บท 6
สเทเฟน—“คนที่พระเจ้าพอใจมากและได้รับพลังจากพระองค์”
เรียนจากการที่สเทเฟนประกาศอย่างกล้าหาญ ต่อหน้าสภาแซนเฮดริน
จากกิจการ 6:8–8:3
1-3. (ก) สเทเฟนเจอกับเหตุการณ์ที่น่ากลัวอะไร แต่เขารู้สึกยังไงกับเหตุการณ์นั้น? (ข) เราจะคุยกันเกี่ยวกับคำถามอะไรบ้าง?
สเทเฟนยืนอยู่ต่อหน้าศาล เขายืนอยู่ในอาคารที่สง่างามซึ่งน่าจะอยู่ใกล้วิหารในกรุงเยรูซาเล็ม ในศาลนี้มีผู้ชาย 71 คนนั่งกันเป็นครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ ศาลที่ว่านี้ก็คือสภาแซนเฮดริน พวกเขาจัดการประชุมกันในวันนี้เพื่อพิพากษาสเทเฟน พวกผู้พิพากษาเป็นคนที่มีอำนาจและมีอิทธิพล พวกเขาส่วนใหญ่ไม่นับถือสาวกคนนี้ของพระเยซู ที่จริง ผู้ชายที่เรียกพวกผู้พิพากษามาประชุมกันก็คือมหาปุโรหิตเคยาฟาส มหาปุโรหิตคนนี้เคยเป็นประธานตอนที่สภาแซนเฮดรินตัดสินประหารชีวิตพระเยซูเมื่อหลายเดือนก่อน สเทเฟนกลัวไหม?
2 มีบางอย่างที่น่าทึ่งเกี่ยวกับสีหน้าของสเทเฟน พวกผู้พิพากษาจ้องดูสเทเฟนและเห็นว่าหน้าเขา “เหมือนหน้าทูตสวรรค์” (กจ. 6:15) พวกทูตสวรรค์นำข่าวสารมาจากพระยะโฮวาพระเจ้า พวกเขาจึงมีเหตุผลที่จะรู้สึกสงบและไม่กลัว สเทเฟนก็รู้สึกอย่างนั้นแหละ แม้แต่พวกผู้พิพากษาที่เกลียดชังเขาก็สังเกตว่าเขาไม่กลัว สเทเฟนรู้สึกสงบใจขนาดนั้นได้ยังไง?
3 คริสเตียนในทุกวันนี้สามารถเรียนหลายอย่างจากคำตอบของคำถามนี้ นอกจากนั้น เรายังต้องรู้ด้วยว่าอะไรทำให้สเทเฟนเจอกับเรื่องนี้? ก่อนหน้านี้เขาได้ปกป้องความเชื่อของเขายังไง? และเราจะเลียนแบบเขาได้ยังไง?
“พวกเขายุยงประชาชน” (กิจการ 6:8-15)
4, 5. (ก) ทำไมสเทเฟนถึงเป็นคนหนึ่งที่ช่วยประชาคมคริสเตียนได้มาก? (ข) ในแง่ไหนที่สเทเฟน “เป็นคนที่พระเจ้าพอใจมากและได้รับพลังจากพระองค์”?
4 เราได้เรียนมาแล้วว่าสเทเฟนเป็นคนหนึ่งที่ช่วยประชาคมคริสเตียนที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ได้มาก ในบทก่อนของหนังสือเล่มนี้ เราเห็นว่าเขาอยู่ในกลุ่มผู้ชายถ่อม 7 คนที่เต็มใจช่วยเหลืออัครสาวก ความถ่อมตัวของเขาเป็นเรื่องน่าทึ่งมากขึ้นเมื่อเราคิดถึงสิ่งที่พระเจ้าให้กับผู้ชายคนนี้ ในกิจการ 6:8 บอกว่า สเทเฟนสามารถ “ทำการอัศจรรย์และแสดงปาฏิหารย์หลายอย่าง” เหมือนกับที่อัครสาวกบางคนได้ทำ นอกจากนี้ ในคัมภีร์ไบเบิลยังบอกด้วยว่าเขา “เป็นคนที่พระเจ้าพอใจมากและได้รับพลังจากพระองค์” คำพูดนี้หมายความว่าอะไร?
5 คำกรีกที่แปลว่า “พระเจ้าพอใจมาก” อาจแปลได้ว่า “กรุณา” เห็นได้ชัดว่า สเทเฟนเป็นคนที่กรุณาและอ่อนโยนซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้ดึงดูดใจผู้คนให้มาหาเขา เขาพูดโน้มน้าวใจผู้ฟังหลายคน ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นว่าเขาเป็นคนจริงใจ และความจริงที่เขาสอนนั้นเป็นประโยชน์ เขาได้รับพลังจากพระเจ้าเพราะเขาถ่อมตัวและยอมให้พลังของพระเจ้าชี้นำชีวิตของเขา สเทเฟนไม่อวดว่าเขามีความสามารถหลายอย่าง แต่เขาทำทุกสิ่งเพื่อให้พระยะโฮวาได้รับการยกย่องสรรเสริญ นอกจากนั้น สเทเฟนยังเป็นห่วงเป็นใยผู้คนที่เขาคุยด้วย เมื่อคิดถึงเรื่องเหล่านี้ เราจึงไม่แปลกใจเลยที่พวกผู้ต่อต้านจะมองว่าสเทเฟนเป็นภัยคุกคามศาสนาของพวกเขา
6-8. (ก) ผู้ต่อต้านสเทเฟนได้กล่าวหาเขาว่าทำผิดสองกระทงอะไร และทำไมพวกเขาถึงกล่าวหาแบบนั้น? (ข) ทำไมตัวอย่างของสเทเฟนถึงเป็นประโยชน์สำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้?
6 ถึงแม้จะมีหลายคนโต้แย้งกับสเทเฟน แต่ “คนพวกนี้ไม่สามารถหักล้างคำพูดของสเทเฟนได้ เพราะเขาพูดด้วยสติปัญญาและพลังจากพระเจ้า” a พอเห็นว่าโต้แย้งไม่ได้ พวกเขา “เลยแอบยุ” บางคนให้พยายามใส่ความสาวกที่ไม่มีความผิดคนนี้ของพระเยซู พวกเขายังได้ “ยุยงประชาชน” พวกผู้นำ และครูสอนศาสนา เพื่อจะจับกุมสเทเฟนและนำตัวไปอยู่ต่อหน้าสภาแซนเฮดริน (กจ. 6:9-12) ผู้ต่อต้านได้กล่าวหาสเทเฟนว่ามีความผิดสองกระทง คือ เขาหมิ่นประมาททั้งพระเจ้าและโมเสส ในทางใดบ้าง?
7 ผู้ต่อต้านได้กล่าวหาผิด ๆ ว่าสเทเฟนหมิ่นประมาทพระเจ้า โดยพูดจาดูหมิ่น “สถานบริสุทธิ์” ซึ่งก็คือวิหารในกรุงเยรูซาเล็ม (กจ. 6:13) นอกจากนั้น พวกเขายังกล่าวหาว่าสเทเฟนเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมที่โมเสสสอน โดยพูดคัดค้านกฎหมายของโมเสส และไม่นับถือโมเสส นี่เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง เพราะชาวยิวในตอนนั้นให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องวิหาร กฎหมายของโมเสส และธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เพิ่มเข้ามาในกฎหมายนั้น ดังนั้น ดูเหมือนพวกผู้ต่อต้านกำลังบอกว่า สเทเฟนเป็นภัยคุกคามศาสนาของพวกเขา และเขาสมควรตาย
8 น่าเศร้าที่ได้รู้ว่าจนถึงทุกวันนี้ พวกผู้คนที่เคร่งศาสนายังใช้วิธีเดิมเพื่อก่อความยุ่งยากให้กับผู้รับใช้ของพระเจ้า บางครั้งผู้ต่อต้านทางศาสนาได้ยุยงพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลให้ข่มเหงพยานพระยะโฮวา เราควรมีท่าทียังไงเมื่อต้องถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ? เราทุกคนสามารถเรียนหลายอย่างได้จากสเทเฟน
ประกาศอย่างกล้าหาญเกี่ยวกับ “พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่” (กิจการ 7:1-53)
9, 10. พวกนักวิจารณ์ได้โจมตีคำพูดของสเทเฟนต่อหน้าสภาแซนเฮดรินยังไง และเราต้องจำอะไรไว้?
9 เหมือนที่เราได้เห็นตอนต้นของบทนี้ ตอนฟังข้อกล่าวหาเกี่ยวกับตัวเขา หน้าของสเทเฟนสงบเหมือนหน้าของทูตสวรรค์ ตอนนี้เคยาฟาสหันมาทางเขาแล้วพูดว่า “เรื่องเป็นอย่าง นั้นจริงไหม?” (กจ. 7:1) ตอนนี้ถึงเวลาที่สเทเฟนจะเป็นฝ่ายพูด และเขาก็พูดด้วยความกล้าหาญ
10 นักวิจารณ์บางคนได้โจมตีคำพูดของสเทเฟน พวกเขาบอกว่า ถึงแม้คำพูดนี้จะดูยืดยาว แต่ก็ไม่ได้ตอบข้อกล่าวหาอะไรเลยเกี่ยวกับตัวเขา ที่จริง สเทเฟนได้วางตัวอย่างที่ดีเยี่ยมสำหรับเราว่าจะ “อธิบาย” หรือปกป้องข่าวดีที่เราประกาศยังไง (1 ปต. 3:15) ขอจำไว้ว่าสเทเฟนถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้าโดยพูดดูหมิ่นวิหาร และหมิ่นประมาทโมเสสโดยพูดคัดค้านกฎหมายของโมเสส เพื่อตอบข้อกล่าวหาของพวกเขา สเทเฟนพูดถึงประวัติศาสตร์อิสราเอล 3 ช่วง เขาได้เน้นบางจุดอย่างระมัดระวัง ให้เรามาดูประวัติศาสตร์นี้ทีละช่วง
11, 12. (ก) ทำไมสเทเฟนถึงใช้ตัวอย่างของอับราฮัม? (ข) ทำไมสเทเฟนจึงพูดถึงโยเซฟด้วย?
11 ยุคของบรรพบุรุษต้นตระกูล (กจ. 7:1-16) สเทเฟนเริ่มต้นโดยพูดเรื่องอับราฮัมผู้ที่ชาวยิวนับถือเพราะเขามีความเชื่อ เขาพูดเรื่องสำคัญที่ผู้คนเห็นพ้องด้วย สเทเฟนได้เน้นว่า พระยะโฮวา “พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่” ได้ปรากฏต่ออับราฮัมตอนที่เขาอยู่ในเมโสโปเตเมีย (กจ. 7:2) ที่จริง อับราฮัมเป็นคนต่างชาติในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา เขาไม่มีทั้งวิหารและกฎหมายของโมเสส ดังนั้น จึงไม่มีใครบอกได้ว่าพวกเขาต้องมีวิหารของพระเจ้าหรือกฎหมายของโมเสสเพื่อจะรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าได้
12 โยเซฟลูกหลานของอับราฮัมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ผู้ฟังของสเทเฟนให้ความนับถืออย่างมาก แต่สเทเฟนเตือนพวกเขาให้รู้ว่า พวกพี่ชายแท้ ๆ ของโยเซฟซึ่งเป็นต้นตระกูลของอิสราเอลตระกูลต่าง ๆ ได้ข่มเหงโยเซฟแล้วขายเขาไปเป็นทาส แต่ถึงอย่างนั้น โยเซฟได้กลายมาเป็นคนที่พระเจ้าใช้เพื่อช่วยชาวอิสราเอลให้รอดจากการขาดแคลนอาหาร สเทเฟนคงเห็นชัดว่าเรื่องของโยเซฟคล้ายกันกับเรื่องของพระเยซูคริสต์ แต่เขาก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เพื่อผู้ฟังจะฟังเขาต่อไปมากเท่าที่จะเป็นไปได้
13. การพูดถึงเรื่องโมเสสช่วยตอบข้อกล่าวหาที่มีต่อสเทเฟนยังไง และเรื่องนี้ช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจอะไร?
13 สมัยของโมเสส (กจ. 7:17-43) สเทเฟนใช้เวลามากเพื่อพูดถึงโมเสส นั้นเป็นวิธีที่ฉลาด เนื่องจากสมาชิกหลายคนของสภาแซนเฮดรินเป็นพวกสะดูสี คนพวกนี้ไม่ยอมรับหนังสือเล่มอื่น ๆ ทั้งหมดของคัมภีร์ไบเบิล ยกเว้นหนังสือที่เขียนโดยโมเสส นอกจากนี้ เราจำได้ว่าพวกผู้ต่อต้านได้กล่าวหาว่าสเทเฟนหมิ่นประมาท โมเสส ดังนั้น คำพูดของเขาจึงสามารถตอบข้อกล่าวหานั้นโดยตรง เพราะเขาแสดงให้เห็นว่าเขานับถือโมเสสและกฎหมายที่โมเสสเขียน (กจ. 7:38) เขาได้บอกว่า โมเสสก็เคยถูกปฏิเสธจากคนที่เขาพยายามช่วยให้รอด คนเหล่านั้นปฏิเสธโมเสสตอนที่เขาอายุ 40 ปี และหลังจากนั้นอีก 40 ปี พวกเขาได้กบฏต่อต้านโมเสสอีกหลายครั้ง b โดยวิธีนี้ สเทเฟนค่อย ๆ ช่วยให้ผู้ฟังเห็นว่าประชาชนของพระเจ้าได้ทำบางสิ่ง พวกเขาปฏิเสธผู้นำที่พระยะโฮวาแต่งตั้ง
14. การใช้ตัวอย่างของโมเสสช่วยให้สเทเฟนเน้นจุดสำคัญอะไรบ้าง?
14 สเทเฟนเตือนผู้ฟังให้คิดว่า โมเสสได้บอกล่วงหน้าไว้ว่าจะมีผู้พยากรณ์อย่างโมเสสในชาติอิสราเอล ผู้พยากรณ์คนนี้จะเป็นใคร และจะมีการต้อนรับท่านยังไง? สเทเฟนเก็บคำตอบไว้ในคำลงท้ายของเขา นอกจากนั้น สเทเฟนได้พูดถึงจุดสำคัญอีกอย่างหนึ่ง โมเสสได้รู้ว่าพื้นดินไม่ว่าจะที่ไหนก็อาจเป็นที่บริสุทธิ์ได้ เหมือนกับเหตุการณ์เปลวไฟที่พุ่มหนามที่เกิดขึ้น ที่นั่นเป็นที่ที่พระยะโฮวาพูดกับโมเสส ดังนั้น การนมัสการพระยะโฮวาจะจำกัดอยู่ในอาคารหลังเดียว เช่น ที่วิหารในกรุงเยรูซาเล็มไหม? ให้เรามาดูกัน
15, 16. (ก) ทำไมการพูดถึงเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นส่วนสำคัญในการหาเหตุผลของสเทเฟน? (ข) สเทเฟนใช้วิหารของโซโลมอนในการหาเหตุผลยังไง?
15 เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์และวิหาร (กจ. 7:44-50) สเทเฟนได้เตือนศาลนั้นให้คิดว่า ก่อนจะมีวิหารในเยรูซาเล็ม พระเจ้าได้สั่งให้โมเสสสร้างเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ เต็นท์นี้เป็นสถานที่นมัสการที่เคลื่อนย้ายได้คงไม่มีใครกล้าโต้แย้งว่าเต็นท์นี้มีค่าน้อยกว่าวิหาร เพราะโมเสสเองก็ได้นมัสการที่นั่น
16 ต่อมา เมื่อโซโลมอนสร้างวิหารในกรุงเยรูซาเล็ม เขาได้รับการดลใจให้พูดถึงบทเรียนที่สำคัญอย่างหนึ่งในคำอธิษฐานของเขา สเทเฟนอ้างถึงคำอธิษฐานนั้น เขาบอกว่า “พระเจ้าองค์สูงสุดก็ไม่ได้อยู่ในวิหารที่มนุษย์เป็นคนสร้าง” (กจ. 7:48; 2 พศ. 6:18) พระยะโฮวาอาจใช้วิหารเพื่อทำให้ความประสงค์ของพระองค์สำเร็จ แต่พระองค์ก็สามารถทำให้ทุกอย่างสำเร็จโดยไม่ต้องมีวิหาร ดังนั้น ผู้นมัสการพระเจ้าไม่ควรคิดว่า ต้องมีวิหารซึ่งเป็นอาคารที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อจะนมัสการพระเจ้าได้ สเทเฟนได้ปิดคำลงท้ายอย่างมีพลังโดยยกข้อความจากหนังสืออิสยาห์ขึ้นมา เขาบอกว่า “พระยะโฮวาพูดว่า ‘สวรรค์เป็นบัลลังก์ของเรา ส่วนโลกก็เป็นที่วางเท้าของเรา ถ้าอย่างนั้น วิหารที่เจ้าคิดจะสร้างให้เรานั้นจะอยู่ที่ไหน? และจะให้เราอยู่ที่ไหนดีล่ะ เราเองเป็นผู้สร้างสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด’”—กจ. 7:49, 50; อสย. 66:1, 2
17. คำพูดของสเทเฟน (ก) ทำให้เห็นชัดเจนยังไงถึงความคิดของผู้ฟัง? (ข) ตอบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับตัวเขาเองยังไง?
17 เมื่อคิดถึงสิ่งที่สเทเฟนพูดมาจนถึงตอนนี้ เราคงเห็นด้วยว่า สเทเฟนแสดงให้เห็นชัดเจนว่าคนที่กล่าวหาเขามีความคิดที่ผิด สเทเฟนแสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่ยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยน เพื่อทำให้ความประสงค์ของพระองค์สำเร็จในวิธีที่แตกต่างกันไป พระองค์ไม่ได้ถูก ควบคุมโดยสถานการณ์หรือธรรมเนียมต่าง ๆ ผู้ฟังสเทเฟนรักวิหารที่สวยงามในเยรูซาเล็ม และชอบธรรมเนียมต่าง ๆ ที่พวกเขาเพิ่มขึ้นมาจากกฎหมายของโมเสส แต่พวกเขาไม่เข้าใจว่าทำไมพระยะโฮวาถึงให้กฎหมายนั้น และทำไมพระองค์ถึงให้มีการสร้างวิหารขึ้น จากคำพูดของสเทเฟน เหมือนเขากำลังถามคำถามที่สำคัญว่า การเชื่อฟังพระยะโฮวาเป็นวิธีที่ดีที่สุดไม่ใช่เหรอเพื่อจะแสดงว่าคุณให้เกียรติและนับถือกฎหมายของโมเสส? จากคำพูดของสเทเฟนทำให้เห็นว่า เขาไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะเขาพยายามเชื่อฟังกฎหมายของพระยะโฮวามากเท่าที่ทำได้
18. เราสามารถเลียนแบบสเทเฟนได้ยังไงบ้าง?
18 เราเรียนอะไรได้จากคำพูดของสเทเฟน? เขารู้จักคุ้นเคยกับพระคัมภีร์เป็นอย่างดี พวกเราก็เหมือนกัน เราต้องศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างจริงจัง เพื่อจะสามารถใช้ “ถ้อยคำของพระองค์ที่เป็นความจริงอย่างถูกต้อง” (2 ทธ. 2:15) นอกจากนั้น เราสามารถเรียนเรื่องความกรุณาและการผ่อนหนักผ่อนเบาได้จากสเทเฟน ถึงแม้ผู้ฟังจะไม่ชอบเขามาก ๆ แต่เท่าที่ทำได้ สเทเฟนพยายามพูดถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน และสิ่งที่ผู้ฟังให้ความนับถืออย่างมาก นอกจากนั้น สเทเฟนยังพูดด้วยความนับถือด้วย โดยเรียกพวกเขาว่า “ผู้อาวุโส” (กจ. 7:2) พวกเราก็เหมือนกัน เราต้องสอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิลด้วยความ “สุภาพและด้วยความนับถือจากใจ”—1 ปต. 3:15
19. สเทเฟนบอกข่าวสารการพิพากษาของพระยะโฮวาด้วยความกล้าหาญต่อสภาแซนเฮดรินยังไง?
19 อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลังเลที่จะแบ่งปันความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแค่เพราะเรากลัวว่าจะทำให้ผู้คนขุ่นเคือง และเราจะไม่ทำให้ข่าวสารการพิพากษาของพระยะโฮวาอ่อนลง สเทเฟนเป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาเห็นชัดเจนว่าหลักฐานต่าง ๆ ที่เขาพูดต่อสภาแซนเฮดรินไม่ได้ทำให้พวกผู้พิพากษาที่หยิ่งจองหองเหล่านั้นเปลี่ยนแปลง แต่ถึงอย่างนั้น สเทเฟนได้รับการกระตุ้นจากพลังบริสุทธิ์ให้ลงท้ายคำบรรยายอย่างไม่กลัว เขาบอกว่า พวกผู้พิพากษาเหล่านี้ก็เหมือนกับบรรพบุรุษของพวกเขาที่ปฏิเสธโยเซฟ โมเสส และผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ (กจ. 7:51-53) ที่จริง พวกผู้พิพากษาเหล่านี้ของสภาแซนเฮดรินได้ประหารเมสสิยาห์ ซึ่งเป็นผู้ที่โมเสสและผู้พยากรณ์ทั้งหมดได้บอกล่วงหน้าว่าจะมา การทำแบบนี้เป็นการละเมิดกฎหมายของโมเสสในวิธีที่เลวร้ายที่สุด
“พระเยซูผู้เป็นนาย ผมขอฝากชีวิตไว้กับท่านด้วย” (กิจการ 7:54–8:3)
20, 21. สภาแซนเฮดรินมีท่าทียังไงต่อคำพูดของสเทเฟน และพระยะโฮวาช่วยเขายังไงให้มีกำลังใจ?
20 พวกผู้พิพากษาไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเรื่องที่สเทเฟนพูดเป็นความจริง พวกเขาเลยโกรธมากและอยากจะทำร้ายสเทเฟน พวกเขาไม่สามารถอยู่นิ่งต่อไปได้ สเทเฟนชายผู้ซื่อสัตย์คนนี้คงต้องรู้แล้วว่า เขาจะไม่ได้รับความเมตตาจากคนเหล่านี้ เหมือนกับพระเยซูผู้เป็นนายของเขา
21 สเทเฟนต้องมีความกล้าหาญเพื่อจะเผชิญกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และไม่ต้องสงสัยว่าเขาได้รับกำลังใจอย่างมากจากนิมิตที่พระยะโฮวาให้เขาเห็นด้วยความกรุณาในตอนนั้น สเทเฟนได้เห็นสง่าราศีของพระเจ้า และเห็นพระเยซูยืนอยู่ข้างขวาของพระองค์ ตอนที่สเทเฟนพูด ถึงนิมิตที่เขาเห็น พวกผู้พิพากษาเอามือปิดหู เพราะอะไร? ก่อนหน้านั้น พระเยซูได้พูดกับศาลเดียวกันนี้ว่า ท่านเป็นเมสสิยาห์ และอีกไม่นานท่านจะนั่งอยู่ข้างขวาของพระเจ้าผู้เป็นพ่อของท่าน (มก. 14:62) นิมิตของสเทเฟนพิสูจน์ว่า พระเยซูพูดความจริง ที่จริง สภาแซนเฮดรินได้ทรยศเมสสิยาห์และประหารท่าน พวกเขาวิ่งกรูกันเข้าใส่สเทเฟน แล้วเอาหินขว้างเขาตาย c
22, 23. ความตายของสเทเฟนเหมือนกับการตายของพระเยซูผู้เป็นนายของเขาในด้านไหนบ้าง และคริสเตียนในทุกวันนี้จะมั่นใจเหมือนสเทเฟนได้ยังไง?
22 สเทเฟนตายเหมือนกับพระเยซูผู้เป็นนายของเขา เขาสงบใจ วางใจพระยะโฮวา และให้อภัยผู้ที่ฆ่าเขา สเทเฟนบอกว่า “พระเยซูผู้เป็นนาย ผมขอฝากชีวิตไว้กับท่านด้วย” เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะยังเห็นพระเยซูกับพระยะโฮวาในนิมิตอยู่ ไม่ต้องสงสัย สเทเฟนจำได้ดีถึงคำพูดของพระเยซูที่ให้กำลังใจว่า “ผมคือคนที่ปลุกคนตายให้ฟื้นและให้เขามีชีวิต” (ยน. 11:25) ในที่สุด สเทเฟนได้อธิษฐานถึงพระเจ้าโดยตรงด้วยเสียงดังว่า “พระยะโฮวา ขออย่าถือโทษพวกเขาที่ทำบาปครั้งนี้” เมื่อเขาพูดจบ เขาก็สิ้นใจตาย—กจ. 7:59, 60
23 ดังนั้น สเทเฟนจึงเป็นคนแรกในกลุ่มผู้ติดตามพระเยซูที่ได้สละชีวิตเพื่อความเชื่อ (ดูกรอบ “ ‘ผู้สละชีวิตเพื่อความเชื่อ’ หมายถึงอะไรจริง ๆ?”) แต่น่าเศร้า เขาไม่ได้เป็นคนสุดท้าย จนถึงสมัยของเรา ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาบางคนได้ถูกฆ่าโดยพวกคลั่งศาสนา พวกหัวรุนแรงทางการเมือง และผู้ต่อต้านที่ร้ายกาจอื่น ๆ แต่เรามีเหตุผลที่จะมั่นใจเหมือนสเทเฟน ตอนนี้พระเยซูปกครองเป็นกษัตริย์แล้ว และท่านได้รับอำนาจยิ่งใหญ่จากพระยะโฮวา ดังนั้น จึงไม่มีอะไรมาขัดขวางไม่ให้พระเยซูปลุกสาวกที่ซื่อสัตย์ของท่านให้ฟื้นขึ้นจากตาย—ยน. 5:28, 29
24. เซาโลทำอะไรตอนที่สเทเฟนกำลังถูกฆ่า และการตายของสเทเฟนได้ส่งผลดีในระยะยาวยังไงบ้าง?
24 เซาโลผู้ชายคนหนึ่งได้สังเกตดูเหตุการณ์นี้มาโดยตลอด เขาเห็นด้วยกับการฆ่าสเทเฟน เซาโลถึงกับเฝ้าเสื้อผ้าของพวกคนที่เอาหินขว้างสเทเฟน หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็เริ่มข่มเหงสาวกของพระเยซูอย่างโหดร้าย แต่ถึงอย่างนั้น การตายของสเทเฟนได้ส่งผลดีในระยะยาว ตัวอย่างของเขาให้กำลังใจคริสเตียนคนอื่น ๆ ให้รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาถึงแม้เขาจะต้องตาย ยิ่งกว่านั้น เซาโล ซึ่งหลายปีต่อมามักจะถูกเรียกว่าเปาโล คงรู้สึกเสียใจอย่างมากที่มีส่วนในการตายของสเทเฟน (กจ. 22:20) เปาโลเคยมีส่วนทำให้สเทเฟนถูกฆ่า แต่เขาคงสำนึกตัวได้ในภายหลัง เพราะเขาบอกว่า “เมื่อก่อนผมเคยเป็นคนหมิ่นประมาทพระเจ้า ข่มเหงคนของพระองค์ และเป็นคนอวดดี” (1 ทธ. 1:13) เห็นได้ชัด เปาโลไม่เคยลืมสเทเฟนและคำพูดที่มีพลังของเขาในวันนั้น ที่จริง คำบรรยายและข้อเขียนของเปาโลบางส่วนได้ขยายเรื่องราวที่มาจากคำพูดของสเทเฟน (กจ. 7:48; 17:24; ฮบ. 9:24) ในเวลาต่อมา เปาโลได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ที่จะติดตามตัวอย่างความเชื่อและความกล้าหาญของสเทเฟน “คนที่พระเจ้าพอใจมากและได้รับพลังจากพระองค์” คำถามคือ เราจะทำอย่างเดียวกันนี้ไหม?
a ผู้ต่อต้านเหล่านี้บางคนสังกัดอยู่ใน “ที่ประชุมของเสรีชน” พวกเขาอาจเคยถูกพวกโรมันจับมา แล้วภายหลังก็ถูกปล่อยเป็นอิสระ หรือบางทีเขาอาจเป็นทาสที่ได้รับอิสระซึ่งได้เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว บางคนมาจากแคว้นซิลีเซียเหมือนกับเซาโลแห่งเมืองทาร์ซัส เรื่องราวไม่ได้เปิดเผยว่าเซาโลอยู่ในกลุ่มชาวซิลีเซียเหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นพวกที่ไม่สามารถโต้แย้งสเทเฟนได้
b คำพูดของสเทเฟนมีข้อมูลซึ่งเราหาไม่พบในที่อื่นของคัมภีร์ไบเบิล เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาของโมเสสตามแบบชาวอียิปต์ อายุของเขาตอนที่หนีจากอียิปต์ครั้งแรก และระยะเวลาที่โมเสสอาศัยอยู่ในแผ่นดินมีเดียน