรับ​งาน​มอบหมาย​ของ​พระ​เยซู​ใน​การ​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก. ใน​ฐานะ “อาดาม​ผู้​ซึ่ง​มา​ภาย​หลัง” พระ​เยซู​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก​นี้​เพื่อ​ทำ​สิ่ง​ที่​บิดา​มารดา​คู่​แรก​ของ​เรา​ไม่​ได้​ทำ นั่น​คือ​การ​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ต่อ ๆ ไป แม้​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ทดลอง. (1 โกรินโธ 15:45) กระนั้น การ​เชื่อ​ฟัง​ของ​พระ​เยซู​มิ​ใช่​แบบ​พอ​เป็น​พิธี. พระ​เยซู​ทรง​เชื่อ​ฟัง​อย่าง​สุด​จิตใจ, หัวใจ, และ​ชีวิต. และ​พระองค์​ทรง​เชื่อ​ฟัง​ด้วย​ความ​ยินดี. การ​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระ​บิดา​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​สำหรับ​พระองค์​ยิ่ง​กว่า​การ​รับประทาน​อาหาร​เสีย​อีก! (โยฮัน 4:34) อะไร​จะ​ช่วย​เรา​ให้​เลียน​แบบ​การ​เชื่อ​ฟัง​ของ​พระ​เยซู? ที​แรก​ให้​เรา​พิจารณา​แรง​กระตุ้น​ของ​พระองค์. การ​ปลูกฝัง​แรง​กระตุ้น​เหมือน​พระองค์​จะ​ช่วย​เรา​ให้​ทั้ง​ต้านทาน​การ​ล่อ​ใจ​และ​ทำ​ให้​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​สำเร็จ. ต่อ​จาก​นั้น เรา​จะ​พิจารณา​ผล​ตอบ​แทน​บาง​อย่าง​ที่​เกิด​จาก​การ​สำแดง​การ​เชื่อ​ฟัง​แบบ​พระ​คริสต์.

แรง​กระตุ้น​ของ​พระ​เยซู​ใน​การ​เชื่อ​ฟัง

6, 7. แรง​กระตุ้น​ใน​การ​เชื่อ​ฟัง​ของ​พระ​เยซู​มี​อะไร​บ้าง?

6 การ​เชื่อ​ฟัง​ของ​พระ​เยซู​เกิด​จาก​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ต่าง ๆ ใน​หัวใจ​ของ​พระองค์. ดัง​ที่​เรา​ได้​เห็น​ใน​บท 3 พระ​คริสต์​มี​หัวใจ​ถ่อม. ความ​หยิ่ง​ยโส​ทำ​ให้​ผู้​คน​รู้สึก​ว่า​การ​เชื่อ​ฟัง​ทำ​ให้​เขา​เสีย​เกียรติ ขณะ​ที่​ความ​ถ่อม​ใจ​ช่วย​เรา​ให้​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ. (เอ็กโซโด 5:1, 2; 1 เปโตร 5:5, 6) ยิ่ง​กว่า​นั้น การ​เชื่อ​ฟัง​ของ​พระ​เยซู​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​จาก​สิ่ง​ที่​พระองค์​ทรง​รัก​และ​เกลียด.

7 สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​อะไร​ทั้ง​หมด พระ​เยซู​ทรง​รัก​พระ​ยะโฮวา พระ​บิดา​ของ​พระองค์​ทาง​ภาค​สวรรค์. จะ​มี​การ​พิจารณา​ความ​รัก​ดัง​กล่าว​อย่าง​ละเอียด​มาก​ขึ้น​ใน​บท 13. ความ​รัก​ดัง​กล่าว​ทำ​ให้​พระ​เยซู​พัฒนา​ความ​เกรง​กลัว​พระเจ้า. พระองค์​มี​ความ​รัก​อย่าง​แรง​กล้า​ต่อ​พระ​ยะโฮวา มี​ความ​เคารพ​อย่าง​สุด​ซึ้ง​จน​กลัว​ว่า​จะ​ทำ​ให้​พระ​บิดา​ของ​พระองค์​ไม่​พอ​พระทัย. ความ​เกรง​กลัว​พระเจ้า​เป็น​เหตุ​ผล​ประการ​หนึ่ง​ที่​คำ​อธิษฐาน​ของ​พระ​เยซู​ได้​รับ​การ​สดับ​ด้วย​ความ​พอ​พระทัย. (เฮ็บราย 5:7) ความ​เกรง​กลัว​พระ​ยะโฮวา​ยัง​เป็น​ลักษณะ​เด่น​แห่ง​การ​ปกครอง​ของ​พระ​เยซู​ฐานะ​พระ​มหา​กษัตริย์​มาซีฮา.—ยะซายา 11:3.

การ​เลือก​ความ​บันเทิง​ของ​คุณ​แสดง​ว่า​คุณ​เกลียด​สิ่ง​ชั่ว​ไหม?

8, 9. ดัง​ที่​พยากรณ์​ไว้ พระ​เยซู​ทรง​รู้สึก​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​ความ​ชอบธรรม​และ​ความ​ชั่ว และ​พระองค์​ทรง​ทำ​ให้​ความ​รู้สึก​ดัง​กล่าว​ปรากฏ​ชัด​อย่าง​ไร?

8 ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ยัง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​เกลียด​ชัง​สิ่ง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เกลียด​ด้วย. ตัว​อย่าง​เช่น โปรด​สังเกต​คำ​พยากรณ์​ข้อ​นี้​ที่​กล่าว​ถึง​พระ​มหา​กษัตริย์​มาซีฮา​ว่า “พระองค์​ทรง​รัก​ความ​ชอบธรรม​และ​ทรง​เกลียด​ความ​ชั่ว. เหตุ​ฉะนั้น​พระเจ้า พระเจ้า​ของ​พระองค์ จึง​ทรง​เจิม​พระองค์​ด้วย​น้ำมัน​แห่ง​ความ​ยินดี​ยิ่ง​กว่า​เหล่า​พระ​สหาย​ของ​พระองค์.” (บทเพลง​สรรเสริญ 45:7, ล.ม.) “พระ​สหาย” ของ​พระ​เยซู​ได้​แก่​กษัตริย์​องค์​อื่น ๆ ใน​ราชวงศ์​ของ​กษัตริย์​ดาวิด. มี​เหตุ​ที่​ทำ​ให้​พระ​เยซู​มี​ความ​ยินดี หรือ​ปลาบปลื้ม​อย่าง​ยิ่ง​ใน​การ​เจิม​นั้น มาก​กว่า​กษัตริย์​องค์​ใด ๆ ใน​ราชวงศ์​นี้. เพราะ​เหตุ​ใด? บำเหน็จ​ของ​พระองค์​ใหญ่​ยิ่ง​กว่า​บำเหน็จ​ที่​กษัตริย์​เหล่า​นั้น​ได้​รับ ตำแหน่ง​กษัตริย์​ของ​พระองค์​อำนวย​ประโยชน์​ให้​มาก​กว่า​อย่าง​สุด​คณานับ. พระองค์​ได้​รับ​บำเหน็จ​เพราะ​ความ​รัก​ที่​พระองค์​มี​ต่อ​ความ​ชอบธรรม​และ​ความ​เกลียด​ชัง​ที่​มี​ต่อ​ความ​ชั่ว​นั้น​กระตุ้น​พระองค์​ให้​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​ใน​ทุก​สิ่ง.

9 พระ​เยซู​ทรง​ทำ​ให้​ความ​รู้สึก​ที่​พระองค์​มี​ต่อ​ความ​ชอบธรรม​และ​ความ​ชั่ว​ปรากฏ​ชัด​อย่าง​ไร? ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​เชื่อ​ฟัง​การ​ชี้​แนะ​ของ​พระองค์​ใน​เรื่อง​งาน​ประกาศ​และ​ได้​รับ​ผล​ดี พระ​เยซู​ทรง​มี​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร? พระองค์​ทรง​ยินดี​อย่าง​ยิ่ง. (ลูกา 10:1, 17, 21) และ​เมื่อ​ประชาชน​ชาว​เยรูซาเลม​แสดง​น้ำใจ​ขัด​ขืน​หลาย​ครั้ง​หลาย​หน โดย​ปฏิเสธ​ความ​พยายาม​ด้วย​ความ​รัก​ของ​พระองค์​ที่​จะ​ช่วย​พวก​เขา พระ​เยซู​ทรง​รู้สึก​อย่าง​ไร? พระองค์​ทรง​กันแสง​เนื่อง​จาก​แนว​ทาง​ที่​กบฏ​ขัด​ขืน​ของ​เมือง​นั้น. (ลูกา 19:41, 42) พระ​เยซู​ทรง​ห่วงใย​อย่าง​ยิ่ง​ใน​เรื่อง​ความ​ประพฤติ​ที่​ดี​และ​ไม่​ดี.

10. เรา​จำเป็น​ต้อง​ปลูกฝัง​ความ​รู้สึก​เช่น​ไร​ต่อ​การ​กระทำ​ที่​ชอบธรรม​และ​การ​ประพฤติ​ผิด และ​อะไร​จะ​ช่วย​เรา​ให้​ทำ​เช่น​นั้น?

10 การ​ไตร่ตรอง​ดู​ความ​รู้สึก​ของ​พระ​เยซู​ช่วย​เรา​ให้​ตรวจ​สอบ​ดู​แรง​กระตุ้น​ของ​เรา​เอง​ใน​การ​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา. แม้​เรา​เป็น​คน​ไม่​สมบูรณ์ เรา​ก็​ยัง​สามารถ​ปลูกฝัง​ความ​รัก​อย่าง​แรง​กล้า​ต่อ​การ​กระทำ​ดี​และ​ความ​เกลียด​ชัง​อย่าง​จริงจัง​ต่อ​ความ​ประพฤติ​ผิด. เรา​ต้อง​อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา ทูล​ขอ​พระองค์​ให้​ช่วย​เรา​พัฒนา​ความ​รู้สึก​เหมือน​พระองค์​และ​พระ​บุตร​ของ​พระองค์. (บทเพลง​สรรเสริญ 51:10) ขณะ​เดียว​กัน เรา​ต้อง​หลีก​เลี่ยง​อิทธิพล​ต่าง ๆ ที่​จะ​เซาะกร่อน​ความ​รู้สึก​ดัง​กล่าว. การ​เลือก​ความ​บันเทิง​และ​การ​คบหา​สมาคม​อย่าง​รอบคอบ​นับ​ว่า​สำคัญ. (สุภาษิต 13:20; ฟิลิปปอย 4:8) หาก​เรา​พัฒนา​แรง​กระตุ้น​เหมือน​พระ​คริสต์ การ​เชื่อ​ฟัง​ของ​เรา​จะ​ไม่​เป็น​เพียง​การ​ทำ​พอ​เป็น​พิธี. เรา​จะ​ทำ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง​เพราะ​เรา​อยาก​ทำ​สิ่ง​นั้น. เรา​จะ​หลีก​เลี่ยง​การ​กระทำ​ผิด ไม่​ใช่​เพราะ​เรา​กลัว​ถูก​จับ​ได้ แต่​เพราะ​เรา​เกลียด​ความ​ประพฤติ​เช่น​นั้น.

“พระองค์​ไม่​ได้​ทรง​กระทำ​บาป​ประการ​ใด”

11, 12. (ก) เกิด​อะไร​ขึ้น​กับ​พระ​เยซู​ใน​ช่วง​ต้น​แห่ง​งาน​รับใช้​ของ​พระองค์? (ข) ซาตาน​ล่อ​ใจ​พระ​เยซู​ครั้ง​แรก​โดย​วิธี​ใด โดย​ใช้​อุบาย​ที่​มี​เล่ห์​เหลี่ยม​อย่าง​ไร?

11 ใน​เรื่อง​ความ​เกลียด​ชัง​ต่อ​บาป​นั้น พระ​เยซู​ถูก​ทดสอบ​ใน​ช่วง​ต้น ๆ แห่ง​งาน​รับใช้​ของ​พระองค์. ภาย​หลัง​พระองค์​รับ​บัพติสมา​แล้ว พระองค์​อยู่​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร​เป็น​เวลา 40 วัน 40 คืน โดย​ไม่​ได้​เสวย​พระ​กระยาหาร. ใน​ตอน​จบ​ของ​ช่วง​เวลา​นั้น ซาตาน​ได้​มา​ล่อ​ใจ​พระองค์. ขอ​สังเกต​ว่า​พญา​มาร​มี​เล่ห์​เหลี่ยม​เพียง​ใด.—มัดธาย 4:1-11.

12 ที​แรก​ซาตาน​บอก​ว่า “ถ้า​ท่าน​เป็น​บุตร​ของ​พระเจ้า​จง​สั่ง​ก้อน​หิน​เหล่า​นี้​ให้​กลาย​เป็น​พระ​กระยาหาร.” (มัดธาย 4:3) พระ​เยซู​ทรง​รู้สึก​อย่าง​ไร​หลัง​อด​อาหาร​มา​นาน? คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​อย่าง​ชัดเจน​ว่า “พระองค์​ก็​ทรง​อยาก​พระ​กระยาหาร.” (มัดธาย 4:2) ดัง​นั้น ซาตาน​ฉวย​โอกาส​จาก​ความ​ปรารถนา​ตาม​ธรรมชาติ​ใน​เรื่อง​อาหาร ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า​มัน​จงใจ​รอ​จน​กระทั่ง​พระ​เยซู​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ร่าง​กาย​อ่อนแอ. สังเกต​คำ​พูด​เหน็บ​แนม​ของ​ซาตาน​ด้วย​ที่​ว่า “ถ้า ท่าน​เป็น​บุตร​ของ​พระเจ้า.” ซาตาน​รู้​ว่า​พระ​เยซู​เป็น “ผู้​แรก​ที่​บังเกิด​ก่อน​สรรพสิ่ง​ทรง​สร้าง.” (โกโลซาย 1:15, ล.ม.) กระนั้น พระ​เยซู​ก็​ไม่​ยอม​ให้​ซาตาน​ยั่ว​ยุ​พระองค์​ให้​ไม่​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า. พระ​เยซู​ทรง​ทราบ​ว่า​พระเจ้า​มิ​ได้​มี​พระทัย​ประสงค์​ที่​จะ​ให้​พระองค์​ใช้​อำนาจ​ด้วย​จุด​มุ่ง​หมาย​ที่​เห็น​แก่​ตัว. พระองค์​ไม่​ยอม​ทำ​เช่น​นั้น พระองค์​ทรง​ถ่อม​พระทัย​พึ่ง​อาศัย​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​ได้​รับ​การ​ค้ำจุน​และ​การ​ชี้​นำ.—มัดธาย 4:4.

13-15. (ก) ซาตาน​ทำ​เช่น​ไร​ใน​การ​ล่อ​ใจ​พระ​เยซู​ครั้ง​ที่​สอง​และ​สาม และ​พระ​เยซู​ตอบ​สนอง​อย่าง​ไร? (ข) เรา​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​พระ​เยซู​ไม่​เคย​หยุด​เฝ้า​ระวัง​ซาตาน​เลย?

13 ใน​การ​ล่อ​ใจ​ครั้ง​ที่​สอง ซาตาน​พา​พระ​เยซู​ไป​ยัง​บริเวณ​ที่​สูง​บน​เชิง​เทิน​พระ​วิหาร. โดย​บิดเบือน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​อย่าง​มี​เล่ห์​เหลี่ยม ซาตาน​ได้​ล่อ​พระ​เยซู​ให้​แสดง​การ​โอ้อวด​โดย​กระโจน​ลง​มา​จาก​ที่​สูง​นั้น​จน​ทูตสวรรค์​ต้อง​มา​ช่วยเหลือ​พระองค์. หาก​ฝูง​ชน​ที่​พระ​วิหาร​ได้​เห็น​การ​อัศจรรย์​เช่น​นั้น หลัง​จาก​นั้น ใคร​หรือ​จะ​กล้า​ยก​ข้อ​สงสัย​ขึ้น​มา​ใน​เรื่อง​ที่​ว่า​พระ​เยซู​เป็น​พระ​มาซีฮา​ตาม​คำ​สัญญา​หรือ​ไม่? และ​ถ้า​ฝูง​ชน​ยอม​รับ​พระ​เยซู​ฐานะ​พระ​มาซีฮา​โดย​อาศัย​การ​แสดง​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​ดัง​กล่าว พระ​เยซู​ก็​จะ​หลีก​เลี่ยง​ความ​ยุ่งยาก​ลำบาก​มาก​มาย​ได้​มิ​ใช่​หรือ? อาจ​เป็น​ไป​ได้. แต่​พระ​เยซู​ทรง​ทราบ​ว่า​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระ​ยะโฮวา​คือ​ให้​พระ​มาซีฮา​ทำ​งาน​ของ​พระองค์​ใน​ลักษณะ​ที่​ไม่​โอ้อวด ไม่​ใช่​เพื่อ​ชักจูง​ผู้​คน​ให้​เชื่อ​พระองค์​โดย​การ​แสดง​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ. (ยะซายา 42:1, 2) อีก​ครั้ง​หนึ่ง พระ​เยซู​ปฏิเสธ​การ​ไม่​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา. การ​มี​ชื่อเสียง​มิ​ได้​ดึงดูด​ใจ​พระองค์.

14 แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​การ​ล่อ​ใจ​เรื่อง​อำนาจ? ใน​ความ​พยายาม​ครั้ง​ที่​สาม ซาตาน​ได้​เสนอ​อาณาจักร​ทั้ง​สิ้น​ของ​โลก​ให้​พระ​เยซู หาก​พระองค์​จะ​นมัสการ​ซาตาน​ครั้ง​เดียว. พระองค์​ต้อง​คิด​แล้ว​คิด​อีก​อย่าง​จริงจัง​ถึง​ข้อ​เสนอ​ของ​ซาตาน​ไหม? พระองค์​ตอบ​ว่า “ซาตาน! จง​ไป​เสีย​ให้​พ้น!” พระองค์​ตรัส​ต่อ​ไป​อีก​ว่า “เพราะ​มี​คำ​เขียน​ไว้​ว่า ‘พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เจ้า​นั่น​แหละ​ที่​เจ้า​ต้อง​นมัสการ และ​แด่​พระองค์​ผู้​เดียว​ที่​เจ้า​ต้อง​ถวาย​การ​รับใช้​อัน​ศักดิ์สิทธิ์.’” (มัดธาย 4:10, ล.ม.) ไม่​มี​สิ่ง​ใด​จะ​ชักชวน​พระ​เยซู​ให้​นมัสการ​พระ​อื่น​ได้​เลย. การ​เสนอ​อำนาจ​หรือ​อิทธิพล​ใน​โลก​นี้​จะ​ไม่​ชัก​นำ​พระองค์​ให้​กระทำ​การ​ใด ๆ ที่​เป็น​การ​ไม่​เชื่อ​ฟัง.

15 ซาตาน​ยอม​แพ้​ไหม? มัน​จาก​ไป​ตาม​พระ​บัญชา​ของ​พระ​เยซู. อย่าง​ไร​ก็​ดี กิตติคุณ​ของ​ลูกา​กล่าว​ว่า​พญา​มาร “จึง​ไป​จาก​พระองค์​จน​กว่า​จะ​ถึง​เวลา​อื่น​ที่​เหมาะ.” (ลูกา 4:13, ล.ม.) ที่​จริง ซาตาน​จะ​หา​โอกาส​อื่น​ที่​จะ​ทดลอง​และ​ล่อ​ใจ​พระ​เยซู​จน​ถึง​ที่​สุด. คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​เรา​ว่า พระ​เยซู “ได้​ทรง​ถูก​ทดลอง . . . ทุก​ประการ.” (เฮ็บราย 4:15) ดัง​นั้น พระ​เยซู​ไม่​เคย​หยุด​เฝ้า​ระวัง​เลย เรา​ก็​เช่น​กัน.

16. ซาตาน​ล่อ​ใจ​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​ใน​ทุก​วัน​นี้​โดย​วิธี​ใด และ​เรา​จะ​ปฏิเสธ​ความ​พยายาม​ของ​มัน​ได้​อย่าง​ไร?

16 ซาตาน​ยัง​คง​ล่อ​ใจ​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​ใน​ทุก​วัน​นี้​อยู่​ต่อ​ไป. น่า​เศร้า บ่อย​ครั้ง​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​เรา​ทำ​ให้​เรา​ตก​เป็น​เป้า​อย่าง​ง่าย​ดาย. ซาตาน​ฉวย​โอกาส​อย่าง​มี​เล่ห์​เหลี่ยม​จาก​ความ​เห็น​แก่​ตัว, ความ​หยิ่ง, และ​ความ​กระหาย​อำนาจ. โดย​ใช้​การ​ล่อ​ใจ​ด้วย​ลัทธิ​วัตถุ​นิยม ซาตาน​อาจ​ถึง​กับ​ใช้​ปัจจัย​ทั้ง​หมด​นี้​รวม​กัน​ด้วย​ซ้ำ! นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​หยุด​เพื่อ​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​เป็น​ครั้ง​คราว. เรา​ควร​ไตร่ตรอง​ถ้อย​คำ​ใน 1 โยฮัน 2:15-17. ใน​การ​ไตร่ตรอง​นั้น​เรา​อาจ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ความ​ปรารถนา​ฝ่าย​เนื้อหนัง​ของ​ระบบ​นี้, ความ​อยาก​ได้​ใคร่​มี​สมบัติ​วัตถุ, และ​ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​ให้​คน​อื่น​ประทับใจ​เซาะกร่อน​ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระ​บิดา​ของ​เรา​ทาง​ภาค​สวรรค์​บ้าง​หรือ​ไม่. เรา​ต้อง​จำ​ไว้​ว่า​โลก​นี้​กำลัง​จะ​ผ่าน​พ้น​ไป เช่น​เดียว​กับ​ซาตาน​ผู้​ปกครอง​ของ​โลก. ขอ​ให้​เรา​ปฏิเสธ​ความ​พยายาม​อย่าง​มี​เล่ห์​เหลี่ยม​ของ​มัน​ที่​จะ​ล่อ​เรา​เข้า​สู่​บาป! ขอ​ให้​เรา​ได้​แรง​บันดาล​ใจ​จาก​ผู้​เป็น​นาย​ของ​เรา เพราะ “พระองค์​ไม่​ได้​ทรง​กระทำ​บาป​ประการ​ใด.”—1 เปโตร 2:22.

“เรา​ทำ​ตาม​ชอบ​พระทัย​พระองค์​เสมอ”

17. พระ​เยซู​ทรง​รู้สึก​อย่าง​ไร​เรื่อง​การ​เชื่อ​ฟัง​พระ​บิดา แต่​บาง​คน​อาจ​แย้ง​ว่า​อย่าง​ไร?

17 การ​เชื่อ​ฟัง​เกี่ยว​ข้อง​ไม่​เพียง​แต่​การ​ละ​เว้น​จาก​บาป; พระ​คริสต์​ทรง​ปฏิบัติ​ตาม​พระ​บัญชา​ทุก​ประการ​ของ​พระ​บิดา​อย่าง​แข็งขัน. พระองค์​แถลง​ว่า “เรา​ทำ​ตาม​ชอบ​พระทัย​พระองค์​เสมอ.” (โยฮัน 8:29) การ​เชื่อ​ฟัง​เช่น​นี้​นำ​ความ​ยินดี​มาก​มาย​มา​ให้​พระ​เยซู. แน่นอน บาง​คน​อาจ​แย้ง​ว่า​การ​เชื่อ​ฟัง​เป็น​เรื่อง​ง่าย​กว่า​สำหรับ​พระ​เยซู. เขา​อาจ​คิด​ว่า​พระองค์​ต้อง​ให้​การ​เฉพาะ​แต่​กับ​พระ​ยะโฮวา​ซึ่ง​เป็น​ผู้​ที่​สมบูรณ์ ขณะ​ที่​บ่อย​ครั้ง​เรา​ต้อง​ให้​การ​ต่อ​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​ซึ่ง​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ที่​มี​อำนาจ. แต่​ความ​จริง​คือ​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​เชื่อ​ฟัง​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​ซึ่ง​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ที่​มี​อำนาจ.

18. ตอน​เป็น​เด็ก พระ​เยซู​ทรง​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​อะไร​ใน​เรื่อง​การ​เชื่อ​ฟัง?

18 ขณะ​ที่​ทรง​เติบโต พระ​เยซู​อยู่​ใต้​อำนาจ​ของ​โยเซฟ​กับ​มาเรีย บิดา​มารดา​ของ​พระองค์​ซึ่ง​เป็น​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์. พระองค์​อาจ​จะ​มอง​เห็น​ข้อ​บกพร่อง​ใน​ตัว​บิดา​มารดา​ของ​พระองค์​ได้​มาก​กว่า​ที่​เด็ก​ส่วน​ใหญ่​จะ​มอง​เห็น​ใน​ตัว​บิดา​มารดา​ของ​พวก​เขา. พระองค์​ขืน​อำนาจ​ไหม โดย​ทำ​เกิน​ขอบ​เขต​ของ​หน้า​ที่​ที่​พระเจ้า​ประทาน​ให้​และ​สั่ง​บิดา​มารดา​ว่า​ควร​จัด​การ​เรื่อง​ใน​ครอบครัว​อย่าง​ไร? ขอ​สังเกต​สิ่ง​ที่​ลูกา 2:51 (ล.ม.) กล่าว​ถึง​พระ​เยซู​ตอน​พระ​ชนมายุ 12 พรรษา​ว่า “พระองค์ . . . อยู่​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​พวก​เขา​ต่อ​ไป.” โดย​การ​เชื่อ​ฟัง​เช่น​นี้ พระองค์​ทรง​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​เลิศ​ไว้​สำหรับ​เยาวชน​คริสเตียน ผู้​ซึ่ง​พยายาม​จะ​เชื่อ​ฟัง​บิดา​มารดา​และ​แสดง​ความ​นับถือ​ที่​สม​ควร​ต่อ​ท่าน.—เอเฟโซ 6:1, 2.

19, 20. (ก) พระ​เยซู​เผชิญ​สภาพการณ์​ยุ่งยาก​ที่​ไม่​มี​ใด​เหมือน​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​การ​เชื่อ​ฟัง​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์? (ข) ทำไม​คริสเตียน​แท้​ใน​ทุก​วัน​นี้​ควร​เชื่อ​ฟัง​คน​เหล่า​นั้น​ที่​นำ​หน้า​ใน​ท่ามกลาง​พวก​เขา?

19 ใน​เรื่อง​การ​เชื่อ​ฟัง​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์ พระ​เยซู​เผชิญ​สภาพการณ์​ยุ่งยาก​ที่​คริสเตียน​แท้​ใน​ทุก​วัน​นี้​ไม่​ต้อง​เผชิญ​เลย. ขอ​พิจารณา​ช่วง​เวลา​ที่​พระองค์​ทรง​มี​ชีวิต​อยู่​ซึ่ง​ไม่​มี​ใด​เหมือน. ระบบ​ศาสนา​ของ​ยิว​พร้อม​กับ​พระ​วิหาร​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​และ​ตำแหน่ง​ปุโรหิต​ได้​รับ​การ​เห็น​ชอบ​จาก​พระ​ยะโฮวา​มา​เป็น​เวลา​นาน แต่​กำลัง​จะ​ถูก​ปฏิเสธ​และ​ถูก​แทน​ที่​ด้วย​ประชาคม​คริสเตียน. (มัดธาย 23:33-38) ระหว่าง​นั้น ผู้​นำ​ศาสนา​หลาย​คน​สอน​ความ​เท็จ​ที่​ได้​มา​จาก​ปรัชญา​กรีก. ใน​พระ​วิหาร การ​ทุจริต​มี​อยู่​ดาษ​ดื่น​เสีย​จน​พระ​เยซู​เรียก​ที่​นั่น​ว่า “ถ้ำ​ของ​พวก​โจร.” (มาระโก 11:17) พระ​เยซู​หลีก​เลี่ยง​การ​ไป​ที่​พระ​วิหาร​และ​ธรรมศาลา​ไหม? เปล่า​เลย! พระ​ยะโฮวา​ยัง​ทรง​ใช้​สิ่ง​เหล่า​นั้น​อยู่. พระ​เยซู​ไป​ฉลอง​เทศกาล​ต่าง ๆ ณ พระ​วิหาร​และ​ไป​ที่​ธรรมศาลา​ด้วย​ความ​เชื่อ​ฟัง จน​กว่า​พระเจ้า​จะ​ทรง​ลง​มือ​จัด​การ​และ​ทำ​การ​เปลี่ยน​แปลง.—ลูกา 4:16; โยฮัน 5:1.

20 หาก​พระ​เยซู​ทรง​เชื่อ​ฟัง​ภาย​ใต้​สภาพการณ์​ดัง​กล่าว ยิ่ง​กว่า​นั้น​สัก​เท่า​ไร​ที่​คริสเตียน​แท้​ควร​จะ​เชื่อ​ฟัง​ต่อ ๆ ไป​ใน​ทุก​วัน​นี้! ที่​จริง เรา​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​สมัย​ที่​ต่าง​กัน​มาก เป็น​ยุค​แห่ง​การ​ฟื้นฟู​การ​นมัสการ​อัน​บริสุทธิ์​ที่​มี​การ​บอก​ไว้​ล่วง​หน้า​นาน​มา​แล้ว. พระเจ้า​ทรง​รับรอง​กับ​เรา​ว่า​พระองค์​จะ​ไม่​ปล่อย​ให้​ซาตาน​ทำ​ให้​ประชาชน​ของ​พระองค์​ที่​ได้​รับ​การ​ฟื้นฟู​แล้ว​นั้น​เสื่อม​เสีย. (ยะซายา 2:1, 2; 54:17) จริง​อยู่ เรา​เผชิญ​กับ​บาป​และ​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ภาย​ใน​ประชาคม​คริสเตียน. แต่​เรา​ควร​ใช้​ข้อ​บกพร่อง​ของ​คน​อื่น​เป็น​ข้อ​แก้​ตัว​ที่​จะ​ไม่​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา บาง​ที​โดย​ไม่​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน​หรือ​โดย​วิจารณ์​ผู้​ปกครอง​ไหม? ไม่​เลย! แทน​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น เรา​สนับสนุน​อย่าง​จริง​ใจ​ต่อ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​นำ​หน้า​ใน​ประชาคม. ด้วย​ความ​เชื่อ​ฟัง เรา​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน​และ​การ​ประชุม​ใหญ่​ต่าง ๆ และ​เอา​คำ​แนะ​นำ​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​ที่​เรา​ได้​รับ​ที่​นั่น​ไป​ใช้.—เฮ็บราย 10:24, 25; 13:17.

เรา​นำ​สิ่ง​ที่​เรียน​รู้ ณ การ​ประชุม​คริสเตียน​ไป​ใช้​ด้วย​ความ​เชื่อ​ฟัง

21. พระ​เยซู​ตอบ​สนอง​อย่าง​ไร​ต่อ​การ​ที่​มนุษย์​กดดัน​พระองค์​ไม่​ให้​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า เป็น​การ​วาง​ตัว​อย่าง​อะไร​ไว้​สำหรับ​เรา?

21 พระ​เยซู​ไม่​เคย​ยอม​ให้​ประชาชน—แม้​แต่​เพื่อน ๆ ที่​มี​เจตนา​ดี ทำ​ให้​พระองค์​เลิก​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา. ตัว​อย่าง​เช่น อัครสาวก​เปโตร​พยายาม​จะ​โน้ม​น้าว​นาย​ของ​ตน​ว่า​ไม่​จำเป็น​ที่​จะ​ต้อง​ทน​ทุกข์​และ​สิ้น​พระ​ชนม์. พระ​เยซู​ทรง​ปฏิเสธ​อย่าง​หนักแน่น​ที่​เปโตร​ให้​คำ​แนะ​นำ​ด้วย​เจตนา​ดี​แต่​เป็น​การ​ชัก​นำ​ไป​ใน​ทาง​ผิด ที่​บอก​ให้​พระ​เยซู​กรุณา​ตัว​เอง. (มัดธาย 16:21-23) ปัจจุบัน บ่อย​ครั้ง​เหล่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​รับมือ​กับ​ญาติ​พี่​น้อง​ที่​มี​เจตนา​ดี​ซึ่ง​อาจ​พยายาม​ยับยั้ง​เขา​ไว้​ไม่​ให้​เชื่อ​ฟัง​กฎหมาย​และ​หลักการ​ต่าง ๆ ของ​พระเจ้า. เช่น​เดียว​กับ​เหล่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ใน​ศตวรรษ​แรก เรา​ยึด​มั่น​กับ​จุด​ยืน​ของ​เรา​ที่​ว่า “ข้าพเจ้า​จำ​ต้อง​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​ยิ่ง​กว่า​เชื่อ​ฟัง​มนุษย์.”—กิจการ 5:29.

บำเหน็จ​ของ​การ​เชื่อ​ฟัง​แบบ​พระ​คริสต์

22. พระ​เยซู​ทรง​ให้​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​อะไร และ​โดย​วิธี​ใด?

22 เมื่อ​พระ​เยซู​เผชิญ​กับ​ความ​ตาย การ​เชื่อ​ฟัง​ของ​พระองค์​ได้​รับ​การ​ทดสอบ​ถึง​ที่​สุด. ระหว่าง​วัน​ที่​น่า​หดหู่​นั้น​แหละ​ที่ “พระองค์​ได้​ทรง​เรียน​รู้​การ​เชื่อ​ฟัง” ใน​ความ​หมาย​ครบ​ถ้วน​ที่​สุด. พระองค์​ทรง​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระ​บิดา ไม่​ใช่​ตาม​พระทัย​ของ​พระองค์​เอง. (ลูกา 22:42) ใน​ระหว่าง​นั้น พระองค์​ได้​สร้าง​ประวัติ​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​อย่าง​ไม่​ขาด​ตก​บกพร่อง. (1 ติโมเธียว 3:16) พระองค์​ทรง​ให้​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​ที่​มี​มา​นาน​แล้ว​ที่​ว่า มนุษย์​สมบูรณ์​จะ​ยัง​คง​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา​ต่อ​ไป​ไหม ถึง​แม้​ประสบ​การ​ทดลอง? อาดาม​ได้​ล้มเหลว และ​ฮาวา​ก็​เช่น​กัน. ครั้น​แล้ว​พระ​เยซู​เสด็จ​มา, มี​ชีวิต​อยู่, สิ้น​พระ​ชนม์, และ​ทรง​ให้​คำ​ตอบ​ที่​หนักแน่น​จริง ๆ. บุคคล​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​บรรดา​สรรพสิ่ง​ทรง​สร้าง​ของ​พระ​ยะโฮวา​ได้​ให้​คำ​ตอบ​หนักแน่น​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้. พระองค์​เชื่อ​ฟัง​แม้​ว่า​การ​ทำ​เช่น​นั้น​ทำ​ให้​พระองค์​ทน​ทุกข์​อย่าง​มาก​และ​กระทั่ง​สิ้น​พระ​ชนม์.

23-25. (ก) การ​เชื่อ​ฟัง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​อย่าง​ไร? จง​ยก​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ. (ข) อะไร​คือ​เนื้อหา​สาระ​ของ​บท​ถัด​ไป?

23 ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​หรือ​ความ​เลื่อมใส​สุด​หัวใจ​ต่อ​พระ​ยะโฮวา แสดง​ออก​โดย​การ​เชื่อ​ฟัง. เนื่อง​จาก​พระ​เยซู​เชื่อ​ฟัง พระองค์​ได้​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​และ​อำนวย​ประโยชน์​แก่​มวล​มนุษยชาติ. (โรม 5:19) พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทาน​บำเหน็จ​ให้​พระ​เยซู​อย่าง​บริบูรณ์. หาก​เรา​เชื่อ​ฟัง​พระ​คริสต์ ผู้​เป็น​นาย​ของ​เรา พระ​ยะโฮวา​ก็​จะ​ประทาน​บำเหน็จ​แก่​เรา​เช่น​กัน. การ​เชื่อ​ฟัง​พระ​คริสต์​นำ​ไป​สู่ “ความ​รอด​นิรันดร์”!—เฮ็บราย 5:9.

24 นอก​จาก​นั้น ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ก็​เป็น​บำเหน็จ​อยู่​แล้ว. สุภาษิต 10:9 (ฉบับ​แปล​ใหม่) กล่าว​ว่า “ผู้​ใด​ที่​ดำเนิน​ใน​ความ​สัตย์​ซื่อ​ก็​ดำเนิน​อย่าง​มั่นคง​ดี.” หาก​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​เทียบ​ได้​กับ​คฤหาสน์​ใหญ่​หลัง​หนึ่ง​ที่​สร้าง​ด้วย​อิฐ​ชั้น​เลิศ การ​เชื่อ​ฟัง​แต่​ละ​ครั้ง​ก็​อาจ​เทียบ​ได้​กับ​อิฐ​แต่​ละ​ก้อน. อิฐ​ก้อน​หนึ่ง​อาจ​ดู​เหมือน​ไม่​สำคัญ ทว่า​แต่​ละ​ก้อน​ก็​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ที่​เหมาะ​สม​และ​มี​คุณค่า. และ​เมื่อ​เอา​อิฐ​หลาย​ก้อน​มา​ต่อ​กัน สิ่ง​ที่​มี​ค่า​มาก​กว่า​ได้​ถูก​สร้าง​ขึ้น. เมื่อ​เอา​การ​เชื่อ​ฟัง​แต่​ละ​ครั้ง​มา​รวม​กัน การ​เชื่อ​ฟัง​ครั้ง​หนึ่ง​เพิ่ม​เข้า​กับ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง วัน​แล้ว​วัน​เล่า ปี​แล้ว​ปี​เล่า เรา​ก็​ได้​สร้าง​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ของ​เรา​ดุจ​ดัง​บ้าน​ที่​สวย​งาม​ขึ้น.

25 แนว​ทาง​ของ​การ​เชื่อ​ฟัง​เป็น​เวลา​ยาว​นาน​ทำ​ให้​เรา​นึก​ถึง​คุณลักษณะ​อีก​อย่าง​หนึ่ง นั่น​คือ​ความ​อด​ทน. ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​ใน​แง่​มุม​นี้​เป็น​เนื้อหา​สาระ​ของ​บท​ถัด​ไป.