บท 9
“พระเจ้าไม่ลำเอียง”
คริสเตียนเริ่มประกาศกับคนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัต
1-3. เปโตรเห็นนิมิตอะไร และทำไมเราต้องเข้าใจความหมายของนิมิตนั้น?
ตอนนั้นเป็นปี ค.ศ. 36 แสงแดดในฤดูใบไม้ร่วงทำให้เปโตรรู้สึกอบอุ่นตอนที่เขาอธิษฐานอยู่บนดาดฟ้าของบ้านหลังหนึ่งในเมืองท่ายัฟฟา เปโตรเป็นแขกในบ้านหลังนี้มาได้หลายวันแล้ว การที่เขาเต็มใจพักอยู่ที่นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเปโตรไม่มีอคติในระดับหนึ่ง เจ้าของบ้านเป็นผู้ชายชื่อซีโมน มีอาชีพเป็นช่างฟอกหนัง ชาวยิวบางคนคงจะไม่ยอมพักอยู่กับคนที่ทำงานแบบนี้ a แต่ถึงอย่างนั้น เปโตรกำลังจะเรียนรู้บทเรียนสำคัญที่ว่า พระยะโฮวาไม่ลำเอียง
2 ตอนที่เปโตรกำลังอธิษฐานอยู่ เขาเคลิ้มไปและพระยะโฮวาทำให้เขาเห็นนิมิต ในนิมิตมีผ้าผืนหนึ่งหย่อนลงมาจากท้องฟ้า มีสัตว์ต่าง ๆ อยู่บนผ้าผืนนั้นด้วย สัตว์เหล่านั้นเป็นสัตว์ที่ชาวยิวกินไม่ได้ นี่คงทำให้ชาวยิวทุกคนประหลาดใจ หลังจากนั้น ก็มีเสียงบอกให้เปโตรฆ่าและกินสัตว์เหล่านั้น แต่เปโตรตอบว่า “ผมไม่เคยกินของที่ต้องห้ามและไม่สะอาดตามกฎหมายเลย” หลังจากเปโตรตอบแบบนั้น ก็มีเสียงบอกเขาถึง 3 ครั้งว่า “สิ่งที่พระเจ้าทำให้สะอาดแล้ว อย่าถือว่าไม่สะอาดอีกเลย” (กจ. 10:14-16) นิมิตนี้คงทำให้เปโตรสับสน แต่หลังจากนั้นไม่นาน พระยะโฮวาก็ช่วยให้เขาเข้าใจ
3 นิมิตที่เปโตรเห็นมีความหมายยังไง? ที่จริง เป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราในทุกวันนี้จะเข้าใจความหมายของนิมิตนี้ด้วย เพราะนิมิตนี้ช่วยเราให้รู้ว่าพระยะโฮวามองผู้คนยังไง เพื่อเราจะประกาศได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เราก็ต้องฝึกที่จะมองผู้คนให้เหมือนกับที่พระยะโฮวามอง ตอนนี้ ให้เรามาดูสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนและหลังจากที่เปโตรเห็นนิมิตนี้ เพื่อเราจะเข้าใจว่าสิ่งที่เปโตรเห็นมีความหมายยังไง
“อธิษฐานอ้อนวอนพระเจ้าเสมอ” (กิจการ 10:1-8)
4, 5. โคร์เนลิอัสคือใคร และเกิดอะไรขึ้นตอนที่เขากำลังอธิษฐานอยู่?
4 เปโตรไม่รู้ว่าวันก่อนหน้านั้นโคร์เนลิอัสที่อยู่ในเมืองซีซารียาก็ได้เห็นนิมิตจากพระเจ้าด้วย เมืองนี้อยู่ห่างไปทางเหนือประมาณ 50 กิโลเมตร โคร์เนลิอัสเป็นนายร้อยในกองทัพ โรมัน เขาเป็นคน “เลื่อมใส” พระเจ้า b โคร์เนลิอัสยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลครอบครัว เพราะเขา “กับทุกคนในบ้านเลื่อมใสและเกรงกลัวพระเจ้า” โคร์เนลิอัสไม่ใช่คนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว เขาเป็นคนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัต แต่ถึงอย่างนั้น เขาได้แสดงความเมตตากับชาวยิวที่ขัดสนโดยให้ความช่วยเหลือทางด้านวัตถุ ผู้ชายที่จริงใจคนนี้ “อธิษฐานอ้อนวอนพระเจ้าเสมอ”—กจ. 10:2
5 เวลาประมาณบ่าย 3 โมง ตอนที่โคร์เนลิอัสกำลังอธิษฐาน เขาได้เห็นนิมิต มีทูตสวรรค์มาบอกเขาว่า “พระเจ้าฟังคำอธิษฐานของคุณแล้ว” (กจ. 10:4) โคร์เนลิอัสทำตามคำแนะนำของทูตสวรรค์ เขาใช้คนไปเรียกอัครสาวกเปโตรมา ในฐานะคนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัต โคร์เนลิอัสกำลังจะเป็นคนต่างชาติคนแรกที่เข้ามาเป็นคริสเตียน เขากำลังจะได้รับข่าวสารเกี่ยวกับความรอด
6, 7. (ก) ขอเล่าประสบการณ์ที่แสดงว่าพระเจ้าตอบคำอธิษฐานของคนที่จริงใจอยากรู้จักพระองค์ (ข) เราได้บทเรียนอะไรจากประสบการณ์นี้?
6 ในทุกวันนี้ พระเจ้าตอบคำอธิษฐานของคนที่จริงใจอยากรู้ความจริงเรื่องพระองค์ไหม? ให้เรามาดูประสบการณ์หนึ่งด้วยกัน ผู้หญิงคนหนึ่งในแอลเบเนียได้รับหอสังเกตการณ์ ฉบับหนึ่งที่มีบทความเรื่องการเลี้ยงดูลูก c เธอบอกพยานฯที่มาเยี่ยมเธอว่า “เชื่อไหมว่าฉันอธิษฐานขอพระเจ้าให้ช่วยในการเลี้ยงดูลูกสาว? แล้วพระองค์ก็ส่งคุณมา! คุณให้ความรู้ที่ฉันกำลังต้องการอยู่พอดีเลย!” ผู้หญิงคนนี้กับลูกสาวเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิล และภายหลังสามีได้เข้าร่วมในการศึกษาด้วย
7 นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้นไหม? ไม่เลย! ตลอดทั่วโลกมีการเล่าประสบการณ์คล้าย ๆ กันนี้หลายครั้งหลายหน เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยเกินกว่าที่เราจะมองว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญ ถ้าอย่างนั้น เราได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้? บทเรียนแรก พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของคนที่จริงใจอยากรู้จักพระองค์ (1 พก. 8:41-43; สด. 65:2) บทเรียนที่สอง ทูตสวรรค์กำลังช่วยในงานประกาศของเรา—วว. 14:6, 7
เปโตร “งงและสงสัย” (กิจการ 10:9-23ก)
8, 9. พระเจ้าเปิดเผยให้เปโตรรู้อะไรโดยทางพลังบริสุทธิ์ และเขาตอบรับยังไง?
8 ตอนที่เปโตรยังอยู่บนดาดฟ้า เขา “งงและสงสัย” ว่านิมิตที่เขาเห็นมีความหมายว่ายังไง แต่ในตอนนั้นเอง ผู้ส่งข่าวจากโคร์เนลิอัสก็มาถึง (กจ. 10:17) เปโตรพูดถึง 3 ครั้งว่าจะไม่กินอาหารที่กฎหมายของโมเสสถือว่าไม่สะอาด แต่ตอนนี้เขาจะเต็มใจไปกับพวกผู้ส่งข่าวเพื่อไปที่บ้านของคนต่างชาติไหม? พระเจ้าใช้พลังบริสุทธิ์เพื่อช่วยให้เปโตรรู้ว่าพระองค์อยากให้เขาไป พลังของพระเจ้าพูดกับเขาว่า “มีผู้ชาย 3 คนมาตามหาคุณแน่ะ ลงไปข้างล่างและไปกับพวกเขาเถอะ อย่าสงสัยเลย เพราะเราใช้พวกเขามา” (กจ. 10:19, 20) แน่นอน นิมิตเกี่ยวกับผ้าผืนใหญ่ที่เปโตรเห็นคงจะช่วยเขาให้เชื่อฟังการชี้นำจากพลังบริสุทธิ์
9 เมื่อรู้ว่าโคร์เนลิอัสได้รับคำสั่งจากพระเจ้าให้ส่งคนมาหาเขา เปโตรจึงเชิญผู้ส่งข่าวที่เป็นคนต่างชาติเข้ามาในบ้าน “และให้พักอยู่ที่นั่น” (กจ. 10:23ก) อัครสาวกผู้เชื่อฟังได้เริ่มเปลี่ยนความคิดแล้วหลังจากเรียนรู้มากขึ้นว่าพระเจ้ามีความประสงค์อะไร
10. พระยะโฮวาชี้นำประชาชนของพระองค์ยังไง และมีคำถามอะไรบ้างที่เราน่าจะถามตัวเอง?
10 พระยะโฮวายังคงช่วยประชาชนของพระองค์ให้เข้าใจความประสงค์ของพระองค์เป็นขั้น ๆ (สภษ. 4:18) โดยทางพลังบริสุทธิ์ พระองค์ชี้นำ “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” (มธ. 24:45) บางครั้ง ตอนที่มีการอธิบายความเข้าใจใหม่ในคัมภีร์ไบเบิล หรือตอนที่มีการเปลี่ยนบางอย่างในองค์การ เราน่าจะถามตัวเองว่า ‘ฉันตอบรับยังไงต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น? ฉันเต็มใจทำตามการชี้นำที่มาจากพลังบริสุทธิ์ไหม?’
“เปโตรจึงบอกให้พวกเขารับบัพติศมา” (กิจการ 10:23ข-48)
11, 12. เปโตรทำยังไงเมื่อมาถึงเมืองซีซารียา และเขาได้เรียนรู้อะไร?
11 หลังจากได้รับนิมิต วันต่อมาเปโตรกับคนอื่นอีก 9 คน คือคนส่งข่าว 3 คนที่โคร์เนลิอัสใช้มา และ “พี่น้อง 6 คน” จากเมืองยัฟฟา ก็ออกเดินทางไปเมืองซีซารียา (กจ. 11:12) โคร์เนลิอัสซึ่งคอยเปโตรอยู่ได้เรียก “ญาติ ๆ กับเพื่อนสนิท” มาอยู่พร้อมหน้ากัน ดูเหมือนว่าทุกคนเป็นคนต่างชาติ (กจ. 10:24) เมื่อมาถึง เปโตรได้ทำบางอย่างที่เมื่อก่อนเขาไม่เคยคิดจะทำ นั่นคือ เปโตรเข้าไปในบ้านของคนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัต! เปโตรอธิบายว่า “พวกคุณก็รู้ว่ามันผิดกฎที่คนยิวจะติดต่อเกี่ยวข้องกับคนต่างชาติ แต่พระเจ้าทำให้ผมรู้แล้วว่าไม่ควรถือว่าคนอื่นไม่สะอาดไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม” (กจ. 10:28) ตอนนี้เปโตรเข้าใจแล้วว่า นิมิตนี้ไม่ได้สอนแค่ว่าอาหารอะไรที่คนเรากินได้ แต่ยังสอนว่าเขา “ไม่ควรถือว่าคนอื่น [แม้แต่คนต่างชาติ] ไม่สะอาด”
12 ทุกคนที่อยู่ในบ้านโคร์เนลิอัสสนใจฟังสิ่งที่เปโตรพูด โคร์เนลิอัสบอกว่า “พวกผมอยู่พร้อมกันต่อหน้าพระเจ้าแล้วเพื่อจะฟังสิ่งที่พระยะโฮวาสั่งให้คุณพูด” (กจ. 10:33) ลองคิดดูว่าคุณจะรู้สึกยังไงถ้ามีคนสนใจพูดกับคุณอย่างนี้! เปโตรพูดต่อไปอย่างมีพลังว่า “ตอนนี้ผมเข้าใจจริง ๆ แล้วว่าพระเจ้าไม่ลำเอียง พระองค์ยอมรับทุกคนที่เกรงกลัวพระองค์และทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่าเขาจะเป็นคนชาติไหนก็ตาม” (กจ. 10:34, 35) เปโตรได้เรียนรู้ว่า การที่พระเจ้าจะชอบใครหรือไม่ชอบใครนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขาเป็นคนที่ไหน มีเชื้อชาติหรือสีผิวอะไร เปโตรประกาศให้พวกเขาฟังเกี่ยวกับงานรับใช้ของพระเยซู และการตายกับการฟื้นขึ้นจากตายของท่าน
13, 14. (ก) การที่โคร์เนลิอัสและคนต่างชาติคนอื่นเข้ามาเป็นคริสเตียนในปี ค.ศ. 36 ช่วยเราให้รู้อะไร? (ข) ทำไมเราไม่ควรตัดสินผู้คนจากสิ่งที่เห็นภายนอก?
13 ตอนนี้ มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ตอนที่เปโตรกำลังพูดเรื่องนี้อยู่” พระเจ้าได้ให้พลังบริสุทธิ์กับ “คนต่างชาติ” ที่ได้ฟังคำสอนนั้น (กจ. 10:44, 45) นี่เป็นครั้งเดียวเท่านั้นที่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าผู้คนได้รับพลังบริสุทธิ์ก่อนที่พวกเขารับบัพติศมา เปโตรรู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นหลักฐานว่าพระเจ้ายอมรับพวกเขาให้เข้ามาเป็นประชาชนของพระองค์ ดังนั้น เปโตร “จึงบอกให้พวกเขา [คนต่างชาติกลุ่มนั้น] รับบัพติศมา” (กจ. 10:48) การมีคนต่างชาติเข้ามาเป็นคริสเตียนในปี ค.ศ. 36 ช่วยให้รู้ว่า เวลาที่พระเจ้าแสดงความสนใจเป็นพิเศษกับชาวยิวได้สิ้นสุดลงแล้ว (ดนล. 9:24-27) ตอนที่เปโตรนำหน้าในโอกาสนั้น เขาได้ใช้ “ลูกกุญแจของรัฐบาลสวรรค์” ดอกที่ 3 ซึ่งเป็นดอกสุดท้าย (มธ. 16:19) ลูกกุญแจดอกนี้เปิดโอกาสให้คนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัตเข้ามาเป็นคริสเตียนที่ถูกเจิมด้วยพลังบริสุทธิ์
14 พวกเราที่เป็นผู้ประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าในทุกวันนี้ เรารู้ว่า “พระเจ้าไม่เลือกปฏิบัติ” (รม. 2:11) พระองค์อยากให้ “คนทุกชนิดรอด” (1 ทธ. 2:4) ดังนั้น เราต้องไม่ตัดสินผู้คนจากสิ่งที่เห็นภายนอก หน้าที่มอบหมายของเราก็คือ เราจะประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน นี่หมายความว่าเราต้องประกาศกับทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นคนที่ไหน หรือนับถือศาสนาอะไร
“คนพวกนั้นได้ยินจึงเลิกโต้แย้งแล้วยกย่องสรรเสริญพระเจ้า” (กิจการ 11:1-18)
15, 16. ทำไมคริสเตียนชาวยิวบางคนถึงต่อว่าเปโตร และเขาอธิบายเรื่องนั้นยังไง?
15 เปโตรคงอยากรีบกลับไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดูเหมือนว่าข่าวเรื่องคนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัต “ยอมรับคำสอนของพระเจ้า” ไปถึงที่นั่นก่อนแล้ว หลังจากเปโตรมาถึงไม่นาน “พวกที่สนับสนุนการเข้าสุหนัตก็มาต่อว่าเขา” พวกเขารู้สึกไม่สบายใจที่เปโตร “เข้าไปในบ้านคนที่ไม่ได้เข้าสุหนัตและกินอาหารกับคนพวกนั้น” (กจ. 11:1-3) ประเด็นหลักของเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับว่าพวกคนต่างชาติจะเข้ามาเป็นสาวกได้หรือไม่ แต่พวกสาวกที่เป็นชาวยิวยืนกรานอย่างหนักแน่นว่า เพื่อคนต่างชาติจะนมัสการพระยะโฮวาในแบบที่ พระองค์ยอมรับ พวกเขาต้องทำตามกฎหมายของโมเสส ซึ่งหมายความว่าพวกเขาทุกคนต้องเข้าสุหนัตด้วย เห็นได้ชัดว่า ปัญหาของสาวกชาวยิวบางคนก็คือ พวกเขาไม่ยอมรับว่าตอนนี้กฎหมายของโมเสสถูกยกเลิกไปแล้ว
16 เปโตรอธิบายว่าทำไมเขาถึงให้บัพติศมาคนต่างชาติเหล่านั้น? จากกิจการ 11:4-16 เปโตรได้พูดถึงหลักฐาน 4 อย่างที่แสดงว่าเขาได้รับการชี้นำจากสวรรค์ (1) เขาพูดถึงนิมิตที่ได้รับจากพระเจ้า (ข้อ 4-10) (2) คำสั่งของพลังบริสุทธิ์ (ข้อ 11, 12) (3) การที่ทูตสวรรค์ไปเยี่ยมโคร์เนลิอัส (ข้อ 13, 14) และ (4) การที่พระเจ้าให้พลังบริสุทธิ์กับคนต่างชาติ (ข้อ 15, 16) เปโตรสรุปด้วยคำพูดที่มีพลังว่า “ถ้าพระเจ้าให้ของขวัญ [พลังบริสุทธิ์] พวกเขา [คนต่างชาติที่เชื่อถือ] เหมือนกับที่ให้พวกเรา [ชาวยิว] ซึ่งเชื่อในพระเยซูคริสต์ผู้เป็นนายละก็ ผมเป็นใครล่ะที่จะไปขัดขวางพระเจ้าได้?”—กจ. 11:17
17, 18. (ก) คริสเตียนชาวยิวต้องตัดสินใจเรื่องอะไร? (ข) ทำไมอาจไม่ง่ายที่จะรักษาความเป็นหนึ่งเดียวกันในประชาคม และเราควรถามตัวเองด้วยคำถามอะไรบ้าง?
17 หลังจากคริสเตียนชาวยิวได้ยินสิ่งที่เปโตรพูด พวกเขาก็ต้องตัดสินใจ พวกเขาจะเลิกตัดสินคนต่างชาติ และหันมายอมรับพวกคนต่างชาติที่เพิ่งรับบัพติศมาไหม? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เมื่อคนพวกนั้น [พวกอัครสาวกและคริสเตียนชาวยิวคนอื่น ๆ] ได้ยินจึงเลิกโต้แย้งแล้วยกย่องสรรเสริญพระเจ้าและพูดว่า ‘อย่างนี้ก็แสดงว่าพระเจ้าให้โอกาสคนต่างชาติกลับใจเพื่อพวกเขาจะได้ชีวิตด้วย’” (กจ. 11:18) การเต็มใจเปลี่ยนความคิดช่วยรักษาประชาคมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
18 การรักษาความเป็นหนึ่งเดียวกันในทุกวันนี้อาจไม่ง่าย เพราะผู้รับใช้ของพระยะโฮวามา “จากทุกประเทศ ทุกตระกูล ทุกชนชาติ และทุกภาษา” (วว. 7:9) ดังนั้น ในหลายประชาคม อาจมีพี่น้องที่มาจากหลายเชื้อชาติ ภูมิหลัง และวัฒนธรรม เราควรถามตัวเองว่า ‘ฉันมักตัดสินคนอื่นแค่เพราะพวกเขาทำสิ่งที่ไม่เหมือนกับฉันไหม? ในขณะที่ผู้คนทั่วไปในโลกมักคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น แต่ฉันตั้งใจที่จะไม่คิดแบบนั้นกับพี่น้องในประชาคมไหม?’ ลองคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเปโตร (เคฟาส) ดูสิ หลังจากที่คนต่างชาติกลุ่มแรกได้เข้ามาเป็นคริสเตียนหลายปีแล้ว เปโตรก็ยังได้รับผลกระทบจากความคิดที่ไม่ดีของคนอื่น เปโตรถึงกับ “ปลีกตัวออกไป” จากพี่น้องต่างชาติจนเปาโลต้องว่ากล่าวแก้ไขเขา (กท. 2:11-14) เราก็ต้องระวังอยู่เสมอที่จะไม่คิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น แค่เพราะสิ่งที่พวกเขาทำไม่เหมือนกับเรา
“คนมากมายเข้ามาเชื่อ” (กิจการ 11:19-26ก)
19. คริสเตียนชาวยิวในเมืองอันทิโอกเริ่มต้นประกาศกับใคร และผลเป็นยังไง?
19 เหล่าสาวกของพระเยซูเริ่มต้นประกาศกับคนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัตไหม? ขอสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรีย d ถึงแม้เมืองนี้มีชุมชนชาวยิวขนาดใหญ่ แต่พวกเขาก็อยู่ร่วมกับคนต่างชาติได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เมืองอันทิโอกจึงเป็นเขตที่เหมาะที่จะประกาศกับคนต่างชาติ ในเมืองนี้แหละที่สาวกชาวยิวบางคนเริ่มประกาศข่าวดีกับ “ผู้คนที่พูดภาษากรีก” (กจ. 11:20) พวกเขาไม่ได้ประกาศกับชาวยิวที่พูดภาษากรีกเท่านั้น แต่ประกาศกับคนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัตด้วย พระยะโฮวาอวยพรงานนี้ และ “คนมากมายเข้ามาเชื่อ”—กจ. 11:21
20, 21. บาร์นาบัสแสดงความเจียมตัวยังไง และเราจะแสดงความเจียมตัวคล้ายกันนั้นได้ยังไงตอนที่ประกาศ?
20 เพื่อจะเอาใจใส่เขตงานที่เป็นเหมือนทุ่งนาเหลืองอร่ามซึ่งพร้อมจะเก็บเกี่ยวได้ ประชาคมในกรุงเยรูซาเล็มได้ส่งบาร์นาบัสไปเมืองอันทิโอก ดูเหมือนว่าผู้คนมากมายแสดงความสนใจจนบาร์นาบัสคนเดียวไม่สามารถดูแลได้ แต่ใครล่ะจะเหมาะที่จะทำงานนี้มากไปกว่าเซาโล อัครสาวกสำหรับคนต่างชาติ? (กจ. 9:15; รม. 1:5) บาร์นาบัสจะมองว่าเซาโลเป็นคู่แข่งไหม? ไม่เลย บาร์นาบัสเจียมตัว เขาเป็นฝ่ายไปตามหาเซาโลที่เมืองทาร์ซัส แล้วพากลับมาที่เมืองอันทิโอกเพื่อให้ช่วยในงานประกาศ ทั้งสองคนใช้เวลาด้วยกันหนึ่งปีเพื่อให้กำลังใจเหล่าสาวกในประชาคมที่นั่น—กจ. 11:22-26ก
21 เราจะแสดงความเจียมตัวได้ยังไงตอนที่ประกาศ? ความเจียมตัวเกี่ยวข้องกับการยอมรับข้อจำกัดของเรา เราทุกคนมีกำลังและความสามารถที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น บางคนอาจเสนอหนังสือเก่ง แต่กลับเยี่ยมหรือเริ่มการศึกษาไม่เป็น ถ้าคุณอยากปรับปรุงความสามารถในงานรับใช้ ลองขอความช่วยเหลือจากพี่น้องคนอื่นดู การทำอย่างนั้นอาจช่วยคุณให้สอนเก่งขึ้น และคุณก็จะมีความสุขในงานรับใช้มากขึ้น—1 คร. 9:26
“ส่งความช่วยเหลือไปให้พี่น้อง” (กิจการ 11:26ข-30)
22, 23. พวกพี่น้องในเมืองอันทิโอกได้แสดงความรักแบบพี่น้องยังไง และประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้ก็ทำแบบเดียวกันยังไง?
22 เมืองอันทิโอกเป็นเมืองที่ “สาวกได้ชื่อว่าคริสเตียนเป็นครั้งแรกตามการชี้นำจากพระเจ้า” (กจ. 11:26ข) ชื่อที่พระเจ้าให้นี้เป็นชื่อที่เหมาะมากสำหรับเรียกคนที่อยากติดตามพระ เยซู หลังจากเริ่มมีคนต่างชาติเข้ามาเป็นคริสเตียน พวกเขาและชาวยิวที่เป็นคริสเตียนรักกันไหม? ให้เรามาดูเหตุการณ์หนึ่งตอนที่มีการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงประมาณปี ค.ศ. 46 e ในสมัยโบราณ การขาดแคลนอาหารมีผลกระทบอย่างมากกับคนจนที่ไม่มีเงินหรือไม่มีอาหารเก็บสำรองไว้ ในช่วงที่มีการขาดแคลนอาหารนี้ ดูเหมือนว่ามีคริสเตียนชาวยิวที่อยู่ในแคว้นยูเดียหลายคนเป็นคนยากจน พวกเขาไม่มีอาหารกิน พอรู้เรื่องนี้ พวกพี่น้องในเมืองอันทิโอก และคริสเตียนที่เป็นคนต่างชาติได้ส่ง “ความช่วยเหลือ” ไปให้พี่น้องในแคว้นยูเดีย (กจ. 11:29) นี่เป็นการแสดงความรักแบบพี่น้องจริง ๆ
23 พวกเราที่เป็นประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน พอรู้ว่าพี่น้องที่อื่นหรือพี่น้องที่อยู่ไม่ไกลจากเราต้องการความช่วยเหลือ เราก็หาทางช่วยพวกเขาด้วยความเต็มใจ คณะกรรมการสาขารีบจัดให้มีคณะกรรมการบรรเทาทุกข์เพื่อดูแลพี่น้องของเราซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ พายุเฮอร์ริเคน แผ่นดินไหว หรือสึนามิ งานบรรเทาทุกข์แบบนี้แสดงให้เห็นว่าเรารักพี่น้องของเราจริง ๆ—ยน. 13:34, 35; 1 ยน. 3:17
24. เราจะแสดงให้เห็นยังไงว่าเราเข้าใจสิ่งที่พระยะโฮวาสอนเปโตร?
24 พวกเราที่เป็นคริสเตียนแท้ เรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะคิดถึงบทเรียนที่ได้จากนิมิตที่เปโตรเห็นบนดาดฟ้าในเมืองยัฟฟา เรานมัสการพระเจ้าที่ไม่ลำเอียง พระเจ้าอยากให้เราประกาศเรื่องรัฐบาลของพระองค์อย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งหมายความว่าเราต้องประกาศกับทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นคนชาติไหน หรือมีฐานะทางสังคมยังไง ดังนั้น เราอยากประกาศกับทุกคน เพื่อพวกเขาจะมีโอกาสเรียนรู้และรับใช้พระยะโฮวา—รม. 10:11-13
a ชาวยิวบางคนดูถูกช่างฟอกหนัง เพราะคนที่ทำอาชีพนี้จะต้องสัมผัสกับซากสัตว์ นอกจากนั้น ชาวยิวรู้สึกว่าขั้นตอนในการฟอกหนังนั้นน่ารังเกียจ ชาวยิวไม่อยากให้พวกช่างฟอกหนังไปที่วิหาร ที่ทำงานของช่างฟอกหนังก็ต้องอยู่ห่างจากเมืองไม่น้อยกว่า 50 ศอก หรืออย่างน้อย 20 เมตร นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่บ้านของซีโมนอยู่ “ริมทะเล”—กจ. 10:6
b ดูกรอบ “ โคร์เนลิอัสและกองทัพโรมัน”
c บทความที่มีชื่อว่า “คำแนะนำที่วางใจได้ในเรื่องการเลี้ยงดูลูก” อยู่ในฉบับ 1 พฤศจิกายน 2006 หน้า 4 ถึง 7
d ดูกรอบ “ เมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรีย”
e โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวกล่าวถึง “การขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่” ว่าเกิดขึ้นระหว่างการปกครองของจักรพรรดิคลาวดิอัส (ค.ศ. 41-54)