บท 26
“พวกคุณจะไม่ตายเลยสักคน”
ตอนเรือแตกเปาโลแสดงความเชื่อและความรักต่อคนอื่นอย่างมาก
1, 2. เปาโลจะต้องเจอกับการเดินทางแบบไหน และเขาอาจกังวลเรื่องอะไรบ้าง?
เฟสทัสบอกเปาโลว่า “ในเมื่อคุณร้องเรียนต่อซีซาร์ คุณก็ต้องไปหาซีซาร์” หลังจากที่เปาโลได้ยินคำพูดนี้ เขาคงคิดอยู่บ่อย ๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาตอนที่ไปหาซีซาร์ เนื่องจากเปาโลถูกขังคุกมา 2 ปีแล้ว การที่เขาต้องเดินทางไกลไปที่กรุงโรม คงทำให้เขาได้เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง (กจ. 25:12) แต่ถึงอย่างนั้น เปาโลคงจำได้ดีว่าการเดินทางด้วยเรือหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่ใช่การเดินทางที่ราบรื่นและสะดวกสบาย ดังนั้น เปาโลอาจกังวลเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้ และก็คงกังวลด้วยที่จะต้องไปพูดต่อหน้าซีซาร์
2 เปาโลเคยเจอกับ “อันตรายใน . . . ทะเล” หลายครั้ง รอดจากเรือแตก 3 ครั้ง และถึงกับต้องลอยคออยู่กลางทะเล 1 วัน 1 คืน (2 คร. 11:25, 26) นอกจากนั้น การเดินทางครั้งนี้ไม่เหมือนกันเลยกับการเดินทางไปประกาศตอนที่เปาโลยังเป็นอิสระ เพราะตอนนี้เปาโลเป็นนักโทษ และเขาต้องเดินทางไกลมาก เป็นระยะทางประมาณ 3,000 กิโลเมตรจากเมืองซีซารียาไปถึงกรุงโรม เปาโลจะเดินทางถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัยไหม? และถึงแม้เปาโลจะไปถึงโรมได้อย่างปลอดภัย เขาจะถูกตัดสินประหารชีวิตที่นั่นไหม? อย่าลืมว่า เปาโลจะถูกพิพากษาโดยผู้ปกครองบ้านเมืองซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในโลกของซาตานสมัยนั้น
3. เปาโลตั้งใจจะทำอะไรให้สำเร็จ และเราจะดูเรื่องอะไรในบทนี้?
3 หลังจากได้อ่านเรื่องราวทั้งหมดของเปาโลแล้ว คุณคิดว่าเปาโลจะรู้สึกท้อและสิ้นหวังเพราะสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับเขาไหม? ไม่เลย! จริงที่เปาโลรู้ว่าเขาจะต้องเจอความลำบากแน่ ๆ แต่เขาไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง เปาโลรู้ว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะกังวลมากเกินไปกับสิ่งที่เขาควบคุมไม่ได้ และเขาก็รู้ด้วยว่าถ้าเขากังวลมากเกินไป เขาอาจไม่มีความยินดีในงานรับใช้อีกต่อไป (มธ. 6:27, 34) เปาโลรู้ว่าพระยะโฮวาอยากให้เขาใช้ทุกโอกาสที่จะประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าให้กับทุกคนเท่าที่เขาจะทำได้ ซึ่งรวมถึงคนที่มีอำนาจในบ้านเมืองด้วย (กจ. 9:15) และไม่ว่าจะต้องเจอกับความลำบากอะไร เปาโลก็ตั้งใจจะทำงานมอบหมายนี้ให้สำเร็จ พวกเราในทุกวันนี้ก็อยากทำแบบนั้นด้วยเหมือนกัน ดังนั้น ให้เรามาดูการเดินทางไปโรมครั้งนี้ของเปาโลด้วยกัน และดูว่าเราจะเรียนอะไรได้บ้างจากตัวอย่างของเขา
“กระแสลมต้านเรามาก” (กิจการ 27:1-7ก)
4. เปาโลเริ่มการเดินทางโดยเรือแบบไหน และมีใครไปเป็นเพื่อนด้วย?
4 เปาโลกับนักโทษคนอื่น ๆ จำนวนหนึ่งอยู่ในความดูแลของนายทหารโรมันชื่อยูเลียส ยูเลียสได้ตัดสินใจเดินทางโดยเรือสินค้าที่มาจอดที่เมืองซีซารียา เรือนี้มาจากเมืองอัดรามิททิยุม เมือง นี้เป็นเมืองท่าบนฝั่งตะวันตกของเอเชียไมเนอร์ และอยู่ตรงกันข้ามกับเมืองมิทิเลนีบนเกาะเลสบอส เรือนี้จะแล่นไปทางเหนือและจากนั้นก็ไปทางตะวันตก และหยุดแวะตามที่ต่าง ๆ เพื่อขนถ่ายสินค้า เรือนี้เป็นเรือสินค้าไม่ใช่เรือโดยสาร จึงไม่เหมาะเท่าไหร่ที่จะมีคนโดยสารโดยเฉพาะพวกนักโทษ (ดูกรอบ “ การเดินทางโดยเรือกับเส้นทางการค้า”) น่าดีใจที่เปาโลไม่ได้เป็นคริสเตียนคนเดียวในหมู่นักโทษกลุ่มนี้ อย่างน้อยก็มีพี่น้อง 2 คนเดินทางไปกับเขา คืออาริสทาร์คัสกับลูกา ซึ่งลูกาเองเป็นคนที่บันทึกเหตุการณ์นี้ เราไม่รู้ว่าเพื่อน 2 คนนี้จ่ายค่าโดยสารเองหรือได้รับอนุญาตให้ขึ้นเรือฟรีเพราะพวกเขามาทำหน้าที่รับใช้เปาโล—กจ. 27:1, 2
5. เปาโลสามารถไปเจอใครที่เมืองไซดอน และเราอาจเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?
5 หลังใช้เวลา 1 วันในทะเล และเดินทางไปทางทิศเหนือประมาณ 110 กิโลเมตร เรือก็มาเทียบท่าที่เมืองไซดอนบนชายฝั่งทะเลของซีเรีย ดูเหมือนว่า ยูเลียสไม่ได้ปฏิบัติต่อเปาโลเหมือนกับนักโทษทั่วไป นี่อาจเป็นเพราะเปาโลเป็นพลเมืองโรมันที่ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิด (กจ. 22:27, 28; 26:31, 32) ยูเลียสได้อนุญาตให้เปาโลขึ้นฝั่งเพื่อไปพบเพื่อนคริสเตียน พี่น้องชายหญิงที่นั่นคงต้องมีความสุขมากแน่ ๆ ที่ได้ดูแลเปาโลหลังจากที่เขาถูกจำคุกมานาน! คุณอาจนึกถึงบางโอกาสคล้าย ๆ กันนี้ที่คุณสามารถแสดงน้ำใจต้อนรับได้ ถ้าคุณแสดงความรักต่อพี่น้องแบบนี้ คุณก็มั่นใจได้เลยว่าตัวคุณเองก็จะได้รับกำลังใจเหมือนกัน—กจ. 27:3
6-8. การเดินทางของเปาโลจากเมืองไซดอนไปเมืองคนีดัสเป็นยังไง และเปาโลคงจะใช้โอกาสไหนบ้างในการประกาศ?
6 เมื่อออกจากเมืองไซดอน เรือก็แล่นต่อไปตามชายฝั่งทะเลผ่านแคว้นซิลีเซียซึ่งอยู่ใกล้เมืองทาร์ซัสบ้านเกิดของเปาโล ลูกาไม่ได้พูดถึงจุดแวะอื่น ๆ แต่เขาบอกรายละเอียดว่า “กระแสลมต้านเรามาก” ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้ (กจ. 27:4, 5) แต่ถึงเหตุการณ์จะเป็นแบบนั้น เราก็นึกภาพออกว่าเปาโลคงต้องใช้ทุกโอกาสที่จะประกาศข่าวดี เขาคงประกาศกับพวกนักโทษและคนอื่น ๆ ที่อยู่บนเรือ รวมทั้งลูกเรือและทหารด้วย นอกจากนั้น เปาโลคงจะประกาศกับคนอื่น ๆ ที่เขาเจอ ตอนที่เรือจอดเทียบท่า เหมือนกับเปาโล พวกเราในทุกวันนี้ก็อยากใช้ทุกโอกาสที่เรามีเพื่อประกาศข่าวดี
7 ในที่สุด เรือก็มาถึงเมืองมิรา ซึ่งเป็นเมืองท่าบนชายฝั่งทะเลทางใต้ของเอเชียไมเนอร์ ที่นั่นเปาโลกับคนอื่น ๆ ต้องเปลี่ยนไปลงเรืออีกลำหนึ่งที่จะพาพวกเขาไปถึงจุดหมายปลายทางที่กรุงโรม (กจ. 27:6) ในสมัยนั้นโรมได้ข้าวส่วนใหญ่จากอียิปต์ และเรือที่ขนข้าวจากอียิปต์จะเข้าเทียบท่าที่เมืองมิรา เมื่อยูเลียสเห็นเรือขนข้าวแบบนั้น เขาก็สั่งให้ทหารและพวกนักโทษลงเรือลำนั้น เรือนี้คงต้องใหญ่กว่าเรือลำแรกมาก เรือนี้บรรทุกสินค้าที่มีค่าก็คือข้าวสาลี และยังมีลูกเรือ ทหาร นักโทษ และคนอื่น ๆ ที่จะไปกรุงโรม รวมทั้งหมด 276 คน เห็นได้ชัดว่าเมื่อมีการเปลี่ยนเรือแบบนี้ เปาโลก็มีโอกาสที่จะประกาศกับผู้คนได้มากขึ้น และเรามั่นใจว่าเขาได้ประกาศกับหลายคนเท่าที่เขาจะทำได้
8 จุดต่อไปที่เรือแวะคือเมืองคนีดัส ซึ่งตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเอเชียไมเนอร์ ถ้าเรือแล่นไปตามลม จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 วัน แต่ลูกาบันทึกว่า “เป็นเวลาหลายวันที่เรือของพวกเราแล่นไปได้ช้ามาก แต่ในที่สุดก็มาถึงเมืองคนีดัสอย่างทุลักทุเล” (กจ. 27:7ก) การเดินเรือในตอนนั้นยากมากขึ้นเพราะสภาพอากาศไม่ดี (ดูกรอบ “ กระแสลมต้านในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน”) ลองคิดดูสิว่า คนบนเรือต้องลำบากขนาดไหนตอนที่พวกเขาต้องแล่นเรือผ่านคลื่นลมที่รุนแรง
“ถูกพายุใหญ่กระหน่ำอย่างรุนแรง” (กิจการ 27:7ข-26)
9, 10. เกิดความยากลำบากอะไรขึ้นในบริเวณใกล้เกาะครีต?
9 กัปตันเรือวางแผนที่จะเดินเรือจากเมืองคนีดัสต่อไปทางตะวันตก แต่ลูกาผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์บอกว่า “พอเราออกจากที่นั่นมาก็เจอกระแสลมแรง” (กจ. 27:7ข) ตอนที่เรือแล่นห่างจากแผ่นดิน กระแสลมแรงจากทางตะวันตกเฉียงเหนือได้พัดเรือไปทางใต้ ซึ่งอาจจะทำให้เรือแล่นไปด้วยความเร็วสูง เหมือนกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ตอนนั้นเกาะไซปรัสได้ป้องกันเรือไว้จากกระแสลมแรง ในครั้งนี้ เกาะครีตก็ได้ช่วยป้องกันเรือไว้ ตอนที่เรือแล่นผ่านแหลมสัลโมเนที่อยู่ปลายด้านตะวันออกของเกาะครีตไปแล้ว สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้น ทำไม? เพราะเรือมาอยู่ทางตอนใต้ของเกาะซึ่งลมไม่แรง ตอนนั้น คนที่อยู่บนเรือคงรู้สึกโล่งใจมากที่รอดจากสภาพอากาศแบบนั้นมาได้ แต่พวกลูกเรือก็อาจกังวลเพราะพวกเขารู้ดีว่าอีกไม่นานจะเข้าสู่หน้าหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่อันตรายในการเดินเรือ
10 ลูกาได้บอกไว้อย่างถูกต้องว่า “เรือแล่นเลียบฝั่ง [เกาะครีต] อย่างยากลำบากจนมาถึงที่แห่งหนึ่งชื่อท่างาม” ถึงแม้พวกเขาจะไม่เจอลมแรงเพราะแล่นอยู่ใกล้ชายฝั่ง แต่ก็ยังยากที่จะควบคุมเรือ ในที่สุด พวกเขาก็เจอที่ปลอดภัยในอ่าวเล็ก ๆ ที่จะทอดสมอได้ อ่าวนี้น่าจะอยู่ตรงบริเวณก่อนที่ชายฝั่งจะอ้อมไปทางเหนือ พวกเขาพักอยู่ที่นั่นนานแค่ไหน? ลูกาบอกว่า “พวกเราเสียเวลาไปมาก” การที่พวกเขาอยู่ที่นั่นนาน ก็จะยิ่งทำให้การเดินเรืออันตรายมากขึ้น เพราะในเดือนกันยายนหรือตุลาคม การเดินเรือจะเสี่ยงอันตรายมากกว่า—กจ. 27:8, 9
11. เปาโลให้คำแนะนำอะไรกับคนที่อยู่บนเรือ แต่ในที่สุดมีการตัดสินใจยังไง?
11 ผู้โดยสารบางคนอาจมาถามเปาโลว่าควรทำยังไง เพราะเปาโลมีประสบการณ์ในการเดินทางในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เปาโลแนะนำว่าเรือไม่ควรเดินทางต่อไป เพราะถ้าเดินทางต่อไปก็ “จะต้องเกิดความเสียหายอย่างหนักแน่ ๆ” และอาจถึงกับเสียชีวิต แต่กัปตันเรือกับเจ้าของเรืออยากเดินทางต่อ พวกเขาอาจคิดว่าต้องรีบหาที่ ๆ ปลอดภัยมากกว่านี้ พวกเขาเลยโน้มน้าวยูเลียสให้เชื่อพวกเขา ตอนนั้นคนส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่าน่าจะพยายามไปให้ถึงเมืองท่าฟีนิกซ์ ซึ่งอยู่ตรงชายฝั่งที่ห่างออกไป ที่นั่นอาจมีท่าเรือที่ใหญ่กว่าและดีกว่าซึ่งพวกเขาพักอยู่ได้ในช่วงฤดูหนาว ดังนั้น เมื่อลมจากทิศใต้พัดมาเบา ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าเหมาะสำหรับการเดินเรือ เรือจึงออกเดินทาง—กจ. 27:10-13
12. หลังออกจากเกาะครีตไปแล้ว เรือเจอกับอันตรายอะไรบ้าง และพวกลูกเรือพยายามทำอะไร?
12 จากนั้น ก็มีความยุ่งยากเกิดขึ้น มี “พายุใหญ่” จากทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดมา จนเรือต้องแล่นไปหลบที่ “เกาะเล็ก ๆ ชื่อคาวดา” ซึ่งอยู่ห่างจากท่างามประมาณ 65 กิโลเมตร พวกเขาใช้เกาะนั้นเป็นที่กำบังลม แต่ถึงอย่างนั้น เรือก็ยังเสี่ยงที่จะถูกพัดไปทางใต้แล้วอาจไปชนกับสันดอนทรายนอกชายฝั่งของแอฟริกา เพื่อจะไม่เจอเหตุการณ์แบบนั้น พวกลูกเรือรีบดึงเรือเล็กที่ลากจูงมานั้นขึ้นมาบนเรือ แต่การทำอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรือเล็กคงจะมีน้ำอยู่เต็ม จากนั้นพวกเขาก็พยายามเอาเชือกลอดใต้ท้องเรือใหญ่และมัดรอบลำเรือไว้เพื่อยึดแผ่นกระดานเรือไว้ด้วยกัน พวกเขาลดใบเรือลง และพยายามอย่างมากเพื่อให้เรือแล่นฝ่าพายุไป ขอลองนึกตามว่าเหตุการณ์นี้น่ากลัวขนาดไหน? ถึงแม้พวกลูกเรือพยายามหลายวิธีแล้ว แต่เรือยังคง “ถูกพายุใหญ่พัดกระหน่ำอย่างรุนแรง” ดังนั้น ในวันที่ 3 พวกเขาก็ตัดสินใจเอาอุปกรณ์เดินเรือทิ้งลงทะเลเพื่อไม่ให้เรือจม—กจ. 27:14-19
13. สภาพการณ์บนเรือเป็นยังไงตอนที่มีพายุ?
13 ผู้คนบนเรือคงต้องกลัวมากแน่ ๆ แต่เปาโลกับเพื่อน ๆ มั่นใจว่าพวกเขาจะรอดชีวิต เพราะก่อนหน้านี้ พระเยซูผู้เป็นนายได้รับรองกับเปาโลว่า เขาจะได้ประกาศในกรุงโรม และต่อมาทูตสวรรค์ก็ได้ยืนยันคำสัญญานี้ด้วย (กจ. 19:21; 23:11) แต่ถึงอย่างนั้น พายุก็ยังพัดกระหน่ำทั้งวันทั้งคืนตลอด 2 สัปดาห์ เนื่องจากฝนตกไม่หยุดและมีเมฆหนาทึบจนมองไม่เห็นดวงอาทิตย์และดวงดาว กัปตันเรือจึงไม่สามารถรู้ตำแหน่งของเรือหรือกำหนดทิศทางที่พวกเขาจะแล่นเรือไป แม้แต่จะกินข้าวก็ยังทำไม่ได้เลย พวกเขาคงจะกินอะไรไม่ลงเพราะอากาศที่หนาวและฝนตกตลอด พวกเขาคงเมาคลื่นและกลัวมากจริง ๆ
14, 15. (ก)ตอนที่พูดกับคนบนเรือ ทำไมเปาโลถึงพูดถึงคำเตือนของเขาก่อนหน้านี้? (ข) เราอาจเรียนอะไรได้จากคำพูดที่เปาโลให้กำลังใจคนบนเรือ?
14 เปาโลยืนขึ้นและพูดถึงคำเตือนของเขาก่อนหน้านั้น แต่เปาโลไม่ได้ตำหนิพวกลูกเรือ เขาไม่ได้พูดทำนองว่า ‘ผมบอกพวกคุณแล้ว แต่พวกคุณไม่ยอมเชื่อ’ แต่เหตุผลที่เปาโลพูดถึงคำเตือนก่อนหน้านั้นอาจเป็นเพราะเขาอยากช่วยให้พวกลูกเรือเห็นว่า เหตุการณ์เลวร้ายที่พวกเขาต้องเจอในตอนนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เปาโลพูดเป็นความจริง จากนั้น เปาโลพูดต่อไปว่า “ตอนนี้ผมขอแนะพวกคุณว่าไม่ต้องกลัว พวกคุณจะไม่ตายเลยสักคนแต่จะเสียเรือไป” (กจ. 27:21, 22) คำพูดนั้นคงช่วยปลอบใจคนบนเรือได้มากจริง ๆ เปาโลเองก็คงจะมีความสุขเหมือนกันที่พระยะโฮวาให้โอกาสเขาได้บอกคนบนเรือว่าพวกเขายังมีความหวังที่จะรอดชีวิต นอกจากนั้น คำพูดนี้ของเปาโลยังช่วยให้เราเห็นว่าพระยะโฮวาเป็นห่วงทุกคน แต่ละคนมีค่าสำหรับพระองค์ อัครสาวกเปโตรได้เขียนว่า “พระยะโฮวา . . . ไม่อยากให้ใครต้องถูกทำลาย แต่อยากให้ทุกคนกลับตัวกลับใจ” (2 ปต. 3:9) ดังนั้น เป็นเรื่องเร่งด่วนจริง ๆ ที่เราจะพยายามบอกข่าวเรื่องความหวังจากพระยะโฮวากับทุกคนให้มากเท่าที่เป็นไปได้ พระยะโฮวามองว่าชีวิตของทุกคนมีค่า และตอนนี้ชีวิตของพวกเขากำลังตกอยู่ในอันตราย
15 ตอนที่อยู่บนเรือ เปาโลคงได้ประกาศกับหลายคนเกี่ยวกับ “ความหวังในเรื่องที่พระเจ้าสัญญาไว้” (กจ. 26:6; คส. 1:5) แต่ในตอนนี้ที่ทุกคนคิดว่าอีกไม่นานเรือจะล่มแน่ ๆ เปาโลได้บอกเหตุผลที่ทำให้พวกเขามั่นใจได้ว่า พวกเขาจะรอดชีวิต เปาโลบอกว่า “เมื่อคืนนี้ทูตสวรรค์ของพระเจ้าที่ผมรับใช้และนมัสการได้มายืนใกล้ ๆ ผม แล้วพูดว่า ‘เปาโล ไม่ต้องกลัวนะ คุณจะต้องไปยืนต่อหน้าซีซาร์ พระเจ้าจะให้ทุกคนที่มากับคุณในเรือรอดชีวิตด้วย’ ดังนั้น พวกคุณก็ไม่ต้องกลัวนะ ผมเชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่พระเจ้าบอกผมแน่นอน แต่พวกเราจะต้องถูกซัดขึ้นฝั่งที่เกาะหนึ่ง”—กจ. 27:23-26
กิจการ 27:27-44)
“ทุกคนก็เข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย” (16, 17. (ก) เปาโลใช้โอกาสไหนอธิษฐาน และเกิดผลยังไง? (ข) สิ่งที่เปาโลพูดเกิดขึ้นจริงยังไง?
16 หลังจากช่วง 2 สัปดาห์ที่น่ากลัว เรือถูกลมพัดไปเป็นระยะทางประมาณ 870 กิโลเมตร พวกลูกเรือเริ่มรู้สึกว่าเรืออาจจะแล่นมาใกล้ชายฝั่ง อาจเป็นเพราะพวกเขาได้ยินเสียงของคลื่นกระทบฝั่ง พวกเขาทอดสมอจากท้ายเรือเพื่อไม่ให้เรือลอยไปและให้หัวเรือหันไปทางแผ่นดินเพื่อเรือจะเกยหาดได้ ตรงจุดนั้น พวกลูกเรือพยายามจะออกหนีจากเรือ เปาโลได้บอกนายร้อยและพวกทหารว่า “ถ้าพวกนั้นไม่อยู่ในเรือ พวกคุณก็จะไม่รอดนะ” พวกทหารเลยไม่ให้พวกลูกเรือทำอย่างนั้น ตอนนี้เรือไม่ค่อยโคลงเคลงแล้ว เปาโลจึงบอกทุกคนให้กินอาหาร เปาโลบอกให้พวกเขามั่นใจอีกครั้งว่าพวกเขาจะรอดชีวิต แล้วเปาโลก็ “อธิษฐานขอบคุณพระเจ้าต่อหน้าพวกเขาทุกคน” (กจ. 27:31, 35) เปาโลวางตัวอย่างไว้สำหรับลูกา อาริสทาร์คัส และคริสเตียนในทุกวันนี้ตอนที่เขาอธิษฐานขอบคุณ ถ้าคุณเป็นตัวแทนในการอธิษฐาน คำอธิษฐานของคุณให้กำลังใจและปลอบโยนคนอื่นไหม?
17 หลังจากเปาโลอธิษฐาน “ทุกคนจึงมีกำลังใจและเอาอาหารมากินกัน” (กจ. 27:36) จากนั้น พวกเขาได้เอาข้าวสาลีโยนทิ้งทะเล นี่ทำให้เรือเบาขึ้นและเข้าถึงชายฝั่งได้ พอสว่าง พวกลูกเรือก็ตัดสมอทิ้งและแก้เชือกมัดหางเสือที่ท้ายเรือ พวกเขาชักใบเรือที่อยู่ด้านหน้าให้กินลมเพื่อจะแล่นเข้าไปที่หาด พอเรือชนสันดอนทรายก็เกยตื้น หัวเรือติดแน่นขยับไม่ได้ ส่วนท้ายเรือก็ถูกคลื่นซัดจนเริ่มแตกเป็นเสี่ยง ๆ ทหารบางคนต้องการจะฆ่านักโทษเพื่อไม่ให้มีใครหนีไปได้ แต่ยูเลียสห้ามไว้ เขาสั่งทุกคนให้ว่ายน้ำหรือไม่ก็เกาะกระดานลอยไปจนถึงฝั่ง ทั้งหมดเป็นจริงตามที่เปาโลบอกไว้ล่วงหน้า ในบรรดา 276 คนที่อยู่บนเรือ ทุกคนรอดชีวิต ใช่แล้ว “ทุกคนก็เข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย” แต่พวกเขาขึ้นฝั่งที่ไหน?—กจ. 27:44
“คนที่นั่น . . . ดีกับพวกเรามากจริง ๆ” (กิจการ 28:1-10)
18-20. ชาวเกาะมอลตาทำอะไรที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขา ‘ดีกับ’ เปาโลและคนบนเรือ? และพระเจ้าทำการอัศจรรย์อะไรเพื่อช่วยเปาโล?
18 ทุกคนขึ้นฝั่งที่เกาะมอลตา เกาะนี้อยู่ทางใต้ของเกาะซิซิลี (ดูกรอบ “ เกาะมอลตา—อยู่ที่ไหน?”) ชาวพื้นเมืองบนเกาะนี้ ‘ดีกับพวกเขามากจริง ๆ’ (กจ. 28:2) ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเป็นคน แปลกหน้า แต่ชาวเกาะนี้ได้ก่อไฟให้พวกเขาเพราะเห็นว่าพวกเขาตัวเปียกโชกและหนาวสั่น ไฟช่วยให้พวกเขาอบอุ่นตอนที่อากาศหนาวเย็นและฝนตก นอกจากนี้ การก่อไฟยังทำให้เกิดการอัศจรรย์ขึ้นด้วย
19 เปาโลต้องการช่วยจึงหยิบกิ่งไม้แห้งมัดหนึ่งมาใส่กองไฟ แล้วมีงูพิษตัวหนึ่งเลื้อยออกมากัดติดอยู่บนมือเปาโล ชาวเกาะมอลตาเข้าใจว่านี่เป็นการลงโทษจากเทพเจ้า a
20 คนพื้นเมืองที่เห็นเปาโลถูกงูกัดคิดว่า “ตัวเปาโลจะบวม” ตามที่หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวไว้ คำภาษาเดิมที่พบในข้อนี้เป็น “ศัพท์ทางการแพทย์” ไม่น่าแปลกที่ “ลูกาซึ่งเป็นหมอที่พี่น้องรัก” อาจนึกถึงสำนวนนี้ทันที (กจ. 28:6; คส. 4:14) ไม่ว่าจะยังไง เปาโลสะบัดงูพิษออกโดยไม่เป็นอันตรายอะไร
21. (ก) เราเห็นตัวอย่างเกี่ยวกับการให้ข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องอะไรในบันทึกของลูกา? (ข) เปาโลได้ทำการอัศจรรย์อะไร และสิ่งที่เขาทำก่อผลยังไงต่อชาวเกาะมอลตา?
21 ปูบลิอัสเป็นเจ้าของที่ดินที่ร่ำรวย เขาอาศัยอยู่แถบนั้น ปูบลิอัสอาจเป็นเจ้าหน้าที่โรมันคนสำคัญบนเกาะมอลตา ลูกาบอกว่าเขาเป็น “ผู้ปกครองเกาะ” ในข้อความจารึก 2 แห่งของชาวเกาะมอลตา ก็มีการใช้คำระบุตำแหน่งแบบเดียวกันนี้ ปูบลิอัสได้แสดงน้ำใจต้อนรับ เขาให้ที่พักกับเปาโลและเพื่อนเป็นเวลา 3 วัน อย่างไรก็ตาม พ่อของปูบลิอัสป่วยอยู่ นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ลูกาพูดถึงอาการป่วยไว้อย่างถูกต้อง ลูกาเขียนว่าพ่อของปูบลิอัส “นอนป่วยเป็นไข้และเป็นโรคบิด” มีการพูดถึงลักษณะของโรคไว้อย่างชัดเจน เปาโลได้อธิษฐานและวางมือรักษาโรคให้เขา เนื่องจากชาวพื้นเมืองรู้สึกประทับใจอย่างมากเมื่อเห็นเปาโลทำการอัศจรรย์นี้ พวกเขาจึงพาคนอื่นที่เจ็บป่วยมาให้เปาโลรักษาด้วย และพวกเขาก็นำสิ่งของจำเป็นมาให้เปาโลกับเพื่อน—กจ. 28:7-10
22. (ก) ศาสตราจารย์คนหนึ่งได้ยกย่องบันทึกของลูกาเรื่องการเดินเรือไปกรุงโรมยังไง? (ข) เราจะดูเรื่องอะไรในบทถัดไป?
22 การเดินทางโดยเรือของเปาโลในช่วงที่เราได้ดูในบทนี้เต็มไปด้วยข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ ศาสตราจารย์คนหนึ่งได้บอกว่า “บันทึกของลูกา . . . เป็นหนึ่งในบันทึกที่ให้รายละเอียดชัดเจนและเห็นภาพมากที่สุดในคัมภีร์ไบเบิล รายละเอียดเกี่ยวกับการเดินเรือในศตวรรษแรก และการพูดถึงสภาพการณ์ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออกถูกต้องแม่นยำมาก” จนทำให้เราสรุปได้ว่า คนที่บันทึกเรื่องนี้ต้องบันทึกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเรือที่เขาแล่นไปด้วย ลูกาคงได้เขียนบันทึกนี้ตอนที่เขาเดินทางไปกับอัครสาวกเปาโล ถ้าเป็นอย่างนั้น ลูกาคงมีเรื่องราวบันทึกอีกมากมายในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น จะเกิดอะไรขึ้นกับเปาโลตอนที่พวกเขาเดินทางถึงกรุงโรม? ให้เรามาดูกัน
a การที่มีคนรู้จักงูชนิดนั้นบ่งบอกว่าในสมัยก่อนมีงูพิษอยู่บนเกาะมอลตาจริง ปัจจุบัน ไม่พบงูพิษชนิดนี้บนเกาะมอลตา ที่เป็นอย่างนี้อาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมตลอดหลายศตวรรษ หรือการเพิ่มจำนวนประชากรมนุษย์บนเกาะนั้นอาจทำให้งูพิษชนิดนั้นถูกกำจัดออกไป