ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 3

“เรามี . . . หัวใจถ่อม”

“เรามี . . . หัวใจถ่อม”

“นี่​แน่ะ, กษัตริย์​ของ​ท่าน​เสด็จ​มา​หา​ท่าน”

1-3. พระ​เยซู​เสด็จ​เข้า​กรุง​เยรูซาเลม​ใน​ลักษณะ​ใด และ​เหตุ​ใด​บาง​คน​ใน​ฝูง​ชน​ที่​มอง​ดู​อยู่​จึง​อาจ​รู้สึก​ประหลาด​ใจ?

 กรุง​เยรูซาเลม​มี​เสียง​พูด​คุย​กัน​เซ็งแซ่​ด้วย​ความ​ตื่นเต้น. บุรุษ​สำคัญ​คน​หนึ่ง​กำลัง​จะ​มา! ภาย​นอก​กรุง ผู้​คน​รวม​ตัว​กัน​อยู่​ตาม​ถนน. พวก​เขา​กระตือรือร้น​ที่​จะ​ต้อนรับ​บุรุษ​ผู้​นี้ เพราะ​บาง​คน​บอก​ว่า​ท่าน​เป็น​รัชทายาท​ของ​กษัตริย์​ดาวิด​และ​เป็น​ผู้​ปกครอง​โดย​ชอบธรรม​ของ​อิสราเอล. หลาย​คน​เอา​ทาง​ปาล์ม​มา​เพื่อ​โบก​ต้อนรับ​ท่าน; คน​อื่น ๆ เอา​เสื้อ​ผ้า​และ​ใบ​ไม้​มา​ปู​ตาม​ถนน​เพื่อ​เตรียม​ทาง​ที่​สะดวก​ไว้​สำหรับ​ท่าน​ผู้​นี้. (มัดธาย 21:7, 8; โยฮัน 12:12, 13) หลาย​คน​คง​อยาก​รู้​ว่า​ท่าน​ผู้​นี้​จะ​เข้า​เมือง​ใน​ลักษณะ​ใด.

2 บาง​คน​อาจ​คาด​หมาย​การ​เสด็จ​เข้า​เมือง​แบบ​ที่​เลอเลิศ​มโหฬาร. แน่นอน​พวก​เขา​รู้​จัก​บุคคล​สำคัญ ๆ ซึ่ง​ได้​เข้า​เมือง​ใน​ลักษณะ​ดัง​กล่าว. ตัว​อย่าง​เช่น อับซาโลม​ราชบุตร​ของ​ดาวิด​ได้​ประกาศ​ตัว​เป็น​กษัตริย์; เขา​ให้​ผู้​ชาย 50 คน​วิ่ง​นำ​หน้า​ราชรถ​ของ​เขา. (2 ซามูเอล 15:1, 10) จูเลียส​ซีซาร์​ผู้​ปกครอง​ชาว​โรมัน​ได้​เรียก​ร้อง​ให้​มี​การ​จัด​อย่าง​โอ้อวด​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก ครั้ง​หนึ่ง​เขา​ได้​เคลื่อน​ขบวน​แห่​ฉลอง​ชัย​ชนะ​ไป​ยัง​รัฐสภา​โรมัน โดย​มี​ช้าง 40 เชือก​ชู​โคม​ไฟ​ขนาบ​อยู่​ทั้ง​สอง​ข้าง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ตอน​นี้​ชาว​กรุง​เยรูซาเลม​คอย​ท่า​บุรุษ​ที่​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก. ไม่​ว่า​ฝูง​ชน​เข้าใจ​อย่าง​เต็ม​ที่​หรือ​ไม่​ก็​ตาม ท่าน​ผู้​นี้​คือ​พระ​มาซีฮา บุรุษ​ผู้​ใหญ่​ยิ่ง​ที่​สุด​เท่า​ที่​โลก​เคย​เห็น. แต่​เมื่อ​ผู้​ที่​จะ​เป็น​กษัตริย์​ใน​อนาคต​องค์​นี้​เสด็จ​เข้า​เมือง บาง​คน​อาจ​ประหลาด​ใจ.

3 พวก​เขา​ไม่​เห็น​ราชรถ, ไม่​มี​คน​วิ่ง​นำ​หน้า, ไม่​มี​ม้า และ​ก็​แน่นอน​ว่า​ไม่​มี​ช้าง. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น พระ​เยซู​ประทับ​บน​หลัง​ลา สัตว์​พาหนะ​ธรรมดา ๆ ตัว​หนึ่ง. * ทั้ง​พระ​เยซู​และ​ลา​ที่​พระองค์​ประทับ​มา​ก็​ไม่​ได้​ประดับ​ตกแต่ง​อย่าง​เลิศ​หรู​อลังการ. แทน​ที่​จะ​เป็น​อาน​นั่ง​ราคา​แพง สาวก​ผู้​ใกล้​ชิด​ของ​พระ​เยซู​ได้​เอา​เสื้อ​ผ้า​บาง​ชิ้น​ปู​บน​หลัง​ลา​นั้น. เหตุ​ใด​พระ​เยซู​ทรง​เลือก​ที่​จะ​เสด็จ​เข้า​กรุง​เยรูซาเลม​ใน​ลักษณะ​ที่​ต่ำต้อย​เช่น​นั้น ใน​เมื่อ​มนุษย์​ซึ่ง​มี​ความ​สำคัญ​น้อย​กว่า​มาก​ได้​เรียก​ร้อง​ให้​มี​การ​เฉลิม​ฉลอง​เอิกเกริก​มาก​กว่า​นัก?

4. คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​บอก​ล่วง​หน้า​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​กษัตริย์​มาซีฮา​จะ​เสด็จ​เข้า​กรุง​เยรูซาเลม?

4 พระ​เยซู​กำลัง​ทำ​ให้​คำ​พยากรณ์​ข้อ​หนึ่ง​สำเร็จ​เป็น​จริง​ที่​ว่า “จง​ยินดี​เป็น​อัน​มาก, โอ้​บุตรี​แห่ง​ยะรูซาเลม​จง​โห่​ร้อง​ด้วย​ชื่นชม, นี่​แน่ะ, กษัตริย์​ของ​ท่าน​เสด็จ​มา​หา​ท่าน, มี​ความ​ชอบธรรม​แล​ประกอบ​ด้วย​ฤทธิ์​ช่วย​ให้​รอด, แล​มี​พระทัย​อัน​สุภาพ, แล​เสด็จ​นั่ง​บน​ลา.” (ซะคาระยา 9:9) คำ​พยากรณ์​นี้​แสดง​ว่า​สัก​วัน​หนึ่ง​พระ​มาซีฮา ผู้​ถูก​เจิม​ของ​พระเจ้า​จะ​เปิด​เผย​พระองค์​เอง​แก่​ประชาชน​ชาว​เยรูซาเลม​ใน​ฐานะ​พระ​มหา​กษัตริย์​ผู้​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​จาก​พระเจ้า. นอก​จาก​นี้ วิธี​ที่​พระองค์​ทรง​ใช้​ใน​การ​เปิด​เผย​ว่า​พระองค์​เป็น​กษัตริย์ รวม​ทั้ง​การ​เลือก​สัตว์​ที่​ใช้​ประทับ จะ​เผย​ให้​เห็น​คุณลักษณะ​อัน​ยอด​เยี่ยม​ใน​พระทัย​ของ​พระองค์ นั่น​คือ​ความ​ถ่อม​ใจ.

5. ทำไม​การ​ไตร่ตรอง​ดู​ความ​ถ่อม​ของ​พระ​เยซู​จึง​กระตุ้น​อารมณ์​ความ​รู้สึก และ​เหตุ​ใด​นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​เรา​เรียน​รู้​ที่​จะ​เลียน​แบบ​พระ​เยซู​ใน​เรื่อง​นี้?

5 ความ​ถ่อม​ของ​พระ​เยซู​อยู่​ใน​บรรดา​คุณลักษณะ​ที่​ดึงดูด​ใจ​มาก​ที่​สุด​ของ​พระองค์. เมื่อ​เรา​ไตร่ตรอง​ดู นี่​เป็น​คุณลักษณะ​ที่​กระตุ้น​อารมณ์​ความ​รู้สึก. ดัง​ที่​เรา​ได้​พิจารณา​ใน​บท​ก่อน พระ​เยซู​ผู้​เดียว​ทรง​เป็น “ทาง​นั้น, เป็น​ความ​จริง, และ​เป็น​ชีวิต.” (โยฮัน 14:6) เห็น​ได้​ชัด​ว่า ไม่​มี​มนุษย์​สัก​คน​เดียว​ใน​บรรดา​มนุษย์​จำนวน​มาก​มาย​ที่​เคย​มี​ชีวิต​อยู่​จะ​มี​ความ​สำคัญ​เท่า​เทียม​กับ​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า. กระนั้น พระ​เยซู​ไม่​เคย​แสดง​ให้​เห็น​ร่องรอย​ของ​ความ​หยิ่ง​ยโส​แม้​แต่​น้อย หรือ​การ​ถือ​ว่า​ตัว​เอง​สำคัญ​ซึ่ง​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​นับ​ไม่​ถ้วน​มัก​จะ​มี. เพื่อ​จะ​เป็น​ผู้​ติด​ตาม​พระ​คริสต์ เรา​ต้อง​ต่อ​สู้​กับ​แนว​โน้ม​ที่​จะ​ยอม​ให้​ความ​หยิ่ง​ครอบ​งำ. (ยาโกโบ 4:6) จำ​ไว้​ว่า พระ​ยะโฮวา​ทรง​เกลียด​ชัง​ความ​หยิ่ง​ยโส. ฉะนั้น นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​เรา​เรียน​รู้​ที่​จะ​เลียน​แบบ​ความ​ถ่อม​ของ​พระ​เยซู.

ประวัติ​ที่​ยาว​นาน​เรื่อง​การ​แสดง​ความ​ถ่อม​ใจ

6. ความ​ถ่อม​ใจ​คือ​อะไร และ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ทราบ​โดย​วิธี​ใด​ว่า​พระ​มาซีฮา​จะ​ถ่อม​พระทัย?

6 ความ​ถ่อม​ใจ​คือ​จิตใจ​อ่อนน้อม ไม่​มี​ความ​จองหอง​หรือ​ความ​หยิ่ง. นี่​เป็น​คุณลักษณะ​ที่​เริ่ม​ต้น​ใน​หัวใจ​และ​แสดง​ออก​ใน​คำ​พูด, ความ​ประพฤติ, และ​ใน​การ​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คน​อื่น. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ทราบ​โดย​วิธี​ใด​ว่า​พระ​มาซีฮา​จะ​ถ่อม​พระทัย? พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​พระ​บุตร​ได้​สะท้อน​แบบ​อย่าง​อัน​สมบูรณ์​พร้อม​ของ​พระองค์​เอง​ใน​เรื่อง​ความ​ถ่อม​พระทัย. (โยฮัน 10:15) นอก​จาก​นี้ พระองค์​ได้​ทรง​เห็น​ความ​ถ่อม​ของ​พระ​บุตร​ใน​การ​กระทำ​ด้วย. เป็น​เช่น​นั้น​อย่าง​ไร?

7-9. (ก) มิคาเอล​ได้​แสดง​ความ​ถ่อม​ใจ​อย่าง​ไร​เมื่อ​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​กับ​ซาตาน? (ข) คริสเตียน​อาจ​เลียน​แบบ​มิคาเอล​ใน​การ​แสดง​ความ​ถ่อม​ใจ​ได้​โดย​วิธี​ใด?

7 พระ​ธรรม​ยูดา​เผย​ให้​เห็น​ตัว​อย่าง​ที่​ตรึง​ใจ​เรื่อง​หนึ่ง​ที่​ว่า “เมื่อ​มิคาเอล​อัครทูตสวรรค์​มี​ข้อ​ขัด​แย้ง​กับ​พญา​มาร​และ​โต้​เถียง​เกี่ยว​กับ​กาย​ของ​โมเซ​นั้น ท่าน​มิ​ได้​บังอาจ​นำ​การ​พิพากษา​มา​สู่​พญา​มาร​ด้วย​คำ​หยาบคาย แต่​ได้​กล่าว​ว่า ‘ขอ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ต่อ​ว่า​เจ้า​เถิด.’” (ยูดา 9, ล.ม.) มิคาเอล​เป็น​ชื่อ​ที่​นำ​มา​ใช้​กับ​พระ​เยซู—ก่อน​และ​หลัง​ชีวิต​ของ​พระองค์​บน​แผ่นดิน​โลก—ใน​บทบาท​ของ​อัครทูตสวรรค์ หรือ​ประมุข​ของ​กองทัพ​ทาง​ภาค​สวรรค์​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​ประกอบ​ด้วย​เหล่า​ทูตสวรรค์. * (1 เธซะโลนิเก 4:16) แต่​ขอ​สังเกต​ว่า​มิคาเอล​ได้​จัด​การ​อย่าง​ไร​เมื่อ​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​เช่น​นี้​กับ​ซาตาน.

8 บันทึก​ของ​ยูดา​ไม่​ได้​บอก​เรา​ว่า​ซาตาน​ต้องการ​ทำ​อะไร​กับ​กาย​ของ​โมเซ แต่​เรา​แน่​ใจ​ได้​ว่า​พญา​มาร​มี​จุด​มุ่ง​หมาย​ที่​ชั่ว​ร้าย​บาง​อย่าง​อยู่​ใน​ความ​คิด. บาง​ที​มัน​อาจ​ต้องการ​ส่ง​เสริม​การ​ใช้​ศพ​ของ​โมเซ​บุรุษ​ผู้​ซื่อ​สัตย์​นั้น​ใน​ทาง​ที่​ผิด​ใน​การ​นมัสการ​เท็จ. ขณะ​ที่​มิคาเอล​ต่อ​ต้าน​แผน​ชั่ว​ของ​ซาตาน ท่าน​ยัง​ได้​แสดง​การ​ควบคุม​ตัว​เอง​อย่าง​น่า​ทึ่ง​ด้วย. ซาตาน​สม​ควร​ได้​รับ​การ​ว่า​กล่าว​ติเตียน​แน่ ๆ แต่​มิคาเอล​ตอน​ที่​กำลัง​โต้​เถียง​กับ​ซาตาน​นั้น​ยัง​ไม่​ได้​รับ​มอบ “การ​พิพากษา​ทั้ง​สิ้น” ท่าน​รู้สึก​ว่า​การ​พิพากษา​เช่น​นั้น​ควร​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​เท่า​นั้น. (โยฮัน 5:22) ใน​ฐานะ​อัครทูตสวรรค์ มิคาเอล​มี​อำนาจ​อัน​ไพศาล. กระนั้น พระองค์​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ความ​ถ่อม​พระทัย​แทน​ที่​จะ​พยายาม​ยึด​อำนาจ​เพิ่ม​ขึ้น. นอก​จาก​ความ​ถ่อม​แล้ว พระองค์​ยัง​แสดง​ความ​เจียม​ตัว หรือ​การ​สำนึก​ถึง​ขีด​จำกัด​ของ​พระองค์​ด้วย.

9 ยูดา​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​ให้​เขียน​เกี่ยว​กับ​เหตุ​การณ์​นี้​ด้วย​เหตุ​ผล​ประการ​หนึ่ง. น่า​เศร้า คริสเตียน​บาง​คน​ใน​สมัย​ของ​ยูดา​ไม่​ถ่อม​ใจ. ด้วย​ความ​หยิ่ง​จองหอง​พวก​เขา “พูด​หยาบคาย​ใน​ทุก​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​มิ​ได้​รู้​จริง ๆ.” (ยูดา 10, ล.ม.) เป็น​เรื่อง​ง่าย​สัก​เพียง​ไร​สำหรับ​เรา​ที่​เป็น​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​จะ​ปล่อย​ให้​ความ​หยิ่ง​เข้า​ครอบ​งำ! เมื่อ​เรา​ไม่​เข้าใจ​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​ได้​จัด​การ​ไป​แล้ว​ใน​ประชาคม​คริสเตียน—บาง​ที​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ตัดสิน​โดย​คณะ​ผู้​ปกครอง—เรา​มี​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร? หาก​เรา​เข้า​ร่วม​ใน​การ​พูด​ติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ ทั้ง ๆ ที่​เรา​ไม่​สามารถ​รู้​ปัจจัย​ทั้ง​หมด​ที่​อยู่​เบื้อง​หลัง​การ​ตัดสิน​นั้น เรา​คง​จะ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ขาด​ความ​ถ่อม​ใจ​มิ​ใช่​หรือ? แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น ให้​เรา​เลียน​แบบ​มิคาเอล หรือ​พระ​เยซู โดย​ละ​เว้น​จาก​การ​ตัดสิน​เรื่อง​ต่าง ๆ ซึ่ง​พระเจ้า​ไม่​ได้​มอบ​อำนาจ​ให้​เรา​ตัดสิน.

10, 11. (ก) มี​อะไร​ที่​โดด​เด่น​เกี่ยว​กับ​การ​ที่​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​เต็ม​พระทัย​ยอม​รับ​งาน​มอบหมาย​ที่​ให้​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก? (ข) เรา​อาจ​เลียน​แบบ​ความ​ถ่อม​ของ​พระ​เยซู​ได้​โดย​วิธี​ใด?

10 พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​ยัง​ได้​แสดง​ความ​ถ่อม​พระทัย​โดย​ยอม​รับ​งาน​มอบหมาย​ที่​จะ​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก. ขอ​พิจารณา​ว่า​พระองค์​ต้อง​ละ​ทิ้ง​อะไร​ไว้​เบื้อง​หลัง​บ้าง. พระองค์​ทรง​เป็น​อัครทูตสวรรค์. พระองค์​ยัง​ทรง​เป็น “พระ​วาทะ”—โฆษก​ของ​พระ​ยะโฮวา. (โยฮัน 1:1-3) พระองค์​ได้​ประทับ​อยู่​ใน​สวรรค์ “ที่​สถิต​อัน​บริสุทธิ์​และ​ทรง​สง่า​ราศี” ของ​พระ​ยะโฮวา. (ยะซายา 63:15) กระนั้น พระ​บุตร “ทรง​สละ​พระองค์​เอง​แล้ว​รับ​สภาพ​ทาส​และ​มา​เป็น​อย่าง​มนุษย์.” (ฟิลิปปอย 2:7, ล.ม.) คิด​ดู​สิ​ว่า​งาน​มอบหมาย​ของ​พระองค์​บน​แผ่นดิน​โลก​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อะไร​บ้าง! ชีวิต​ของ​พระองค์​ได้​รับ​การ​โยกย้าย​ไป​สู่​ครรภ์​ของ​สาว​พรหมจารี​ชาว​ยิว แล้ว​อยู่​ใน​ครรภ์​ตลอด​เก้า​เดือน​เพื่อ​จะ​พัฒนา​ขึ้น​เป็น​ทารก. พระองค์​ประสูติ​เป็น​ทารก​ที่​ช่วย​ตัว​เอง​ไม่​ได้​ใน​ครอบครัว​ของ​ช่าง​ไม้​ผู้​ยาก​จน​และ​ต่อ​จาก​นั้น​ก็​เจริญ​เติบโต​ขึ้น​เป็น​เด็ก​ที่​หัด​เดิน​เตาะแตะ, เป็น​เด็ก​ชาย​ตัว​น้อย ๆ, แล้ว​ก็​เป็น​วัยรุ่น. ถึง​แม้​พระองค์​เอง​เป็น​มนุษย์​สมบูรณ์ ตลอด​ช่วง​วัย​เยาว์ พระองค์​ก็​ยัง​คง​อยู่​ใต้​อำนาจ​บิดา​มารดา​ที่​เป็น​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์. (ลูกา 2:40, 51, 52) ช่าง​เป็น​ความ​ถ่อม​พระทัย​ที่​ไม่​ธรรมดา​เสีย​จริง ๆ!

11 เรา​สามารถ​เลียน​แบบ​ความ​ถ่อม​ของ​พระ​เยซู​โดย​การ​เต็ม​ใจ​ยอม​รับ​หน้า​ที่​มอบหมาย​ใน​การ​รับใช้​ที่​บาง​ครั้ง​ดู​เหมือน​ว่า​ต่ำต้อย​ไหม? ตัว​อย่าง​เช่น งาน​มอบหมาย​ของ​เรา​ใน​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​อาจ​ดู​เหมือน​เป็น​งาน​ต่ำต้อย​เมื่อ​ผู้​คน​ตอบ​สนอง​ด้วย​ความ​เฉยเมย, การ​เยาะเย้ย, หรือ​ความ​เป็น​ปฏิปักษ์. (มัดธาย 28:19, 20) แต่​ถ้า​เรา​อด​ทน​ใน​งาน​นี้ เรา​อาจ​ช่วย​ให้​หลาย​คน​รอด​ชีวิต. ไม่​ว่า​จะ​อย่าง​ไร​ก็​ตาม เรา​จะ​เรียน​รู้​มาก​มาย​เกี่ยว​กับ​ความ​ถ่อม​ใจ และ​เรา​จะ​ดำเนิน​ตาม​รอย​พระ​บาท​ของ​พระ​เยซู​คริสต์ ผู้​เป็น​นาย​ของ​เรา.

ความ​ถ่อม​ของ​พระ​เยซู​ฐานะ​มนุษย์

12-14. (ก) พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ความ​ถ่อม​อย่าง​ไร​เมื่อ​ผู้​คน​สรรเสริญ​พระองค์? (ข) พระ​เยซู​ปฏิบัติ​กับ​คน​อื่น​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใน​ทาง​ใด​บ้าง? (ค) อะไร​แสดง​ว่า​ความ​ถ่อม​ของ​พระ​เยซู​มิ​ใช่​เป็น​เพียง​เรื่อง​ของ​ระเบียบ​แบบ​แผน​หรือ​มารยาท​ที่​ดี?

12 ตั้ง​แต่​ตอน​เริ่ม​ต้น​จน​ถึง​ตอน​จบ งาน​รับใช้​ของ​พระ​เยซู​บน​แผ่นดิน​โลก​มี​ความ​ถ่อม​ใจ​เป็น​ลักษณะ​เด่น. พระองค์​แสดง​ความ​ถ่อม​โดย​ให้​คำ​สรรเสริญ​และ​การ​ยกย่อง​ทั้ง​สิ้น​มุ่ง​ไป​ยัง​พระ​บิดา. บาง​ครั้ง​ผู้​คน​สรรเสริญ​พระ​เยซู​เนื่อง​ด้วย​สติ​ปัญญา​ใน​คำ​ตรัส​ของ​พระองค์, อำนาจ​ทำ​การ​อัศจรรย์​ของ​พระองค์, กระทั่ง​คุณ​ความ​ดี​แห่ง​บุคลิก​ลักษณะ​ของ​พระองค์. ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า พระ​เยซู​ได้​ยก​การ​สรรเสริญ​ที่​พระองค์​ได้​รับ​นั้น​ให้​แก่​พระ​ยะโฮวา.—มาระโก 10:17, 18; โยฮัน 7:15, 16.

13 พระ​เยซู​ได้​แสดง​ความ​ถ่อม​ใน​วิธี​ที่​พระองค์​ทรง​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​คน. ที่​จริง พระองค์​ทรง​ทำ​ให้​ชัด​แจ้ง​ว่า​พระองค์​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก มิ​ใช่​เพื่อ​ได้​รับ​การ​ปรนนิบัติ แต่​มา​เพื่อ​ปรนนิบัติ​คน​อื่น. (มัดธาย 20:28) พระองค์​ได้​สำแดง​ความ​ถ่อม​ใน​การ​ปฏิสัมพันธ์​ที่​อ่อนโยน มี​เหตุ​ผล​กับ​ผู้​คน. เมื่อ​เหล่า​สาวก​ทำ​ให้​พระองค์​ผิด​หวัง พระองค์​ไม่​ได้​ติเตียน​พวก​เขา​อย่าง​รุนแรง; พระองค์​พยายาม​ต่อ​ไป​ที่​จะ​เข้า​ถึง​หัวใจ​พวก​เขา. (มัดธาย 26:39-41) เมื่อ​ฝูง​ชน​ขัด​จังหวะ​ตอน​ที่​พระองค์​เสาะ​หา​ที่​สงบ​เงียบ​เพื่อ​จะ​พักผ่อน​ใน​ที่​ลับ​ตา​คน พระองค์​ก็​มิ​ได้​ไล่​พวก​เขา​ไป; พระองค์​ยัง​คง​ทุ่มเท​ตัว​สั่ง​สอน​พวก​เขา “หลาย​ข้อ​หลาย​ประการ.” (มาระโก 6:30-34) เมื่อ​ผู้​หญิง​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​อิสราเอล​ได้​อ้อน​วอน​พระองค์​ให้​รักษา​ลูก​สาว​ของ​เธอ ที​แรก​พระองค์​บ่ง​ชี้​ว่า​ไม่​ประสงค์​จะ​ทำ​เช่น​นั้น. อย่าง​ไร​ก็​ดี พระองค์​ไม่​ได้​ปฏิเสธ​อย่าง​เกรี้ยวกราด; พระองค์​ทรง​ยอม​ทำ​ตาม​คำ​ขอ​ของ​หญิง​นั้น​เนื่อง​ด้วย​ความ​เชื่อ​อัน​แรง​กล้า​เป็น​พิเศษ​ของ​เธอ ดัง​ที่​เรา​จะ​พิจารณา​ใน​บท 14.—มัดธาย 15:22-28.

14 ใน​วิธี​ต่าง ๆ นับ​ไม่​ถ้วน พระ​เยซู​ทรง​ดำเนิน​ชีวิต​สม​ตาม​ถ้อย​คำ​ที่​พระองค์​ตรัส​ถึง​พระองค์​เอง​ว่า “เรา​มี​จิตใจ​อ่อนโยน​และ​หัวใจ​ถ่อม.” (มัดธาย 11:29, ล.ม.) ความ​ถ่อม​ของ​พระองค์​ใช่​ว่า​เป็น​แบบ​ผิว​เผิน เป็น​เพียง​เรื่อง​ของ​ระเบียบ​แบบ​แผน​หรือ​มารยาท​ที่​ดี แต่​เป็น​สิ่ง​ที่​มา​จาก​หัวใจ จาก​ตัว​ตน​ภาย​ใน​ของ​พระองค์. ฉะนั้น ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​พระ​เยซู​ได้​ให้​ความ​สำคัญ​เป็น​อันดับ​ต้น ๆ ใน​การ​สอน​เหล่า​สาวก​ให้​เป็น​คน​ถ่อม​ใจ!

สอน​เหล่า​สาวก​ให้​ถ่อม​ใจ

15, 16. พระ​เยซู​ทรง​ชี้​ชัด​ถึง​ความ​แตกต่าง​อะไร​ระหว่าง​เจตคติ​ของ​ผู้​ปกครอง​ฝ่าย​โลก​กับ​เจตคติ​ที่​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​ต้อง​ปลูกฝัง?

15 เหล่า​อัครสาวก​ของ​พระ​เยซู​ช้า​ใน​การ​ปลูกฝัง​ความ​ถ่อม​ใจ. พระ​เยซู​จำเป็น​ต้อง​พยายาม​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​เพื่อ​สอน​พวก​เขา​เรื่อง​ความ​ถ่อม​ใจ. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​โอกาส​หนึ่ง​ยาโกโบ​และ​โยฮัน​ได้​ให้​มารดา​ของ​ตน​ทูล​ขอ​พระ​เยซู​ให้​สัญญา​ว่า​จะ​ให้​พวก​เขา​มี​ตำแหน่ง​สูง​ใน​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า. พระ​เยซู​ตรัส​ตอบ​ด้วย​ความ​เจียม​ตัว​ว่า “ซึ่ง​จะ​นั่ง​ข้าง​ขวา​และ​ข้าง​ซ้าย​ของ​เรา​นั้น​ไม่​ใช่​พนักงาน​ของ​เรา​ที่​จะ​จัด​ให้. แต่​พระ​บิดา​ของ​เรา​ได้​ทรง​เตรียม​ไว้​สำหรับ​ผู้​ใด​ก็​จะ​ให้​แก่​ผู้​นั้น.” อัครสาวก​อีก​สิบ​คน “มี​ความ​ขุ่นเคือง” ยาโกโบ​และ​โยฮัน. (มัดธาย 20:20-24) พระ​เยซู​ทรง​จัด​การ​กับ​ปัญหา​นี้​อย่าง​ไร?

16 พระองค์​ทรง​ว่า​กล่าว​พวก​เขา​ทั้ง​หมด​ด้วย​ความ​กรุณา​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​รู้​อยู่​ว่า​ผู้​ครอบครอง​ของ​ชาว​ต่าง​ประเทศ​ย่อม​กดขี่​บังคับ​บัญชา​เขา. และ​ผู้​ใหญ่​ทั้ง​หลาย​ก็​เอา​อำนาจ​เข้า​ข่ม แต่​ใน​พวก​ท่าน​หา​เป็น​อย่าง​นั้น​ไม่. ถ้า​ผู้​ใด​ใคร่​จะ​ได้​เป็น​ใหญ่​ก็​ให้​ผู้​นั้น​เป็น​ผู้​ปรนนิบัติ​ท่าน​ทั้ง​หลาย. ถ้า​ผู้​ใด​ใคร่​จะ​ได้​เป็น​เอก​เป็น​ต้น​ก็​ให้​ผู้​นั้น​เป็น​ทาส​ของ​พวก​ท่าน.” (มัดธาย 20:25-27) พวก​อัครสาวก​คง​ได้​เห็น​แล้ว​ว่า “ผู้​ครอบครอง​ของ​ชาว​ต่าง​ประเทศ” หยิ่ง​ยโส, ทะเยอทะยาน, และ​เห็น​แก่​ตัว​สัก​เพียง​ไร. พระ​เยซู​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​สาวก​ของ​พระองค์​ต้อง​ต่าง​จาก​บรรดา​ผู้​กดขี่​ที่​กระหาย​อำนาจ. พวก​เขา​ต้อง​เป็น​คน​ถ่อม​ใจ. เหล่า​อัครสาวก​เข้าใจ​จุด​สำคัญ​ใน​เรื่อง​นี้​ไหม?

17-19. (ก) ใน​คืน​ก่อน​พระองค์​สิ้น​พระ​ชนม์ พระ​เยซู​ทรง​สอน​บทเรียน​เรื่อง​ความ​ถ่อม​ใจ​โดย​วิธี​ใด​ที่​ยาก​จะ​ลืม​เลือน? (ข) อะไร​คือ​บทเรียน​ที่​มี​พลัง​มาก​ที่​สุด​ใน​เรื่อง​ความ​ถ่อม​ใจ​ที่​พระ​เยซู​ได้​สอน​ฐานะ​เป็น​มนุษย์?

17 ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​สำหรับ​พวก​เขา. นี่​ไม่​ใช่​ครั้ง​แรก​และ​ครั้ง​สุด​ท้าย​ที่​พระ​เยซู​ได้​สอน​บทเรียน​ดัง​กล่าว. ก่อน​หน้า​นั้น เมื่อ​พวก​เขา​โต้​เถียง​กัน​ว่า​ใคร​เป็น​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​พวก​เขา พระองค์​ทรง​ให้​เด็ก​เล็ก ๆ คน​หนึ่ง​มา​ยืน​อยู่​ท่ามกลาง​พวก​เขา​แล้ว​รับสั่ง​พวก​เขา​ให้​ทำ​ตัว​เหมือน​เด็ก​มาก​ขึ้น เพราะ​เด็ก​มัก​จะ​ไม่​มี​ความ​หยิ่ง​ทะนง, ความ​ทะเยอทะยาน, และ​ความ​กังวล​เรื่อง​ฐานะ​ตำแหน่ง​อย่าง​ที่​เป็น​เรื่อง​ปกติ​ธรรมดา​มาก​ใน​ท่ามกลาง​ผู้​ใหญ่. (มัดธาย 18:1-4) ถึง​กระนั้น ใน​คืน​ก่อน​พระองค์​สิ้น​พระ​ชนม์ พระองค์​ทรง​เห็น​ว่า​พวก​อัครสาวก​ยัง​คง​ต่อ​สู้​กับ​ความ​หยิ่ง. ครั้น​แล้ว พระองค์​ทรง​สอน​บทเรียน​ที่​ยาก​จะ​ลืม​เลือน​แก่​พวก​เขา. พระองค์​ทรง​เอา​ผ้า​เช็ด​ตัว​คาด​เอว​แล้ว​ทำ​หน้า​ที่​การ​งาน​ต่ำ​ที่​สุด งาน​ที่​คน​ใช้​ใน​สมัย​โน้น​ทำ​ให้​แขก​ของ​ครอบครัว. พระ​เยซู​ทรง​ล้าง​เท้า​ของ​อัครสาวก​แต่​ละ​คน รวม​ทั้ง​ยูดา​อิศการิโอด​ผู้​ซึ่ง​กำลัง​จะ​ทรยศ​พระองค์!—โยฮัน 13:1-11.

18 พระ​เยซู​ได้​ช่วย​พวก​เขา​ให้​เข้าใจ​จุด​สำคัญ​เกี่ยว​กับ​ความ​ถ่อม​ใจ​เมื่อ​ตรัส​แก่​พวก​เขา​ว่า “เรา​ได้​วาง​แบบ​อย่าง​ให้​แก่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​แล้ว.” (โยฮัน 13:15) ใน​ที่​สุด​บทเรียน​นี้​ได้​เข้า​ถึง​หัวใจ​พวก​เขา​ไหม? ที่​จริง ต่อ​มา​ใน​คืน​นั้น พวก​เขา​ก็​ยัง​โต้​เถียง​กัน​อีก​ใน​เรื่อง​ที่​ว่า​ใคร​ใหญ่​ที่​สุด​ท่ามกลาง​พวก​เขา! (ลูกา 22:24-27) กระนั้น พระ​เยซู​ยัง​คง​อด​ทน​กับ​พวก​เขา​ต่อ​ไป​และ​สอน​พวก​เขา​ด้วย​ความ​ถ่อม. ต่อ​จาก​นั้น​พระองค์​ทรง​ให้​บทเรียน​ที่​มี​พลัง​มาก​ที่​สุด​ใน​บรรดา​บทเรียน​ทั้ง​หมด: “พระองค์​ทรง​ถ่อม​พระองค์ และ​ยอม​เชื่อ​ฟัง​จน​ถึง​ความ​มรณา คือ​ความ​มรณา​บน​หลัก​ทรมาน.” (ฟิลิปปอย 2:8, ล.ม.) พระ​เยซู​เต็ม​พระทัย​ยอม​รับ​ความ​ตาย​ที่​น่า​อัปยศ​อดสู ถูก​ตรา​หน้า​อย่าง​ผิด ๆ ว่า​เป็น​อาชญากร​และ​ผู้​หมิ่น​ประมาท​พระเจ้า. โดย​วิธี​นี้​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​ได้​พิสูจน์​ว่า​ไม่​มี​ใคร​เสมอ​เหมือน เพราะ​ใน​บรรดา​สรรพสิ่ง​ทรง​สร้าง​ของ​พระ​ยะโฮวา พระ​เยซู​ได้​แสดง​ความ​ถ่อม​อย่าง​ไม่​ขาด​ตก​บกพร่อง​และ​ใน​ระดับ​สูง​สุด.

19 บาง​ที​อาจ​เป็น​บทเรียน​นี้​แหละ—บทเรียน​สุด​ท้าย​ใน​เรื่อง​ความ​ถ่อม​ใจ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​สอน​ฐานะ​เป็น​มนุษย์—ได้​ทำ​ให้​เรื่อง​ความ​ถ่อม​ใจ​ติด​ตรึง​อยู่​ใน​หัวใจ​ของ​เหล่า​อัครสาวก​ผู้​ซื่อ​สัตย์​อย่าง​ที่​ไม่​มี​วัน​ลบ​เลือน. คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​เรา​ว่า ผู้​ชาย​เหล่า​นี้​ทำ​งาน​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ​เป็น​เวลา​หลาย​ปี กระทั่ง​หลาย​สิบ​ปี​ต่อ​มา. ส่วน​พวก​เรา​เป็น​อย่าง​ไร?

คุณ​จะ​ดำเนิน​ตาม​แบบ​อย่าง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​วาง​ไว้​ไหม?

20. เรา​จะ​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​เรา​มี​หัวใจ​ถ่อม​หรือ​ไม่?

20 เปาโล​เตือน​เรา​แต่​ละ​คน​ว่า “จง​รักษา​เจตคติ​อย่าง​นี้​ไว้​ใน​ตัว​ท่าน​ซึ่ง​เจตคติ​อย่าง​นี้​ก็​มี​อยู่​ใน​พระ​คริสต์​เยซู​ด้วย.” (ฟิลิปปอย 2:5, ล.ม.) เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู เรา​ต้อง​เป็น​คน​ถ่อม​ใจ. เรา​จะ​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​ความ​ถ่อม​มี​อยู่​ใน​หัวใจ​ของ​เรา​หรือ​ไม่? ขอ​พิจารณา​เรื่อง​นี้ เปาโล​เตือน​เรา​ให้​ระลึก​ว่า เรา​ไม่​ควร “ทำ​สิ่ง​ใด​เพราะ​ชอบ​ทุ่มเถียง​หรือ​เพราะ​ถือ​ดี แต่​ด้วย​จิตใจ​อ่อนน้อม​ถือ​ว่า​คน​อื่น​ดี​กว่า​ตัว.” (ฟิลิปปอย 2:3, ล.ม.) ดัง​นั้น คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​นี้​ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​เรา​มอง​ดู​คน​อื่น​อย่าง​ไร​เมื่อ​เทียบ​กับ​ตัว​เรา​เอง. เรา​ต้อง​มอง​ว่า​เขา​ดี​กว่า สำคัญ​กว่า​เรา. คุณ​จะ​เอา​คำ​แนะ​นำ​นี้​มา​ใช้​ไหม?

21, 22. (ก) ทำไม​คริสเตียน​ผู้​ดู​แล​ต้อง​เป็น​คน​ถ่อม​ใจ? (ข) เรา​จะ​แสดง​ว่า​เรา​คาด​เอว​ไว้​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ​โดย​วิธี​ใด?

21 หลาย​ปี​ภาย​หลัง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู อัครสาวก​เปโตร​ยัง​คง​คิด​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​ความ​ถ่อม​ใจ. เปโตร​ได้​สอน​คริสเตียน​ผู้​ดู​แล​ให้​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​ของ​ตน​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ ไม่​ปฏิบัติ​เหมือน​เจ้านาย​ที่​กดขี่​ฝูง​แกะ​ของ​พระเจ้า. (1 เปโตร 5:2, 3) หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ไม่​ใช่​ข้อ​แก้​ตัว​สำหรับ​ความ​หยิ่ง. ตรง​กัน​ข้าม หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ทำ​ให้​จำเป็น​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​มี​ความ​ถ่อม​ใจ​แท้. (ลูกา 12:48) แน่นอน คุณลักษณะ​นี้​สำคัญ​ไม่​เฉพาะ​แต่​ผู้​ดู​แล​เท่า​นั้น แต่​สำหรับ​คริสเตียน​ทุก​คน.

22 เปโตร​คง​ไม่​ลืม​คืน​นั้น​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ล้าง​เท้า​ให้​ท่าน แม้​ว่า​เปโตร​เอง​จะ​คัดค้าน! (โยฮัน 13:6-10) เปโตร​ได้​เขียน​ถึง​คริสเตียน​ว่า “ให้​คน​ทั้ง​ปวง​คาด​เอว​ไว้​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ.” (1 เปโตร 5:5) คำ​ว่า “คาด​เอว” ชวน​ให้​คิด​ถึง​การ​กระทำ​ของ​คน​ใช้​ซึ่ง​จะ​คาด​เอว​ด้วย​ผ้า​กัน​เปื้อน​เพื่อ​จะ​ทำ​งาน​ที่​ต่ำต้อย. วลี​นี้​อาจ​จะ​ทำ​ให้​เรา​ระลึก​ถึง​โอกาส​ที่​พระ​เยซู​ทรง​เอา​ผ้า​เช็ด​ตัว​คาด​เอว​พระองค์​ก่อน​จะ​คุกเข่า​ลง​เพื่อ​ล้าง​เท้า​พวก​สาวก. หาก​เรา​ดำเนิน​ตาม​พระ​เยซู เรา​จะ​ถือ​ว่า​งาน​ใด ๆ ที่​ได้​รับ​มอบหมาย​จาก​พระเจ้า​ไม่​คู่​ควร​กับ​ศักดิ์ศรี​ของ​เรา​ไหม? ความ​ถ่อม​ใน​หัวใจ​ของ​เรา​ควร​จะ​เป็น​สิ่ง​ที่​ประจักษ์​แจ้ง​แก่​คน​ทั้ง​ปวง ประหนึ่ง​ว่า​เรา​คาด​เอว​ไว้​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ.

23, 24. (ก) ทำไม​เรา​ควร​ต้านทาน​แนว​โน้ม​ใด ๆ ที่​จะ​เป็น​คน​หยิ่ง​ยโส? (ข) บท​ถัด​ไป​จะ​ช่วย​แก้​ความ​คิด​ที่​ผิด​เช่น​ไร​ใน​เรื่อง​ความ​ถ่อม​ใจ?

23 ความ​หยิ่ง​ยโส​เป็น​เหมือน​ยา​พิษ และ​อาจ​ก่อ​ผล​เสียหาย​ได้. ความ​หยิ่ง​อาจ​ทำ​ให้​คน​ที่​มี​ความ​สามารถ​มาก​ที่​สุด​กลาย​เป็น​คน​ไร้​ค่า​สำหรับ​พระเจ้า​ได้. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง ความ​ถ่อม​ใจ​อาจ​ทำ​ให้​กระทั่ง​คน​ที่​มี​ความ​สามารถ​น้อย​ที่​สุด​เป็น​คน​ที่​มี​ค่า​มาก​สำหรับ​พระ​ยะโฮวา. หาก​เรา​ปลูกฝัง​คุณลักษณะ​อัน​ล้ำ​ค่า​นี้​ทุก​วัน​โดย​พยายาม​ดำเนิน​ตาม​รอย​พระ​บาท​ของ​พระ​คริสต์​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ ก็​มี​บำเหน็จ​อัน​ยอด​เยี่ยม​ที่​จะ​ใคร่ครวญ​ดู. เปโตร​ได้​เขียน​ว่า “เหตุ​ฉะนั้น​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​ถ่อม​ใจ​ลง​ใต้​พระ​หัตถ์​อัน​ทรง​ฤทธิ์​ของ​พระเจ้า, เพื่อ​พระองค์​จะ​ได้​ทรง​ยก​ท่าน​ขึ้น​ใน​เวลา​อัน​ควร.” (1 เปโตร 5:6) แน่นอน​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยก​พระ​เยซู​ขึ้น​เนื่อง​ด้วย​พระ​เยซู​ถ่อม​พระองค์​อย่าง​ครบ​ถ้วน​จริง ๆ. พระเจ้า​ของ​เรา​จะ​ทรง​ยินดี​เช่น​กัน​ที่​จะ​ประทาน​บำเหน็จ​ให้​คุณ​เนื่อง​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ​ของ​คุณ.

24 น่า​เสียดาย บาง​คน​คิด​ว่า​ความ​ถ่อม​ใจ​เป็น​เครื่องหมาย​แสดง​ถึง​ความ​อ่อนแอ. ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​ช่วย​เรา​เห็น​ว่า​ความ​คิด​เช่น​นั้น​ไม่​ถูก​ต้อง​สัก​เพียง​ไร เพราะ​ผู้​ที่​ถ่อม​ใจ​มาก​ที่​สุด​ใน​บรรดา​มนุษย์​ก็​เป็น​คน​ที่​กล้า​หาญ​มาก​ที่​สุด​ด้วย. นี่​จะ​เป็น​เนื้อหา​สาระ​ของ​บท​ถัด​ไป.

^ วรรค 3 ใน​การ​พิจารณา​เหตุ​การณ์​นี้ แหล่ง​อ้างอิง​หนึ่ง​กล่าว​ว่า สัตว์​เหล่า​นี้ “เป็น​สัตว์​ต่ำต้อย” และ​กล่าว​เสริม​ว่า “พวก​มัน​เชื่อง​ช้า, ดื้อ​รั้น, มัก​เป็น​สัตว์​ใช้​ของ​คน​จน, และ​ไม่​สง่า​งาม.”

^ วรรค 7 สำหรับ​หลักฐาน​เพิ่ม​ขึ้น​ที่​ว่า​มิคาเอล​คือ​พระ​เยซู โปรด​ดู​หนังสือ​คัมภีร์​ไบเบิล​สอน​อะไร​จริง​ ๆ? หน้า 218-219 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.